top of page

ความสุขของคนไฮเทคที่ล้าสมัย


โดย คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์



ภาพ: คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



ผู้เขียนเป็นคนล้าสมัย ตรงที่ชอบทำกับข้าวให้คนในบ้านกิน ยิ่งไปกว่านั้น ให้คนอื่นไปจ่ายตลาดให้ก็ไม่สนุก ชอบจ่ายเอง จ่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ แต่ไม่ถึงใจเท่ากับจ่ายตลาดสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสดตามต่างจังหวัด ที่มีชาวบ้านเอาผักสดมาวางขาย ยิ่งมากชนิดยิ่งดี จ่ายแบบหิ้วถุงพลาสติกหรือ

ใส่กล่องโฟมก็ออกจะไม่สนิทใจ ทำให้ไม่รู้สึกร่าเริงเท่าหิ้วตะกร้า ยิ่งมีคนช่วยหิ้วตะกร้าที่สองให้ได้ปรึกษาหารือด้วยยิ่งมีความสุข


ในยุคที่อาหารสำเร็จรูป ร้านอาหาร ภัตตาคารเกลื่อนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะในระดับบาทวิถีหรือตึกระฟ้า รวมทั้งโรงแรมหรูๆ อีกมากมาย คนอย่างนี้คงต้องถือว่าล้าสมัย

ก่อนที่ผู้อ่านจะเข้าใจผิดว่าผู้เขียนยึดแน่นกับแนวอนุรักษ์นิยม หรือเป็นคนมีเวลาเหลือเฟือ ขอออกตัวเสียตรงนี้ว่า ผู้เขียนใช้ไปรษณีย์อีเล็กโทรนิค (อีเมล์) และอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังชอบศึกษาทดลองสิ่งที่แปลกใหม่ จนลูกๆ กันว่าบ่นว่าแม่น่ะเป็นยายที่ไฮเทคเหลือเกิน สำหรับเรื่องเวลาว่างนั้น รีบบอกเสียเลยว่า มีน้อยมาก ต้องใช้เวลากับธุระการงานสารพัด ไม่ว่างานด้านการเขียน ด้านธุรกิจ ด้านการช่วยเหลือเด็กผู้หญิงทางภาคเหนือ จนอยากให้วันแต่ละวันยาวออกไปอีกสักวันละ 3 ชั่วโมง


แล้วทำไมถึงได้ชอบทำกับข้าวนัก? นี่เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ จนทำให้รู้สึกดีใจที่ได้มานั่งเขียนบทความเรื่องนี้ เพราะต้องหาคำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดให้กับตัวเองและผู้อ่าน


ผู้เขียนพบว่าการทำกับข้าวเป็นการผ่อนคลาย คงจะเป็นเพราะการปรุงอาหารให้อร่อยเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ดนตรีเป็นศิลปะที่รับได้ทางหู ภาพเขียนเป็นศิลปะที่รับทางตา รสอาหารก็รับได้ทางลิ้น การสร้างงานศิลปต้องมีใจที่เป็นสมาธิ มีความจดจ่อที่จะสร้างผลงานที่ให้ความสุขของคนอื่น สภาพใจอย่างนี้เป็นสภาพของความผ่อนคลาย เป็นสภาพที่ทำให้รู้สึกเบาสบาย


ภาพ: คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


อันที่จริงทำอาหารกินเองก็เป็นการผ่อนคลาย แต่ออกจะน้อยกว่าการทำให้คนอื่นสักหน่อย เพราะไม่ได้ดูเขากินให้ชื่นใจ ไม่ได้ฟังเขาชมให้ได้รู้ว่าได้ผลตามความตั้งใจ แต่ถ้าคุณทำกับข้าวอย่างเร่งรีบ ขอให้เสร็จๆไปเสียที อร่อยไม่อร่อยก็ช่างมัน หรือใส่โน่นเหยาะนี่แบบประชดประแชกแดกดัน ก็อย่าไปหวังความผ่อนคลาย กลับจะเครียดและรำๆ จะเกลียดโลกเอาด้วยซ้ำ


