จำนงศรี หาญเจนลักษณ์
โดย ชุติมา ซุ้นเจริญ
หากเปรียบชีวิตเป็นดั่งวรรณกรรมชิ้นเอก ชีวิตของผู้หญิงคนนี้ ‘คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์’ ก็คงเป็นงานเขียนประเภทที่เสกสรรขึ้นด้วยอารมณ์อันหลากหลายของนักประพันธ์ทั้งสุข-เศร้า สมหวัง-สูญเสีย มั่นคงและหวั่นไหว จนกลายเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยสุนทรียรสชวนให้ติดตาม
คุณหญิงจำนงศรี เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด จบมัธยมปลายในประเทศอังกฤษ เริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นนักข่าวและนักเขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวัน Bangkok World และเคยเป็นผู้จัดรายการให้วิทยุแห่งประเทศไทยภาคภาษาอังกฤษ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการโรงพยาบาลจักษุรัตนิน และประธานมูลนิธิเรือนร่มเย็น ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือ คุ้มครอง และให้การศึกษาเด็กหญิงด้อยโอกาสใน ภาคเหนือ
ชีวิตที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเรียบง่ายในบ้านสวนย่านฝั่งธน ได้ปลูกฝังให้เด็กหญิงจำนงศรีในวันก่อน มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับงานด้านวรรณกรรม ความเจริญเติบโตไม่ได้พรากความรักในงานเขียนไปจากเธอ หากแต่ทำให้เธอหนักแน่นในเส้นทางนี้มากยิ่งขึ้น
ผลงานของคุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก มักจะเป็นงานประพันธ์ที่มีทั้งกวีนิพนธ์ นิทาน บทความ เรื่องสั้น และบทละคร ซึ่งล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่าในทางวรรณกรรม มีทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บทประพันธ์บางส่วนยังได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น และตีพิมพ์ในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้คุณหญิงยังได้แปลวรรณคดีและวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยเป็นจำนวนมากเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย
แต่กระนั้น..สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่ากลับอยู่เบื้องหลังผลงานที่ปรากฏ คือเรื่องราวของชีวิตที่เดินทางรอนแรมมาไกล ซึ่งเธอยินดีจะถ่ายทอดวรรณกรรมแห่งชีวิต ทั้งในส่วนที่เธอลิขิตและไม่ได้ลิขิตด้วยตัวเอง
ชีวิตวัยเยาว์กับความรักในวรรณกรรม
"ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกำพร้าแม่ตั้งแต่ 2 ขวบกว่า ก็เลยต้องหาสิ่งที่น่าสนใจมาทดแทนความอบอุ่นที่ขาดหายไป แล้วก็เลยได้หนังสือเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด สมัยเด็กๆ ยังไม่มีโทรทัศน์ ก็ชอบออกไปนอนอ่านหนังสือสารพัดประเภทที่ได้ส้มโอในสวน เสือใบ พล นิกร กิมหงวน นวนิยายเรื่องนักสืบที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และอื่นๆ อีกมากมาย
