top of page

แม่กับลูก

โดย รุจณีย์-ฑริญา


คำว่า ‘แม่’ เป็นคำที่ถูกนำมาอธิบายขยายความกันอย่างกว้างขวาง ทว่าคงไม่มีข้อความใดจะทดแทนความหมายได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

ดังนั้นในโอกาสที่เวียนมาถึง ‘วันแม่แห่งชาติ’ จึงให้คุณแม่ได้มาพูดคุยถึงสายใยระหว่างแม่-ลูก อีกครั้ง



คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน แม่บ้าน – กวี – นักแปล

บุตร 5 คน: จตุพร (เต้ย) สรรพัฒน์ (ไต๋) วรัดดา (น้ำผึ้ง) อโนมา (น้ำหวาน) จิตรจารี (น้ำอ้อย)


“ตัวดิฉันเองไม่มีแม่ แม่ของดิฉันเสียตั้งแต่อายุได้สองขวบครึ่ง จึงไม่มีประสบการณ์ของการเป็นลูก ซึ่งอาจจะเป็นจุดที่น่าสนใจก็ได้ เพราะเป็นประสบการณ์ที่อาจจะต่างไปจากแม่คนอื่น ซึ่งเขาเรียนการเป็นแม่มาด้วยการเป็นลูกมาก่อน แต่สำหรับดิฉัน – ดิฉันไม่ – ดิฉันเป็นลูกกำพร้า ตอนนั้นดิฉันมีคุณพ่อ แต่ว่าคำว่าคุณแม่ ดิฉันไม่มี ดิฉันมีคุณอาที่ไม่ได้แต่งงานมาดูแล...ให้เราดูหนังสือ ดำเนินชีวิต


เมื่อแต่งงาน ดิฉันมีลูกเมื่ออายุค่อนข้างจะน้อย แล้วตัวดิฉันก็เรียนน้อย คือว่าดิฉันเรียนถึงแค่อายุ 18 ปี แล้วก็ทำงาน ฉะนั้นการเลี้ยงลูกจะเป็นด้วยสัญชาตญาณมากกว่า แต่ว่าเมื่อได้เลี้ยงลูกแล้ว การเลี้ยงลูกสอนเราหลายอย่าง ความผิดพลาดไม่ได้มีผลเสียอะไรนักหนา แต่ความหมายว่า เดี๋ยวนี้มองย้อนหลังไป อ้อ เราไม่ควรทำอย่างนั้นนะ อ้อตรงนี้เรามีอารมณ์ไปหน่อย


ดิฉันมีลูก 2 รุ่น หมายความว่าห่างกัน คือคู่แรกเกิดปีละคน แล้วก็ห่างไปประมาณอีก 4 ปี ดิฉันเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองทุกคน อันนี้สำคัญมากสำหรับดิฉันนะคะ เพราะว่ามันเป็นการสัมผัสที่ดีมากค่ะ สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ – เป็นความสุข ดิฉันชอบอุ้มเด็ก ดิฉันอยากกอดเด็ก


ดิฉันเลี้ยงลูกโดยไม่มีแบบฉบับ เลี้ยงตามสัญชาตญาณและความรัก ซึ่งมันอาจจะผิดหรืออาจจะถูก ความรัก นี่มันไม่ใช่ว่าจะทำให้เราทำถูกเสมอไป ลูกโตมาด้วยเห็นทั้งความผิดและความถูกในการสอนของแม่ แล้วก็ถือว่าเป็นธรรมชาติของเรา


ดิฉันไม่เคยคิดว่า มีช่วงไหนหรือวัยใดที่เลี้ยงลูกยาก คือโชคดีอยู่อย่างที่ดิฉันไม่มีปัญหาหนักหนาอะไร จะมีก็ปัญหาที่เป็นไปตามธรรมชาติของความสัมพันธ์ของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นปัญหาอย่างที่ดิฉัน

จะต้องวิ่งไปแก้อย่างขนานใหญ่อะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าเขามีปัญหามา เขารู้ได้ว่าแม่อยู่ตรงนี้ พ่ออยู่ตรงนี้นะคะ แล้วความเป็นแม่หรือความเป็นพ่อ ในสายตาดิฉันมันตัดไม่ขาด


สำหรับดิฉันความรักที่มีต่อลูก มีโดยสัญชาตญาณอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้ง 4 คน และแม้กระทั่ง 5 คน (คนโตสุดเป็นหลาน แต่คุณหญิงนำมาเลี้ยงให้ความรักเสมือนลูก)


