top of page

ชีวิตกับธรรมะ

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


สกุณา ประยูรศุข


ภาพ : ดร.ชิงชัย และคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ในคอร์สปฏิบัติธรรมที่บ้านน้ำสาน เชียงใหม่



“...ความพยายามในการลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้ค้นพบเกี่ยวบรรพบุรุษ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกแจ่มชัดว่า ชีวิตดำเนินไปในวิถีของเวลา แต่ละนาทีเหมือนเกลียวคลื่นที่เกิดขึ้น แล้วก็หายไปไม่เหลือให้จับต้องได้อีก ความรู้สึกนี้ชวนให้นึกเลยไปเปรียบชีวิตกับเรือสำเภา...ใช้เดินสมุทร...”

คำร้อยเรียงบอกเล่าข้างต้นจากหนังสือชื่อ “ดุจนาวากลางสมุทร” ปลายปากกา “คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์” ผู้ที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นผู้หญิงเก่ง

นี่เองทำให้เกิดความอยากรู้จักผู้หญิงคนนี้มากขึ้น

เพราะแต่ไหนแต่ไรมา รู้จักชื่อเสียงของผู้หญิงคนนี้ก็เฉพาะแต่ในเรื่องธุรกิจ ผู้เป็นประธานโรงพยาบาลจักษุรัตนิน มากกว่าความเป็นนักเขียน กวี ผู้มีผลงานมากมาย

โดยเฉพาะผลงานที่สอดแทรกด้วยความคิดเชิง “ธรรมะ” ด้วยการมองที่หักมุม ลุ่มลึก และบ่อยครั้งก็

คลุกเคล้าด้วยอารมณ์ขัน

คุณหญิงไม่ได้เพียงแค่เขียน แต่ยังเป็นผู้ปฏิบัติธรรมด้วยตัวเองอีกด้วย โดยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศิษย์ท่านพุทธทาส ที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี และปัจจุบันก็ยังปลีกวิเวกไปอยู่ตามป่าเขาเพื่อการปฏิบัติอยู่เนืองๆ

ดุจนาวากลางมหาสมุทร เป็นผลงานเชิงประวัติศาสตร์ จากการค้นคว้าเรื่องราวของบรรพบุรุษตระกูล

หวั่งหลี (ตระกูลทางแม่คุณหญิง) ซึ่งอพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง ในต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อ 140 ปีก่อน

คุณหญิงเล่าไว้ใน “นิตยสารซีเคร็ต” ว่า กำพร้าแม่ตั้งแต่ยังไม่สามขวบ วัยเด็กอยู่บ้านสวนริมคลองสำเหร่ ได้ว่ายน้ำคอลง งมหอยขม กระโดดท้องร่อง ช้อนปลา เล่นน้ำฝนตามประสาเด็กบ้านสวน

สมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีศูนย์การค้า ไม่มีอินเตอร์เน็ต หนังสือจึงเป็นทั้งเครื่องคลายเหงาและเพื่อน

ที่ให้ความสุขสนุกสนานและความรู้ความคิด แต่เด็กหญิงนักอ่านคนเดียวกันนี้ กลับเรียนหนังสือไม่เก่งเอาเลย แถมยังถูกคุณครูทำโทษสารพัด ให้ยืนกางแขน ไม้บรรทัดฟาด ครบกระบวนปัญหาหลักคือ

ชอบเหม่อและฝันโน่นคิดนี่


“ดิฉันเป็นคนขี้ลืมนะแต่ถ้าเป็นงานกวีละก็ท่องจำได้ยาวๆ คุณยายชอบอ่านวรรณคดีอย่างรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 ให้ฟังตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก จังหวะ เสียง และรสของภาษาคงเข้ามา

อยู่ในตัว ความเหงาในวัยเด็กก็มีส่วนเยอะ ทำให้สังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นมองข้าม เช่น รายละเอียดของความทุกข์ ความสุข การเปลี่ยนของแสง สี เสียงในธรรมชาติ และความรู้สึกนึกคิด ทั้งหมดนี้คงเป็นเชื้อให้กลายเป็นนักเขียน...”

