top of page

การดูแลคนไข้ระยะท้าย


ภาพถ่ายโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นำเสนอใน จิตตปัญญา เสวนา


"ก่อนอื่นจะต้องเริ่มจากการเล่าว่า ทำไมครูไปไล่ซื้อที่ดินนะคะ เพื่อจะมาให้มหาลัยมหิดลทำที่ฮอสปิซ

แห่งแรกของประเทศไทย ตอนนี้เข้าใจว่าลงมติ ครม. อยู่ อาจารย์รัชตะบอกว่าขณะนี้มันผ่าน ครม. แล้ว และอยู่ในมือเลขา


ทำไมมาถึงจุดนี้ได้ ครูจะบอกว่าตอนแรกครูไม่รู้จักอาจารย์รัชตะเลย ตั้งแต่เด็กมาครูสนใจเรื่องความตาย เพราะแม่ครูตายตั้งแต่ครู 2 ขวบกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องของคำถามแม่หนูอยู่ไหนจ๊ะ ตายแล้วค่ะ คำนี้มันติดปาก จะบอกว่าเป็นลบ ก็ใช่สิ เด็กโตมาไม่มีแม่ มันทำให้เรารู้เลยว่าเราอยู่กับความเหงายังไง และก็เป็นเด็กที่เรียนเลวมากเลย ตกจนกระทั่งครูเค้าไม่อยากจะเก็บเอาไว้ เขาเตะขึ้นชั้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราอยู่แต่กับของจริงของข้างใน เรื่องตายมันอยู่กับครูมาเรื่อย พอเห็นหมาตัวเล็กๆ ตาย คือตอนนั้นเด็กมากเลย นั่งดูมันแล้วคิด จนเกิดปัญญาบางอย่าง นั่นคือเชื้อต่างๆ ที่ครูเชื่อว่าสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของมหิดลนี่เกิดแน่


ครูเคยเห็นเคสนึง คนอายุ 99 ปี ผ่าตัดนิ่ว เป็นคนที่ใกล้ชิดครู สองแขนนี่มัดกับเตียง มีสายระโยงระยางตลอด 1 เดือน ทุกครั้งที่ครูเข้าไปเยี่ยม ท่านจะมองแล้วร้องไห้ คอเนี่ยเป็นแผลหมดแล้วเพราะต้องเจาะคอ สิ่งที่ครูทำ หลายๆ คนอาจจะบอกว่าบาป ครูพูดกับลูกเค้า ได้มั้ยให้คุณพ่อไปเถอะ ลูกทุกคนเงียบ

ไม่ขานรับ ครูทราบว่าทุกคนกลัวบาป ครูเลยพูดกับหมอว่าครูพูดกับลูกโอเคหมดแล้ว เพราะเขาไม่ได้ขาน คุณหมอบอกว่าผมทำไม่ได้ แต่ขณะที่คุณหมอออกไป คุณหมอเดินสวนกับหมออีกคนหนึ่งที่ดูแลคนไข้คนนี้เหมือนกันแต่ไม่ใช่เจ้าของไข้ คุณหมอคนที่สองตอบว่าถ้าเป็นพ่อผม ผมปล่อย คุณหมอคนแรกถึงได้ยอมทำตาม เคสนี้จะถามว่าเป็นแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหม ใช่เลย


มีอีกเคสนึงที่บันดาลใจเหมือนกัน คือเคสของคุณอาตัวเอง ท่านไม่มีลูก เป็นเคสที่ครูรู้สึกสำนึกผิด มาจนทุกวันนี้ เพราะว่าเราอยู่ รพ. เดียวกันแต่เวลาไม่ตรงกัน ตอนนั้นพวกเราอายุซักประมาณ 40 แล้ว พวกเราวุ่นวายกับงาน วุ่นวายกับตัวเอง กับครอบครัว กับชีวิต มันไม่ได้เข้าไปนั่งเฝ้าท่าน แต่ว่าเข้าไปทีไร คือมันจะมีตาที่ตัดพ้อ คือมันมีผลกับเราอย่างยิ่ง แต่เราก็อุตริไปเฝ้าสม่ำเสมอ นี่กำลังพูดถึงผลที่กระทบกับทั้งคนอยู่และคนไป เคสนี้ท่านค่อยๆ ไป มันถึงจุดหนึ่งที่บางครั้งพลิกตัวขึ้นนี่กระดูกหัก และไม่ใช่หนเดียวมันหลายหนมาก


