top of page

ป้าศรี กับพินัยกรรมชีวิต


พินัยกรรมชีวิตของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์เป็นตัวอย่างแรกๆ ของพินัยกรรมชีวิต ที่องค์กรด้านสุขภาพนำมาเป็นตัวอย่าง ใช้สื่อสารกับสังคมเพื่อแสดงถึงความสำคัญของการแสดงเจตนา

ไม่รับการรักษาที่เป็นการยื้อชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวตายอย่างสงบ


ป้าศรีเล่าว่า “เคยคิดออกแบบความตายว่า จะไม่ปั๊มหัวใจ ต่อมาตอนที่ตั้ง ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม เราก็มี เยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นเครือข่ายเยี่ยมตามบ้านเพื่อการตายดี เพราะตอนที่เริ่มก่อตั้ง เยือนเย็น เริ่มจากความคิดแค่ว่า เราอยากให้หมอทำหน่วยเยี่ยมไข้ในวาระสุดท้ายที่บ้านให้เกิดขึ้น”


คุณหญิงจำนงศรี ผู้ก่อตั้งชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคมและเยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จากพื้นฐานของลูกสาวนักธุรกิจคนสำคัญของเมืองไทย สู่การเป็นสื่อมวลชน นักเขียนและกวี ซึ่งผลงานหลายชิ้นทั้ง ร้อยแก้ว ร้อยกรอง และนิทานเด็ก แสดงออกถึงการแสวงหาความเข้าใจชีวิตและการทดลองชีวิต โดยมีพุทธปรัชญาและแนวทางมนุษยนิยมเป็นรากฐานของความคิด ดังที่ความเข้าใจชีวิตตามช่วงวัยของเธอแสดงออกในถ้อยคำ ผ่านภาษาที่เติบโตงอกงามจากภายในจิตใจตนเอง ตัวอย่างเช่น ผลงานหนังสือ

ฝนตกยังต้องฟ้าร้องยังถึง ,ดุจนาวากลางมหาสุมทร ,หนังสือวิชาตัวเบา , On the white empty pages เป็นต้น


อีกทั้งประสบการณ์ของการปฏิบัติภาวนา เมื่อเป็นผู้สื่อสารเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างสงบ จึงช่วยให้เกิดความเข้าใจของผู้คนและการสื่อความหมายอันลึกซึ้ง แปลกต่าง ดังทัศนะในช่วงชีวิตหนึ่งในวัย 40 ปี สะท้อนถึงความเป็นไปของกระแสชีวิต และการคืนสู่ธรรมชาติ ผ่านความสั้นๆตอนหนึ่งในบทกวี “ หยดฝนกับใบบัว” ที่กล่าวว่า“ใบบัวแก่เฒ่าแล้วก็ตาย ทั้งต้นสลายกลายเป็นหนึ่งเดียวกับน้ำขุ่นบึงโคลน” (สำนวนแปลของเทพศิริ สุขโสภา จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของคุณหญิง)


ทัศนะต่อชีวิตและ ความตายในช่วงวัย 60 ปีเศษ อันแปลกต่าง ผ่านความเรียงว่าด้วยความกลัวตายและความฝัน ในหนังสือเข็นครกลงเขา ที่สะท้อนโลกภายในของตัวเอง ว่า “เคยนึกอย่างเก๋ ทำนอง ..“ไม่กลัวตายเพราะมันเป็นธรรมชาติ คนสัตว์ตายกันมาเกินคณานับ” แต่...ความฝันที่ว่านี้ มาแตะเตือนให้ยอมรับว่า ไอ้ที่ว่าไม่กลัวนั้นน่ะ มันอยู่ตื้นแค่สมองคิด ทว่าลึกลงเกินกว่าความมีเหตุผลจะเข้าถึงนั้น ...กลัว..เป็นความกลัวตายที่ผุดผงาดในรูปความฝัน ให้เผชิญหน้ากับภาวะที่ไม่มี "ของฉัน”สักอย่างมาค้ำยัน “ตัวฉัน” ไว้ให้เต็มและมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ ความรัก ความรู้ บทบาท สถานภาพและความสามารถควบคุมจัดการสถานการณ์ต่างๆ”


เมื่อย้อนดูความคิดของชีวิตในแต่ละช่วงวัยต่างๆ ของคุณหญิงจำนงศรี เห็นถึงความสอดคล้องกับพุทธปรัชญาของความเปลี่ยนแปลงหรืออนิจจะลักษณะของสรรพสิ่งและชีวิตคน ที่ว่า แท้จริงแล้วเราไม่เคยจุ่มตัวในแม่น้ำสายเดิม เพราะสายน้ำย่อมเลื่อนผ่านไปเช่นวันเวลา สายน้ำที่กระทบตัวเราอยู่ทุกวันจึงไม่ใช่แม่น้ำสายเดิม เช่นเดียวกันกับอนิจจะลักษณะของชีวิตคน ที่เธอเล่าว่า “จำนงศรีตอนนี้(วัย83)กับตอนนั้น(ในวัย60 )ก็ไม่เหมือนกัน เพราะคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”


ความคิด ผันเปลี่ยน สภาวะภายในก็เช่นกัน งอกงามตามธรรมชาติของบุคคลและการหล่อหลอมในแต่ละวัยที่จิตอารมณ์จะสามารถจับกระแสบทสนทนาของกายกับใจได้เพียงใด