ถอยหลังไปเมื่อยังเล็กมากก่อนจะอ่านหนังสือออก ก็ฟังคุณยายอ่านหนังสือให้ฟัง มีทั้ง อิเหนา สังข์ทอง สุวรรณสาม แต่ที่ชอบมากจริงๆ ก็รามเกียรติฉบับรัชกาลที่หนึ่งเลยเชียวนะ เลือกตอนที่สนุกๆ ตอนไหนอืดไปหน่อย คุณยายกลัวเราเบื่อก็ข้ามไป ใช้เล่าเรื่องเชื่อมเอา ก็ติดน่ะซีคะ คงจะเป็นเพราะท่านนี่แหละ..ที่วรรณกรรมกับความรักความอบอุ่น กลายเป็นเรื่องเดียวกันสำหรับดิฉัน
พอถูกส่งไปอังกฤษตั้งแต่อายุ 12 ก็ได้อยู่กับแม่บ้านที่อ่านวรรณคดีอังกฤษให้ฟังเป็นเล่มๆ ตั้งแต่ฟังภาษาฝรั่งออกบ้างไม่ออกบ้าง แต่ดิฉันก็ชอบมาก พออ่านเองได้ ก็อ่านใหญ่ พอไปอยู่โรงเรียนประจำก็เจอคนรักหนังสือมากๆ อีก คืออาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ชายหนวดขาวเฟิ้ม ทุกบ่ายวันอาทิตย์หน้าหนาว หรือ เย็นวันอาทิตย์หน้าร้อน จะให้พวกเรานั่งบนพื้นในห้องใหญ่ จะเย็บผ้า หรือถักไหมพรม หรือไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่ห้ามพูดคุย แล้วครูใหญ่ก็นั่งโซฟาตัวโต อ่านหนังสือให้ฟังอีกนั่นแหละ จะอ่านอย่างส่ออารมณ์ตามเนื้อเรื่อง เสียงลึกใหญ่กังวานไพเราะมาก ใครมีประสบการณ์อย่างนี้แล้วยังไม่ชอบวรรณกรรมก็คงต้องเป็นคนหัวแข็งมากโข สำหรับตัวดิฉันเมื่อชอบอ่านมาก ก็เลยพลอยชอบเขียนไปด้วย"
ก้าวสำคัญของชีวิตกับงานเขียนชิ้นแรก
"งานที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นเรื่องสั้นภาษาอังกฤษ เมื่ออายุ 16 เริ่มเขียนข่าว เขียนบทความหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับเช้า ชื่อ Bangkok World ในสมัยที่เป็นคู่แข่งของบางกอกโพสต์ ตั้งแต่อายุ 18 ทำงานที่นั่นอยู่ 3 ปี แล้วก็ลาออกมาแต่งงาน มีลูก 4 คน แล้วช่วยหมออุทัย (สามีคนแรก) สร้าง ‘รัตนินจักษุคลินิก’ ซึ่งมากลายเป็นโรงพยาบาลจักษุรัตนินในปัจจุบัน
ในด้านการเรียน ไปเรียนรามคำแหงเองเมื่ออายุจะ 40 แล้ว เพราะอยากรู้ว่าการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ไม่เคยเรียนเพราะคุณพ่อบอกว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนมาก จบจากรามคำแหงก็เริ่มแปลหนังสือไทยเป็นอังกฤษ กวีนิพนธ์ก็มาก เรื่องแรกที่แปลจริงจังคือ รวมเรื่องสั้น ‘ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง’ ของ ‘อัศศิริ ธรรมโชติ’ ก็ได้ค่าแปลเป็นหนังสือ 10 เล่ม เฉพาะการพิมพ์ 2 ครั้งแรก
ถ้าถามว่าแปลอะไรยากที่สุด คงจะเป็นพวกกวีนิพนธ์ ทั้งสมัยใหม่และสมัยโบราณ ยากที่สุดเห็นจะเป็น 'กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง' คือแปลให้ไพเราะ ให้ได้เสียง ได้ความรู้สึก ได้ความตรงกับต้นฉบับ แล้วสั้นๆ อยู่ในบรรทัด ตามวรรค ของต้นฉบับให้ได้ด้วย ให้ไม่เชย ไม่ดูพิลึกในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากและโครงสร้างต่างกับเรามาก ให้ฝรั่งอ่านแล้วมีอารมณ์คล้อยตาม คิดดูซิคะ “เรื่อยๆมาเรียงๆ นกบินเฉียงมาเป็นหมู่” หรือ“แก้มซ้ำซ้ำใครต้อง แต่แก้มน้องช้ำเพราะชม”ที่สนุกที่สุดเห็นจะแปลร่ายใน 'ลิลิตพระลอ' ท้าทายดีมาก ให้ได้เสียง ได้จังหวะ ไม่หลุดความ หลุดอารมณ์ แต่เดี๋ยวนี้เลิกแปลแล้ว"
