top of page

คม-ชัด-ลึก สิทธิการตาย


เปิดแนวคิดสิทธิผู้ป่วย เลือกปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิตตามมาตรา 12 พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตัวอย่างพินัยกรรมชีวิตหรือหนังสือแสดงเจตนาเหล่านี้ แสดงถึงเจตนารมณ์และสิทธิของผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาในลักษณะที่ยืดการตายช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากความเจ็บป่วย โดยจะให้แพทย์รักษาแบบประคับประคอง จนวาระสุดท้าย ไม่ขอถูกเหนี่ยวรั้งหรือยืดการตายด้วยเครื่องมือแพทย์


สิทธิรูปแบบนี้มีมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ผ่านมา 8 ปี กลับพบว่ามีคนไทยใช้สิทธิ์ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ อาจเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ถึงสิทธิ์นี้ ขณะเดียวกันในวงการแพทย์ยังมีข้อถกเถียง แพทย์จำนวนหนึ่งมองว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อจรรยาบรรณ และเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบมาให้แพทย์ โดยเฉพาะหากเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เมื่อผู้ป่วยยังไม่ถึงวาระสุดท้าย ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเชื่อว่า การแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วย จะช่วยให้แพทย์ปฏิบัติได้ถูกต้อง มีหลักการ และไม่ทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะฟื้นก็ไม่ได้ตายก็ไม่ลง


พิธีกร :"สวัสดีค่ะ คุณผู้ชมคะ ต้นรายการบอกว่ากฎหมายมีมาตั้งแต่ปี 50 แล้ว ทำไมมาคุยเอาปี 58 เพราะว่ามีคดีฟ้องร้องกันมา เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี่เองค่ะ ก็จบที่ศาลปกครองสูงสุดนะคะ เป็นการยกฟ้องค่ะ ศาลบอกไม่ได้มีอะไรบิดพลิ้วไปจากครรลองที่มีการออกกฎหมายมานะคะ เพราะฉะนั้นก็ถือว่ายกฟ้องไป สำหรับคำขอร้องที่ให้เพิกถอนมาตราที่ว่านี้ ในการใช้สิทธิการตายนะคะ หลังจากนั้นก็พยายามรอดูว่ามีการใช้งานได้จริงจังแค่ไหน ก็ยังไม่เห็นชัดเจนมากนัก ถ้าเอาตามตัวเลขที่เป็นข่าว ก็ถือว่าเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ก็พยายามตรวจสอบนะคะ แต่ยังไม่ได้มีการรวบรวมอย่างเป็นทางการ สำหรับตัวเลขของคนไทยที่ใช้สิทธิที่ว่านี้


วันนี้แขกรับเชิญที่จะคุยกับเรา น่าจะบอกได้หลายมุมจากคนที่ใช้สิทธิ์นี้ คือทำไปแล้วเตรียมตัวเอาไว้แล้วนะคะ ว่ามันยังมีอะไรที่น่าจะเป็นอุปสรรคหรือลำบากใจ หรือตัดสินใจไม่ได้จริงๆ ถึงแม้ว่าจะมีสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่ เริ่มจากคุณหญิงจำนงศรีก่อนนะคะเพราะว่าทำแล้วเรียบร้อย ถ้าดิชั้นเทียบกับกฎหมายตั้งแต่ 50 นะคะ เตรียมตั้งแต่กฎหมายออกหรือว่าจบคดีแล้วคะ


ป้าศรี : อันที่จริงไม่ได้สนใจส่วนที่ว่ากฎหมายหรือไม่กฎหมายนะคะ แล้วก็ไม่ทราบเรื่องคดีด้วย แต่ว่าทำเพราะว่าต้องการจะทำ แล้วก็คุยกับคุณหมอ คุณหมอบอกมีกฎหมายอันนี้อยู่ เพราะฉะนั้นมันมีอยู่

เราก็ทำเสียเลย


พิธีกร : แสดงว่าตอนที่คิดไม่ทราบว่ามีกฎหมายหรือไม่มีกฎหมาย


ป้าศรี: คิดน่ะคิดมานานมาก เพราะว่าประสบการณ์ชีวิตของป้าศรี ป้าศรีพบความตายของคนที่รู้จัก ที่คิดว่ามันไม่ถูกต้องที่เขาต้องทรมานอย่างนั้น ที่เขาต้องตายอย่างไร้ศักดิ์ศรี ท่อคาคออยู่เป็นเดือน มือเท้าถูกมัดเอาไว้กับเตียง เพราะว่าถ้าปล่อยก็จะพยายามจะดึงออก สายอาหารคาอยู่และทุกครั้งที่เข้าไป มองหน้าเรา แล้วก็มองเหมือนของร้อง แล้วก็น้ำตาไหล แล้วเขาก็กระตุ้นความดันตลอดทุกครั้ง ที่ความดันตกเขาให้สารอาหารอยู่ไงคะ แล้วเขาก็บอกว่าถ้าหยุดกระตุ้น หัวใจจะไม่บีบตัว น้ำในร่างกายก็จะไหลย้อนไปท่วมปอด คนไข้อายุ 99 ปี อันนี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีมาแล้ว ป้าศรีอยู่ในเหตุการณ์ ป้าศรีเป็นคนสนใจเรื่องความตายมานานนะ ลูกหมาตาย ป้าศรีนั่งมอง เราเห็นกระบวนการตาย มันเป็นอะไรที่ป้าศรีสนใจมันมากและก็ทราบว่าจะต้องถึงวันนั้น เพราะฉะนั้นป้าศรีต้องการตายอย่างเป็นธรรมชาติถ้าทำได้