คุณหญิงแต่งงานครั้งแรกกับ นพ.อุทัย รัตนิน และร่วมกันสร้างโรงพยาบาลจักษุรัตนิน จนเป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางจักษุฯที่โด่งดังแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อคุณหมออุทัยจากไปด้วยระบบหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรง คุณหญิงก็ดำเนินการต่อตามลำพัง จนกระทั่ง นพ.สรรพัฒน์ รัตนิน ลูกชาย

ที่เป็นจักษุแพทย์เหมือนคุณพ่อรับช่วงต่อ

เมื่อแต่งงานอีกครั้งกับ ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ในปี 2540 เมื่ออายุ 57 ปี และมีหลานยายแล้วถึง

4 คน ก็มีวิจารณ์กันพอสมควร คุณหญิงพูดถึงการแต่งงานครั้งนี้ว่า ได้เพื่อนชีวิตที่จิตใจดี ฉลาดมาก อัตตาน้อย โลภน้อย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันอย่างสบายๆ


“ตอนแต่งงานคนดีใจด้วยก็มี คนวิพากษ์วิจารณ์ก็มี แต่เราก็ใกล้จะ 60 กันแล้ว ใครจะว่าอะไร

ก็เหมือนไม่ใช่เรื่องของเรา...ที่สำคัญคือ ลูกๆ ทั้ง 4 ชอบเขา และดีใจกับแม่ ”

การเขียนเริ่มในสมัยเป็นนักเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษ สิ่งแวดล้อมที่เป็นป่าที่ชุ่มฉ่ำทำให้คุณหญิงเริ่มแปลงสิ่งที่สัมผัส ได้ยิน ได้เห็น และความรู้สึกนึกคิดลงเป็นภาษาเขียน เมื่อกลับเมืองไทยก็ได้ทำงานเป็น

นักข่าว คอลัมนิสต์ ใน Bangkok World หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษในสมัยนั้นอยู่หลายปี

ผลงานคุณหญิงมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ทั้งประเภทกวีนิพนธ์ บทละคร หนังสือเชิงประวัติศาสตร์และเชิงธรรมะที่เป็นหนังสือขายดีอย่าง “วิชาตัวเบา” “เข็นครกลงเขา” และ “ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง” หนังสือเด็กรวมทั้งที่ได้รับรางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ อาทิ “เจ้าแสดแปดขา” และ “ตุ๊กแกกั๊บแจกลาย”

วัยย่าง 71 ปีแล้ว แต่คุณหญิงจำนงศรียังดูสดใส กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ยิ้มง่าย หัวเราะง่าย ใช้ชีวิตเรียบๆ กับสามีในคอนโดฯกลางเมือง

ส่วนหนึ่งอาจเป็นธรรมะที่ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิต



·

ไปใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่เด็ก สมัยนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?


ตั้งแต่อายุ 12 ถึงเกือบ 19 ตอนนั้นอังกฤษกำลังฟื้นตัวจากสงครามโลก ลำบากนะ เช่น แรกๆ ไปอยู่กับแม่บ้าน เรียนภาษาก่อนเข้าโรงเรียน ก็อาบน้ำร้อนได้แค่อาทิตย์ละหน กินไข่อาทิตย์ละฟอง น้ำตาลก็จำกัด ที่ทารุณจริง ๆ ก็คือไม่ว่าจะหนาวแค่ไหน พอเข้านอนก็ปิดเครื่องทำความร้อน


สมัยนั้นมีคนไทยน้อยมาก โรงเรียนประจำที่ไปอยู่ไม่มีต่างชาติเลย มีแต่คนอังกฤษ แรกๆ มีปัญหาด้านภาษาและการเข้ากับเพื่อน ต่อๆ มามีเพื่อนมากขึ้น เรียนดีขึ้น จนกลายเป็นเด็กเรียนเก่ง ก็แปลกดีนะ

·

...ทำไมไม่เรียนมหาวิทยาลัยที่นั่น?


คุณพ่อเป็นเบาหวาน ตากำลังจะบอด ก็กลับมา พอลูก 4 คนโตๆ กันแล้ว ก็ไปเรียนรามคำแหง

จนได้ปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 1) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ยังมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาให้อีกเมื่อตอนอายุ 60 กว่า


กลับมาเมืองไทยก็ทำงานที่บริษัท ล็อกซเล่ย์เลย อยู่แค่ไม่กี่เดือน บ.ก.หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ

บางกอกเวิร์ลด์ (Bangkok World) มาชวนไปเป็นนักข่าวและคอลัมนิสต์ สนุกมาก ได้เรียนรู้มาก ไม่นานก็ได้เป็นบรรณาธิการข่าวฝ่ายผู้หญิง สังคม และวัฒนธรรม ทำงานหนังสือพิมพ์อยู่ 3 ปีกว่าๆ ก็ลาออก

มาแต่งงานและเริ่มสร้างโรงพยาบาล

·

...สาเหตุที่คุณหญิงสนใจการปฏิบัติธรรม?