ครูพูดกับแพทย์ที่ดูแลว่าปล่อยท่านไปได้ไหม คำตอบคือท่านไม่ได้แสดงอะไรว่าท่านอยากจะจบ ตอนที่พูดคุณอาสมองไปแล้ว แต่เจ็บน่ะเจ็บ เพราะเราเห็นจากหน้าเวลาพลิก อันนี้เป็นคำถามอย่างยิ่งเลย แล้วต่อปี นี่ 6 ปี ปีละกี่ล้าน เงินกี่ล้านนี้ ไปช่วยชาวบ้านได้อีกเท่าไหร่ ในรพ.เอกชนพื้นที่การรักษา ในเรื่องของยา บุคลากร เครื่องมือ เป็นเงินเท่าไหร่ ครูถามพี่ชายว่าเรารับผิดชอบนะปล่อยอาไป พี่ชายก็เห็นด้วยนะ แต่เราไม่ใช่หลานคนเดียว และเราเป็นผู้รับมรดก ถึงจะไม่มากมาย แล้วเขาจะคิดยังไง อันนี้ครูคิดเลยว่าใคร ตัวกู ในฐานะผู้ปฏิบัติธรรม จริงๆ แล้วเราแคร์กับใคร เราแคร์กับตัวฉัน อันนี้เป็นการเรียนรู้เยอะมากที่ได้กับเรื่องนี้


เคสอีกเคสหนึ่งที่ประทับใจมาก เป็นยายของแม่บ้านที่ทำงานที่บ้าน เป็นคนจนอยู่อุบล แม่บ้านไปเยี่ยมแล้วกลับ เขาเป็นหลาน เขาบอกว่ายายตายแล้ว ครูถามว่าตายยังไง เค้าบอกว่ายายก็แก่ลง แล้วก็เดินไม่ไหว แล้วยายก็นอน ลูกหลานก็อยู่รอบๆ แล้วยายก็หยุดกิน กินน้อยลงๆ แต่ยังคุย ลูกหลานก็ยังมาเล่นอยู่ แล้วยายก็หยุด แล้วไม่กี่วันยายก็หลับไป มันต่างกันมากเหลือเกิน สิ่งเหล่านี้จะพูดว่าเป็นแรงบันดาลใจได้อย่างดี


อีกเรื่องเกิดจากพระสงฆ์ วันหนึ่งท่านอาจารย์ชยสาโร ท่านอาจารย์เป็นพระสงฆ์ชาวอังกฤษสายหลวงพ่อชา ทุกปีที่บ้านป้าศรีที่เชียงใหม่ข้างๆ บ้านจะมีบ้านที่เรียกว่า "พอ" สร้างไว้เพื่อเป็นสถานปฏิบัติธรรมสำหรับอาจารย์ชยสาโร คนจะเข้าปฏิบัติเนี่ยประมาณ 130-140 คน วันหนึ่งท่านมาและคุยกับครูว่าท่านเพิ่งกลับจากอังกฤษ พ่อท่านเพิ่งตาย ท่านไปอยู่ด้วยมีความสบายใจมากเลย การดูแลทุกอย่างทางด้านกายใจ แล้วทำไมประเทศไทย ประเทศพุทธไม่มีฮอสปิช อันนี้ล่ะคือจุดเริ่มต้น ครูก็คิดว่าเรามีที่ดินอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีอยู่ 5 ไร่ ท่านแนะนำให้ไปหาพระอาจารย์ไพศาลวิสาโล ครูก็ไปหาท่าน ท่านเมตตามาทำคอร์สที่ประสานกันทั้งทางด้านกิจกรรมทางจิตวิทยา ทั้งทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านการเข้าถึงความสงบภายในตัวเอง ท่านทำมาให้แล้ว 5 ปี ทุกปีสาระจะเพิ่มขึ้น และตอนจบเราต้องไปทำงานกับคนไข้ระยะท้าย


