top of page

สุขอย่างไร ยามใกล้สนธยา

จากงานเสวนา สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

โดย บ้านสุทธาวาส เฉลิมพระเกียรติ





คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ พูดในงานเสวนา สูงวัยอย่างมีคุณภาพ จัดโดย บ้านสุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ สถานสงเคราะห์หญิงชราไร้ที่พึ่ง


"เมื่อกี้ท่านฟังหมอสิรินทร (พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน) ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ด้านวิชาการ เวลานี้ท่านกำลังฟังผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านใดทั้งสิ้น แต่ว่าอาจจะบอกว่าเชี่ยวชาญเพราะอายุก็ได้นะคะ

ตอนนี้อายุ 76 เรียกว่าแก่ระดับกลางที่กำลังจะเป็นแก่ระดับมาก บางแห่งเขาก็บอกว่า 60 นี่เป็นเริ่มต้นแก่ในระดับเริ่มต้น หลายแห่งเขาจะแบ่งไม่เหมือนกันนะคะ แต่โดยทั่วไป เขาจะบอกว่า 60-68 คือระดับต้น 68-75 ระดับกลาง และก็ 76 ถึงอะไรนี่ เขาก็ว่าไปเป็นระดับแก่ๆ


ป้าศรีนะคะ ขออนุญาตเรียกป้านะคะ เพราะไม่รู้ว่าจะเรียกว่ายังไง เอ่อกำลังเข้าระดับที่เขาเรียกว่าแก่ๆ ถ้าบอกว่าเชี่ยวชาญก็เชี่ยวชาญเพราะตัวเลขของอายุ ก่อนที่จะมาพูดวันนี้ก็เข้าไปค้นวิชาการด้านต่างๆ เรื่องแบ่งระดับความแก่นี่นะ เกิดความสับสนเป็นอันมาก เพราะว่าแบ่งไม่เหมือนกันค่ะ อันนี้สี่ช่วงตามจิตสังคมและชีววิทยานะ ช่วงไม่ค่อยแก่ young old ประมาณ 60-69 ช่วงแก่ปานกลาง 70-79 อันนี้ชอบนะคะ เพราะว่ายังกลางๆอยู่ บางอันเค้าบอก 76 นี่แก่ๆแล้ว ช่วงแก่จริง 80-90 ช่วงแก่จริงๆ 90-99 เค้าไม่บอกว่า 100 ขึ้นนี่มันเป็นยังไง สำหรับประเทศไทย มี พรบ.ผู้สูงอายุ 2546 กำหนดให้บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์มีสัญชาติไทย เป็นผู้สูงอายุ วัยสูงอายุตอนต้น 60-69 วัยสูงอายุตอนกลาง 70-79 วัยสูงอายุตอนปลาย 80 ขึ้น


วันนี้มาคุยในฐานะผู้ไม่เชี่ยวชาญด้านวิชาการ แต่เชี่ยวชาญเพราะอายุ จริงๆ แล้วเขากำหนดเราใช่ไหมคะว่าเราแก่แค่ไหน มันเป็นคนอื่นกำหนดให้ ถามจริงๆ เถอะ เขากำหนดว่าเราแก่อย่างนี้ แก่อย่างนั้นนี่ ข้างในรู้สึกแก่ไหมคะ ไม่รู้สึกใช่ไหมคะ ป้าอยากให้กำลังใจคนที่กำลังจะแก่ หรือแก่ต้นๆ สัญญาเลย แก่แค่ไหนก็ไม่รู้สึกแก่ค่ะ เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวมันเลยค่ะความแก่


ทีนี้ป้าพยายามที่จะไปค้นอะไรต่ออะไรที่นักวิชาการพูดกัน พบว่าอันหนึ่ง จริงตามที่ตัวเองพบ เอามาแค่

3 ประเทศนะคะ แต่จริงๆ เยอะกว่านี้มากเลย เขาเริ่มสำรวจความสุขของคนวัยต่างๆ อันนี้ยกตัวอย่าง และเขาจะวัดระดับจากชั้นกลางน่ะค่ะ คนชั้นกลางที่ไม่เดือดร้อนเกินไปนักในเรื่องของปัจจัย 4 นะคะ พบตรงกันหมดเลยค่ะ พบว่า ช่วงที่ความสุขน้อยที่สุดเริ่มลงหลัง 25 แล้วค่ะ แล้วที่ต่ำสุดช่วงประมาณ 40-45 นะคะ อันนี้แทบจะทุกประเทศเหมือนกันหมดเลยค่ะ


สำหรับตัวเองตอบได้เลยว่าจริงค่ะ พูดได้เลยว่าช่วงอายุ 35 40-45 เป็นช่วงที่ต่ำสุดของชีวิตจริงๆ ทุกข์สารพัดเลย มันทุกข์จนถึงจุดหนึ่ง นึกว่าแล้วเราจะอยู่ยังไง เห็นป้าแก่ๆ ตอนนี้มีความสนุกสนานถึงขนาดนี้ ช่วงอายุ 40 นี่ลงเหวเลยค่ะ แต่ไม่เล่านะคะว่ามันอะไรกันบ้าง และตัวเองพบว่าชีวิตตัวเองเงยขึ้นเมื่ออายุ 53 เป๊ะ มันเริ่มขึ้นค่ะ แล้วขึ้นมาเรื่อยๆ อายุขนาดนี้ 75 ตอบได้โดยไม่พูดปดเลยนะคะ เป็นช่วงที่ดีที่สุดของชีวิต มีความสุขที่สุด อิสระที่สุด เดี๋ยวเราจะลองมาวิเคราะห์กันว่าเพราะอะไร อันนี้ไม่ได้สนับสนุนว่ามาแก่แบบเราเถอะ ไม่ใช่นะคะ แต่มันเป็นความจริงว่าไม่ต้องกลัวเลยความแก่ นี่เป็นส่วนหนึ่งของความสุขของความแก่นะคะ


คือจะเล่าให้ฟัง เมื่อคืนนี้ไปดูละครเรื่อง ผ้าห่มผืนสุดท้าย เขาเชิญไป แฮปปี้มากเลย ละครสนุก แต่

ที่น่าสนใจไปกว่านี้ คือเราเห็นอะไรที่มันเกิดขึ้น นี่จำนงศรีนะคะ ตอนนั้นอายุ 40 เศษ เป็นช่วงที่ทุกข์ที่สุด แต่ดูสิคะ สวยงาม นี่นพพล โกมารชุน นี่จรัญ มโนเพชร ดนู ฮันตระกูล นั่นเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ งานนี้ของเราเป็นงานที่ขายตั๋วแล้วขายตั๋วอีก ต้องเพิ่มรอบไม่รู้กี่รอบ มันชื่อเบิกหล้าฟ้าใหม่ เป็นช่วงเปิด

หอประชุมเมืองไทยประกันชีวิต จำนงศรีเป็นโปรดิวเซอร์ เป็นผู้แสดง และเป็นผู้เขียนบทด้วยในบางบท ทุกข์ที่สุดค่ะช่วงนั้น ทุกข์จริงๆ เดี๋ยวจะเล่าว่าทำไม เมื่อคืนนี้ไปที่นี่เห็นเค้าถ่ายรูปกันแบบนี้ นึกถึงตอนนั้นเลย นี้เขาก็ยังอยู่ในยุคของกล้องถ่ายรูป ยิ้มแล้วถ่าย เราดูสวย แต่เราไม่รู้ว่าข้างในเป็นอะไรนะคะ เขาอาจจะสุขกันจริงๆ มากๆ ก็ได้ แต่เขายังไม่แก่ไง เขาไม่ได้เทียบว่าตอน 76 เขาจะสนุกกว่านี้อีกเยอะ


จะบอกให้ว่าตอนที่ 40 กว่านะคะ ตอนนั้นชื่อเสียงดังอยู่ในหนังสือพิมพ์ เราจะดูว่าคนเขาพูดถึงเราว่าอะไรอยู่ตลอดเวลา มันกังวลน่ะค่ะ รูปถ่ายที่ออกมา บางรูปในสายตาเรามันดูไม่เข้าท่า ทุกข์แล้วค่ะ ทำไมรูปนี้มันเป็นอย่างนี้นะ ทุกข์ว่าการวิจารณ์งานของเรา เขาจะวิจารณ์งานยังไง เขาเข้าใจฉันไม่ได้ เขาไม่เข้าใจฉัน ฉันต้องการเป็นอย่างนี้ ทำไมเขาเข้าใจฉันอย่างนั้น สิ่งเหล่านี้เดี๋ยวนี้ไม่มีเลยค่ะ เพราะอะไรรู้มั้ยคะ เพราะใครจะว่ายังไง ใครจะวิจารณ์ยังไง ประเดี๋ยวเราก็ตายแล้ว ประเดี๋ยวเขาก็ลืมแล้ว แล้วประเดี๋ยวเขาก็ตายแล้ว มันตายกันหมดค่ะ ในที่สุดมันจบลงเพราะมันตายกันหมดจริงมั้ยคะ มันจะเหนื่อยอะไรกันนักหนา ใครจะว่าอะไรเรา จะสวยไม่สวยแค่ไหน ประเดี๋ยวเขาก็ลืม เขาก็มีชีวิตของเขา

