top of page

หลายบทบาทของ ‘แม่’

อย่าง คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน


โดย พิมพ์โสม





A WOMAN TO HER DAUGHTER

Not being a poet

I cannot crystallise

the tendernesses, cruelties

and all the intricacies of life,

into words whose sweet magic

would sign in your soul

and echo in your heart.


I am not a philosopher

and have not the wisdom to tell you

the whys, whats and wherefores

of living and dying

and of all the complexities

of just ‘being’ on this earth.


And not being a moralist,

I dare not teach you

to judge your fellows

and condemn their wrongs

for, can one sit in another’s heart,

burn with another’s passion,

and grope the labyrinth

of another’s private hell?

Being a mere woman,

I can only ask you, a woman-to-be,

to softly sense and tenderly touch

life’s multi-textured realities

and,

with a woman’s heart,

try to feel and understand.

Forever try to understand.


โคลงไพเราะบทนี้มีที่มาจากเรื่องราวประสาแม่ๆ ลูกๆ เป็นการเขียนโดยคุณแม่คนหนึ่ง เพื่อแทนการตอบจดหมายถึงลูกสาว ผู้จากไปเรียนหนังสือเสียห่างไกล รายละเอียดปลีกย่อยน่าเอ็นดูระหว่างแม่กับลูกนั้น คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หรือ ‘คุณแม่’ ในที่นี้เล่าว่า


“ตอนที่ลูกสาวคนโตไปเรียนเมืองนอก แกอายุ 16 ปี ก็เขียนจดหมายมาเล่าโน่น ปรึกษานี่ อยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวสุข ตามประสาวัยรุ่น ความที่ตัวเองกับลูกสาวน่ะสอนกันมาตั้งแต่เล็กจนโต มันก็ถึงจุดที่รู้สึกว่าเอ...เรานี้ชักจะเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง พูดอะไรไปแกก็ซึมซาบดีแล้ว จะเห็นตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ก็คุยกันได้ เราก็เห็นว่า แกรู้จักคิดแล้ว เราสอนอะไรไป ก็ไม่ดีเท่าให้แกรู้จักสอนตัวเอง มาวันหนึ่งก็เลยยอมแพ้ เขียนโคลงบทนี้ตอบแกไปแทนจดหมาย อันที่จริงมันก็จดหมาย จดหมายรักเสียด้วยซี (หัวเราะ) ตอนนั้นแกอายุซัก 18 เห็นจะได้”


ในถ้อยคำร้อยเรียงนั้น ‘แม่’ ออกตัวว่า เธอมิใช่กวี ไม่ใช่นักปรัชญาหรือนักจริยธรรม แต่เป็นเพียงผู้หญิง

ธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น


และด้วยคุณสมบัติของความเป็น ‘ผู้หญิงธรรมดา ๆ ’ นั้นกระมัง เธอจึงกรองกลั่นผลงานอันจรรโลงงานด้านภาษาและวรรณกรรมได้งดงามสมบูรณ์นัก


โคลงภาษาอังกฤษข้างต้นที่เธอนำไปอ่านในการประชุมกวีโลก (World Congress of Poet) ณ ประเทศกรีกเมื่อปีที่แล้ว นับเป็นงานเขียนรูปแบบหนึ่งในจำนวนมากมายหลายรูปลักษณะ ที่เธอทุ่มเททำด้วยใจรักในภาษาอย่างท่วมท้น น่าทึ่ง และน่าจะได้ทำความรู้จักยิ่ง


“ดิฉันเคยสัมภาษณ์คนอื่น ตัวเองให้สัมภาษณ์ไม่เป็น รู้จักดิฉันจากผลงานไม่ดีกว่าหรือคะ”


คุณหญิงปรารภไว้เมื่อเริ่มการสนทนา ทว่ารายละเอียดเล็กน้อยอันเป็นเกร็ดประวัติส่วนตัว ก็ไม่พึงมองข้ามไป เพราะเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะให้ผู้อ่านได้รู้จักและเข้าใจผลงานของคุณหญิง นักอักษรศาสตร์ผู้รับทั้งบท แม่ ภรรยา อาจารย์ ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารโรงพยาบาล นักเขียน นักแปล และอดีตนักหนังสือพิมพ์

ผู้นี้ดียิ่งขึ้น


คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เป็นธิดาของคุณจุลินทร์ และคุณสงวน ล่ำซำ สมรสกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุทัย รัตนิน มีบุตร 4 คน เป็นชาย 1 หญิง 3 เรียงลำดับดังนี้

-สรรพัฒน์ ขณะนี้เป็นนักเรียนแพทย์อยู่ที่ Royal Free Hospital ในกรุงลอนดอน

-วรัดดา ลูกสาวในโคลงบทนั้นกำลังทำปริญญาตรีอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

-ต่อมาคือ อโนมาเป็นน้องใหม่บัญชีสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-คนสุดท้อง จิตรจารี ยังเรียนอยู่ ม.5 โรงเรียนมัธยมสาธิตศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน


“มีลูกอีกคนค่ะ ชื่อจตุพร เป็นหลานที่เหมือนกับเป็นลูกชายคนโต เขาเรียน MBA กลับมาบริหารโรงพยาบาลอยู่..สำหรับหมอกับดิฉัน ลูกเยอะเนี่ย เป็นความสุขนะคะ แต่ละวันไม่มีอะไรซ้ำกันซักวัน ลูกๆ แต่ละคนก็นิสัยต่างๆ กัน เหมือนลูกกวาดหลายๆ สี ชื่นใจดี ”


โรงพยาบาลที่คุณหญิงพูดถึงก็คือ โรงพยาบาลรัตนิน จักษุคลินิก ที่ซอยอโศก บ้านของคุณหมออุทัย คุณหญิงและลูก ๆ คือ แฟลตกว้าง บนอาคารรัตนิน จักษุคลินิก ซึ่งเป็นที่ทำงานของคุณหมอ


