top of page

คืนสู่วัฎจักร





"ชีวิตของเรา เรายังชีพด้วยการกินของตาย แล้วทำไมเวลาที่ตายไป เราถึงเป็นเครื่องต่อชีวิตอื่นให้ดำรงอยู่บ้างไม่ได้

“การเผาศพตามประเพณีของไทย ทำให้เกิดมลพิษมากมาย ป้าศรีลองมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรให้

การตายไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการตายที่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็ไม่กระทบต่อประเพณี รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง วัด หรือสังคม ก็คิดว่าจะดีไหม ถ้าเราจะใช้โลงศพแบบย่อยสลายได้ สามารถจัดพิธีสวดศพได้ตามแบบเดิม ไม่กระทบต่อคนที่เป็นญาติพี่น้อง ส่วนวัดก็ยังคงทำหน้าที่จัดสวดได้เหมือนเดิม แต่แทนที่จะเผา ใช้วิธีการฝังแล้วปลูกต้นไม้แทน เป็นการคืนร่างสู่ธรรมชาติ


ในส่วนของพื้นที่ที่ใช้ฝัง อาจจะเป็นของรัฐหรือเอกชนก็ได้ จัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม ให้ลูกหลานได้มาเยี่ยม มาระลึกถึง และเปิดให้คนทั่วไปได้มาหย่อนใจ หาความสงบ เจ้าของพื้นที่อาจจะคิดค่าใช้จ่ายในการดูแล

รวมถึง เราอาจจะมองไปที่พื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย กลายเป็นภูเขาหัวโล้น อาจจะใช้วิธีนี้ ทำให้กลายเป็นพื้นที่ป่าอีกครั้ง

อีกวิธี หลังจากการสวดศพตามประเพณีแล้ว วัดเก็บร่างไว้ อาจสร้างที่เก็บเป็นช่องๆ มีหลายๆ ชั้น เก็บไว้ให้ผ่านกระบวนการย่อยสลายกลายเป็นดิน ลูกหลานก็มารับไป อาจจะรับไปทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อไปประกอบพิธีหรืออื่นๆ ตามความต้องการส่วนที่เหลือหรือในกรณีที่ไม่ต้องการเก็บกลับไป วัดก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกต้นไม้

สำหรับส่วนตัวป้าศรีเอง ได้เคยพูดถึงความคิดนี้กับท่านอาจารย์พระไพศาล(วิสาโล) ท่านก็บอกว่า จะช่วยทำให้ ท่านจะปลูกต้นนิโคธให้”


บันทึกความคิดคุณหญิงจำนงศรี

15 มิถุนายน 2565







'ความตาย' ของคนที่รักและใกล้ชิด เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ และการจัดการร่างของผู้วายชนม์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประเพณีและพิธีกรรมสำหรับงานศพ เป็นหนึ่งในรูปแบบทางวัฒนธรรมที่มนุษย์ใช้จัดการปัญหาเหล่านี้ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และเช่นเดียวกับวัฒนธรรมประเพณีอื่นๆ พิธีกรรมเกี่ยวกับศพเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตามบริบทแวดล้อม อาทิ ศาสนา ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตและความตาย ความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย เศรษฐกิจ ฯลฯ


สำหรับเวลานี้ ที่มนุษย์กำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ในขณะที่มีการประมาณการณ์ว่า ภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) โลกจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตราว 80 ล้านชีวิตต่อปี และจำนวนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 102 ล้านชีวิตต่อปี ภายในปี 2060 (พ.ศ. 2603) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นความท้าทายหลักที่นำไปสู่ความพยายามมองหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับร่างกายของมนุษย์ และมุมมองใหม่ๆ ต่อ 'ความตาย'


“คุณอยากเป็นขยะหรือปุ๋ย” คำถามท้าทายจาก Loop Biotech B.V. บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เจ้าของนวัตกรรม โลงศพมีชีวิต (Living Cocoon) ที่ใช้พลังของเห็ดราคืนร่างกายมนุษย์สู่วัฏจักรธรรมชาติ “มนุษย์เราดำรงชีวิตแบบเป็นปรสิตต่อธรรมชาติมาโดยตลอด แม้แต่ตอนตาย ไม่ว่าจะเป็นการฝังที่ต้องตัดต้นไม้มาทำโลงศพ ปกป้องร่างจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ หรือการเผาที่ทั้งทำลายร่างที่อุดมด้วยสารอาหาร และสร้างมลพิษในอากาศ เราละเลยศักยภาพของร่างกาย มองเหมือนเป็นของเสีย ทั้งที่เราสามารถเป็นส่วนที่มีคุณค่าต่อธรรมชาติ หล่อเลี้ยงโลกด้วยโภชนอันอุดม เพื่อให้ชีวิตใหม่งอกงาม และได้ย้อนคืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฎจักร(loop)ธรรมชาติ”


