top of page

ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง




บึ้งใย


ต่อไปถ้าใครพูดถึง “ความรัก”

จะนึกถึงภาพเช้านี้ที่ตรงใกล้ธารน้ำร้อน

ต้องจำเจ้าบึ้งใยใต้ต้นมะพร้าวใหญ่

มันขึงใยกางติดไว้กับยอดหญ้า ขาวละเอียดเบาราวใยหมอก

ด้านบนแผ่กว้าง ตรงกลางเป็นรูลงไปเหมือนใจกลางน้ำวน

มองลึกเข้าไป ไม่เห็นอะไรนอกจากหมอกขาว

ดูนาน ๆ แล้วใจหาย เห็นเป็นถ้ำนุ่มสีขาวน่ากลัว


มดดำวิ่งผ่านบนผิวหมอกกี่ครั้งก็ไม่เกิดอะไร

แต่พอตั๊กแตนสีหญ้าแห้งดีดตัวมาจากไหนไม่ทันเห็น

เจ้าบึ้งแปดขาก็โดดเข้าคร่อมหลัง กดเขี้ยวลงที่คอ

หนวดตั๊กแตนโบกไม่เป็นส่ำ

ตาเป็นอีกเพียงอย่างเดียวที่เคลื่อนไหว

พอกระดิกนิ้วไล่ บึ้งก็ผละหนีลงรูใย

แต่มิวายโผล่หัวออกมาเฝ้าเหยื่อ

ตั๊กแตนนิ่งสนิท หนวดเท่านั้นที่ไหวติง

ยังไม่ตาย แต่เป็นอัมพาตไปแล้วเพราะพิษบึ้ง

เจ้าบึ้งงกเหยื่อปราดออกมาตะกรุมตะกรามกอดไว้ใต้อก

กอดแน่นราวกับรักสุดหัวใจ

ใครไม่รู้ก็ต้องคิดอย่างนั้น

กอดไว้กับอก จะไปทางไหนก็กอดติดไปด้วยหวงแหน

กอดไว้ดูดกินจนสิ้นเนื้อใน

เก็บร่างไว้เหมือนยังสมบูรณ์ด้วยชีวิต

ต่อไปนี้ตั๊กแตนจะไม่โดดไปไหนด้วยแข้งขา

สีหญ้าแห้งของมันอีก

เจ้าบึ้งใยจะอุ้มกอดมันเอาไว้กับอก


(จากบทที่ 3 บึ้งใย)

 

คำนำ

โดย อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง

ผู้เป็นอาจารย์ทางธรรมของคุณหญิงจำนงศรี





'ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง' เป็นวรรณกรรมบันทึกที่แฝงข้อคิดและความหมายให้ต้องใคร่ครวญ

เจ้าตัวเบื่อ-เจ้าตัวเหงา เป็นตัวอันตรายที่กัดกินใจมนุษย์ให้ชีวิตสิ้นสุด สิ้นความหมาย แต่น้อยนักที่มนุษย์จะรู้จักและมองเห็นมันอย่างแท้จริง ส่วนมากมองผาดแล้วเลยผ่าน ปล่อยให้มันสูบดูดพลังจากใจจนใจนั้นแห้งเหือด


ถ้าเพียงแต่ยอมสละเวลา 'มองย้อนดูข้างใน' ย่อมจะเห็นได้โดยไม่ยากเลย แต่ก็อีกนั่นแหละ การมองย้อนเข้าข้างในมันไม่ชวนสนุก แล้วยังชวนให้น่ากลัว เมื่อนึกว่าอาจจะพบ 'อะไร' ที่ไม่อยากพบ หรือได้รู้ 'อะไร' ที่ไม่อยากรู้ ก็เลย...อย่ามองอย่าดูมันเสียดีกว่า...ปล่อยมัน ยอมให้มันเป็นทาสของความเหงา ความเบื่อต่อไป