พิธีกร : เขียนจริงปีไหนคะ


ป้าศรี : เขียนจริงเนี่ยวันที่ 29 เดือนธันวา 2555 ป้าศรีเกิดวันที่ 30 ธันวา อันนี้เขียนหนึ่งวันก่อนที่อายุจะครบ 73


พิธีกร : โดยที่สุขภาพตอนนั้นเป็นไงคะ


ป้าศรี : ดีค่ะ แข็งแรงดี ตอนนั้นตัดถุงน้ำดี ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องเล็กนะคะ ก็เลยฉวยโอกาสตอนนั้นทำ แล้วก็ทำกับคุณหมอพรเลิศ นั่งเขียนอยู่ด้วยกัน


พิธีกร : ตอนนั้นปี 55 นะคะ กฎหมายออกปี 50 ประมาณปี 53 มีกฎกระทรวงออกรายละเอียดในวิธีปฏิบัติ ตอนเขียนคุณหญิงได้ข่าวมั้ยคะว่ามีกฎหมาย มีกฎกระทรวงและมีสิทธิ์ทำได้ ตอนนั้นรู้มั้ยคะ

ตอนปี 55 ที่เขียน


ป้าศรี : คือจริงๆ แล้วรู้ ตอนพูดคุยกับคุณหมอวรรณา ซึ่งอยู่กับเครือข่ายพุทธิกา คือทราบเพราะว่า

ป้าศรีเองเป็นเจ้าภาพจัดอบรมวิถีสู่ความตายอันสงบโดยท่านพระอาจารย์ไพศาล วิสาโลทุกปี ทำมา

8 ปีแล้ว ป้าศรีทราบหรือไม่ทราบว่ามีกฎหมายป้าศรีจำไม่ได้ แต่ตอนเขียนทราบแล้วแน่นอน


พิธีกร : ถ้าดิชั้นย้อนกลับไปตามที่ป้าศรีบอก 20 ปีที่แล้ว จนกระทั่งตัวเองเขียนเมื่อปี 2555 นะคะ อาจารย์ตอนนั้นที่ป้าศรีมาปรึกษา คือบทสนทนาไปยังไงคะ หรือเราเห็นว่ามีกฎหมายแล้วตรงกับความต้องการของป้าศรีพอดี หรือมีคนอื่นที่คุณหมอเคยแนะนำไปแล้ว ยังไงถึงได้มีการเขียนแบบนี้ขึ้นคะ


นพ.พรเลิศ : ส่วนใหญ่คนที่เคยคุยกันมักจะเป็นโรคอยู่แล้ว แต่ว่าป้าศรีเนี่ยเป็นคนแรกนะครับที่ดูแข็งแรง ดีมากๆ ที่คิดจะทำเรื่องนี้นะครับ จริงๆ แล้วที่ได้ความรู้สึกตรงนั้นก็คือว่า คุณป้าศรีเนี่ยเหมือนกับเป็นคนที่ไม่ประมาทนะครับ คือว่าต่อไปจะต้องทำอะไร สมมุติว่าจะผ่าตัดจะเกิดอะไรขึ้น คือจะไม่ประมาทเตรียมตัวเองให้พร้อมนะครับ


พิธีกร : แล้วตอนนั้นที่คุยบทสนทนาเป็นไงคะ มันเป็นบทสนทนาที่ใหม่สำหรับหมอหรือบุคลากรทาง

การแพทย์มั้ยคะ


นพ.พรเลิศ : จริงๆ ปกติก็ไม่ได้ใหม่นะครับ ถ้าคนไข้เข้าไอซียูที่ป่วยหนักๆ แล้วก็เข้าออกหลายๆ รอบบางทีเขาจะพูดกับเราเลยว่ารอบนี้เขาจะพอแล้วนะ เขาได้ลองมาเยอะแล้ว มันก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มีแต่ทรงแล้วก็ทรุดลงเรื่อยๆ ตามกระบวนการของโรค คนที่พูดอย่างนี้ได้ เขาต้องเห็นภาพต่อไปในอนาคตว่าเขาต้องเจออะไร ซึ่งเขาจะสามารถมองและวางแผนการเดินทางของตัวเองได้ อย่างถ้ากรณีของป้าศรีนี่ แสดงว่ามองภาพของตัวเองแล้วว่าจะต้องเป็นยังไงบ้าง จะต้องเจออะไรบ้าง นั่นคือการเตรียมตัวครับ ก็ไม่ได้ตกใจอะไร เพียงแต่ว่าชื่นชมครับ


พิธีกร : ปกติแล้วคำสนทนาหรือให้คำปรึกษากับผู้ป่วย ให้กับตัวผู้ป่วยหรือญาติเป็นส่วนใหญ่คะ


