top of page

เรียนรู้ “วิชาตัวเบา”

กับ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์




เมื่อ 47 ปีมาแล้ว คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ ได้ช่วย ศาสตราจารย์นายแพทย์อุทัย

รัตนิน ผู้เป็นสามี สร้างโรงพยาบาลจักษุ รัตนิน จนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ เมื่อคุณหมอถึงแก่กรรม ในปี 2535 คุณหญิงได้นำพากิจการให้เติบโตและผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต่างๆ มาจนกระทั่งเกษียณตัวเอง เพื่อส่งต่อกิจการให้ นายแพทย์สรรพัฒน์ รัตนิน ลูกชายดูแลแทนในเวลาต่อมา

นอกจากเป็นนักธุรกิจแล้ว คุณหญิงยังเป็นกวี นักเขียน นักแปล นักกิจกรรมทางสังคม และอื่นๆ อีกมาก ขณะเดียวกัน ก็มักปลีกวิเวก ไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามวัดและตามป่าเขาอยู่เนืองๆ

ปัจจุบันคุณหญิงเป็นภรรยา ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ เป็นแม่ลูก 4 หลาน 6 ชีวิตคุณหญิงเปี่ยมล้นด้วยเรื่องราว ซึ่ง Secret นำมาให้สัมผัสได้แค่เพียงเศษเสี้ยว แต่เราเชื่อว่า การได้คุยกับผู้ที่ผ่านทุกข์ ผ่านสุข ผ่านประสบการณ์ทางธรรมมามากมาย แม้จะด้วยเวลาอันน้อยนิด ก็คงจะให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อ

ผู้อ่านได้อย่างแน่นอน


ชีวิตของคุณหญิงสบายมาตั้งแต่เด็ก หรือถ้าจะพูดว่าโตมาแบบคุณหนูได้หรือเปล่าคะ


ไม่หรอกค่ะ กำพร้าแม่ตั้งแต่ยังไม่ 3 ขวบ คุณพ่อ (คุณจุลินทร์ ล่ำซำ) มีครอบครัวใหม่ ก็มาค้างกับเราแค่อาทิตย์ละวันสองวัน เราพี่น้อง 4 คนมีคุณอาดูแลห่างๆ อยู่บ้านสวนริมคลองสำเหร่ ได้ว่ายน้ำคลอง กระโดดท้องร่อง ช้อนปลา เล่นน้ำฝนเป็นกิจวัตร เรื่องแก้วบาด ปากแตก ตกต้นไม้ ถือเป็นธรรมดา สมัยนั้นยังไม่มีแอร์ ไม่มีโทรทัศน์ ก็เลยอ่านหนังสือเยอะ เหงานี่ ใครวางอะไรไว้ก็หยิบอ่าน ประเภทพอร์น (หนังสือที่ไม่เหมาะกับเด็ก) ยังเคยอ่านเลย ไม่คุณหนูเท่าไหร่หรอกค่ะ


เรียนหนังสือเก่งมั้ยคะ


รียนเลวมาก สุดๆ ไม่ซน แต่เหม่อ ฝันโน่น คิดนี่ สมัยนั้นถ้าคะแนนไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ก็ตก

ต้องซ้ำชั้น ครูบอกว่า “เธอตกแต่ฉันปัดคะแนนให้ผ่าน เพราะไม่อยากได้เธอไว้กับฉันอีกปี” โดนครูทำโทษสารพัด ให้ยืนกางแขน เอาป้ายแขวนคอ ไม้บรรทัดฟาด ครบกระบวน (หัวเราะ) โกรธครูไหม ไม่นะ

กลับบ้านก็ไม่รู้จะอ้อนใคร




ตอนเด็ก ๆ มีแววนักเขียนบ้างไหมคะ (คุณหญิงเป็นเจ้าของผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กขายดีหลายเล่ม อาทิ วิชาตัวเบา เข็นครกลงเขา ดุจนาวากลางมหาสมุทร ฯลฯ ส่วนเรื่อง ตุ๊กแกกั๊บแจกลาย ก็เพิ่งได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเล็ก จากกระทรวงศึกษาฯไปหมาดๆ)


ไม่เลย เรียนเลวทั้งไทย ทั้งอังกฤษ เรียงความก็ไม่ได้เรื่อง ท่องกลอนไม่ได้ อ่านทำนองเสนาะ

ก็ไม่เป็น แต่เดี๋ยวนี้...กลายเป็นนักเขียน นักอ่านบทกวีไปแล้ว ถูกขอให้ไปอ่านที่โน่นที่นี่ ไม่ได้อ่านจากกระดาษ แต่จากความจำค่ะ ขี้ลืมนะ แต่ถ้าเป็นงานกวีละก็ท่องได้จำได้ยาวๆ คุณยายชอบอ่านวรรณคดีอย่างรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 ให้ฟัง ตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก จังหวะ เสียง และรสของภาษา

