top of page

อารมณ์ขันทำให้ชีวิตสนุกขึ้น

จาก: Podcast สมองใส...ใจสบาย EP 05


Photo by Khunying Chamnongsri Hanchanlash


คุณป้ามีเทคนิคในการสอนให้อยู่กับปัจจุบันไหม


ต้องพูดว่าการปฏิบัติธรรมก็เป็นเรื่องของการอยู่กับปัจจุบันอยู่แล้ว ความรู้สึกของร่างกาย สิ่งที่มาสัมผัส มันคือชีวิตที่แท้จริง อันนี้ก็เป็นการฝึก รับรู้ทุกอย่างที่มันเป็น ไม่จำเป็นต้องโฟกัส ทันทีที่โฟกัสมันก็เป็นความพยายาม ไม่ตีความ เวลารู้สึกก็คือรู้สึก


คุณป้าชอบการผจญภัย ชอบการเดินทาง มันมีส่วนที่ทำให้เราอยู่กับปัจจุบันไหม เวลาเราเดินทางเราไม่รู้ว่าเราจะต้องเจออะไรบ้าง


ใช่ๆ แล้วเราก็ต้องรับรู้หลายอย่าง คือ คำว่าผจญภัยนี่ป้าไม่ค่อยชอบ สำหรับป้าไม่ถือว่าคือการผจญภัย มันแค่ไปในที่ที่ไม่เคยไป ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ แล้วมันท้าทาย ถูกไหมคะ มันจะเป็นภัยเหรอ มันไม่ใช่ มันผจญอะไรที่เราไม่รู้จัก และไม่เคยเห็น ตอนอายุ 79 ป้ายังไปอยู่บนหิมาลัยคนเดียว 12 วัน ก็คนเดียวในแง่ของว่า เขาให้เราอยู่บ้านในหิมาลัยเลยนะคนเดียว ให้มีผู้ชาย 2 คนไปอยู่อีกหลังหนึ่ง ห่างออกไปหน่อยเพื่อจะส่งอาหาร


Photo by Khunying Chamnongsri Hanchanlash


คุณป้าไปทำอะไรบนหิมาลัย


ไปอยู่กับปัจจุบัน สวยมาก อยากจะไปปลีกวิเวก ก่อนอื่นจะต้องบอกว่ามีสามีที่ดีที่สุดที่จะมีได้ในปัจจุบัน ไม่ได้ไปเพราะจะหนีเขา ไม่ได้มีปัญหาอะไร เขามีปัญหาว่าทำไมเราต้องทิ้งเขาไปบ่อยๆ แต่ว่า

จริงๆ แล้วมันเป็นการ คือ เราเกิดคนเดียว เราตายคนเดียว เราจะไม่อยากรู้จักคนที่เราเกิดด้วยและจะตายด้วยอย่างนั้นเหรอ ไม่อยากจะรู้จักธรรมชาติของอันนี้เหรอ มันเป็นคนหรือมันเป็นอะไรยังไม่รู้เลย มันเป็น consciousness แล้วเรามารวบว่ามันเป็นฉัน แล้วถ้าสมมติเราไปอยู่อย่างนั้นแล้ว เราลองไม่รวบมันเข้าเป็นฉัน แต่รู้ถึง consciousness อันนี้ รู้ถึงสัมผัสต่างๆ รู้แม้กระทั่งสัมผัสของใจว่า ความคิดนี้มันโผล่ขึ้นมา ป้าว่ามันเป็นการเรียนรู้ชั้นเยี่ยมของการที่เรามาอยู่บนโลกนี้


เวลาที่ผู้สูงอายุในวัย 70 80 อยากจะเดินทางไปใช้ชีวิต มักจะเจอข้อจำกัดในด้านของลูกหลานไม่อยากให้ไป เดี๋ยวกลัวจะอันตราย


ลูกหลานป้ามันพอๆ กับป้า ตอนเล็กๆ คุณพ่อเขาเป็นหมอ เราปล่อยให้เขาวิ่งกัน มีอยู่คนหนึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นผู้หญิงอายุ 54 ที่ขี่บิ๊กไบค์ไปเชียงใหม่ ไปหัวหิน ไปเขาใหญ่ขี่บิ๊กไบค์ตลอด ไม่ยิ่งแย่กว่าป้า

เหรอ เมื่อเด็กๆ เราปล่อยให้เขาวิ่ง คนนี้นะชอบวิ่งบนกำแพงแคบๆ ใครเห็นก็บอกว่า ไม่กลัวลูกหัวแตก

เหรอ ก็เราไม่กลัว เราจะไปกลัวให้เขาทำไม ใช่ไหมคะ พ่อเขาบอกว่าเย็บลูกเขา 4 คน เขาเย็บจนเขาเบื่อแล้ว แล้วฉีดยาชาเย็บแผล มันก็ไม่สวย ทีนี้ก็บอกเลย “ผมเย็บมันสด”


แล้วได้หยุดความซนของลูกไว้ไหมคะ


ไม่หยุดค่ะ เพราะงั้นเด็กพวกนี้จะทนกับความเจ็บได้เก่งมาก ขอโทษนะคะมันไม่เด็กแล้ว มัน 50 กว่ากันทุกคนแล้ว


