top of page

ดุจนาวากลางมหาสมุทร

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์)


"...มนุษย์ทุกคน ตระกูลทุกตระกูล ไม่ว่าจะมีวงศาคณาญาติมากมายสักเพียงใด ก็ไม่พ้นจากความเป็นทาสของการเปลี่ยนแปลงและกาลเวลา

...เพื่อให้ผู้ใดก็ตามที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นอ่าน ได้เห็นภาพสะท้อนของการต่อสู้ ความรัก ความสำเร็จ ความผิดหวัง ความทุกข์ ความสุข และความแปรเปลี่ยนที่มีอยู่ในชีวิตทุกชีวิต

...และยอมรับในธรรมชาติของความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง

...แม้กระทั่งสิ่งที่เราเรียกว่าชีวิต"

ข้อความที่ยกมานี้เป็นส่วนหนึ่งของคำนำในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ดุจนาวากลางมหาสมุทร ครั้งแรกเป็นหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของนายสุวิทย์ หวั่งหลี เมื่อปี 2537 ถึงวันนี้ดุจนาวากลางมหาสมุทร ได้จัดพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค เพื่อผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ของจีนในไทย และผู้ที่พร้อมจะ

เรียนรู้เรื่องของความสุข ความทุกข์ และความเปลี่ยนแปลงของชีวิต


สำหรับ ดุจนาวากลางมหาสมุทร นับเป็นงานเชิงประวัติศาสตร์เล่มแรกของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน

นักเขียนไทยที่มีผลงานหลากหลายทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ งานประพันธ์มีทั้งกวีนิพนธ์ นิทาน บทความ เรื่องสั้น และบทละคร


คุณหญิงเล่าให้เราฟังว่าท่านเริ่มต้นทำงานเขียนตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เพราะมีเรื่องสั้นตีพิมพ์เมื่ออายุ 16 ปี ช่วงที่ท่านเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษเรื่อง THE MOTH


“THE MOTH หมายถึงตัวแมลงชีปะขาว เขียนออกมาเป็นเรื่องจิตวิทยาซับซ้อนตามความรู้สึกเด็กรุ่นนั้น เอามาอ่านตอนนี้คงเขิน เลยไม่กล้าอ่าน ไม่ให้ใครอ่านแล้ว ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษเพราะไปอยู่อังกฤษตั้งแต่อายุ 12 ไปอยู่โรงเรียนไกลเมือง ในป่า NEW FOREST โรงเรียนไม่มีคนเอเชียเลย บรรยากาศป่าสวยมาก แล้วก็มีทุ่งกว้างสุดลูกตาทำให้รักอ่านรักเขียนโดยปริยาย”

คุณหญิงเล่าให้ฟังต่อว่าบุคคลซึ่งปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้นั้นคือคุณยาย เนื่องจากกำพร้าแม่ตั้งแต่

อายุยังไม่ถึง 3 ขวบ จึงใกล้ชิดกับคุณยายเป็นพิเศษ ซึ่งคุณหญิงเองได้เล่าผ่านหนังสือเรื่องดุจนาวากลางมหาสมุทรว่า


“คุณยายเป็นคนใช้คำพูดที่นุ่มนวลและเฉียบขาด ถ้าจะใช้ศัพท์หนังสือพิมพ์หน้าการเมืองคง

เรียกได้ว่า มีลิ้นมีดโกนชโลมน้ำผึ้ง ท่านเป็นนักเล่านิทานที่สามารถดึงดูด ความสนใจของเด็กไว้ได้ ครั้งละนาน ๆ และซ่อนความเจ้าบทเจ้ากลอนไว้แสดงออกกับหลานบางคน ทั้งนี้คงเป็นเพราะท่านเป็นนักอ่าน

ตัวฉกาจ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือวรรณกรรม”

หลานสาวที่ใกล้ชิดกับคุณยายจึงได้รู้เรื่องจากวรรณกรรมตั้งแต่อ่านหนังสือยังไม่ออก คุณหญิงได้อ่านรามเกียรติ์ ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมต้น ตามมาด้วย สังข์ทอง อิเหนา ราชาธิราช ฯลฯ


“ดิฉันชอบอ่านมาก ไม่เคยโดนบังคับให้อ่านหนังสือเหมือนเด็กสมัยนี้ มีแต่โดนดุว่าอ่านจนไม่รู้จักกินรู้จักนอน สมัยอยู่โรงเรียนประจำที่อังกฤษเขาดับไฟแล้วยังแอบเอาไฟฉายซ่อนคลุมโปงอ่าน เพื่อนบางคนก็ทำเหมือนกัน ขึ้นรถก็อ่าน เข้าห้องน้ำก็อ่าน เมื่อเด็กๆ อยู่เมืองไทยจนถึง 12 ขวบ เรียนหนังสือแย่มาก มาตลอด จนตกแหล่มิตกแหล่ เอาแต่อ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียน เพื่อนๆ ที่ราชินียังจำได้ว่าเราไม่เอาไหนเลย ทำไมมาทำอะไรดีๆ ได้ อันที่จริงมาเรียนเก่งก็เมื่อไปอยู่อังกฤษสักพักแล้ว คุณพ่อยังเคยนึกว่าครูส่งรายงานผิด เพราะลูกสาวหัวขี้เท่อทำไมไปเรียนชนะเด็กฝรั่งได้ ”