“สะดวกดีค่ะสำหรับเรา เพราะหมองานหนักมาก ใช้ลิฟต์ไปทำงานไม่ต้องเหงื่อแตกรถติดอยู่ตามถนน แต่บางครั้งก็อึดอัดหน่อย เพราะดิฉันชอบบ้านที่มีหญ้า มีน้ำ และมีต้นไม้ เพราะโตมาในบ้านสวน

คิดกันไว้ว่าพอหมองานเบาลงหน่อย จะปลูกบ้านที่มีสวนอยู่กันซะที ”


ชีวิตในวัยเยาว์ของคุณหญิงนับเป็นช่วงเวลาที่อาจเรียกได้ว่า มีอิทธิพลกล่อมเกลา สร้างสมความรู้สึกตลอดจนแนวความคิด อันได้สะท้อนอยู่ในผลงานในเวลาต่อมา


“ดิฉันอายุได้ 2 ขวบกว่า คุณแม่ก็เสีย ตอนนั้นยังเด็กมาไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร แปลกนะคะ ไม่เคยรู้ว่าชีวิตเด็กที่มีแม่นั้นเป็นยังไง ส่วนเด็กที่เค้ามีแม่ก็ไม่มีทางรู้ว่าการไม่มีแม่นั้นมันเป็นยังไง เป็นประสบการณ์ที่แลกกันไม่ได้


...เมื่อเด็กๆ บ้านอยู่ฝั่งธนฯ หลังจากที่แม่เสีย มีคุณอา (เล็ก ล่ำซำ) ดูแล จำได้ว่า กระโจนน้ำ กระโดดท้องร่อง ช้อนปลาเข็ม เล่นกับพี่ๆ และน้องสนุกสนานไปวันๆ เด็กๆ กลัวผีมาก บรรยากาศที่บ้านแม่ มันน่ากลัวดี คุณพ่อชอบสะสมของเก่าทุกประเภท บางผนังก็มีอาวุธโบราณแขวนประดับ พี่ชายสองคนชอบหาวิธีต่างๆ มาหลอก เดี๋ยวนี้อายุมากไม่กลัวผีแล้ว แต่หมอและลูกๆ ไม่เชื่อ ยังชอบทดลองหลอกอยู่เรื่อยๆ


...ชีวิตสมัยนั้นจะว่าสนุกก็สนุก มีอิสระอยู่ในบ้านมากทีเดียว ดิฉันชกมวยเก่งนะคะ ฟุตเวอร์คงี้เนี้ยบเลย ได้ทั้งไทย ทั้งเทศ ก็มีพี่ชายตั้งค่ายมวยกันคนละค่าย ดิฉันเป็นนักมวยค่ายพี่ชายคนโต (ไพโรจน์ ล่ำซำ) ส่วนน้องสาว (ทวีนุช จ่างตระกูล) สังกัดค่ายพี่ชายคนเล็ก (โพธิพงษ์ ล่ำซำ) ดิฉันแพ้ทุกที ไม่ใช่ด้อยฝีมือนะคะ ก็สมัยนั้นน้องสาวเขาน้ำหนักดีกว่า หมัดเลยหนักกว่าเยอะ (หัวเราะ) ยังมีน้องชายอีก 2 คน (ธงชัยและภูมิชาย ล่ำซำ) แต่อายุน้อยกว่ามาก ก็เลยโตไม่ทันที่จะมาเล่นแผลงๆ กับพี่ๆ


...อยู่ที่บ้านฝั่งธนฯ ชอบนอนใต้ต้นส้มโอ มีขนมจานหนึ่ง หนังสือเล่มหนึ่ง นอนฝัน ดูท้องฟ้าบ้าง อ่านหนังสือบ้าง รบกับมดแดงที่หล่นจากต้นส้มโอบ้าง เรื่องการบ้านน่ะไม่ค่อยจะทำ เช้าขึ้นก็ไปโดนตีที่โรงเรียนตามระเบียบ ไม่เคยถึงกับสอบตก แต่ก็ผ่านแบบเส้นยาแดงผ่าซีก

.

..จะโทษโทรทัศน์อย่างสมัยนี้ก็ไม่ได้ เพราะตอนนั้นยังไม่มีโทรทัศน์ ต้องโทษว่าติดหนังสือ ทั้งคุณยายและคุณพ่อเป็นคนช่างอ่าน สำหรับคุณพ่อใครๆ ก็เห็นท่านเป็นแต่นักธุรกิจ น้อยคนที่จะรู้ว่าท่านรักศิลปะและวรรณคดี หนังสืองานศพของคุณแม่ คุณพ่อใช้นิราศอิเหนาของสุนทรภู่เป็นบทนำ ดิฉันถึงได้รู้จักงานบทนี้มาตั้งแต่ตัวเล็กนิดเดียว และยังจำได้ว่าตอนเล็กๆ เอาไปท่องให้เพื่อนๆ ฟัง แล้วอวดว่าพ่อฉันเขียนนะ (หัวเราะ)”


เพราะเหตุนี้กระมังคุณหญิงจึงแปลนิราศอิเหนาบางตอนเป็นภาษาอังกฤษ ไปอ่านที่หอสมุด A.U.A. เมื่อ William Stafford กวีชาวอเมริกันผ่านมาเยือนกรุงเทพฯ ในช่วงที่ตรงกับการฉลอง 200 ปี สุนทรภู่ เมื่อเร็วๆ นี้ และ ความที่ยังนึกถึงความรักในศิลปะและวรรณคดีของคุณพ่อ ประกอบกับที่เคยเขียนบทความและเรื่องภาษาอังกฤษในนาม Chamnongsri Lamsam เธอจึงใช้นามปากกาภาษาอังกฤษในปัจจุบันว่า Chamnongsri L. Rutnin ด้วยความเห็นชอบของคุณหมอ


