top of page

Like the flowing River /ชีวิตดั่งสายน้ำไหล

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์





ถ้าชีวิตเปรียบดั่งสายน้ำไหล สายน้ำเก่าแก่อายุอานาม 78 ปี ของ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

ได้ปะทะกับอุปสรรคมากมายมาตลอดทั้งชีวิต จนสามารถสะสมหินกรวด ดินตะกอนแห่งบทเรียน และประสบการณ์ไว้มากมาย

จากครอบครัวร่ำรวยสุขสบาย แต่เธอก็ตั้งคำถามกับเรื่องความหมายและคุณค่าของชีวิต บทเรียนจากพ่อที่เคี่ยวกรำเธอตั้งแต่วัยเด็กทำให้เข้าใจ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเริ่มต้นทำงานเพื่อสังคมมาตั้งแต่วัยเยาว์

หลายทศวรรษที่ผ่านมา เธอทำงานร่วมกับภาครัฐและก่อตั้งหน่วยงานการกุศลมากมาย เช่น การให้ความช่วยเหลือและการศึกษาแก่เด็กหญิงในกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงและยาเสพติดในภาคเหนือ ก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทำงานเพื่อรณรงค์สิทธิเด็ก ผู้หญิง และสถาบันครอบครัว

จนกระทั่งเมื่อเข้าใกล้โค้งสุดท้ายของสายน้ำเล็กๆ นี้ เธอสนใจเรื่องความตาย และทำงานรณรงค์ในเรื่องการตายดีอย่างจริงจัง รวมถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและสิทธิ์ในการอยู่และจากไปอย่างมีศักดิ์ศรีโครงการล่าสุดของเธอและกลุ่มเพื่อนนักธุรกิจ คือการก่อตั้งบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

ที่กำลังเร่งระดมทุน และขยายความร่วมมือออกไปเกาะเกี่ยวภาคประชาชนที่กำลังทำงานด้านนี้อย่าง

แข็งขัน

ในขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบการศึกษาและการสาธารณสุขกำลังจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอีกมาก กลายเป็นโจทย์สำคัญของคนรุ่นเรา ที่ต้องขบคิดร่วมกันว่า จะเตรียมดูแลคนรุ่นก่อนหน้าให้จากไปด้วยดีได้อย่างไร จะรับมือกับปัญหาของตัวเองและคนรุ่นหลังที่กำลังตามมาเพื่อดำรงรักษาความสงบสุขในสังคมนี้ไว้ได้อย่างไร

สายน้ำของเราทุกคนกำลังไหลไปรวมกันที่จุดหมายปลายทาง ณ แห่งหนใด ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาและการ

กระทำร่วมกันของยุคสมัยของเรา ร่วมพูดคุยและรับบทเรียนสำคัญจากสายน้ำเก่าแก่สายนี้ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม เพิ่งจัดงานเปิดตัวเพื่อระดมทุนไป ได้รับเสียงตอบรับมาอย่างไรบ้าง


ก็ดีนะ ถึงแม้วันนั้นจะบังเอิญไปตรงกับวันงานของสถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาชิกวิทยาลัยตลาดทุนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็เลยไม่ได้มามากเท่าที่คาดไว้ แต่ที่เข้ามากันเยอะกลับเป็นประชาชนทั่วไปที่ได้ยินข่าว รวมแล้วก็ประมาณ 200 กว่าคน ก็ไม่เป็นไรนะ ข่าวสารของเราก็ได้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง มีผู้ที่ต้องการร่วมถือหุ้นเพิ่มขึ้น ถึงจะยังไม่ได้ตามเป้าหมาย โดยรวมแล้วก็เหมือนเป็นการหยอดก้อนหินลงน้ำ แล้วดูวงกระเพื่อมของมัน ขยายตัวมันออกไป


ป้าศรีทำงานด้านนี้มาสิบกว่าปี มีข่าวว่าเคยสนับสนุนให้เกิดโครงการขนาดใหญ่สำหรับดูแลผู้สูงอายุตลอดจนถึงผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีความคืบหน้าอย่างไรแล้วบ้าง


สัก 6-7 ปีมาแล้ว เริ่มดำเนินการบริจาคที่ดินที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน ให้มหาวิทยาลัยมหิดล สมัยที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นอธิการบดี ทางมหาวิทยาลัยเริ่มทำงานวางแผน สร้างแบบ ดำเนินการกันอยู่สัก 3-4 ปีมั้ง แต่ต่อมาด้วยเหตุผลหลายประการ ก็โอนโครงการให้คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี ดำเนินงานต่อ ซึ่งทางรามาฯ ก็ทำโครงการโรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์ รวมทั้งศูนย์ผู้สูงอายุระยะต่างๆ ที่บางพลีอยู่แล้ว เลยนำแผนงานไปปรับเปลี่ยน ย่อส่วนและพัฒนาต่อบนที่ดินที่กรมธนารักษ์บริจาคให้ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์


