top of page

หนังสืองานศพจากความรู้สึก ‘ผู้จัดทำ’



'ผู้จัดทำ' หนังสืองานศพมีบทบาทไม่น้อยในการเพิ่มมูลค่า จากหนังสือแจกฟรี ทำให้หนังสือมีมูลค่าตั้งแต่ร้อยเท่าพันเท่า กระทั่งถึงหมื่นเท่ายังมีให้เห็น


ทว่า สิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลกว่าตัวเงิน นั่นคือ ความตั้งใจบรรจงเรียงร้อยตัวอักษรแต่ละตัวขึ้นเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ด้วยความรู้สึกที่ว่า เปรียบเสมือนทดแทนบุญคุณผู้ล่วงลับ


คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ผู้จัดทำหนังสืองานศพหลายเล่ม ซึ่งประสบผลสำเร็จ มีผู้กล่าวชมและถามหา เช่น ‘โศกอันเกษม’ หนังสืองานศพบัญชา ล่ำซำ และเล่มล่าสุด ‘ดุจนาวากลางมหาสมุทร’ หนังสืองานศพ

สุวิทย์ หวั่งหลี


ประสบการณ์การทำหนังสืองานศพของคุณหญิงจำนงศรีนั้น กว่าจะได้มาแต่ละเล่มต้องใช้เวลาค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียงอยู่นาน เธอยกตัวอย่างหนังสือเล่มแรกที่ทำ คือ ‘หนังสืองานศพคุณหมอพิพัฒน์ คุ้มเกษ’ ผู้ร่วมงานกับ ศ.นพ.อุทัย รัตนิน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลจักษุรัตนิน


“หนังสืองานศพเล่มแรกนี้ ดิฉันยังไม่มีประสบการณ์เท่าไรนัก เลือกเอาธรรมะจากผู้ที่หมอพิพัฒน์เคยช่วยหมออุทัยรักษาหรือผ่าตัดตา อย่างหลวงปู่แหวน, หลวงปู่ขาว, หลวงปู่คำดี, ท่านอาจารย์มหาบัว, อาจารย์คุณรัญจวน และฯลฯ มาจัดเรียงกัน แบ่งเป็น 3 ตอน ลำดับตามศีลของเจ้าของบท...ท่านเจ้าคุณธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ท่านกรุณาตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ‘ธัมมาภิสมัย ’


หนังสืองานศพเล่มที่สอง เริ่มขึ้นหลังจากบัญชา ล่ำซำเสียชีวิต นายแบงก์ผู้นี้เป็นลูกพี่ลูกน้องสนิทสนมกับคุณหญิงจำนงศรีมาก มีบุญคุณช่วยเหลือมาตลอด คุณหญิงสำอางวรรณ ล่ำซำ ภรรยาคุณบัญชาบอกคุณหญิงจำนงศรีว่า หนังสืองานศพของคุณบัญชายังขาดเรื่องความเข้าใจชีวิตเกี่ยวกับ ‘เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย’


“พี่จ้อย (คุณหญิงสำอางวรรณ) บอกให้ช่วยทำหนังสือนี้ ดิฉันเต็มใจมาก คิดว่าจะเอาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด ความพลัดพรากและความตาย มาจัดรวมกับพระพุทธพจน์และพระธรรมเทศนาในเรื่องเดียวกัน มาเรียงลำดับสลับก่อนหลังให้ผู้อ่านเกิดทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิด ที่ลึกลงไปตามลำดับ

“ดิฉันใช้แค่ตัดตอน แต่ตัดต่อด้วย ให้ได้เนื้อหาที่กระชับ น่าอ่านสำหรับคนในยุคสมัยที่มีเวลาอ่านหนังสือไม่มากนัก

“การตัดต่อดิฉันใส่เครื่องหมาย ‘...’ ให้ทราบว่าตรงนั้นมีการตัดต่อ ถ้าทำอย่างนี้กับวรรณกรรมไม่มีใครว่า แต่บทเทศน์ธรรมะของพระสงฆ์องค์เจ้าซิคะ ใครๆ ก็ว่าทำไม่ได้ บาป ดิฉันจึงทำอย่างระมัดระวังมาก ไม่ให้ความหมายผิดเพี้ยนไป”


