top of page

ชีวิตก่อนตาย คุณอยากมีความสุข หรือเป็นสุข

มาเรียนรู้การออกแบบความตาย...

เพื่อพบความหมายของการมีชีวิต

กับ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ภาพ: วารินทร์ บุญประสิทธิ์ และภาพของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์




"เราอาจเคยเห็นนานาหลักสูตรคอร์สอบรมที่ระบาดอยู่ในเมืองไทย ...ทำอย่างไรให้รวย? ..ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต? ....อย่างไรถึงจะดูดีเป็นที่น่าชื่นชมแก่ผู้พบเห็น ...และอีกร้อยพันหลักสูตร

มากมายก่ายกอง ที่จะเป็นเข็มทิศนำพาท่านไปพบกับ "ความสุข"...ตามที่คิดฝันกันไป ...บางคอร์สเข้าขั้นแพงถึงแพงมาก หลักหลายๆ หมื่นบาท ก็ยังมีผู้คนแห่เข้าอบรมกันล้นหลาม ..แต่พวกเราๆ ที่เกิดใต้ฟ้า

ลืมตาขึ้นมาเป็นมนุษย์ เคยรู้กันบ้างหรือไม่ อันคำว่า "ความสุข" กับ "เป็นสุข" 2 คำนี้ มีแก่นแท้ความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ...พราะ "ความสุข" มิได้ยั่งยืน และเป็นจริงดังเช่น "เป็นสุข" แล้วถ้าวันนี้มีคนเปิดคอร์สอบรมที่จะเป็นเข็มทิศนำทางคุณไปสู่การ "เป็นสุข" โดยละทิ้งซึ่ง "ความสุข" คุณจะอยากไปอบรมกันไหม? ..."



การได้สนทนาพูดคุยกับ "คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์" หรือ "ป้าศรี" ในวัย 78 ปี เธอบอกกับเราว่า "ป้าศรี" คนนี้ เป็นคนละคนกับ "นางสาวจำนงศรี" เมื่อตอนอายุ 18-22 ปี


"นางสาวจำนงศรี" คนนั้นได้ตายจากร่างกายนี้ไปนานแล้ว และได้ค่อยๆ กำเนิดตัวตนคนใหม่ที่ชื่อ "ป้าศรี" ขึ้นมาแทน


นี่ไม่ใช่เรื่องพิลึกพิลั่นแต่ประการใด เพราะเป็นเรื่องที่สามารถจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ป้าศรีบอกกับเราว่า ความทรงจำเก่าๆ ของคนสูงวัยนั้นไม่มีประโยชน์อะไร ถ้ามันไม่ช่วยให้เราเข้าใจที่จะขอบคุณสิ่งที่เราได้มาจากประสบการณ์นั้นๆ เข้าใจแล้วก็ปล่อยมันไป ไม่ไปติดอยู่กับมัน ไม่ย้อนระลึกถึงมัน ซ้ำๆ ซาก


..."ประสบการณ์จะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง หากไม่มีการเรียนรู้จากตรงนั้น"


นั่นย่อมแน่นอนว่า "ป้าศรี" ในวัย 78 ปี ที่มิใช่แค่ผ่านผระสบการณ์ แต่ยังเรียนรู้ประสบการณ์มามากมาย ย่อมมิใช่ "นางสาวจำนงศรี" คนเดิม


จุดเปลี่ยนที่ทำให้ "นางสาวจำนงศรี" ถูกพับเก็บเอาไว้เพียงความทรงจำ และไม่เคยคิดที่จะนึกถึง ก็คือ "ความทุกข์" ทุกข์เจียนตาย และสิ่งที่ทำให้ "ป้าศรี" คนใหม่กำเนิดขึ้นมาก็คือ "ธรรมะ"


ถ้าคุณคิดว่า คุณทุกข์เหลือเกิน ที่เกิดมาในตระกูลที่ยากจน ไร้ชื่อเสียง เงินทอง ลองมาฟังเรื่องของป้าศรีดู

พราะสัจธรรมของโลก ก็คือ "ทุกข์" ไม่เคยเลือกว่าจะ ยาก ดี มี จน มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ "ทุกข์" ได้เท่าเทียมกัน