คงเข้ามาอยู่ในตัว ความเหงาสมัยเด็กก็มีส่วนเยอะ ทำให้สังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นอาจมองข้าม

อย่างเช่น รายละเอียดของความทุกข์ ความสุข การเปลี่ยนของแสง ของสี ของเสียงในธรรมชาติ และ

ของความรู้สึกนึกคิด ทั้งหมดนี่คงเป็นเชื้อให้กลายเป็นนักเขียน


แล้วเริ่มเรียนดีขึ้นเมื่อไรคะ


เมื่ออยู่อังกฤษค่ะ ไปตอน 12 ขวบ สมัยนั้นคนไทยที่นั่นน้อยมาก 6 เดือนแรกอยู่กับแม่บ้านเพื่อติวภาษาอังกฤษ ทรหดหน่อย เพราะอังกฤษยังรัดเข็มขัดหลังสงคราม ไปถึงกลางฤดูหนาว แต่ไม่ว่าหนาว

แค่ไหน พอเข้านอนแล้วเขาก็ปิดเครื่องทำความร้อน ได้อาบน้ำร้อนแค่อาทิตย์ละหน กินไข่อาทิตย์ละฟอง ตกเย็นแม่บ้านจะเอานวนิยายหรือบทกวีดีๆ มาอ่านให้ฟังทุกวัน รู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องไม่เป็นไร ก็ค่อยๆ เข้าใจ พอเข้าโรงเรียนประจำ พบว่านักเรียนเป็นคนอังกฤษล้วน เราเป็นต่างชาติคนเดียว แรกๆ ก็แย่

แต่พอภาษาดีขึ้น การเรียนก็ดีตาม ปีที่ 2 กลายเป็นดีมาก ได้รางวัล คุณพ่อนึกว่าโรงเรียนส่งรีพอร์ตเด็กมาผิดคน (หัวเราะ) อยู่อังกฤษ 6 ปีกว่า ไม่เคยกลับมาเยี่ยมบ้านเลย


แต่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย


อยากเรียนมาก แต่คุณพ่อเป็นเบาหวาน ตากำลังจะบอด อยากให้ลูกมาอยู่ใกล้ และท่านบอกว่า เรียนวรรณคดีจะกลับมาทำอะไรได้ แต่ก็มาได้ปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 1) รามคำแหง เอาเมื่ออายุ 42 เรียนควบไปกับงานโรงพยาบาล เพราะไม่อยากเป็นสตรีด้อยการศึกษา (หัวเราะ) พออายุ 60 กว่าก็ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากรามคำแหง


คุณหญิงเคยทำงานอะไรมาบ้างคะ


กลับมาปั๊บคุณพ่อก็ให้ทำงานที่บริษัทล็อกซเล่ย์ อีกไม่กี่เดือน Darrell Berrigan (บ.ก.หนังสือพิมพ์ Bangkok World) ก็ชวนไปทำงานซึ่งชอบมาก ได้เขียน ได้ฝึก แค่ 3 เดือนก็ได้เป็นบรรณาธิการข่าวฝ่าย

ผู้หญิง สังคม และวัฒนธรรม คุณพ่อเป็นห่วงนะคะ แต่ก็ตามใจ สังคมมองว่าดิฉันเป็นเด็กสาวก๋ากั่น เที่ยว

ตะลอนๆ หาข่าว ที่ทำงานก็ผู้ชายล้วนๆ ทั้งฝรั่ง แขก ไทย เขาว่ากันว่าลูกคุณจุลินทร์ไม่รักนวลสงวนตัว ทำให้เสียหายกับวงศ์ตระกูล (หัวเราะ) แต่พอคอลัมน์เรามีคนอ่านเยอะ การยอมรับก็มาเอง ดิฉันทำงานหนังสือพิมพ์อยู่ 3 ปีกว่าๆ ก็ลาออกมาแต่งงานเมื่ออายุ 23


เล่าชีวิตช่วงที่ก่อตั้งโรงพยาบาลใหม่ๆ ให้ฟังหน่อยได้มั้ยคะ ว่าต้องฝ่าฟันขนาดไหน


เล่าไม่ไหวหรอกค่ะ เรื่องเยอะ เอาแค่ว่าเริ่มจากตึกแถวที่หมอเช่าที่วังบูรพา แล้วก็ย้ายมาสร้าง

บนที่ดินคุณพ่อที่อโศก กู้เงินธนาคารมาสร้างเป็นคลินิก 4 ห้อง ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ตอนนั้นลูกคนโต