ที่ทำอย่างนั้นในตอนนั้น ก็เพราะอยากกระตุ้นให้เกิดสถาบันการเรียนรู้ในด้านนี้ เพราะคนแก่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วิทยาการทางการแพทย์ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนที่จะช่วยชีวิตคนป่วยให้สามารถกลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพยืนยาวขึ้นน่ะก็ดีมาก แต่อีกฝั่งหนึ่งก็ทำให้สามารถยื้อกระบวนการตายให้ยืดเยื้อยาวนานขึ้น สร้างความทุกข์ทรมาน ปัญหาและความสิ้นเปลืองนานาประการ ให้กับทั้งคนที่กำลังตายแต่ตายไม่ได้ คนใกล้ชิดและเพิ่มภาระให้กับสังคมโดยรวม ในแง่ของพื้นที่และปัจจัยต่างๆ ในการรักษาพยาบาล


อีกอย่างที่ไม่ใช่แค่ ‘อีกอย่าง’ แต่สำคัญมาก คือป้าไม่อยากให้ใครตายอย่างทุกข์ทรมาน ไม่ว่าทางกายหรือใจ ป้าพูดมาเสมอว่าถ้าเปรียบชีวิตเหมือนเพลงที่พิเศษมาก เพราะแต่ละคนบรรเลงได้แค่เพลงเดียว เพลงนี้มีโน้ตแรกและโน้ตสุดท้าย เราทำอะไรกับโน้ตแรกไม่ได้ ตอนเกิดน่ะ แต่เพลงทั้งเพลงนำเราไปสู้โน้ตสุดท้าย เราจะให้คนอื่นเขาเล่นให้โดยเจ้าของเพลงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่รับรู้หรือวางแผนเชียวหรือ คุณภาพชีวิตน่ะประกอบด้วยสุขภาวะทางกาย และสุขภาวะทางใจ ซึ่งประกอบด้วยความสัมพันธ์กับตัวเองกับคนอื่น กับสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเชื่อ คุณภาพความตายก็เหมือนกันแหละ ให้ไม่ทุกข์ทรมาน หรือทุกข์ทรมานน้อยที่สุดทั้งกายใจ


ป้าน่ะทำอะไรได้ ก็ทำ ในฐานะประชาชนคนไทยและมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง อายุถึงปูนนี้แล้ว ไม่คิดแล้วว่าจะต้องทำเป็นสถานที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งต้องใช้พลังเยอะ ให้มันเกิดขึ้นแล้ว สมัยที่ป้าเริ่มน่ะ ยังไม่มีเลยนะ การผลักดันโครงการแรกกับมหาวิทยาลัยมหิดลสมัยนั้น ก็ถือว่าเป็นการกระตุ้น และเราก็เรียนรู้มากมายที่จะทำงานต่อได้ ไม่มีอะไรสูญเปล่า ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจดีแล้วจะต้องทำได้ไปหมด... นี่ไงข้อดีของความแก่ (หัวเราะ) เข้าใจและยอมรับง่าย เพราะเห็นว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไปทำไม เดี๋ยวก็ตายแล้ว งาน ‘ตายดี’ ของป้านี้ก็กลายมาเป็นการขับเคลื่อนภาคประชาชน ด้านความรู้ความเข้าใจ และสร้างเครือข่ายซึ่งเกิดขึ้นและขยายเร็ว จนป้ายังประหลาดใจเลย


อยากรู้ว่าภาคส่วนต่าง ๆ ที่กำลังทำงานเรื่องนี้ ทำอะไรกันไปถึงไหนแล้ว


ที่สำคัญคือภาครัฐออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่บังคับใช้ได้มา 4-5 ปีแล้วให้ประชาชนสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาที่จะตายอย่างธรรมชาติในวาระสุดท้าย โดยรับการดูแลอย่างประคับประคอง และออกกฎกระทรวงให้ทุกโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีหน่วย Palliative Care ส่วนภาคการแพทย์การพยาบาล คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีการบรรจุหลักสูตรด้าน Palliative Care (ศัพท์ภาษาไทยยังไม่ลงตัว โดยทั่วไปเรียกกันว่า ‘การดูแลอย่างประคับประคอง’) นอกจากนั้นแล้ว ก็มีการผลิตแพทย์สาขานี้และสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวเพิ่มขึ้น ป้ามองว่านั่นเป็นภาครัฐ ภาคการแพทย์การพยาบาล ถ้าจะใช้ศัพท์เก๋ ๆ ก็ว่า สองภาคนั้นเป็นภาคอุปทาน (Supply) ในขณะที่เรา... ประชาชน... เป็นภาคอุปสงค์ (Demand) ผู้รับผลกระทบ คือเขาออกกฎหมายอะไรมา เขาพัฒนาเทคนิคการดูแลรักษาไปแค่ไหน อย่างไร ที่จะมาส่งผลต่อตัวเรา พ่อแม่เรา ในระยะท้ายสุดของชีวิต ป้าก็เลยคิดว่าสร้างหน่วยงานภาคประชาชนกันดีกว่า... ทำอะไรได้ก็ทำ ผลักดันตรงไหนได้ก็ผลักดัน ร่วมมือกับตรงไหนได้ก็ไปร่วมมือ