"ในช่วงหนึ่งของชีวิต เราเคยทุกข์มากๆ มากจนถึงขั้นที่เรารู้สึกว่า ถ้าไม่ตายก็ต้องเป็นบ้า นั่นเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว แต่จุดนั้นผลักให้เรา ได้ไปฝึกปฏิบัติธรรมหลายต่อหลายครั้งต่อเนื่องกัน และในที่สุดก็ตัดสินใจอยู่ต่อที่สวนโมกข์ ป้าศรีไปอยู่ที่วัดนานถึง 3 เดือน หลังจากนั้นก็กลับมากรุงเทพฯ และก็ไปฝึกปฏิบัติธรรมต่อที่อีสานอีก 3 เดือน"



ธรรมะทำให้ป้าศรี มองเห็น "ความสุข" และ "ความเป็นสุข" ได้ชัดเจนขึ้น จนกระทั่งในที่สุดวันหนึ่ง "ป้าศรี" ก็เริ่มมองเห็น "นางสาวจำนงศรี" กลายเป็นคนละคนกับเธอ


"สมัยสาวๆ ตอนอายุ 18-22 ปี ตอนนั้นเราประกาศตัวเลยว่าไม่มีศาสนา ศาสนาพุทธนี่เป็นอะไรที่ดูหมิ่นดูแคลน แล้วตอนไปเรียนอยู่ต่างประเทศ เราก็ฟังคัมภีร์ไบเบิลทุกวันนะ แต่ทั้ง 2 อย่างเราไม่ยอมรับ

ทั้งคู่ แต่วันนี้พอเราตกผลึกในเรื่องธรรมะ เวลามองย้อนกลับไปตอนนั้น ในช่วงก่อนแต่งงาน เราเหมือนเป็นคนอื่น คนในตอนนั้นกับตอนนี้เป็นคนละคนกันเลย"


หากย้อนกลับไปในสมัย 60-70 ปีที่แล้ว การที่ลูกสาวผู้ดีมีตระกูล จะกระโดดออกมาทำงานโลดโผนอย่างการเป็นนักข่าว ถือว่าเป็นเรื่องแปลก และถูกคัดค้านอย่างหนักจากคนในแวดวง ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

และเสื่อมเสีย แต่นางสาวจำนงศรีคนนั้นกลับกล้าแหกกฎ เรื่องราวของเธอกลายเป็นที่โจษขานด้วยความดื้อรั้นแบบหัวชนฝา เธอใช้เวลาเพียง 3-4 ปี ก็กลายเป็นแฟชั่นให้กับผู้หญิงจากสกุลดีๆ ก้าวออกมาทำงาน

หนังสือพิมพ์กันเป็นทิวแถว


"นึกถึงตอนนั้นมันก็ตลก ตลกแบบสู้ และสู้แบบตลกของเด็กผู้หญิงคนนั้น สู้จริงๆ เพราะโดนสารพัดเลย ฝรั่งโสดเป็นอะไรที่สังคมผู้ดีรับไม่ได้เลย ยิ่งต้องตะลอนๆ ไปไหนมาไหน ยุคนั้นทำงานกับกับช่างกล้อง ก็ยิ่งเป็นที่ครหาไปทั่วเมือง โดนผู้ใหญ่เรียกไปด่าก็มี แต่มันก็สนุกมาก คำว่าสนุกนี่มีทั้งเจ็บปวด ทั้งผิดหวัง ทั้งมันส์มากนะ แม้จะสู้แบบขาดปัญญาอย่างที่คนแก่จะสังเคราะห์จากการประสบการณ์ต่างๆ แต่ถ้าไม่มีตรงนั้น ก็คงไม่มีวันนี้


สำหรับคนแก่ ป้าศรีคิดว่าเราไม่ควรอยู่กับความทรงจำ เพราะว่าปัจจุบันขณะมันใสแหนว มันจริงกว่าอดีตกับอนาคต ที่เล่าความทรงจำในวัยสาว ก็เพราะอยากให้มองเห็นว่า เด็กคนนั้นเป็นคนละคนกับเราแล้ว แต่ขอบคุณเขา ที่บ้าคลั่งได้ถึงขนาดนั้น


