top of page

ร่วมดับรักร้อน...

ณ เสถียรธรรมสถาน

โดย ปลาสีน้ำเงิน



เมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา เสถียรธรรมสถาน จัดเสวนาว่าด้วยเรื่อง ‘รักเอย...’ มอบแด่ทุกผู้ทุกวัยที่สนใจไปปฏิบัติธรรมในยามบ่าย วิทยากรที่มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ข้อคิดสะกิดแผลในใจอันเกี่ยวเนื่องมาแต่ ‘รัก’ ไม่เป็น เป็นครั้งแรก คือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กำลังจะเกษียณอายุ ผู้ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่มุ่งเน้นการศึกษานอกตำรากับประสบการณ์ชีวิตแท้ๆ ของทุกผู้คน บนถนนทางจร เป็นทางเลือกของการศึกษาไทยที่เชียงใหม่ แต่สัญจรไปทั่วประเทศ

วันนั้นท่านมาร่วมเสวนากับ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักเขียน กวี คุณแม่ของลูกสี่ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหกสิบปีกับอีกหนึ่งเดือน กับวันนี้ที่ท่านบอกว่า ชีวิตเป็นสุขแล้ว... พร้อมให้แง่คิดเรื่องชีวิตกับความรัก มอบแด่ทุกคนที่กำลังงงๆ กับความรักที่พานพบ โดยมี ศันสนีย ศีตะปันย์ เมอลเลอร์ หัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งใน ‘สาวิกา’ นิตยสารเพื่อชีวิตที่งดงามและเป็นอิสระ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาแทบทุกนัดที่จัดโดยเสถียรธรรมสถาน ซึ่งมี แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เป็นผู้หว่านโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งความรักให้

ก่อเกิดแก่เราทุกคนอย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย...

ขอเชิญท่านผู้อ่านเสวนากับผู้ใหญ่สองท่าน ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วมหกสิบปี กับความรักหลายมิติในวันแห่งสติ วันแห่งความรักแบบไทยๆ กับบรรยากาศในเสถียรธรรมสถาน ที่หอมกรุ่นไปด้วยดอกไม้ไทยและเสียงนกร้องขับขาน...

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: "มีคนลาวถามผมว่า ทำไมคนไทยต้องฆ่าตัวตาย ผมตกใจ เพราะในวรรณคดีไทยไม่มีบทฆ่าตัวตายเลย ความคิดเรื่องฆ่าตัวตายมีมาเมื่อบ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไป คือหลังจากรัชกาลที่ 5 เพิ่งจะมีวรรณกรรมที่ฆ่าตัวตายก็เอามาจากญี่ปุ่น มาจากฝรั่งคือเรื่อง ‘สาวเครือฟ้า’ จริงๆ แล้ว ความคิดเรื่องฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม แต่ในปัจจุบันเมื่อเราพูดถึงการฆ่าตัวตาย กลับคล้ายเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่ปุบปับมองว่าเขาอ่อนแอ เป็นรอยโหว่ทางธรรมชาติ

"ผมอยากจะเรียนว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ เราเรียนรู้มาจากสังคม แล้วก็มีหลายสังคมที่ไม่รู้จักการฆ่าตัวตาย เช่น สังคมลาวก็ไม่มี หรืออาจจะมีน้อย รวมทั้งสังคมไทยด้วย คนลาวเขาจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมคนไทยจึงฆ่าตัวตาย

"ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะว่า ความรักก็เหมือนกัน โดยเฉพาะความรักในปัจจุบันนี้

เราคิดว่าเป็นธรรมชาติ คือ ใครเกิดมาก็ต้องมีความรักหมด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่เท่าที่ผมเข้าใจ ความรักเป็นวัฒนธรรม ความรู้สึกที่ถูกเรียกว่ารักนั้นในแต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน คนอยุธยากับคนปัจจุบัน ถ้าเจอกันอย่างในละครทีวีรักกันไม่ได้หรอก พูดกันยังไม่รู้เรื่องเลย จะพูดความรู้สึกที่เจอกัน ยังพูดไม่ได้เลย คือว่าเงื่อนไขความรู้สึกที่เรียกว่ารักนั้น เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่อยู่นิ่ง