นพ.พรเลิศ : ก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นสภาวะของผู้ป่วยนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเกิดว่าผู้ป่วยค่อนข้างอาการหนักแล้วอยู่ในไอซียูพูดไม่ได้ เราก็จะถามญาติคนไข้ว่า คนไข้เคยพูดอะไรไว้ไหม คนไข้ปกติเป็นคนยังไง สภาวะที่เขาเคยป่วยมา เขาตอบสนองยังไงบ้าง เขาเคยแสดงเจตนาไว้ไหม


พิธีกร : ถ้าอย่างนั้น ถามอาจารย์ในแง่ปฏิบัติงานนะคะ ถ้าไม่เคยมีบทสนทนากับคนป่วยก่อนเลย หรือญาติบอกไม่เคยคุยกันไว้เลยนะว่าถึงขั้นไหน หรือแม้กระทั่งญาติอาจจะบอกคุณหมอไม่ได้ ต้องให้ถึงที่สุดที่คุณหมอไม่อาจจะช่วยได้แล้ว ทุกอย่างช่วยไม่ได้แล้ว มันไม่มีหลักปฏิบัติอะไร ถ้าไม่มีกฎหมายฉบับนี้

หรือเปล่าคะ คือกฎหมายฉบับนี้เป็นหลักปฏิบัติใหม่สำหรับคนเป็นหมอคนเป็นพยาบาลไหมคะ


นพ.พรเลิศ : จริงๆ แล้วกฎหมายฉบับนี้มันมีมาตามเรื่องการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น จนกระทั่งเรียกว่า

คนไขัถ้าจะเสียชีวิต ก็มีการยื้อโดยการใส่เครื่องหายใจได้ กระตุ้นหัวใจได้ ใส่เครื่องปอดหัวใจเทียมได้

คือสามารถทำได้ถึงขั้นนั้น เพียงแต่ว่าพอทำไปถึงขั้นหนึ่ง ก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่มีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์ครับ เขาก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนี้ใครจะเป็นคนตอบคำถามได้ดีที่สุด ก็เลยคิดว่าคนที่ตอบได้ดีที่สุด ก็คือตัวคนไข้มากกว่า ไม่ใช่ญาติ และก็ไม่ใช่หมอ


พิธีกร : คุณหมอเคยเจอคนที่มาทำไว้ก่อนแบบที่คุณหญิงทำมั้ยคะ หรือว่าไปเจอในภาวะที่ต้องตัดสินใจ

ในช่วงนั้นพอดี ที่ทำไว้ก่อนนี่ คุณหมอเจอเยอะไหมคะ


นพ.พรเลิศ : ที่ทำไว้ก่อนนี่ไม่เยอะครับ จะเจอก็อย่างเช่นเป็นมะเร็งแล้วก็มาผ่าตัด แล้วก็กลับมาใหม่ แล้วพอผ่าตัดรอบสองก็ดีขึ้นไปพักนึง แล้วพออีกครั้งหนึ่งมา เขาก็จะมีใบเขียนมาว่าเขาไม่ขอที่จะยื้อชีวิตนะ เขาขอที่จะเหมือนกับคืนตัวเองสู่ธรรมชาติแบบนี้ครับ ให้การดูแลของเขาเป็นการจากไปตามธรรมชาติ


พิธีกร : ซึ่งลักษณะการเขียนแบบนั้นนะคะ เขียนแบบคนรู้กฎหมายไหมคะ หรือเขียนแบบเขารู้สึกแบบนี้

ก็เลยเขียนแบบนี้คะ


นพ.พรเลิศ : ใช่ครับเป็นการเขียนตามความรู้สึกเขา คือตอนนั้นยังไม่มีแบบฟอร์ม เขาเขียนตามความรู้สึกเช่น เขามองว่าชีวิตเป็นการคืนสู่ธรรมชาติแบบนี้ เขาขอคืนสู่ธรรมชาติตามธรรมชาติ


พิธีกร : ขอถามคุณหมออีกท่านหนึ่งค่ะ คุณหมอมองว่าในแง่ปฏิบัติจริงๆ คุณหมอมองว่า อย่างป้าศรีเตรียมไว้เนิ่นมากๆ แล้วก็ทำความเข้าใจ ตอนสติสัมปชัญญะ ร่างกายยังสุขภาพดี จิตใจยังดี นี่คือไม่น่า

จะใช่กรณีที่มีปัญหาแน่ๆ นะคะ แต่ถ้าก้ำกึ่ง มันมีความก้ำกึ่งมั้ยคะ ต่อให้คนนั้นทำตอนนี้แข็งแรงแบบนี้และก็รับรู้กันถ้วนหน้า แต่พอเอาฉบับนี้ไปยื่น ถึงวันที่ต้องตัดสินใจ จะมีปัญหาไหมคะ จะมีขั้นไหนที่ยัง

