top of page

เรื่องนี้มีนางเอกสามคน

โดย คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน





หลายคนขอให้ผู้เขียนเล่าประสบการณ์สมัยที่ถูกส่งไปอยู่ประเทศอังกฤษเมื่ออายุ 12 ปี เพื่อจะนำไปประยุกต์ใช้กับลูกหลาน ส่วนใหญ่อยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ อยากให้ลูกได้เห็นโลกกว้าง ในขณะเดียวกันก็อยากให้หัวใจเขายังคงความเป็นไทย คงจะเห็นว่าผู้เขียนนุ่งผ้านุ่ง ชอบอาหารไทยไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกปลาทู หรือปลาร้าทรงเครื่อง


ผู้เขียนได้แต่ตอบว่า โอ๊ย...ตอนนั้นมันพ.ศ. 2495 นานถึง 40 กว่าปีมาแล้ว โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงชั้นนี้คงประยุกด์ไช้ได้ยาก ถึงกระนั้นก็ยังมีใดรต่อใครขอให้เล่าให้ฟังอยู่ดี เมื่อคุณคัทลียาชวนให้เขียน

บทความให้ สกาว ก็ถือเป็นโอกาสเขียนเรื่องราวเฉพาะส่วนหนึ่งให้อ่านอย่างสังเขปที่สุด เพราะถ้าจะเขียนเล่ากันอย่างเอาจริงเอาจัง คงมีความยาวขนาดน้องๆ 'คู่กรรม '


การเดินทางใน พ.ศ. 2495 นั้น เป็นการเดินทางออกนอกประเทศไทยเป็นครั้งแรกในชีวิตของผู้เขียน

ไปถึงอังกฤษดันเดือนกุมภาพันธ์ นับเพียง 3-4 วันก่อนที่พระเจ้ายอร์จ ที่ 6 พระราชบิดาของพระราชินี

อลิซาเบธเสด็จสวรรคต


จำได้ว่าหนาวเหน็บจนรู้สึกว่านิ้วแต่ละนิ้วกำลังค่อยๆ แปรสภาพเป็นแท่งน้ำแข็ง พร้อมที่จะร่วงหลุดจากมือไปทีละท่อน และยังคงคิดต่อไปว่า เมื่อหล่นลงบนพื้นถนนที่ฉาบไปด้วยน้ำแข็ง มันคงจะลื่นไถลไปไกลเอาการ นอกจากนิ้วอันเย็นยะเยือกแล้วใจก็หนาวเหน็บเพราะคุณพ่อซึ่งเดินทางไปส่ง จะอยู่ด้วยที่อังกฤษได้เพียง 1 สัปดาห์ก่อนที่จะเดินทางไปธุระต่อที่อเมริกา


ในสมัยนั้น มีนักเรียนไทยในอังกฤษไม่มาก ต่างคน ต่างอยู่กระจัดกระจายไปเรียนในเมืองต่างๆ นานๆจะพบปะ กันสักครั้ง ยิ่งเป็นเด็กอายุ 12-13 เห็นจะมีอยู่ไม่เกิน 5-6 คน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่พ่อแม่เป็นข้าราชการไปประจำที่อังกฤษ


ผู้เขียนถูกส่งตัวไปอยู่กับครอบครัวที่ชานเมืองของ มหานครลอนดอน เป็น "ครอบครัว" ที่ประกอบด้วยผู้หญิง3 คน แต่ละคนมีรอยแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รอยแผล ที่ว่านี้มีรอยทั้งทางใจและทางกาย


หญิงคนแรกเป็นหม้ายขันหมาก เพราะคู่หมั้นเป็นทหารอากาศเครื่องบินถูกฝ่ายเยอรมันยิงตก เธอเป็นคน มีอารมณ์ขัน รักเด็กและมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ เธอมีความสุขที่สุดเมื่อมีเวลาอ่านหนังสือข้างเตาผิงระหว่างฤดูหนาว หรือในสวนหลังบ้านยามที่มีแดดอุ่นฤดูร้อน