ช่วงนั้นคุณหญิงจำนงศรีตะลุยอ่านทั้งวรรณกรรมและธรรมะ ทั้งยังชวน ดร.สุจิตรา จงสถิตวัฒนา ผู้ช่ำชองเกี่ยวกับวรรณกรรมมาช่วย ในที่สุดสามารถวางโครงเรื่องได้


“เราจัดทำเป็น 3 ตอน เริ่มจากความเจ็บป่วยและพลัดพราก ช่วงสองเป็นเรื่องความตาย ช่วงสามอยู่เหนือความเจ็บป่วยและความพลัดพราก มีความรู้สึกให้อยู่เหนือความตาย”


เรื่องความตายที่คัดเลือกมานั้น เธอเล่าว่า


“ดิฉันเลือกบทความตายที่หลากหลายมาก เช่น ความตายของนางพันธุรัตน์ ตายเพราะอกหัก ลูกไม่รัก ความตายของพิมพิลาไลย ซึ่งมีคนนั้นร้องไห้ คนนี้เป็นลม สลบ วุ่นวายเหลือเกิน มีห่วงมากมาย

...ดิฉันอยากให้เห็นความตายหลายรูปแบบ


"ความตายของพระเอกในเรื่องพรายทะเล เป็นการฆ่าตัวตายแบบหนึ่ง มีคนท้วงว่าทำไมเอามารวมด้วย ดิฉันบอกว่าต้องการความตายทุกรูปแบบมาอยู่ในเล่ม และในตอนท้ายเล่มมีเรื่องความตายของหลวงพ่อเสม (จากเรื่อง ‘หลายชีวิต’ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ซึ่งสวยงามมาก”


คุณหญิงจำนงศรีถือว่า วรรณกรรมคือการจำลองชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ธรรมะเป็นเรื่องที่พูดถึงธรรมชาติของกายและใจ


แม้กระทั่งการเรียบเรียงเรื่อง มีเจตนาให้ผู้อ่านเห็นความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากความตายก่อน จนในที่สุดให้ผู้อ่านเห็นว่ามนุษย์เรามีสติปัญญาที่จะอยู่เหนือทุกข์ อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือว่า ‘โศกอันเกษม’


หลายคนอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวแล้ว รู้สึกว่าทุกบทพาผู้อ่านไปสัมผัสความทุกข์ จนเข้าใจว่าความตายนั้นไม่น่ากลัว แต่เป็นอนิจจังของชีวิต


เมื่อทำหนังสืองานศพของบัญชาเสร็จได้ไม่นาน คุณหมออุทัยเสียชีวิต คุณหญิงจำนงศรีรับหน้าที่ทำหนังสืองานศพอีกครั้ง เธอคิดไม่ออกอยู่นานว่าจะทำหนังสืออย่างไรดี จนเมื่อเวลาใกล้เข้ามา เพื่อนฝูงจึงเข้ามาช่วยคิดอีกแรงหนึ่ง


“ดิฉันตั้งชื่อหนังสือว่า ‘นัยน์ตา-นัยน์ใจ’ ตาที่เราเห็น คือตาที่คุณหมออุทัยรักษามาตลอดชีวิต แต่ตาที่สำคัญกว่านั้นคือ การเห็นด้วยความรู้สึกที่ใจ ไม่ใช่การเห็นที่ใช้สมองคิดแต่อย่างเดียว


“..ครูบาอาจารย์บอกว่าปัญญามี 3 ปัญญา คือ ปัญญาที่ได้ยินได้ฟังมา ปัญญาที่ได้อ่านมา และปัญญาที่เกิดจากการคิด จิตที่สงบมีสติและสมาธิ เป็นปัญญาที่ชัดแจ้งที่สุด ความหมายของตา มนุษย์ต้องมีตาและปัญญาที่เกิดขึ้นในจิตนี้ด้วย ก็เลยออกมาเป็นนัยน์กาย-นัยน์ใจ”