แต่ช่วงนั้นนะคะรู้สึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจริงๆ งานของฉัน คนดูของฉัน ฉันเข้าไปคนจะถ่ายรูปฉันไหม เมื่อวานนี้นะคะเข้าไปไม่มีช่างภาพคนไหนสนใจจำนงศรีเลยค่ะ เราเดินเข้าไปอย่างมีความสุขมากเลย ไปนั่งที่ ออกมาก็ไม่มีใครรู้จัก สัญญาเลยค่ะว่า เมื่อคุณอายุถึง 76 คุณจะพบว่าชีวิตดีที่สุด แม้เข่ามันจะไป แม้อะไรมันไป มันก็ไปค่ะ เราทำอะไรได้แค่ไหนก็แค่นั้นนะคะ


คนมักจะถามว่า ป้าศรีทำไง ชีวิตปัจจุบันเป็นยังไง ถึงได้เป็นอย่างนี้ เอาเรื่องกายก่อน คือป้าศรีเป็นคนที่ทุกคนกังวลว่าป้าศรีไม่ออกกำลังกาย อย่าเอาอย่างนะคะ มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นหมอ บอกศรีฉันเป็นห่วงเธอจริงๆ เธอไม่ออกกำลังกายเลย แต่ป้าศรีทำอะไรรู้มั้ยคะ เดี๋ยวนี้เพื่อนคนนั้นเลิกบ่นไปแล้ว เพราะว่าเขาเห็น คือตื่นเช้าขึ้นมายังไม่ลุกจากเตียงนอน ถ้าเราอายุ 46 เราจะต้องเด้งจากเตียงนอนเพราะเราต้องรีบไปทำนู่นทำนี่ใช่มั้ยคะ อายุแค่นี่นะ มันมีเรื่องรออยู่เหมือนกันที่ต้องทำ แต่ช่างหัวมันนะคะ ทำอะไรรู้มั้ยคะ ยืดค่ะ ที่ภาษาโบราณเค้าเรียกบิดขี้เกียจ แต่เราต้องบิดขี้เกียจอย่างมีศิลป์นิดหน่อยนะคะ ป้าคิดเองเพราะว่าทำอะไรที่ต้องยืดดีที่สุดแล้วรู้สึกสบายที่สุด ไม่ได้ไปตามหลักอะไรของใครเลย มันจะผิดหรือจะถูกไม่ทราบ แต่มันสบาย คือนอนตรงๆ แล้วเราก็ยกแขนข้างนึงขาข้างนึง แล้วเราก็เอาขาข้างนึงเหยียดไปให้สุดที่นอนอีกข้างนึง แล้วก็แขนพร้อมๆ กันก็บิดอีกข้างนึง คุณจะพบว่ามันยืดหมดเลยค่ะ ทั้งตัวเลยนะคะ แล้วซักพักนึงให้มันยืด แล้วเราก็มาอีกข้างนึง


อีกอย่างที่ทำให้เพื่อนที่เป็นหมอเค้าเลิกบ่น คือเรื่องโทรศัพท์ คือคนโทรมาเยอะมาก สิ่งที่เราทำคือเราเดินเร็วมาก รอบโต๊ะอาหารเวลาพูดโทรศัพท์ คือเวลาพูดโทรศัพท์ป้าศรีนั่งไม่เป็นค่ะ เดี๋ยวนี้มันเป็นนิสัยเลยนะ ว่าเวลาพูดโทรศัพท์นี่เดินเร็วด้วย เพื่อนเห็นว่าเวลาพูดโทรศัพท์ ฉันไม่ห่วงเธออีกแล้ว คือแข็งแรงค่ะป้าศรีแข็งแรงมากเลย


เพราะฉะนั้นเมื่อเดือนมกรา พาหมอที่จุฬาฯ ทั้งคณะไปศึกษางาน หมอพยาบาล และนักสังคม สงเคราะห์ เพราะเรากำลังจะทำวอร์ดดูแลผู้ป่วยระยะท้าย จุฬาฯ กำลังเตรียมอยู่ เพราะเราเริ่มที่จะสนับสนุนให้คนที่อยากจะตายที่บ้าน ให้ได้ตายที่บ้านได้อย่างดี ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังเตรียมอยู่ ศิริราชกำลังเตรียมอยู่ที่บางใหญ่นะคะ คือประเทศไทยกำลังเคลื่อนเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่จะตายอย่างสบาย คือมันเป็นศาสตร์ มันเป็นวิชา


วันแรกที่ไปถึงยังไม่ทันได้ดูงาน ป้าศรีเป็นคนที่โตในประเทศอังกฤษนะคะ ป้าศรีพาหมอกลุ่มนั้นเดิน 18 กิโล ตัวเองยังตกใจเลย คือเดินตั้งแต่เช้าจรดเย็น พาเค้าเดินทั่ว 18 กิโลกว่าจะกลับมาถึงที่พัก แต่ก็มีหยุดกินข้าว อะไรบ้าง ป้าศรีก็มีอาการคนแก่ปรากฎทันที คืออยู่ดีๆ นะ อยู่กลางสะพาน london bridge คือเดินต่อไม่ได้ มันเป็นตะคริวค่ะ คือการยอมรับว่าเราแก่นี่มันเป็นประเด็นหลัก แล้วไอ้ความแก่นี่ มันมีเรื่องตลกให้ขำได้เยอะนะ คือเราเดินอยู่ดีๆ แล้วมันไปต่อไม่ได้ ยืนหยุดอยู่ตรงนั้น แล้วทุกคนก็งงว่าทำไม คือมันปวดมากเลยค่ะ ทำยังไงคะ จะบอกให้ว่าเวลามีปัญหาอย่างนี้ที่เกิดขึ้นเพราะความแก่ของเรานะคะ หัวเราะ หัวเราะมันเลย มันปวด มันหงิก เดินไม่ได้แต่มันตลกอ่ะ


ยัยผู้นำ ยัยคนแก่ที่แสดงว่าชั้นแก่ได้อย่างดีนี่ อยู่ดีๆ มันหงิกอยู่ตรงนั้น ทุกคนต้องเกือบจะเรียกว่าแบกเราไปนั่งที่ร้านอาหาร แล้วก็มีการนวดกัน เพราะว่าอยู่กับหมอกับพยาบาลจำนวนมาก เขาก็ให้กินน้ำเยอะๆ ตระคริวนี่นะคะ น้ำค่ะ น้ำ กล้ามเนื้อเราน้ำมันน้อยไป เกลือแร่ แต่สำคัญที่สุดคือหัวเราะเอาไว้ก่อน เพราะว่าหัวเราะนี่มันคลายทุกอย่างเลยนะคะ มันคลายกล้ามเนื้อ แต่คุณต้องหัวเราะจากใจ เพราะฉนั้นแล้วที่จะแก่ให้มีความสุขตามสมควรนี่นะคะ คืออารมณ์ขัน อันนี้เรามาจากกายแล้วเรามาที่ใจ


ทีนี้เรื่องอาหารเสริม มีอยู่ช่วงหนึ่งบ้าอาหารเสริม ซื้อที่เป็นเม็ดๆ กินเต็มไปหมด ตอนนี้รู้จากหมอที่เราทำงานด้วย ได้ความรู้มาว่าจริงๆ แล้วมันเชื่อกันไปเอง อย่างวิตามินซีนี่คุณหมอที่จุฬาฯ ก็บอก ค้นพบแล้วว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรนักหรอก ไอ้ 1,000 มิลลิกรรมนี่ มันเป็นความเชื่อที่ต่อๆ กันไป และสนับสนุนโดยพวกที่มีการพาณิชย์ทางด้านนี้ ที่จริงวิตามินซีถ้าเราทานเพียงพอ มันพอจากอาหาร แต่ป้าศรียังมีเหลือเยอะแยะ ตอนนี้ก็ค่อยๆ ทานให้มันหมดๆ ไปค่ะ จริงๆ เราถูกอาหารเสริมหลอกกันเยอะมากนะคะ


มาถึงเรื่องของใจนะคะ คืออยู่ยังไงกับใจ ในฐานะตอนที่อายุ 40 กว่า ทุกข์ จนสาหัสสากรรจ์ ตอน