มีปัญหาไหมคะ


พญ.ฉันทนา : ต้องเรียนคุณจอมขวัญตรงๆ ว่าในปัจจุบันนี้ แม้กระทั่งมีคดีเกิดขึ้นอย่างที่คุณจอมขวัญเรียนไปนะคะ ก็ยังมีคุณหมอแบบเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ถ้าจริงๆ แล้วตามกฎหมายที่ว่าไว้ คุณหมอสามารถปฏิบัติตามสิ่งที่คนไข้ได้เขียนแสดงเจตนาไว้ ตั้งแต่ตอนที่เขามีสติสัมปชัญญะครบถ้วนดีแล้ว เขาสามารถที่จะตัดสินใจอย่างที่อาจารย์พรเลิศพูดค่ะ ว่าตัดสินใจด้วยตัวเขาเอง เขานี้แหละจะตัดสินใจได้ดีที่สุด จริงๆ แล้วเราต้องมองว่าคุณหมอเป็นผู้ให้บริการ แล้วคนไข้ญาติเป็นผู้รับบริการ กฎหมายออกมาเพื่อตอบความต้องการของผู้ให้บริการกับผู้รับบริการว่า ถ้าในเมื่อเราได้รู้แล้วนะ ว่าโรคของเราหรือสิ่งที่เราเป็นอยู่ ในกรณีที่คนไม่สบายนะคะ ว่าถ้าเราป็นอย่างนี้ในวาระที่โรคไม่หาย ในกรณีที่คลาสสิคเลยก็คือโรคมะเร็ง ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะรู้กันว่า โรคมะเร็งไม่หาย ถ้าถึงตรงนั้น ปัจจุบันวิทยาการแพทย์ไปไกลมาก ยื้อ ล้างไต ใส่ปอดเทียมหัวใจเทียม ทำได้หมดค่ะ อาจารย์พรเลิศบอกคืนสู่ธรรมชาติ แต่ในฐานะของผู้ให้บริการกับคนที่เป็นญาติก็ทุกข์ทรมานไม่แพ้กัน สิ่งที่ตามมาก็คือค่าใช้จ่าย ความทุกข์ทรมานทั้งหลาย ซึ่งถามว่าจริงๆ แล้วกฎหมายออกมาแบบนี้ดีนะคะ ในการให้ผู้บริการและผู้รับบริการ ว่าง่ายๆ คุยตรงกัน วางแผนร่วมกันระหว่างคนไข้ หมอ แล้วก็ญาติ ตรงนั้นก็เขียนให้ชัดเจนไปเลย


พิธีกร : อย่างป้าศรีเขียนในแบบที่มีแนวคิดของตัวเองอยู่แล้วนะคะ มันอาจจะยังใหม่มาก แต่เคยเจอกรณีแบบนี้ไหมคะ มันอาจจะเกิดคำถามในใจจากคุณหมอก็ได้ จากญาติก็ได้ว่า ตอนเขียนก็สภาพร่างกายดีสภาพจิตก็ปกติดี แต่คนที่เขียนอาจจะไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์ เขาไปถึงขนาดไหน อาจจะห่วงแค่ความเจ็บป่วย ณ ตอนนั้น กับค่ารักษาพยาบาลที่เหมือนกับลูกหลานต้องรับต่อ คนเขียนอาจจะไม่รู้ศักยภาพของแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์รึเปล่าคะ


พญ.ฉันทนา : อย่างที่เรียนคุณจอมขวัญไปคือทั้งคุณหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ให้บริการ ส่วนญาติกับผู้ป่วยเป็นผู้รับบริการ จริงๆ แล้วถ้ามองในแง่ของกฎหมาย มองย้อนกลับไปในแง่ของสิทธิผู้ป่วย จริงๆ แล้วสิทธิผู้ป่วยที่ออกมาฉบับล่าสุดนะคะ เมื่อเดือนสิงหาที่ผ่านมานี่เอง ก็ได้บ่งบอกชัดเจนว่า ผู้ป่วยที่ขอรับการรักษาพยาบาลมีสิทธิ์ได้รับข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอเกี่ยวกับการเจ็บป่วยการตรวจรักษา ผลดีและผลเสียจากการตรวจรักษาจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ด้วยภาษาที่ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน จริงๆ แล้วกฎหมายและสิทธิผู้ป่วยอันนี้ออกมาชัดเจนนะคะ


พิธีกร : ตอนนั้นที่ป้าศรีตัดสินใจที่จะทำ ตอนลงลายลักษณ์อักษรคุณหญิงต้องขอหรือว่าถามจากอาจารย์ไหมคะ ว่าเครื่องนี่มันช่วยให้ฉันกลับมาได้มั้ย หรือมันแค่ยื้อไว้ได้ หรือมันห้าสิบห้าสิบ มีความรู้ละเอียดยิบของแต่ละเครื่อง วิธีการรักษาของแต่ละแบบมั้ยคะ


ป้าศรี : มีอยู่ค่ะ มีอยู่ เพราะว่าในเมื่อตัวเองสนใจเรื่องนี้ ตัวเองก็ศึกษา ศึกษาจากคุณหมอหลายท่าน

คือป้าศรีทำเรื่องนี้มาพักหนึ่งแล้วนะคะ ป้าศรีบริจาคที่ดินให้มหาวิทยาลัยมหิดลที่จะทำให้เกิดเรื่องของ