ผู้สูงอายุอยากใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ลูกหลานไม่อนุญาต อันนี้เราควรจะหาเส้นแบ่งตรงกลางยังไงดี


อันนี้ป้าเคยเขียนหลายหนในเฟสบุ๊คที่ปิดไปแล้ว จริงๆ แล้วมองว่า ชีวิตมันเป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา ชีวิตแม่ก็เป็นของแม่ ชีวิตพ่อก็เป็นของพ่อ คือถ้าเขามองอันนี้ได้ แต่เราเป็นลูกเราเป็นห่วง มันห่วงแต่พอประมาณดีไหม อย่างคุณหมอบอกว่า อย่างตอนนี้ลูกป้าก็คงไม่ให้ป้าปีนไปอยู่ในภูเขาหิมาลัยแล้ว อันนี้ก็เข้าใจได้


Sense of Humor ป้าอยากพูดถึงประเด็นนี้ยังไงบ้าง


ป้าคิดว่า อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิต คือสิ่งไม่ดีทั้งหลายมันมีความดีผสมอยู่เสมอ การไม่มีคุณแม่ทำให้ป้าใช้ชีวิตยามเด็กในการอ่าน พล นิกร กิมหงวน จำได้ไหม มันตลก ตลกมาก คืออ่านแบบไม่บันยะบันยังอะไรแบบนี้ มันก็ขำตลอด อีกอย่างหนึ่งคือโชคดีที่ได้ไปอังกฤษตั้งแต่เด็ก ที่บอกว่ามันประหลาดมากเด็ก 12 ขวบพูดภาษายังไม่ค่อยได้ แต่ในมุมกลับมันมีอะไรที่ดีมากๆ มันทำให้เราเห็นอารมณ์ขันของคนอังกฤษ แล้วเราก็กลายเป็นคล้ายๆ เขา คนอังกฤษเวลาขำ เวลาตลก เขาเรียกว่า

ตลกร้ายเป็นส่วนใหญ่ คือมันจะเห็นความขำในความร้ายของสถานการณ์ เหมือน Mr. Bean นั่นคืออารมณ์ขันของคนอังกฤษ แล้วป้าเป็นคนชอบอ่านหนังสือตลกของอังกฤษ ซึ่งบางอันตลกมาก ตลกร้ายทั้งนั้น เพราะงั้นเราก็เลยมาตลกได้เวลาขาหัก หรือตลกได้ในเวลาอะไรก็ตาม

ในช่วงที่เรายังเป็นเด็กหรือวัยรุ่น ปัญหาบางเรื่องเราคิดว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก แต่พอเราโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมองย้อมกลับไปกลับมองว่าปัญหามันเล็กนิดเดียว


อกหักครั้งแรก โอ้โห อกหักนี่สาหัสมากเลย ก็ไม่รู้จะเล่ายังไงก็เหมือนกับทุกคนนั่นแหละ ใครเคยอกหักก็คงจะรู้ว่ามันเป็นยังไง


แต่เดี๋ยวขอกลับมาเรื่องอารมณ์ขัน แต่ป้าก็เคยเป็น Depression นะ แต่ว่าตอนนั้น Depression เป็นอะไรที่ยังไม่ถูก recognize ยังไม่มีแพทย์จะมาดูแลอะไรแบบนั้น ตอนนั้นอายุก็กลางๆ คน แต่ป้าไม่รู้ว่าป้าจัดการกับมันหรือเปล่า แต่ว่ามันค่อยๆ ถอยออกมาได้ ด้วยการเขียน ไม่ได้ระบาย จำได้ว่านั่งลงและพยายามจะมอง Depression อันนี้ ความรู้สึกของเรา แล้วพยายามจะอธิบายมัน ไม่ใช่อธิบายบอกว่ามันเป็นยังไง เป็นความรู้สึกที่มันเขียนคำอธิบายไม่ได้ เพราะความรู้สึกกับการใช้คำมันแทนกันไม่ได้


เพราะฉะนั้น ตอนนั้นเทคนิคที่มันมาเอง คือมันไม่ใช่ไอนั่น มันไม่ใช่ไอนี่ บทนี่แปลเป็นภาษาไทยแล้วนะคะ แต่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่าอารมณ์เรามันจะออกมาเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะเป็นเพราะว่าเราโตในช่วงวัยรุ่นในอังกฤษ แต่ว่าถ้าในแง่ของความคิดจะเขียนเป็นภาษาไทยก็ไม่รู้ทำไม เพราะงั้นจะออกมาเป็นภาพรวมของสิ่งที่มันไม่ใช่ ไม่ใช่พระจันทร์ ไม่ใช่พระอาทิตย์ มันไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น ทั้งบทกวีนั้นมันเป็นสิ่งที่มันไม่ใช่ แต่มันมาเป็นคลื่นที่ขึ้นมา แล้วก็ถอยไป แล้วเดี๋ยวมันก็มาใหม่ มองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจแล้วพยายามเขียนออกมา ซึ่งจะรู้ว่าเขียนไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้อะไรมาเทียบ เทียบกับอะไรมันก็ไม่ได้ วันหลังจะเอาบทนี้มาเผื่อใครจะเป็นประโยชน์กับใคร แต่ว่ามันหาย หายจากซึมเศร้า