แต่ในเมื่อลูกแต่ละคนแตกต่างกัน ซึ่งดิฉันดีใจ ถ้าลูกดิฉันพิมพ์ปั๊มออกมาเหมือนกันหมด ดิฉันคงเซ็งสาหัส ในเมื่อเขาแตกต่างกันเนี่ย กระแสที่มีไปถึงเขา ก็ต้องแตกต่างกัน ถ้าเขาจะมานั่งจับว่าวันนี้แม่ทำอันนี้กับคนนั้น ไม่ได้แสดงอันนี้กับคนนี้ – ไม่ได้

เขาคิดบ้างไหมว่าเราแสดงอันนี้กับคนนี้ แต่ไม่ได้แสดงอันนี้กับคนนั้น เพราะว่าคลื่นรับ มันต่างกัน กระแสก็ไปต่างกัน เพราะฉะนั้นมันเป็นความหลากหลายหรือความแตกต่างของความรัก ไม่ใช่ความไม่เท่ากัน อันนี้ฝากเลย

แต่ดิฉันคิดว่าในบางส่วนที่ลึกๆ เราทั้งแม่ทั้งลูกจะมีอะไรที่คล้ายกันมาก เราไม่ได้ชี้แนะ เราต่างคนต่างรู้กันเอง แล้วเราก็ขำ แทบจะเดากันได้ว่าสถานการณ์นี้คนนั้นจะทำอย่างนั้น


ความประทับใจในตัวลูกมีมากเลย...ดิฉันเห็นว่าลูกดิฉันโชคดีที่เรียนเก่งหมดทุกคน แต่ว่าดิฉัน

ไม่ได้เห็นว่าการเรียนเก่งนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ธรรมดา สิ่งที่ดิฉันคิดว่าสำคัญกว่า

การเรียนเก่ง คือความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ความเข้าใจในความทุกข์ของคนอื่น การแคร์ต่อความรู้สึก ดิฉันไม่ชอบคนที่บอกว่า ‘ฉันไม่แคร์’ แล้วดิฉันก็ประทับใจว่าลูกทุกคนเป็นเด็กที่แคร์กันหลายๆ อย่าง ซึ่ง

การแคร์นี้ อาจจะทำให้ตัวเองมีความทุกข์กว่าปกติบ้าง แต่ว่าดิฉันคิดว่านั่นมันเป็นส่วนที่มนุษย์อยู่ร่วม

กันได้ อันนี้คือสิ่งที่ดิฉันประทับใจมากกว่าการเรียนเก่งของเขาเสียอีก และกลับมาว่าภูมิใจมั้ยการมีลูกเรียนเก่ง ก็ยอมรับนะคะว่าภูมิใจ แต่นั่นก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอีก เพราะถ้าการเรียนเก่งทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าฉันต้องเก่งกว่าคนนั้น หรือฉันต้องแข่งกับคนนี้ มันเป็นเรื่องของการแข่งขัน เมื่อมีการแข่งขันก็จะต้องมีการเอาชนะ เมื่อมีการเอาชนะ ความเห็นแก่ตัวก็ต้องเป็นส่วนหนึ่ง


ปัญหาที่ทำให้กลุ้มอกกลุ้มใจมันอยู่ที่ว่า การอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด มันก็มีความเป็นห่วงเป็นใยในบางอย่างมันอาจจะมีความคิดที่แตกต่างกัน แล้วทำให้เราเกิดความเป็นห่วงว่า ความคิดเขาถูกต้อง

รึเปล่า จะทำให้มีปัญหาตามมารึเปล่า อันนี้แน่นอน ดิฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราจะมีลูก ก็ต้องมีความเป็นห่วง แต่ดิฉันไม่ถือว่ามันเป็นปัญหาเท่าใด


ปัญหาในการทำงานกับการเลี้ยงลูกสำหรับดิฉัน... ระหว่างที่ลูกเล็กๆ ดิฉันไม่ได้ทำงานเป็นเวลา 10 ปี ก็อยู่กับครอบครัวตลอด ชีวิตของดิฉันเป็นอย่างนั้น ปัญหาจึงไม่มีนัก ส่วนงานเขียน ดิฉันเขียนเป็นส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้รบกวนอะไรกับใคร ตอนนี้ลูกแต่ละคนก็โตหมดแล้ว


ดิฉันไม่ถือว่าดิฉันเป็นแม่ประเภทที่ใกล้ชิด ประเภทที่ตามลูกทุกฝีก้าวเลย หรือว่าเป็นห่วงเป็นใยอย่างมากมาย หรือปกป้องอย่างมหาศาล อะไรอย่างนี้ ดิฉันไม่ใช่อย่างแน่นอน