ความรู้และการวิจัย และการดูแลคนป่วยในระดับช่วยตัวเองไม่ได้และก็ระดับระยะท้าย เพราะฉะนั้นการที่ทำเรื่องนี้อยู่กับมหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนั้นคุณหมอรัชตะเป็นอธิการบดี ป้าศรีเดินทางกับคุณหมอแทบจะรอบโลกนะคะ คือไปดูงานทางด้านนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องบอกว่าป้าศรีทราบดีทีเดียวค่ะ ไปศึกษาตามสถานที่ที่เรียกว่าฮอสปิซ คือเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องของแต่ละคน อย่าลืมว่าป้าศรีอายุกำลังจะ 76 ชีวิตเห็นอะไรมามากมายแล้ว ตอนนี้ทำงานด้านนี้คืออุทิศชีวิตช่วงสุดท้ายใ ห้มันเกิดระบบที่คนไทยสามารถที่จะเข้าถึงการตายดีได้ คือมันอยู่กับเรื่องของการตายและผู้ป่วยระยะท้ายมาเยอะ จนเห็นหมดว่าไม่มีอะไรที่แน่นอน คือเราอาจจะบอกว่าไม่ต้องช่วยแล้ว เราตายแน่เลย แต่ถ้าจริงๆ แล้วถ้าช่วยเราอาจจะไม่ตายก็ได้ แต่ป้าศรียอมรับนะคะว่าความไม่แน่นอนอันนี้อาจจะมีปาฏิหาริย์ก็ได้ แต่ป้าศรีเลือกอันนี้


พิธีกร : สิ่งที่ป้าศรีพูดมามันคือแก่นของสิทธิการตายเลยนะคะคือของใครของมัน แต่สมมุติลูกหลาน

น่ะค่ะถึงแม้จะเห็นเอกสารไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายายพ่อแม่ ท่านเขียนไว้ก็จริง ท่านคิดแล้วด้วยตอนแข็งแรง แต่ลูกรู้สึกว่าปาฏิหาริย์อาจทำงาน มันอาจะพลิกกลับมาในวันนั้นนะคะ


ป้าศรี : ในชีวิตจริง ทุกเรื่องมันมีคำว่าอาจจะทั้งนั้นนะคะ เดินไปก็อาจจะหกล้มหัวทิ่มคอหักตายก็ได้ เพราะฉะนั้นแล้ว ป้านะคะลูกสี่ คนโตอายุ 52 คนเล็กอายุ 46 คือเราคุยเรื่องนี้กันมาตลอดค่ะ คือคุยกัน

ถกกัน ลูกทุกคนเข้าใจดีอยู่ และเขาก็เซ็นรับรู้หมดในฐานะพยาน และเราก็มีคอร์สวิถีสู่ความตายอันสงบ มีวิทยากรทั้งทางด้านกฎหมาย มีทั้งด้านการแพทย์ ทางด้านความสงบทางจิตใจ ทางด้านจิตวิทยาแบบนี้ค่ะ


พิธีกร : อาจจะมีความก้ำกึ่งอยู่เหมือนกันทั้งคนที่จะทำและลูกหลานของคนที่จะทำ มาทางอาจารย์ ลักษณะนี้ลูกหลานจะต้องยินยอมด้วยไหมคะ สมมุติมีข้อถกเถียงในครอบครัวอยู่ ถ้าผู้ป่วยเองยืนยันที่

จะทำ อาจารย์จะแนะนำครอบครัวยังไงคะ นี่มันไม่ใช่สิทธิ์คนเดียวแล้วนะคะ เพราะลูกหลานเป็นเรื่องความรักความเคารพ


นพ.พรเลิศ : จริงๆ เรื่องนี้ดีมากนะครับ มันเหมือนการซ้อมแผนว่าถ้าเราเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราจะทำอย่างไร เพราะว่าที่เราเจอหลายๆ ครั้ง คนไข้ไม่รู้ตัว อยู่ในไอซียู ถูกใส่ท่อและก็หมดสติไป พอจะมาคุยกันก็ไม่มีใครรู้ว่าความปรารถนาที่แท้จริงขของคนไข้คืออะไร ซึ่งตอนนั้นลูกๆ อาจจะเป็นความคิดที่ยาก อาจจะถูกกดดันและเสียใจ มีความกังวลต่างๆ การทำอะไรบางครั้งจะตัดสินใจไม่ได้ บางทีบอกแล้วแต่หมอนะ ซึ่งบางที่ตรงนี้เป็นอะไรที่ยากมาก เพราะเราไม่รู้จักตัวคนไข้จริงๆ เท่ากับตัวลูกหลานนะครับ

เรารู้แค่ว่ากรอบไหนที่พอจะทำได้ และสอดคล้องกับความต้องการจริงๆ ของคนไข้ไหม ซึ่งถ้ามีโอกาสได้พูดคุยกันมาก่อน พอถึงเวลาตรงนั้น ลูกหลานจะชัดละ เท่าที่ผมสังเกตได้คือคนไข้จะมีการจากไปที่สงบกว่ามาก ถ้าเกิดมีการเตรียมตัวอย่างนี้มาก่อน