ตอนนั้นคุณป้าจำได้ไหมว่าเรารู้สึกยังไงกับสิ่งที่เขียน


เราไม่รู้สึกยังไงกับสิ่งที่เราเขียน แต่เราแค่เขียนปัจจุบันความรู้สึกแต่ละวินาทีนั้น มันก็เข้าเรื่องการปฏิบัติธรรมอีกนั่นแหละ คือการใช้ความรู้สึกมองความรู้สึก


การพยายามจะอธิบายในสายตาป้า มันกลับเป็นส่วนหนึ่งของการไม่ยอมรับ คือพยายาม ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Intellectualize มัน มันไปปรุงต่อ แต่ว่าสิ่งที่ป้าทำ ป้าทำโดยเพื่อจะช่วยตัวเองไม่ให้จมน้ำ ป้าไม่อธิบายมันด้วยซ้ำ บังเอิญโชคดีที่ว่า พอดีเป็นนักอ่าน แล้วก็เมื่อสมัยเรียนหนังสือที่อังกฤษจะ

หลงรักกวีนิพนธ์ต่างๆ มาก ก็เลยกลายเป็นนักอ่านบทกวี คืออ่านบนเวที เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา ซึ่งกวีนิพนธ์ไม่ใช่การอธิบาย บทความใช่ แต่กวีนิพนธ์ไม่ใช่อธิบาย มัน Feel the Feel มันรู้สึกความรู้สึก


กวีนิพนธ์คือการปลดปล่อยความรู้สึกและก็ยอมรับกับสิ่งนั้น


ป้าไม่รู้ ไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น คือเท่ากับมองหน้า Depression ด้วยการสัมผัส ไม่ใช่ด้วยการอธิบาย มีประสบการณ์กับมัน สรุปแล้วมันจะแตกเป็น 2 คือ ผู้ดู กับสิ่งที่มันเป็น


คุณป้าเคยเอากระบวนการนี้ไป Workshop กับเด็กๆ

ป้าทำกับเยอะมาก คือในชีวิตป้า ป้ารู้ทุกข์ของตัวเองและทุกข์ของคนอื่น คือชีวิตป้าเป็นชีวิตที่รุนแรง แรงมากที่ใครๆ ก็ไม่เชื่อ แต่ว่าป้าทำงาน ครั้งหนึ่งทำงานกับเด็กที่ตกเขียว ป้าบินไปที่แม่สายแล้วทำงานกับเด็กตกเขียว ป้าใช้กระบวนการ บางกระบวนการป้าสร้างกับคุณดนู ฮันตระกูล เราจะใช้วิธีบำบัดโดยไม่ใช่หมอ มันมาจากทักษะทางด้านวรรณกรรม


ประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยได้อ่านเรื่อง “เข็นครกลงเขา” รู้สึกว่าเหมือนเรารู้สึกไปกับผู้เขียน แล้วเราก็ร้องไห้


คือเข็นครกลงเขามันยากกว่าขึ้นเขา เพราะว่ามันจะกลิ้งลงมาลูกเดียว



การบรรยายที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ถ้าท่านผู้ฟังของเราอยากจะลองทำกระบวนการนี้กับตัวเองในเวลาที่ต้องเผชิญปัญหา ความทุกข์ มีคำแนะนำไหม


เราต้องทำ Workshop กัน เราต้องทำชมรมนี้ จะต้องมีกิจกรรมบางอย่างที่ทำเรื่องเหล่านี้


ป้าทำกิจกรรมอันหนึ่ง เราจะเปิดดนตรีให้เขาก่อน เขาจะต้องอยู่กับตัวเอง อยู่กับปัจจุบัน เสร็จแล้วก็ที่มันไหลออกมา ป้าทำกับเด็ก มช.ทีละ 200 คน ชอบกันมากนิ่งสนิทกันทั้งห้อง แต่เราต้องปูอารมณ์ คือไม่ใช่อยู่ดีๆ บอกให้เขาทำ คือต้องปูให้เขาเยอะเลย ก่อนที่เขาจะทำ


ป้าได้สามีที่แสนดีคนนี้มา เพราะป้าจัดให้เขาทำกิจกรรมกับเด็กที่เขาถูกตกเขียว แล้วก็เขาเรียนรู้เยอะมากเลย แล้วตอนนั้นเขาก็อายุ 50 กว่าแล้ว แล้วเราก็แต่งงานกัน ตอนนั้นป้าอายุ 57 เขาอายุ 55 ตอนนั้นป้าเอาเขาผ่านกิจกรรมหลายกิจกรรมที่ทำให้เด็ก เขา impress มากเลย จนเราวิ่งแข่งชนะสาวๆ อื่นๆ ได้ ทั้งที่เราแก่ที่สุด เพราะฉะนั้นความแก่ไม่ใช่ประเด็น


 

รับชมเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่:


 

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page