top of page

แม่ลูก


ภาพของคุณหญิงจำนงศรี



คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ และบุตรชาย นายแพทย์สรรพัฒน์ รัตนิน หรือคุณหมอไต๋ แห่ง

โรงพยาบาลจักษุรัตนิน คุณแม่คุณลูกคู่นี้นำความรักมาแปรเป็นการแสดงออกที่แตกต่าง


“ไต๋เป็นลูกคนแรก คลอดที่บอสตัน พ่อเขา (นพ.อุทัย รัตนิน) ไปค้นคว้าวิจัยเรื่องประสาทตาอยู่ที่นั่น...ดิฉันกำพร้าแม่ตั้งแต่สองขวบกว่า ไม่รู้ว่าการเป็นแม่เป็นอย่างไร ก็เลยเลี้ยงเขาแบบ ‘แม่จำเป็น’ คือตามสัญชาตญาณบ้าง ตามหนังสือคู่มือบ้าง ไม่เป็นระบบเลย ”


คุณหมอไต๋หัวเราะ “แม่ไม่ค่อยพูดคำว่า ‘อย่า’ มีแต่ ‘ลองดูซิ’ (พูดพร้อมกัน) ชอบไม่ชอบไม่เป็นไร”

คุณหญิงอธิบาย “คุณพ่อดิฉัน (จุลินทร์ ล่ำซำ) เลี้ยงลูกๆ ให้ลุย สมัยเด็กๆ นั่งรถจี๊ปเข้าป่า เห็นตัวแย้วิ่งตัดหน้า พอคุณพ่อบอกว่าชาวบ้านเขาชอบกิน เราร้องยี้...ได้เรื่องเลย คุณพ่อว่ามนุษย์เหมือนกัน เขากินได้ เราสูงส่งอะไรรึถึงกินไม่ได้ จักจั่นทะเลอีก พอร้องยี้ คุณพ่อก็หามาให้กินแก้ยี้


“สมัยอยู่อังกฤษคุณพ่อพาไปสวนสนุก ท้าให้ขึ้นไม้ลื่นที่สูงเท่าตึกสองสามชั้นได้มั้ง ขึ้นแล้วถอยไม่ได้เพราะมีฝรั่งต่อท้าย ดิฉันกลัวมากก็เกาะอยู่อย่างนั้น ฝรั่งรอไม่ไหวถีบไหลปรู๊ดลงมาโดนคุณพ่อล้อไปอีกนานว่าศรีขี้ขลาดจนถูกฝรั่งถีบ ท่านล้อให้กล้าไง ดิฉันโตขึ้นมาอย่างนี้ เลยไม่ถนอมลูกๆ”


คุณหมอแย้ง “แม่มีประสบการณ์เยอะ ให้ทั้งความรู้ ความรัก จำได้ว่าเมื่อเล็กๆ เคยเอาผ้าชุบน้ำเช็ด

หลอดไฟบนโต๊ะเครื่องแป้งคุณแม่ พอมันแตกก็ตกใจ เอาไปซ่อน แต่แม่กลับมาขอบใจผมมากที่มีน้ำใจ

ช่วยทำความสะอาดให้ ส่วนของที่แตกไปหาใหม่ได้ การเรียนรู้จากมันสิสำคัญ ผมจำติดมาเลยว่า ถ้าทำอะไรอย่างจริงใจและตั้งใจดีก็ไม่ต้องกลัวความผิด”

ถึงตรงนี้คุณหญิงสารภาพเสียงอ่อยว่า “แต่สมัยคุมการบ้านลูกน่ะ เคี่ยวเข็ญแล้วก็ตีด้วย ทำไม่ถูกเล้ย”

คุณหมอไต๋ปลอบใจ “แม่รู้ว่าผมอยากเป็นหมอมาก ก็อยากให้ผมได้สมใจ แม่พูดถึงการเลือกในชีวิต

แม่เป็นคนเปิดโลกให้ ให้คิด ให้มองหลายมุม ให้เห็นข้อดีข้อเสียของชีวิตหมอ นักธุรกิจ หรือวิศวกร

เด็กมองเองไม่เห็นหรอก”