พิธีกร : มีลักษณะแบบนี้มั้ยคะ เราไม่รู้ว่าครอบครัวนั้นมีความขัดแย้งกันรึเปล่า ไม่รู้ว่ามีใครจะได้รับ

ผลประโยชน์รึเปล่า แต่กลับนำเรื่องนี้มาอ้าง แล้วก็อาจจะให้ผู้ป่วยไปเร็วกว่าที่ควรจะไปนิดหนึ่ง คือ

กฎหมายเอื้อให้คนใช้ประโยชน์จากตรงนี้มั้ยคะ


นพ.พรเลิศ : จริงๆ ตรงนี้ก็เขียนไว้ชัดเจนนะครับว่าจะใช้เมื่อจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตตน หมายถึงว่าทางการแพทย์ก็ต้องพิจารณาว่าจริงๆ แล้วตอนนี้เข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว เข้าส่วนที่เหมาะสมทางการแพทย์แล้ว ส่วนถ้าเกิดว่าคนไข้ไม่เคยเป็นอะไรมาก่อนและเจ็บป่วยนิดเดียว แล้วญาติมาขอไป มันก็จะดูแปลก

ใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราดูจากแฟ้มประวัติแล้วหนามากเลย มีเข้าออกไอซียูเป็นสิบครั้ง แล้วมาพูดแบบนี้แสดงว่าเขารู้จากประสบการณ์จริงที่ได้ผ่านมา หรือบางคนในกรณีที่ตอนนั้นเขาแข็งแรงดีอยู่ แต่ดูแล

คุณแม่ที่เป็นมะเร็งเต้านม คุณแม่เข้าออกไอซียูอยู่ 3-4 ครั้ง คุณแม่ก็ดีขึ้นบ้าง แล้วแย่ลงสลับกัน จนถึง

วันนั้นลูกสาวก็บอกว่าคุณหมอคะ หนูก็เป็นมะเร็งเต้านมเหมือนกัน ถ้าวันหนึ่งหนูเป็นเหมือนคุณแม่นะ

คุณหมอไม่ต้องเอาเข้าไอซียูเลย เพราะหนูเห็นทุกอย่างแล้ว ก็คือคนพูดอย่างนี้ได้ มันต้องเห็นชัดครับ

ถ้าไม่เคยมีประสบการณ์ตรง ต้องมีคุณพ่อคุณแม่หรือใครที่ใกล้ชิด จะได้เห็นจากตรงนั้นครับ


พิธีกร : คุณหมอฉันทนาคะ คนเป็นหมอน่ะค่ะบางทีมันไม่ใช่เรื่องแค่ความรู้ความสามารถค่ะ คนเป็นหมอ คุณธรรมจริยธรรม บาปบุญคุณโทษ ทำให้หมอลำบากใจ จากยังมีความเชื่อว่ามันต้องได้อีกสิ แต่ผู้ป่วยเขียนไว้แล้ว มันจะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้มั้ยคะ


พญ.ฉันทนา : มีค่ะ แต่ส่วนใหญ่เราต้องมองสาเหตุ ณ ตอนนั้นว่าสิ่งที่เขาเป็นจะหายไหม แล้วจะฟื้นกลับมาด้วยตัวเองได้รึเปล่า โดยตัวเองเป็นหมอไอซียู เราก็จะรู้ว่าอย่างนี้ บางครั้งเราเป็นหมอตอบไม่ได้ ณ ตอนนั้นเลย อย่างอาจารย์พรเลิศจะพูดเสมอว่าอันนี้จะต้องให้เวลา บางครั้งเปอร์เซ็นต์น้อยๆ เราก็อยากจะมีความหวัง เหมือนการให้โอกาสน่ะค่ะ ทั้งคนไข้และการดูแลรักษาของคุณหมอที่ช่วย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเราบอกข้องมูลอย่างชัดเจนและครบถ้วน ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมกันตัดสิน


พิธีกร : อันนี้คือแบบฟอร์มคร่าวๆ สำหรับคนที่ต้องการจะทำต้องการจะใช้สิทธิ์นี้ ซึ่งตรงนี้เขียนบอกหมดเลยนะคะ ซึ่งวิธีการบรรยายจะว่าง่ายก็ง่ายนะคะ ไม่รู้สึกตัวถาวรหมายความว่าอย่างไร มีอาการสับสนอย่างถาวรหมายความว่าอย่างไร และมีช่องข้างหลังให่ติ๊กเป็นรายการเลยหรอคะ


พญ.ฉันทนา : อันนี้สำหรับคนที่คิดว่าไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร บางคนเขาคิดไม่ออก แต่ว่าถ้ามีให้ติ๊กหรือเมนูแบบนี้บ่อยครั้งที่เขาจะไปได้น่ะค่ะ คือเขาจะนึกออกว่าเขาจะรับบริการอันนี้ ไม่ทำอันนี้ ขอทำอันนี้ อะไรแบบนี้ค่ะ ส่วนใหญ่แล้วกฎกระทรวงบอกว่าให้สถานพยาบาลตรงนี้ ต้องเอื้อให้กับผู้ป่วยไร้ญาติ