“พูดถึงคุณพ่อท่านเสียชีวิตไป 21 ปีแล้ว แต่ทุกครั้งที่เห็น ‘สามก๊ก’ ฉบับพระยาพระคลัง ก็ยังคิดถึงท่านมาก และท่านคุยให้เราฟังอยู่เสมอ


...เห็นจะต้องพูดว่าได้รับอิทธิพลการอ่านจากคุณยายกับคุณพ่อ หนังสือวรรณคดีมีเยอะแยะ ทั้งที่บ้านคุณยายที่สาธร และบ้านคุณพ่อที่ฝั่งธน


...ดิฉันอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่พวกเด็กในบ้านซื้อมาอ่านกัน ประเภทที่สมัยนี้เขาเรียกกันว่า ‘เป็นพิษเป็นภัย’ จนถึง ‘พลนิกรกิมหงวน เสือดำ เสือใบ ผู้ชนะสิบทิศ รามเกียรติ์ อิเหนา พระอภัยมณี’ และอะไรต่ออะไรปนเปกันไปหมด อ่านเรียบวุธหมดจนจบทุกเล่ม ตั้งแต่ก่อนไปเมืองนอกเมื่ออายุ 12

...อ้อ...มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่คุณยายห้ามอ่านเด็ดขาด คือขุนช้างขุนแผนด้วยเหตุว่าบทอัศจรรย์มันร้ายนัก กว่าจะได้มาอ่านก็ตอนกลับจากนอก ได้โอกาสก็คว้าเลยอ่านด้วยความสงสัยมาหลายปี ว่าทำไมท่านห้ามไม่ให้อ่าน


...ที่ชอบนักอีกอย่างหนึ่ง คือ ละคร ชอบทั้งดู ทั้งรำเอง ก็โรงเรียนราชินีนี่คะ โขน ละครของกรมศิลป์แต่ละเรื่องดูซ้ำดูซากได้ 5-6 ครั้ง


...ตอนอยู่อังกฤษก็บ้าดูละครค่ะ แต่ไม่ชอบแสดงนะคะ แสดงไม่เป็นเอาเลย ชอบดูขนาดยอมอดข้าวเที่ยงเก็บเงินดูละคร ดูแล้วก็มาวิจารณ์กับเพื่อนบ้าง ครูบ้าง บางทีวิจารณ์กันได้เป็นวันๆ พอโตมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ ก็เลยได้มาเขียนบทความวิจารณ์เอาจริงๆ”


คุณหญิงเรียนที่โรงเรียนราชินีปากคลองตลาด มาตั้งแต่เล็ก รุ่นเดียวกับคุณไข่มุกด์ ชูโต เมื่อเรียนใกล้

จะจบมัธยม 3(เทียบเท่ากับมัธยม 1 ในปัจจุบัน) คุณพ่อก็ส่งไปเรียนที่อังกฤษหน่อยหนึ่งก่อน แล้วก็เข้าโรงเรียนประจำชื่อ Fritham House


"แรก ๆ รู้สึกเหมือนถูกปล่อยเกาะ...เหงามากค่ะ พูดภาษาก็ยังไม่รู้เรื่อง ไม่มีคนไทยเลย มีต่างชาติ 2-3 คน นอกนั้นเป็นชาวอังกฤษหมด


...ชื่อไทยเรามันเรียกยาก ครูใหญ่เขาเลยตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Jasmine ก็เลยเป็นแม่ ‘ดอกมะลิ’ ตลอด 6 ปีครึ่งที่อยู่อังกฤษ


...โรงเรียนเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ สำหรับเด็กผู้หญิง ตั้งอยู่กลางป่า ที่เรียกว่า New Forest จำได้ว่าวันอาทิตย์ครูเขาจะต้อนพวกเราออกไปเดินข้างนอกไม่ว่าฝนจะตกหรือหิมะจะลงหนักแค่ไหน


...พอตกบ่ายก็ให้ไปรวมในห้องเปิดดนตรีประเภทคลาสสิคให้ฟังสัก 2-3 ชั่วโมง แล้วครูใหญ่ก็อ่านหนังสือให้ฟัง เป็นหนังสือดีๆ ฟังสนุก


...สำหรับหน้าหนาวก็มีการจุดไฟในเตาผิงใหญ่ อุ่นไปทั้งห้อง ในบรรยากาศอย่างนี้ แกจะอ่านเรื่องลึกลับหรือเรื่องผี พวกเราก็นั่งกันบนพรม จะถักนิตติ้งหรือวาดรูป ทำอะไรก็ได้ ที่ไม่มีเสียงรบกวนคนอื่น

หูก็ฟังไป มองย้อนกลับไปชีวิตโรงเรียนที่โน่น มันก็น่าสนุกดีหรอกนะคะ แต่ตอนแรกๆ นั้นเรารู้สึกว่าไม่สนุกแน่ มันเหงาเหลือเกิน ”


น้ำเสียงของผู้เล่าฟังแล้ว ‘เหงา’ ได้อารมณ์อย่างแท้จริง การที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งต้องดูแลตนเอง ในต่างถิ่นต่างแดนเช่นนี้มาแต่น้อย และด้วยความรู้สึกโดดเดี่ยวลำพัง อันเป็นเสมือนเพื่อนสนิทที่คุ้นเคยมาแต่ครั้งไหนๆ นี่เอง ที่มีผลส่งให้การถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ออกมาเป็นตัวหนังสือของคุณหญิง ได้แสดงตัวแจ่มชัดขึ้นมาทีละน้อย


