top of page

‘ตัวตนสร้างทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด’

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์





คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ประธานกรรมการบริษัท แพทย์รัตนิน จำกัด มีชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน เมื่อคุณอัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ ไปสัมภาษณ์มารวบรวมไว้ในหนังสือ “ธรรมะกับ

นักบริหาร เล่ม 2” จึงได้แง่มุมชวนคิด

·

ชีวิตคุณหญิงได้เห็นทุกข์ครั้งแรกเมื่อไร


"ทุกข์นั้นคนเรามีกันทุกคนตั้งแต่เกิด หรือเจ็บก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้น แต่ที่เห็นชัดๆ กับใจว่า โอ...นี่มันทุกข์นะ จำได้ว่าเป็นตอนเด็กๆ ที่กำลังทำฟัน สมัยนั้นไม่มีการฉีดยาชา และเครื่องกรอฟันก็ยังไม่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน เหมือนกรอคอนกรีต ทั้งเจ็บและเสียวมาก ทั้งเห็น ทั้งเริ่มเข้าใจธรรมชาติความไม่แน่นอนของทุกข์ก็ครั้งนั้นแหละ ขณะที่คิดว่าจะทนเจ็บไม่ไหวแล้ว ความคิดก็ผุดขึ้นมาว่ามันจะไม่เจ็บปวดอยู่อย่างนี้ตลอดไป เดี๋ยวก็เปลี่ยนเหมือนทุกๆ อย่าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดิฉันรู้ว่าอะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงไป "

ในชีวิตเคยอกหักบ้างหรือไม่ และมีวิธีแก้ไขอย่างไร


"เคยค่ะ มากกว่า 1 ครั้ง จำได้ว่าเจ็บปวดเหลือประมาณ มันเจ็บเสียจนไม่รู้ว่าแล้วอย่างไรต่อไป เชื่อว่าเด็กวัยรุ่นหรือสาวๆ หนุ่มๆ ที่เวลาอกหักจะรู้สึกว่าแล้วยังไงหนอ จะทำอย่างไรที่จะสลัดความรู้สึกอันนี้ ยังพอจำความรู้สึกนั้นได้ แต่ตอนนี้มองย้อนหลังกลับไป ก็รู้สึกขอบคุณ ถ้าไม่เคยอกหัก ดิฉันคงไม่เข้าใจชีวิตเท่ากับที่ดิฉันเข้าใจอยู่ในขณะนี้ คงมีความสุขอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ได้ เพราะมันทำให้เราเข้าใจชีวิต และเห็นคุณค่าของความสุข ถ้าไม่ทุกข์ก็ไม่รู้ว่าสุขเป็นอย่างไร และยังสอนดิฉันอีกอย่างหนึ่งว่า แล้วมันก็ผ่านไป ถ้าเราปล่อยให้ผ่าน แต่ถ้าเราไปเกาะติด ไม่แน่ใจว่าจะผ่านหรือเปล่า ย้อนกลับไปหาอยู่เรื่อยๆ เจ็บปวดอยู่กับมัน ความเจ็บปวดก็ติดเราไปตลอด แต่เมื่อดิฉันมองกลับไป ก็มองมันแบบเอ็นดูและขบขัน เหมือนมองสิ่งที่เราวางลงแล้ว"

ในหนังสือเล่มล่าสุด ชื่อ วิชาตัวเบา มีใจความหนึ่งในหนังสือว่า ปัญหาเป็นของชั่วคราว ขอให้ช่วยขยายความด้วย

"คือปัญหาก็เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีการเปลี่ยนแปลง แปรรูป ปัญหาที่แสนยากลำบาก ก็จะเปลี่ยนแปรของมันไปเรื่อยๆ บางทีก็หนักขึ้น บางทีก็เบาลง เป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่เคยพบมา ไม่มีอะไรที่คงที่ ทุกข์ไม่คงที่ สุขก็ไม่คงที่ มีชีวิตมายาวนานแค่นี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาในทุกสิ่งทุกอย่าง "