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ได้บันทึกความรู้สึกนึกคิดที่ผุดโผล่ขึ้นมาในช่วงเวลาของการฝึกปฏิบัติธรรมที่

สวนโมกขพลาราม เป็นบันทึกของนักปฏิบัติธรรมที่เคยเป็นนักคิด นักเขียน นักจัดกิจกรรม ซึ่งย่อมคุ้นเคยแก่การมีจิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นจิตที่คอยเฝ้ามอง...สังเกต...วิเคราะห์ วิจารณ์ จากสิ่งที่ผ่านมา โดย

ไม่ปล่อยให้ผ่านไป และด้วยการเทอารมณ์ลงไปในสิ่งนั้นอย่างเต็มที่


ลักษณะของจิตที่ฉลาดว่องไวต่อการพิจารณาสิ่งข้างนอกเช่นนี้ เป็นอุปสรรคต่อการฝึกปฏิบัติธรรม

ที่ต้องเปลี่ยนเป็นวิธีการศึกษาจากการดูข้างนอก เป็น 'การย้อนดูข้างใน' อันเป็นการทวนกระแสความเคยชินที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิต เป็นการต่อสู้ที่ใหญ่หลวงยิ่งนัก ผู้ปฏิบัติต้องข่มขู่บังคับจิตที่ชอบแต่

จะดิ้นรนออกข้างนอกให้รู้จักหยุด รู้จักนิ่ง ฝึกบังคับจิตที่เคยดิ้นแต่จะออกข้างนอก ให้เปลี่ยนเป็นย้อน

เข้าดูข้างใน อันเป็นการดูที่มองแล้วก็ยากที่จะเห็น ไม่เหมือนการดูข้างนอกที่มีวัตถุ สิ่งของ ผู้คน และอื่นๆ จิปาถะให้ได้เห็น ได้สังเกต ได้วิเคราะห์วิจารณ์ แล้วมันยังได้รับการยกย่องชมเชยเสียอีกด้วยว่า 'เก่ง - ฉลาด - วิเคราะห์ได้ชัดได้ตรง' เรา นี้ช่างวิเศษจริงๆ ! อัตตาได้เบ่งบานสมใจ !


แต่พอเปลี่ยนเป็นการย้อนดูข้างใน ไม่มีผู้ใดร่วมรู้ร่วมเห็น ไม่มีคำยกย่องชมเชย มีแต่ความเงียบ - ความดัง - แล้วก็ความดัง - ความเงียบสลับกันไปอยู่เช่นนี้ การเฝ้าดู - ติดตาม - ใคร่ครวญ ก็ยิ่งยาก...อย่างยากที่จะรู้ได้ว่าเมื่อใดความดังจะจางหาย...แล้วให้คงเหลือแต่ความเงียบ

บันทึกสั้นๆ 40 เรื่อง ของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เป็นบันทึก 'บอกกล่าว' ให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงสิ่งที่ เกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ในจิตขณะปฏิบัติ มันช่างวนเวียนอยู่เช่นนี้ และคงจะเป็นอยู่เช่นนี้อีกนาน - นาน จนกว่า... วันหนึ่งมันจะถึงซึ่ง 'ความดับ' ของความดิ้นรนต่อสู้ เพื่อที่จะ 'เอา' แต่เป็นจิตที่ นิ่ง - สงบ - เยือกเย็น - ผ่องใส อยู่ด้วยความอิ่ม ความพอ


เมื่อวันนั้น...วันแห่งความอิ่มความพอ ยังมาไม่ถึง เมื่อฝนตกจึง 'ก็ยังต้อง' เมื่อฟ้าร้องจึง 'ก็ยังถึง' แต่ถ้าหากผู้ใดไม่สิ้นความพากเพียรพยายาม ที่จะขัดเกลาฝึกฝนอบรมจิตด้วยการเฝ้า 'ย้อนดูข้างใน' อย่างสม่ำเสมอให้ทุกขณะแล้ว วันแห่ง 'ฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง' ย่อมต้องมาถึงอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไม่ต้องรอและไม่ต้องหวัง