"จริงๆ แล้ว มนุษย์เราในฐานะที่เป็นสัตว์ฝูง พัฒนาความรู้สึกผูกพันกันเป็นธรรมชาติ ซึ่งความรู้สึกผูกพันกันเกิดขึ้นในหลายลักษณะทีเดียว เป็นต้นว่า ความกตัญญูก็เป็นความรู้สึกผูกพันอย่างหนึ่ง ที่เราเรียกว่ามิตรภาพ ก็เป็นความรู้สึกผูกพันอย่างหนึ่ง ความรักก็เป็นความผูกพันอย่างหนึ่ง วัฒนธรรมสามารถสร้างอะไรได้หลายอย่างมาก สร้างมิตรภาพ สร้างความกตัญญู รวมทั้งสิ่งที่เราเรียกว่าความรักด้วย

"ปัจจุบัน เวลาเราพูดกันถึงความรัก ผมคิดว่า เราค่อนข้างให้น้ำหนักมากเกินไปแก่ความผูกพันระหว่างเพศตรงข้าม แล้วมีฐานอยู่ที่ปัจเจก

"วัยรุ่นใช้คำว่า ปิ๊ง-ปิ๊ง แปลว่าอะไร อธิบายกำเนิดของความรักได้หรือเปล่า หรือยกให้แก่กามเทพ หาต้นกำเนิดให้มันไม่ได้ ความรู้สึก ‘รัก’ ในปัจจุบันเลยกลายเป็นความรู้สึกหยุดนิ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะต้องดำรงอยู่ตลอดไปโดยไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดความรู้สึกว่า ปิ๊ง ขึ้นมา มันขาดการเรียนรู้ แล้วสิ่งนั้นจะสถิตอยู่ในหัวใจ และดำรงอยู่ชั่วกัลปาวสานจนถึงตายจากกันไป


"ปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกา คู่สามีภรรยาสามารถอ้างความรู้สึก ปิ๊ง ที่เรียกว่าผูกพัน ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่ดังอีกแล้ว ก็หย่าได้ ผมว่ามันเกิดขึ้นเพราะเราไปนิยามความรู้สึกผูกพันของความรักที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แบบที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขาดมนต์ขลัง อธิบายไม่ได้

"ถ้าเป็นความรัก ความผูกพัน ที่มีการเรียนรู้ ผมว่ามีการเรียนรู้อยู่ด้วยกันสามด้าน คือ


1.เรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย เวลาเราสัมพันธ์กับใคร โดยวัฒนธรรมที่สอนเรามา เราชอบเขาจริงหรือเปล่า ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทนนานพอสมควร กว่าจะเห็นความน่ารัก มองเห็นความมีประโยชน์ในสิ่งที่เราไม่มี หรือในสิ่งที่เราไม่มีเลย ต้องอาศัยความอดทน อาศัยเวลา เรียนรู้ในสิ่งที่เราแตกต่าง


2.เรียนรู้ที่จะปรับความแตกต่างให้พอดีๆ เพราะถ้าแตกต่างกันสุดกู่ ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องเรียนรู้ ต้องเสียสละ ต้องต่อรองกันพอสมควร


3.เรียนรู้ความรู้สึกใหม่ ที่เข้ามาเสริมความผูกพันแบบเดิม จากความรักแบบปิ๊ง พัฒนาไปสู่ความเป็นเพื่อนได้ เป็นสหายร่วมอุดมการณ์ได้ ใครก็ตามที่ยังเก็บความรู้สึกแบบ ปิ๊ง แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่พัฒนาความสัมพันธ์ในแง่อื่นตามาด้วย ผมคิดว่ามันเป็นความรักที่เปราะบางมากๆ เลย แล้วแตกสลายได้ง่ายๆ เสมอ


คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์: "รัก เป็นสัญลักษณ์ที่นิยามให้ตรงกับแต่ละคนยากมาก สังเกตมานานว่า อย่าง รักแท้ ต้องคงทน ไม่มีที่สิ้นสุด นึกถึงเมื่อตอนที่เราตื่นเต้นหนังเรื่อง ไททานิก เป็นเพราะอะไร เพราะทำให้เรามั่นใจว่า ความรักแท้ไม่มีที่สิ้นสุด ตายไปแล้วก็ยังต่อกันติด นั่นแหละความยึดมั่นนั่นเอง ทำให้ความรักกลายเป็นเครื่องนำทุกข์


"เวลาที่เราพูดถึงความรัก เราเข้าใจตรงกันหรือเปล่า – ดิฉันมองความรักเป็นบวก ถ้าเราไปตีความว่ารักต้องเป็นอมตะ คงทน ไม่เอาหลักอนิจจังมาจับ ความรักเป็นเส้นทางไปสู่ความทุกข์ เมื่อเราต้องการให้มันคงอยู่


"การฟังคนอื่นพูดได้แต่ฟัง อยากให้คุณลองสำรวจตัวเองดีกว่าว่า เวลาเกิดความสุขจากความรัก เราดูอาการของความสุขนั้นได้ไหม ตัวสุขนั้นอยู่ตรงไหน อันไหนที่มันสุขแล้วไม่วูบวาบ ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ทีหลัง เข้าไปในแล็บตัวเราดูดีกว่า ว่า ถ้าจะรักอย่างเป็นสุข ต้องรักอย่างเข้าใจความเปลี่ยนแปลง

ความรัก เราถูกสอนให้คาดหวังมากเหลือเกิน การหมั้นหมาย การแต่งงาน ต้องมีคนมาปูที่นอน ผูกข้อมือ มีดอกรักดอกอะไรต่อมิดอกอะไรมาโปรยที่นอน สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการผูกทั้งสิ้น... ความรัก ถ้าคาดหวังก็เหมือนกับเอาอะไรไปผูก เรามองว่าเราอยากจะให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข แล้วความสุขจะเกิดกับทั้งสองฝ่าย


จริงๆ แล้วเวลาแต่ละนาทีสำคัญมาก อย่าไปคิดว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทำนาทีนี้ให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแม่กับลูก หรือสามีกับภรรยาก็ตาม เพราะเราไม่รู้ว่าอีกห้านาทีข้างหน้า เราจะโดนรถชนตายรึเปล่า จะไปคาดหวังอะไรกันนักกันหนา


ศันสนีย ศีตะปันย์ เมอลเลอร์: ขอถามกลับมาที่อาจารย์นิธิ โดยธรรมชาติของผู้ชาย การที่จะเข้าไปเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ รักแบบครอบครอง จะนำมาซึ่งผลพวงคือความหวงแหน อาจารย์เคยสังเกตไหมคะว่า

หวงตรงไหน ห่วงตรงไหน อาจารย์เคยหวงบ้างไหมคะ เมื่อดิฉันมีความรักจะหวงมาก อาจารย์จัดการกับความหวงอย่างไร


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: เวลามีความหวง จะจัดการด้วยความโง่ เช่น ไม่สบายใจบ้าง น้อยใจบ้าง ตอนนี้

ก็แก่แล้วทั้งคู่ ความหวงกลายเป็นความห่วง อย่างขับรถก็ไม่ค่อยแข็ง ออกไปก็เป็นห่วงว่าจะไปชนเขาหรือเปล่า หรือจะไปถูกเขาชนเอาหรือเปล่า – ผมคิดว่า มีหลายช่วงขณะ ที่เราไม่อยากให้เขาโต ซึ่งจะตัดปัญหาโดยการทำให้เองแล้วกัน แทนที่จะให้เขาเรียนรู้เอง เราก็ทำให้เสียเอง ซึ่งไม่ถูก เขาจะไม่ได้เรียนรู้