‘ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ’ เกิดได้เพราะคนที่ได้เห็นคนที่เขารัก ‘ตายดี ’ จากงานของเรา ย้อนกลับมาช่วยอย่างจริงจัง ตอนนี้ก็มี คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ แห่งบริษัท Baker & McKenzie เข้าร่วมริเริ่มจัดตั้งชีวามิตรฯ และเป็นประธานกรรมการ หลังจากภรรยาวัย 57 เสียงชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และคุณโชติวัฒน์ ลัทธพานิชย์ หลังจากคุณพ่อเขา ‘ตายดี ’ ก็เข้ามาช่วยเป็นผู้จัดการให้องค์กรของเราเข้ารูปเข้ารอยและมีประสิทธิภาพ ทั้งสองท่านมาช่วยอย่างไม่รับค่าตอบแทนใดๆ เราเริ่มมีอาสาสมัครและแนวร่วมทั้งแพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย ทนายความ และอื่นๆ เพิ่มเข้ามางานเรางอกแบบออร์แกนิกค่ะ (หัวเราะ) เช่น ป้าไปเดินสวนลุมฯ เห็นสวนสุขภาพผู้สูงอายุ ก็เข้าไปก็อาสาจัดสนทนาเรื่อง ‘อยู่สบาย ตายสงบ’ ได้ คุณหมอนาฏ พ่องสมุทร มาบรรยาย สนุกกันมาก ทางศูนย์ให้เวลา 20 นาที ยาวไปถึง 45 นาที ก็ยังไม่มีใครยอมลุกเลย ถ้าหมอไม่ต้องไปงานอื่นต่อก็คงยาวไปอีก


พอทำไปๆ ก็มีประชาชนคนธรรมดาที่ทำงานด้านนี้อยู่เหมือนกัน คนตัวน้อยๆ ที่พยายามช่วย

คนป่วยระยะท้ายที่อยู่ตามบ้านบ้าง หรือให้ที่พักพิงคนป่วยหนักบ้าง เป็นสเกลเล็กๆ ทำงานด้วยใจล้วนๆ เลยนะ เขาขาดเครือข่าย ขาด know-how ติดต่อเข้ามา เราช่วยเขาให้ทำงานต่อได้ก็ช่วย อาจช่วยวางโครงสร้าง หาเครือข่ายอื่นๆ เข้าไปช่วยกัน เช่น บ้านปันรัก ที่สุราษฎร์ธานี เป็นที่พักที่พยาบาลเกษียณ

คนหนึ่งที่ตัวเองก็เป็นมะเร็ง จัดให้คนป่วยมะเร็งจนๆ ที่เดินทางจากหมู่บ้านไกลๆ มาพักฟรีระหว่างรับ

คีโมหรือฉายแสงที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ปีนี้โรงพยาบาลประจำจังหวัดจะเลิกส่งรถมารับ-ส่ง

คนป่วย เราก็จะช่วย แต่ต้องด้วยวิธีการที่ยั่งยืน ทีมเราเดินทางไปศึกษาปัญหาเพื่อคิดโครงสร้างให้

ดำเนินงานต่อได้


งานขยายออกไปอย่างเป็นธรรมชาติๆ เริ่มไม่กี่เดือนงานเข้าเพียบเลย แตกต่างหลากหลาย

งานหลักของเรา คือ การจัดอบรม เผยแพร่ความรู้ทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์ ปีหน้านี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็จะให้จัดเวิร์กช็อปให้ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตลอดปี แล้วก็ยังมีผู้ป่วยติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษา ต้องสร้างทีมเพิ่ม หาเงินบริจาค เชิญชวนบุคคล บริษัทห้างร้านมาร่วมหุ้น เรื่องถือหุ้นนี่ ชีวามิตรฯจดบริคณห์สนธิไว้แล้วว่า จะไม่จ่ายปันผล รายได้จะวนอยู่ในบริษัทเพื่อการทำงาน เราจัดคอร์สอบรมด้วย เมื่อก่อนทำฟรีมาตลอด ตอนนี้เริ่มขอคิดเงินบ้าง เพื่อให้ฟรีกับกลุ่มพยาบาลกลุ่ม อสม. ผู้ป่วยและญาติที่ไม่สามารถจ่ายได้ มาเถอะค่ะชีวิตจะ ‘เต็ม’ ขึ้น ที่เราทำได้ก็เพราะได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และเครือข่ายพุทธิกาของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล


แนวโน้มสังคมผู้สูงอายุที่กำลังใกล้เข้ามา น่าเป็นห่วงหรือน่ากลัวขนาดไหน


น่ากลัว แต่ดีที่ทั้งภาครัฐภาคเอกชนตื่นตัว และเตรียมรับปัญหา ว่าคนที่มีการศึกษามีลูกกันน้อยลง คนแก่อายุยืนขึ้น 90-100 นี้เพิ่มขึ้นๆ ร่างกายแข็งแรง แต่สมองไปก่อน อัลไซเมอร์จำนวนมากขึ้น สัดส่วนประชากรในวัยหนุ่มสาวที่เป็นพลังผลิตทางเศรษฐกิจลดลง เราต้องใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น คุณภาพ

การศึกษาของเราต่ำจนจะเป็นโหล่ในภูมิภาคอยู่แล้ว มีผลต่อคุณภาพประชากร ถ้าค่าแรงเราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทักษะต่ำกว่า แล้วจะไงล่ะ น่าห่วง แต่มัวแต่ห่วงไม่ได้ ต้องเน้นการศึกษาคนรุ่นใหม่พร้อมๆ ไปกับดูแลผู้สูงวัยให้เป็นภาระน้อยที่สุดต่อคนวัยทำงาน


คนรุ่นคุณและรุ่นน้องคุณ ถ้ามัวมองแต่วุ่นวายกับความเก่ง ความสวย ความรวย ความสุขของตัวเองโดยไม่เหลียวแลคนรุ่นเดียวกันที่ขาดโอกาส ตัวคุณเองก็จะลำบากในที่สุด ต้องตื่นตัวแล้วว่า สำคัญสุดๆ คือการแบ่งปันเพื่อสร้างโอกาสให้คนอื่น ให้คนรุ่นเดียวกับคุณดีขึ้นพร้อมกับตัวคุณ ป้าไม่ว่าหรอกนะถ้าคุณจะร่ำรวย มีเงินมีทองมีรองเท้ากระเป๋าแพงๆ อวดกัน เงินคุณ เงินพ่อแม่คุณ คุณใช้จ่ายยังไงก็ตามใจคุณเถอะ แต่กันเงินอีกส่วนไว้เพื่อช่วยพัฒนาคนร่วมรุ่นคุณด้วย ถ้าคิดแบบ ‘ช่างหัวเขา’ สักวันเขาก็อาจจะมาวิ่งราว กรีดกระเป๋าแพงๆ ของคุณ จะโทษแต่เขา หรือจะโทษตัวคุณและเพื่อนๆ คุณด้วยล่ะค่ะ





SHARE YOUR WORLD


ความตระหนักว่าเราต้องแบ่งปัน จิตสำนึกที่ดีต่อคนอื่น เราจะสร้างมันขึ้นมาในใจคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร


ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ โรงเรียน สิ่งแวดล้อม โอ้โฮ มันมีปัจจัยมากมาหลายอย่างมาก ป้ามิบังอาจฟังธงได้หรอก แต่เคยลองให้เด็กในมูลนิธิที่เคยดูแล ลองตั้งใจออกไปหาสัตว์ หรือแมลงสักตัวที่เขาจะช่วยเหลือได้ เช่น แมลงปอที่ตกน้ำ หรือเอาเศษขนมชิ้นจิ๋วๆ ไปวางให้มดกิน ขณะที่ที่ทำน่ะให้ดูใจตัวเองว่ามันรู้สึกไง กลับมาตอบกันทุกคนแหละว่าเห็นว่าใจมันสงบและเบิกบานดี ก็ชี้ให้เขาเห็นนะ ว่านี่ไง การให้น่ะ มันเป็นการรับไปในตัว


แล้วตัวป้าศรีเองล่ะ จิตสำนึกแบบนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร


เออ... มันมาจากไหนล่ะ (คิดนาน) อาจจะมาจากคุณพ่อนะ ป้ากำพร้าแม่ตั้งแต่เล็ก ถึงแม้จะอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะ แต่ก็ไม่มีความสุขเลย เรียนหนังสือก็เลวมาก เพื่อนก็ไม่ค่อยมี เป็นเด็กแปลกๆ


เมื่อสัก 66-67 ปีมาแล้ว คุณพ่อไปเปิดสาขาธุรกิจที่อุดรธานี สมัยนั้นอุดรฯ หน้าหนาวนั้นหนาวจริงๆ ความสะดวกสบายอะไรก็ไม่มี เลี้ยงโต๊ะจีนอยู่กลางแจ้ง ตอนนั้นป้าสัก 11 ขวบได้ คุณพ่อให้ไปนั่งติดกับอาแป๊ะที่ขากเสลดสนั่นหวั่นไหว มิหนำซ้ำยังบ้วนลงไปในถ้วยตรงหน้าเรา เขียวอื๋อเลยนะ โอ๊ย ป้าลุกเดินไปหาคุณพ่อว่าไม่ไหวแล้ว ขอย้ายที่นั่งมานั่งด้วยได้ไหม คุณพ่อว่า แขกทุกคนในที่นั้นเป็นลูกค้า ต้องถือว่ามีบุญคุณกับเรา เขาอุตส่าห์มาร่วมงานเราก็ต้องให้ความเคารพเขา สรุปว่า... กลับไปนั่งที่เดิม