เนื่องจากหน้าที่การงานของคุณหญิงนั้นมีมากมาย แต่ก็ยังมีเวลาให้กับการทำงานเขียน เราจึงถามถึงเรื่องของการแบ่งเวลา


“ดิฉันแบ่งเวลาไม่เป็นเลย ทำงานหลายอย่างมาก งานเขียนเป็นส่วนที่แทรกเข้าไปในเรื่องอื่น ๆ ก็เลยมีผลงานไม่มากเท่าที่ควร ดิฉันมีความคิดความรู้สึกที่อยากเขียนผ่านเข้ามามาก บางเรื่องมีสีสันกระทบใจมาก แต่มัวติดงานอื่นก็ไม่ได้เขียน มันก็ผ่านไป จางไป จะดึงกลับมาก็ไม่สด ไม่กระทบแรงเสียแล้ว”


งานประพันธ์ที่คุณหญิงสร้างสรรค์นั้นหลายหลายประเภท ทั้งเรื่องสั้น บทความ บทกวี นิทาน แต่งานที่ท่านบอกว่าออกมาอย่างเป็นธรรมชาติที่สุดก็คืองานกวี ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย รวมทั้งนิทานด้วย


“ทีว่ามาอย่างเป็นธรรมชาติคือมันไหลมาเอง ไม่ต้องไปบังคับ ไปค้นหา เริ่มจากมีอะไรกระทบตา

กระทบใจ รู้สึกอยากเขียนก็เขียน บรรทัดแรกออกมา แล้วก็จะพาบรรทัดที่สองตามมา แล้วก็ต่อๆ กันไป

ไม่เคยกำหนดว่าจะสั้นหรือจะยาวแค่ไหน จะจบอย่างไร มันเป็นไปเอง 'ปากกาพาไป' นิทานที่เขียนออกมาก็คล้ายกัน เรียกว่าถนัดก็คงได้ เขียนได้เร็ว และสบายๆ ถ้ารู้สึกอยากเขียน ถ้าบังคับก็เขียนไม่ออกด้วย ไม่สบายใจด้วย”


สำหรับผลงานล่าสุดของคุณหญิงคือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร พิมพ์ครั้งแรกเป็นหนังสือแจกงานศพ

คุณสุวิทย์ หวั่งหลี มีคนอ่านในวงจำกัด แต่ก็มีผู้ที่นำหนังสือเล่มนี้ไปขายแถวจตุจักรด้วย ซึ่งคุณหญิงรู้สึกดีใจที่มีคนอ่านกว้างออกไป ต่อมากรรมการสยามสมาคม ด้ขอไปพิมพ์เป็นตอนๆ ในวารสารสยามอารยะ และมาพิมพ์รวมเล่มในที่สุด


“ตอนพิมพ์ในสยามอารยะมีคนที่อ่านแล้วก็ว่าน่าจะให้คนทั่วไปได้อ่าน เพราะอ่านสนุก ให้ความรู้และมีเกร็ดแปลกๆ ได้พบคุณสุวดี สำนักพิมพ์นานมี ในงานเปิดตัวพระราชนิพนธ์แปล เมฆเหินน้ำไหล นานมีบอกว่าอยากพิมพ์ก็เลยดี พอดีกำลังอยากได้ค่าลิขสิทธิ์ไปสมทบทุนมูลนิธิเรือนร่มเย็นที่ดิฉันทำอยู่ที่เชียงราย คือเราเอาเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่เพิ่งจบการศึกษาภาคบังคับ คือจบระดับประถม และตกอยู่ในอันตรายด้านการค้าประเวณี หรือยาเสพติด ออกจากบ้านมาอยู่กับเรา โดยเราให้การศึกษา ฝึกวิชาชีพ อบรมด้านทัศนคติและการช่วยตัวเอง ต้องใช้เงินมากอยู่ตลอดเวลา ดุจนาวากลางมหาสมุทรก็กลายมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค”

ดุจนาวากลางมหาสมุทรเล่มนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นงานเชิงประวัติศาสตร์เล่มแรกของคุณหญิง แก่นของหนังสือคือเรื่องราวของคนในตระกูลหวั่งหลี นับตั้งแต่บรรพบุรุษคนแรกที่ขยายกิจการพาณิชย์เข้าสู่

เมืองไทย ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งวิถีชีวิตของคนเหล่านี้สะท้อนวัฒนธรรมประเพณีของคนเชื้อสายจีนใน

เมืองไทย


“เดิมที่ยังไม่ได้ลงมือ ดิฉันคิดว่าจะเขียนแค่ประวัติตระกูลหวั่งหลี แต่พอเขียนไป ค้นไป รู้สึกว่า

