top of page

เวทีเสวนา พร้อมก่อนตาย


จัดโดย โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ

เครือข่ายพุทธิกา เพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม

สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย

วันที่ 12 ตุลาคม 2556

ณ ลานเอเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์



ภาพของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



ทำไมป้าศรีถึงให้ความสนใจในเรื่อง การเตรียมพร้อมก่อนตาย


เป็นงานที่จะทำยังไงก็ได้ ให้ทุกคนสามารถจะได้ตายดี ทรมานน้อยที่สุดทั้งทางกาย ทางใจ และมีจิตที่สว่างใส พยายามขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีการดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย ให้ประชาชนได้มีการตายที่ดีอย่างเป็นระบบ


กว่าที่ความคิดจะมาถึงขนาดนี้ว่า ความตายคือแบบนี้ มีที่มาอย่างไร


ป้าคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคุยเรื่องที่เราทุกคนจะต้องเจอ ทำไมถึงมาสนใจเรื่องความตาย อาจจะเพราะว่าเราได้เห็นกระบวนการของความตาย และได้รู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจของเรามาตลอด เราเลยรู้สึกว่าชีวิตกับความตายมันคู่ขนานกันมาตลอดเวลา สำหรับตัวเองเลยไม่ได้กลัวเรื่องตาย

การที่ป้าได้ทำเกี่ยวกับเรื่องความตายทำให้เห็นความสำคัญ ว่าถ้าคนเรายอมรับในเรื่องของความตาย ชีวิตเรามันจะดีขึ้น สดใส กล้าหาญ มั่นคงขึ้น เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องของความตายที่จบ แต่มันเรื่องของชีวิตที่อยู่ด้วย มันมีผลต่อกันอย่างยิ่ง

กระบวนการของการตาย และการทำงานของจิตใจ มันเกี่ยวโยงกับหัวใจในการดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายไหม


เรื่องของ 'ใจ' แน่นอนเลย เมื่อเริ่มเข้ามาในเรื่องนี้แล้ว ความเป็นมนุษย์กับมนุษย์มันเชื่อมกันด้วยใจ ความรู้สึก


สิ่งที่จะทำให้การตายมันทรมานมากคือ ความขัดแย้งกับตัวเอง ความรู้สึกผิด บางคนตายไม่ได้จนกว่าจะได้ขอโทษบางคน ถ้าเรารู้สิ่งเหล่านี้แล้ว อย่าทิ้งอะไรไว้ให้ค้างใจกับใครทั้งสิ้น คำว่าขอโทษ การจับมือ การมองตา การยิ้ม มันเคลียร์ได้หลายอย่างมากเลย อย่าเก็บอะไรไว้ในใจ เช่น แค้น โกรธ เพราะเราไม่รู้ว่าวันไหนที่เราจะไป แล้วไปไม่ได้ เพราะเราขัดแย้งอยู่ข้างใน สิ่งเหล่านี้เราจะมองสู่วิถีสู่ความตายอันสงบ ซึ่งวิถีสู่ความตายอันสงบก็คือการรู้จักใช้ชีวิตนั่นเอง การห่วงเป็นเรื่องใหญ่มาก มันจะอยู่แบบนั้น


ทุกคืนเราจะมีโอกาสซ้อมตาย เวลาที่เรานอนไม่หลับเราคิดโน่น คิดนี่ จนทำให้เรารู้แล้วว่า เราตายไม่ได้ การฝึกที่ดีมาก คือ ก่อนที่จะนอนเราก็จะคิดว่า นี่คือการตายเล็กๆ ประจำวันของเรา โดยก่อนนอนเราจะทิ้งน้ำหนักบนที่นอน ทำความรู้สึก แล้วเริ่มนึกถึงหน้าลูกทีละคน แล้วทำใจว่าเราจะไม่ได้พบเขาอีก รู้สึกขอบคุณเขา Say Goodbye ต่อทุกคน แรกๆ ก็รู้สึกโหวงมาก ทำไปสักพักก็ทำให้เรารู้สึกเข้าใจมันไปเอง


