จาก FB คุณหญิงจำนงศรี
ภาพแรก: คณะเราเข้าเฝ้าท่านรองสังฆราช ภูฏาน มีรองสังฆราช 5 องค์ ล้วนเป็นลามะที่ผ่านการปฏิบัติธรรมมาอย่างเข้มข้น รวมทั้งการขึ้นไปอยู่วิเวกบนหิมาลัย อย่างน้อยที่สุด 3 ปี 3 เดือน 3 วัน แต่ในระดับทั้ง 5 ท่านรองสังฆราชนี้ น่าจะเป็นในระดับ 6 ปี 6 เดือน 6 วัน (หมายถึง 3 ปี เดือน 3 วัน 2 ช่วง หรือแม้กระทั่ง 3 ช่วง ซึ่งรวมเป็น 9 ปี 9 เดือน 9 วัน) ทำให้ต้องมีความเข้มแข็งและสมถะในความเป็นอยู่เป็นอย่างมาก
วันนี้ได้สนทนาธรรมกับท่านโดยผ่านลามะที่ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาอังกฤษ/ภูฏาน เน้น… สนทนาธรรมจริงๆ ท่านไม่คุยอะไรที่นอกเรื่องของธรรมและการปฏิบัติธรรม และป้ากับมอดก็โชคดีที่ได้ฟังการพูดคุยในเรื่องธรรมะและอื่นๆ ระหว่างท่านอาจารย์ครรชิตและท่านรองสังฆราช
ส่วนหญิงสาวชาวภูฏาน 2 คนนั้น เป็นพยาบาล palliative care คนขวามือในภาพ อยู่ในคณะที่เดินทางมาศึกษางานในไทยเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่เป็นจุดเริ่มต้นนั่นแหละค่ะ ดีอกดีใจกันจริงๆ ที่ได้มาพบเห็นหน้ากันอีกครั้ง
ภาพที่ 2 : Dzong ของ Thimphu ที่เราได้รับเชิญไปรับประทานอาหารเที่ยงกับท่านรองสังฆราช
ภาพที่ 3: ป้าถ่ายจากระเบียงอพาร์ทเม้นท์ที่ทาง Monastic Body of Bhutan จัดให้พักระหว่างที่อยู่ใน Thimbu ค่ะ
ทางคณะสงฆ์ หรือ Monastic Body of Bhutan เป็นเจ้าภาพให้เราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถ อาหาร ที่พัก ของใช้ ตลอด 2 สัปดาห์ที่เราอยู่ที่นี่ เราแค่ซื้อตั๋วเครื่องบินเท่านั้นเอง
ป้าศรีกับมอด (สุรสา)มาครั้งนี้ เพื่อติดตามผลงานของชีวามิตร ในการช่วยทำให้เกิด Bhutan Palliative Care model ขึ้นมา
ทั้งหมดนี้ เริ่มมาจากโครงการ ทุน และการจัดการของชีวามิตร เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เราได้จัดให้ทั้งแพทย์ พยาบาล นักกฏหมาย พระสงฆ์ (หรือลามะ) ของภูฐาน ได้มาศึกษาการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งที่ ฝ่าย palliative care ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
งานของพระสงฆ์กลุ่มคิลานธรรมร่วมงานกับแพทย์ ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายของพระอาจารย์ปพนพัชร์ ที่วัดคำประมง สกลนคร และการเยี่ยมไข้ตามบ้านในระบบ ที่สร้างขึ้นในขอนแก่นโดยแพทย์หญิงศรีเวียง แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน ก็ได้ร่วมเป็นวิทยากรในด้านของการสื่อสาร การดูแลจิตใจ การให้ธรรมะปฏิบัติฯในระดับต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและที่บ้าน การสัมพันธ์กับชุมชน ฯลฯ
ในครั้งนั้น คณะของภูฏาน (ซึ่งมีลามะถึง 9 องค์) อยู่ภายใต้การจัดการของคณะสงฆ์ หรือ Monastic Body of Bhutan ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล โดยที่ทำการของรัฐบาลกับของ Monastic Body ซึ่งปกครองฝ่ายสงฆ์ จะอยู่ร่วมกันในอาณาเขต Dzong
พรุ่งนี้เราจะไปดูผลงานที่โรงพยาบาลกลางของ Thimphu โดยที่ฝ่ายแพทย์ พยาบาล และสงฆ์ จะเสนอภาพรวมของการร่วมมือของ แพทย์ พยาบาล สงฆ์ และอาสาสมัคร ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ในภูฏาน ให้เราได้เห็น
note: ทั้งมอดและป้าศรี พบว่าผ้าซิ่นไทยเราทั้งไหมและฝ้าย สะดวกมากๆในการเดินทางมาภูฏาน เรามีกางเกงมาด้วย แต่ท้ายแล้วใช้ผ้าซิ่นเป็นส่วนใหญ่
ขอบคุณภาพ Dzong จาก Wikipedia
コメント