ได้ขวบกว่า คนที่ 2 แบเบาะ คลินิกเสร็จได้ปีหนึ่ง หมออุทัยก็ไปร่วมทีมบุกเบิกสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้วางแผนแผนกตา หู คอ จมูก เอางานมาทำที่บ้านทุกคืน ก็ช่วยกันจนสว่างคาตา...ทั้งงานราษฎร์

งานหลวง งานลูก เหนื่อย แต่ท้าทายดี พอมาขยายคลินิกเป็นโรงพยาบาลก็หนักมากๆ อีก ตอนนั้นลูก 4 แล้ว ก็เลี้ยงแบบที่ตัวเองโตมาคือ ปากเจ่อ หัวแตก พ่อเย็บแผลให้เป็นประจำ


คุณหญิงเคยพูดว่า ไม่ใช่นักวางแผน แล้วบริหารงานจนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ได้อย่างไรคะ


งงๆ ทุกทีกับเรื่องความสำเร็จ ไม่ว่าด้านไหน รู้สึกว่าดิฉันกับความสำเร็จไม่เกี่ยวกัน อะไรที่ทำแล้ว

ก็จบแล้ว เป็นตอนๆ เรื่องๆ ความสำเร็จมันตามมาเอง ดิฉันไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่งอะไร ขี้ลืม วางแผนไม่เป็น แค่ว่าทำอะไรก็ทุ่มทั้งกายทั้งใจ เจอปัญหาก็แก้มันไป โดยไม่ให้การแก้นั้นเป็นเหตุให้ปัญหาอื่นๆ ตามมา


ที่สำคัญมากๆ คือมีทีม มีที่ปรึกษา มีผู้ช่วย มีลูกน้องดีๆ ที่ทุ่มเทใจให้กับเราและงานของเรา ถ้าพูดถึงความสำเร็จก็ต้องถือเป็นของเขาด้วย ปัจจุบันรู้สึกว่าโชคดีมากๆ ที่ล้อมรอบด้วยผู้ช่วยและเพื่อนฝูงที่

มีน้ำใจ ช่วยดูแล เสียสละ จะทำอะไรก็โดดมาช่วยกัน ด้วยความเต็มอกเต็มใจ แล้วก็ยังสามีอีก เขาเหมือนโดราเอมอนเลย (หัวเราะ)


รู้สึกว่าคุณหญิงติดดิน ไม่เจ้ายศอย่าง อยู่ใกล้ๆ แล้วสบายใจ ไม่ทราบว่ากับลูกน้องเป็นอย่างไรคะ


ดิฉันเป็นคนเลอะๆ ไม่ค่อยมีระเบียบแบบแผน เจเจและดิฉันรู้สึกกับลูกน้องเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ เรานึกขอบคุณเขาเสมอที่เขาทำให้เราสะดวกสบาย การงานลุล่วงโดยดี เลยไม่ค่อยจะมีเรื่องบ่น

ว่านัก ดิฉันว่าคำพูดและการให้เกียรติกันนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก คำว่าขอโทษกับขอบใจนี่ทำให้รู้สึกดี ดิฉันถือว่าเราเป็นมนุษย์ด้วยกัน แม้โอกาสในชีวิตอาจไม่เท่ากัน แม่บ้านที่นี่ไม่มีการแยกถ้วยแยกชาม เราใช้ด้วยกัน อาหารในตู้เย็นก็ทานได้เหมือนกัน หัวเราะด้วยกัน ทักท้วงเราได้ ดิฉันชอบฟังเรื่องราวชีวิตครอบครัวของลูกน้องนะ ไม่ว่าจะเป็นเลขาฯ ผู้ช่วย หรือคนขับรถ ดิฉันได้เรียนรู้จากพวกเขาเยอะ


ทราบว่าคุณหญิงไปปฏิบัติธรรมครั้งละนานๆ ไม่ทราบว่าสนใจธรรมะตั้งแต่เมื่อไรคะ


เมื่อก่อนเคยเป็นคนอหังการ ไม่มีศาสนา เพราะเห็นแต่พิธีกรรมเห็นการทำบุญที่หวังผลอย่างกับการลงทุน เห็นคนทำบุญกับพระ แต่แล้งน้ำใจกับคนที่ทุกข์ยาก เห็นคนบรรจงกราบพระ แต่ดูถูกคนจน สมัยเด็กๆ ที่โรงเรียนก็ให้สวดมนต์โดยไม่เข้าใจว่าสวดไปทำไม


จุดเปลี่ยนก็ตรงที่คุณแม่หมออุทัยถูกจักรยานชนล้มแขนหัก แปลกใจมากที่ท่านไม่โกรธ ไม่กังวล