ดิฉันกับลูกๆ จะเป็นเพื่อนกันเรามีความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติมาก คือไม่วิเศษอะไร แล้วก็ไม่ใช่ –--เราเถียงกันได้ เราโกรธกันได้ เราดีกันได้ เราไม่ต้อง ‘แม่คะ แม่ขา’ ลูกดิฉันไม่ต้องเคารพดิฉันอย่างมากมายก่ายกองอะไร เราจะเป็นเพื่อนกัน เหตุผลเราก็สิทธิ์ที่จะมีเหตุผล จากมุมมองของแต่ละคน เราก็เอามาคุยกันได้ แล้วก็อาจจะไม่จำเป็นที่ลูกจะต้องเห็นเหมือนดิฉัน เวลาเขางอน ดิฉันก็ง้อ แต่ถ้าดิฉันงอน ลูกก็จะง้อเหมือนกัน ซึ่งช่วงของการง้อ เป็นช่วงที่น่าชื่นใจที่สุด (หัวเราะ)


ดิฉันคิดว่าความที่ดิฉันยังเป็นมนุษย์ปุถุชน แล้วลูกก็เป็นปุถุชนเนี่ย --- ถ้าไม่มีการโกรธกันหรือไม่มีการแคร์กันว่า คือว่าแหม ดีไปหมดเนี่ย ดิฉันไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ ถ้ามันเป็นเนี่ย ก็จะต้องเป็นอะไรที่ (หัวเราะ) มันเป็นหน้ากาก โดยที่ไม่รู้ตัว หรือไม่ก็เป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ยังไงคะ ที่เราจะอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง หรือเป็นปีๆ โดยที่ไม่ผิดใจกัน คงไม่ใช่มนุษย์มังคะ แต่การที่ผิดใจ แล้วเราจะง้อกันเสมอ หรือดีกันเสมอ ทำให้ส่วนมากจะรัก จะเอาใจกันขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ดิฉันพบอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าเราเริ่มแสดงความเป็นแม่ ฉันเป็นแม่เธอนะ ฉันให้กำเนิดเธอนะ ฉันต้องการสิ่งนี้จากเธอนะ ดิฉันเลี้ยงลูกมาฟรีเกินไปที่จะให้เขารับสิ่งเหล่านั้นได้ แล้วบางทีเราก็ค้านตัวเองด้วย การไปทำสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อทำแล้ว เราต้องขอโทษเขา


เรามีวิธีขอโทษหลายอย่างนะคะ ด้วยคำพูด ‘ขอโทษนะลูก’ นะคะ หรือเป็นการแสดงและเขาเข้าใจ แล้วเขาก็รู้ ที่น่ารักที่สุด เมื่อเรากรี๊ดต่อกันไปแล้ว เขาก็จะขอโทษดิฉันเหมือนกัน บางทีเราโทรศัพท์สวนกันเลยด้วยซ้ำไป คำแรกของแม่ก็คือ ‘ขอโทษนะลูก’ เขาก็ ‘ขอโทษนะแม่’ พร้อมกันอะไรอย่างนี้ แต่จะโกรธกันไปพักหนึ่ง อาจจะเป็นวัน ไม่ค่อยจะข้ามวันหรอก ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่น่ารักที่เกิดขึ้นในความเป็นแม่ลูก


ดิฉันไม่อยากเข้าไปยุ่งในความเป็นส่วนตัวของลูกในสิ่งต่างๆ แต่ว่าลูกให้ดิฉันรับทราบเสมอ แล้วลูกดิฉันก็ไม่มีแฟนเร็วนะ ไม่ใช่ตั้งแต่ 14-15 อะไรอย่างนั้น ไม่มี ตอนนี้เขาก็ถึงอายุที่เขาอาจจะมีได้ โดยธรรมชาติแล้ว...


ลูกดิฉันทุกคนเป็นเด็กที่ช่างสังเกต เขาจะสังเกตแล้วก็จะดูว่าในชีวิต เขาจะทำอะไรได้บ้าง แต่ก็มีบางคนนะคะ ที่เอาจริงเอาจังกับชีวิตมากบ้าง เพราะตั้ง 4 คนนี่ มันก็แตกต่างกัน