ความไพเราะของถ้อยคำภาษา ลีลาการบันทึกเรียบเรียง ในลักษณะการรำพึงที่ปล่อยให้ความคิดไหลหลั่งเป็นความรู้สึก ความสัมผัสได้ ในสิ่งที่คอยทยอยปรากฏในห้วงมโนนึก เป็นเสมือนการเรียงลำดับภาพให้การติดตามอ่าน การใคร่ครวญตาม และการร่วมรู้ร่วมเห็นเป็นไปได้ตามธรรมชาติ

จึงเชื่อว่าความตั้งใจของผู้บันทึก ที่ปรารถนาจะแบ่งปันประสบการณ์ จากการปฏิบัติธรรมเฉพาะตัวของเธอต่อผู้อ่าน จะสัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์


รัญจวน อินทรกำแหง

สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา

25 กุมภาพันธ์ 2535


 




เรื่องเบื้องหลัง


'ฝนตกยังต้องฟ้าร้องยังถึง' เป็นงานที่ตัดตอนมาจากการบันทึกประจำวัน ที่ผู้บันทึกพยายามอย่างยิ่ง

ที่จะไม่บันทึก ระหว่างปีที่ข้าพเจ้าทิ้งกรุงไปอยู่ป่า รวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 เดือน พระพุทธองค์ทรงสอนว่าทุกข์เกิดที่ใจ การดับทุกข์จึงต้องดับที่ใจ แต่ความอุดมด้านสังคมและวัตถุของชีวิตคนกรุงมักจะชวนให้อาศัยเพื่อนฝูงและเงินทองมาช่วยแก้ทุกข์ ลืมทุกข์ หรือเผชิญทุกข์ด้วยวิธีที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกเป็นหาง


ในปี พ.ศ. 2533 ข้าพเจ้าถูกรุมเร้าด้วยปัญหาต่างๆ ที่รุ่มร้อนและแก้ไขยาก แรกๆ ก็ต่อสู้ ต่อมาพยายามคิดหาทางออก เมื่อไม่สำเร็จทั้งการต่อสู้และการหาทางออก ก็กลับกลายเป็นการนึกคิดที่เวียนวนไม่รู้หยุด

ถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าได้ทำในสิ่งที่ทำให้รู้สึกขอบใจตัวเองมาจนทุกวันนี้ คือตัดสินใจออกไปให้ไกลญาติ

ไกลเพื่อน ไกลบ้านเรือน เพื่ออยู่ป่าอาศัยวัด ไม่ใช่เพื่อหนีปัญหา แต่เพื่อฝึกสติ สร้างความเข้าใจ ที่จะช่วยให้จิตใจเยือกเย็น พอที่จะกลับมาจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีเมตตากับทั้งตัวเองและคนอื่น


ป่าแรกที่ไปอยู่อย่างจริงจังคือที่ วัดสวนโมกข์หรือสวนโมกขพลาราม ซึ่งอยู่ในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเดือนตุลาคม 2533 ที่ข้าพเจ้าไปถึงเป็นครั้งแรกนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสเริ่มอาพาธบ่อยครั้งแล้ว


ในช่วงต้นๆ ข้าพเจ้าอยู่ไชยาครั้งละประมาณ 7 ถึง 10 วัน เพื่อเข้าอบรมอานาปานสติที่สวนโมกข์นานาชาติ สถานที่นี้ท่านอาจารย์พุทธทาสจัดไว้ เพื่อฝึกการปฏิบัติกรรมฐานในแนวพุทธให้กับคนทุกชาติทุกศาสนา ตั้งอยู่ห่างจากตัวสวนโมกขพลารามถึง 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 150 ไร่ โอบล้อมด้วยทิวเขาที่มองเห็นอยู่ไม่ไกล มีธารน้ำร้อนไหลผ่าน เป็นสวนมะพร้าวอันแสนสงบอบอุ่นด้วยชีวิตสัตว์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นนก ผีเสื้อ มด แมง กบเขียด หรืองูนานาชนิด