ผลงานในความทรงจำ
"เมื่อสัก 25 ปีมาแล้วเขียนบทละครภาษาไทยเรื่องแรก เขียนสำหรับอ่านมากกว่าสำหรับแสดงได้รางวัล John Eakin อย่างไม่เคยนึกว่าจะได้ ส่วนเรื่องกวีนิพนธ์นั้น ไม่ทราบเริ่มเมื่อไร นานมากๆ แล้ว อาจจะตั้งแต่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ ที่ทราบแน่ๆ ก็คือเริ่มเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นอ่านหรอก เขียนเพราะอยากเขียน ก็แค่นั้น ไม่เคยคิดว่าจะได้ตีพิมพ์ มาได้ตีพิมพ์รวมเล่มวางตลาดเอา จริงๆ เมื่อปี พ.ศ. 2531 แปลกใจมาก ที่มีสำนักพิมพ์ชื่อ Pleasant Media มาขอพิมพ์เป็น ‘On the White Empty Page’
ก็ขายได้
งานที่ตื่นเต้นท้าทายที่สุดเห็นจะเป็นการเขียนบท วีดิทัศน์ (video) เรื่อง RajinSonbong the Golden Gate to North Asia ให้ UNDP (United Nations Development Programme) ซึ่งเป็นองค์กรสหประชาชาติ เมื่อปี 2539 เป็นงาน promotional video เพื่อเรียกความสนใจของนานาประเทศของโลก ให้มาสนใจเขตค้าขายอิสระ (free trade zone) ที่ลุ่มแม่น้ำ Tumen ซึ่งเป็นจุดเชื่อมของ 3 ประเทศ คือ จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ
งานนี้ต้องทำออกเป็น 6 ภาษา เพื่อแสดงและออกโทรทัศน์ในประเทศต่างๆ ดิฉันต้องบินไปปักกิ่ง เพื่อต่อเครื่องบินไปเปียงยาง และต่อรถไฟอีก 22 ชั่วโมง ไป RajinSonbong โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจากรถไฟเลย ต้องร่วมมือ กับทางการของประเทศเกาหลีเหนือ ต้องไปศึกษาพื้นที่ และข้อมูลในจุดที่น้อยคนจะได้ไปพบเห็น ในประเทศที่ปิดตัวเองจากโลกสากลที่สุดในโลกด้วย เป็นงานยากลำบากที่ให้ความรู้ความตื่นเต้นมากค่ะ ได้มาทำเอาเมื่ออายุ 50 กลางๆ เข้าไปแล้วด้วยยอมรับว่าทำ ให้หายแก่ไปเยอะ
ใครมีงานอย่างนี้ให้ทำอีก ดิฉันรับทันทีค่ะ...ชอบ"
กับผลงานล่าสุด ‘ดุจนาวากลางมาหาสมุทร'
"ได้เขียนไว้ใน ‘จากผู้เขียน’ ในหนังสือเล่มนี้ว่า ความพยายามลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้ค้นพบ เกี่ยวกับบรรพบุรุษ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกแจ่มชัดว่า ชีวิตดำเนินในวิถีของเวลาแต่ละนาทีเหมือนเกลียวคลื่นที่เกิดขึ้นแล้วหายไป ไม่เหลือให้จับต้องได้อีก ความรู้สึกนี้ชวนให้นึกเลยไป เปรียบเทียบกับเรือสำเภาซึ่งบรรพบุรุษหวั่งหลีเคยใช้เดินสมุทร ‘ไต้ก๋ง’ หรือ กัปตันเรือ เป็นผู้นำเรือสำเภาไปในเส้นทางที่ตนเลือก แต่เมื่อพายุบ้า ฟ้ากระหน่ำชะตากรรมของเรือก็มิได้ขึ้นอยู่กับฝีมือไต้ก๋งแต่อย่างเดียว บางครั้งไต้ก๋งเองก็คงรู้สึกอ้างว้างเดียวดาย ในขณะที่เรือลอยลำอยู่กลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ มองไปทางไหนก็ยังไม่เห็นฝั่ง"