แต่ดิฉันมักจะสอนลูกอยู่อย่างหนึ่งว่า อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เมตตาจิตกับอารมณ์ขันมันไปด้วยกัน คือถ้าใครทำอะไรที่ --- แทนที่จะไปโกรธเขาน่ะ มองเขาในแง่ดี ดีกว่า ทำให้เราทั้งจิตใจผ่องใส แล้วก็ทั้งทำให้เราเห็นมุมที่มันน่าสนใจน่ะ แล้วทำให้เราไม่เกิดความเครียด อีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันระวังที่สุดคือว่าโกรธได้ แต่อย่าเกลียดอันนี้สำคัญ อย่าเกลียด เพราะความเกลียดเนี่ยมันทำลาย ความโกรธไม่เป็นไร

ดิฉันคิดว่าลูกทุกคนมีจุดอ่อน แล้วก็การเป็นแม่เราเห็นจุดอ่อนของลูกเราได้ชัดกว่าคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันดิฉันค่อนข้างจะมั่นใจในความเป็นมนุษย์ของลูกดิฉัน เมตตาจิตในทุกคนเนี่ยมี แล้วอันนี้ดิฉันภูมิใจมาก แต่ว่าจะเป็นห่วงในจุดอ่อนของเขา ก็เป็นธรรมดาที่เราจะต้อง...ถ้าเราเป็นแม่ที่เราใกล้ชิดพอ เราจะเห็นจุดอ่อนเหล่านั้น


เรามีความอยากแน่นอน แม่ทุกคนต้องอยากให้ลูกเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้แน่นอน ซึ่งความอยากนั้นมันอาจจะทำให้เกิดทุกข์กับลูกก็ได้ เพราะฉะนั้นบางทีดิฉันก็หลงไปกับความอยากเหมือนกันแหละ แต่ดิฉันก็ถอยออกมา บางทีทำไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่สายเกินไปเพราะเราพูดกันได้เสมอ ถ้าพูดกันด้วยปากไม่ได้ ก็พูดด้วยบทกวี


ตอนนี้สองคนที่อยู่ไกล ก็ต้องห่วงกันเป็นธรรมดา (คุณไต๋กับคุณน้ำผึ้งศึกษาอยู่ที่อเมริกา) บทกวีของดิฉันที่ทำให้ดิฉันกลายเป็นที่รู้จัก ก็คือบทกวีที่ดิฉันเขียนถึงลูก


เจ้าลูกชายคนโต (คุณไต๋) ใกล้ชิดกับแม่มากเลย เขาจะปกป้องแม่ของเขาเหมือนเสาให้แม่เลยละ เขารักแม่เหลือเกิน ...แต่ดิฉันไม่เคยคิดจะเขียนโคลงให้เขา (หัวเราะ) เขาเป็นคนที่คงแก่เรียนมาก เขาเป็นหมอนะคะ เขามันจะเป็นเรื่องของธุระ เขามีอะไรนะคะดิฉันบอกไม่ถูก เขาจะมีคำพูดสักคำสองคำที่แสดงให้เรารู้ว่าเขารักเราเป็นภาษาของเขาซึ่งไม่ใช่ภาษาโรแมนติก (หัวเราะ)


ตัวน้ำหวานเขามีอะไรแปลกๆ วันดีคืนดีเขาก็เอาเพื่อนมา แล้วก็ไปซื้อต้นไม้ปลูกสวนให้แม่ (ชี้ไปที่สวนหย่อมกลางบ้าน) คือความละเอียดอ่อนจะออกมาในความนุ่มนวล พอทะเลาะกันเสร็จเขาก็จะทำสวนให้ หรือทำกับข้าวอร่อย ๆ ให้แม่ทาน...เขาน่ารักนะ


แล้วคนเล็ก...เจ้าอ้อย สนิทกันอย่างมหาศาลก็ไม่เคยเขียนบทกวีให้เหมือนกัน


ดิฉันไม่ได้อยากให้ลูกๆ มองดิฉันอย่างไรทั้งสิ้น ซึ่งดิฉันคิดว่าแต่ละครอบครัวทุกอย่างมันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ถ้ามีความรัก ความหวังดี และมีอารมณ์ขันแล้วก็มีเมตตาจิต ดิฉันคิดว่าจะโกรธกันให้ตายยังไง จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมา รอดเสมอค่ะ เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าดิฉันก็บอกไม่ถูกว่าดิฉันอยากให้มองยังไง ดิฉันคิดว่ามันไม่มีความอยาก แล้วก็เป็นไปตามธรรมชาติของความรักเท่านั้นเอง ขอโทษนะพูดเหมือนนักเขียนอย่างนั้นแหละ แต่ดิฉันพูดจริงๆ

 

จาก: คอลัมน์หน้าต่างทัศนะ นิตยสารขวัญเรือน ปักษ์หลังสิงหาคม 2531


ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page