อายุ 53 ป้าศรีไปอยู่วัดค่ะ อยู่วัดคนเดียวนะ ทิ้งหมดเลย สามเดือนไม่ได้กลับบ้าน ไม่มีการโทรศัพท์ ไม่มีการติดต่อ อันนี้ลูกเขายังจำได้กันทุกวันนี้ ตอนนั้นเขาเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาวกันแล้ว ป้าศรีคิดว่าสำหรับ

ตัวเองนั้นนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นมา แล้วก็ขึ้นมาเรื่อยๆ อยู่ที่สวนโมกข์สมัยท่านพุทธทาสยังอยู่ อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหงยังอยู่ อยู่ 3 เดือน ด้วยผ้านุ่ง 4 ตัว เสื้อ 4 ตัว ดำ ขาว อาบน้ำ ซักใส่ใหม่

ถ้าฝนไม่ตกนะคะ ที่จริงสองชุดพอ กินอาหารสมัยสวนโมกข์เราออกมาทานข้างนอก สมัยนั้น 30 บาทนี่ พอเหลือเฟือ มันทำให้เราถอยกลับมาดูว่า 3 เดือนให้หลัง กลับมาดูแลกิจการ ลูกหลานที่กรุงเทพแล้ว

ไปต่อ ไปอยู่วัดที่อีสานอีก 3 เดือน เพราะฉะนั้นปีนั้น ต่อเนื่อง 6 เดือน ของการอยู่กับผ้านุ่งไม่กี่ตัว เสื้ออีกไม่กี่ตัว มันกลับมาถึงจุดที่เบสิคที่สุดว่า มนุษย์เรามีความสุขได้แค่ปัจจัย 4 จริงๆ แล้วในขณะที่เราสวย

อยู่บนเวที่ใช้ของแพงสารพัด ทำไมมันทุกข์นัก คำถามมันเกิดแล้วค่ะ


เพราะฉะนั้นใครเขาว่าเป็นที่ประสบการณ์ ป้าจะตอบว่า ไม่ใช่ เป็นที่การวิเคราะห์ การวิจัย การทำความเข้าใจกับแต่ละประสบการณ์ แค่ประสบการณ์ไม่มีประโยชน์ค่ะ ในโภชฌงค์เจ็ดของพระพุทธองค์ ว่าทางที่จะบรรลุถึงจุดที่จะหลุดพ้นได้มีโภชฌงค์เจ็ด แล้วในโภชฌงค์เจ็ดนั้นมีธรรมวิชชยะ ธรรมวิชชยะคุณทำได้ตลอดเวลาทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่ว่าประสบการณ์ใดเกิด มองมัน มองว่าทำไมฉันชอบ ทำไมฉันไม่ชอบ ไม่ว่าจะชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร มันจะเกี่ยวข้องกับความอยาก และใครอยาก ตัวฉันอยาก จบลงแค่นั้นทั้งนั้นค่ะ ไม่ชอบเพราะอะไร เพราะกลัว เพราะไม่ชอบ เพราะไม่อยาก ใครไม่อยาก ฉันไม่อยาก มันวนอยู่แค่นั้นค่ะ แต่ถ้าไม่ดูด้วยตัวเองไม่เห็นด้วยตัวเอง ไม่เห็นค่ะ


ที่อังกฤษเราจะไปดูงาน เราแยกกันไป หมอเขาก็ไปดูส่วนของเขา ป้าเนี่ยไปในส่วนของอาสาสมัคร เราจะได้พบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เกี่ยวกับใจในคนแก่และคนป่วยระยะท้าย แก่และป่วยระยะท้ายนี่

ไม่ห่างกันนัก




ขอข้ามกลับมาหาตัวเองอีกครั้งนึง ที่ถามว่า เช้าเราบิดขี้เกียจแต่ตอนนอนเราทำอะไร ป้าเป็นคนอ่านวิจัยเกี่ยวกับความแก่เยอะนะคะ คือเขาพบว่า คนแก่อายุ 75 ที่มีความสุข นอกจากเรื่องของประสบการณ์และการวิเคราะห์ประสบการณ์ ธรรมวิชชยะแล้วนี่ ยังมีเรื่องของเวลา คนอายุ 30 40 50 จะมีความรู้สึกว่าชีวิตยังอีกนาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องการ เขาพบว่าคนอเมริกันพอตั้งคำถามว่า ความต้องการของชีวิตคืออะไรตอนที่จบมหาวิทยาลัย จะมีคำตอบว่า เงิน การสร้างฐานะ ความร่ำรวย ถึง 80% ที่เลือกอันนี้ คือเขาให้เลือกหลายอัน อันที่ได้รับเลือกเป็นที่สองคือชื่อเสียง เพราะฉะนั้นมันถึงได้เหนื่อยนัก


เขาบอกคนพอถึงอายุ 50 นี่ทำยังไงมันถึงเบาลง มันรู้ว่าชีวิตตัวเองเหลือน้อย เพราะฉะนั้นมันจะเกิดการเลือก การคัดสรร ที่ทำให้ทุกวันทุกชั่วโมงของตัวเองเป็นสุข มันตรงกับสิ่งที่ป้าทำมาหลายปีแล้วคือเวลาล้มตัวลงนอนนะคะ ทิ้งตัวให้เหมือนกับศพ ศพนี่มันทิ้งตัว มันทิ้งหมดเลย มันไม่เก็บอะไรไว้อีกแล้ว เราไม่แบกน้ำหนักของกายแล้ว เมื่อเราทิ้งตัวทั้งหมดแล้ว เราก็มาที่ใจ สิ่งที่ป้าทำก็คือ ยกคนที่ใกล้ชิดและเรารักที่สุดขึ้นมา ยกโดยใช้ imagination ที่ชัดเจนมาก แล้วเราทำให้รู้เลยค่ะว่าพรุ่งนี้เราจะไม่ตื่นแล้ว เราจะไม่พบกันอีกเลย ไม่ว่าชาตินี้ชาติหน้า จบ แล้วป้าก็จะค่อยๆ ยกลูกขึ้นมาทีละคน เราเห็นเขามาตั้งแต่แบเบาะ เราเลี้ยงเขามา เรารักเขามา เราผูกพันธ์กับเขามากเลย ยกขึ้นมาทีละคน แล้วทำใจให้รู้เลยว่า

พรุ่งนี้จะไม่เจออีก ไม่เจอจริงๆ และไม่มีวันที่จะได้เจออีกนะคะ สัญญาเลยถ้าใครจินตนาการเก่งๆ นะคะ ใจหายวาบเลย คือหายจริงๆ คือจะไม่ได้เห็นอีกเลยไม่เห็นอีกแล้ว ไม่ได้ติดต่ออีกแล้ว แต่ทำไปๆ มันรวดเร็วขึ้นจนกระทั่งเป็นนิสัยว่า คืนนี้เหมือนกับตาย ถ้าพรุ่งนี้ไม่ตื่นนะคะ นั่นเรื่องคนจบไป

คราวนี้เรื่องงาน ป้าเป็นมนุษย์บ้างานนะคะ ทำงานจนบัดนี้ลูกถามเลยว่าแม่เมื่อไหร่จะหยุดทำงานสักที ไม่ได้ทำงานหาเงินแล้วค่ะ ทำงานแบบนี้สารพัด เรื่องคนแก่ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องความเข้าใจของชีวิตระยะท้าย และการตายดี เพราะฉะนั้นเราเอาเรื่องงานขึ้นมา เราก็ดูว่าทุกสิ่งที่

ทำไปแล้ว มันจะผิด มันจะถูก มันจะเสียหาย มันจะอะไรก็ตาม คนตายทำอะไรไม่ได้แล้ว จบ ช่วยไม่ได้

มันจบตรงนั้นแล้ว และของที่ทำและยังค้างอยู่ กระทั่งสิ่งที่จะทำแล้วไม่ได้ทำ ไม่ว่าความอะไรที่เป็นห่วงเป็นกังวลอยู่ เราไม่ตื่นแล้ว พรุ่งนี้เราก็ทำอะไรมันไม่ได้แล้ว แล้วคนตายมาตั้งล้านๆๆคน โลกมันยังอยู่ได้เลย แค่เราตายคนเดียวมันจะอะไรกัน อันนี้ค่ะเป็นexerciseที่ดีมากเลยก่อนนอน เพราะฉนั้น ตื่นนอนคุณบิดขี้เกียจเพื่อเอาร่างกายเรากลับมามีชีวิตใหม่ แต่ตอนกลางคืนเราวางหมดทุกอย่างเลย แล้วมันจบ แล้วหลับดีนะคะ ถ้าคุณวางได้หมดนะคะ