เริ่มจากความสงสัย ความอยากรู้ อยากลอง ตอนนั้นอายุยังไม่ 30 ต่อมาอีก 20 กว่าปี ความทุกข์ที่รู้สึกว่าหาทางออกไม่ได้ ทำให้เข้าปฏิบัติอย่างจริงจัง ต้องอธิบายว่าสาวๆ ไม่เอาศาสนาเลย ถึงจะโตในศาสนาพุทธก็ไม่ศรัทธา เพราะเห็นแต่พิธีกรรม เห็นการทำบุญแบบโลภผล อธิษฐานขอโน่นขอนี่มากมาย เห็นคนนอบน้อมกับพระ แต่ดูถูกคนที่ด้อยกว่า


ถึงจุดเปลี่ยนเอาเมื่อคุณแม่หมออุทัยถูกจักรยานชนล้มกระดูกหักถึงจะเจ็บมาก แต่กลับไม่โกรธ

ไม่กังวล ไม่เอาเรื่องใคร ทุกอย่างเรียบง่ายไปหมด หมอโรงพยาบาลตำรวจก็ทึ่งมาก ที่ท่านเข้าเฝือกโดยไม่ต้องดมยาสลบ ถามท่านว่า “เจ็บไหม” ท่านก็ตอบว่าเจ็บ แต่มันเป็นแค่เวทนา ถ้าไม่เอาใจไปยุ่งเกี่ยวกัน เราก็ไม่เดือดร้อน

สนใจปิ๊งขึ้นมาเลย เริ่มจากเวทนาในขันธ์ 5 นี่แหละ อยากรู้ อยากเข้าใจ ก็เอาเลย ทั้งอ่าน ทั้งฟัง ไปนั่งซักถามพระไทย พระฝรั่ง แล้วก็ขยายไปเรื่องอื่นๆ อัศจรรย์ใจกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาก

รู้ตัวเลยว่าไอ้ที่นึกว่าตัวเองฉลาดน่ะโง่มาตลอด (หัวเราะ) คุณแม่คงมองด้วยความสมเพช เพราะวันหนึ่ง

ก็พูดเบาๆ ที่อ่านที่ฟังน่ะมันแค่ทฤษฎีไม่เข้าแล็บดูบ้างหรือ

·

...แล็บอะไรคะ?


ก็ไหนล่ะที่สัมผัสรู้ได้โดยตรงกายกับใจเราใช่ไหม คนเราคิดอะไร รู้อะไร เจ็บตรงไหนอย่างไร

ใครอื่นจะรู้ สดๆ จริงๆ ได้ จะรักกันแค่ไหนก็เจ็บแทนกันจริงๆ ไม่ได้ แล็บก็ตัวเราน่ะซิ แค่รู้หลักธรรม

มันยังไม่ใช่ อย่างสับปะรดเนี่ย คุณศึกษามาว่ารสชาติเป็นอย่างไร มีประโยชน์กับร่างกายอย่างไร

คุณคิดว่ารู้หมด เข้าใจหมด แต่พอเอาเข้าปาก เคี้ยว กลืน ถึงจะรู้จริง การศึกษาธรรมะกับปฏิบัติธรรม

ก็ทฤษฎีกับแล็บไง

· .

..ไปเข้าแล็บเลยหรือ


ค่ะ ไปเลย ทิ้งลูกเล็กๆ ไป 3 วัน ไปอยู่คนเดียว โน่น ที่อ้อมน้อยเป็นสถานปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีคนอื่นเลย บ้านเป็นหลังๆ แต่ว่างหมดล้อมรอบด้วยทุ่งนา ก็ได้สัมผัสธรรมชาติของกายใจ เห็นการผ่านมาผ่านไป ของความรู้สึก นึก คิด เห็นเลยว่าสามอย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันทีเดียว แต่มันมากันเป็นพวง เช่น ได้ยินเสียงกุกกักก็นึกถึงเรื่องผี ที่เคยอ่าน เคยฟังมา แล้วก็คิดต่อว่าเดี๋ยวนั่น เดี๋ยวนี่ แล้วแต่จะคิดสร้างในใจ ความกลัวเกิดทันที อยู่คนเดียวนี่ มันให้โอกาสเราได้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเอง เห็นความไม่คงที่ของสัมผัส ของความรู้สึก นึก คิด เห็นมันโยงกับ “ฉัน” อย่างไร และการโยงนี่มันทำให้อยาก ให้หงุดหงิด