ประเทศที่ฮอสปิซอันดับหนึ่งเลยคือประเทศอังกฤษ เขาเป็นต้นแบบ ที่อังกฤษฮอสปิซทำงานง่ายมาก เพราะมีจีพีทั่วประเทศเลยและอีกอย่างหนึ่งคือเนชั่นแนลเฮลท์ของเขาคือฟรีหมด สเปเชียลลิสต์(แพทย์เฉพาะทาง)ของเค้าเนี่ยน้อยกว่าจีพี(GP: General Practitioner แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัว)มาก เพราะฉะนั้นประชาชนของอังกฤษ ทุกครอบครัวจะมีจีพีที่รู้จักเค้า รู้จักญาติเค้า รู้จักอารมณ์เค้า รู้จักความเชื่อเค้า เพราะฉะนั้นแล้วเนี่ย งานฮอสปิซจริงๆ แล้ว หลักคือไม่ใช่เอาคนไข้เข้ามาตาย หลักก็คือมีทีมเข้าไปเตรียมการให้คนไข้ตายที่บ้านโดยที่จีพีเป็นตัวโยง


ประเทศไทยเราตามอเมริกันคือเรามีแต่สเปเชียลลิสต์ ที่เราขาดมากเลยคือเวชศาสตร์ครอบครัว ไปเช็คดูว่าทำไม ปรากฏว่าประเทศไทยไม่มีข้อมูล แสดงว่าเราไม่สนใจเลยทั้งๆ ที่เราเป็นประเทศพุทธ ที่อเมริกาคนไข้กับอาสาสมัครเข้ากันได้ดีอย่างมาก ไม่ว่าจะพลิกคนไข้ ไม่ว่าจะนั่งอยู่กับคนไข้ บางทีคนไข้ไม่เปิดใจกับแพทย์กับพยาบาลเพราะว่าเป็นโปรเฟชชันแนล แต่อาสาสมัครก็คือคนคนหนึ่งที่มานั่งฟังเขา มานั่งจับมือเขา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ออกมาจากคนไข้มาหาตัวอาสาสมัคร ก็คือจิตใจ ความรู้สึกที่แท้จริง มันไหลออกมา อาสาสมัครเหล่านี้คุยไปคุยมา เบสิคนี่มาทางพุทธหมดเลย ทั้งๆ ที่เขาเป็นคริสต์กัน ทีนี้เราไม่มาแยกกันเรื่องของศาสนา เรามาพูดกันเรื่องจิตวิญญาณ ที่มันจับต้องไม่ได้ แต่เวลาไปคุยกับอาสาสมัครทุกแห่งนคะ ในประเทศที่ฮอสปิซเขาแน่นหนาแล้วนะคะ ที่สำคัญอาจจะที่สุด คือเรื่องของ จิตตปัญญา


เมื่อเด็กๆ ครูเป็นคนที่ไปเรียนเก่งที่เมืองนอก แล้วพอการเรียนเก่ง มันไม่ดีอย่างยิ่งอยู่อย่างนึง มันทำให้

เราคิด เราเชื่อในเหตุและผล และเราคิดว่าเราเก่ง แล้วเรากลับมาประเทศไทย เรากลับมาด้วยคำพูดว่า