“โรงเรียนนี้ยังเป็นโรงเรียนที่แปลกหน่อยนะคะ ครูใหญ่เป็นจิตรกรมีสตูดิโออยู่บนคอกม้าในบริเวณโรงเรียน บริเวณนิว ฟอเรสท์ ที่โรงเรียนตั้งอยู่นั้นเข้าให้มามีสิทธิในการใช้ถนนเหนือกว่าคนและรถทุกชนิด แถวนั้นเขาปล่อยให้ม้าเป็นอิสระในทุ่ง ในป่าทุกแห่งละค่ะ เคยมีม้าแปลกหน้าเข้ามายืนกินหญ้าอยู่บนสนามเทนนิสของโรงเรียน นักเรียนส่วนใหญ่ก็เรียนขี่ม้า บางครั้งก็ขี่แบบไม่ใช้อาน ใช้แต่บังเหียน ซึ่งดิฉันไม่เก่งเลย เพราะตัวเล็ก ขาสั้น หลังม้ามันลื่น พอขึ้นแล้วมักจะไหลไปไหลมา ดูน่าเกลียดจะตาย


...วันหนึ่งตกม้าแบบหัวทิ่ม กล้ามเนื้อที่คอฉีก ต้องนอนพักรักษาตัวตั้งนาน แต่ดิฉันก็มีความสุขมาก ได้มีเวลาอ่านหนังสือเป็นตั้ง ๆ ไม่ต้องออกไปเล่นเน็ตบอล พอหายแล้วก็ยังแกล้งทำเป็นเจ็บ ได้นอนอ่านหนังสือต่อ จนครูพยาบาลเขารู้ทัน ภาษาอังกฤษมาดีเอาช่วงนั้นล่ะค่ะ


...แล้วก็เริ่มเขียนบ้างแล้ว คือรู้สึกอะไร หรือมีอะไรที่มันกระทบเรามากๆ ก็โน้ตๆ ไว้น่ะค่ะ แต่ไม่ได้เก็บเลย กระจัดกระจายตกหล่นหายไปหมด


...อันที่จริงงานเขียนสมัยนั้นยังเหลืออยู่ชิ้นหนึ่งค่ะ เป็นเรื่องสั้นภาษาอังกฤษชื่อ The Moth ที่ยังเหลือเพราะตอนหลังได้ลงพิมพ์ในวารสารสามัคคีสาร ของนักเรียนไทยในอังกฤษ จำได้ว่าคุณสุเมธ (ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา) เป็นผู้เขียนภาพประกอบ


...อยู่เมืองไทยเป็นนักเรียนชั้นสวะ แต่ที่อังกฤษพอภาษาอยู่ตัว ก็เรียนได้ผลดี คุณพ่อสงสัยเต็มที

ถึงกับถามไปทางผู้ดูแลทางโน้นว่า ทางโรงเรียนเขียนคะแนนผิดหรือเปล่า ดิฉันเรียนที่โรงเรียนนั้น ได้ O Level ปรกติจะต่อมหาวิทยาลัยเราก็จะทำ A Level ที่นี้คุณพ่อไม่อยากให้อยู่ต่อ เพราะถ้าเรียนมหาวิทยาลัยจะใช้เวลาอีกมาก ท่านเองก็ไม่ค่อยสบาย อยากให้ลูกสาวกลับบ้านเร็วๆ เลยบอกให้เรียนวิชาเลขานุการที่ลอนดอน ไม่สนุกเลย เรียนไม่จบหรอกนะคะ ก็เจียดเอาเวลาไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลปเสียนี่คะ ใจเรามันรัก


...เวลาเดียวกันคุณพ่อก็ยังให้ไปเรียนวิชาทำกับข้าว และอะไรอีกเยอะแยะ ที่ขำที่สุดคือเรียนวิชานางแบบ ทั้งๆ ที่ตัวเตี้ย หัวโตอย่างนี้แหละค่ะ ครูเขาอุตส่าห์ให้กำลังใจว่าเท้าเล็กอย่างนี้หากินเป็นนางแบบรองเท้าได้ (หัวเราะ) ให้เรียนอะไรก็เรียน แล้วก็กลับมากรุงเทพฯ”


ครั้นเมื่อคุณหญิงกลับคืนบ้านเกิดแล้ว ด้วยความรักในตัวหนังสือ ก็เริ่มทำงานเขียนบทความให้หนังสือพิมพ์บางกอกเวิร์ลด์ เมื่อสมัยที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับนั้น ยังเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่

ที่วางตลาดเวลาเช้าคู่กับบางกอกโพสต์ ขณะนั้นเธออายุเพียง 18 ปี


และต่อมาก็ได้รับตำแหน่งบรรณาธิการหน้าผู้หญิงและสังคม ทำงานอยู่ 3 ปีเศษ ก็สมรสกับ นายแพทย์อุทัย รัตนิน และลาออกมาช่วยงานคลินิกของคุณหมอและเป็นแม่บ้านดูแลลูกๆ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

งานเขียนที่เคยมีเวลาให้อย่างสม่ำเสมอได้ชะงักนิ่งกว่า 10 ปี กระทั่งได้เริ่มกลับมาจับปากกาจรดบนแผ่นกระดาษอีกครั้งก็เมื่อลูกๆ โตกันแล้ว


โดยระยะแรกคุณหญิงได้แปลเอกสารต่างๆ ที่มีผู้ขอร้องให้ช่วยเหลือ และที่ขาดไม่ได้ก็คือการหันมาเริ่มงานรจนาบทร้อยกรองภาษาอังกฤษมากมาย รวมทั้ง ‘จากแม่ถึงลูกสาว’ ข้างต้นนี้ด้วย คุณหญิงให้ความเห็นเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ด้วยอารมณ์ขันว่า


“อาจจะเป็นเพราะดิฉันไม่เคยรู้จักแม่กระมังคะ ก็เลยสอนลูกไม่เก่ง เพียงแต่พยายามจะให้แกใช้ความเมตตาและความละเอียดอ่อน ของผู้หญิงสัมผัสความเป็นจริงของชีวิต ให้รู้จักเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยความคิด สติปัญญา และอารมณ์ของตัวเอง แม่นั้น...ยอมแพ้ จนปัญญาแล้ว”