โลงศพแบบใหม่สร้างจากไมซีเลียม(mycelium)ซึ่งเป็นเส้นใยใต้ดินของเห็ดรา จากหลักการที่ว่า ไมซีเลียม เป็นนักนักรีไซเคิลชั้นยอดของโลก ทำหน้าที่เปลี่ยนสารอินทรีย์จากร่างไร้ชีวิตให้เป็นสารอาหารชั้นเยี่ยมสำหรับพืช ภายในโลงบุด้วยมอส ที่ไม่เพียงให้ความรู้สึกถึงการโอบอุ้มที่อุ่นเอื้อของธรรมชาติ ยังช่วยเสริมกระบวนการย่อยสลาย


โลงศพและวิธีการฝังแบบเดิม ปิดกั้นการเข้าถึงของออกซิเจนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการย่อยสลาย ทำให้อยู่ได้นานนับสิบปีและร่างกายมนุษย์ที่อยู่ภายในไม่สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด แต่โลงไมซีเลียมไม่เพียงสลายตัวภายใน 45 วัน ยังอุดมด้วยแบคทีเรียและจุลินทรีย์ ทำหน้าที่เปลี่ยนสสารที่เหลืออยู่เป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตใหม่ พร้อมกับช่วยขจัดสารพิษในร่างและในดินรอบๆ ภายใน 7 วัน ชีวิตใหม่เริ่มงอกและในท้ายที่สุดทุกอย่างจะย่อยสลายหมุนเวียนกลับสู่วัฎจักรธรรมชาติ


ในทิศทางเดียวกัน บริษัทสัญชาติอเมริกัน รีคอมโพส (Recompose) ให้บริการเปลี่ยนร่างผู้วายชนม์เป็นดิน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 หลังจากรัฐวอชิงตันผ่านกฎหมายอนุญาตให้ใช้วิธีนี้ในการจัดการศพได้ใน

ปี พ.ศ. 2562 ต่อมารัฐโคโลราโดและโอเรกอนผ่านร่างกฎหมายเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2564 รวมทั้งมีความพยายามผลักดันผ่านร่างกฎหมายนี้ในรัฐอื่นๆ ของสหรัฐฯ อีกด้วย


'จากดินสู่ดิน' เป็นแนวคิดในการจัดการร่างของรีคอมโพส เริ่มต้นจากการศึกษา 'วัฎจักรของดิน' ตามธรรมชาติในผืนป่า “ดินอุดมเกิดจากการหมักของต้นไม้ใบหญ้ารวมถึงพืชเล็กๆ อย่างมอส ที่ร่วงหล่นทับถมกัน ย่อยสลายเป็นดินชั้นดี ให้รากพืชได้ดูดซับสารอาหารส่งไปยังกิ่งก้านเหนือขึ้นไป รีคอมโพสใช้หลักนี้ของธรรมชาติ เปลี่ยนความตายของเราให้กลายเป็นดิน เพื่อให้เราได้ใช้คืนธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงเรามาชั่วชีวิต”


ร่างของผู้เสียชีวิตจะได้รับการจัดเก็บในช่องรูปหกเหลี่ยม ที่สร้างให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ จากนั้นกลบทับด้วยเศษไม้สับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้นอัลฟัลฟา และฟางข้าว เลียนแบบสภาพในผืนป่า พร้อมควบคุมปัจจัยแวดล้อม ทั้งความชื้น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจน ให้เหมาะสมกับการเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในการย่อยสลาย ใช้เวลาประมาณ 4-6 อาทิตย์ ร่างจะย่อยสลายลงอย่างสมบูรณ์ กลายเป็นดินราว 1 ลูกบาศก์หลา(0.76 ลูกบาศก์เมตร) และเป็นดินที่มีความปลอดภัยจนสามารถนำไปใช้ปลูกผักได้ ญาติมิตรสามารถรับดินทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ปลูกต้นไม้หรืออื่นๆ ได้ตามความประสงค์ ในกรณีที่มีดินเหลือหรือต้องการบริจาคดิน ทางบริษัทจะนำไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป


อย่างไรก็ตาม ความตายและร่างกายมนุษย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากกว่าแค่เพียงข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ทางด้านรีคอมโพสจึงต้องยืนยันในประเด็นนี้ว่า “ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเคารพ เห็นอกเห็นใจ นับแต่ช่วงเวลาแห่งความตายจนกระทั่งร่างสลายเป็นดิน”