คุณหญิงว่า ไต๋อายุแค่ 6 ขวบ พ่อก็พาเข้าห้องผ่าตัดให้ดูการผ่าตัดตา พอสักสิบเอ็ดขวบไต๋บอกเลยว่า

จะเป็นหมอแน่ๆ ตอนนั้นเขาเจ็บหนักมาก บ้าฟุตบอลไง โหม่งลูกฟุตบอลจนหัวเกิดติดเชื้อร้ายแรง รักษายากมาก”

คุณหมอหัวเราะ “โดนจับไปนอนโรงพยาบาลรามาธิบดีเดือนเต็มๆ เลยอยากเป็นหมอ เพราะรู้ถึงใจเลยว่าหมอช่วยเราแค่ไหน”

คุณหญิงรับลูกว่า “ถูกดมยาสลบเข้าห้องผ่าตัด เปิดหนังหัวล้างหนองทุกวัน ล้างหมดวันนี้ พรุ่งนี้หนองคลักเหมือนยาสีฟันอีกแล้ว ถ้าเชื้อเข้าถึงสมองก็จะตาย เวลาตื่นจากยาสลบเขาเจ็บทรมานมากๆ”

“รู้ซึ้งเลยว่าแม่รักเรา...อยู่กับเราตลอด ได้ชิมอาหารฝีมือแม่หมดทุกกระบวนเลย” คุณหมอว่า


“อีกเรื่องที่ไม่เคยลืม คือตอนไปเรียนเมืองนอก พออายุ 12 ปี อยู่ ๆ แม่ก็บอกว่าจะส่งไปเรียนที่อังกฤษภายในสองเดือน พอไปถึงก็เอาไปไว้โรงเรียนประจำสอนภาษา ตอนนั้นรู้สึกว่า แหม เอาเราไปปล่อยเกาะแล้วก็หายตัวไป ที่จริงแล้วแม่ขับรถตระเวนไปทั่วอังกฤษ ไปดูโรงเรียนที่คัดๆ ไว้ เข้าไปดูบรรยากาศ คุยกับครู คุยกับเด็ก เช็คว่าโรงเรียนไหนมีสถิตินักเรียนเข้าแพทย์สูงและไม่มีคนไทย แรกๆ

ก็น้อยใจเหมือนกัน จะเอาเราไปปล่อย แล้วยังเช็คว่าจะไม่มีคนไทยให้เป็นเพื่อนเสียอีก”



เป็นอันว่าคุณหมอเป็นเด็กไทยคนแรกและคนเดียวสมัยนั้น ในโรงเรียนเก่าแก่ที่มีนักเรียน 400 คน

มีคนเอเชีย 3-4 คน “อ้าว...แม่ก็ไปอังกฤษอายุ 12 ปี เป็นคนไทยคนแรกในโรงเรียน เป็นเอเชียคนเดียวด้วย” คุณหญิงโต้ทำนองว่าแม่ทำได้ ลูกก็ทำได้สิ


“ต้องเห็นความพยายามของแม่ตอนที่โรงเรียนไม่ยอมรับผม เพราะไม่ได้เรียนในระบบอังกฤษก่อนตามกฎเกณฑ์ ภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แม่ต่อสู้หนักมาก ยืนยันกับครูใหญ่ให้รับผมไว้ลองเรียนสักปี ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ยอมให้ย้ายไปอยู่โรงเรียนที่วิชาอ่อนกว่า แต่แม่บอกเขามั่นใจในตัวลูกชาย I’m confident about my son. Take my word for it. แรกๆ ผมใจแป้ว รู้สึกว่าไม่ไหว แต่พอแม่พูดอย่างนั้น รู้สึกซึ้งมากเลย คำว่ามั่นใจในตัวลูกนี่มันมีความหมายเหลือเกิน...โอเคเราจะพิสูจน์ตัวเองอย่างเต็มที่”