มีอีกครั้ง ไปหัวหินกัน ก็นั่งรถจี๊ปไป คุณเคยดูหนังสมัยเก่าๆ ไหม ที่ผู้หญิงจะคลุมผมแบบนางเอก ปริศนา น่ะ เราเป็นเด็กก็ไม่ได้คลุมผม ฝุ่นลูกรังคลั่กแดงไปทั้งหัวเลย คุณพ่อชี้ตัวแย้ บอกว่าคนแถวนี้เขากินกันนะ พอเราร้องอี๊ ก็โดนเลย ‘คนเขากินของเขา มาอี๊ใส่ทำไม’ ท่านสอนเราให้มองคนอื่นเท่าเทียมกัน


ไปอยู่ที่อังกฤษตอนอายุ 12 ไม่ได้กลับบ้านเลยนะ กินอยู่แบบอัตคัดมาก เพราะสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งเลิกได้ 6 ปี ยังต้องใช้คูปองปันส่วนอาหารกัน อาบน้ำร้อนได้อาทิตย์ละหนเดียวต่อคน คุณพ่อสอนให้อดทนกับความลำบาก ให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น และให้กล้าหาญ กลัวอะไรก็ให้ดูซิว่ามันน่ากลัวอย่างที่คิดไหม เพราะความกล้านี่แหละที่ทำให้เราใช้ชีวิตแบบลุยๆ ได้ ขึ้นเขาลงห้วยอยู่ป่าได้หมด ทุกวันนี้ป้ายังคิดถึงอาแป๊ะคนนั้น เขาคงกำลังป่วย น่าจะได้รับการดูแล แต่ตอนนั้นเรากลับไปรังเกียจเขา เสลดเขียวๆ น่ะ ตัวเราเองไม่เคยมีเหรอ


มองย้อนกลับไป สมัยสาวๆ ที่อยากสวย อยากเด่น อยากประสบความสำเร็จ อยากให้ใครๆ รัก พบว่าเป็นช่วงที่ทุกข์ที่สุด (หัวเราะ) จริงๆ นะ ช่วงที่คิดว่าตัวเองโดดเด่นแต่งตัวสวย อ่านบทกวีไพเราะ เฉลียวฉลาด และอะไรต่อมิอะไรที่หลงตัว... ทุกข์ที่สุด ทุกข์เพราะจะ ‘เอา’ ป้าเองผ่านชีวิตแบบนั้นมา จะมานินทาคนสมัยนี้ไม่ได้หรอก (หัวเราะ) เอาพอดีๆ อย่าไปหลงความหล่อความเท่ความสวยมาก จนลืมคุณภาพใจ ประสบการณ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ก็เหมือนกันตรงที่เรียนรู้ได้ ถ้าไม่เข้าข้างตัวเองจนมองไม่เห็นภาพรวม





LIKE THE FLOWING RIVER


ทำไมป้าศรียังดูแข็งแรงมาก เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน


ไม่รู้สิ อาจจะเพราะกินน้อย ถึงไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แต่ก็เดินเร็วมาก เวลาพูดมือถือก็เดินวนๆ เร็วๆ จนคนที่มองอยู่เวียนหัวกันเป็นแถว ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หมอให้ยาก็กิน ไม่กลัวยา กินวิตามิน อาหารเสริม ร่างกายก็แก่ของมันไป แต่ไหงไม่รู้สึกว่าใจมันแก่นะ ป้าชอบไปปฏิบัติธรรมเมื่อแวบ

ไปได้ ไม่เข้าคอร์ส ชอบไปอยู่วิเวกคนเดียวในธรรมชาติเป็นระยะ เมื่อเร็วๆ นี้ก็ไปอยู่บนเขาหิมาลัยในภูฎาน ไปคนเดียวนะอยู่บนนั้น 12 วัน ชอบจัง ส่วนในชีวิตประจำวัน ก็มีสติรู้กาย รู้ใจตัวเองให้บ่อยที่สุด การรู้สึกตัว คือชีวิตนะ คนตายไม่มีการรู้แล้ว ไม่รู้ว่านี่มีผลทางสุขภาพไหม... ไม่รู้สิ...


พักนี้ป้ากับลุงไปงานศพบ่อย ตามวัยไง ไม่ค่อยอยากไปงานแต่งงานแล้ว เรารู้ว่ามันไม่แน่นอน หลายครั้งที่เราไปงานใหญ่งานโต ใช้เงินหลายล้าน อีกไม่กี่ปีก็ได้ยินว่าหย่าร้างกันแล้ว โอเคนะ บ่าวสาวอยากฉลองความสมหวัง เราก็ยินดีด้วย แต่แหม...อยากได้สักเสี้ยวของการจัดงาน มาช่วยชีวิตคนที่กำลังเดือดร้อนช่วยคนด้อยโอกาสให้มีโอกาส... คู่บ่าวสาวก็น่าจะสุขใจ อีกไม่นานหลานๆ ของป้าก็คงทยอยกันแต่งงานเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเขาจะจัดงานยังไง แค่ไหน แต่ขอให้สังเกตว่าความเกรงใจเข้ามามีส่วนเยอะเหมือนกันนะ งานใหญ่ๆ จะได้ยินแขกบ่นรถติด หาที่จอดรถไม่ได้ มาเพื่อให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวและครอบครัวเห็นหน้า ถ่ายรูป


