top of page

ตายอย่างไรไม่ทุกข์


“ถ้ารักเราจริง ก็ควรเคารพในสิทธิและความต้องการที่จะตายอย่างไม่ถูกยื้อให้ทนทุกข์ทรมาน ”

หากเปรียบเทียบชีวิต คือ โน๊ตเพลง คนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับโน๊ตตัวแรก แต่มักมองข้าม

โน๊ตตัวสุดท้าย แต่สำหรับ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ หรือ ป้าศรี สรรพนามที่คุณหญิงมักจะใช้เรียกแทนตนเอง กลับเน้นความสำคัญกับโน๊ตตัวสุดท้าย

เหตุผลก็คือ ป้าศรีมีประสบการณ์กับเรื่องความตายของคนรอบข้าง นับตั้งแต่ในวัยเยาว์ กระทั่งเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีระบบที่เอื้อให้คนไทยได้ “ตายดี” โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน


คำว่า “ตายดี” สำหรับคุณหญิงหมายถึงอะไร


ตายอย่างไม่ทุกข์ทรมานทั้งใจและกาย ป้ามองว่าทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกัน แต่ถ้าจะต้องให้

น้ำหนักส่วนไหนมากกว่าก็คงให้น้ำหนักที่ “ใจ” เพราะใจมีเรื่องของอารมณ์ เรื่องของความสัมพันธ์ เรื่องของความคิด เรื่องของความเชื่อเรื่องของสติและปัญญา รวมอยู่ที่ใจเช่นกัน แม้การตายอย่างทุกข์ ตายอย่างยืด ตายอย่างปล่อยวาง ก็อยู่ที่ใจเช่นกัน แต่ถ้ากายเจ็บปวด อึดอัดทรมาน ใจมันก็ไม่สงบและรักษาสติยาก นอกจากจะฝึกสมาธิภาวนามาเยอะพอ อย่างหลวงพ่อคำเขียน ท่านเป็นมะเร็งที่เจ็บปวดมาก ท่านจึงสามารถรักษาให้สงบแจ่มใสได้จนสิ้นลม

สำหรับป้าคนที่ “ตายดี ” คือ คนที่ตายด้วยใจที่ไม่ห่วง ไม่หวง ไม่หงุดหงิด ไม่ว้าวุ่น ไม่โกรธเคือง หรือค้างคาใจกับใคร และที่สำคัญมากก็คือ ไม่กลัว...ถึงจะไม่อยากตาย แต่ก็ไม่กลัว อาจจะเพราะยอมรับว่า ถึงอย่างไรก็ต้องตาย ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าได้ และก็เพราะรู้ตัวว่าได้ใช้ชีวิตและฝึกจิตมาดีพอที่เชื่อว่าตายแล้วจะไปดี ได้ฝึกสมาธิภาวนามาอย่างดี จนสามารถมองความเจ็บปวดว่าเป็นธรรมชาติ ที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่เอาใจไปทุรนทุรายกับมัน ป้าฝึกนะแต่รู้ตัวว่ายังฝึกไม่ดีพอ


มีความคิดเห็นอย่างไร ต่อการจากไปอย่างทุกข์ทรมานของผู้ป่วยระยะสุดท้าย


กรณีนี้มีหลายองค์ประกอบอย่างหนึ่งก็คือ ทัศนคติของสังคมในเรื่องความตายเป็นอัปมงคล ก็เลยกลัวและหลีกเลี่ยงที่จะทำความเข้าใจกับธรรมชาติ แล้วก็ยึดติด อีกอย่างหนึ่งคือ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการที่จะยื้อความตายให้ยาวขึ้นด้วยหัตถการ หรือการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือเกินจำเป็น (Medical Futilities) (สำหรับผู้ป่วยในสภาพนั้น ๆ)


เคยมีหมอเล่าให้ป้าฟังว่า พ่อแม่ของบุคลากรของรัฐที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลนั้น เป็นกลุ่มที่ตายทรมานยืดเยื้อที่สุด เพราะลูกๆ ขอให้แพทย์ยื้อทุกวิถีทางด้วยความรักและความกตัญญู และส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นประเพณีปฏิบัติที่ถ้าไม่ยื้อ ก็จะถูกมองว่าไม่กตัญญู และอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกยื้อมากคือ กลุ่มคนดัง ผู้มีชื่อเสียงในสังคม Medical Futilities ไม่แค่จะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานกับผู้ที่ถูกยื้อเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากมายกับทั้งภาครัฐ และผู้ใกล้ชิด ซึ่งได้เคยพบคนที่หมดเนื้อหมดตัว เป็นหนี้เป็นสิน เพราะเรื่องนี้มาหลายต่อหลายคน โดยเฉพาะหากสัดส่วนประชากรที่เป็นผู้สูงอายุมีมากขึ้น และการรักษาทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก หากยังไม่ขับเคลื่อนการให้ความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมในวงกว้าง ประเทศไทยเราจะมีปัญหาตามมาหลายอย่าง