หนังสือเล่มนี้เขียนถึงการปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ขอให้เล่าถึงเหตุผลที่ไปปฏิบัติธรรม


"ตอนไปที่สวนโมกข์ อายุ 50 กว่าปี มีความทุกข์ ความวุ่นวายใจมากในช่วงนั้น ตอนแรกไม่ได้นึกถึงธรรมะเลย ทั้งที่ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว มีความคิดแต่สงสารตัวเอง แต่การสงสารตัวเองทำให้ความทุกข์ไม่เคยจบ

“ปัญหาก็เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีการเปลี่ยนแปลงแปรรูปปัญหาที่แสนยากลำบาก ก็จะเปลี่ยนแปรของมันไปเรื่อยๆ บางทีก็หนักขึ้น บางทีก็เบาลงเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง ในโลกนี้ ที่เคยพบมา ไม่มีอะไรที่คงที่ทุกข์ไม่คงที่ สุขก็ไม่คงที่ มีชีวิตมายาวนานแค่นี้ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ในทุกสิ่งทุกอย่าง”

"การไปเที่ยวเป็นการวิ่งหนีทุกข์อย่างไม่ฉลาด จริงก็มาถึงจุดหนึ่งที่อยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ต้องมี

เส้นทางหนึ่ง คือ การเข้าปฏิบัติธรรมที่เคยทำมาแล้ว เป็นการเข้าไปทำให้สติของเราเข้มแข็งขึ้น ตอนที่โทรศัพท์ไปปรึกษาเพื่อนว่าจะไปวัดที่ไหนดี เขาแนะนำวัดให้ แต่บอกว่าต้องทำใจว่าเป็นกรรมของเรา เรากำลังรับกรรมที่เคยทำไว้ ดิฉันบอกว่า ถ้าอย่างนั้นดิฉันไม่ไปวัดนี้ เพราะว่าไม่ใช่จริตของเรา คือ เราต้องทำอะไรสักอย่าง มากกว่าแค่ยอมรับว่าเป็นกรรมของเรา เลยไปถามเพื่อนอีกคนนี้ ว่า ถ้าบอกว่าให้ยอมรับแค่ว่าเป็นกรรมเก่าคงไม่พอสำหรับดิฉัน ดิฉันอยากจะทำอะไรที่ทำให้เราสามารถที่จะจัดการกับจิตใจของตัวเองได้


"ดิฉันทราบว่าจะมีอบรมที่สวนโมกข์ ไปอบรมครั้งละ 10 วัน อยู่หลายครั้ง ก็ขออยู่ยาวที่วัด ท่านอาจารย์พุทธทาสอนุญาตให้อยู่ในเขตอุบาสิกาที่สวนโมกขพลาราม โดยให้ปฏิบัติธรรมภายใต้การดูแลของท่านอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง แต่ดิฉันเรียนถามท่านว่า ทำไมพระมีโอกาสไปธุดงค์อยู่กลางป่า ผู้หญิงทำไมถึงไม่มีโอกาส ท่านคงรำคาญเต็มทีบอกให้ไปอยู่บ้านริมป่าสุดเลย อยู่คนเดียว แต่ถ้าตอนกลางคืนมีเสียงอะไรไม่ต้องออกมาจนกระทั่งเช้า

"ดิฉันได้อยู่คนเดียวในบ้านไม้สักหลังใหญ่ รอบๆ มีบ้านที่ไม่มีคนอยู่เลย เป็นบ้านร้าง อีกด้านหนึ่งเป็นป่า ได้ฝึกการอยู่วิเวกอย่างที่ต้องการ ตอนแรกบอกว่าจะขออยู่เดือนหนึ่ง อาจารย์รัญจวนบอกว่า อย่าบอกว่าจะอยู่เดือนหนึ่ง หรืออะไร เพราะการกำหนดเวลาทำให้เราไม่อยู่กับปัจจุบัน ก็อยู่ไปอย่างนี้จะกลับวันไหนก็กลับ อยู่กับปัจจุบันวันต่อวัน อยู่กับปัจจุบันไปอย่างนี้เป็นเวลา 3 เดือน