สิ่งแวดล้อมที่ชุ่มชื่นงดงามกับการอบรมที่มุ่งให้เข้าถึงธรรมชาติของกายใจ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสัตว์เหล่านี้ ทำให้เห็นว่าเขาอยู่ตรงนี้มาก่อนเรา อยู่มานาน เกิด ตาย สืบเผ่า สานพันธุ์กันมา หลายช่วงชีวิต เขากับเราเป็นหนึ่งเดียวในวังวนแห่งการแสวงสุข การหลีกทุกข์ และความไม่เที่ยงแท้ทั้งปวง


ในช่วงนั้นทางสวนโมกข์ได้จัดการอบรมที่สวนโมกข์นานาชาติเป็นภาษาไทยเดือนละครั้ง ภาษาอังกฤษอีกเดือนละครั้ง ครั้งละ 10 วัน เวลา 04.30 นาฬิกาผู้เข้าอบรมก็จะเดินมาที่สวนโมกขพลารามเพื่อฟังการเทศน์ของท่านอาจารย์พุทธทาส


ท่านอาจารย์ตรงต่อเวลามาก ท่านจะเริ่มเทศน์เวลาตีห้าตรงที่ลานหน้ากุฏิ คนทั่วไปเรียกลานนี้ว่า 'ลานม้าหิน' เพราะมีม้านั่งหินขัดตั้งให้คนนั่งฟังเทศน์ แต่ข้าพเจ้าเรียกลานนี้ในใจว่า 'ลานกรรณิการ์' เพราะมีต้นกรรณิการ์ที่ออกดอกเล็กกลีบขาวมีสีส้มแซมเป็นไส้ กระจายกลิ่นหอมในยามเช้า และจนทุกวันนี้ก็ยังจำคำท่านอาจารย์ที่ว่า ดอกกรรณิการ์เป็นดอกไม้อินเดีย เป็นดอกไม้ของพระพุทธเจ้า เมื่อมีใครเอ่ยถึงดอกกรรณิการ์ ข้าพเจ้าก็ยังนึกถึงลานนั้นทุกครั้งไป


การเทศน์แก่ผู้เช้าอบรมจะเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ใช้เวลาจากตีห้าจนถึงโมงเช้า ต่อเนื่องกันจาก 3 วันถึง 5 วัน ขึ้นอยู่กับสุขภาพของท่านอาจารย์ และภาษาของผู้เข้าอบรม ถ้าเป็นภาษาไทยก็อาจจะใช้เวลาเพียง 3 วัน แต่ถ้าจะต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยพระสงฆ์ชาวตะวันตกก็อาจจะถึง 5 วัน


แรกๆ ที่ยังไม่ชินกับการชิงตะวันตื่นนั้น ข้าพเจ้าฟังเทศน์ไม่รู้เรื่องนัก เพราะฟังเป็นช่วงๆ เรียกได้ว่าฟังเป็นช่วงสั้นๆ สลับกับการเคลิ้มหลับเป็นช่วงยาวๆ ต่อๆ มาช่วงตื่นก็จะยาวขึ้น ผู้ที่ช่วยให้ข้าพเจ้าตื่นเป็นช่วงยาวๆ และในที่สุดก็ไม่นั่งหลับอีกเลยได้ คือบรรดาหมาและไก่วัดที่มักจะวุ่นวายกันอยู่ในบริเวณนั้น


เมื่อข้าพเจ้าเข้าอบรมถึงครั้งที่ 6 ก็เกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเสมือนการค้นคว้า ที่ต้องการความ