กลับมาเรื่องที่จะเล่าให้ฟังเล่นๆ สำหรับป้าชีวิตทุกชั่วโมง ทุกวัน มันเป็นทางเลือกให้เราเสมอ เพราะอะไรที่มันตกลงมาเป็นเราวันนี้ ไม่ว่าจะดีจะเลว มันมาละ พรุ่งนี้อะไรจะเกิดเราก็ไม่รู้ มันก็จะมา แต่อะไรที่มาเราจะรู้ทันทีว่ามันมีสองทาง มันมากับทางเลือก ทางเลือกว่าใจเราจะไปทางไหน เพราะว่า neuroscience (ประสาทวิทยาศาสตร์) พิสูจน์แล้วว่า แต่ก่อนเชื่อว่า มนุษย์เกิดด้วยเซลสมองจำกัด แต่เยอะมาก แล้วมันจะค่อยๆ ร่วงออกไปเมื่ออายุ 20 กลางๆ แล้วมันจะไม่มีการเกิดอีก แต่เวลานี้ neuroscience พบว่า นิวรอน (neuron/เซลล์ประสาท) เกิดใหม่ได้เสมอไม่ว่าจะแก่เพียงใด ซึ่งคงยากขึ้น แต่ว่ามันเกิดได้อยู่เสมอ แล้วมันมีสิ่งที่เรียกว่านิวโรพลาสติกซิตี (Neuroplasticity) คือการเปลี่ยนแปลงของสมอง มันมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองที่เป็นผลของการคิด เราจะคิดอย่างไรก็เป็นผลของโครงสร้างของสมองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นระหว่าง เดอะไมน์แอนด์เดอะเบรน (the mind and the brian) สมองกับตัวรู้เนี่ยมันมีผลต่อกัน


ดังนั้นทุกอย่างที่มันตกลงมาข้างหน้าเราในแต่ละวันนี่ สัญญาเลยว่ามันมีปัญหาตกมาเรื่อยๆ อันนี้ทำใจเลย ตราบใดที่มีชีวิตมันมีปัญหาและมันมีความขัดแย้ง แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามันตกลงมาข้างหน้าเราทันทีคุณมีสติรู้เลย ฉันเลือกได้ ฉันเลือกที่จะให้ใจฉันเป็นยังไงกับสิ่งที่เกิด แล้วเราค่อยแก้ปัญหา อย่าเข้าไปอยู่ในตัวปัญหาด้วยอารมณ์และความรู้สึก ถอยซะก่อน ฉันมีทางเลือกว่าฉันจะเป็นยังไงกับปัญหานี้ อันนี้ต้องประกอบด้วยสติ จึงต้องมีการฝึก

เมื่อมีสติแล้ว เราเลือกให้ใจเราเบิกบาน ท่านอาจารย์พุทธทาสจะฝึกเราให้ทำใจให้เบิกบาน คือ

กลับมาที่ใจ แล้วใจจะหยุดคิด แล้วมันจะเบิกบาน ถ้าเราทำให้ชิน เราจะทำให้ใจยิ้มได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อมีสติ แต่ว่าสติเรามักจะหลุดนิดนึง ไม่เป็นไร ดึงมันกลับมา แล้วทำใจให้เบิกบานกับสิ่งนั้นเสียก่อน ไม่ว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหน คือเอาจิตเราไว้ก่อน เสร็จแล้วค่อยคิดแก้ปัญหา แล้วก็ต้องรู้ว่าปัญหานี้อยู่ใน

ความสามารถเราที่จะแก้หรือไม่ ถ้ามันอยู่ มันก็ไม่อยู่หมดหรอก ไม่มีอะไรที่อยู่ในการแก้ปัญหาของเรา

ได้หมด แต่สเต็ปแรกของเราที่จะนำไปสู่การแก้ไข สเต็ปแรกจะทำอย่างไร อย่าไปหวังนักกับผลมัน เอาแค่สเต็ปแรก แล้วมันจะไปสู่สเต็ปที่สอง แต่ใจเราจะขุ่นนะคะ ขุ่นเมื่อไหร่รู้เมื่อนั้น เพราะทุกครั้งที่คุณใจขุ่นเนี่ย นิวโรพาสเวย์เนี่ยมันเกิด แล้วตามด้วยนิวโรพลาสติซิตี้คือความเปลี่ยนแปลงของระบบสมอง นิดนึง นิดนึงเสมอ อันนี้เข้าหลักของธรรมะ คือทุกอย่างกลายเป็นอนุสัย กลายเป็นนิสัยของความคิด


ขอเล่าเรื่องตอนที่ไปอังกฤษไปดูงาน ที่ hospice เขาดูแลคนที่ตายที่บ้านและที่ตายที่ hospice เอง ที่ hospice มีแค่ 46 เตียง แต่เขาดูแลคนใกล้ตายตามบ้านเนี่ยเป็นร้อยๆ นะคะ ในอาทิตย์ที่ป้าศรีไปอยู่

อยู่ดีๆ เราเห็นกิจกรรมอันนึงที่เรียกว่า deadchat คุยเรื่องความตาย ป้าศรีเป็นโรคอะไรที่คุยเรื่องเกี่ยวกับความตายแล้วป้าศรีร่าเริงแล้วไปดูทันที วันนั้นก็เลยไปจอย deadchat เป็น deadchat ที่ประหลาด คือ

นักจิตวิทยาที่เป็นพระชาวคริสต์ แต่เป็นชาวคริสต์ที่น่าสนใจคือเขาไม่พูดถึงศาสนาเขาเลย ไม่พูดถึงพระเจ้า คือเขาถือว่าเป็นเวทีเปิด ที่มนุษย์ทุกคนเหนือการขีดคั่นทางศาสนา นี่คือจิตวิญญาณของมนุษย์

ที่เป็นหนึ่งเดียวกันหมด เขาจะจัดโต๊ะที่มีไวน์ มีชีส มีผลไม้วาง และเขาเชิญให้คนในเมือง ใครจะมาก็ได้ที่จะมาคุยเรื่อง deadchat คุยเรื่องความตาย มีคนมาสิบกว่าคน แต่ที่น่าสนใจคือพอถาม เกือบทุกคนที่มา เป็นคนที่เพิ่งสูญเสียคนที่ตัวเองรัก คือเกือบจะทั้งโต๊ะเป็นคนที่เกือบจะหัวใจสลาย


คือทุกปีป้าเป็นเจ้าภาพจัดวิถีสู่ความตายอันสงบโดยท่านไพศาล วิสาโลที่บ้าน ที่เชียงใหม่นะคะ ในหลักสูตรนั้น อันนึงคือการฟัง คุณจะฟังยังไง ฟังด้วยใจไม่ใช่ฟังด้วยความคิด เราตั้งจิตในการฟังเขาในขณะที่เขาพูด เราจะพบสิ่งที่เรียนรู้ในที่นั้น คือคนที่ทุกข์จริงๆ จากการสูญเสีย บางทีเขาอยากจะพูดกับ

คนที่เขาไม่รู้จักเลย คนที่ไม่รู้จักเลยแต่สูญเสียเหมือนกัน มีคนนึงพูดว่าถึงแม้ลูกจะอยู่ข้างๆ ถึงแม้พี่น้องจะอยู่ข้างๆ แต่เวลาเทหัวใจออกมานี่ มันไม่เหมือนกับมาที่โต๊ะนี้ ที่เป็นมนุษย์ร่วมโลก ที่ไม่ได้รู้จักกันเลย มันมีอิสรภาพในการพูด มีอิสรภาพในการแชร์ มันมีความอบอุ่นบางอย่างว่ามนุษย์ร่วมโลกมันแคร์กันได้ถึงขนาดนี้เชียวหรอโดยที่ไม่ต้องเป็นญาติพี่น้อง


รายหนึ่งเป็นผู้หญิง เราไม่เคยคิดเลยว่า ทุกข์ที่สาหัสที่สุดของเขาในวันต่อวันที่สามีเพิ่งตายคืออะไร

รู้ไหมคะ เวลาที่เขาจะเปิดขวด เขาร้องไห้ทุกครั้ง เพราะในชีวิตเขาไม่เคยคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเลย เพราะว่าเวลาที่สามีเขาอยู่ สามีจะคว้าขวดจากมือเขาไปเปิดให้ มันทำให้ทั้งเขาทั้งเราประจักษ์แจ้งถึงของดีๆ ในชีวิตที่เรานึกไม่ถึงขณะที่มันอยู่กับเรา ผู้หญิงคนนี้เพิ่งรู้ว่าความพิเศษของสามีคือทุกครั้ง ที่จะหยิบอะไรขึ้นมาบิดเกลียว มือแข็งแรงจะหยิบและบิดให้ เขาบอกตอนที่สามีมีชีวิตอยู่เขาไม่เคยนึกเลย ตอนนี้ทุกครั้งที่หยิบขวด หยิบอะไร ร้องไห้ทุกครั้ง เรื่องนี้มันเป็นบทเรียนกลับมาบอกเราว่า เรามีเรื่องขอบคุณในชีวิตเยอะเหลือเกิน