ไม่เอาเรื่องคนที่ชน ไปโรงพยาบาล หมอจะให้ดมยาสลบเพื่อที่จะใส่เฝือกชั่วคราวให้ แต่คุณแม่ปฏิเสธเพราะสมัยนั้นยาสลบแพ้ได้ง่าย ท่านว่าถ้าทนไม่ไหวจะขอเอง แล้วก็ไม่ได้ใช้จริงๆ ทำให้หมอทึ่งกันมาก คุณแม่ปวดจนหน้าเขียว เหงื่อแตกโซม แต่ไม่วุ่นวาย ทำให้ทุกอย่างราบรื่น ตอนนั่งรถกลับ ดิฉันถามว่า

“ไม่เจ็บหรือคะ” คำตอบคือ “เจ็บสิ แต่มันเป็นแค่เวทนา ถ้าเราไม่ไปยุ่งกับมัน เราก็ไม่เดือดร้อน” แค่นั้นแหละ จำนงศรี ก็เอาเลย อยากรู้ อยากเข้าใจ ตามประสาคนช่างสงสัย


จุดที่ทำให้คลิกเลยหรอคะ


ใช่ค่ะ พอถามว่าเวทนาคืออะไร คุณแม่ก็ได้ที อธิบาย ขันธ์ 5 อย่างละเอียด...โอ้โฮ เข้าท่า (หัวเราะ) ไปเสาะหาพระไทยพระฝรั่งให้ช่วยอธิบายหลักธรรมมากมาย อ่านหนังสือไม่รู้กี่เล่ม ตอนนั้นงาน

โรงพยาบาลก็แสนหนัก แต่ความอยากรู้ทำให้พยายามศึกษา ข้ามถนนก็จะโดนรถทับตาย เพราะมัวแต่พิจารณาขันธ์ 5 ในตัวเอง นั่นแหละเป็นช่วงที่เริ่มเข้าใจพุทธธรรมและเห็นความสำคัญอันมหาศาลของพระพุทธศาสนาต่อมนุษยชาติ


แล้วเริ่มปฏิบัติธรรมเมื่อไรคะ


หลังจากนั้นไม่นานคุณแม่ก็อะแฮ่มเบาๆ ว่า “คุณศรีๆ รู้น่ะ รู้ม้ากมากแล้วนะ แต่มันก็แค่ทฤษฎี

ไม่เข้าแล็บดูบ้างหรือ” เราถามว่าแล็บอะไร คุณแม่ตอบทำนองว่า “อะไรล่ะที่สัมผัสได้โดยตรง การถามจากคนอื่นหรืออ่านจากหนังสือนั้นมันเป็นการสัมผัสตรงหรือ ไม่ใช่หรอก สิ่งที่เราสัมผัสได้โดยตรงก็มีแค่กายกับใจเราเองเท่านั้น” ตอนนั้นลูกๆ ก็ยังเล็ก แต่ดิฉันก็ “เอาเลย” ไป 3 คืน สถานปฏิบัติธรรมยังไม่มีเยอะเหมือนเดี๋ยวนี้ ไปอยู่ที่อ้อมน้อย เขาทำเป็นกุฏิๆ อยู่กลางทุ่ง ไปอยู่คนเดียวเลย กุฏิอื่นๆ ว่างหมด

กลัวผีมาก


การเข้าแล็บครั้งนั้นทำให้รู้ว่า โดยปกติเวลาเรากลัว เราหลุดเข้าไปในความกลัว โดยไม่เคยสัมผัสรู้อาการของมันในขณะนั้น และโดยปกติเราคิด เรารู้สึก โดยไม่เคยถอยออกมาเห็นการสร้างภาพและความแปรเปลี่ยนของความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง


ความอยากก็อีก ดิฉันเอาปลาทูน่าไปเผื่อกินกับข้าวกระป๋องหนึ่ง แล้วมันก็ถึงจุดที่ใจเอาแต่แวบไปที่ปลาทูน่า ดูที่ความรู้สึกว่าหิวไหม ก็ไม่หิว แต่มันอยาก อยากอยู่นั่นแหละ ถ้างั้น จัดการกับมันให้จบๆ

การบ่นกับท่านอาจารย์พุทธทาสว่า ผู้หญิงเสียเปรียบ ทำไมไปอยู่ตามป่าตามดงแบบพระธุดงค์ไม่ได้ ท่านเลยให้ไปอยู่ซะไกล แต่ท่านก็สั่งไม่ให้เปิดประตูหลังมืด ไม่ว่าใครจะมาเรียก ดิฉันอยู่วันต่อวันไปถึง 3 เดือน