คุณหญิงขยายต่อ “เชื่อไหมล่ะ เข้าไปแล้วไต๋ก็ได้รางวัล Headmaster’s Prize สองปีซ้อน สำหรับความพยายามและพัฒนาการรอบด้าน ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความเป็นเด็กอารมณ์ดี ชอบกีฬา ในปีที่สามเขาได้รางวัลที่หนึ่งในชั้นสำหรับผลการเรียนดีเด่น แค่ปีแรกดิฉันก็ได้ใจไปบอกครูใหญ่ว่า ‘เห็นไหมล่ะ...’ เขาขำมากบอกว่าไม่เคยเห็นผู้ปกครองอะไรอย่างนี้มาก่อน ”

"ภูมิใจจะที่ตอบสนองความมั่นใจแม่ได้ เพราะแม่หาช่องทางและเปิดโอกาสให้มาตลอด ที่ผมเป็นหมอวันนี้ ก็เพราะแม่ช่วยลุยอีกนั่นแหละ” คุณหมอพูด “ไม่จริงหรอก” คุณหญิงค้าน “แม่แค่ท้าลูกให้พิสูจน์ตัวเอง คืออย่างนี้ค่ะ ถึงไต๋จะเรียนดีมาก แต่ที่นั่นการเข้าเรียนแพทย์มีระบบโควตา คนเอเชียน้อยมากๆ ตอนที่ไต๋สมัครเรียน ดิฉันจึงไปขอพบคณบดี บอกเขาว่าไม่ได้ขอสิทธิพิเศษอะไร เพราะอย่างไรก็ต้องสอบเข้าตามเกณฑ์มหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เราชี้ให้เขาเห็นความเป็นนักสู้ของลูกเรา และรับรองว่าถึงเวลาก็จะกลับเมืองไทยแน่ๆ วิชาความรู้ที่ได้มาจะเป็นประโยชน์กับวงการแพทย์ไทย”

สิบสองปีต่อมาคุณหมอกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่ง

นายแพทย์อุทัย รัตนิน เป็นผู้วางรากฐานและดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาคนแรก คุณหมอไต๋เป็นข้าราชการอยู่แปดปีกว่า ก็ลาออกมาเป็นอาจารย์พิเศษ และมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจักษุรัตนิน

ที่คุณพ่อเริ่มไว้เมื่อสี่สิบปีก่อน

ตอนที่คุณหมออุทัยเสียชีวิตเป็นช่วงเวลาที่หนักมากสำหรับคุณหญิง ต้องแบกภาระดูแลโรงพยาบาล

อยู่หลายปี กว่าลูกๆ จะกลับมาสานงานต่อ “มีช่องโหว่เมื่อไร ที่ไหน แม่จะมาค้ำไว้ทุกครั้ง พยายามทุกวิถีทางให้ชีวิตพวกเราราบรื่น” หมอไต๋ว่า


“ตอนนี้ไม่โหว่เลย เป้า (ศิริธร) ภรรยาไต๋มาเป็นกรรมการผู้จัดการ เก่งและขยันมาก น้องๆ ไต๋

ก็ช่วยกัน น้ำหวาน (อโนมา เศรษฐพรพงศ์) ดูแลด้านการเงิน น้ำอ้อย (จิตรจารี ปีตธวัชชัย) ดูด้าน

การตลาด ส่วนน้ำผึ้ง (วรัดดา หลีอาภรณ์) มาช่วยเป็นครั้งคราว” คุณหญิงว่า ไต๋เขาแคร์คนไข้มาก”


แต่คุณหมอขัด “...แค่อยากให้ทุกคนสบายใจ ไม่ใช่แค่คนไข้ แต่รวมถึงแพทย์และพนักงานเราสองร้อยกว่าคน คุณภาพชีวิตที่แม่พูดเสมอคือ ทำชีวิตเราและรอบตัวเราให้เป็นสุข


“อีกอย่างที่ได้จากแม่ละใช้มาจนถึงทุกวันนี้ คือ awareness การเปิดใจรับรู้ แม่สอนตั้งแต่ยังเล็กมากว่า ถ้าอยู่ในห้อง อย่าเห็นแค่นี่มันห้องแล้วจบ จะรู้สึกเบื่อๆ แคบๆ อยู่แค่นั้น แต่ให้รับรู้รอบตัว รอบด้าน การรับรู้จะค่อยๆ ละเอียดจนกลายเป็นทักษะ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และจะช่วยทำให้เรา ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง”