อีกเรื่อง อันนี้เป็นตัวอย่างของทางเลือกที่ชัดเจนที่สุด และถ้าเราคนไหนเป็นนักปฏิบัติธรรม เราจะใช้ธรรมะของเราช่วยสะกิดเขาได้ ผู้ชายคนหนึ่งนั่งข้างๆ ป้านะคะ บอกร้องไห้ทุกวัน ร้องไห้ทุกวันเพราะเปิดตู้ออกมา เสื้อภรรยาเต็มเลย ภรรยา 25 ปีค่ะ ตายจากกัน ภรรยาอายุ 25 เป็นเมียที่ดีสมบูรณ์แบบไม่มีที่ติ เป็นคู่รักที่ไม่มีที่ติ เพื่อนที่ไม่มีที่ติ แม่ที่ไม่มีที่ติ ป้าศรีท้าเลยว่าตอนที่เธอมีชีวิตน่ะเขาจะพูดอย่างนี้เหรอ พูดเมื่อสูญเสียไปแล้ว เขาบอกว่าเขาเป็นนักธุรกิจ เขาแทบจะทำงานไม่ได้เลยนะ เพราะตื่นเช้าขึ้นมาทุกอย่างของภรรยาเต็มห้องไปหมด และมันได้กระทบทุกจุดเลยว่าเขาได้สูญเสียอะไรไป แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าตอนที่เขาพร่ำไปเรื่อยๆ เราฟัง สิ่งที่เราฟัง เราได้ยินอะไรบางอย่าง พอมีจังหวะป้าก็เลยพูดเบาๆ ในโต๊ะ ว่าเท่าที่ฉันฟังมาเนี่ย ความทุกข์กับความทรงจำมันแนบเป็นอันเดียวกันใช่ไหม คือมันอาจเป็นคำถามที่แปลก แต่สำหรับคนทุกข์ขนาดนั้น แปลกนะ เขาหยุด อันนี้เราเห็นชัดเลย เขาหยุด แล้วนิ่งคิดสักพัก เขาหันมาบอกว่า yes คล้ายๆ เขาเพิ่งค้นพบอะไรบางอย่าง เพราะว่าขณะที่เขาจมเข้าไปในความทรงจำและความทุกข์นั้น มองไม่เห็นอะไร ขณะที่จมน้ำคุณไม่เห็นอะไรแล้ว แต่พอขึ้นมาเหนือน้ำหน่อย คุณเริ่มรู้แล้วว่าโอเค มันเป็นอย่างนี้


เราก็ปล่อยให้เขาพูดกันไปหลายคน คนนั้นก็พูดเรื่องนั้น คนนี้ก็พูดเรื่องนี้ เสร็จแล้วคนนี้จะเป็นคนที่พูดมากที่สุด เพราะรู้สึกจะแย่ที่สุดแล้ว ป้าก็ฟังไปอีกระยะนึง แล้วป้าก็ถามเขาว่า อ๋อ รู้แล้วล่ะ เธออยากจะเก็บความทรงจำไว้ โดยที่เธออยากจะตัดความทุกข์ออกไป ใช่หรือเปล่า เขาบอกว่า yes คือไม่อยากจะสูญความทรงจำ แต่อยากจะมีส่วนความทรงจำที่มันไม่แนบติดกับความทุกข์ อันนี้เป็นอีกสเต็ปของเขาแล้วนะคะ เขาเริ่มเห็นจิตตัวเอง พอไปอีกระยะหนึ่งเราก็เริ่มดูเขาอีกพักหนึ่ง บอกฉันรู้แล้วล่ะว่าเธอจะต้องทำอย่างไร ก็แนะเขาว่า ทำอย่างนี้สิ อันนี้คิดว่าจะเป็นประโยชน์ ถ้าเราจะทำแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยนะคะ


ป้าบอกว่ายูเอากระดาษสีขาวมาอันหนึ่ง วางไว้บนนั้น เพราะฉันผ่านความทุกข์ของฉันมา ฉันก็ทำแบบนี้แหละ วาง แล้วมีปากกา แล้วแทนที่เธอจะจมเข้าไปในความทุกข์กับความทรงจำ เธอเขียนทุกอย่างที่มันปรากฎขึ้นในใจเธอ โดยที่ไม่ต้องเป็นประโยคอะไรเลย แต่เขียนมันลงไป คนเขียนจะเป็นคนที่สังเกต ในด้านพุทธของเราก็คือ ตัวรู้มันแยกออก


ปรากฏว่าตัวบาทหลวงที่เป็นนักจิตวิทยามองป้า แล้วก็บอก ใช่ เธอกำลังพูดเรื่องการแยก ผู้ดูกับผู้เป็น บาทหลวงคริสต์เขาจับเราได้ทันที โดยที่เขาก็รู้ว่าเราเอาวิถีพุทธมาใช้ ไม่มีการโต้เถียงไม่มีการแตกแยก แล้วเขาพูดว่าครั้งต่อไปของ deadchat เขาจะใช้วิธีนี้กับทุกคนนะคะ


ฉะนั้นถ้าใครปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แทบจะไม่ต้องพูดเลย ส่วนของกายคือเราดูแลคุณภาพชีวิตยามสนธยา มันมีเรื่องกาย แต่เรื่องใจ ถ้าคุณสามารถมีสติแยกมองมันได้ จะทันไม่ทันไม่เป็นไร มันจะเข้าไปอยู่ในตัวเรา แล้วนั่นล่ะค่ะ แม้กระทั่งถึงระยะท้าย เราก็จะทันมัน แล้วเราไม่ต้องเป็นตัวอย่างให้ใครนะคะ

ป้าศรีนี่ไม่ต้องเป็นตัวอย่างให้ใครเลยนะ เพราะป้าศรีบอกทุกคนที่ป้าศรีทำเรื่องระยะท้ายว่า ช่วงสุดท้ายป้าศรีอาจจะร้องโอดครวญโวยวาย ไม่ได้เป็นตัวอย่างให้ใครค่ะ หรืออาจจะมีสติดีไม่รู้ แต่ที่สำคัญคือวันนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ต่างหาก ฉะนั้นไม่ต้องคาดหวังจากตัวเองว่าฉันจะเก่ง อันนี้วางได้เลย




คือครั้งหนึ่งที่ทุกข์สุดๆ ได้เอากระดาษแผ่นหนึ่งวางแล้วเอาปากกาเขียน สิ่งที่มันออกมาคือบัดนี้ เอามาใช้ตลอด เพราะคิดว่าทุกคนอาจจะสนใจ อันนี้มันออกมา มันจะมี 4 ตอน อันนี้คือที่เราแยกแล้ว ออกมาตั้งคำถามคือ ทุกข์นี้คืออะไร บ่อยครั้งเราบอกว่าเรารู้จักตัวเอง แต่รู้จักจริงหรือ ถ้ารู้จักจริง คงไม่ทุกข์ถึงขนาดนั้น ตอนนั้นอายุได้ซัก 46-47 ค่ะ ทุกข์จนไม่อยากมีชีวิตอยู่เลย ขนาดนั้นน่ะ อันนี้มันออกมา นี่คือ

ธรรมวิชชยะโดยไม่รู้ตัว เพียงแต่เอากระดาษสีขาววางข้างหน้า แล้วเอาปากกาเขียนนะคะ


มนุษย์สร้างหน้ากากให้วิญญาณของตน

เขามองหน้ากากนั้นแล้วบอกว่า

ฉันรู้จักตัวฉันเอง


จริงๆ แล้วถ้ารู้จักตัวเอง จะรู้ว่ามันเป็นแค่เบญจขันธ์ มันจะไม่ทุกข์ถึงขนาดนั้น แต่คิดว่ารู้จักตัวเองโดยที่ไม่รู้จักจริง อันที่สองนี่ เราบอกว่าเรารู้จักหน้าตัวเองจริงมั้ยคะ เรารู้จัก เราเห็นหน้าตัวฉันเอง ในความเป็นจริงไม่เคยเห็นค่ะ ไม่เคยมีใครเคยเห็นหน้าตัวเองเลย แล้วหลอกตัวเองตลอดเวลาว่าฉันเคยเห็นหน้าตัวเอง ฉันเห็นเงาสะท้อนของหน้าฉันเองในกระจก แล้วฉันนึกเพราะว่าฉันคิดไม่ละเอียดว่า ฉันเห็นหน้าตัวฉันเอง แล้วฉันก็นึกว่าฉันหน้าตาแบบนี้ มันขึ้นกับแสงค่ะ ถ้าคุณเอากระจกคุณภาพต่างกัน เอาแสงต่างกัน เอาทิศของแสงต่างกัน หน้าไม่เหมือนกันเลย แต่เราหลงคิดว่าเรารู้จักหน้าตัวเอง เพราะเราไม่ได้แยกผู้รู้ออกและพิจารณาภาพรวมไงคะ