ตอนอยู่สวนโมกข์ใช้ชีวิตอย่างไรคะ


อยู่คนเดียวในบ้านไม้สักหลังใหญ่ 2 ห้องนอน มีหนู แมงมุมตัวใหญ่เป็นเพื่อนร่วมบ้าน มีตุ๊กแก

ตัวใหญ่มากหลายตัวเป็นนายทวารอยู่ข้างนอก บางทีโมโหกันก็เอาหางฟาดประตูเสียงยังกับค้อนทุบ (หัวเราะ) ด้านธรรมะก็มีท่านอาจารย์รัญจวนคอยดูแลอย่างเข้มทีเดียว โดนดุบ่อยเป็นพิเศษ พอสี่ทุ่มทางวัดตัดไฟหมด เราก็เข้านอนบนเสื่อในมุ้ง อยู่อย่างนั้นถึง 3 เดือนก็ต้องกลับมาจัดการธุระของลูก เสร็จแล้วก็ไปอยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ที่สกลนครอีก 3 เดือน


อาหารสองมื้อร้านที่หน้าวัด รวมวันละ 35-40 บาท ก็เกินอิ่ม นุ่งผ้าถุงดำ เสื้อขาว อาบน้ำทีก็ซักผึ่งไว้ สลับไปมาแค่ 3 ชุด วันๆ ผ่านไปง่ายๆ เหมือนพื้นเรียบขาวที่ทำให้มองอะไรๆ ได้ชัด ทำวัตรเช้าเย็น

ทุกวัน แล้วก็นั่งสมาธิ เดินจงกรม อยู่คนเดียวตลอด ไม่ค่อยพบใคร พยายามไม่อ่าน ไม่เขียน มีช่วงเดียว

สักเดือนที่ 2 ที่บันทึกความนึกคิดเอาไว้บ้าง (ได้ตีพิมพ์เป็น “ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง ") กลางวันก็ไป

เดินในป่าหรือขึ้นไปบนเขาพุทธทอง


อยู่คนเดียวรู้สึกเบื่อ เหงา และกลัวบ้างไหมคะ


แรกๆ ก็เบื่อบ้าง เหงาบ้าง แล้วมันก็หายไป พอเห็นชัดว่ามันมาจากใจที่โหว่ ที่ยังอยู่กับปัจจุบันและอยู่ตัวเองไม่เป็น เรื่องกลัว แรกๆ ก็มากหน่อย อยู่ๆ ไปก็ชิน ไม่กลัว แต่มีคืนหนึ่งนะคะที่กลัวมาก เพราะมีเสียงเหมือนผู้หญิงร้องโหยหวนยาวมากมาจากในป่า ร้องแล้วหยุดเป็นห้วงเหมือนหายใจ แล้วก็กรีดร้องโหยหวนต่อ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย และพอเลยสี่ทุ่มไฟวัดก็ตัดไปแล้ว คืนเดือนมืดซะด้วย ก็อยู่กับลมหายใจ รวบรวมสติ ไม่คิดสันนิษฐานว่าเป็นอะไร เพราะยังไงๆ ก็ไม่มีทางรู้ เอาแค่ได้ยิน เสียงก็แค่เสียง ทำใจให้เป็นมิตรกับสรรพสิ่งและแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล เออ...ก็ผล็อยหลับไปได้ ทั้งๆ ที่เสียงยังไม่หยุด จนวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเสียงอะไร แต่รู้ว่าไม่ใช่คนแน่ๆ อาจเป็นสัตว์ป่า



คุณหญิงน่าจะชินกับการมีคนแวดล้อม ทำไมถึงชอบอยู่คนเดียวล่ะคะ


อยู่กับคนอื่นก็ชอบค่ะ เป็นความสุขคนละแบบ เวลาอยู่คนเดียวในธรรมชาติ ความรู้สึกจะนิ่งนุ่ม รู้สึกสบายกับทั้ง เพื่อนใน และเพื่อนนอก เพื่อนใน คือกายใจเราเอง เพื่อนนอก คือธรรมชาติรอบ ซึ่งก็เป็นไปตามวิถีเขา ไม่ว่ามีเราหรือไม่ ต้นไม้ มด แมลง มันสนใจที่ไหนว่ายายคนนี้เป็นใคร ความเป็น จำนงศรี

ก็หมดความหมายใจจึงโล่งๆ เบา เป็นอิสระ อยู่คนเดียวอย่างนั้นประสาทสัมผัสจะละเอียดและไว ปัจจุบันขณะจะคมชัด ต้องลองเองถึงจะรู้ ดิฉันจะปลีกไปเป็นระยะๆ ที่โน่น ที่นี่ 4-5 วัน อาทิตย์หนึ่ง หรือกว่านั้น