เนื้อหาในเล่มนี้ ช่วงแรกเป็นประวัติคุณหมออุทัยที่สัมภาษณ์มาจากบุคคลรอบข้าง ทั้งเพื่อน คนไข้ ลูกและเพื่อนร่วมงาม นำมาร้อยเรียงกัน ส่วนนัยน์กาย คือโรคตาทุกชนิดที่หมอในโรงพยาบาลช่วยกันเขียน ส่วนนัยน์ใจนั้นเธอบอกว่า


“เป็นการรวบรวมเรื่องการเห็น แต่เห็นด้วยใจ ใช้ทั้งธรรมะและวรรณกรรมเหมือนเดิม เพื่อนพ้องที่เป็นนักเขียน เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไพลิน รุ้งรัตน์ สนานจิต บางสะพาน และอัศศิริ ธรรมโชติ มาช่วยกันเขียนให้ และคัดธรรมะของครูบาอาจารย์ ในเรื่องการเห็นด้วยใจมา”



หนังสืองานศพเล่มล่าสุดที่คุณหญิงจำนงศรีเข้าไปทำ คือ ‘ดุจนาวากลางมหาสมุทร’ ของคุณสุวิทย์ หวั่งหลี เธอเล่าว่า


“ครั้งแรกดิฉันจะทำเรื่องบริษัทในเครือหวั่งหลี เปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน พอค้นไปไม่มีหลักฐานอะไรเลย รูปเก่าก็ไม่มี ดิฉันจึงเปลี่ยนมาเขียนประวัติตระกูลแล้วก็กลุ้มใจสุดขีด เพราะประวัติตระกูลก็ไม่มี

จนคุณสุเทพ หวั่งหลี ซึ่งโตในเมืองจีนใกล้ชิดกับย่าในเมืองจีน เล่าข้อมูลเป็นเรื่องตลกให้ดิฉันฟัง

ซึ่งน่าสนใจ


“ช่วงนั้นเมืองจีนกำลังเชิญตัวแทนหวั่งหลี ไปเปิดโรงเรียนที่หวั่งหลีบริจาค เราก็ตามไป พอค้นเข้าไปก็สนุก เพราะเป็นตระกูลที่มีสีสัน เข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ตั้งรกรากปีที่ 3 ของรัชกาลที่ 5”


คุณหญิงจำนงศรีใช้เวลา 4 เดือน เขียนและค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ทั้งจากเอกสารเมืองไทย ไปสัมภาษณ์คนจีนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษตระกูลหวั่งหลี ที่โจ่ยโคย มณฑลกวางตุ้ง โดยให้ล่ามช่วยแปลให้ จนสาวกลับไปสู่อดีตของบรรพบุรุษถึง 6 ศตวรรษ


บทแรกของหนังสือ เริ่มต้นขึ้นที่หมู่บ้านอันเป็นบ้านเกิดในเมืองจีน สาวกลับไปสู่อดีต เล่าเรื่องสีสันของบรรพบุรุษหวั่งหลี ก่อนจะลงเรือหัวแดงโต้คลื่นลมมาค้าขายในประเทศสยาม แม่เมืองจีน การต่อสู้ตั้งรกรากของลูกหลานที่อยู่ในเมืองไทย และจบลงด้วยสุวิทย์ หวั่งหลี พี่ใหญ่หวั่งหลีรุ่น 4


ลีลาการเขียนจากเรื่องราวชีวิตของตัวละครและเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ ทำให้หนังสือเล่มนี้เรียกได้ว่าเป็นตำราประวัติศาสตร์ที่มีสีสัน อ่านสนุก ข้อมูลมีฟุตโน้ต บรรณนุกรมอ้างอิงอยู่ท้ายเล่มครบครัน

คุณหญิงจำนงศรีย้ำว่า หนังสืองานศพนั้นไม่ได้ทำเพื่อขาย แต่ทำจากจิตใจที่ผูกพันรักใคร่ ตอบแทนบุญคุณผู้ตาย เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงความตั้งใจ เพราะความรู้สึก ความสามารถทุกอย่าง ถูกถ่ายทอดผ่านตัวอักษรสู่หนังสือจนหมดสิ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นธรรมทานและวิทยาทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำด้วยใจอันเป็นกุศล

 

จาก: คอลัมน์ COVER STORY หนังสือพิมพ์ Weekend ประจำวันที่ 27 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2539

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page