...แล้วถามว่าทำไมป้าศรีถึงไม่เชื่อในความทรงจำ ไม่เชื่อเพราะมันคลาดเคลื่อนเสมอ คลาดเคลื่อนเพราะธรรมชาติมนุษย์ของ "ผู้จำ" นี่แหละ ผู้จำจะจำตาม Perception ตามตัวตน จุดยืน และมุมมองของตน คนเรามองอะไรต่ออะไรจาก Perception ของตัวเองแล้วก็เชื่อตามนั้น มันคลาดเคลื่อนแค่ไหน หรือ

ผิดเพี้ยนไปแค่ไหน ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ป้าศรีจึงไม่ยึดติดกับความทรงจำอะไรเท่าไหร่นัก


อะไรเกิดขึ้นกับเราทุกวันนี้ ก็เป็นเรื่องของประสบการณ์ และก็เหมือนที่ป้าบอกนั่นแหละประสบการณ์ใดที่ไม่เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาตน ประสบการณ์นั้นก็สูญเปล่า"



ด้วยวัย 78 ปี กับการศึกษาและปฏิบัติธรรมมานานปี ถึงแม้จะขาดตอนบ้าง ทำให้ป้าศรีได้ค้นพบว่า ผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขและมีความหมาย มักจะเป็นคนที่เข้าใจถึงคุณภาพความคิด คุณภาพความแก่ และคุณภาพการตาย อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง แน่นอนถ้าวัยยังไม่ถึง หรือยังไม่ประสบความทุกข์แสนสาหัส จากวัฎสงสาร เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยตัวเอง ก็ยากที่จะเข้าใจ 3 คุณภาพนี้ได้


"การไปอยู่กับท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ และอุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง การรู้ในตอนนั้น ก็มีผลให้เรารู้ว่า เมื่อเราทุกข์สาหัส เราต้องไปหาขุมทรัพย์ที่ไหน เราตามดูจิตของเรา พัฒนาจิตของเรา

ตลอดเวลา


ป้าศรีเปิดเฟซบุ๊กมา 4 ปี เดิมเป็นพื้นที่ส่วนตัวเล็กๆ คิดว่าคนแก่เราควรใช้เทคโนโลยีและมีสังคมที่นอกเหนือจากคนใกล้ชิดด้วย ก็โพสต์เรื่องของความรู้ความคิดเข้าไป ปรากฎว่ามีคนสนใจเยอะมาก ก็เลย

เปิดแฟนเพจขึ้นมาให้มันกว้างขึ้น เปิดให้คนที่ไม่รู้จักเข้ามา เป็นแฟนเพจชื่อ จำนงศรี หาญเจนลักษณ์ (ป๊าศรี) ขึ้นมา แล้วเอาความรู้ ความเข้าใจ ความคิด รวมทั้งอารมณ์ขันอะไรต่างๆ นานา โดยมี "ผู้ช่วย" ที่เก่งมาช่วยทำให้น่าสนใจขึ้นไปอีก ที่นี้พอจะต้องสรุปว่าแฟนเพจเฟซบุ๊กเรานี้ มันว่าด้วยเรื่องอะไร ก็ขมวดว่า "คุณภาพความคิด คุณภาพความแก่และคุณภาพการตาย" ซึ่งคุณภาพ 3 อย่างนี้ สำคัญนะคะกับความเป็นสุขของชีวิต


สำหรับคุณภาพความคิด ป้าศรีบอกว่าไม่ใช่แค่ "ความคิด" เพราะคิดเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ใดเลย ดังนั้นเวลาใช้คำว่า คุณภาพความคิด ต้องรวมไปถึงการแสวงหาความรู้ ทำความเข้าใจ แล่ะนำมาปฏิบัติเพื่อ "ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านว่างั้นเถอะ"


ส่วนคุณภาพความแก่ของป้าศรีเองนั้น รวมทั้งการไม่ยึดติดกับความทรงจำเก่าๆ ว่าจริงแท้ ไม่เอามันมา

ใช้ตัดสินคุณค่าหรือวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ และให้มันมาเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกับทุกข์สุขในปัจจุบัน

เข้าใจธรรมชาติว่าไม่มีอะไรแน่นอนหรือสมบูรณ์เบบสุขง่ายขึ้น ทุกข์ยากขึ้น พัฒนาจิตตามคำสอนของพระพุทธองค์ ให้สุขเกิดจากข้างในใจของเรา มากกว่าที่จะไปเกาะติดหรืออาศัยสิ่งภายนอก เช่น ลูกหลาน