การทำกับข้าวให้คนในบ้าน และเพื่อนฝูงญาติมิตรนั้น ผู้เขียนถือว่าเป็นศิลปะที่งามด้วยความรัก อาหารที่ทำนั้น มีส่วนผสมของทั้งแรงงาน รสมือ และน้ำใจ ลูกสาวคนสุดท้องของผู้เขียนชอบการทำอาหารเหมือนแม่ เมื่อเขาจะแต่งงาน แม่ลูกก็เห็นพ้องต้องกันในเรื่องของที่ระลึกแจกในงาน ว่าจะทำเป็นตำรากับข้าวง่ายๆ สำหรับคนสองคนที่รักกัน จะทำด้วยกันได้ในวันว่าง หรือจะเป็นคนหนึ่งทำ อีกคนหนึ่งล้างจานก็ไม่ว่ากัน ตราบที่ทั้งสองฝ่ายมีความสุขในบทบาทของตัว ชื่อตำราเล่มนี้ก็ใช้ง่ายๆว่า อาหารแห่งความรัก



ของชำร่วยที่ระลึกเล่มนี้ทำด้วยความรักจริงๆ กล่าวคือ แม่เจ้าสาวเป็นคนเขียนตำรา เจ้าสาวเป็นคนชิมว่าอร่อยแล้ว เจ้าบ่าวเป็นคนวาดภาพประกอบ พี่เจ้าสาวและเพื่อนเจ้าสาวเป็นคนออกแบบจัดทำรูปเล่ม ให้เป็นเหมือนปฏิทินตั้งโต๊ะขนาดจิ๋วที่ตั้งประดับครัวได้ ชื่ออาหารในเล่มก็ตั้งให้เหมาะกับอาหารแต่ละอย่างกับบรรยากาศของความรัก เช่น "น้ำหอมหวาน” “โจ๊กอุ่นใจ” “นางฟ้าผมทอง” “ตะวันลอยแก้ว” “ขนมก่อนนอน”


มีตำราหนึ่งให้ชื่อว่า “พรคุณทวด” เพราะเป็นอาหารไทยโบราณแบบพื้นๆ ที่คุณยายของผู้เขียน (คุณทวดของเจ้าสาว) เคยทำใส่ขวดโหลไว้คลุกข้าวสวยร้อนๆ กินกับไข่เจียว ปัจจุบันนี้น้อยคนที่จะรู้จัก


ปรากฏว่า “อาหารแห่งความรัก” ได้รับความนิยมมาก เวลาล่วงเลยมาปีกว่าแล้ว ก็ยังมีคนถามหาจนไม่มีเหลือจะให้ใครอีก ทำให้ผู้เขียนมีกำลังใจขึ้นมาว่า ตัวเองคงไม่ล้าสมัยจนเกินไปนัก และความเชื่อที่ว่า การทำอาหารกับความรักมีส่วนเชื่อมโยงกันมาก ก็เห็นจะจริง


ต่อคำถามที่ว่าทำอาหารอย่างไรถึงจะอร่อย ถ้าจะตอบให้ครบถ้วนกระบวนความคงจะต้องยาวเป็นเล่ม สำหรับตรงนี้ ผู้เขียนขอเอาคำแนะนำเบื้องต้นที่เขียนเอาไว้ใน “อาหารแห่งความรัก” ว่า

“ การปรุงอาหารให้อร่อยต้องเตรียม

มือ ที่แม่น

ลิ้น ที่ละเอียดทันรส

อารมณ์ ที่เบิกบาน

จินตนาการ ที่แจ่มใส

สมอง ที่ว่องไว

ดวงใจ ที่อ่อนโยน แน่วแน่ และเป็นสุขกับชีวิต ”

 

จาก : คอลัมน์ back porch นิตยสาร Life & Family ปีที่ 3 ฉบับที่ 27 มิถุนายน 2541






ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page