top of page

ชีวิตกับการผจญภัย

โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



“คุณป้าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากชีวิตที่อยู่มา 80 กว่าปี” เป็นคำถามที่ได้รับบ่อยๆ ตั้งแต่ป้าย่างเข้าสู่วัยอัน

น่าตื่นเต้น (ไม่เคยคิดว่าจะมีวันที่จะแก่เฒ่าถึงปานนี้) ตอบว่าเรียนรู้มากมาย

ประสบการณ์ชีวิตเป็นทั้งครูเป็นทั้งวัตถุดิบในการเรียนรู้ แต่ใครจะให้ครูสอนอะไร เรียนอย่างไร เรียนได้

แค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง ครูคนเดียวกัน โจทย์เดียวกัน แต่ทักษะต่างกัน การเรียนรู้ก็ต่างกัน ผลการเรียนรู้เห็นได้จากคนแก่ที่ผ่านชีวิตมานาน ดูซิว่าเหมือนกันไหม บางคนชอบให้เอาใจ บางคนชอบอิสระ ถ้าเจอปัญหาเดียวกันบางคนโกรธ บางคนหนี บางคนนิ่งใคร่ครวญ บางคนตัดสินด้วยมาตรฐานตัวเอง บางคนเปิดใจศึกษาพิจารณา

กลุ่มหลังนี้อาจจบลงตรงนี้ หรืออาจนำปัญหามาเป็นเครื่องพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้ลุ่มลึก “เรียน” กับ“เรียนรู้”ไม่เหมือนกันนะคะ เรียนนั้นเรียนเป็นเรื่องๆ โดยใช้สมองเป็นหลัก แต่เรียนรู้เป็นศิลปะ

องค์รวมของสติและปัญญา สมองกับใจสอดคล้องกลมกลืนกัน เมื่อใดที่สมองกับใจทะเลาะกันก็รู้ตัว แล้วพักรบให้สติสมาธิเข้ามาไกล่เกลี่ย ตรงนี้วิธีพักรบคือยอมรับเสียก่อนว่า เออ...มันเป็นอย่างนี้แหละ แล้ว

คิดว่าถ้าเป็นเรื่องของเพื่อนรักของเรา เราจะแนะนำเขาว่าอย่างไร


นี่คือทักษะหนึ่งในการเรียนรู้จากประสบการณ์ซึ่งจะบ่มเพาะเมตตาต่อทั้งตนเองและคนอื่น ซึ่งเป็นที่มาของความสุข

ยิ่งแก่ตัวก็ยิ่งเห็นว่าชีวิตเราเป็นการผจญภัย ชีวิตป้าเป็นชีวิตที่ขึ้นลงเข้าข่ายโลดโผนทั้งในทุกข์และสุข มีทั้งความเลว ความดี ความผิด ความถูก เด็กหญิงจำนงศรีในสมัยโน้นไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เรียนรู้ทักษะการเรียนรู้มาถึงป่านนี้

การผจญภัยเป็นการเผชิญสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ ที่แน่นอนคือมีความเสี่ยงแฝงอยู่ ตลอดจนเป็นการผจญกับความกลัว ไม่คาดคิด สิ่งที่ไม่คุ้นเคย ไม่รู้ ไม่เข้าใจ การผจญภัยทำให้ประสาทไว ใจตื่น สมองปราดเปรียว และฝึกให้สติให้ตั้งมั่นในปัจจุบัน ความเสี่ยงเป็นธรรมชาติของชีวิต เพราะเวลานาที

ในชีวิตนั้นใหม่เสมอ ปัจจุบันผ่านเป็นอดีต อนาคตผันมาเป็นปัจจุบัน อย่างไม่ขาดสาย

ปัจจุบันจึงสดใหม่ และเปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อน ใครล่ะที่จะมั่นใจได้ว่าวันต่อไปจะเป็นอย่างที่คิด ทุกข์ก็เปลี่ยน สุขก็เปลี่ยน ความคิดเราเองก็เปลี่ยน สัจธรรมนี้แหละที่ช่วยพัฒนาทักษะการทรงตัว ทรงใจ ไม่ว่าธารชีวิตจะไหลเอื่อยหรือเชี่ยวกราก

การทำสิ่งใหม่ที่ท้าทายเป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้ชั้นเยี่ยม ยิ่งยากยิ่งดี เทคโนโลยีไอทีที่ลูกหลาน

คิดว่าจะเกินความสามารถของเรา ป้ายิ่งชอบ จนขึ้นชื่อว่าเป็นหญิงชราชำนาญการ เสียแต่ว่า

เพื่อนๆ ที่น้องรุ่นเดียวกันชอบทำท่ากล้าๆ กลัวๆ แล้วบอกว่า “ไม่มีหัว...” น่าเสียดายที่ตัดโอกาส