แต่งานศพเป็นคนละเรื่อง เมื่อก่อนป้าเคยพูดบ่อยๆ ว่าตายไปแล้วให้เผาเลย ไม่ต้องจัดงานศพ แต่พอมาถึงวันนี้ ป้าขอกลับคำ เพราะช่วงงานศพคือช่วงเวลาที่ผู้สูญเสียได้ปรับตัว ได้เห็นคนที่เคยรักเคยชอบกันมาร่วมอาลัย มาร่วมกันฟังพระสวด ให้ได้มาเห็นหน้าเห็นตากัน เราได้เห็นคุณค่าของชีวิตที่เหลืออีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ป้าชอบนั่งทำใจสงบระหว่างพระสวด เป็นโบนัส เอ๊ะ ตอบยืดยาวงี้ ตรงคำถามของคุณเรื่องทำไมยังแข็งแรงไหม อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ได้ (หัวเราะ)


ป้าคิดว่าชีวิตที่ผ่านมามีคุณค่าหรือความหมายอย่างไร


คุณค่าสูงสุดคือได้พบพระธรรมในช่วงวิกฤตของชีวิต ช่วงที่ถึงจุดที่อาจจะหักเหลงลึกจนชีวิตแทบจะหมดคุณค่าและความหมาย สำหรับความหมายของชีวิตเห็นจะเป็นการได้เรียนรู้ชีวิต ได้ตอบแทน

บุญคุณโลกใบนี้ ที่ให้กินให้อยู่ให้ใช้ทรัพยากรของเขามาเกือบ 80 ปีแล้ว ถ้าจะตายก็รู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นหนี้โลก งานชีวามิตรฯ ที่ทำอยู่ขณะนี้ก็คงเป็นการตอบแทนโลกด้วยกระมัง สำหรับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยจดจำอะไรแล้ว ความทรงจำก็แค่ความทรงจำ พอตัวตายไปก็หายหมด (หัวเราะ)


เอาแค่ปัจจุบันวันนี้ ให้มีสติที่จะรู้ทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ได้เห็นมันเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป ไม่ไปเอาจริงเอาจังกับมันนัก ให้มีปัญญารู้ว่า ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน เรากินอะไรมันก็มาเป็นส่วนของใจเรา บางทีก็เห็นว่าชีวิตที่ดำเนินอยู่นี้เป็นเหมือนสายน้ำ ที่ไหลผ่านดิน ผ่านหิน ผ่านทราย สายน้ำนั้นจะค่อยๆ สะสมสิ่งต่างๆ ที่มันไหลผ่าน

แม่น้ำสายนี้ไหลไปไหน


ในความนึกคิดป้าไม่ได้เห็นว่าชีวิตคนเป็นเหมือนแม่น้ำใหญ่โต แค่เป็นสายน้ำเล็กๆ ที่ไหลเชี่ยวบ้าง เอื่อยบ้าง บางช่วงอาจจะมีหินก้อนใหญ่ขวาง ชนหินแล้วก็ต้องเลี้ยว ต้องเปลี่ยนทิศทาง มองว่าชีวิตคน ไม่ใช่สายน้ำที่ไหลไปเจอหินก้อนที่ทะลุทะลวงไม่ได้ ก็ต้องเลือกว่าจะลดเลี้ยวไปทางไหน ทุกขณะจิตเรามีเจตนามีการตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ป้าเห็นว่าเราก็ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของเรา จะเถียงว่า แต่ละสายน้ำไหลไปเจอโน่นนี่ที่แตกต่างกันนี่นา... คงตอบว่า บางสายน้ำอาจไหลผ่านแต่ดินนุ่ม ไม่เจอหิน ไม่เจอกรวด แต่ในเส้นทางดินที่อ่อนนุ่มนั้นก็มีใบไม้ ลูกไม้หล่นลงมาทับถม จนกลายเป็นน้ำเน่าเหม็นเลยก็ได้ ถ้าเชื่อในการสะสมของเหตุปัจจัย เราก็สร้างเหตุปัจจัยในปัจจุบันให้ดีที่สุด สร้างด้วยเจตนา เจตนาที่ประกอบด้วยสติและเมตตา ไม่ใช่อารมณ์ ถ้าสายน้ำนั้นจะค่อยๆ ปล่อยสิ่งปนเปื้อนที่เคยสะสมเจือปนไว้ออกไป ไม่รับ