ศันสนีย ศีตะปันย์ เมอลเลอร์: มีคำถามที่ส่งมาจากวัยรุ่นที่แม่ชีศันสนีย์เก็บไว้ นำมาฝากถามวิทยากรทั้งสองท่าน อย่างเช่นว่า วัยรุ่นเวลาที่ปิ๊งกันแล้วเขาก็มักจะคิดว่าจะต้องเป็นของกันและกัน วัยรุ่นบางคนมักจะยอมรับออกมาตรง ๆ ว่า ถ้ามีโอกาสอยากจะเป็นของคนที่รักในคืนวันวาเลนไทน์มากที่สุด น่าตกใจมากไหมคะ


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: ผมคิดว่าเราอย่าสับสนความรู้สึกตามธรรมชาติ คือความผูกพันกันและกัน สัตว์ฝูงก็มีทั้งนั้น คนก็มี แต่เราพัฒนาความรู้สึกผูกพันออกมาเป็นความรู้สึกต่างๆ กัน เช่น ความรัก มันไม่ใช่ความรู้สึกตามธรรมชาติ เราจะให้ความรักดำรงอยู่ได้ จะพัฒนาได้ ต้องหล่อเลี้ยงมัน ความรักไม่ใช่ธรรมชาติ ต้องหล่อเลี้ยงมันด้วยการเรียนรู้แล้วพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป


"นี่ไม่ใช่ปัญหาเพียงวัยรุ่น แต่เป็นปัญหาของคนปัจจุบันนี้ เป็นผลผลิตของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของโลกยุคปัจจุบันนี้ ที่สร้างความรักให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ความรักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จะคงอยู่เช่นนั้นตลอดไป ไม่ใช่ ความรักของใครก็แล้วแต่ แม้แต่ของพ่อแม่ ก็ไม่ใช่ธรรมชาติ อย่างแม่คลอดลูกแล้วไปทิ้งถังขยะ เขาไม่ได้เป็นสัตว์จำแลงร่างมาเป็นคน แต่เราสร้างสังคมที่ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมความรักระหว่างพ่อแม่ลูกได้ เป็นความผิดของเราด้วย อย่าไปโทษเขาอย่างเดียว

ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างพ่อแม่ลูก เพื่อนกับเพื่อน หรือหญิงชายอะไรก็แล้วแต่ ต้องเรียนรู้ ต้องหล่อเลี้ยง ต้องถนอมมัน ต้องสร้างมันขึ้นมา มันไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้โดยอัตโนมัติ


"ผมไม่ได้มองว่ากามารมณ์เป็นเรื่องลึกซึ้งหรือเรื่องสำคัญอะไรหนักหนา ผมคิดว่า กามารมณ์เหมือนกับการชงกาแฟที่ดีมากๆ ให้คนรักดื่ม คุณชงแบบละเมียดละไมอยากให้เขาดื่มอร่อยๆ คุณไม่ชงกาแฟนี้ให้กับคนที่ไม่อาทรคุณเลย กามารมณ์เป็นเรื่องการบำรุงบำเรอความสุขทางเนื้อหนังของตัวเอง เมื่อไรก็แล้วแต่ที่คุณใช้กามารมณ์เพื่อให้ความสุขกับคนอื่น เพื่อให้นะ ไม่ใช่เพื่อรับ นั่นคือความรักที่เกี่ยวข้อง

กับกามารมณ์


"แต่ถ้าถามว่า ความรักกับกามารมณ์ ต้องไปด้วยกันเสมอไหม ผมว่าคำถามนี้ไม่น่าถาม ประเทศไทยมีธุรกิจค้ากามที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะถ้าไม่มีลูกค้าในเมืองไทยด้วย มันอยู่ไม่ได้ จะขายแต่ชาวต่างชาติอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้หรอก ปัญหากามารมณ์ที่เกิดเป็นปัญหา เพราะมันแยกกันได้ ไม่ใช่แยกกันไม่ได้ กามารมณ์มันเกิดปัญหาเพราะมันสามารถแยกออกจากความรักและความผูกพันได้ ไปเที่ยวผู้หญิงเสร็จก็กลับบ้าน เป็นการซื้อขายเหมือนซื้อก๋วยเตี๋ยวเลย


