top of page

เข็นครกลงเขา



"ศิลปะอยู่ที่การมองด้วยตาใจ ตาที่อิสระจากกรอบความเคยชิน และใจพร้อมที่จะเห็นมากกว่าแค่เห็น”


จาก โลกใบนี้ใหม่เสมอ


“ความกลัวที่ซ่อนลึกในยามตื่น ออกมาเพ่นพ่านแผลงฤทธิ์ยามหลับ การที่เอามันมาพลิกพิจารณาหาต้นเหตุ เป็นเหมือนการฉายไฟให้เห็นแมลงสาบที่ซ่อนอยู่ตามซอกตามมุม”

จาก ฝันร้ายไม่ร้ายจริง


“เด็กในท้องที่แท้งเองตามธรรมชาติ มักเป็นเพราะไม่สมบูรณ์ คลอดออกมาก็คงกระเสาะกระแสะ รักที่แท้งก็เพราะไม่แข็งแรงจริง แท้งเสียได้ชีวิตอนาคตก็จะไม่เศร้าหมอง กับความรักที่สามวันดีสี่วันไข้”

จาก เพลงคนอกหัก


เข็นครกลงเขา หนังสือเคล็ดวิชาลำดับสอง(ต่อจาก วิชาตัวเบา) ชวนปรับมุมมองให้เรื่องราวในชีวิต เปลี่ยนจากความยากเข็ญแบบดันครกอยู่เบื้องล่าง เสี่ยงต่อการถูกครกกลิ้งมาทับ เป็นผู้อยู่เหนือครกยามเข็นลง แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ทั้งคนทั้งครกกลิ้งลงมาพร้อมกัน

วิชาเข็นครกขาลงเล่มนี้ เป็นผลงานรวมบทความเก็บประสบการณ์จากการสังเกตความเป็นไปของชีวิต ดังคำนำของผู้เขียนที่ว่า “ การเขียนจึงเป็นการทำความเข้าใจธรรมชาติชีวิต จากสารพันสิ่งที่ประสบพบพานและสารพันอาการของจิตใจ ชีวิตเป็นเส้นทางการเรียนรู้ที่แสนวิเศษ ไม่มีใครสอนใครได้ลึกล้ำเท่ากับการสัมผัสรู้และยอมรับของทุกสิ่งอย่างด้วยตัวของตัวเอง”


บทความในหนังสือรวม 35 บทความ มีที่มาจากคอลัมน์ Well Being นิตยสาร Health&Cusine และบางส่วนจากนิตยสารอื่นๆ


บางส่วนจากคำนิยม

“สังคมปัจจุบันกำลังอยู่ในยุค ‘ตัวช่วย’ ผู้คนพากันหาตัวช่วยมา 'ยกครก' ขึ้นเขากันเป็นแถว มีทั้งลวด

สะลิง มีทั้งกระเช้าไฟฟ้า มีทั้งสะพานลอย บันไดเลื่อน จนลืมไปแล้วว่าคนสมัยก่อนเขาเข็นครกกันอย่างไร ผลงาน เข็นครกลงเขา ของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ สวนกระแสยกขึ้น โดยการทำให้ผู้อ่านเห็นการ ‘เข็นลง’ เข็นด้วยมือตนเองและกำกับด้วยใจตนเอง


ต้องอ่านค่ะ จึงจะ ‘เข็นลง’ เป็น”

ชมัยพร แสงกระจ่าง

นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย



“...ให้มุมมองการใช้ชีวิตแบบไม่เปลืองแรงใจ คุณหญิงใช้เรื่องเล่าชวนให้สำรวจจิตใจและมองความคิดของตนเองให้ทะลุ ส่วนเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่เรากังวลว่าต้อง ‘เข็นครกขึ้นเขา’นั้น เพียงแค่ตั้งสติให้ดีจะพบว่าเราอาจเป็นคนสร้างเนินเขาขึ้นมาเอง ถ้าปรับมุมมองให้ยอมรับกฎธรรมชาติ ประคองครกให้ค่อยๆ ไหลตามแรงโน้มถ่วงของโลกบ้าง เรื่องที่คิดว่ายากจะกลับกลายเป็นเรื่อง ‘เข็นครกลงเขา’ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ...


งานเขียนคุณหญิงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยภาษาที่กระทัดรัด แต่กินใจ และด้วยความช่างสังเกตและชอบตั้งคำถามที่กลับลำ หักมุมจากคนทั่วไป”

ดร.วีรไท สันติประภพ

นักเศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร





ข้อมูลหนังสือ

ผู้เขียน: คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์

บรรณาธิการ: ใจรัตน์ สมบัติพิบูลย์

พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์อัมรินทร์ ตุลาคม พ.ศ.2550

พิมพ์ครั้งที่ 7 สำนักพิมพ์อัมรินทร์ กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551



ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page