สิ่งปนเปื้อนเข้าใหม่ น้ำก็จะใสบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะไหลผ่านอะไร แต่ในที่สุดแล้วก็จะไหลถึงจุดที่หมดความเป็นสายน้ำนั้น สายน้ำนี้ลงหายไปในบึงคลองหนองน้ำบ้าง ในทะเลบ้าง เหือดหายไปเองบ้าง ที่สุดเจ้าสายน้ำก็ต้องถึงจุดจบ จบอย่างไร ตรงไหน เมื่อไหร่ แตกต่างกันออกไปตามเหตุตามปัจจัย... (หัวเราะ) พูดแบบคนที่ทำงานเรื่องผู้ป่วยระยะท้ายก็อย่างงี้แหละ


แต่ละครั้งที่ไหลมาเจอก้อนหินขวางทางอยู่สายน้ำนี้จะรู้ได้อย่างไรว่ามันควรจะไหลไปทางซ้ายหรือขวา ทางไหนคือทางที่ถูก


ไม่รู้เสมอไปหรอก เอาแค่มองภาพรวมให้รอบแล้วไหลไปทีละช่วง การตัดสินใจถูกหรือผิดน่ะไม่มีหรอก มีแต่ว่ามันจะเป็นประโยชน์สุขหรือทุกข์ภัย กับตัวเองและหรือคนอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน ในระยะสั้นหรือระยะยาว บ่อยครั้งมันจะซับซ้อนกว่านั้น แต่มนุษย์เราต้องตัดสินใจว่าให้คนอื่นตัดสินใจ หรือตัดสินใจว่าจะไม่ตัดสินใจ แม้แต่เจตนาว่าปล่อยมันไปเถอะ ก็ยังเป็นการตัดสินใจเมื่อตัดสินใจไปแล้ว พบอะไรก็ต้องตัดสินอีก มีโอกาสที่จะตัดสินใจได้อีก เมื่อถึงทางแยกข้างหน้า มีทางแยกอยู่ข้างหน้าตลอดเวลา มองให้เชิงบวกก็จะเห็นว่า ชีวิตนี้ให้โอกาสตัดสินใจตลอดเวลา ตัดสินใจจะจำนนหรือจะต่อสู้ ถึงในกรณีที่ภายนอกทำอะไรไม่ได้ ก็ยังมีทางเลือกว่าเราจะทำใจกับมันอย่างไร


เราจะไปสอนใครให้เขาตัดสินใจแบบเดียวกับเราไม่ได้ ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราบอกไม่ได้ว่าทางไหนถูกที่สุดสำหรับคนอื่น แต่สิ่งหนึ่งซึ่งมนุษย์มีเหมือนกันคือศักยภาพที่จะเรียนรู้ธรรมชาติภายในตัวเอง ที่จะพัฒนาคุณภาพจิตของตัวเอง แล้วสายน้ำมันก็ไหลตามช่องทางที่จะพามันไป ตามธรรมชาติของมัน


ถ้าคุณถอยใจมามองความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง จะเห็นว่ามันโยงกันเหมือนเรืองพ่วง แล้วก็เปลี่ยนไปมาตลอดเวลา ทุกวินาที แม้กระทั่งในเรื่องเดียวกัน ร่างกายก็เข้ามาเกี่ยวด้วยนะ โกรธหรือตื่นเต้นก็หัวใจเต้นแรง เครียดก็น้ำย่อยออกมากัดกระเพาะ


แต่ละครั้งที่สายน้ำชีวิตของป้าไหลมาเจอก้อนหิน ป้าเลือกอย่างไร


(หัวเราะ) นี่เป็นความโชคดีของคนแก่ เวลาเจออะไรมาขวาง อะไรมาขัด เราตั้งหลักซะก่อน

คือคิดว่าเดี๋ยวก็ตายแล้ว เป็นมรณสติแบบหนึ่งมันทำให้เราไม่หวั่นไหวมากนัก ช่วยให้ตั้งสติหาทางที่

ดีที่สุดหรือที่เลวน้อยสุดแล้วแต่กรณี อย่างว่าแหละ มองภาพรวมแล้วไปทีละก้าว และจะระวังที่จะไม่มองย้อนไปปรักปรำตัวเองหรือใครอื่น ให้เสียเวลาชีวิต ที่เหลืออยู่น้อยนิด