บริการครอบคลุมตั้งแต่การช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ในช่วงเวลาการเดินทางครั้งสุดท้าย การขนย้ายร่าง ประกาศข่าวมรณกรรมและพิธีกรรมออนไลน์ ก่อนบรรจุร่างในที่เก็บ รวมถึงการขนย้ายดินที่จัดทำให้งดงามและเปี่ยมความหมาย แบบ 'พากลับบ้าน' ในทำนองเดียวกัน สำหรับผู้ประสงค์จะบริจาคดิน ดินทั้งหมดจะได้รับการดูแลด้วยความเคารพ โดยความร่วมมือกับองค์กร Remember Land นำไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์พื้นที่ป่า พืชและสัตว์หายาก ใน Bell Mountain ที่มีพื้นที่ราว 700 เอเคอร์


ย้อนกลับมาดูสังคมไทย ที่มีวิธีการจัดการศพคล้ายกับกลุ่มคนในดินแดนสุวรรณภูมิทั้งหมด กล่าวคือในยุคก่อนรับศาสนาจากอินเดียใช้วิธีทิ้งร่างในป่าช้าและฝังเฉพาะศพคนสำคัญเท่านั้น เมื่อรับพุทธศาสนาจากอินเดียจึงใช้วิธีการเผาร่าง และยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน สำหรับส่วนคนไทยส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ ข้อจำกัดเรื่องที่ดินทำให้กลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์หรือคนไทยเชื้อสายจีน หันมาใช้วิธีการเผาศพมากขึ้น เรียกได้ว่า วิธีการเผาศพเป็นวิธีการหลักในการจัดการกับศพของคนไทย


แม้จะทำมาช้านานหลายร้อยปีและมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร ทำให้การเผาศพส่ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามลำดับ


ปัจจุบันประเทศไทย มีเตาเผาศพทั้งหมดประมาณ 25,500 เตา ข้อมูลจาก Natural Death Centre ระบุว่า ในการเผาศพแต่ละครั้ง ใช้ก๊าซและไฟฟ้าเทียบเท่ากับการขับรถยนต์กว่า 500 ไมล์ (ราว 805 กิโลเมตร) และการเผาไหม้ของแต่ละศพปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 250 ปอนด์ (ประมาณ 113 กิโลกรัม)

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางวัดที่เตาเผาไม่ได้มาตรฐาน ยังส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และขี้เถ้าจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อสุขภาพและยังเป็นสาเหตุของโลกร้อน


เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุม เพื่อควบคุมเตาเผาให้ได้มาตรฐาน ลดปัญหามลพิษทางอากาศ

นับได้ว่าเป็นก้าวแรกๆ ของการให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ในส่วนของพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย แม้ว่าส่วนใหญ่มุมมองต่อพิธีกรรมงานศพอยู่ที่การแสดงความรักและเคารพต่อผู้วายชนม์ ที่ผู้อยู่เบื้องหลังจะต้องทำให้ดีที่สุด เช่น การหาหีบศพที่ดีที่สุด แข็งแรงที่สุด เพื่อเป็น 'บ้านหลังสุดท้าย' ซึ่งแนวคิดนี้อาจจะเปลี่ยนไป สำหรับกลุ่มคนสูงวัยรุ่นใหม่ที่เผชิญกับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ความแปรปรวนของสภาวะอากาศ มลพิษต่างๆ และต้องการให้การจากไปของตนเองเป็นประโยชน์มากกว่าส่งผลกระทบต่อโลก


ผลสำรวจของ Funeral and Memorial Information Council สหรัฐอเมริกา พบว่ากว่า 64% ของคนที่อายุเกิน 40 ปี มีความสนใจในพิธีฝังศพรักษ์โลก ดังนั้นแม้โดยรวมแนวคิดนี้ ยังอยู่ในจุดเริ่มต้นและต้นทุนการจัดการร่างในแบบใหม่ เช่น การเปลี่ยนร่างเป็นดิน และโลงย่อยสลาย ยังมีราคาสูง แต่เป็นสัญญาณที่ ทำให้คาดหมายได้ว่า วันหนึ่งภูเขาหรือบางจุดของเมืองจะร่มรื่นด้วยไม้นานาพันธุ์ ที่ผู้เยี่ยมชมสามารถเข้าไปเก็บรับพลังงานดีๆ จากผู้คนที่เลือกคืนร่างให้กับธรรมชาติ


 

ข้อมูลจาก










โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page