ถ้าคุณเห็นอันนี่นะ คุณแทบจะไม่เกลียดใครเลยในโลกนี้ เพราะคุณจะรู้ว่ามันก็เหมือนกระจกที่ส่องหน้าเรา เราสร้าง อะไรที่เราชอบ เราก็เกิดไปยึดมัน อันนี้ปฎิจสมุทปบาท เรายึดมัน แล้วมันก็กลายเป็น

นี่ฉันเกลียด นี่ฉันรัก ในความเป็นจริงมันอยู่ข้างใน


มนุษย์สร้างมายาให้ชีวิตของตน

เขาหลงเข้าไปในมายานั้น

แล้วรำพันว่า นี่คือความสุข นี่คือความทุกข์


เหมือนผู้ชายคนนั้นเวลาเขาหลุดเข้าไปในนั้นมันทุกข์เหลือเกินนะ แต่ทันทีที่เขาถอยไปมองว่า อ๋อ มันเป็นความทรงจำ กับความสูญเสียมารวมกัน เขาเริ่มสนใจแล้วว่า เอ๊ะ มันมายังไง ทีนี้เล่าเรื่องผู้ชายคนนี้ต่อ มันจะมาถึงเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแล้วป้าไม่มีเวลาพูดนะ ขอฝากไว้เป็นจุดๆ นะ ผู้ชายคนนั้นบอกว่า ส่วนหนึ่งของความทุกข์เขาคือความรู้สึกผิด รู้สึกผิดเพราะว่าเมียเขานี่พอรู้ว่าเป็นมะเร็งทั้งตัวเลยนะคะ มันไปหมดละ เขาไม่ยอมแพ้ เขาบอกเขาลากเมียเขา จาก รพ.นึงไปอีก รพ.นึง คือนักธุรกิจไง คือมีเงินน่ะ คือการรักษาแบบหนึ่งไปอีกแบบหนึ่ง ไม่เคยได้หยุดเลย เขาจะดึงเมียเขาจากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ใครบอกอะไรดีเขาจะทำหมด เงินนี่เขาใช้เขาไม่แคร์ แต่เขาต้องเอาภรรยาเขาไว้ แล้วเขาบอกว่าเวลานี้เขาคิดถอยหลัง เขาทำอย่างนั้นหนึ่งปีเต็มๆ เขาบอกเป็นหนึ่งปีของความทรมานที่สุดของผู้หญิงที่เขารักที่สุด เพราะเขาปล่อยไม่ได้ เขาอยู่ไม่ได้โดยไม่มีเธอ เขารู้ว่าเธอยอมเขาทุกสเต็ปเพราะเธอรู้ว่าเขาทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นด้วยความรัก เธอยอมหมดเลย เขาจะให้เจาะอะไร เขาจะให้ไปทำอะไรเขาบอกแต่ละอันมันเจ็บๆ ทั้งนั้น เธอยอมหมด


เขาบอกว่าพอมันจะปีหนึ่งมันเหนื่อย ทั้งลูกก็เหนื่อย เมียก็บอกมันแย่แล้ว เขาบอกว่าเขากับภรรยานั่งนิ่งๆ อยู่ด้วยกัน แล้วเขาถามว่า ถ้าเธอจะพูดคำเดียวเนี่ย เธอจะพูดว่าอะไร คำเดียวของสถานการณ์นี้ เมียบอกให้เขาพูดก่อน เขาพูดว่า "สู้" แล้วเธอล่ะ เขาบอกเมียพูดคำเดียวเหมือนกัน "ยอมรับ" เขาบอกตรงนั้นล่ะค่ะ เขาถอยออกมา แล้วคิดว่านี่เขารักเมีย หรือเมียรักเขา ใครรักใครมากกว่ากัน


เขาพาเมียเข้า hospice บังเอิญมันสุดท้ายแล้วค่ะ เขาบอกว่าที่ hospice ดูแลให้ทุกข์ทรมานน้อยที่สุดทางด้าน กาย ทั้งใจ ทั้งความสัมพันธ์ และทางจิตวิญญาณ เขาบอกเมียเขาตายดีมากเลยใน hospice ที่เรานั่งคุยกันอยู่ตรงนี้นะคะ ป้าก็เลยอยากจะบอกว่า ผู้ชายคนนี้จริงๆ แล้วด้วยข้อมูลทั้งปวงของที่เราฟังแล้ว เราอยู่ตรงนั้นนี่ เขาอยู่บนจุดที่เขาเลือกได้นะ ว่าชีวิตที่เหลือยามสนธยาของเขาเนี่ย มันจะไปทางไหน ถ้าเขาถอยออกมาแล้วเริ่มเห็นว่า ความเป็นจริงของชีวิต และการที่ถอยออกมาดูสิ่งที่เกิดในจิตใจของตัวเองมันเป็นอย่างนี้ๆ การทำจิตให้ยิ้มมันทำอย่างนี้ สมองเขานิวโรพาสเวย์ นิวโรพาสซิตี้ ก็จะพาเขาให้

สุขง่ายขึ้น ทุกข์ยากขึ้น ถ้าเขาจมเข้าไป แล้วก็ลุกขึ้นไม่ได้ คือเขากำลังทำอะไรกับสมอง และทางพระพุทธองค์นี่ ท่านดาไลลามะ ท่านเคยพูดไว้ว่า ถ้าเมื่อใดวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าพุทธศาสนาที่ท่านสอนผิดตรงไหน ล้มเลิกการสอนพุทธศาสนาได้เลย จนบัดนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผิดตรงไหน มันไม่มี


อย่างเรื่องนิวโรพาสซิตี้เนี่ยเพิ่งเกิด แต่ท่านพูดถึงอนุสัย เรื่องของจิตที่สะสมมาตั้งนานแล้ว แต่เราก็พูดกันในที่นั้นว่า เราไม่เอาศาสนามาเป็นเครื่องกั้นระหว่างมนุษย์ จิตมนุษย์มันเหมือนกันหมด มันหนีทุกข์ แสวงสุข ปัญหามีอยู่ว่า มันแสวงสุขอย่างไรที่จะไม่พาทุกข์มาระยะยาวนะคะ อันนี้ก็ฝากเอาไว้


ขอจบลงที่เรื่องความสัมพันธ์ได้มั้ย ป้าว่าเราทุกคน นึกออกไหมคะว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย มันเรื่องของความสัมพันธ์ทั้งสิ้น จากแบเบาะออกมา มันต้องมีสัมพันธ์ไม่งั้นมันอยู่ไม่ได้ ถูกมั้ยคะ มันต้องมีคนให้นม มันต้องมีคนทำความอุ่นให้ มันต้องมีอาหารกิน ต้องสารพัดเลย โตขึ้นมานี่คุณไม่เคยขาดจากเรื่องความสัมพันธ์เลย แต่เวลาเราพูดถึงความสัมพันธ์นั้น เรามักจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งอันนี้แน่นอนนะคะ บุคคลและสังคม อันนี้แน่นอน แต่เราพูดบ่อยมั้ยถึงความสัมพันธ์กับตัวเอง ความสัมพันธ์กับความรู้สึกนึกคิด ความสัมพันธ์กับร่างกาย ความสัมพันธ์กับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นหน้าที่ แต่หน้าที่คืออะไรนั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกเยอะแยะนะ มันมีหน้าทีที่คนอื่นเขากำกับแล้วบอกนี่คือหน้าที่ แต่มันมีหน้าที่โดยธรรมชาติของมนุษย์ และอื่นๆ นะคะ


จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ มันคลุมหมดทุกอันเลย ถ้าคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจิตใจ ความสัมพันธ์กับร่างกายก็ดี ความสัมพันธ์กับหน้าที่ ทั้งหน้าที่ที่คนอื่นเขาบอกเป็นหน้าที่ และหน้าที่ที่เรารู้อยู่ในใจ มันก็มี แล้วเราก็จะรู้ว่า หน้าที่ที่ลึกๆ ของความเป็นมนุษย์มันคืออะไร มันจะเกิดขึ้นเองถ้าคุณมีความสัมพันธ์กับอันนี้ที่ดี นั่นล่ะค่ะคือสุขภาวะ สุขภาวะยามแก่ คนแก่อย่างป้านี่ที่จริงเขาบอกชีวิตมันมี 3 ช่วง ช่วงของการเรียนรู้ การแสวงหาความรู้ การเติบโตเนี่ยนะคะ ช่วงต่อไปคือช่วงการสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองและครอบครัวและสังคมนะคะ ช่วงต่อไปซึ่งหลายๆคนบอกว่ามันเริ่มจาก 50 นะคะ 50 เศษๆ เป็นช่วงที่สำคัญมากเลย 50 กลางๆ เนี่ย มันเป็นช่วงที่สำคัญมากคือมันคือช่วงที่แสวงหาสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัย 4 เรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องของปัญญา