ให้กลัว ให้โกรธได้อย่างไร


เข้าแล็บทางธรรมครั้งนั้นเรียนรู้ธรรมชาติของตัวเองเยอะมาก แต่แล้วก็ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ทำต่อหลงโน่นนี่อยู่เกือบ 20 ปี จนทุกข์หนักนั่นแหละ ก็รู้ว่าเราต้องเข้าแล็บเพื่อพัฒนาใจเราให้ขึ้นเหนือทุกข์ได้อย่างน้อยในระดับหนึ่ง


...ครั้งที่สองไปเพราะความทุกข์-คุณหญิงมีความทุกข์?


(หัวเราะ) อย่ามองว่าสถานภาพ เพื่อนฝูง เป็นสูตรวัดทุกข์ วัดสุข ทุกข์มันมาหลากหลายรูปแบบอย่างเช่นทุกข์จากความรัก เกลียด โกรธน่ะไม่เลือกฐานะนะคะ ถ้าไม่มีวุฒิภาวะทางใจล่ะก็ ชื่อเสียง พรรคพวก สินทรัพย์ อำนาจก็แก้ทุกข์ที่ใจไม่ได้หรอก ถ้าพึ่งสิ่งเหล่านี้มาก ก็ยิ่งไม่เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจ และแก้ทุกข์ด้วยสติและปัญญา การแก้ทุกข์ที่ขาดสติ จะพาทุกข์อื่นที่นึกไม่ถึงให้ตามมาอีก เป็นหาง คนที่มีพรรคพวกพี่น้องแวดล้อมเห็นอกเห็นใจ อาจจะติดการอาศัยคนอื่นเป็นเครื่องค้ำยันใจ เวลา

มีปัญหากับใคร ถ้ามีพรรคพวกเข้าข้างช่วยด่าว่าอีกฝ่ายหนึ่ง อัตตาเราเหนียวแน่นขึ้น สงสารตัวเอง โกรธแค้นคนอื่นมากขึ้น ใจเราก็จะทุกข์ง่ายขึ้น สุขยากขึ้น วัตถุ ชื่อเสียง สถานภาพ อาจจะเป็นตัวปัญหาด้วยซ้ำ คนที่ทุกข์เพราะเหลิงสมบัติ เพราะหลงอำนาจเยอะแยะไป

การปฏิบัติธรรมทำให้สัมผัสและรู้ทันความโลภโกรธ หลงในตัวเอง และความไม่แน่ไม่นอนของทั้งทุกข์และสุข ความทุกข์ ความสุขจับต้องไม่ได้ เป็นของใครของมัน คนนอกมองไม่ออกหรอก

·

...ไปปฏิบัติที่สวนโมกข์ด้วย?


ไปเลย ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักสวนโมกข์ ไม่รู้จักท่านพุทธทาส ไปอย่างทุลักทุเล สวนโมกข์อยู่ภาคใต้เราหิ้วกระเป๋าขึ้นรถไฟสายเหนือไปรู้ตัวเอาที่ดอนเมือง รุ่งขึ้นเอาใหม่ กระหืดกระหอบไป ตกเครื่องบินเที่ยวเช้า นั่งรอขึ้นเที่ยวบ่าย ถึงสนามบินสุราษฎร์ฯ ก็มัววุ่นวายโทรศัพท์ถึงบ้าน (ยุคนั้นไม่มีมือถือ) กว่าจะออกมาก็ไม่มีรถเหลือ มีแต่ปิคอัพของผู้ชายคนหนึ่ง ก็วิ่งไปขอเขาติดรถไปสวนโมกข์ เขาจะไปแค่บ้านดอน จากตลาดบ้านดอน นั่งแท็กซี่คันสุดท้าย เบียดแอ้ดไปกับพ่อค้าแม่ค้าและกระบุงตะกร้า ถึงสวนโมกข์ก็จะมืดแล้วคนหน้าวัดบอกว่าคอร์สอบรมไม่ใช่ที่นี่ โน้น..ที่ศูนย์นานาชาติ ไกลออกไปอีก 2-3 กิโล (หัวเราะ) หมดแรงเลย นั่งแปะบนก้อนหินกลางฝุ่นหน้าวัด กำลังคิดว่าจะทำไงต่อ พอดีมีรถสองแถวแล่นออกจากวัด พระหนุ่มที่นั่งมาหยุดถามและโชคดีที่กำลังจะไปที่นั่นพอดี


...ไปแล้วได้อะไร?