พิธีกร : ซึ่งคุณหญิงไม่ได้เขียนในแบบฟอร์มแบบนี้ คุณหญิงเขียนในทางการแพทย์หรอคะ แล้วคุณหมอจะกล้าตีความในสิ่งที่คุณหญิงเขียนหรอคะ


ป้าศรี : ป้าศรีก็ถามคุณหมอพรเลิศว่าถ้าเขียนแบบนี้ คุณหมอก็อ่านและแนะนำว่าต้องเขียนแบบนี้ๆ เพื่อให้คุณหมอที่ดูแลป้าเข้าใจเวลาที่ต้องตัดสินใจน่ะค่ะ


พิธีกร : ที่ป้าศรีเขียนในแบบที่ปรึกษาอาจารย์นะคะหรือในแบบฟอร์มตามที่กฎกระทรวงกำหนดก็ตามนะคะ แต่มันมีไหมคะในทางการแพทย์ แบบเขาเขียนแล้ว ติ๊กไว้แบบนี้ แต่ในทางการแพทย์มันได้อ่ะ มันได้อีก เช่นถ้าผู้ป่วยเป็นคนอดทน ใจสู้ มันไปได้อีก มันมีภาวะแบบนี้มั้ยคะ แล้วมันใช้อะไรคะอาจารย์ ใช้ลายลักษณ์อักษร หรือว่าใช้แววตา แม้กระทั่งใจแพทย์ ใจผู้ป่วย ใช้อะไรก่อนคะ ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจจริงๆ


นพ.พรเลิศ : ต้องมีการปรับบ่อยๆ ครับ อย่างเช่นกรณีการเขียนแบบนี้ เคยมีการสำรวจแบบสอบถาม

คนทั่วไปครับว่า ถ้าเกิดเขากระดูกคอหัก คือเป็นอัมพาตทั้งตัว ขยับไม่ได้เลย แล้วถามว่าเขายังอยากจะมีชีวิตอยู่ไหม จริงๆ คนไม่ถึงครึ่งที่ยังอยากจะมีชีวิตอยู่ เพราะเขาคิดว่าไม่น่าจะอยู่ได้ แต่พอเข้าไปสัมภาษณ์คนที่เป็นอัมพาตจริงๆ น่ะครับที่ขยับแขนขาไม่ได้ ต้องนอนติดเตียงและอยู่บนวิลแชร์ เกินกว่าครึ่งบอกว่ายังอยู่ได้ นั่นหมายถึงว่าคนเราพอเจอเหตุการณ์ร้าย คือมันมีความสามารถในการปรับตัว คนเรามีศักยภาพอยู่ คนแต่ละคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เขาอาจจะยังป่วยมากอยู่ แต่เขารู้สึกว่าชีวิตยังมีคุณค่ายังมีความหมายอยู่ก็มีครับ งั้นเราจะไปตัดสินจากคนนอกไม่ได้ สำคัญว่าต้องเป็นคนคนนั้นเอง เราเคยมีเหตุการณ์ที่นักเรียนแพทย์เล่ามาคือ เขาเจอคนไข้ที่ปอดถุงลมโป่งพอง ปอดพัง คนไข้เหนื่อยมากเลย อยู่ต่างจังหวัดนะครับ หมอบอกว่าจะใส่เครื่องช่วยหายใจ ลูกบอกว่าพ่อสั่งไว้ว่าไม่ให้ใส่ แต่ตอนนั้นพ่อก็หอบเหนื่อยมาก เถียงกันอยู่ซักพักนึง จนพ่อทนไม่ได้ พ่อบอกว่าช่วยหน่อย จะแย่อยู่แล้ว เพราะว่าตรงเหตุการณ์นั้น มันป็นสภาวะที่ยังโชคดีที่ตัวพ่อยังพูดได้ จริงๆ แล้วเราก็ต้องเอาสิ่งที่เป็นปัจจุบันที่สุด ว่าตรงนั้นเกิดอะไรขึ้น


ป้าศรี : ป้าศรีมีหมายเหตุ เขียนว่าขอให้มีการทบทวนเจตจำนงค์ในวาระสุดท้ายของข้าพเจ้า ก่อนที่จะมีการทำหัตถการที่มีความเสี่ยงสูงร่วมกับทีมสุขภาพและครอบครัว เพื่อให้สอดคล้องกับความจริงของสถานภาพทางกาย และหรือใจของข้าพเจ้า ณ ขณะนั้น นี่เป็นการเปิดประตูเอาไว้ หมายเหตุนี้หมายความว่า คุณหมอที่ดูแลและลูกและผู้ใกล้ชิดจะต้องประชุมกัน อันนี้มันเป็นเรื่องที่จำเป็นมากค่ะ คราวนี้เรื่องที่น่าสนใจก็คือว่า ในกรณีของป้าศรีที่เขียนเรื่องผู้ใกล้ชิดที่จะทำการตัดสินใจเนี่ย ป้าศรีไม่ได้ใส่ชื่อลูก ป้าศรีใส่ชื่อคนอื่น เพราะว่าลูกใกล้ชิดเกินไป มันจะลำบากใจเขาถูกมั้ยคะ จะตัดสินใจอะไรก็ตามมัน จะมีความสับสน มีความรักแม่ ถึงแม้จะคุยกันแล้วก็ตาม ป้าศรีระบุผู้ใกล้ชิดที่จะตัดสินใจ