·

การที่คุณหญิงเกิดมาในตระกูลที่มีความเพียบพร้อม แต่ก็ได้เผชิญกับปัญหาในชีวิตมาหลากหลาย ต้องต่อสู้กับตัวเองด้วยความมานะอดทน ถ้าชีวิตไม่ได้เป็นแบบที่ผ่านมาคุณหญิงคงเป็นไข่ในหินใช่ไหมครับ


คงเป็นไข่ไดโนเสาร์ที่มีเปลือกหนามาก ดิฉันคิดว่าที่มีเปลือกหนาเพราะต้องระหกระเหิน ปัญหาในชีวิตมาพอสมควร และคุณพ่อเป็นคนที่เลี้ยงลูกเก่ง เลี้ยงลูกดี สอนให้ลูกติดดิน ไม่ให้เหลิง คุณพ่อมักจะพูดเสมอว่า คนที่จะเป็นผู้บังคับบัญชา ต้องเคยถูกบังคับบัญชามาก่อน เพราะการบังคับบัญชาหรือการเป็นผู้บริหาร คือ เราบริหารคน แล้วถ้าเราบริหารโดยไม่เข้าใจ ไม่เข้าจึงจิตใจคน จะเป็นผู้บริหารที่ดีได้หรือ

ได้หลักธรรมอะไรจากท่านอาจารย์พุทธทาสบ้าง


"อันที่จริงท่านจะสอนอะไรใครต่อใครหลายอย่าง แต่สำหรับดิฉัน รู้สึกว่าคนที่เขาทำร้ายเรา และเราต้องการจะให้อภัย ยกโทษให้เขา แต่ในใจเรายังไม่อภัย จะทำอย่างไร

ไปเรียนถามท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านก็ตอบง่ายๆ ของท่านว่า ก็อย่าไปเบียดเบียนเขาสิ ซึ่งในหนังสือก็เล่าไว้ว่า ดิฉันก็นึกฉุนขึ้นมาทันที นี่บังอาจไปฉุนท่านอาจารย์พุทธทาส เอ๊ะ เราถูกเบียดเบียน แล้วท่านยังมาบอกว่าเราไปเบียดเบียนเขา

"ตอนหลังถึงเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิฉันจะไม่มีวันลืมเลย ในหนังสือดิฉันก็เล่าไว้ว่า ได้แผ่เมตตา ยกโทษในใจให้เขา แต่ใจก็ยังไม่ปล่อยจริง จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อจิตเราสงบ สงบถึงระดับหนึ่ง ที่การยึดกับความสำคัญของตัวตนมันหายไป แม้ชั่วครู่ก็ตาม จิตมันก็หายขึ้งเครียด การให้อภัยก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเลย รู้สึกอยากให้เขาเป็นสุข รู้สึกดีกับเขาจริงๆ นั่นคือการให้อภัยที่แท้จริงเกิดขึ้น

"คือ ต้องปล่อยวางความสำคัญของตัวตนเราก่อน เลิกติดอยู่กับความรู้สึกว่า เขาทำฉัน แล้วการให้อภัยจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเลย คือ เราอยากให้เขาเป็นสุข เรารู้สึกดีกับเขาจริงๆ โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องพยายาม ตรงกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า อย่าไปเบียดเบียนเขาสิ มันชัดเจนกว่าที่เรารู้สึกว่าเขาเบียดเบียนเรา คือการที่ใจเราไปเบียดเบียนเขานั่นเอง เมื่อเราหยุดคิดว่าเขาเบียดเบียนเราเมื่อไร มันหายไปเลย"


เจ้าตัวตนของเราที่ทำให้เราคิดว่าตัวเองสำคัญนัก ตัวตนนี่แหละสร้างความทุกข์ให้มนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด...


 

จาก: คอลัมน์ ศาสนา – จิตใจ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2547

ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page