หญิงคนที่สองก็หม้ายขันหมากเหมือนกัน คู่หมั้นเธอเป็นทหารที่ผ่านการรบเพื่อประเทศชาติอย่างโชกโชนและเจ็บปวด จนถึงขั้นที่เขาหมดความต้องการที่จะใช้ชีวิต ในบ้านเกิดเมืองนอนอีกต่อไป อังกฤษเต็มไปด้วยร่องรอยของสงครามที่เขาต้องการจะลืม และในเมื่อหญิงคู่หมั้นของเขาไม่ยอมทิ้ง

บ้านเมืองที่เธอรัก เขาก็ตัดสินใจทิ้งเธอไปสร้างชีวิตใหม่ กับผู้หญิงคนใหม่ในสหรัฐอเมริกา


หญิงคนนี้ซ่อนจิตใจที่เต็มไปด้วยความเมตตา ไว้ภายใต้ความเด็ดขาดของคนเจ้าระเบียบ รอยแผลของเธอดูจะลึกกว่าของคนแรก ฝีมือทำกับข้าวแสนอร่อยของเธอ ทำให้ผู้เขียนติดใจรสอาหารอังกฤษแบบชาวบ้านๆ มาจนทุกวันนี้


ส่วนคนที่สามเป็นน้องสาวของคนที่สอง ครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นคนสวยมาก หากดูจากภาพถ่ายสมัยที่ยังเป็นสาวน้อยเป็นภาพที่เธอไม่ชอบให้ใครเห็น


เมื่อสงครามระเบิดขึ้นใน พ.ศ. 2482 และผู้ชายส่วนใหญ่ไปออกรบ หญิงคนนี้ก็ทำหน้าที่ของเธอด้วยการเข้าทำงานในโรงงานผลิตอาวุธ เธอมีหน้าที่บรรจุดินระเบิดในหัวกระสุน ทำอยู่นานไม่ทราบว่ากี่ปี

สารพิษจากดินปืนแทรกซึมเข้าไปในระบบร่างกายทีละน้อย จนเธอล้มป่วยลงถึงขั้นที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ในที่สุดก็กลายเป็นคนพิการ หน้าตาบิดเบี้ยว มือเท้าหงิกงอชายหนุ่มทั้งหลายที่เคยมาติดพันก็พากันหายไปตามระเบียบ


ในขณะที่หญิงสองคนแรกมีอาชีพเป็นครูตอนที่สงครามระเบิด หญิงคนที่สามนี้มีอายุได้เพียง 17 ปี เมื่อเธอเข้าทำงานในโรงงานผลิตอาวุธ ผู้เขียนรู้จักเธอในสภาพคน พิการที่หงุดหงิดง่าย แต่อ่อนโยนกับผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสัตว์เลี้ยง ทุกๆ วัน ยกเว้นวันอาทิตย์ เธอจะทำความสะอาดบ้าน ด้วยมือที่น่าสงสารของเธอ วันจันทร์เป็นวันที่เธอทำงานหนักที่สุดคือช่วยพี่สาวทั้งซักและรีดผ้า เธออายุสั้น

และสิ้นชีวิตลงตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยกลางคน


ผู้เขียนกับญาติสนิทที่เดิน ทางมาจากเมืองไทยด้วยกัน อยู่กับ 'ครอบครัว ' นี้ได้ 6 เดือน ก็ถูกส่งตัวไปอยู่โรงเรียนประจำอีกเมืองหนึ่งซึ่งต้องนั่งรถไฟไกลออกไปอีกสองชั่วโมงเศษ ผู้เขียนก็กลับมาอยู่ที่นี่ทุกครั้ง

ที่โรงเรียนปิดเทอมจนรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวของตนเอาจริงๆ


ขอย้อนกลับมาเรื่องการเรียนรู้ที่ได้รับจากตรงนี้ แน่นอนว่าเรื่องแรกคือภาษาอังกฤษ หญิงคนแรกชื่อ Marjorie Doris Isabelle Clark เราเรียกเธอว่า Miss Clark เธอมีหน้าที่สอนภาษาอังกฤษให้เราอย่างเป็นทางการ อันที่จริงทั้ง 3 คนเป็นครูเราโดยปริยาย เพราะเราจำเป็นต้องสื่อสารกับเธอทุกคน

ในชีวิตประจำที่บ้านเล็กๆ น่ารัก ที่มีทั้งสวนดอกไม้และสวนผักหลังนั้น


จำได้ว่า นอกจาก Miss Clark จะนั่งสอนศัพท์ไวยากรณ์และบทสนทนาอย่างเป็นทางการทุกเช้าแล้ว ก็ยังอ่านหนังสือให้ฟังหลังอาหารค่ำทุกวันอีกด้วย แรกๆ ก็อ่านบทอาขยานและหนังสือเด็ก ที่เธอคิดว่าเหมาะกับวัยของผู้เขียน จำได้ว่าเป็นหนังสือนักสืบผจญภัยโดยมีตัวเอกเป็นเด็ก งานเขียนของ Enid Blyton

ที่ว่า 'อ่านให้ฟัง ' นั้น หมายถึงอ่านให้ฟังจริงๆ ฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องนั้น Miss Clark ไม่ถือว่าสำคัญ ฟังไปก็ให้ถักนิตติ้งไปด้วย มือจะได้ไม่ว่าง


เรื่องนิตติ้งนี้หญิง คนที่สองที่ชื่อ Alice Knight หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า Miss Knight เป็นผู้สอนซึ่งเป็นการสอนที่ได้ผลมาก เพราะทั้งผู้เขียนและญาติผู้เขียน สามารถถักเสื้อหนาวใส่เองกันอย่างเพียงพอ

มิหนำซ้ำยังเป็นเสื้อที่ประณีต มีลวดลายงดงามกว่าที่ขายตามห้างร้านเสียอีก Miss Knight จะเปิดวิทยุให้ฟังใน ตอนบ่ายพร้อมกับสอนถักนิตติ้ง (สมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์) รายการวิทยุที่ให้ฟังนั้น มีทั้งข่าว BBC ทั้งรายการเพลง คลาสสิก และละคร เรียกว่ามีภาษาอังกฤษให้ฟังหลายรูปแบบ ทั้งๆ ที่ยังฟังไม่รู้เรื่อง ภาษาอังกฤษจากวิทยุในตอนนั้นเป็นแค่เพียงเสียงกระทบหู


อยู่มาวันหนึ่ง ผู้เขียนนั่งถักนิตติ้งปล่อยให้เสียงวิทยุ กระทบหู อยู่ดีๆ ก็เกิด 'รู้เรื่อง ' ขึ้นมาอย่างนึกไม่ถึง เป็นข่าว BBC ถ้าจำไม่ผิด ถึงจะไม่รู้เรื่องทั้งหมดแต่พอที่จะประติดประต่อเรื่องราวได้ ทำให้เกิดกำลังใจเป็นอย่างมากถึงกับเต้นแร้งเต้นกา ไปบอก Miss Knight จากวันนั้นเกิดความรู้สึกเป็นเป็นมิตรกับภาษาอังกฤษ เป็นมิตรภาพที่ยาวนานมาจนทุกวันนี้ อีกทั้งยังเป็นมิตรภาพที่มีการพัฒนาการเรื่อยมา ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก

การนั่งฟัง Miss Clark อ่าน Enid Blyton กลายเป็นเรื่องสนุก 'กลับบ้าน ' ยามที่โรงเรียนปิดเทอมครั้งใด เป็นต้องขอให้ Miss Clark อ่านหนังสือให้ฟังเป็นการย่อยอาหาร ทำให้คนอ่านได้ใจ เพิ่มระดับวรรณกรรมขึ้นเป็นระดับงานคลาสสิกทั้งประเภทเรื่องสั้น นวนิยาย และกวีนิพนธ์ หนักๆ เข้าคนอ่านก็เกิดอาการคอแห้ง ต้องให้คนฟังเป็นคนอ่านดังๆ ให้ฟังบ้าง อาการคอแห้งแบบการเมืองของ Miss Clark กำเริบหนักขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดผู้ที่เคยเป็นคนฟังก็กลายเป็นคนอ่านให้ผู้ที่เคยเป็นคนอ่านฟัง

เป็นที่เพลิดเพลินกันทั้งสองฝ่าย


กลับโรงเรียนครั้งใด คะแนน วิชาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาที่ต้องใช้ภาษาในการอ่าน เขียน และคันคว้า ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ซัด จิตใจผู้เขียนก็สบายขึ้นด้วย การเรียนที่ได้ผลดีทำให้เกิดความมั่นใจ และ

รักที่จะเรียน


นอกจากเรื่องราวที่ได้เล่ามาแล้ว 'ครอบครัว ' นี้ ยังสอนภาษาอังกฤษด้วยการพาไปดูหนังทุกอาทิตย์ ดูละครสักเดือนหรือสองเดือนครั้ง ละครที่ดูมักจะไม่ใช่ละครเพลงประเภท Broadway musicals อย่างที่ชอบดูกันในปัจจุบัน หากเป็นละครพูดชนิดที่เรียกรวมๆ ว่า straight plays จะเป็นประเภทสุขนาฎกรรม หรือโศกนาฎกรรม หรือ ละครประเภทนักสืบก็ตามที


ที่ไม่ใคร่จะได้ดูละครเพลงก็เพราะไม่มีให้ดูตามชานเมืองที่เราอยู่ สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กนั้น แม้กระทั่งในย่านละครอันลือชื่อที่เรียกว่า West End ก็ไม่ใคร่จะมี musicalsให้ดูมากนัก นอกจากนั้นแล้ว Miss Knight กับ Miss Clark ก็เห็นว่าการดูละคร West End เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ดูแค่ละครของกลุ่ม repertery ที่ชาญเมืองก็ดีพอแล้ว บางครั้งก็ชวนขึ้นรถไฟเข้ากรุงลอนดอนไปดูละครเช็คสเบียร์ที่ The Old Vic Theatre ซึ่งเป็นจุดเกิดของนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ของ อังกฤษหลายต่อหลายคน ปัจจุบันนี้ไม่มี The Old Vic แล้ว สิ่งที่ Miss Clark สามารถทำให้เป็นเรื่องสนุก คือการเดินดูจิตรกรรมและ

ปฏิมากรรม ซึ่งหาดูได้มากมายในมหานครลอนดอน


เป็นธรรมดาของคนที่ไปดูหนัง ดูละครดูทัศนศิลป์ ที่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งถกเถียงกับคนที่ไปดูด้วยกัน และในเมื่อไปดูกับแหม่มที่พูดภาษาไทยไม่ได้ก็ต้องดิ้นรนหา ทางพูดให้เขาเข้าใจ นานเข้าการต่อคารมเป็นภาษาฝรั่ง ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา


ประสบการณ์ในเรื่องการซึมซับภาษาอังกฤษของ ผู้เขียน คงจะล้าสมัยเกินกว่าที่จะนำมาประยุกต์ใช้ใน ปัจจุบันกาล ซึ่งมีเทคโนโลยีและเทคนิควิธีมากมายในการ ใช้สอนภาษา ที่นำมาเล่าตรงนี้ขอให้ถือเป็นการเล่าเรื่องเก่าๆ สู่กันฟัง