ได้สัมผัสรู้ด้วยตัวเองว่า “ตัวกูของกู” ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสย้ำว่าเป็นเหตุของปัญหาและ

ทุกข์ทั้งปวง น่ะจริง การที่จะยื้อยุดอะไรก็ตามให้มันคงที่ อย่างที่ “ตัวกู” ต้องการ เป็นความโง่อันมหันต์


แล้วก็ได้รู้ว่าการยกโทษกับการให้อภัยนั้น มันไม่เหมือนกัน “ยกโทษ” น่ะทำได้ด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ มันง่าย แต่การ “ให้อภัย” นั้น ต้องวาง “ตัวกู ของกู” ในเรื่องนั้นๆ ลง อภัยทานจะเกิดเอง ไม่ง่ายหรอกค่ะ แต่ค่อยๆ ทำ ก็จะค่อยๆ ได้


ได้เห็นว่าการยึดติดกับความคิดกับความเชื่อ หรือแม้กระทั่งกับความดี น่ะทำให้เราทุกข์ได้มาก ฉันดีขนาดนี้ ฉันไม่เคยไปทำอะไรผิด ทำไมถึงได้โดนอย่างนี้ บางทีอาจจะทุกข์มากกว่าคนที่ไม่ดีด้วยซ้ำ “ความดีของฉัน” กลายเป็นเส้นผมบังภูเขา ทำให้ไม่เข้าใจทุกข์จึงหาทางออกไม่ได้


...เมื่อเราไม่สามารถละทิ้งหน้าที่การงานไปนั่งปฏิบัติได้ เราจะทำอย่างไรถ้าอยากปฏิบัติ?


ดิฉันคิดอย่างนี้ การหลีกเร้นไปปฏิบัติ ก็เหมือนกับฝึกทักษะการว่ายน้ำในสระที่ไม่มีคลื่น ไม่มีลม อยู่ในชีวิตจริงเหมือนว่ายในทะเล คลื่นลมมากน้อยบ้างไม่แน่นอน แรกๆ ฝึกว่ายในสระง่ายกว่าแน่นอน จำเป็นจริงๆ จะฝึกในทะเลก็ได้ นึกได้เมื่อใดที่เอาใจมารู้กาย รู้ใจในปัจจุบันขณะ เป็นการฝึกสติ

ใครมาบอกวิธีว่ายน้ำ ถ้าเราไม่ลงน้ำ จะรู้จริงไหม? ถ้าไม่ลงว่ายในทะเลบ้าง อยู่แต่ในน้ำบ่อ ก็อาจจะหลงว่าเราเก่ง ออกมาในชีวิตจริงถึงจะเห็นว่าคลื่นแบบไหนทำให้เราจมน้ำ สำลักน้ำ ก็กลับไปฝึกตรงนั้น

ในสระ แล้วออกมาลองใหม่


สำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปปฏิบัติอย่างคุณนั่งอยู่อย่างนี้ คุณรู้ตัวทั้งตัวไหม? รู้โดยที่ไม่ต้องมีคำพูด รู้สึกมือทั้งมือไหม โดยที่ไม่ต้องเห็นเป็นมือ เราไม่เคยเห็นหน้าตัวเองตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ใช่ไหม? เห็นแต่เงาสะท้อนในกระจก แต่คุณสัมผัสความรู้สึกที่หน้าคุณได้ใช่ไหม ของจริงในปัจจุบันขณะใช่ไหม

นี่ไงคุณเริ่มปฏิบัติแล้ว (หัวเราะ)


เราเห็นม่านไหวอย่างนี้ ณ วินาทีนี้ แต่ – แต่ละนาทีมันผ่านไป พอมันผ่านไปแล้วเราไปคิดว่า ตะกี้ฉันเห็นม่านไหวอย่างนั้น เราก็ไม่ได้อยู่ในปัจจุบันแล้ว แต่ถ้าเรารู้ตัวว่ากำลังคิดอย่างนั้น ก็อยู่ในปัจจุบันคือรู้ความคิดขณะที่คิด เห็นการเปลี่ยนแปลงของความคิดในแต่ละขณะ เห็นไหมคะฝึกได้...เป็นสิ่งที่ฝึกได้