เราไม่มีศาสนา เพราะมันเป็นความงมงาย อะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ เป็นอย่างนั้นจนกระทั่งอายุเกือบ 30

เวลานี้มองกลับไปตรงนั้น บอกได้เลย พวกคนฉลาดนี่มันโง่สิ้นดี เพราะอะไร เพราะมันจะเอาในสิ่งที่จับต้องได้เท่านั้น ถามอย่างเดียวกันว่า ร่างกายเรานี่จับต้องได้มั้ย แต่ไอ้ตัวที่มันรับรู้ ที่มันมีโลกของมัน

คืออะไร


จริงๆ แล้วโลกทั้งโลก มันมีประตูอยู่แค่ 6 อย่าง ตา หู กลิ่น รส กาย ใจ แต่เราสร้างขึ้นมามากเลย ความเบื่อ ความรัก แล้วความตายล่ะ อย่างน้อยทวารทางกายหายหมด ถูกมั้ยคะ น่าสนใจ ถ้าเราจะพูดว่าเราจะดูแลผู้ป่วยระยะท้าย คนที่เขากำลังจะตาย เขาไม่ใช่คนที่กำลังจะตาย เขาคือคนที่มีโลกที่เหมือนกันกับเรานี่แหละ เพียงแต่ว่า เนื้อหามันต่างไปเท่านั้นเอง ทีนี้ถ้าเราจะอยู่กับใคร หรือดูแลใคร โดยเฉพาะในช่วงที่เขาเต็มไปด้วยความกลัว ความเจ็บ ในฐานะฉันเป็นคนไปดูแลเขา นั่นไม่ใช่มิติจิตวิญญาณ ซึ่งสำคัญมากเลย


เพราะฉะนั้นแล้ว รู้จักตัวเองเสียก่อน เราต้องเข้าไปรับรู้ธรรมชาติของความรู้สึกของตัวเอง พื้นฐานจริงๆ ที่มันไม่มีอะไรเข้ามาเจือปน คือความโกรธ ความเบื่อ หรือความคิดต่างๆ บังเอิญเหลือเกิน เราชินกับความคิด ความคาดหวัง แล้วการต่อยอดเป็นความผิดหวัง สมหวัง ที่มันทำให้ชีวิตเราเต็มไปหมด กับการที่จะมาบดบังในสิ่งที่เราจะสัมผัสตัวตนพื้นฐานของการมีชีวิต เราพูดถึงชีวิตแล้วเราจะไม่พูดถึงความตายไม่ได้


เจ. เค. โรว์ลิง เป็นนักเขียนที่ครูชอบมากเลย ครูอ่านแฮรี่ พอตเตอร์ทุกเล่ม คำนึงที่ เจ. เค. โรว์ลิง พูดก็คือว่า สำหรับจิตที่ฝึกแล้ว ความตายเป็นเพียงแค่การผจญภัยครั้งใหญ่ครั้งต่อไป พอได้ฟังครูก็เขียนลงใน

เฟซบุ๊กว่าที่จริงแล้วชีวิตมันก็เหมือนไส้แซนวิซ และตัวไส้แซนวิซมันประกบด้วยการผจญภัยครั้งแรกและครั้งต่อไป เพราะฉะนั้นตรงกลางคือไส้ เรากินแต่ไส้มันก็ไม่อร่อยมันต้องกินหมด ครูก็เลยเขียนว่าฉัน

ก็ไม่รู้ว่าฉันเตรียมตัวยังไงนะ สำหรับการผจญภัยครั้งแรก ไม่รู้ว่าเตรียมรึเปล่า แต่การผจญภัยครั้งหลัง

คงเตรียม แล้วชีวิตนี่ มันขึ้นอยู่กับสองอย่าง อยากให้มองการเกิดชีวิตและความตายเป็นอันเดียวกัน

ใครก็ตามที่ดูแลคนไข้ ต้องดูใจตัวเองด้วย มันเป็นกระบวนการการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ


 

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page