"สมัยหนึ่ง เราใช้กามารมณ์เป็นการผลิตเผ่าพันธุ์ เราจึงจำเป็นต้องมีกติกาควบคุมกามารมณ์ เราเป็นสัตว์ที่ไม่เหมือนกับสัตว์อื่น ตรงที่ต้องมีคนอื่นดูแลหลายปีมากกว่าจะโต ถ้าไม่มีศีลธรรมในการกำกับการผลิตเผ่าพันธุ์จะก่อให้เกิดปัญหามากเลย ไม่งั้นจะมีเด็กที่ไม่มีคนดูแลอีกเยอะแยะมาก – ถามว่า กติกานี้ยังอยู่รึเปล่าในปัจจุบัน ผมยอมรับว่ามันเปลี่ยนไป เพราะคุณสามารถควบคุมการเกิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ เราจะทำอย่างไรกับเรื่องกามารมณ์ต่อไปอีก ผมยอมรับว่าจนปัญญา"


ศันสนีย ศีตะปันย์ เมอลเลอร์: แล้วจะจัดการอย่างไรกับความเหงา มีวัยรุ่นบางคนถามมาค่ะ


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: ผมคิดว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มมีความเหงาเข้ามา เพราะสังคมไทยสมัยหนึ่งเกี่ยวโยงกับคนที่ไม่เคยอยู่โดดเดี่ยว แต่วันหนึ่ง เราทำให้คนกลายเป็นปัจเจก ทำให้กลายเป็นคน

โดดเดี่ยว ชะตากรรมในชีวิตของคุณถามว่าเกี่ยวข้องกับพ่อแม่ไหม พูดกันให้ถึงแก่นตอบว่าไม่เกี่ยว มีคนรุ่นเดียวกับผมเป็นจำนวนมากขายนาให้ลูกไปเรียน โดยหวังว่าเมื่อลูกเรียนจบแล้วจะกลับไปทำงานเลี้ยงดูพ่อแม่และพี่น้องที่ไม่ได้เรียนหนังสือ คุณก็รู้จบปริญญาตรีในเมืองไทย จะทำอย่างนั้นได้อย่างไร คุณก็ต้องตัดขาดจากครอบครัวคุณ พ่อแม่ก็รู้สึกว่าลูกอกตัญญู ลูกก็ไม่สบายใจตลอดชีวิต ที่ไม่มีโอกาสตอบแทน

บุญคุณพ่อแม่ สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ครอบครัวที่ให้กำเนิดเรามา เรายังไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของมันได้ โดยวิถีชีวิตเราจึงถูกตัดออกมาเป็นคนเดียว ตรงนี้แหละที่ความเหงามันเข้ามา ตรงนี้แหละที่ทำให้คนเหงาได้


อีกประเด็นหนึ่ง เวลาอ่านตำราศาสนาพุทธที่ฝรั่งเขียน เขาอธิบายความเหงาในพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่ความเหงาที่เกิดจากการไม่ได้สัมพันธ์กับคนอื่น แต่เกิดจากที่เราสำนึกรู้ได้ว่า ชีวิตเราพึ่งพาไม่ได้เลย ไม่มีสิ่งใดในโลกที่พึ่งพาได้เลย ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่ถาวร พอนึกถึงตรงนี้แล้วเปล่าเปลี่ยว เป็นบ้า แม้แต่ครอบครัว พ่อแม่พี่น้องก็พึ่งพาไม่ได้ ถึงที่สุดที่สุดแล้วเราพึ่งพาอะไรไม่ได้เลย สิ่งนี้คนไทยโบราณรู้มานานแล้ว เขาเรียกว่าความรู้ทุกข์ ไม่ใช่ความเหงา ซึ่งฝรั่งกลับไม่มี ฝรั่งมีแต่ความเหงา ไม่รู้ว่าตัวเองสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไรอธิบายสถานภาพของตนเองกับสังคมไม่ได้ คนไทยไม่รู้จักความเหงา แต่รู้จักความรู้ทุกข์ คนไทยทุกวันนี้กลับกันไม่รู้ทุกข์ซะแล้ว แต่กลับไปรู้จักความเหงาแบบฝรั่ง แล้วก็จะลำบากมากขึ้น