ได้ยิ่งดี ครั้งหนึ่งมีคนให้ไปอยู่คนเดียวในคฤหาสน์โบราณอายุ 200 กว่าปี ของตระกูลขุนนางที่ชนบทอังกฤษ รอบๆ เป็นพื้นที่สวนป่าที่กว้างใหญ่มาก มองไปไม่เห็นบ้านใครสักคน คงนึกภาพออกนะ (หัวเราะ) อยู่ราว 7 วัน ถ้าจะเล่าอีกก็คงจะยาว


ที่ดิฉันรักป่าคงเพราะเคยอยู่โรงเรียนประจำซึ่งอยู่กลางป่าที่สวยมาก (The New Forest) ทางใต้ของอังกฤษ ชอบแสง เงา กลิ่น แล้วก็เสียงนก เสียงแมลง เสียงลม เสียงน้ำ เสียงใบไม้ เอามาใส่ไว้นิทานอย่าง “ฉันคือปูลม” “เจ้าแสดแปดขา” หรือ “ตุ๊กแกกั๊บ” อยากให้เด็กๆ รับรู้ความงามของธรรมชาติและซึมซับธรรมะไปด้วย


เวลาอยู่บ้านคนเดียวตอนกลางคืน ดิฉันจะไม่ค่อยเปิดไฟสว่าง ไม่เปิดเพลงหรือเปิดทีวี แต่ถ้าสามีอยู่ก็ชอบนั่งดูทีวีเป็นเพื่อนเขา ก็รู้สึกดีไปอีกแบบ และถ้าเขาอยากให้ไปงานเลี้ยงด้วยก็ไป ได้พบเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ดีไปอีกแบบ เราจัดเลี้ยงที่บ้านบ่อยมาก เพราะงานของเขาก็สนุกนะ

ไปเที่ยวกับลูกๆ กับหลานๆ ก็สนุก (หัวเราะ)



ไปอยู่สวนโมกข์และวัดดอยธรรมเจดีย์ทีละหลายเดือนอย่างนั้นไม่ห่วงโรงพยาบาล ห่วงบ้านหรือคะ


คุณหมออุทัยอยู่ค่ะ และมีทีมงานช่วย ดิฉันวางมือไปเยอะ กลับเข้ามาบริหารเต็มที่หลังเขาเสีย ตอนนั้นลูกๆ คนโต 2 คนไปนอกแล้ว 2 คนเล็กอยู่จุฬาฯ ลูกเข้าใจค่ะ แต่ก็ขาดแม่นะ ดิฉันก็รู้สึกผิด สองคนเล็กเคยไปปฏิบัติที่วัด เขามีศรัทธา แต่ไม่มีอะไรเต็มร้อยในโลกนี้ ขอบใจตัวเองที่ตัดใจ ไม่งั้นวันนี้คงไม่เป็นสุขอย่างนี้ ลูกๆ กับแม่เป็นเพื่อนที่สนิทกัน คุยได้ทุกเรื่อง แล้วก็ได้ช่วยคนเยอะ คนที่อยู่ในความทุกข์

จะเข้าใจทุกข์ของคนอื่นได้ดี ถ้าตายวันนี้ก็พร้อมนะ ไม่รู้สึกว่าชีวิตนี้สูญเปล่า


สาเหตุหนึ่งของความทุกข์อันใหญ่หลวงคือความโกรธแค้น หรือความเจ็บปวดที่ฝังลึกจนอภัยให้กันไม่ได้ คุณหญิงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ใน ฝนต้องยังต้องฯ และวิชาตัวเบา อยากให้ขยายความสักนิดค่ะ


ใน “วิชาตัวเบา” เขียนไว้ว่า “การให้อภัย เป็นการปลดโซ่ตรวนออกจากใจ” โซ่นั้นล่ามเราไว้กับ

คนที่เราแค้นและความเจ็บแค้นของเราด้วย การ “ยกโทษ” กับการ “ให้อภัย” ไม่เหมือนกันนะคะ ดิฉันพบด้วยตัวเองว่า เรายกโทษได้ด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ ด้วยเหตุผล และความคิด แต่ถ้าเรื่องใหญ่ที่เป็นแผลลึกเข้าไปในใจ ถ้ายกโทษให้แล้ว แต่ความเจ็บปวดก็ยังเผาผลาญ นั่นแสดงว่าโซ่ยังไม่หลุด อภัยทานยังไม่เกิด ถึงจะพยายามยังไงก็ไม่สำเร็จ เพราะอภัยทานจะผุดขึ้นเองจากใจที่นิ่ง ที่หลุดจากอดีต และวางตัวกู ของกู ในเรื่องนั้นได้