ป้าศรีระบุไว้สามคนตามลำดับถ้าเกิดติดต่อไม่ได้


พิธีกร : แล้วเมื่อไม่ใช่ลูกแล้ว แล้วพอถึงตอนนั้นคนใกล้ชิดจะกล้าตัดสินใจเหรอคะอาจารย์


นพ.พรเลิศ : คือคนใกล้ชิดนี่ตัดสินใจยากมาก อย่างเราที่ได้ดูแลคนไข้ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ของหมอ

หลายคนนะครับ เขาบอกเลยว่าอาจารย์ขาหนูรู้ทุกอย่างว่าโรคเป็นยังไง แต่หนูทำใจไม่ได้ หนูทำใจที่จะปล่อยคุณพ่อคุณแม่ไปไม่ได้ เพราะตรงนั้นมันเป็นสิ่งที่กระทบกับตัวเขาโดยตรง มันเป็นสิ่งที่ยากที่จะตัดสินใจ


พิธีกร : สมมุติว่าผู้ป่วยอยู่ในไอซียูคงไม่ได้ใช้หมอเจ้าของไข้ อาจจะมีหมอผู้เชี่ยวชาญเต็มไปหมดเลยนะคะ เวลาที่เขาจะจากไปคือทุกระบบคุณหมอในทางการแพทย์คือต้องติ๊กพร้อมใจกันหมด หรือการทำงานมันขึ้นกับเจ้าของไข้คนเดียวคะ


พญ.ฉันทนา : ในชีวิตจริงก็เป็นสหสาขาค่ะ คือคุณหมอทุกท่านที่ร่วมดูแลผู้ป่วยรายนี้ รวมทั้งญาติก็คงต้องคุยร่วมกัน ก็คือต้องประชุมครอบครัวรวมทั้งผู้ให้บริการทั้งคุณหมอพยาบาลก็ต้องรวมหัวกันคุยค่ะ ไม่ใช่สิทธิ์ขาดเพราะส่วนใหญ่ในทางการแพทย์มักจะไม่เห็นต่างกันมากว่าคนนี้ มาถึงระยะตอนนี้มันถึงท้ายแล้วหรือยัง อันนี้ค่อนข้างจะวัดกันได้


ป้าศรี : อันที่จริงอยากจะพูดต่อเนื่องกับคุณหมอเพราะว่าทำงานทางด้านนี้ จะได้ยินบ่อยมากจากญาติคนไข้ คือหนูทนไม่ได้เลยที่จะให้ท่านจากไป อันที่สองคือท่านเป็นถึงบุพการีเราไม่ยื้อท่านไว้ ส่วนอันที่สามคือแล้วคนอื่นจะว่ายังไง มันจะมีสามอันเนี่ย คือป้าจะถามกลับเลย คืออันแรกเนี่ยขาดไม่ได้ต้องยื้อให้ถึงที่สุดเลยคือ ใครเป็นคนขาดไม่ได้ ตัวเองใช่มั้ย อันที่สอง จะบาปมั้ย ใครกลัวใครบาป ฉันกลัวฉันบาปใช่มั้ย มันตัวเองทั้งนั้นเลย สามคนอื่นจะว่ายังไง ใครกลัวคนอื่นจะว่ายังไง เพราะฉะนั้นแล้วคำว่ากตัญญูมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ผู้ป่วยนะคะ อะไรถึงจะดีที่สุดกับเขาในตอนนั้น และตอนนั้นเขาจะบอกว่าขอบใจจ้ะถึงแม้ว่าเขาจะพูดไม่ได้ แต่ว่าใกล้ชิดเขามานานใช่ไหมคะเป็นลูกเป็นหลาน รู้สิคะว่าตรงนี้ อะไรที่พ่อแม่จะขอบคุณถึงแม้ว่าจะพูดไม่ได้ก็ตาม มันเป็นศิลปะของความรักนะคะ มันคือความรักนั่นแหละ ที่ตอนนี้จะรู้ว่าอะไรที่คุณพ่อคุณแม่จะขอบคุณเรา มันจะเป็นจังหวะที่จะต้องรู้


พิธีกร : คือที่เราคุยกันมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าต้องเห็นด้วยนะคะ คือต้องทำ ทุกความขัดแย้งกันในทางปฏิบัติก็ยังมีอยู่ค่ะ เดี๋ยวเราจะได้เห็นเสียงสะท้อนมากขึ้น เพราะถ้าถามว่าใหม่ไหม ก็ใหม่พอสมควรนะคะ ถ้าเราจะใช้กันเยอะขึ้น แต่นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งและบังเอิญไปเห็นป้าศรีเตรียมตัวยาวมากและก็ทำกับหลายเครือข่ายก็เลยเชิญมาคุย ส่วนคุณผู้ชมจะตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้อันนี้ ไม่มีใครก้าวล่วงค่ะ อันนี้ตัดสินใจกันเอาเอง แต่อยากจะบอกแค่ว่า มีการคุยกันเรื่องนี้มาหลายปีมาก หมดเวลาของรายการขอบพระคุณทุกท่านค่ะ


 

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page