คุณหญิงทำหน้าเหลอ “แม่เคยสอนขนาดนั้นเชียวหรือ มีอะไรที่แม่สอนไว้อีก บอกมา จะได้เก็บไปเขียนหนังสือขาย” คุณหมอหัวเราะ “แม่สอนเราให้ภูมิใจและจริงใจกับความเป็นตัวเอง เพราะการเสแสร้งต้องใช้กำลังเยอะ จะเหนื่อยเปล่าๆ”

แล้วความประทับใจของคุณหญิงต่อลูกๆ เล่า “โอ๊ย...ใจเขาเปิดกว้างดี อย่างตอนที่แม่จะแต่งงานใหม่

(กับ ดร.ชิงชัย หาญเจลักษณ์ ) เอาตอนอายุใกล้ 60 ปี เขาอบอุ่นกันมาก...”


“อ้าว...ก็คุณอา (ชิงชัย) เป็นคนพิเศษมาก ๆ ปกป้องพวกเราเหมือนเป็นพ่อเลย” คุณหมอบอก


คุณหญิงเลยล้อว่า “เขาชอบอวดสรรพคุณฝีมือหมอไต๋ ไต๋ขอร้องให้หยุดก็ยังไม่หยุด”


และสิ่งที่แม่ลูกคู่นี้สนใจตรงกันคือ ธรรมชาติ โรคตา ธรรมะ และเครื่องไฮเทค คุณหมอเล่าว่า “ชอบเล่นคอมพิวเตอร์และของไฮเทคทุกอย่างตั้งแต่อยู่เมืองนอก กลับมาเห็นคุณแม่เป็นโรคเดียวกัน ก็สนุกสิ

ของขวัญวันเกิดแม่ ที่ผมให้เป็นของไฮเทคทั้งนั้น แม่ชอบ...”


“แพง...” คุณหญิงชิงตอบพร้อมหัวเราะ


เคยไปเที่ยวพร้อมกันหมดบ้างไหม “พวกเราเดินทางกันปีละครั้งเหมือนยกทัพ ทั้งหมดเราห้าครอบครัว รวม 16 คน มีหลานๆ 6 คน ไต๋กับเป้าเป็นคนจัดให้ โอ๊ย...แต่ละครั้งคนจัดปวดหัว แต่ละคู่มีสไตล์เฉพาะตัว...แล้วยังเจ้าตัวเล็กๆ อีก” คุณหญิงขำ


“หลังๆ นี่ไม่วุ่นแล้ว เริ่มเข้าใจ พยายามจัดระบบให้แต่ละครอบครัวมีสเปซ คือมีพื้นที่ของตัวเอง ทั้งรูปธรรม นามธรรม” คุณหมอไต๋อธิบายโดยมีคุณหญิงสมทบ “นั่นเป็นเพราะเราโตขึ้นมาแบบเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างมาก ดิฉันก็เหมือนกัน ไต๋ทำห้องในบ้านใหม่ของเขาไว้ให้ แต่เราไม่มาอยู่หรอก นานๆ ทีอาจมาค้าง

“ทำไมต้องให้เขาเห็นหน้าแก่ๆ เหี่ยวๆ ของเราทุกวันจริงไหม เราก็จะรำคาญเขาด้วย”

ความแปลกของบ้านนี้อยู่ตรงที่ “แม่ลูกคู่นี้เถียงกันได้” คุณหญิงบอก “แม่ว้ากลูก ลูกว้ากแม่ได้ บางทีเขาก็เวียนหัวว่าแม่ทำเร็ว เปลี่ยนแผนเร็ว แล้วบางทีก็สีสันมากไป”

คุณหมอหัวเราะ “ไม่งั้นเบรกแม่ไม่อยู่ บ้านเราโกรธสั้นพูดจบห้านาทีกอดกันแล้ว” คุณหญิงหันไปมอง

คุณหมอไต๋พูดว่า “ที่ว้ากกันได้ก็เพราะไม่มีอะไรขีดคั่นระหว่างกัน”


“ก็เราว้ากด้วยความรักและอิสรภาพในการแสดงออกนี่นา”


 

จาก: นิตยสาร แพรว ฉบับที่ 599 วันที่ 10 สิงหาคม 2547

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page