"ป้าศรีรักลูกแต่ไม่ยึดติดกับเขานะ ไม่คาดหวังว่าเขาจะต้องมาหาเราอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็น เพราะตัวแม่ก็ไม่ใช่คนสม่ำเสมอ (หัวเราะ) และไม่มีคำว่า "ต้อง" สุขกับการมีหลานๆ 6 คน แต่ไม่ได้เจอเขาบ่อยๆ

หรอก พอได้เจอก็ดีมาก ไม่ต้องมีคำว่า "ต้อง" เข้ามาให้มันเป็นกฎ เป็นเกณฑ์"


สำหรับคุณภาพความแก่ รู้ว่าตัวเองก็มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง เป็นความสุข แต่ก็เป็นปัญหา (หัวเราะ) ป้าเสพติดความรู้ เสพติดความรู้อย่างยิ่ง จะหาความรู้จากทุกแห่งที่หาได้ แยกแยะน้อยไป เวลาเราเหลือน้อย เพราะอายุ 78 ปีแล้ว


ทุกวันนี้สนุกกับการศึกษาสัมผัสข้างใน ใช้สติสัมผัสความเป็นไปในกายใจตัวเอง (วิปัสสนา) และสนุกกับศึกษาข้างนอกด้วยว่ามันโยงใยกันยังไง ชอบศึกษาเรื่องของวิทยาศาสตร์ สังคม จิตวิทยา และสนใจที่สุดตอนนี้คือ neuroscience แต่มันชักจะมากไป กลายเป็นเป็นการเสพติดความรู้ ยึดติดความรู้ไป

เสียแล้ว รู้ตัวว่าจะต้องถอยออก จากนิสัยชอบค้นคว้าบ้าง


แต่ตอนนี้ก็บ้าคลั่งติดตามวิจัยต่างๆ ทาง neuroscience เรื่องของระบบประสาทในสมองที่เชื่อมโยงกับการรับรู้ พฤติกรรม และจิตใจ เป็นศาสตร์มาพัฒนากันจริงจังเมื่อสัก 50-60 ปีที่แล้ว ก็เข้าไปค้นอ่าน

ศึกษาเพราะมันก็เกี่ยวกับตัวเรานะ ช่วยให้เห็นชัดเจนว่าทั้งกายใจเรา เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ

ที่เรามาเหมาว่าเป็น "ฉันและของฉัน"


ยิ่งศึกษายิ่งค้นเข้าไปในวิทยาศาสตร์ด้านนี้ ก็ยิ่งมหัศจรรย์ใจในพระปัญญาของพระพุทธองค์ การค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ไม่พบอะไร ที่จะค้านคำสอนพระองค์ท่าน เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วได้เลย"



ป้าศรีบอกว่า "ความสุข" กับ "ความเป็นสุข" นั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่ "มี" ก็ "ไม่มี" ได้ แต่สิ่งที่เรา "เป็น" มันอยู่ในตัวเรา ความสุขที่ได้มาจากสิ่งภายนอกมันก็หายไปได้ ได้มากับเสียไปเป็นคู่กัน ยิ่งหลงความสุขก็ยิ่งทุกข์เมื่อความสุขนั้นหายไป


"ความเป็นสุข พัฒนาได้ ป้าศรีคนนี้กับนางสาวจำนงศรีเมื่อตอนอายุ 18-22 ปี คนนั้น คนนั้นความเป็นสุขไม่มีเลย มีแต่การแสวงสุข มีความสุขเป็นพักๆ สลับกับมีความทุกข์ ส่วนป้าศรีแก่ๆ คนนี้เป็นสุข

กว่าเยอะ การปฏิบัติธรรมมีผลกับพื้นใจ


ความสุขของผู้สูงอายุโดยทั่วไป มักจะเกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ ไม่ใช่ยึดกับความทรงจำ ถ้าจะมองถอยหลังก็อย่าไปจดจ่อกับความทรงจำ แต่มองที่การเรียนรู้และที่ธรรมชาติของมันที่แสดงถึง ความ

ไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปล่งที่มีอยู่ตลอดเวลา ชีวิตมนุษย์มันจำกัด คงสะเปะสะปะสนใจลงลึกไปซะทุกอย่างไม่ได้หรอก