หากเปรียบชีวิตเป็นดั่งนาวา
"‘นาวา’ แต่ละลำควรเลือกเส้นทางของตัวเอง ใช้สติและความพยายามไปตามเส้นทางนั้น แต่อย่า ยึดติด เปลี่ยนได้ แต่อย่าเปลี่ยนด้วยอารมณ์ รู้เสมอว่าอาจมีพายุร้ายเมื่อใดก็ได้ อย่าน้อยใจ อย่าเสียใจ อย่าโทษตัวเอง หรือคนอื่น เพราะมันเสียเวลา เสียอารมณ์ เสียพลังความคิด ระดมกำลังมาที่การแก้ปัญหา จะดีกว่า ทำแต่ละนาทีให้สดใสและมีสติเท่าที่จะเป็นได้ อย่าเสียเวลากับ การคาดหวัง ให้เวลากับเรียนรู้ การคิด การทำ"
ระหว่างชีวิตกับวรรณกรรม
"การเขียนทำให้เกิดการค้นพบรายละเอียดของชีวิตตัวเองและคนอื่น การเขียน ‘ดุจนาวากลางมหาสมุทร’ นี่ค้นพบมากเหลือเกิน จากชีวิตของบรรพบุรุษและคนในสายเลือดด้านแม่ดิฉัน เป็นชีวิตต่างๆ ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่คาดไม่ถึงต่างๆ นานา มีสีสันมาก ทั้งทุกข์ ทั้งสุข ทั้งความล้มเหลว ความสำเร็จ ที่สำคัญคือ สิ่งที่เขาทำไปมีผลกับวิวัฒนาการ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มีข้อมูลที่ดิฉันเพิ่งค้นพบที่เป็นความลับมากว่า 50 ปี เมื่อเปิดเผยขึ้นมาจากการค้นคว้า เมื่อดิฉันเขียนดุจนาวากลางมหาสมุทร เพื่อการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 3 ปีมานี้เอง"
กับงานสาธารณกุศล
"งานมูลนิธิเรือนร่มเย็น ที่ดิฉันทำอยู่ซึ่งเป็นการช่วยสกัดเด็กผู้หญิงในเชียงรายบริเวณที่ไม่ไกลจากสามเหลี่ยมทองคำจากยาเสพติดและการค้าประเวณีในรูปแบบต่างๆ นี่ ก็ทำให้เรียนรู้ชีวิตได้มาก อยาก เขียนอะไรๆ อีกมากมาย ในโลกนี้มนุษย์โหดร้ายกับมนุษย์ที่อ่อนแอกว่าได้มากเหลือเกิน
มูลนิธิเรารับเด็กผู้หญิงในกลุ่มเสี่ยงที่เราเห็นว่าอาจไม่ปลอดภัยถ้าอยู่กับครอบครัว ส่วนใหญ่จะรับมาเมื่อจบประถมศึกษา คือระดับการศึกษาภาคบังคับ เพราะเป็นช่วงที่เสี่ยงมาก เด็กอายุประมาณ 12-13 ร่างกายกำลัง จะเป็นสาว จิตใจยังเด็กไม่รู้โลก เราสอน ม.1 ถึง ม.3 สอนการอยู่ร่วมกัน การเข้าใจร่างกายและ จิตใจตัวเอง สอนวิชาชีพขั้นพื้นฐานอย่างการเกษตร พิมพ์ดีด การตัดเย็บ
เราพยายามดึงพ่อ แม่ หรือญาติเด็กๆ ให้เข้ามารับรู้ มาเกี่ยวข้องเพราะมนุษย์มีความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ"
โครงการที่จะทำต่อไป
"หนังสือและงานต่อๆ ไป On the White Empty Page จะพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 เพราะหลังๆ นี่ มีคน ถามหาหลายคน จะใส่งานที่เขียนใหม่ๆ เติมเข้าไปด้วย ส่วนเดือนกุมภาฯ ก็จะมีนิทาน ‘แสดแปดขา’ ซึ่งดิฉันเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เป็น Orange 8 Legs สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กจะพิมพ์ 2 ภาษาในเล่มเดียวกัน คุณสมรรถ คุ้มสุวรรณ ทอผ้ามัดหมี่เป็นภาพประกอบ แต่งานที่จะ ใช้เวลาของดิฉันเป็นส่วนใหญ่ ก็งานมูลนิธิเรือนร่มเย็นนี่แหละค่ะ มีค่าใช้จ่ายที่ต้องหาเงินอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นก็ยังหาวิธีที่จะดำเนินการให้เป็นประโยชน์ที่สุดในการอบรมให้เด็กโตขึ้นมาช่วยตัวเอง และสังคมของเขาให้ดีขึ้นได้"