ต่อเนื่อง จึงเรียนอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง ผู้เป็นอาจารย์ว่าจะขอมาอยู่สวนโมกขพลารามต่ออีกสัก 1 เดือน คำตอบจากอาจารย์ก็คือ ถ้าจะอยู่ก็อยู่ไปวันต่อวันไม่ต้องกำหนดว่าจะอยู่นานสักเท่าใด


เมื่อทำตามคำของอาจารย์ก็ปรากฎว่าวันต่อวันที่ว่านั้น ต่อเนื่องกันไปนานถึง 3 เดือน และคงจะนานกว่านั้นถ้าไม่ถูกเรียกกลับมาทำธุระที่รอเวลาไม่ได้ในกรุงเทพฯ อาจพูดได้ว่า 3 เดือนนั้น เป็นช่วงการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดในชีวิต เป็นการเรียนรู้จากภายใน มิใช่จากการบอกเล่า


ท่านอาจารย์พุทธทาสอนุญาตให้ข้าพเจ้าอยู่ในเขตอุบาสิกาที่สวนโมกขพลาราม โดยให้ปฏิบัติธรรมภายใต้การดูแลของอาจารย์คุณรัญจวน อาจารย์คงเห็นว่าข้าพเจ้าตั้งใจที่จะฝึกอย่างเข้มข้น จึงจัดให้ไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ต้องพบปะพูดจากับผู้ใด ไม่ให้พูด ไม่ให้เขียน ให้รับรู้อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ

แต่อย่างเดียว


การไม่พูดเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการศึกษาธรรมชาติภายใน เพราะเปิดโอกาสให้รับรู้อาการของการรู้สึกนึกคิดอย่างต่อเนื่อง ให้ได้เห็นว่าการหยุดคิดนั้น เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ถึงแม้จะแยกไปอยู่แต่ผู้เดียวไม่มีใครให้พูดด้วย แต่ใจนั้นหาได้หยุดพูดไม่ วันแล้ววันเล่า นอกจากนั้นยังช่างเร่งเร้าให้สื่อสาร


ไม่สื่อด้วยวาจาออกมาเป็นคำพูด ก็ขอให้ได้จับปากกาสื่อออกมาเป็นตัวอักษร ไม่คุยกับคน คุยกับหน้ากระดาษก็ยังดี นี่คือที่มาของ 'ฝนตกยังต้องฟ้าร้องยังถึง' เดือนแรกที่สวนโมกขพลาราม เป็นช่วงที่ใจยังวุ่นวายเหมือนสัตว์เขี้ยวสัตว์เล็บ ที่ยังพล่านชนกรงที่ขังมันไว้ ป่าสูงของสวนโมกข์มีส่วนช่วยให้มันเชื่องลง

สิ่งแวดล้อมที่นี่แตกต่างจากที่สวนโมกข์นานาชาติมาก สวนโมกขพลารามร่มครึ้มด้วยต้นไม้ใหญ่ เสียงป่าดังชัดอยู่รอบตัว ที่นี่ข้าพเจ้าได้พบแมงป่องช้างตัวเท่าฝ่ามือผู้ชายเป็นครั้งแรกในชีวิต นอกจากนั้นยังอยู่ร่วมบ้านกับแมงมุมตัวมหึมา ตุ๊กแกขนาดวัดหัวถึงหางได้ยาวร่วมฟุต ไม่นับหนูตัวโตๆ ที่วิ่งเข้านอกออก

ในเป็นว่าเล่น ที่นี่ข้าพเจ้าได้คุ้นเคยกับหมาแมวจำนวนมาก ที่ถูกนำมาปล่อยวัด สัตว์ที่ไม่มีผู้ใดต้องการเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการดึงเอา การเกิด การแสวงหา การรัก อิจฉา ผูกพัน ตลอดจนความเจ็บ และ