เด็กที่กระโดดตึกตาย ลึกลงไปคือความเหงา คือ ไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งรอบตัวได้ ไม่มีความฝัน ไม่มีอนาคต ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ คุณอยู่ไม่ได้ อย่างที่ชาวลาวถามว่าทำไมคนไทยต้องมีการฆ่าตัวตาย


ศันสนีย ศีตะปันย์ เมอลเลอร์: ตอนนี้เครื่องกำลังร้อน มีคำถามขึ้นมาค่ะ เรียนรู้รักจนเหนื่อย ท้อแท้ สับสน ซึมเศร้า ตอนนี้แฟนไปมีแฟนใหม่ แต่รู้สึกขาดเขาไม่ได้เลย อยากให้กลับมาเป็นคนเดิม มีอะไรที่เป็นกำลังใจให้บ้างที่เป็นทางออก


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: ผมไม่มีกำลังใจอะไรจะให้ แต่อยากบอกว่าอย่าไปฆ่าตัวตายก็แล้วกัน ผมคิดว่าคนที่ถามกลับไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยในเรื่องความรัก เริ่มต้นที่บอกว่าขาดเขาแล้วอยู่ไม่ได้ ไม่จริง ถ้าคุณเรียนรู้จริง คุณต้องตอบได้ว่าทำไมเขาจึงเลิกกับคุณ ทำไมคุณถึงเลิกกับเขา คุณได้แต่ตีอกชกหัว การตีอกชกหัวไม่ใช่การเรียนรู้ เป็นเรื่องไม่มีสติแล้ว ยิ่งหลงมากจะเรียนรู้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีรักเดียวหรือห้าสิบรัก ก็แล้วแต่ คุณต้องเรียนรู้ความจริงในชีวิต เรียนรู้ว่าความรักก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างหนึ่ง เรียนรู้กันทั้งหลายฝ่าย รวมทั้งเรียนรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางความรักรอบตัว ว่าเขาเป็นใคร เขาเป็นช่างตัดผมแล้วคุณเป็นใคร คุณเป็นนักเรียนปริญญาเอก ไม่แปลก รักกันก็ได้ แต่คุณต้องเรียนรู้ว่า... ระหว่างช่างตัดผมกับปริญญาเอกด้วยว่า ในสังคมนี้เขายอมรับ ไม่ยอมรับของสังคมอย่างไร อย่างนี้เรียกว่าเรียนรู้


ผมคิดว่าคำถามที่เกี่ยวข้องกับความรักส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการไม่เรียนรู้ แล้วไปยึดมั่นอยู่กับความรักที่ยึดมั่นว่ามันนิรันดร จะต้องอยู่อย่างนี้ตลอดไป


ถ้อยสนทนาจบแล้ว แต่ความรักยังคงมีการเริ่มต้นเดินไป และมีจุดสิ้นสุดตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร ...ค่ำแล้ว มีผู้คนเดินทางเวียนเทียนในคืนวันเพ็ญเดือนสามมากมาย ทั้งชุดขาว ชุดสี ไม่มีรูปแบบตายตัว ในมือแต่ละคนที่พนมอยู่ มีธูปเทียนและใบไม้รองกันน้ำตาเทียนหยดลงมือ เตรียมเดินไปตามทางแห่งสติ...


เช่นเดียวกับความรัก บางทีเราคิดว่ามีสติก็จริงอยู่ แต่บางครั้งเราก็เผลอให้น้ำตาเทียนหยดลงมือ ไม่ก็ปล่อยให้ธูปเทียนไปจี้คนที่เรารักเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ...ขอโทษสิ แล้วเรียนรู้ไปกับมัน

 

จาก: คอลัมน์ สารคดี หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 8 ประจำวันที่ 5 มีนาคม 2543

ดู 9 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page