แต่ถามว่างานปัจจุบันของปัาศรี ในเรื่องระยะท้ายของชีวิต มันสะเปะสะปะไหม ไม่นะ เพราะเราทำในสิ่ง

ที่เราและเพื่อนฝูงในอายุรุ่นเดียวกันจะต้องเผชิญในไม่ช้านัก คำว่าเพื่อนฝูงคือเพื่อนร่วมบ้านร่วมเมืองนะ เราอยู่ในจุดที่ต้องสนใจ เป็นงานที่ให้การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้ภายนอกผสานกับเรียนรู้ภายใน "เป็นสุข" มันก็เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ส่วน "มีความสุข" ก็ลดน้อยลง เหมือนสัดส่วนด้านหนึ่งเพิ่ม อีกส่วนก็ลด"



ป้าศรีพูดถึง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่ก่อตั้งร่วมกับ ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ถึงวันนี้ก็ 9 เดือนแล้วที่เริ่มดำเนินการมา


"ชีวามิตร" เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีกฎหมายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และที่ชีวามิตรระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ถือหุ้นจะไม่ได้รับปันผล และไม่ได้ประโยชน์ใดๆ สิ่งที่ "ได้"

มีเพียง "การให้" และความเป็นสุขที่จะเกิดขึ้นจากข้างใน


สำหรับวัตถุประสงค์หลักของชีวามิตร ประกอบด้วย 3 เรื่อง สำคัญคือ


1. ทำงานในด้านการอบรมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การให้ความรู้กับประชาชน สร้างความตระหนักในสิทธิการเตรียมตัวตายดีให้กับสังคมไทยในมิติทางการแพทย์ กฎหมาย และจิตใจ


2. ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เอื้อกับการตายดี การดูแลผู้ป่วยที่บ้านจนกระทั่งสามารถเสียชีวิตในบ้านของตนเองได้ การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกันในโรงพยาบาลได้ ซึ่งในส่วนของการปรับปรุงกฎหมายนั้น ได้แก่ เรื่องของการตายที่บ้านซึ่งไม่ต้องทำการชันสูตรพลิกศพสามารถทำได้หรือไม่ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประกันชีวิต เรื่องของประกันสุขภาพ ซึ่งหากผู้ป่วยมีความต้องการที่จะไปทำการรักษาต่อแล้วจะสามารถรับสิทธิ์ในประกันดังกล่าวได้หรือไม่


3. เป็นหน่วยงานกลางที่คอยประสานงานสร้างเครือข่ายการดูแล ที่เกื้อกูลระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจที่ต้องการให้บริการความช่วยเหลือ หรือบริจาคค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย

การบริจาคอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย สร้างองค์ความรู้ อบรมแพทย์ ทำการวิจัย

บุคคลากร และอาสาสมัคร หรือร่วมทุนกับบริษัทที่สนใจต้องการคืนกำไรสู่สังคม ในรูปแบบของกิจกรรม CSR ในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย


ป้าศรีบอกว่า คุณภาพความคิด คุณภาพความแก่ ได้พูดไปแล้ว ส่วนคุณภาพความตาย อยากให้ทุกคนได้มาอบรมกับชีวามิตรสักครั้ง เป็นการอบรมที่เก็บรายได้ แต่ไม่ใช่เพื่อความร่ำรวย แต่เพื่อให้มีเงินทุนในการจ้างบุคลากร เนื่องจากแผนการขยายงานไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ จำเป็นต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก



หลักสูตรอบรมชีวามิตรจะเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง การออกแบบความตายเพื่อพบความหมายของการมีชีวิต ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมทั้งผู้ที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีสู่ความตายอันสงบสำหรับตนเองและคนที่รัก


ผู้อบรมจะได้ร่วมเรียนรู้การเขียน Living Will หรือหนังสือแสดงเจตนารมณ์ความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต การดูความเจ็บปวดทางกายและใจของผู้ป่วยระยะท้าย การรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ เรียนรู้ พูดคุยเพื่อวางแผนการดูแลล่วงหน้าอย่างเป็นมิตร รวมถึงการยอมรับตนเองและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง


"วันนี้การทำงานของป้าศรี ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว คือจริงๆ ไม่ได้ปฏิบัติในเชิงที่ว่านั่งสมาธิทุกวัน แต่ในการทำงานเรื่องความตาย มันทำให้กลับมาเห็นกระบวนการของร่างกาย

และจิตใจตัวเอง เห็นมากขึ้นทุกที อย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ ความไม่แน่นอนของทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะงานที่เราทำบ่อยครั้งก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนที่ป่วยกะทันหัน ตายอย่างกะทันหัน มันทำให้เห็นเลยว่า

เราไม่รู้ว่านาทีหน้า อะไรจะเกิดขึ้น การทำงานนี้กับธรรมะสำหรับป้าศรีมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย"


ถ้าเปรียบภาครัฐ และภาคการแพทย์การพยาบาลเป็นภาค Supply ส่วนประชาชนเป็นภาค Demand เป็นเรื่องของอุปสงค์กับอุปาทาน ขณะนี้เรื่องผู้สูงอายุ เรื่องการดูแลอย่างประคับประคอง เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (End oflife care) กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบ้านเรา แต่หมอที่ดูแลเรื่องนี้กลับยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เจตนารมณ์ของเราก็คือให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งมันมีทั้งส่วนของการดูแล และส่วนของการที่เราเป็นญาติมิตรสนิทด้วย ที่อาจไม่ได้ดูแล แต่อาจมีผลทางจิตใจ"


ป้าศรีบอกว่าตอนนี้ชีวามิตร อยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างให้สมบูรณ์ และเตรียมออกหลักสูตรอบรมต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่ให้เข้มข้นมากขึ้นด้วย


"เรามีหลักสูตรหนึ่งที่จะไปทำการอบรม ส่วนหนึ่งเพื่อหาเงินแต่เรื่องหลักคือการให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องชีวิตระยะท้ายเท่าที่จะให้ได้ กับพนักงานองค์กรใหญ่ๆ เราทำได้ไม่เกินครั้งละ 40 คน เราทำกับ

ธนาคารกสิกรไทยไปแล้ว 30 กว่าคน ตอนนี้เขากำลังบอกให้เราเตรียมเข้าไปอีก แสดงว่าเจ้าหน้าที่เขาพอใจมาก แต่ว่าตอนนั้นเราทำสั้นไปทำแค่วันเดียว ยังไม่ได้อะไรมาก ครั้งนี้คอร์สเราจะขอทำ 2 วัน

อาจเข้าไปต่อเนื่อง หรืออาจให้เขาไปอยู่กับเราเลยที่ต่างจังหวัด 2 วัน ถ้าเข้มข้นอย่างน้อยๆ ก็ต้อง 5-6 วัน


ก็อยากเชิญชวนองค์กรไหนอยากให้เราเข้าไปจัดอบรมก็บอกได้ เป็นการทำ CSR ของบริษัท เพราะส่วนหนึ่งก็จะเป็นรายได้ที่เราจะนำมาเลี้ยงดูพนักงานของเรา เพราะเรามีวิทยากรทั้งแพทย์ ทั้งนักกฎหมาย

พยาบาล และพวกศิลปะบำบัด รวมถึงใครอยากเข้ามาเป็นผู้ร่วมถือหุ้นในบริษัทชีวามิตรฯ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง"



ก่อนจากกัน ป้าศรีได้ฝากบอกถึงผู้สูงอายุเป็นแนวคิดไว้ว่า วัยนี้ต้องแสวงหาความเป็นสุขร่วมกับกัลยาณมิตร ป้าศรีบอกว่าเธอได้ความคิดนี้มาจาก หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระภิกษุชาวเวียดนาม ผู้นำเสนอความคิดพุทธศาสนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และพุทธธรรมเป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตยุคปัจจุบันได้ (Engage Buddhism)


"คนแก่เท่าที่เราคุย เขาไม่ได้มีความสุขกับเพื่อนฝูงของเขามากนัก เพราะความเข้าใจ ความสนใจ

ไม่ตรงกัน แต่อยู่กันเพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นบ้าง เพื่อนบ้านบ้าง