ป้านี่โชคดีมากเลย หลุดไปเลยที่สวนโมกข์ตอนอายุ 53 ลูกชายของป้าเอง เขาก็ทุกข์เยอะ สุขเยอะ 53 เขาไปบวช ชีวิตพลิกเลย บวชแล้วก็สึกออกมา 3 เดือน ป้าพบเยอะมากเลย โดยที่เราไม่รู้ว่ามันมี ที่

นักปราชน์เขาพูดกันในช่วงของชีวิตเราเองนี่นะคะ มันเป็นเองจริงๆ ค่ะ เราพบว่าคนที่พลิกชีวิต ตอนอายุ 50 ต้นๆ กลางๆ เยอะมาก แต่มันมีช่วงสุดท้ายซึ่งหลายๆ คนว่า เราจะไปถึงจุดนั้น หรือไม่ ถ้าเราถึงจุดนั้นได้ ก็ดี ไม่ถึง ก็ไม่เป็นไร คือจุดที่สิ่งที่เราเรียนรู้ในช่วงที่ 3 ช่วงที่ว่าเรียนรู้อะไรก็ตามเนี่ย มันมาเป็นตัวเราที่เรามาถ่ายทอดให้คนอื่นได้ อันนั้นน่ะค่ะเป็นช่วงสุดท้าย


บางคนก็จบลงที่ช่วง 3 แล้วเขาก็จบลงอย่างนั้น ก็แฮปปี้ก็ดี แต่มันก็อาจจะต้องมีอีกกลุ่มนึงที่เอามาแชร์กัน เหมือนอย่างที่มาแชร์วันนี้นะคะ อาจจะเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในช่วงต่างๆ ของชีวิต นะคะ ขอมาพูดเรื่องที่ตัวเองทำอยู่ในขณะนี้อย่างมากมาย ตัวเองเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติในเรื่องของ การที่จะขับเคลื่อนให้ประชาชนรับทราบเรื่อง มาตรา 12 ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับ hospice care ซึ่งเรากำลังพยามผลักดันอยู่นะคะ


ในประเทศไทย เรามีปัญหาอยู่นิดหนึ่ง คือเรามีหมอที่เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวน้อยมาก สำหรับสังคมผู้สูงอายุที่เรากำลังจะเป็นอยู่ เรามีสเปเชี่ยลลิสต์หัวใจ เรามีสเปเชี่ยลลิสต์สมอง เราจะเป็น Medical tourism ที่เราจะต้องเป็นหนึ่งในนั้น ในนี้ แต่จริงๆ ที่เราต้องการที่สุดสำหรับสังคมเรา คือเวชศาสตร์ครอบครัว


เวชศาสตร์ครอบครัวคือหมอ ที่อังกฤษเรียกว่า จีพีนะคะ คือจบแพทย์แล้วต้องเรียนต่ออีกสามปีที่จะเรียนรู้การดูแลองค์รวมของมนุษย์แต่ละคน ทั้งทางด้านจิตใจ ทั้งทางด้านร่างกาย ทั้งทางด้านทุกอย่างเรื่องครอบครัว ต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ เรามีน้อยเกินไปแล้วก็มันเป็นความเชี่ยวชาญที่ไม่ได้นำชื่อเสียงมาให้หมอ ไม่ได้นำเงินมาให้มากมาย แต่เราต้องผลักดันให้เกิด ด้วยการให้กำลังใจแพทย์ ที่เขามีความ พอของเขาเหมือนกัน ว่ายังไงเขาไม่ร่ำรวยเพราะว่าเขาจะไม่มีชื่อเสียงอะไรมากมาย แต่เขาจะดูองค์รวมของคนนะคะ อันนี้ป้าก็พยายามจะสนับสนุนและผลักดันอยู่ รามาธิบดีก็มีหน่วยที่เทรนอยู่และก็จุฬาก็กำลังพยายามจะเกิดโดยทั่ว


เรื่องที่สองก็คือว่าเมื่อคุณหมอรัชตะ ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี บังเอิญท่านมาจากการที่ท่านกำลังทำเรื่องการดูแลคนแก่และผู้ป่วยระยะท้ายอยู่ และขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ก็เลยเกิดกฎกระทรวงขึ้นในช่วงนั้นว่า ทุกโรงพยาบาลที่จดทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข ภายในสองปี จากวันนั้น จะต้องมีหน่วยที่เรียกว่า Palliative care ซึ่งภาษาไทยเราคือดูแลอย่างประคับประคองไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยในระยะท้ายนะคะแต่ว่าควบคู่กับการรักษา จะต้องมีทุกโรงพยาบาล


เวลานี้หลาย รพ. ก็เกิดหน่วยPalliative care แล้ว แต่แพทย์ที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ และที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านPalliative care เรายังไม่ค่อยมี เพราะฉนั้นหน่วยPalliative care ในหลายๆ รพ. มันยังไม่ได้ คือเราต้องการประชาชนให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้


เรื่องที่สามก็คือว่า สี่ปีมาแล้ว มีกฏหมายอันหนึ่งออกมาที่เรียกว่า หนังสือแสดงเจตนารมณ์ที่จะไม่รับการบริการทางสาธารณสุข อันนี้ให้เข้าไปที่เว็ปไซต์ของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ จะเห็นว่ามีแบบฟอร์ม เขาจะมีตัวอย่าง ของป้าศรีเอง อันนี้เป็นแบบฟอร์ม อันนี้เป็นตัวอย่าง ของป้าศรีทำกับแพทย์โดยตรง ว่าถ้าเราเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เราไม่ต้องการอย่างนี้ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เข้าไปลองศึกษาดูว่าเราต้องการยังไง เรามีสิทธิ์เขียนเอาไว้ แต่ตอนนี้เรากำลังขับเคลื่อนมากไปกว่านั้นค่ะ เราขับเคลื่อนว่าคุณมีอันนี้แล้ว คุณเข้า รพ. คุณเอาอันนี้ให้แพทย์ แต่พอถึงเวลาจริงๆ มันจะต้องมีอีกอันเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ภาษาไทยของเราก็ยังไม่มีนะคะ คือ แอดวานซ์แคร์แพลน คือการประชุมระหว่างแพทย์กับญาติกับตัวคนไข้ถ้ายังพูดได้ ว่าตอนที่เราเขียนอันนี้เราเขียนตอนที่ยังไม่เป็น แต่ตอนเราเป็นแล้วเนี่ย โดยเอานี่เป็นไกด์ไลน์ว่าเราต้องการอย่างไร นี่เป็นข้อตกลงกัน แล้วก็แอดวานซ์แคร์แพลนประชุมได้ อาจจะทุกระยะ เพราะฉะนั้นแพทย์จะต้องพร้อมที่จะคุยกับญาติ ญาติจะต้องเข้าใจว่าชีวิตระยะท้ายและร่างกายของชีวิตระยะท้าย มันมีอะไรบ้าง มันมีรายละเอียดเยอะมากเลยที่เราจะต้องเข้าใจ เพื่อเราจะได้เลือกได้นะคะ


ป้าศรีทำคอร์สวิธีสู่ความตายอันสงบซึ่งมีทั้งนักกฏหมาย มีทั้งแพทย์ มัทั้งพยาบาลและมีทั้งกิจกรรมต่างๆ ซึ่งป้าก็ทำได้แค่จำนวนจำกัดนะคะต่อปี แต่เราก็พยามทำกับแพทย์กับพยาบาลแล้วก็เอาไปกระจายกัน เรามีเกมชื่อไพ่ไขชีวิต ซึ่งวันหลังอยากให้คุณอรรณพจัดแล้วก็ทำกันเป็นเรื่องราว มันจะทำให้เรามองระยะท้ายของเราอย่างไร เราต้องการอะไร เราต้องการให้ใครทำอะไร เราบอกไว้ได้หมดค่ะ แล้วก็ตอนนี้สิ่งที่ป้าทำและใครอยากจะไปทำก็เชิญนะคะ คือเพราะว่าเราต้องการให้คนแก่ เซลสมองมันเพิ่มนะคะ และก็มีวิธีคิดและก็มีการมองโลกให้ทันสมัยแบบนี้ เราทำที่จุฬาค่ะ จุฬาพาเพลิน ในเฟสบุ๊คของป้า อันนี้ค่ะวันจันทร์นี้ เราจะเอาเรื่องนี้ คือเราเอาหนังที่เราคัดแล้วดีๆ มาฉาย ฉายแล้วก็มีป้ากับคุณหมอสุขเสริญเป็นฐานในการวิเคราะห์ ถกเถียงแล้วเราก็ให้คนดูขึ้นมาเถียงกับเรา เราเปิดให้คนอายุ 50 ขึ้น