ยามเมื่อสูงวัยขึ้น “มีคนอื่นมาบอกกับป้าว่า ป้าศรีอายุ 83 แล้วยังดีอยู่ ..ก็เพราะธรรมะของพุทธศาสนา ที่อยู่ในใจป้าศรี ไม่ใช่อยู่ในสมองและคำพูด ป้าเข้าใจว่า.... นี่คงเพราะพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ชวด ของเรา ล้วนอยู่ในตัวเราทั้งหมดโดยธรรมชาติ...จากความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในส่วนที่เขาดูแล เลี้ยงดูเราอย่างดี ให้โอกาสที่ดีในการเติบโต แล้วเราจึงต่อยอดชีวิตขึ้นมาเอง จากคนที่เคยเลี้ยงดูแลอย่างเมตตาเรา ให้เติบโตมีชีวิต ความเมตตาของเขาทั้งหลาย มีส่วนในการฟอร์มชีวิตเรา สร้างเราจากภายในใจเรา”

ถ้อยคำจากประสบการณ์ชีวิตนี้ จินตนาการไปถึงความเมตตาที่ได้รับ ได้งอกงาม แผ่รากเป็นเครือข่ายโยงใย เติบโตอยู่ภายใน จากความเมตตากรุณาต่อกัน ระหว่างชีวิตซึ่งพัฒนาสภาวะจิต ที่ได้สัมผัสรู้จากภายในวิถีของกายกับจิตที่กระซิบสนทนา


สำหรับการที่มีชีวิตเมื่อผ่านสู่ชีวิตสูงวัย คล้ายกับว่าธรรมชาตินั้น "รูป" กับ "นาม" ย่อมสื่อสารกันมาอย่างยาวนาน เพื่อจะรับมือกับชีวิตในช่วงเวลาสุดท้ายได้สมศักดิ์ศรี อย่างเป็นธรรมชาติของแต่ละคน


เมื่อถึงวันนี้ “ ป้าศรีจึงไม่ต้อง “คิด” ปลงกับชีวิต เพราะสิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นเองที่ใจเรา และจากการมีชีวิตจนถึงวัยนี้ จึงไม่ต้องเพิ่มกรรมคือ สร้าง “เจตนา”และ “คิด”ปลง อย่างที่ชอบบอกกันติดปากเดี๋ยวนี้ ว่า ให้ปลงเสีย ปลงเถอะ เพราะเมื่อใช้ชีวิตจนแก่ ( การปลงได้) มันจะมาอย่างเป็นธรรมชาติ”


นั่นคงเป็นผลจากการดำเนินชีวิตอย่างนักทดลองชีวิต จากเยาวรุ่น(ตามสำนวนวัยรุ่นดิจิทัล)ของคนในสกุลใหญ่ เริ่มต้นสมมตินามในฐานะ ลูกสาวของแม่จาก "หวั่งหลี" และพ่อจากสกุล "ล่ำซำ" มาจนถึงวันนี้ใน พ.ศ. 2566 ผู้ผ่านการทดลองใช้ชีวิตทั้งในฐานะนักข่าว นักเขียน คนแต่งนิทาน กวี ผู้ก่อตั้งสถานพยาบาลและนักปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะทางสายสัมพันธ์ชีวิตในสถานะ ลูกสาว น้องสาว เด็กหญิง นางสาว นาง คุณหญิง เมีย ภรรยา ลูกสะใภ้ แม่ ยาย ย่า หรือพี่ อา น้า และป้าศรี ในแง่หนึ่งล้วนเป็นสมมติภาวะของรูปนามที่เรียกว่าศรี, จำนงศรี ล่ำซำ รัตนิน หาญเจนลักษณ์ สรุปเป็น คำสั้นๆ ของสมมุติของความสัมพันธ์ชีวิต ผ่านสมมติภาษา คือ จำนงศรี LRH ผู้แปลกต่าง


มีความจริงที่แน่นอนของทุกรูปนามสมมติ ที่วันหนึ่งทุกสมมตินามต่างก็ต้องแปรเปลี่ยนคืนสู่ธรรมชาติ ตามกฎอนิจจะลักษณะ หรือความเกิด ความเสื่อม และดับของสรรพสิ่ง เพียงแต่จะจากไปแบบสงบมีทางเลือก หรือจากไปขณะเต็มพร้อมเครื่องทรงพยุงชีพรุงรัง อาจเพราะเหตุนี้ ป้าศรีจึงทำการทดลองชักชวนคนอื่นๆ ในสังคมให้เตรียมพร้อมชีวิต โดยมี living will หรือทำ พินัยกรรมชีวิต ของตนเอง เป็นตัวช่วย เพื่อแสดงเจตนามั่นคงของตน เผื่อคนอื่นๆ จะเล็งเห็นว่ามนุษย์เราไม่ควรยิ่งที่จะต้องติดตายอยู่ใต้อุปกรณ์เทคโนโลยียื้อชีวิต ยามเมื่อสื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้ดังใจเจตนา


 

ที่มา/อ้างอิง ๑.วิทยานิพนธ์ ปลูกต้นไม้จิตปัญญาในสวนพระพุทธเจ้า: แนวคิดและรูปแบบการดูแลคุณภาพชีวิตระยะท้ายบนฐานทุนวัฒนธรรม

ดู 22 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page