ชีวิตในงานเขียน
"ส่วนหนึ่งการเขียนเป็นการเอาความรู้สึกและความคิดออกมาวาง ดูเหมือนกับหงายไพ่ให้ตัวเองเห็น ที่สำคัญกว่านั้นการเขียนทำให้มองลึกลงไปในสิ่งที่มาจากการ ‘นึก’ด้วยไม่ใช่แค่การ ‘คิด’ (การคิดนี่อยู่ที่สองเกือบจะล้วนๆ การนึกนี่มาจากหลายส่วนที่สะสมมา) นอกจาก ‘นึก’ กับ ‘คิด’ แล้ว ก็ยังมีอารมณ์ความรู้สึกอีก ความเชื่อก็อีก ทุกครั้งที่ดิฉันเขียนประโยค อีกประโยคจะตามมาเอง
ยิ่งในงานกวี ยิ่งน่าสนใจ เขียนแรกวรรคไม่เคยรู้ว่าวรรคสุดท้ายจะบอกอะไร ฉะนั้นก็เลยถือว่าการเขียนเป็นการเดินทาง งานกวี และงานนิทานเป็นการเดินทางสายเข้าข้างใน งานอย่าง ‘ดุจนาวากลางมหาสมุทร’ เป็นเส้นทางทั้งสายข้างในและสายข้างนอก โดยตรอกซอยเชื่อมโยงกันโดยตลอด
ถ้าจะถามว่าการเขียนมีความหมายอย่างไรกับชีวิต ก็คงตอบว่า ‘ชีวิตก็คือการเดินทางไม่ใช่หรือ’การเขียนเป็นเหมือนการเดินทางในเส้นทางการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอก การเรียนรู้ที่พัฒนาตัวเราให้เข้าถึงความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของคน และของสิ่งอื่นๆ สังคม การเมือง ฯลฯ ก็มาจากคนไม่ใช่เหรอ เราเข้าใจได้มากเท่าไร เราก็ทำให้ชีวิตเราให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้นเท่านั้น"
สาระสำคัญของการมีชีวิต
"จริงๆ แล้วคนแต่ละคนมีกายกับใจ ที่อยู่ติดกันไปชั่วชีวิต ดิฉันว่าการทำกายของเราให้มีสุขภาพดี เท่าที่จะทำได้ ทำใจของเราให้ปลอดโปร่งเบิกบาน คือไม่เศร้าหมอง ไม่โลภมาก ไม่โหดร้าย นั่นเป็นสาระสำคัญขั้นต้น ต่อไปก็ การใฝ่รู้ การเผื่อแผ่ และสร้างสรรค์
สรุป..ใช้ชีวิตอย่างไรที่เมื่อถึงวันตายก็จะบอกตัวเองได้ว่า ไม่เสียดายชีวิต เพราะได้เรียนรู้ธรรมชาติ ของตนเองและสิ่งแวดล้อม ได้มีส่วนทำให้โลกนี้ดีขึ้นบ้าง ได้มีส่วนทำให้สังคมเผื่อแผ่ต่อกันมากขึ้น มีความถูกต้องมากขึ้น”
แม้ว่าถ้อยคำข้างต้นจะถูกใช้เป็นบทสรุปแห่งการมีชีวิตบนเนื้อที่อันจำกัด ทว่า...วรรณกรรมแห่งชีวิตยังไม่สิ้นสุด ผู้หญิงคนนี้ตระหนักดีถึงความหมายของการดำรงอยู่..ทุกลมหายใจเข้าออก
เรื่องราวจากนี้ต่อไปจึงมิใช่หน้าที่ของนักประพันธ์นามอุโฆษคนใด หากแต่เป็นชีวิตซึ่ง ‘คุณหญิงจำนงศรี’ ขอรจนาด้วยตัวของเธอเอง เฉกเช่นที่เธอได้นำบางเสี้ยวมุมของชีวิต มาลิขิตเป็นตัวอักษรครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยท่าทีท่วงทำนองที่แตกต่างกันไป
จาก: กรุงเทพธุรกิจ/จุดประกาย ฉบับวันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ.2542.
Comments