มันมากกว่านั้นมาก เรื่องต่างๆ ที่ค้นพบพาไปเรื่อยๆ ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับของคนเขียน ไม่ใช่เสียแล้วเรือไปในเส้นทางที่น้ำ ลม คลื่นพาไปพบสิ่งใหม่มากมาย คนเขียนแค่ประคองเรือ ใช้หางเสือไม่มากเลย

คนหวั่งหลีมีบทบาทในสังคมที่เขาเข้ามาอยู่ เขาเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ปีที่ 3 ของรัชกาลที่ 5 มาตั้งรกราก

ในฐานะพ่อค้าเจ้าของกองเรือพาณิชย์ มาค้าข้าว และเดินเรือระหว่างเมืองจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ก็เลยต้อง

มี BACKGROUND ด้านประวัติศาสตร์บ้าง ดิฉันเป็นคนขี้สงสัยก็เลยค้นใหญ่ ยอมรับว่าสนุกกับมันมากเลย พบอะไรที่นึกไม่ถึงก็ตื่นเต้น ค้นต่อไปอีกเรื่อยๆ แต่ต้องบอกก่อนว่าดิฉันไม่คิดว่าตัวเองเป็นนักประวัติ-ศาสตร์ เป็นนักเขียน มองเป็นมุมมองของนักเขียน ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์”

ซึ่งในการทำงานเขียนเรื่องนี้คุณหญิงต้องเดินทางไปยังหมู่บ้านบรรพบุรุษตระกูลหวั่งหลี ที่เมืองจีน เพื่อหาข้อมูล


“การเดินทางไปครั้งนั้นรู้สึกเหมือนตัวเองถอยหลังเข้าไปในอดีต เป็นอดีตที่เราเป็นทั้งคนแปลกหน้าและลูกหลาน หมู่บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านชนบทจริงๆ ไกลเมืองมากอยู่กลางทุ่ง แต่มีบ้านของคนในอดีตของตระกูลหวั่งหลีหลายหลัง บางหลังทางพรรคคอมมิวนิสต์ดัดแปลงเป็นโรงงานเย็บผ้า มีหลังหนึ่งที่สวยงามใหญ่โตและสลับซับซ้อนมาก แต่ไม่มีใครเคยอยู่ และไม่มีใครใช้ประโยชน์จนถึงทุกวันนี้ หลังนี้ดูแล้วสะท้อนใจ ใช้เวลาปลูก 10 ปี ฝีมือช่างวิจิตรงดงามมากทั้งงานปูนงานไม้ พอสร้างเสร็จญี่ปุ่นบุกกวางตุ้ง เจ้าของหนีออกไปอยู่ฮ่องกง บ้านร้างมาตลอด กระเบื้องไม้สลัก ค่อยๆ หักหล่นลงมา กระเบื้องบางชิ้นถูกชาวบ้านเอาไปเป็นขาเตาถ่านตั้งหม้อทำกับข้าว ทำให้ได้คิดอะไรหลายๆ อย่าง ได้เรียนรู้และ

เข้าใจลึกๆ ในใจตัวเองอีกมาก”

และสิ่งที่คุณหญิงปรารถนาให้ผู้อ่านได้รับจาก ดุจนาวากลางมหาสมุทร ก็คือสิ่งที่ตัวผู้เขียนได้จากการค้นคว้าและการเขียนหนังสือเล่มนี้คือ การเห็นภาพชีวิตของคนหลายรุ่นในตระกูลนักธุรกิจ นายธนาคารไทยเชื้อสายจีน ที่ประสบความสำเร็จในสายตาคนทั่วไป ว่าเขาต้องผ่านความยากลำบากสารพัด ชีวิต

เต็มไปด้วยความแปรผัน ความไม่แน่นอน เหมือนเรือสำเภาที่ต้องมีไต้ก๋ง (กัปตัน) ที่มีสติไหวพริบ และความสามารถที่นำเรือไปในมหาสมุทรแห่งกาลเวลา แต่พายุคลื่นลมอยู่เหนือการควบคุมของไต้ก๋ง ชีวิตแต่ละชีวิตโดดเดี่ยวในการเกิดและความตาย ไม่ว่าจะมีญาติพี่น้องมากมาอย่างไร ก็เกิดคนเดียวตายคนเดียว ความเจ็บปวดของใครของมัน รู้สึกแทนกันไม่ได้


สำคัญว่าเราจะทำอย่างไรให้แต่ละนาทีมีค่า มีความหมายที่สุด ทำอย่างไรจะประคองนาวาเมื่อพายุกรรโชก ทำอย่างไรถ้านาวาจะล่ม ก็ยังรู้ว่านาวาลำนี้ได้ทำประโยชน์อย่างเต็มที่แล้ว

 

จาก: คอลัมน์นัดพบคนวรรณกรรม นิตยสารขวัญเรือน ปีที่ 31 ฉบับที่ 653 ปักษ์แรก กุมภาพันธ์ 2542

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page