ที่จะเข้าสู่ปัจจุบัน จะได้พูดคุยกับลูกหลานด้วยภาษาเดียวกัน ได้ติดตามวิทยาการใหม่ๆ โดยไม่ต้อง

ให้ใครอธิบาย

นักผจญภัยชีวิตอย่างป้าจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวหรือไม่คุ้น เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติของใจตัวเอง

ถ้าเล่าทั้งหมดบทความนี้จะยาวเป็นกิโลเมตร สมัยหนึ่งป้าเป็นแชมป์กลัวผี ก็ไปขังตัวเองอยู่คนเดียว

ในวิหารวัดป่าแห่งหนึ่งตลอดคืนถึง 2 คืน ในวิหารมีโลงศพ มีพระพุทธรูป และรูปปั้นของพระอาจารย์

ที่ล่วงลับไปแล้วหลายองค์ โอย...เงาที่เกิดจากแสงเทียนที่สั่นไหวนั้น เซาะประสาทเอาเสียจริง มิหนำซ้ำ

ยังเป็นหน้าพายุฝนที่ฟ้าแลบคำรามครืนๆ แต่ก็ผ่านไปด้วยดี หายกลัวผีไปได้ ปัญหาอยู่ที่ความกลัวน่ะค่ะ ไม่ใช่ผีหรือแสงเทียน ความกลัวเป็นความรู้สึกจากความคิด ความจำ วันนั้นได้เห็นเลยไปถึงใยโยงของมันกับอนาคต เรากลัวผี “จะ” มาหลอก เราเอาอนาคตมาสวมปัจจุบัน คาดคิด ขู่ขวัญ การสร้างภาพในใจ

เอาความคิดไปแปะไว้กับความกลัว

วีรกรรมผจญภัยเพื่อการศึกษาเรียนรู้จิตและใจตัวเอง มีอีกหลายอย่าง เช่น ไปอยู่ในกุฏิบนภูเขา ที่ไม่มีน้ำไม่มีไฟ ไม่มีส้วม นานเป็นสัปดาห์ ฯลฯ ได้เรียนรู้ทักษะการเรียนรู้มากมาย ที่สำคัญคือต้องมีการยอมรับ

ปูไว้ก่อนเป็นพื้นฐาน ยอมรับว่าความเป็นจริงขณะนี้ มันเป็นอย่างนี้แหละ จากนั้นคิดจะทำอะไรต่อไป ก็จะง่ายขึ้น มั่นใจ และมั่นคงขึ้น

แม้ชีวิตจะยาวมาถึง 81 ปี ทว่าแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง ก็ยังอยู่บนเส้นทางการผจญภัย ไม่ว่าชั่วโมงหน้าจะเจออะไร เมื่อ 2 ปีก่อน อยู่ๆ ก็ใจหวิวลงไปแอ้งแม้งอยู่กับพื้น ลูกซึ่งไม่คิดว่ามนุษย์จอมลุยอย่างแม่จะมีวันป่วย ถามอย่างไม่น่าถามว่า “แม่ ทำไมลงไปนอนอย่างนั้นล่ะ” (หาว่าแม่ทำอะไรแผลง ๆ อีกแล้ว) เหตุคือโรคหัวใจที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็น ไม่นึกเลยว่าอีกไม่กี่นาที จะถูกหามเข้าห้องฉุกเฉิน...เรื่องใหม่อีกไง

เรื่องใหม่ๆ ที่ผ่านเข้ามาน่าสนใจเสมอ สำหรับการเจ็บป่วยหรือผิดหวังนั้น ถ้าไม่ถลำเข้าไปจมในอารมณ์กลัวหรือเสียใจ ก็เป็นกลไกบ่มเพาะความชำนาญในการเรียนรู้ได้อย่างมหัศจรรย์

ป้าเป็นแฟนหนังสือชุด Harry Potter อย่างเหนียวแน่น ชอบข้อความที่ J.K. Rowling ผู้ประพันธ์เขียนไว้ว่า

“Death is the next great adventure”

“ความตายคือการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ครั้งต่อไป”


ป้าเรียนรู้จากการผจญภัยมามากแล้ว ถึงเวลาผจญภัยครั้งใหญ่ คงได้นำทักษะที่เรียนรู้มาใช้ได้บ้างไม่มากก็น้อย คราวนี้ใช้ทักษะการยอมรับแต่ละปัจจุบันขณะ ว่า “มันก็เป็นอย่างนี้แหละ...” อิสระในความไม่มีอะไรจะมี ไม่มีอะไรจะเป็น ไม่มีอะไรจะเอา

 

จาก: นิตยสาร Happiness Vol.44 , Jan. – Mar. 2021

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page