ชีวิตคู่ป้าเป็นอย่างไรในวัยนี้


ป้ามีคู่ชีวิตที่เยี่ยมยอด อยู่ด้วยกันมา 20 ปีพอดี แต่งงานกันตอนเขาอายุ 55 ป้า 57 ตอนที่เป็นม่ายทั้งคู่ เข้าใจกันดี ทั้งความเหมือนความต่าง ยกความดีส่วนหนึ่งให้ความแก่ เรียนรู้ชีวิตมาเยอะทั้งคู่ ยิ่งเวลางวดลงๆ ก็อยู่ด้วยกันดีขึ้นๆ เราสองคนแอ็กทีฟพอๆ กัน ลุง (ดอกเตอร์ชิงชัย หาญเจนลักษณ์) เขาทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านการบริหาร ด้านวิชาการ ฯลฯ ที่เขาชอบและถนัด แล้วก็ปล่อยให้ป้าได้ทำงานอย่างที่ป้าอยากทำ ไม่ได้คาดหวังว่าต้องมาอยู่บ้าน ทำงานบ้าน ดูแลเขาหรืออะไรแบบนั้น เขาพอรู้เรื่องงานเรา เราก็พอรู้เรื่องงานเขา พอช่วยกันได้บ้าง แต่ไม่ยุ่งถ้าไม่ขอ ชีวามิตรฯ ทำโครงการผ้าอ้อมให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลนครพิงค์ เขาก็ช่วยบอกต่อให้ ช่วงนี้เราแบ่งกันไปงานศพกันแบบบ้าคลั่ง (หัวเราะ) เขาไปศพหนึ่ง ป้าไปอีกศพหนึ่ง เมื่อวานยัง เอ๊ะอาทิตย์ที่แล้วเราแยกกันไปงานศพคนโน้นคนนี้ตลอดอาทิตย์เลยนะ (หัวเราะ) เราเป็นคู่ที่ไม่ต้องจูงมือกันตลอดเวลา ใครมีงานอะไรก็ไปทำซะ แต่เดินทางด้วยกันเยอะนะ ทั้งงาน ทั้งเที่ยว ไปกันสองคนเป็นส่วนใหญ่ เป็นสุขด้วยกัน เมื่อถึงเวลาต้องจาก ก็จากกัน แค่นั้นเอง


ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ ป้าจะเศร้าไหม


ไม่รู้นะ คงมีบ้าง อะไรมันก็ไม่แน่ทั้งนั้น รวมทั้งใจเรา แต่ป้าเตรียมมานานแล้ว ทุกคืนก่อนเข้านอน ป้าบอกกู๊ดบายในใจว่า พรุ่งนี้จะไม่ได้เจอกันอีก พรุ่งนี้เราหรือเขาจะไม่ได้ตื่น ซ้ำๆ อย่างนี้ทุกคืนให้ชินใจ ป้าทำงี้กับลูกแต่ละคนด้วย แรกๆ ก็ใจหายนะ พอทำไปก็ชิน ฉะนั้น เวลาที่จะตายป้าจะไม่ต้องรอ ยุคนี้เขาประมาณอายุขัยไว้ที่เท่าไหร่นะ 75 ใช่ไหม ป้าเกินมา 3 ปีแล้วเป็นโบนัส


ครั้งหนึ่งผู้เข้าร่วมเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสองคนพี่น้อง เป็นนักบริหารชั้นยอด เฉลียวฉลาด หลักการดี อายุสัก 40 ปลายๆ เป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ เขาเก่งเทคโนโลยีด้วย ในวันท้ายๆ ผู้เข้าอบรมต้องแยกกันไปรับดูแลคนไข้ระยะท้ายในโรงพยาบาลกันคนละ 1 ชั่วโมงเต็มๆ คนไข้ที่สองคนนี้ต้องไปดูแลเป็นเด็กวัย 3 กับ 5 ขวบ มีประวัติชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ตอนที่เข้าไปนักบริหาร ธุรกิจสองคนนี้ยิ้มย่องมั่นใจว่าจะดูแลได้ดีแน่ ที่ไหนได้ ชั่วโมงผ่านไปเขากลับออกมาอึ้งไปเลย พูดจาไม่ออก เด็กสองคนนี้จมน้ำไม่รู้ตัวมาหลายวัน หมอยื้อไว้เพื่อปู่ย่าตายายที่ยังยอมรับไม่ได้ คนเก่งทั้งสองของเราทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่เข้าไปนั่งเฉยๆ มองดูเด็กทั้งคู่ที่มีเครื่องช่วยชีวิตต่างๆ ห้อยระโยงระยางคโดยมีคนแก่สามคนนั่งเฝ้า เรียกชื่อเขย่าตัวหลานเป็นระยะ ด้วยความหวังว่าจะฟื้น เย็นนั้นนักธุรกิจทั้งสองเข้าถึงความรู้สึก helplessness เขาไม่เคยอยู่ในสภาวะที่ทำอะไรไม่ได้เลยจริงๆ อย่างนี้มาก่อน ฉากความตายฉากนี้ คงมีผลกับมุมมองของเขาต่อชีวิตอย่างแน่นอน


ป้าน่ะยังสนุกกับเรื่องราวหลากหลาย ไม่ใช่ว่าพิจารณาความตายแล้วจะต้องหันหลังให้กับชีวิตเพียงแต่ยอมรับด้วยใจว่า เกิดกับตายเป็นต้นกับปลายของสารธารชีวิต... เกิดกับตายเป็นโน้ตแรกกับ

โน้ตสุดท้ายของเพลงชีวิต เขาเป็นของคู่ที่แยกจากกันไม่ได้


 

จาก : หนังสือพิมพ์ A Day Letin Issue 514 , 27 Nov. 2017

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page