ไหน ๆ ก็เล่าเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษใน 'ครอบครัว 'หญิงล้วนนี้แล้ว ก็ขอเล่าเลยไปอีกสักหน่อยว่า ได้อะไรจากหญิงทั้ง 3 คนนี้อีกบ้าง เท่าที่นึกได้ก็เห็นจะมีความประหยัด และความอดทน อดทนกับดินฟ้าอากาศ และความไม่สะดวกนานาประการ การเดินทางระยะยาวนับไมล็กลายเป็นเรื่องธรรมดา รถยนต์ เป็นสิ่งที่ได้นั่งน้อยครั้งในระยะเวลา 6 ปีครึ่งที่เล่าเรียนอยู่ในประเทศอังกฤษ


เมื่อกลับเมืองไทยเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ก็เห็นผลว่าความอดทนที่ได้ฝึกฝนในชีวิตประจำวันกับแหม่มทั้ง 3

ทำให้ชีวิตเป็นอิสระขึ้นมาระดับหนึ่ง อิสรภาพจากความหงุดหงิดเมื่อขาดสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้สามารถท่องเที่ยวผจญภัย อยู่ป่าอยู่เขาได้อย่างโปร่งใจไม่เดือดร้อน



ส่วนเรื่อง 'ใจที่ยังคงเป็นคนไทย ' อันเป็นที่สนใจของพ่อแม่เด็กหลายต่อหลายคนนั้น ต้องยอมรับว่าแรกๆที่กลับมาอยู่เมืองไทย หลังจากที่ได้เติบโตเป็นสาวในประเทศอังกฤษโดยไม่ได้กลับมาเมืองไทยถึง 6 ปีครึ่ง ผู้เขียนก็มีความเป็นแหม่มติดตัวมาไม่น้อย อาศัยที่คุณยายได้ปลูกฝังความคิดแบบไทยๆ มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย จึงกู่กลับได้ไม่ยากนัก


ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นคุณยายนุ่งโจง เจียนหมาก จีบพลู ได้ฟังท่านอ่านอิเหนา เงาะป่า ลิลิตพระลอ นอกจากนั้นก็ยังได้อ่านรามเกียรติ์ รำละครไทย เป็นแฟนยี่เกวิกสำเหร่ หลงใหลโขนละครของกรมศิลปากร ตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบ ทำให้หันกลับมาสนใจเรื่องไทยๆ เกือบจะทันทีที่กลับมาอยู่บ้าน


แรกๆ ก็คิดถึงอังกฤษ อยากทิ้งเมืองไทยกลับไปอีก แต่ความรู้สึกก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมีความรู้สึกว่า ไม่ต้องการจากเมืองไทยไปอยู่ที่ไหนอีก อยู่นานจนอายุถึงปูนนี้ ผู้เขียนรู้สึกว่าความเป็นฝรั่ง

เป็นไทยของตัวเองนั้นปนเปกันจนแยกไม่ออก หากจะวิเคราะห์แยกแยะ ก็เห็นจะต้องยกให้เป็นเรื่องของคนอื่นที่มองเข้ามาจากภายนอก ตามความจริงที่ว่าคนเราไม่เคยมองเห็นหน้าตัวเอง เห็นแต่เพียงภาพสะท้อนจากกระจกเงา


นางเอกทั้ง 3 ของบทความนี้ ได้ช่วยให้เข้าใจว่า ในส่วนลึกของหัวใจมนุษย์มิได้แตกต่างกันตามเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ หรือลักษณะกายภายนอก ผู้เขียนโชคดีที่ได้เห็นเธอใช้ชีวิตด้วยเมตตาธรรม

อันอ่อนโยน มีรอยยิ้มและความรักให้เพื่อนร่วมโลก ถึงแม้ว่าโลกนั้นได้สร้างรอยแผลไว้กับหัวใจของเธออย่างมากมาย และได้เรียนรู้จากเธอทั้ง 3 ว่า การเข้าถึงแก่นแท้ที่งดงามของมนุษย์และส่วนลึกของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นของชาติเราหรือของอีกซีกโลก เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งในชีวิต


 

จาก: คอลัมน์กิตติมศักดิ์ ใน วารสารสกาว ปีที่ 6 ฉบับที่ 32 มกราคม 2540






ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page