ครั้งหนึ่ง หลวงปูติช นัท ฮันห์ ได้มาประเทศไทยเป็นครั้งแรก ท่านมาพักอยู่ที่บ้านป้าศรีที่เชียงใหม่โดยบังเอิญ ป้ารู้สึกเป็นบุญมหาศาล เพราะท่านมากับสังฆะถึง 80 รูป บ้านป้ารับได้ไม่หมดหรอก แต่ขอยืมบ้านที่อยู่บริเวณรอบๆ และมีบ้านป้าศรีเป็นศูนย์กลาง


หลวงปู่ท่านบอกกับเราว่า กัลยาณมิตรในการปฏิบัติธรรมในการเดินไปสู่จุดสุดท้าย จุดสูงสุดมันต้องมีเพื่อน ควรตั้งเป็นกลุ่มกัลยาณมิตรไม่ต้องใหญ่นัก สัก 6-7 คน แล้วพบกันอย่างสม่ำเสมอ โดยที่การพูดคุย

ให้มันกลมกลืนกัน ที่เป็นเรื่องของคุณภาพจิต เรื่องของการปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติสายเดียวกัน แค่เป็นเพื่อน คุยกันสนุกก็พอ


ตอนนี้ป้ามีกลุ่มสาละสังฆะประมาณ 8-9 คน สบายๆ มาได้ก็มา ใครมาไม่ได้ก็ไม่มา พยายามนัดพบกันเดือนละหน เป็นคนแก่ดูแลคนแก่ การพูดคุยกันในเรื่องเดียวกันทำให้เราเห็นว่าชีวิตคนเราไม่ราบรื่น

ตลอดไปหรอก เวลามานั่งอยู่ด้วยกัน มันมีความสงบ เยือกเย็น มีความสนุก มีอารมณ์ขัน


ป้าอยากให้ผู้สูงอายุทุกคนมีกลุ่มแบบนี้ด้วย เราจะเห็นเลยว่าทุกข์จะมา แล้วมันจะผ่านไป ก็มาคุยกัน รู้ใจกัน ไม่ต้องพึ่งลูกเท่าไหร่ เพราะลูกเป็นอีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง Perception การมองเห็น และความเข้าใจเขาเป็น Perception หนึ่ง เขาเข้าใจในฐานะลูกหลาน ไม่ได้เข้าใจในฐานะคนแก่ อีกอย่างป้าพบว่าคนแก่มีทุกข์ เพราะติดลูกจำนวนหนึ่ง เขาไม่มาหา เขาไม่รักฉัน ทำไมเขารักเมียมากกว่า สิ่งนี้เราพบในคนแก่จำนวนไม่น้อย ทำไมเขาไม่พาหลานมาหา นี่ 2 อาทิตย์แล้วอะไรแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วจุดสุดท้ายที่เราต้องไปของชีวิต เราไปคนเดียวนะ ถ้าเราไม่ฝึกที่จะเป็นเพื่อนของตัวเอง เราจะทุกข์เพราะเพื่อนคนนี้ที่มันจะสูญเสียทุกอย่างพร้อมกับเรา สูญเสียทั้งร่าง ทั้งความสัมพันธ์ต่างๆ ทรัพย์สินที่มีอยู่ มันสูญด้วยกัน เราจะไม่เป็นสุขกับเพื่อนคนนี้ของเราเหรอ แล้ววงของเพื่อนคนนี้ ก็คือคนที่อาจจะอยู่อีกไม่นานเหมือนเรา ไม่รู้คนไหนจะไปก่อน แล้วเข้าใจตรงนี้เหมือนเรา เพราะกัลยาณมิตรที่พูดถึงต้องมีอายุพอสมควรนะ ถ้ายังมีลูกที่ต้องดูแลอยู่ จะยังมาถึงตรงนี้ลำบาก ก็อยากฝากให้ผู้สูงอายุทุกคนได้คิด"


สำหรับองค์กรที่ต้องการทำ CSR ด้วยการจัดอบรมหลักสูตรชีวามิตรให้พนักงาน ค้นหาความเป็นสุข ด้วยการออกแบบความตาย เพื่อค้นความหมายของชีวิต สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 089-816-3116 หรือ

Line Id : cheevamitr


อย่ารอให้ทุกข์นั้นมาถึง โดยไม่ได้เตรียมการใดๆ โดยเฉพาะทุกข์ที่มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน



ประวัติชีวิต


คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ (ป้าศรี)

  • เกิดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2482 (ค.ศ. 1939)

  • เรียนระดับประถมที่โรงเรียนราชินี (ล่าง) ระดับมัธยมที่ประเทศอังกฤษ

  • อายุ 18 ปี เป็นผู้สื่อข่าว/คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ

  • แต่งงานเมื่ออายุ 23 ปี จากนั้นจึงได้ช่วยสามี นายแพทย์อุทัย รัตนิน(ปัจจุบันถึงแก่กรรม) ก่อตั้ง โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน ถนนอโศกมนตรี กทม.