ถ้ายังรู้สึกว่า ฉันเจ็บ ฉันเป็นผู้ถูกกระทำ อภัยทานไม่เกิดหรอก เพราะเรายังเบียดเบียนเขาด้วยความคิด ปฏิบัติธรรมถึงระดับหนึ่งอภัยทานจะเกิดเอง ต้องทำเอง รู้เอง คนที่มีญาติมิตรห้อมล้อม เห็นอกเห็นใจ ช่วยกันประณามอีกฝ่าย ต้องระวังนะ อัตตาคุณจะเข้มขึ้น สงสารตัวเองมากขึ้น อย่างไม่รู้ตัว อภัยทานก็ยิ่งเกิดยาก เราก็จะทำร้ายตัวเองไม่สิ้นสุด

การปฏิบัติธรรมให้อะไรกับชีวิตคะ


ขอรวบสั้นๆ ว่า ใจที่เป็นสุขในตัวของมันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ มีความสุข เพราะอะไรที่เรา มี มันก็หายไป ต้องวิ่งหาใหม่อยู่เรื่อย แต่ที่มัน เป็น น่ะ มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเลย ชีวิตจะเบาลงอย่างมหัศจรรย์ เพราะความไม่เที่ยงแท้แน่นอนมันซึมลึกเข้าไปในใจ รู้ชัดว่าอะไรที่มากระทบ มันอยู่ที่การรับรู้ของเราทั้งสิ้น กระทบแล้วขึ้นกับการตอบสนองของใจที่รู้ทัน อันนี้คิดเอง ใช้เหตุผลเอาก็พอได้ แต่มันมักไม่ทันการ การปฏิบัติธรรมช่วยให้มันทันขึ้น และค่อยๆ เข้ามาเป็นธรรมชาติของเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว การปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าดีกว่า วิเศษกว่าคนอื่น แต่ทำให้เราเห็นธรรมชาติของมนุษย์และธรรมชาติในตัวเองชัดขึ้น เห็นการยึดตัวกูของกูได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งช่วยในการนำไปสู่การวางทีละน้อย


เวลาออกงาน สังเกตว่าคุณหญิงไม่ค่อยใส่เครื่องประดับพวกเพชร พลอยสักเท่าไร ไม่ทราบว่าเพราะ

อะไรคะ


ถ้าใส่มากก็รู้สึกเขิน ไม่ชิน รู้สึกรุงรังค่ะ (หัวเราะ) แต่ก็ใส่บ้างให้รวมแล้วดูลงตัว ไม่ใช่เพื่อโชว์

ที่ชอบใส่จริงๆ ก็ต่างหูค่ะ ช่วยให้หน้าดูสดใส สามีชอบ เขาซื้อให้เสมอ แต่ต้องไม่แพงนะคะ เพราะกลัวดิฉันทำหาย เขาเข็ดวีรกรรมการทำแหวนแต่งงานหายตั้งแต่ปีแรก เขาว่าหายก็ไม่ต้องใส่แล้ว ดิฉันเอง

ไม่ชอบใส่แหวน รู้สึกเกะกะ แต่ต้องมีแหวนวงหนึ่งที่ใส่บ่อย คือ “แหวนรู้” ที่ขอให้เพื่อนรุ่นน้องออกแบบให้ เห็นแหวนบนนิ้วตัวเองทีไรก็ตั้งสติรู้ตัว รู้ปัจจุบัน


ชอบซื้อบ้างไหมคะ


เมื่อก่อนนี้ซื้อบ้าง ชอบดีไซน์ที่เป็นศิลปะและไม่แพงมาก หลังๆ นี้ไม่ซื้อแล้วเพชรพลอย ดิฉันขี้ลืม เคยทำมรดกจากคุณแม่ คุณยาย หายไปหลายชิ้น จำได้ว่าเสียดายจนปวดใจ แต่แล้วก็เห็นว่า ชีวิตเราก็

ไม่ได้แหว่งหายไปกับของนี่นา ไม่อยากเสียดายก็อย่าสะสมอะไรจะดีกว่า...ยกเว้น (หัวเราะ) มีด ไฟฉาย เข็มทิศ และ gadget (อุปกรณ์) นักสืบ...ชอบค่ะ



ผู้ที่ใฝ่ทางธรรมมักจะไม่สนใจการมีคู่ครอง มองว่าเป็นกิเลสที่ต้องละวาง แต่คุณหญิงกลับแต่งงานอีกครั้งตอนอายุ 57 พอจะบอกเหตุผลได้ไหมคะ และตอนตัดสินใจแต่งงาน คนรอบข้างว่าอย่างไรบ้าง


ทำอะไรไปแล้วก็ผ่านไป ลืมแล้ว เพราะมันตั้ง 13-14 ปี มาแล้ว จะตอบเท่าที่จำได้นะคะ ใฝ่ธรรม