กระไรได้... ‘แม่’ หาได้จนปัญญาดังว่าไม่เลยแม้แต่น้อย เพราะผลงานต่างๆ อีกมากมายในทุกรูปแบบ ต่างเป็นข้อพิสูจน์ว่า ปัญญา ความคิด และอารมณ์ที่มารวมกันอย่างลงตัวนั้นงดงามเพียงใด


“อย่างว่าแหละ ดิฉันเป็นคนรักศิลปะทุกประเภท ชอบที่จะพาลูกไปดูอะไรๆ ที่เรารัก อีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันเห็นว่าสำคัญว่าอะไร คือ อยากเปิดโอกาสให้เขาเกิดความสนใจ ปรัชญาพุทธศาสนา ไม่เคยยัดเยียดเขานะคะ แต่พยายามหาโอกาสให้เขามองของเขาเอง คือมองให้ลึกเข้าไปกว่าแค่การบุญตามประเพณี หรือทำบุญเพื่อหวังบุญอะไรทำนองนั้น


...อันที่จริงปรัชญาพุทธศาสนาเป็นเรื่องในตัวของเรา เป็นสัจธรรมที่เกี่ยวกับมนุษย์และธรรมชาติ ศิลปะก็เป็นเรื่องของมนุษย์และธรรมชาติ ต่างกันที่กลั่นสัจธรรมนั้นออกมาคนละทาง คนละระดับ

...ดิฉันอยากให้ลูกสนใจทั้งสองอย่างนี้ ต้องจริงใจนะคะ ไม่ใช่สนใจเพื่อโชว์ หรือหลอกตัวเองว่าเราเป็นอย่างโน้นอย่างนี้”


คงจะเป็นเพราะคุณหญิงมีความคิดอย่างนี้กระมัง จึงเขียนบทกวี ที่ชื่อว่า The Mask ซึ่งเธอบอกว่ายังไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน


Man makes masks

for his own soul

He looks at the masks

and says ‘I know myself.’

Man makes mirrors

for his own eyes

He gazes into the mirrors

and says ‘I see myself.’


Man makes images

for his own mind

He points at the images

and says ‘These I love, those I hate.


Man makes mirages

for his life

He loses himself in them

and says ‘This is happiness,this is sadness’


“ดิฉันรักภาษามากค่ะ เสียดายที่รู้จริงแค่สองภาษาแค่นั้น รู้สึกทั้งชื่นชมทั้งอิจฉาคนเก่งหลายภาษาอย่างคุณดวงทิพย์ (ดร.ดวงทิพย์ สุรินทาธิป) เป็นคนที่มีความสามารถพิเศษมากนะคะ ดิฉันว่าภาษามีดนตรี มีความหมาย มีอารมณ์ มีภาพ มีเสน่ห์สารพัด ก็เลยหาเรื่องยุ่งกับมันอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นฐานะผู้อ่าน ผู้เขียน หรือผู้แปล อ้อ...บางทีในฐานะผู้พูดอย่างที่กำลังทำอยู่นี่ไง (หัวเราะ)”

และเมื่อพอจะมีเวลาให้กับสิ่งที่ตนรักได้เต็มที่บ้างแล้ว คุณหญิงก็ได้ใช้เวลานั้นไปสมัครเรียน สาขาวรรณคดี ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กระทั่งได้รับพระราชทานปริญญาบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่งในปี 2524 นับเป็นจุดที่เกิดกำลังใจให้หันมาผลิตงานเขียน งานแปล โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแปลที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก และจิตใจ


“ดิฉันสนใจ...มีความรู้สึก...กับความซับซ้อนของจิตใจคน มันมีทั้งความงดงาม น่าเกลียด น่ารัก

น่ากลัว โอ๊ย...ทั้งขัดแย้ง ทั้งปะปนกันไปหมด”


งานกวีนิพนธ์ของคุณหญิงจึงเป็นการสังเกตในเรื่องทั่วๆ ไป เกี่ยวกับความเป็นจริง หรือสัจธรรมในชีวิตและในธรรมชาติของมนุษย์ สำหรับเรื่องราวของโลภะ โทสะ โมหะ เธอวาดภาพด้วยภาษากวีออกมารุนแรงน่ากลัว


Love and Hate

tangle hellishly

in senseless eternity.

Gripping

with ego-manic jaws,

Gripping

with sadistic claws

of mad jealously

and debased humanity.

ความสนใจของคุณหญิงในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ทำให้เกิดงานกวีนิพนธ์หลายบท เช่น บทที่เธอเรียกว่า Death Of A Friendsip


Who says Friendship doesn’t die?

I have known that it does.


Unfelt, unmourned, it dies

like a soft, unheard sigh

like a dewdrop blown dry

like a dying moon in pale

morning sky.


I have seen its death

I have seen it fade

I have seen it die

It doesn’t burn with passion,

It doesn’t ache with love,


And so, whoever is there

who’d care to cry

for the poor,

plain, precious thing

when it dies?

และบทที่เธอเรียกว่า Curtain ซึ่งเป็นอีกบทหนึ่งที่ยังไม่เคยตีพิมพ์

“เอ...แต่บทนี้ใครจะอ่านว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็ได้ หรือจะอ่านว่า ระหว่างมนุษย์กับอย่างอื่นก็ได้ (หัวเราะ) คนเขียนไม่มีคำตอบ”


Is there really a curtain,

a curtain not really there?

A veil far finer than smoke,

and far lighter than air?


Are you beyond that curtain

that screens your world from

mine?

Can we sense of touch

or exchange a thought or a sign?


I believe there is a moment

a rare moment bright and frail

hidden in the heavy folds of time

a magic chink in the veil.