เราทำมาแล้วห้าเรื่อง ดีทีเดียวค่ะ สนุกกันทุกที วันจันทร์นี้จะเรื่องนี้ค่ะ อันนี้เป็นหนังจีน เราทำได้ดีมาเรื่อยๆ ครั้งแรกเราทำเรื่องสตีเฟ่น ฮอว์กิ้นที่เขาขยับไม่ได้ แต่เขาค้นพบเรื่องBig Bang ซึ่งมันมีชีวิตส่วนตัวเข้าไปผสม อันที่สอง เราทำตรงกันข้ามเลยคือ Still Alice คือคนที่เป็นอัลไซเมอร์ตั้งแต่ยังสาว ร่างกายดีมากเลยแต่ไม่มีสมอง สมองค่อยๆ เสื่อมหายไป แต่อันที่สามนะ เราเลือกแล้วเราตกกระไดไปเลย มีท่าน

ผู้สูงอายุ ที่อายุน้อยกว่าป้าท่านลุกขึ้นเดินออกกลางคันน่ะค่ะ แล้วเราก็ได้รับการต่อว่ามามากมาย คือเราช่วยกันเลือก The Bridges of Madison County ซึ่งเป็นเรื่องของชู้สาวเมื่ออายุวัยห้าสิบเศษนะคะ จริงๆแล้วมันดีมากเลย เพราะมันทำให้เราเห็นว่าแม้กระทั่งผู้หญิงคนนี้ ที่ตกเข้าไปอยู่ในอารมณ์อันนี้แล้วสามารถที่จะถอยออกมา ไม่ใช่ถอยออกมาจาก affair แต่ถอยออกมาเลย ว่าแล้วมันจะไปทางไหน เพราะอะไร


แล้วการนอกใจครั้งนี้ เขาเขียนบันทึกเอาไว้ในจดหมายถึงลูกที่ให้เปิดเมื่อเขาตายแล้วค่ะ แล้วลูกทั้งสองคนมีปัญหาชีวิตของตัวเองกันคนละแบบ ตอนแรกเปิดจดหมายแม่อ่านนี่ช็อกมากเลยว่า แม่ที่ดีของเรา เป็นอย่างนี้เหรอ แล้วทำใจไม่ได้ แต่หนังมันไปเรื่อยๆ สลับกับภาคที่ลูกคุยกัน ลูกก็จะค่อยๆ เห็นอะไรเกี่ยวกับชีวิตของตัวลูกเอง แล้วตอนจบ มันจบด้วยลูกเองตัดสินใจว่าฉันจะอย่างนี้กับชีวิต อีกคนก็ตัดสินใจเลยว่าต้องเปลี่ยนตัวเองยังไง แต่หนังเรื่องนี้ทำให้จุฬาพาเพลินโดนต่อว่าเยอะมาก ว่าเราทำไมเอาหนังชู้สาวมาฉายให้คนแก่ดู เพราะฉะนั้นอันนี้ยังเป็นงานของเราต่อ ที่เราจะให้เปิดใจดูว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มันใช้เป็นประโยชน์กับชีวิตได้ทั้งสิ้นนะคะ


ส่วนหนังสือเล่มนี้ เวลาเราทำวิถีสู่ความตายอันสงบ วันสุดท้ายท่านไพศาลท่านจะให้ทำปณิธาน ปณิธานก็คือเขียนลงไปว่าจากนี้ไปเราตั้งใจจะทำอะไร และก็จากนี้ไปเราตั้งใจจะละอะไรนะคะ แล้วก็ให้ทำให้น้อยที่สุดและไม่ยากเกินไป และก็ใส่บาตรท่านค่ะ และส่วนที่เราจะละ ท่านจะเผาต่อหน้าเราเลย ส่วนที่เราปณิธานไว้ท่านจะเก็บไว้ แล้วอีกหกเดือนท่านจะไลน์มาบอกเราว่า ไอ้หกเดือนที่แล้ว ปณิธานไว้อย่างนี้นะ ทำรึเปล่า ทีนี้นักเขียนคือชมัยพร แสงกระจ่าง เราสนิทกันมาก เขียนว่าระหว่างอยู่ในวิถีสู่ความตายอันสงบเนี่ย จะเขียนนวนิยายอันเกี่ยวเนื่องกับการอบรมครั้งนั้น แล้วเธอก็ใส่ลงไปในบาตรท่านแล้วก็ลืมสนิทเลย หกเดือนต่อมาช็อก คือมีจดหมายจากท่านไพศาล วิสาโล บอกว่า โยม ทำรึยัง เธอเลยตาลีตาเหลือกเขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมานะคะ ถ้าใครอยากจะซื้อก็อยู่ในตลาดนะคะตอนนี้ และก็สัปดาห์หนังสือก็คงจะมีขาย ป้าจะต้องไปวิจารณ์งานของเขาพรุ่งนี้ค่ะ อ่านแล้ว ลืมแล้ว สนิทเลย ต้องอ่านอีกแล้ว นี่คือสมองคนแก่นะคะ ซึ่งดีมาก เพราะว่าอะไรมันเลวร้าย พรุ่งนี้ลืม แฮปปี้ อะไรดีเข้ามามันก็ดีอยู่ในใจ แต่เนื้อหามันลืมแล้ว คือมันไม่มีอะไรติดอยู่อ่ะค่ะ เพราะฉนั้นเวลาตายมันก็ชึบไปเลยอ่ะ


ที่สำคัญทีสุดก็คือการที่เราต้องรู้ว่า ชีวิตกับความตายเป็นอันเดียวกัน ป้าจะบอกให้นะ ถ้าใครปฏิเสธความตายนะ หยุดกินอาหารจากวันนี้เป็นต้นไป เพราะว่าทุกอย่างที่คุณกินเป็นของที่ตายแล้ว เขาตายเพื่อคุณจะได้อยู่ ผัก ผลไม้ เขาตายแล้ว คุณถึงได้กิน สัตว์เนื้อสัตว์ทุกอย่างตายแล้ว ถึงได้กินค่ะ เพราะฉะนั้นไปกลัวกันใยกับความตาย


ความตายก็มีประโยชน์กับชีวิตมากมาย มันบอกเราเลยว่า ทุกอย่างมันโยงกันหมด เราอยู่ได้เพราะความตายของสิ่งต่างๆ นะคะ แต่เราจะคืนให้โลกมั้ย เราจะคืนยังไง ทำอย่างนี้ค่ะ คือหาเวลานะคะ เดือนละหนก็ได้ ออกไปเดิน ในสวนก็ได้ ในที่มีธรรมชาติ ตัดทุกอย่างหมดนะ ไม่เอาไลน์ไม่เอาอะไรเลย อยู่กับตัวเองจริงๆ อยู่กับใจตัวเองจริงๆ แล้วมองทุกสิ่ง บางทีเราจะเห็นอะไรเล็กๆ ที่ปกติเราไม่เห็นนะคะ แล้วรู้สึกว่า เรานี่โชคดีจริงที่ยังมีชีวิตอยู่นะ แล้วก็ได้เห็นเขาซึ่งปกติเราอาจจะเดินผ่านเขาไปเลย ดอกไม้ดอกเล็กๆ อะไรต่ออะไร มันจะเกิดความชุ่มชื่น แล้วมันจะเกิดความรู้สึกว่า เราต้องคืนให้โลกค่ะ เราเอามาเยอะนะ ตั้งแต่เกิดมา น้ำเอย ผ้าที่นุ่งนี่ ไหมนะคะ ใช่มั้ยคะ เขาก็ต้องตายมาเป็นไหมให้เรา เราคืนอะไรให้โลกทั้งโลกได้บ้าง เราคืนอะไรให้สังคมได้มั่ง ไม่ต้องคิดมากค่ะ รู้สึกเพียงแต่ว่ารับกับให้เป็นเรื่องเดียวกัน มันเป็นเรื่องเดียวกันจริงๆ แล้วเวลาคุณเดินไปไหนแล้วคุณรู้สึกขอบใจอะไรต่ออะไร จิตชุ่มชื่น ชีวิตมันดีขึ้น แล้วคุณให้กลับนะคะ มันอันเดียวกันเลยรับกับให้ ในที่สุดจะรู้สึกอย่างนั้นนะคะ ฝากเอาไว้ค่ะ

 

ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page