คุณหญิงได้ทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิตไว้แล้ว คุณหญิงคิดว่าสังคมไทยรับแนวคิดนี้ได้มากน้อยเพียงไร


ไม่น้อยนะคะที่เปิดรับ เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำไปลงไว้ในเว็บไซต์ของ สช. ก็มีคนนำไปแชร์ต่อๆ กันออกไป ตามเฟซบุ๊ก ตามไลน์ เจอคนจำนวนมากที่บอกว่าชอบและนำไปลอกใช้แล้ว...


แต่มีรายหนึ่งเป็นผู้ชายอายุมากแล้วติดต่อเข้ามาว่า ผมเขียนแล้วนำไปให้ภรรยาเซ็น เพื่อให้แน่ใจว่าจะยินยอมทำตาม แต่เธอปฏิเสธอย่างเด็ดขาด กรณีนี้ป้าว่าก็คงมีเยอะ เจ้าของชีวิตต้องการตายอย่างธรรมชาติด้วยการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) แต่คนใกล้ชิดไม่ยอม ผู้ชายคนนี้ถามว่า จะคุยอย่างไรให้ภรรยาซึ่งไม่ใช่ชาวพุทธยินยอม ป้าก็แนะนำให้คุยกับเธอว่า ถ้ารักเราจริงก็ควรที่จะอยากให้เรามีชีวิตในระยะท้ายที่สงบมีสติ โดยไม่เจ็บปวดหรือเจ็บปวดน้อยที่สุด ถ้ารักเราจริงก็ควรเคารพในสิทธิและความต้องการของเราที่จะตายอย่างไม่ถูกยื้อ


ฉะนั้นความรักที่แท้จริงคือ การสละความต้องการของตัวเองเพื่อคนที่เรารัก...เป็นสิ่งที่มนุษย์สัมผัสได้ โดยไม่มีเรื่องของเชื้อชาติศาสนามาขีดคั่น


ป้าคิดว่าการสร้างความเข้าใจเป็นหน้าที่ขององค์กรอย่าง สช. และสื่อต่างๆ ที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรา 12 (บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้) ด้วยการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และสถานพยาบาลกึ่งบ้าน (Hospice Care)


จากที่ได้ไปดูและศึกษางานด้านสถานพยาบาลกึ่งบ้านในหลายๆ ประเทศ มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้


ต้องทำให้เกิดระบบสถานพยาบาลกึ่งบ้านจริงๆ โดยเร็ว เพราะสถานพยาบาลกึ่งบ้านต่างจาก

โรงพยาบาล (Hospital) ซึ่งเป็นบริบทการรักษา ตรงที่ไม่ได้ให้การรักษา แต่ให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายได้ตายอย่างสบายทั้งกายใจ ถ้าจะมีหัตถการ เช่น การฉายแสง คีโม หรือการผ่าตัด ก็จะทำแค่เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด การดูแลของสถานพยาบาลกึ่งบ้าน จะรวมถึงการตามไปช่วยดูแลคนไข้ที่บ้านด้วย ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป และอเมริกา จำนวนคนไข้ที่กลับไปตายที่บ้านกำลังค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ด้วยสถานพยาบาลกึ่งบ้านนี้แหละ


โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งต้องรีบบรรจุเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการดูแลในระยะท้ายของชีวิต (End-of-life Care) เข้าไปในหลักสูตรอย่างจริงจังให้เข้าใจทั้งทางด้านกฎหมาย ด้านสังคม และด้านจิตวิญญาณด้วย ปัญหาคือเรายังขาดหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาลกึ่งบ้านที่จะเป็นที่ศึกษาของนักเรียนแพทย์ และเรายังต้องผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว อีกเป็นจำนวนมาก เพราะจำเป็นมากกับระบบสถานพยาบาลกึ่งบ้าน


เรื่องนี้คงต้องคุยกันอีกเยอะ และถึงแม้โรงพยาบาลทั่วประเทศกำลังจะเริ่มมีหน่วยดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง แต่ก็ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจที่เรียนจบด้านนี้ ทางรัฐจะต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ทุนการศึกษาทั้งแพทย์และพยาบาลในด้านนี้


 

จาก: สานพลัง ปีที่ 8 ฉบับที่ 68 เดือนมีนาคม 2559



ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page