ความตาย เข้ามาใกล้ ให้รู้ชัดถึงใจ ว่าข้าพเจ้าเองก็วนอยู่ในวงเวียนเดียวกันนี้


ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ชีวิตข้าพเจ้าดูไม่สำคัญอย่างเอกอุ อย่างที่เคยรู้สึกในเมืองหลวง เมื่อความสำคัญของชีวิตงวดลง ความทุกข์จากปัญหาของชีวิตก็ลดถอยลงตามสัดส่วน ใจก็นิ่งขึ้นทำให้การฝึกสติง่ายขึ้นกว่าเดิม

ในเดือนแรกนั้นยังไม่เกิดความอยากจะจับปากกา คงจะเป็นเพราะจิตใจยังสับสน เดือนที่ 2 จึงอยากเขียน และอยากมากขึ้นจนถึงขั้นที่จะอดกลั้นเพียงใดก็ไม่สำเร็จ ทั้งๆ อาจารย์คุณรัญจวนตักเตือนเสมอว่า เมื่อพักการพูดก็ควรพักการเขียนด้วย เพราะเป็นการสื่อออกภายนอกเหมือนกัน ข้าพเจ้าเขียนบันทึกความ

นึกคิดทุกวันอยู่เดือนเศษ ก็หมดความอยากเขียนไปเฉยๆ


เมื่อ ตรัสวิน จิตติเดซารักษ์ แห่งสำนักพิมพ์ตัวไหม ทราบว่ามีบันทึกฉบับนี้ก็นำไปตีพิมพ์เป็นเล่มใน

พ.ศ. 2535 โดยเลือกตัดตอนมาเป็นแต่ละบท ผู้อ่านหลายท่านถามถึงที่มาของชื่อหนังสือ ที่สวนโมกข-

พลารามมีสระน้ำที่ท่านอาจารย์พุทธทาสให้ขุดไว้ มีเกาะเล็กๆ อยู่กลาง บนเกาะมีต้นไม้อยู่เพียงต้นเดียวคือต้นมะพร้าว ท่านเรียกสระนั้นว่า 'สระนาฬิเก' ตามเพลงกล่อมเด็กเก่าแก่ของปักษ์ใต้ที่มีเนื้อร้องว่า

"คือน้องเหอ คือพร้าวนาฟิเกต้นเดียวโนเน อยู่กลางเลขี้ผึ้งฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง อยู่กลางเลขี้ผึ้ง

ไปถึงแต่ผู้พ้นบุญ”


มะพร้าวนาฬิเกเป็นมะพร้าวพันธุ์หนึ่งที่มีอยู่ในภาคใต้ ท่านอาจารย์พุทธทาส อธิบายไว้ว่ามะพร้าวนาฬิเกในบทเพลงนี้ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระนิพพาน พระนิพพานมิใช่สถานที่ใดที่หนึ่ง แต่อยู่ในใจของมนุษย์นั่นเอง อยู่กลางทะเลขี้ผึ้งซึ่งหมายถึงจิตใจของปุถุชน มีธรรมชาติที่ผันแปรเหมือนขี้ผึ้ง เดี๋ยวแข็ง

เดี๋ยวเหลว ขึ้นอยู่กับความเย็น ความร้อน ที่มากระทบ


แต่ต้นมะพร้าวนาฬิเกที่โดดเดี่ยวอยู่บนเกาะกลางทะเลขี้ผึ้งนั้น ไม่ผันแปร แม้ฝนจะตกก็ไม่เปียก ฟ้าจะร้องก็ไม่สะเทือน คือ 'ฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง' เป็นสภาวะของผู้พันบุญผู้พันบุญ ในที่นี้หมายถึงผู้ที่

ไม่ยึดติดกับสิ่งใดๆ แล้ว แม้กระทั่งบุญ หรือจะพูดว่าผู้ที่ปล่อยวางแล้วอย่างสมบูรณ์ก็ได้