Ssh…the hours are dreaming;

the minutes are wandering away;

time is drifting and forgetting

and turning to look another way…


Now, we steal the fairy moment

and let it shine soft and fair,

we smile into each other’s minds

and whisper in voices of wind

and air


“ดิฉันจึงไม่เคยเขียน poetry ด้วยความตั้งใจว่าจะเขียน มันเหมือนกับช่างภาพที่เดินๆ ไป เกิดเห็นอะไรที่ประทับใจในขณะนั้น ก็ยกกล้องขึ้นกดชัตเตอร์เดี๋ยวนั้นทันที ไม่ใช่คิดว่าจะถ่ายภาพโน้น ภาพนี้ แล้วหิ้วกล้องไปหาเรื่องจะถ่าย”

(On seeing the face of Christ)

Now I have seen the face of Love

as I have always known it

should be

for I have chased its shadows

in my dreams

and envisioned its soft“


"ความที่ชอบดูงานศิลปะ ดูรูปเขียนมาตั้งแต่เด็ก เข้าแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์เสมอๆ วันดีคืนดีเมื่อไปที่การ์ดเนอร์ มิวเซียม ก็ให้เผอิญเดินผ่านไปเห็นรูปเล็กๆ รูปหนึ่ง เป็นรูปของใบหน้าพระเยซูที่กำลังแบกไม้กางเขน เขียนในศตวรรษที่ 17 ข้างหน้ารูปเล็กรูปนี้มีโต๊ะตั้งแจกันดอกไวโอเล็ตวาง เห็นภาพถ่ายของความรู้สึกในตอนนั้น”

งานกวีนิพนธ์ของคุณหญิงบทนี้ ได้มีคณะนาฏศิลป์สมัยใหม่ (modern dance truop) ของอเมริกันที่ San Francisco ขอสิทธิ์ไปใช้ประกอบลีลาของเขาแทนดนตรี

เมื่อการถ่ายภาพ เป็นตัวอักษรอันงานวิจิตรได้อารมณ์ของคุณหญิงมีที่มาและขั้นตอนอันไม่อาจกำหนดหรือบังคับในกรอบเวลาได้ เพราะเป็นงานที่เกิดขึ้นตามโอกาสอันเหมาะเจาะลงตัวเท่านั้น เธอจึงออกตัวว่า

“ดิฉันจึงไม่เรียกตัวเองว่าเป็นกวี อยากจะบอกว่าไม่ใช่ เพราะมีผลงานน้อย พิมพ์ที่โน่นที่นี่ที ไม่เคยรวบรวมเป็นเรื่องเป็นราว เผลอๆ มันก็แว่บเข้ามา เคยมีคนมาบอกว่า...ชอบเหลือเกินโคลงที่เขียนๆ น่ะ อยากจะเอาไปพิมพ์ ขอให้เขียนให้ครบจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ปรากฏว่านับจากนั้นไปเป็นเวลาปีครึ่ง ดิฉันก็เขียนไม่ออก (หัวเราะ)

...เวลาเขียนโดยที่รู้ว่าจะมีคนมาอ่าน ถ้าเป็นร้อยแก้วไม่เป็นไร แต่เป็นกวีนิพนธ์นั้นไม่ได้ มันสะท้อนออกมาเป็นเพียงสิ่งที่เราพยายามทำเพื่ออะไรบางอย่าง ใครๆ ก็ว่าเราไม่ต้องทำมาหากิน ไม่ต้องเขียนโคลงขาย...เป็นแม่บ้านถึงได้เป็นอย่างนี้ เราไม่ใช่กวีจริงๆ ...ถูกไหมคะ (หัวเราะ)”

คำตอบนั้นอยู่ในการตัดสินของผู้อ่านที่จะให้คำจำกัดความของ ‘กวี’ เป็นเช่นใด ทว่าไม่เพียงแต่งานกวีนิพนธ์นี้ดอก ที่คุณหญิงได้ใช้ภาษาด้วยความรักเปี่ยมล้น หากยังมีงานแปล งานเขียนเป็นภาษาอังกฤษ

อีกมากมายที่ล้วนมาจากความตั้งใจจริงของผู้รักภาษาโดยแท้

“งานแปล งานเขียนบทความที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของไทยให้ฝรั่งอ่านนั้น เห็นจะเริ่มจากตอนฉลอง 200 ปีกรุงเทพฯ ที่ใครๆ ก็วานให้เขียนโน่น แปลนี่ เป็นภาษาอังกฤษ ดิฉันก็ทำ ยิ่งทำยิ่งสนุก ภูมิใจนะคะที่เกิดมาเป็นคนไทย

.

..เวลาแปลนี่ ไม่ได้แปลตรงตัวนะคะ ต้องเรียกว่าแปลและเรียบเรียงจะถูกกว่า จะคำนึงว่าผู้อ่านเป็นฝรั่ง พื้นฐานทางวัฒนธรรมเขาต่างจากเรา ต้องมีอุบายในการแปล เข้าใจ สนใจสนุกและไม่เบื่อ ในเรื่องนี้การเขียนก็เหมือนกันค่ะ”

งานแปลที่แพร่หลายงานหนึ่งในช่วงนั้นเห็นจะได้แก่ หนังสือเล่มใหญ่ในชุดหนังสือพระที่นั่งวิมานเมฆ

งานสำคัญอีกงานหนึ่ง คือ งานเตรียมเอกสารภาษาอังกฤษ และร่วมเป็นวิทยากรในการอบรมมัคคุเทศก์ นำชมพระบรมมหาราชวัง และวัดพระแก้ว เนื่องในโอกาสการฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี

สำหรับงานแปลวรรณกรรมนั้นคุณหญิงยอมรับว่าชอบที่สุด กระทั่งไม่นึกสนุกที่จะแปลงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่วรรณกรรมอีกแล้ว ด้วยเหตุที่การแปลวรรณกรรมนั้น ในทรรศนะส่วนตัวมีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเองมากกว่างานแปลอื่น

“ตอนนี้ก็แปลไปเรื่อยๆ เช่น เรื่องสั้นของคุณอัศศิริ ธรรมโชติ คุณนิมิตร ภูมิถาวร ที่เพิ่งแปลเสร็จก็เรื่อง ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’ ของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ ค่ะ แปลให้สำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติในชุด ‘Childhood Stories’