น่ะใช่ แต่ดิฉันก็ยังอยู่ในโลก ไม่ใช่นักบวช การที่จะมีเพื่อนที่จิตใจดี...ฉลาดมาก อัตตาน้อย โลภน้อยจน

น่าแปลกใจ...ก็รู้สึกดีนะ แล้วเราก็มีอารมณ์ขัน มีเมตตาต่อกัน ช่วยงานกันได้ เสริมกันได้ดี เพราะเจเจ (ดร.ชิงชัย) มองมุมกว้างเชิงโครงสร้าง ส่วนดิฉันมองรายละเอียด เรื่องคน ความคิด จิตใจ ก็เลยแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันได้มาก และเขาไม่เคยขัดที่ดิฉันจะไปปลีกวิเวก ไปปฏิบัติธรรม เวลาดิฉันจัดปฏิบัติธรรมที่บ้านเชียงใหม่ เขาก็สนับสนุนเต็มที่ แต่ตัวเองไม่ปฏิบัติ (หัวเราะ) การตัดสินใจแต่งงานกลาย

เป็นข่าว คนดีใจด้วยก็มี วิพากษ์วิจารณ์ก็มี แต่เราก็แก่แล้ว ใครว่าอะไรก็เหมือนไม่ใช่เรื่องของเรา ส่วนลูกๆ ไม่มีปัญหาหรอกค่ะ พอได้พบ เขาก็รู้สึกดี เดี๋ยวนี้เจเจเป็นต๊าตาที่หลานๆ รักมาก เขาไม่เคยมีลูกไง ครอบครัวนี้ก็กลายเป็นครอบครัวสำเร็จรูปสำหรับเขา




คุณหญิงดูเป็นคนยิ้มง่าย อารมณ์ดีอยู่เสมอ ขอทราบเคล็ดลับในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกๆ วันด้วยค่ะ


ไม่มีเคล็ดเลยค่ะ เจ้า "แหวนรู้” น่าจะมีส่วนบ้าง (หัวเราะ) อืม...ขอลองค้นหาเคล็ดดูหน่อยซิ

ก็คงมี...ธรรมะ อารมณ์ขัน การทำใจให้เบิกบานไม่ว่าจะกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน ความขี้ลืม การชอบศึกษา ค้นคว้า ไม่หวง ไม่ห่วง ไม่ติด ไม่เบื่อ ไม่เซ็ง อ้อ...คอยเตือนตัวเองเสมอว่า ทุกนาทีที่ผ่านไป มันผ่านแล้วผ่านเลย น่าเสียดายนะ ถ้าจะให้มันผ่านไปด้วยใจที่มัวหมอง ดิฉันโชคดีที่ลูกๆ รักกัน...แล้ว ดิฉันก็มีสามีเหมือนโดราเอมอน (หัวเราะ)


ทราบว่าคุณหญิงทำงานมามาก ช่วยเหลือคนและอยู่เบื้องหลังโครงการดีๆ มาเยอะ ณ วันนี้พอใจกับชีวิตที่ผ่านมาแล้วหรือยังคะ


พอใจในวันนี้ ถ้าต้องตายเดี๋ยวนี้ก็พร้อม ไม่คิดย้อนหลัง ไม่อยากติดแม้กระทั่งบุญทานที่ทำมา อะไรที่ทำไปแล้วก็เสร็จแล้ว ที่ยังไม่เสร็จก็ไม่เสร็จ จะมีคนทำต่อหรือไม่มี ก็ไม่เป็นไร ทุกข์สุขก็สัมผัสมาหมดแล้ว ได้ปฏิบัติธรรมและได้ช่วยให้คนอื่นๆ ได้ปฏิบัติแล้ว เวลานอนก็มักจะนึกลาลูกๆ และสามี เผื่อเราจะหลับไปแล้วไม่ตื่นอีก เป็นมรณสติ ดิฉันนิมนต์ท่านไพศาล วิสาโล มาอบรม “วิถีสู่ความตายอันสงบ” ที่บ้านสวนของเราที่เชียงใหม่ทุกปี มา 3 ปีแล้ว ปีนี้ดิฉันก็จะ 71 อยู่มานานแค่นี้ถือเป็นกำไรแล้วค่ะ...


พูดจบคุณหญิงก็หัวเราะเสียงสดใส...ดิฉันกลับออกมาพร้อมกับรู้สึกว่าตัวเบา ๆ ยังไงก็ไม่รู้!

 

จาก: คอลัมน์ Secret of life นิตยสาร Secret ปีที่ 2 ฉบับที่ 43 เมษายน 2553

ดู 65 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page