จิตและกายที่ผูกติดกันอยู่ ทั้งสองสิ่งนี้ไม่เคยอยู่กับที่เลย ร่างกายมีเซลล์เกิดเซลล์ตายตลอดเวลา แล้วจิตนี่ไม่เคยหยุดนิ่ง การรับรู้เปลี่ยนไปทุกขณะจิต เราไม่เคยคิดอันนี้มาก่อนเลย เพราะว่าเราไม่เคยปฏิบัติธรรม

ความเบื่อความเหงา อย่าไปหนีหรือหาทางหลบมัน แต่ดูมันให้รู้จักว่ามันคืออะไร มันเป็นความอยาก

ทำอะไรที่ไม่ได้กำลังทำอยู่ อยากอยู่กับใคร ที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นใช่ไหม เหงาและเบื่อเป็นความทุกข์ของ

การต้องการหนีจากปัจจุบันใช่ไหม คุณจะเริ่มเห็นสิ่งเหล่านี้เอง เห็นอาการของใจนี่ก็คือการปฏิบัติธรรม

·

...ทุกวันนี้ยังมีงานมากมาย


จริงๆ แล้วงานดิฉันไม่เยอะ งานโรงพยาบาลดิฉันไม่ยุ่งเลย ให้ลูกเขารับไปหมดแล้ว อื่นๆ ก็ช่วยเรื่องที่เราช่วยได้ ไปพูดบ้างให้คำปรึกษาบ้างเท่าที่จะทำได้


ที่ตรงใจมากก็คือโครงการฝึกอบรม “วิถีสู่ความตายอันสงบ” ของเครือข่ายพุทธิกาและท่านอาจารย์ไพศาล วิสาโล อยากให้สังคมตื่นตัวในเรื่องของสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้คือความตาย โดยเฉพาะประเด็นของการยื้อชีวิตในกรณีที่หมดหวังแล้ว ท่านอาจารย์ไพศาล ท่านบอกว่าอยากจะเปลี่ยนไปเรียกว่า “โครงการอยู่สบายตายสงบ” มากกว่า เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ค่อยอยากนึกถึงความตาย

ดิฉันได้ไปคุยกับมหาวิทยาลัยหอการค้า ขณะนี้อาจารย์ทีมหนึ่งของเขากำลังเขียนโครงการวิจัยว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์ความตาย


เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะ ตอนนี้คนแก่มากขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์สูงขึ้น คนอายุยืนขึ้น ครอบครัวมีลูกน้องน้อยลง ภาระของคนวัยทำงานจะเพิ่มขึ้น เพราะสัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การยื้อชีวิตทรมานทั้งผู้ป่วย ทั้งญาติที่รับผิดชอบเป็นการสิ้นเปลืองทั้งพื้นที่ ทั้งเครื่องมือ ยา และบุคลากรทางการแพทย์ที่จะรักษาคนป่วยที่หายได้ เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ เพราะไปเกี่ยวพันกับจิตใจ กับเรื่องของคำว่า “กตัญญู”


คำว่ากตัญญูจริงๆ มันคืออะไร นี่ตัวเองเป็นคนแก่ เป็นแม่ เป็นย่า ยาย ก็พูดได้เต็มปากว่า ถ้าลูกหลานกตัญญูกับให้แม่ ในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ขอให้แม่ไปอย่างสงบ ไม่ใช่ตัดใจให้แม่ตายไม่ได้เพราะรัก ไม่ใช่กลัวใครจะว่าไม่ดูแลแม่ ไม่ใช่กลัวตัวเองบาป เพราะปล่อยให้แม่ตาย


กลัวตายแค่ไหนก็ต้องตาย อยู่กับชีวิตได้ ก็ต้องรับความตายได้ เพราะมันคู่กัน

·

...คุณหญิงรู้สึกอย่างไรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ


ไม่รู้สึกว่าความสำเร็จกับดิฉันมันเกี่ยวกันนะ ไม่ว่าจะด้านไหนอะไรที่ทำแล้วก็เสร็จไปแล้ว ผลได้ตาม

เป้าหมายบ้าง เบนไปบ้าง ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามที่คิดหรอก ความสำเร็จที่ใครๆ ว่าเป็นของดิฉันน่ะ เป็นการนิยามของคนอื่นที่เห็นอย่างนั้น รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของคนมาถามมากกว่าเป็นเรื่องของเรา


 

จาก: มติชนสุขสรรค์, หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม 2553


ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page