งานแปลที่น่าภูมิใจของคุณหญิงคือการร่วมทำงานอยู่ในคณะผู้แปลไตรภูมิพระร่วง ในโครงการวรรณกรรมอาเชี่ยน ซึ่งอยู่ในระหว่างจัดพิมพ์

ดังที่ทราบกันดีแก่ใจแล้วว่า ศิลปะในการแปลนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนยุ่งยาก ซับซ้อนเพียงใด เพราะภาษาขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม อารมณ์ ความรู้สึก ตลอดจนภูมิหลังของผู้เขียน งานแปลวรรณกรรมสักเรื่องเห็นจะเหมือนการปรุงอาหารสักจานนั่นแล้ว รสภาษาของผู้แปลก็เทียบเท่ากับรสมือของแม่ครัวกระนั้น การปรุงรสภาษาของคุณหญิงเริ่มจาก

“การอ่านงานค่ะ อ่านแล้วต้องรักมัน เข้าใจมันให้ดี ให้เห็นภาพพจน์ เกิดอารมณ์ สวมความรู้สึกของผู้เขียนและตัวละคร ตอนแรกถ้าทำไม่ได้ก็ไม่แปลค่ะ แต่ก็มีบางทีที่คิดว่าน่าเบื่อ ไม่ชอบ แต่พออ่านๆ ไปกลับชอบมันมากก็มี

...พออ่านแล้วก็จะพูดกับผู้เขียน...บางทีถ้าท่านไม่มีเวลา พูดทางโทรศัพท์ก็ได้ เพียงเพื่อให้ได้ยิน ได้ฟังน้ำเสียง แล้วจึงกลับมาอ่านงานอีกที พยายามซึมซับงานเข้าไปในความรู้สึก ที่สำคัญมากคือเรื่องของความเข้าใจอารมณ์และภาพในจินตนาการ ถ้าไม่ชัดจะถ่ายทอดออกมาไม่ได้ดี”

ซึ่งทั้งหมดนี้ ดูราวกับคำบรรยายในชั้นเรียนว่าด้วยวิธีการแปลอย่างใดอย่างนั้น...ก็ไม่ใช่ผิดนักหรอกเพราะคุณหญิงยังได้ทำหน้าที่ ‘อาจารย์’ ผู้แข็งขันเช่นกัน คือเคยเป็นอาจารย์พิเศษวิชาการแปล วิชามนุษย์และวรรณคดี และวิชาวิจารณ์การละครและภาพยนตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ตอนนี้ไม่ได้สอนค่ะ ชอบการสอนนะคะ สนุกมากค่ะ ลูกศิษย์น่ารักส่วนใหญ่จะสนใจและมีชีวิตชีวา ดิฉันเองก็พลอยสนุกไปด้วย”

ผลพลอยได้ของการที่คุณหญิงไปสอนวิชาแปลในสาขาวิชาวรรณคดี ภาควิชาภาษาอังกฤษ ที่ธรรมศาสตร์ ก็คือเนื้อร้องภาษาอังกฤษของเพลง ‘หนึ่งเดียวคนนี้’ เป็นผลงานที่คุณหญิงกับนักศึกษาของเธอร่วมกันแปลในชั้น

“โอ้ย...หัวเราะกันจะตาย ก็หิ้วเอาเทปเพลงเข้าไปในห้องเรียน แปลไปลองร้องไปกับดนตรี ในเทปมันยากนะคะ ไหนจะต้องให้ได้ความหมายไหนจะอารมณ์ ไหนจะต้องเลือกความยาว ความสั้น ให้เข้ากับทำนอง ไหนจะต้องให้มีจำนวนพยางค์ให้ร้องตามจังหวะได้

...พอเสร็จ ดิฉันก็ยังต้องเอามาเกลาที่บ้าน คุณปุ๊ (อัญชลี จงคดีกิจ) กับคุณจิตรนาถ (วัชรเสถียร) และ

เพื่อน ๆ ก็มีน้ำใจลองร้องกับเปียโนเป็นการเช็คจนเป็นที่พอใจของทุกคน”


THIS LONELY ME

(From the song ‘This Lonely Me’)


Hope someone will understand

I don’t care who may it be

Don’t even care where he belongs-

don’t care


Anyone is right for me

If he only likes me true;

Want to give, just want to give,

To give away this heart of mine.


This lonely heart was once so hurt

The pain’s still worse than words can say

If you were hurt as hurt was I

Then why not leave your heart with me?


Come and mend this broken heart,

Every part make fast with steels.

Trust that there’s tomorrow still

And sleep will come with restful

dreams.


ว่างจากการสอน คุณหญิงกลับมาจับงานที่เคยทำและหยุดไปเมื่อสองปีก่อน คือ การทำรายการ

วรรณคดีไทย’ ให้แก่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยภาคภาษาอังกฤษ ทุกวันจันทร์เวลาเช้า หลังข่าว 7.00 น. รายการนี้จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป

เวลาแต่ละวันของคุณหญิงจึงหมดไปกับเรื่องจิปาถะของครอบครัว รวมไปถึงกิจการของสามี และเรื่องศิลปะ ภาษา และหนังสือที่เธอรัก ไม่จบสิ้นเช่นเดียวกับการถ่ายทอดผลงานมากมายที่ท่านสรรค์สร้าง

ในด้านภาษาและวรรณกรรมลงในการสนทนาบทนี้ ที่ไม่อาจครอบคลุมอ้างอิงได้ครบถ้วน

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์หนึ่งอันน่าประทับใจที่เกิดขึ้นจากงานเขียนของคุณหญิง ซึ่งควรจะได้นำมาเล่าถึงก็คืองานเขียนบทละคร ซึ่งแม้จะเป็นเพียงเรื่องแรกก็ตาม

“ดิฉันอุตริเขียนบทละครขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ชื่อ ‘สิ้นแสงตะวัน’ แล้วส่งไปประกวดรางวัล จอห์น อี เอกิน ฟาวเดชั่น ซึ่งเป็นรางวัลวรรณกรรมที่จัดให้สำหรับ เรื่องสั้น นวนิยาย และบทละคร ติดต่อกันมา 3 ปี สำหรับปี 2525 นั้นเป็นบทละคร ตอนที่ส่งบทละครเรื่องนั้นไปประกวดก็ใช้นามปากกาว่า ‘ศรีรัตน์ ภูเกษม’ ไม่ได้ใช้ชื่อจริง ส่งไปแล้วก็ลืมไปเลย

...ทีนี้มีโทรศัพท์จากโรงแรมโอเรียนเต็ลมาหาคุณศรีรัตน์ที่บ้านดิฉันหลายครั้ง คนรับก็บอกว่าไม่มีคนชื่อนี้ ในที่สุดก็มีโทรศัพท์มาอีกยืนยันว่า คุณหญิงศรีรัตน์ต้องอยู่ที่นี่แน่ ๆ เลย เพราะให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ เขาบอกว่า ถ้าหาตัวไม่ได้จะยุ่งมาก เพราะวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นวันรับรางวัล แต่หาคนที่จะรับรางวัลไม่พบ ถึงนึกได้ว่า คือตัวเอง”

เรื่องราวข้างต้นนี้ จึงเป็นข้อพิสูจน์ให้ประจักษ์ถึงความสามารถในงานวรรณกรรมของคุณหญิงเป็นอย่างดีรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานวรรณกรรมนั้นเป็นกำลังใจที่มีค่าแก่ผู้เขียนที่ดีที่สุด เพราะหมายถึงการเป็นที่ยอมรับจากแวดวงผู้อ่าน และผู้เห็นค่าของงานสร้างสรรค์ประเภทนี้จึงก่อให้เกิดความเชื่อมั่นที่จะผลิตงานต่อๆ ไป

ในส่วนตัวของคุณหญิงแล้ว นอกจากความรักในภาษาที่มีอยู่เป็นทุนเดิมอันแน่นแฟ้น เธอมีความตั้งใจที่จะจรรโลงสรรค์สร้างผลงานเขียนเป็นภาษาอังกฤษไม่หยุดยั้ง ด้วยประสบการณ์และความรู้สึกที่ได้สัมผัสมาด้วยตนเอง กล่าวคือ

“ตอนที่ไปประชุมกวีโลกเมื่อปีที่แล้ว เป็นตัวแทนจากเมืองไทย ไปคนเดียวนะคะ รู้สึกเหงาใจมาก แทบจะไม่มีใครสนใจเราเลย หนังสือรวมงานกวีร่วมสมัยของไทย ‘A Premiere Book of Thai Contemporary Verse’ เตรียมไปแจกก็ไม่เห็นมีใครมาขอ ดูความสนใจที่ชาติอื่นอย่าง ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือเกาหลี ได้รับแล้ว เราก็รู้สึกน้อยใจ

...วันที่มีการเสนองานของกวีที่มาประชุม ดิฉันก็อ่านโคลง ‘จากแม่ถึงลูกสาว’ นี่แหละค่ะ หลังจากนั้นก็หายน้อยใจแทนคนไทยไปเยอะ เพราะใครๆ หลายๆ คนเข้ามาคุยด้วย มาขอหนังสือจนหมด มีฝรั่ง มีแขกบอกว่า เพิ่งจะเห็นจากผลงานที่อ่าน รวมถึงท่าทางและการอ่านของเรา ว่าคนไทยนั้นมีอะไรๆ ที่ไม่เหมือนคนจีน ญี่ปุ่น คนเกาหลี ทำให้เขาสนใจงานของคนไทยขึ้นมา มีชาวเกาหลีคนหนึ่ง เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในโซลก็มาคุยทำนองนี้หลัง จากเขาขอหนังสือ ‘A Premiere Book of Thai Contemporary Verse’ ไปอ่านแล้ว

...แสดงว่าเมืองไทยนี่ไม่ได้อยู่ใน Map เลย ถ้าเราไม่ขึ้นไปอ่านงานบนเวที เขาก็คงไม่คิดจะสนใจ

...ดิฉันถึงอยากให้เขารู้ว่า คนไทย เมืองไทยนี้มีอะไรที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเราจะดีไปกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่เหมือนใคร ข้อสำคัญเราต้องให้เขารู้ว่ามีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ เป็นตัวของตัวเอง งานของคนไทยไม่ว่าจะเขียนเป็นภาษาไทยหรือภาษาใด ๆ มีความคิด มีวิญญาณ ที่เป็นไทย ขอให้เราสร้างงานศิลปะด้วยความจริงใจ ไม่เสแสร้ง ไม่ลอกเลียนแบบ หรือ ‘เห่อ’ ตามเขาแบบตื้น ๆ งานศิลปะของคนไทยก็จะมีคุณค่าที่น่าภูมิใจเป็นที่สุด”

ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า ความเป็น ‘ผู้หญิงธรรมดาๆ ’ คนหนึ่ง ของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน นั้นนำมาซึ่งบทบาทของ แม่ ภรรยา ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล นักหนังสือพิมพ์ กวี นักแปล อาจารย์

ผู้กำกับวิดีโอ สารคดี นักเขียน และอดีตนักหนังสือพิมพ์ ได้อย่างน่าทึ่ง เป็นที่น่ายินดีที่คุณหญิงเต็มใจ ตั้งใจ และรักที่จะทำงานในด้านนี้ให้สมบูรณ์เรื่อยไป

เพราะยากนักที่บทบาทเหล่านี้จะมารวมกันอย่างพร้อมเพียงที่ใครสักคน เพียงคนเดียวเช่นนี้


 

จาก: คอลัมภ์ เปิดอก นิตยสารดิฉัน ปีที่ 10 ฉบับที่ 228 สิงหาคม 2529

ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page