top of page

ม.12 สิทธิที่จะขอตายตามธรรมชาติ




ภาพถ่ายโดยคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



สัมภาษณ์พิเศษ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้รณรงค์เกี่ยวกับความแก่และความตายอย่างมีคุณภาพ


พิธีกร : ทำไมป้าศรีถึงได้เขียนหนังสือแสดงเจตนาในวาระท้ายของชีวิตขึ้นมาคะ?


ป้าศรี : ก็เพราะบางช่วงชีวิตสุดท้ายของเรานี่นะคะ ให้มันเป็นไปอย่างสงบและมีความวิตกกังวลน้อยที่สุด เราบอกเจตนาของเราเลยว่า เราต้องการอะไร อีกเรื่องนึงคือว่า เวลาเขียนเราให้ลูกเป็นพยานทุกคนนะคะ อันนี้มันเหมือนกับว่าไม่ฝากภาระไว้กับลูกค่ะ ว่าเขาจะต้องตัดสินใจ เมื่อเราถึงเวลาของเรานะคะ เขาทำตามนี้ ขอให้แพทย์ทำตามนี้ ความรับผิดชอบอยู่ที่เราเอง


พิธีกร : ในแง่ของความกตัญญู คุณหญิงมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างคะ?


ป้าศรี : คือจริงๆ แล้วเรื่องของกตัญญู ป้าศรีพูดอยู่เสมอว่าคำว่ากตัญญูนี่ มันมาแทนอะไรเกี่ยวกับ

ความต้องการส่วนตัวของลูกหรือญาติก็เป็นได้ อย่างเช่น ทนไม่ได้ที่จะให้แม่จากไปนะคะ ไอ้ทนไม่ได้นี่

ใครทนไม่ได้ ลูกทนไม่ได้ แล้วจะบอกว่าเป็นกตัญญูหรือไม่ ฉันให้แม่ฉันจากไปไม่ได้ ฉันทนไม่ไหว จริงๆ แล้วมันเห็นแก่ตัวฉันมากกว่า ความกตัญญูกับแม่ใช่ไหมคะ หรือฉันจะบาปไหมนี่ กลัวใครบาป กลัวตัวเองบาปใช่ไหม ไม่ได้มองที่ตัวแม่หรือพ่อ อันที่สามแล้ว 'เขา' จะว่ายังไงที่เราปล่อยแม่ไปอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นห่วงตัวเองอีก ดิฉันอยากให้ลูกหลานได้มองเข้าไปในใจตัวเอง เมื่อแม่ถึงช่วงสุดท้าย แล้วแม่แสดงเจตนาอย่างนี้ เขาจะได้เห็นว่าแม่ต้องการอย่างนี้ ถ้าเขาเกรงสามข้อนี้ ไม่ต้องคิดได้เลย ความกตัญญูจริงๆ คืออะไร ก็ตามที่แม่จะบอกว่า ลูกจ๋าขอบคุณนะจ๊ะที่ลูกทำอย่างนี้ ทีนี้เจตนานี้เป็นของแม่ ถ้าลูกทำตามนี้

แม่จะขอบคุณมากเลย นี่คือกตัญญู


พิธีกร : อยากให้คุณหญิงฝากข้อคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ความสุขที่แท้จริงของชีวิตว่าเป็นอย่างไรคะ?


ป้าศรี : ป้ามองว่ากระบวนการของการมีชีวิต มันมีจุดเกิดและมันดำเนินไปและมันก็มีจุดจบ สำหรับป้าๆเห็นว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ใช่เรียนรู้ที่จะเอา แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเป็นสุขได้กับตัวเองสำคัญที่สุด แล้วก็กับคนรอบข้างกับสังคมกับโลก แน่นอนชีวิตมนุษย์น่ะมีปัญหาและทุกข์มันมาเป็นคลื่นๆ เรามองมันอย่างไร ว่าเราเรียนรู้จากมันอย่างไร เรารับมือกับมันอย่างไร จริงๆ แล้ว การรับมือ คือการยอมรับและการทำดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ รวมถึงความตายก็เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องของการเรียนรู้และยอมรับ หรือรับมือกับมัน ที่ดีที่สุดก็คือการยอมรับมันนะคะ


แล้วในฐานะชาวพุทธ จิตสุดท้ายคือจิตที่สำคัญที่สุดเลย เพราะว่ามันเป็นเหตุ ที่จะมีผลตามกันมานะคะ เหตุ ปัจจัย ผล ป้าคิดว่ามันไม่ใช่ไปทำตอนแก่ก่อนตายหรอก มันต้องทำทุกวันไปจนถึงจุดนั้น และเมื่อถึงจุดนั้น การยอมรับด้วยจิตที่เป็นธรรมชาติ ของการใสของจิต การไม่ปรุง คงป็นสิ่งที่ดีที่สุด ป้าไม่ทราบว่าป้าจะทำได้หรือเปล่า แต่ก็ต้องยอมรับ ส่วนว่าจะทำได้หรือเปล่า ก็ไม่รู้ค่ะ

 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (10-12 มิ.ย 2558 )

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page