ส่วนเรื่องงาน จะคิดซะว่า อะไรที่เราทำไปแล้วจะผิดหรือไม่ผิด มันจบไปแล้ว อะไรที่ยังทำไม่เสร็จ ก็ยังไม่เสร็จ หรือจะมีคนทำต่อ แล้วมันก็จบ ลองซ้อมดูสิคะ


เราจะผลักความรู้สึกเกี่ยวกับการสูญเสียออกไปยังไง


มันอาจจะเป็นเพียงเวลาช่วงๆ หนึ่ง แต่ถ้าเราฝึกของเรามาเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลา สิ่งหนึ่งที่จะต้องใส่ใจมากที่สุด ไม่ใช่ว่าเราจะขาดเขาไม่ได้ แต่เขาจะจากไปอย่างที่เขาจะไปให้ดีที่สุดอย่างไร จุดที่เราควรจะเพ่งคือจุดนั้นมากกว่า เพราะเราอยากให้จิตของเขาดีที่สุด ในตอนที่เขาจากไป ความเสียใจของเราไม่เป็นประโยชน์อะไรกับเขา สู้เราเอาทั้งหมดไปใส่ไว้ว่าเขาจะไปให้ดีที่สุดอย่างไร


สิ่งที่อยากจะบอกลูกทุกคนตอนนี้คือ เกี่ยวกับความกตัญญู เพราะความกตัญญูนั้นอาจจะเป็นการทำให้พ่อแม่ตายอย่างทรมานมากก็ได้ เพราะฉะนั้นความกตัญญูอาจจะไม่ใช่เรื่องของการตีความ แต่อาจจะต้องถอยเข้ามามองในใจเราว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร ว่ามันคือความเชื่อ หรือความรู้สึก บาปไหม และสุดท้ายคือแล้วคนอื่นจะว่ายังไง เมื่อเรารู้จักตัวเราเอง นั่นแหละคือการเตรียมตัวตาย


นอกจากการซ้อมตายแล้วมีวิธีอื่นๆ อีกไหม


ป้าศรีต้องยอมรับความไม่อิสระ อย่างอิสระ คือ ร่างกายเราไม่ค่อยคล่องแคล่วเหมือนอย่างแต่ก่อน มันก็บอกเราแล้วว่าวันหนึ่งเราอาจจะไม่อิสระ ไม่เป็นภาระของลูกในตอนนี้ แต่สักวันหนึ่งอาจจะเป็น ตอนนั้นเราจะเป็นอิสระจากความไม่อิสระอย่างไร การฝึกตอนนี้ก็คือต้องเป็นอิสระจากทุกสิ่ง อยู่กับมันโดยไม่ต้องต่อสู้กับมัน


เราไม่ต้องพยายามผลักดันอะไรที่อยู่ในตัวเรา เช่น ความกังวล เราจะไม่บอกว่าฉันต้องไม่กังวล เพราะนั่นคือ ความขัดแย้ง แต่เราจะมองว่าความกังวลมันเป็นส่วนหนึ่งของเรา เราจะมีความเป็นมิตรกับมัน ไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบมัน แล้วเราก็วางมันไว้แค่นั้น จิตมันจะเรียนรู้ของมันเอง เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับตัวเอง อย่าไปรู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี เพราะอันนี้มันก็จะทำให้ชีวิตและความตายมันไม่ง่าย


อยากให้ป้าศรีได้เขียนกระดานในกิจกรรมสุดท้ายของวันนี้


“ก่อนที่จะตาย ฉันปรารถนาที่จะใช้ชีวิตด้วยจิตที่เปิดกว้าง และสามารถพัฒนาจิตไปสู่การไม่แบ่งแยกตัวฉันจากธรรมชาติทั้งมวล”


ติดตามเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ :

 

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page