ในฐานะผู้แสวงธรรมที่ยังเวียนว่ายอยู่ในทะเลขี้ผึ้ง ข้าพเจ้าจึงได้ตั้งชื่อหนังสือว่า 'ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง'


สำหรับ 'เขาพุทธทอง' ในบทที่ชื่อ 'วันวิสาขะ' นั้นคือ โบสถ์ของสวนโมกขพลาราม อยู่บนยอดเขาที่ไม่สูงนัก มีพระประธานเป็นปูนปั้นองค์ขาวบริสุทธิ์ มีขอบขันธ์เสมาพร้อม แต่ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ เป็นโบสถ์ธรรมชาติเหมือนในสมัยพุทธกาล เป็นสถานที่ที่งดงามตามธรรมชาติล้อมรอบด้วยป่าสูง


ข้าพเจ้ากลับกรุงเทพฯหลังจาก 3 เดือน ของการเรียนรู้ด้านปฏิบัติที่สวนโมกขพลาราม โดยตั้งใจว่าจะกลับไปอยู่สวนโมกข์ต่อไปอีกเรื่อยๆ แต่อาจารย์คุณรัญจวนเห็นว่าข้าพเจ้าเริ่มติดสำนักติดอาจารย์ เริ่มมีอุปาทานว่าสำนักเรานี้ดีกว่าสำนักอื่นใด ท่านจึงแนะนำให้ไปปฏิบัติต่อที่วัดป่าทางภาคอีสาน เพื่อที่จะได้

มุมมองที่หลากหลายและมีใจที่เปิดกว้าง


เมื่อไปกราบลาท่านอาจารย์พุทธทาส พร้อมกับเรียนท่านว่าจะไปปฏิบัติธรรมต่อที่ภาคอีสาน ท่านอาจารย์ใช้เวลานานนับชั่วโมงในการเทศน์ด้านการปฏิบัติ และการตอบคำถามต่างๆ อย่างละเอียดลออ แตกต่างจากเมื่อสมัยแรกๆ ที่ข้าพเจ้าไปถึง ทั้งนี้เพราะท่านพูดเสมอว่าการเรียนรู้นั้นต้องมีภาคปฏิบัติ

เป็นสำคัญ เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วก็จะมีพื้นฐานในการซักถาม ให้ได้ประโยชน์อย่างจริงจัง


ข้าพเจ้าได้กลับไปนมัสการท่านอาจารย์พุทธทาสอีกเพียง 2-3 ครั้ง ก่อนที่ท่านจะถึงแก่มรณภาพ ครั้งหนึ่งหลังจากที่ท่านได้อ่าน 'ฝนตกยังต้องฟ้ายังถึง' แล้วท่านมีเมตตาเอ่ยปากชมว่าดี เขียนได้ดี เป็นประโยชน์ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกโล่งใจ


และครั้งสุดท้ายก็คือการกราบอำลาท่านอาจารย์พุทธทาสที่เชิงตะกอนบนเขาพุทธทอง ได้เห็นภาพเปลวไฟสีเหลืองร้อนแรงแลบเลียขึ้นสู้กับสายฝนที่โปรยปรายลงมา จากท้องฟ้าเบื้องบน พร้อมกับได้ยินเสียงของท่านอาจารย์เองเทศน์เรื่องความตาย จากเทปที่บันทึกไว้ ในขณะที่กายท่านกำลังถูกเพลิงไหม้

จนเหลือแต่เถ้าถ่าน


ได้จำติดไว้ในใจว่า ท่านอาจารย์ท่านสอนมรณสติจนวินาทีสุดท้าย


คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์


 

ข้อมูลหนังสือ

ผู้เขียน: คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์


พิมพ์ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์ตัวไหม 2535

พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก มีนาคม 2539

พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ทองพลุ ธันวาคม 2548

พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์ทองพลุ มกราคม 2549

พิมพ์ครั้งที่ 5 Paega Publishing ตุลาคม 2558


 



ดู 48 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page