top of page

จดหมายแม่ถึงลูกสาว

Poet and Reader : Khunying Chamnongsri (Rutnin) Hanchanlash

Translator: Suchitra Chongstitvatana

Illustrator : Nadezhda Ostrousky


A Women to Her Daughter

Not being a poet

I cannot crystallize

the tenderness, cruelties

and all the intricacies of life

into words whose sweet magic

would sing in your soul

and echo in your heart


Not being a philosopher

and have not the wisdom to tell you

the whys, whats and wherefores

of living and dying

and of all the complexities

of just “being” on this earth


And not being a moralist,

I dare not teach you

to judge your fellows

and condemn their wrongs

for, can one sit in another’s heart

burn with another’s passion

and grope the labyrinth

of another’s private hell?

Being a mere woman,

I can only ask you, a woman-to-be,

to softly sense and tenderly touch

life’s multi-textured realities

and

with a woman’s heart,

try to feel and understand…

Forever try to understand.



จดหมายแม่ถึงลูกสาว

ผู้แปล: สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา


แม่มิใช่กวี

จึงมิอาจกรองกลั่น

ความอ่อนหวาน ความโหดร้าย

และมายาหลากหลายของชีวิต

ให้เป็นมนต์ขลัง ที่จะอ้อยอิ่งในวิญญาณ

และดังกังวานในดวงใจลูกได้


แม่มิใช่นักปรัชญา

จึงขาดไร้สติปัญญา ที่จะอธิบายให้ลูกเข้าใจ

ถึงเหตุผลและหนทาง ของชีวิตและความตาย

และความยุ่งยากซับซ้อนทั้งหลาย

เพียงเพื่อดำรงอยู่ในโลกนี้


แม่มิใช่นักจริยธรรม

จึงมิอาจสอนสั่งลูก ให้ตัดสินเพื่อนมนุษย์

และประณามความชั่วผิดใดๆ

เพราะใครเล่าจะเข้าซึ้ง ถึงไฟปรารถนาอันเผาผลาญ

และความเจ็บปวดทรมาน

ในดวงใจผู้อื่นได้


แม่เป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่ง

จึงได้แต่จะวอนขอลูก

ให้ค่อยๆรับรู้ ค่อยๆสัมผัส

ผืนแพรหลากเนื้อของความเป็นจริงในชีวิต

และ ด้วยหัวใจผู้หญิง

พยายามรับรู้ พยายามเข้าใจ

พยายามเถิดลูกรัก

พยายามเรื่อยไป…เรื่อยไป


คุณหญิงจำนงศรี ได้เล่าเบื้องหลังของบทกวีนี้ไว้ เมื่อเดือน กรกฎาคม 2565 ว่า


"ในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ลูกสาวที่ตอนนี้อายุ 56 น้ำผึ้ง(คุณวรัดดา รัตนิน) เราส่งเขาไปเรียนที่โรงเรียนในคอนเนทิคัต ตอนนั้นเขาอายุ 16 เดิมเขาเรียนมาจากโรงเรียนจิตรลดา แล้วก็ได้เจอรูมเมทที่เป็นอะไรที่เขาไม่คุ้น เพราะวัฒนธรรมมันต่างกันมาก แล้วเด็กเปลี่ยนสถานที่ เป็นยุคที่ไม่มีคนไทยในต่างประเทศ เกิดความ Culture Shock ติดต่อมาว่า 'เขาไม่ไหวแล้ว ทุกข์มาก' ในสมัยนั้นค่าโทรศัพท์ก็แพงมากก็เลยติดต่อโดยใช้จดหมาย เราก็เขียนแนะนำอะไรไป ปลอบโยนอะไรไป มันก็ไม่ได้ผล เราก็กลัวเหมือนกันว่าเขาจะ Depress เสร็จแล้วก็จนปัญญาเพราะว่าไม่รู้ว่าจะแนะนำอะไรได้อีกแล้ว ตอนนั้นก็เขียนถึงกันเป็นภาษาอังกฤษบ้างภาษาไทยบ้างปนกันไป ก็เลยเขียนถึงเขาอย่างยอมแพ้ว่าแม่ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรได้อีกแล้ว ก็เลยเขียนเป็นจดหมายในรูปแบบของ Free Verse คือบทนี้เท่าที่จำได้มันไม่มีหัวข้อ แต่ต่อมา อาจารย์มนตรี (อุมะวิชนี) ให้ชื่อหัวข้อว่า A Woman To Her Daughter ซึ่งอันนี้เป็นบทแรกที่ได้ตีพิมพ์


"พอเขาได้รับจดหมายฉบับนี้ สมัยนั้นจดหมายเมล์มันก็ใช้เวลา เขาก็เงียบหายไปเลย แล้วอีกระยะหนึ่งเราได้คุยกันทางโทรศัพท์ เขาก็บอกเราว่า ทุกอย่างมันโอเคแล้ว นอกจากนั้นแล้วเขากลายเป็นที่ปรึกษาของเพื่อนที่มีปัญหา เช่น อกหัก ก็จะมาที่ห้องเขาแล้วก็จะมาคุยกัน มาให้คำแนะนำอะไรของเขาได้ โดยเฉพาะพวกที่อกหัก ปัญหาของวัยรุ่น พอถึงช่วงที่ใกล้จะสอบเขาก็เอาจดหมายที่แม่เขียนไปให้เอาไปแปะไว้ที่ห้องเขา พอเพื่อน ๆ อ่านก็รู้สึกเหมือนจะช่วยเยียวยาตัวเองกันได้ ซึ่งสำหรับเราเป็นอะไรที่แปลก เพราะเราไม่ได้นึกว่าจะมีผลอย่างนั้น เราแค่เขียนไปถึงเขาในแง่ของว่า ฉันก็ไม่ใช่กวี ฉันจะไปทำอะไรให้ชโลมจิตใจเธอด้วยความเข้าใจถึงชีวิต ความโหดร้าย ความอ่อนโยนของชีวิต ฉันก็ทำไม่ได้ ฉันไม่ใช่นักปรัชญาที่จะมาบอกว่าการมีชีวิตมันมีความซับซ้อน ฉันก็ไม่สามารถที่จะอธิบายให้เธอได้ คือเป็นจดหมายที่ยอมจำนนว่า แนะนำอะไรก็ไม่เห็นได้ผล


"เราก็ไม่ใช่นักจริยธรรมไม่สามารถที่จะสอนได้ว่า ทำยังไงจะได้ไม่ประณามเขา เราเข้าไปนั่งในหัวใจเขาก็ไม่ได้ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรเกิดขึ้นอยู่ในหัวใจเขา จบลงด้วยว่าเราก็แค่เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง เราก็แค่ขอให้เขาซึ่งก็จะเป็นผู้หญิงเต็มตัวเข้าสักวันหนึ่ง ลองค่อย ๆ สัมผัส รับรู้อะไรไป พยายามเข้าใจจากการสัมผัสและรับรู้ "


 

ดู 39 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page