  • อายุ 24 ปี เป็นกรรมการก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ภายใต้การนำของ หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยานับเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆในเวลาต่อมา

  • อายุ 38 ปี ได้เข้าเรียนคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนจบระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 1)

  • เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ติยจุลจอมเกล้า พ.ศ.2540

  • ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2546

  • ปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พ.ศ.2555

  • ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2557

  • เคยจัดรายการ Voices and Ways of Thai Literature ให้วิทยุแห่งประเทศไทย ภาคภาษาอังกฤษ, ผลิตสารคดี วีดิทัศน์ และเขียนบทภาพยนตร์ เป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิเรือนร่มเย็น ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อช่วยเหลือและให้การศึกษาเด็กหญิงในกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงและยาเสพติดในภาคเหนือ และมูลนิธิอุทัย รัตนิน เพื่อสนับสนุนวิทยาการด้านจักษุวิทยา

  • มีผลงานหลากหลายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ด้านกวีนิพนธ์ นิทาน บทความ เรื่องสั้น บทละคร และหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ เช่น On the White Empty Page ดุจนาวากลางมหาสมุทร

  • นอกจากนั้นยังมีงานวิจารณ์วรรณกรรม ศิลปะ และภาพยนตร์ ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ และงานแปลวรรณคดีไทยและวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย เป็นภาษาอังกฤษ เช่น"กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง" รวมทั้งการศึกษาปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ทำให้มีงานเขียนเชิงธรรมะ อย่างเช่น "ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง" ทำงานร่วมกัน คีตกวี ดนู ฮันตระกูลนำนิทานและกวีนิพนธ์หลายบทไปประพันธ์เป็นเพลงสำหรับวงออร์เคสตรา ส่วนศิลปินผ้าทอ สมรรถ คุ้มสุวรรณได้ทอผ้ามัดหมี่เป็นภาพประกอบนิทาน เรื่องเจ้าแสดแปดขา

  • นอกจากงานเขียนแล้ว ยังมีผลงานการแปลวรรณคดีไทยและวรรณกรรมร่วมสมัยเป็นภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมาก

  • "เจ้าแสดแปดขา" ได้รับรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ.2543 รวม 2 รางวัล

  • ส่วนบทละครเรื่องสิ้นแสงตะวัน ได้รับรางวัลวรรณกรรม มูลนิธิ John A.Eakin w.ศ.2525

  • ปัจจุบันเป็นเจ้าภาพจัดการปฏิบัติธรรมที่บ้านน้ำสาน จังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "วิถีความตายอย่างสงบ" โดยพระใพศาล วิสาโล และร่วมรณรงค์เกี่ยวกับความแก่ และความตายอย่างมีคุณภาพ

  • ประธานกรรมการ บริษัท แพทย์รัตนิน จำกัด (โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน)

  • กรรมการคณะกรรมการนโยบายศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

  • ที่ปรึกษาอาวุโส (ผู้ร่วมริเริ่ม) โครงการดูภาพยนตร์ผู้สูงอายุ ศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

  • เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดตั้งบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อคุณภาพการดูแลชีวิตระยะสุดท้ายและการตายดี โดยเน้นเผยแพร่ความรู้ผ่านงานวิจัย คอร์สอบรม รวมทั้งรณรงค์และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายให้เกิดระบบฮอสพิสที่มีมาตรฐานในประเทศไทย

  • ด้านครอบครัว มีบุตรธิดา รวม 4 คน และหลานย่า หลานยาย รวม 6 คน ปัจจุบันแต่งงานใหม่กับ ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์

 

จาก: คอลัมน์ อยู่ดีมีสไตล์ นิตยสาร Home and living Volum 4 No.43 September 2012

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page