top of page

ศรัทธา พื้นที่ เวลา

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


"วิหาร" ของ สาครินทร์ ศรีอ่อน


ข้าพเจ้าได้ชมนิทรรศการศิลปะ 2 ชุด ณ ห้องแสดงภาพที่ไม่ใกลกันนัก ในเวลาห่างกันไม่ถึง 2 สัปดาห์ คือ นิทรรศการ วิหาร ของ สาครินทร์ เครืออ่อน ที่ อะเบาท์สตูดิโอ ใกล้สถานีหัวลำโพง กับ “พุทธศิลป 50” ของ รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ ที่ศูนย์ศิลปะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศิลปินทั้งสองคนเป็นชาวเหนือที่อายุอานามไม่ต่างกันนัก รุ่งโรจน์เป็นคนเชียงใหม่ที่ยังทำงานอยู่บ้านเกิด ส่วนสาครินทร์เป็นชาวแม่ฮ่องสอนที่มาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร


ถึงแม้จะเป็นนิทรรศการที่ต่างฝ่ายต่างจัด ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ไม่เชื่อมโยงกันโดยเจตนาไม่ว่าจะของผู้จัดหรือของศิลปิน แต่กลับมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้อดนึกโยงกันไม่ได้ ทั้งในส่วนเหมือนส่วนต่าง และในส่วนที่ต้องมองลึกกับส่วนที่เห็นได้ง่าย เช่นชื่อที่มีนัยยะเกี่ยวข้องกับศาสนา การนำภาพและรูปแบบดั้งเดิมในการสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธมาใช้ในแนวแปลกใหม่ ความเป็นการแสดงงานศิลปะจัดวาง (installation) ซึ่งมีจังหวะ พื้นที่ 'อากาศ' เป็นองค์ประกอบสำคัญ และความละเอียดประณีตในการสร้างที่ปรากฏชัดในเนื้องาน

เมื่อลงลึกในส่วนที่ว่าด้วย ‘ศรัทธา’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเนื้อหา การนำเสนอที่ต่างกันอย่างคนละมุม กลับทำให้สาระที่จะสื่อมีน้ำหนักอย่างอัศจรรย์


วิหาร มองความเชื่อที่ปรากฏในชุมชนไทยทั่วไป ซึ่งแสดงออกในรูปแบบประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวัดวาอาราม รวมถึงศรัทธาเรื่องภพชาติ เรื่องความดีงามที่เป็นบุญกุศลอันจะให้ผลตอบแทน ตลอดจนศรัทธาที่มีความปรารถนาอันหลากหลายของมนุษย์เป็นต้นเหตุ เช่น ความสำเร็จ ความร่ำรวย ความรัก ทำให้เกิดการบนบานศาลกล่าวร้องขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จับต้องไม่ได้


สาครินทร์ใช้ภาพนางฟ้า เทวดา นางกวักและอื่นๆที่คุ้นเคยตาคนไทยทุกระดับชั้น และวิธีการที่สอดคล้องกับเนื้อหา ซึ่งเป็นวิธีการสร้างงานดั้งเดิมของจิตรกรฝาผนังไทย คือการปรุกระดาษตามลวดลายที่ได้ร่างเอาไว้ แล้วลูบฝุ่นดินสอพองให้ลอดรอยปรุนั้นให้ติดบนฝาผนัง เป็นภาพร่างรอยประ ที่จะถูกเขียนทับด้วยดินสอหรือหมึกจีน ก่อนที่จะลงสี

หากแต่สาครินทร์หยุดยั้งแค่ขั้นตอนภาพร่าง ทิ้งรอยประดินสอพองอันบางเบา พร้อมที่จะแปรเปลี่ยนเลือนสลาย ให้บอกเล่าถึงความลางเลือน ไร้แก่นสารของความปรารถนา ตลอดจนศรัทธาที่รับทอดสั่งสมกันมาโดยไม่ได้เข้าถึงแก่นแท้ของคำสอน


ต่างกับน้ำหนักกับความลุ่มลึกของศรัทธาที่รุ่งโรจน์สื่อใน พุทธานุสติ 50 ซึ่งแน่นหนักบนรากฐานของสติ สมาธิและปัญญา



“พุทธานุสติ 50” รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์


ภาพเศียรพระพุทธรูป 50 เศียรรายเรียงสลับแผ่นพื้นผิวเรืองรอบห้อง มีภาพเศียรขนาดใหญ่คู่กับพื้นผิวแนวนามธรรมไร้รูป (abstract formless style) อยู่กลางผนังตรงข้ามประตูทางเข้าเสมือนเป็นพระประธานในโบสถ์วิหาร ทำให้ผู้ที่ก้าวเข้าไปอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าเศียรใหญ่นั้นเป็นศูนย์พลังแห่งความสงบเย็นที่แผ่คลุมทั่วทั้งห้อง


เหมือนสาครินทร์ รุ่งโรจน์นำรูปแบบดั้งเดิมมาเสนอในแนวที่แปลกใหม่ ภาพเศียรพระพุทธรูปทั้ง 50

ดูเหมือนเศียรพระที่ปั้นตามคติช่างชาวเหนือ มองปราดแรกเหมือนกันไปหมด หากเมื่อรวมสมาธิในการมอง ก็จะเริ่มเห็นความแตกต่างในน้ำหนัก ในสี และในรายละเอียดต่างๆ โดยฉะเพาะอย่างยิ่งความรู้สึกในพระพักตร์ ซึ่งอาจารย์สมพร รอดบุญเขียนไว้ในสูจิบัตรนิทรรศการว่า “…มีความสัมพันธ์กับภาวะความรู้สึกของศิลปินที่เกิดขึ้นในขณะที่เขียนภาพ” เป็นความรู้สึกที่แปรเปลี่ยนทีละน้อยนิดเหมือนเส้นเงา ใจคนมองจะต้องนิ่งพอจึงจะสังเกตได้ เป็นแสงและเงาในศรัทธาและความเพียรของศิลปินในช่วงกว่าสองปี ที่เขาเก็บตัวที่สันป่าตอง เพื่อสร้างงานพุทธศิลปชุดนี้

ภาพสีอะคริลิคแบ่งเป็นสองส่วนสลับกัน ส่วนหนึ่งเป็นเศียรพระอีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นผิวไร้รูป เมื่อแขวนเรียงกันก็เกิดการหยุด (pause) คั่น ทำให้เกิดจังหวะสม่ำเสมอที่นำสายตาให้เคลื่อนจากภาพแรกทางซ้ายมือประตูเข้า เรื่อยไปตามแนวภาพที่สลับกันระหว่างความ 'มีรูป' และ 'ไร้รูป' จนมาหยุดนิ่งที่ภาพใหญ่ ก่อนจะเคลื่อนวนต่อไปจนจบลงที่ภาพสุดท้ายทางขวามือประตูเข้า …เหมือนเวียนไปในวัฏฏะ…เหมือนถึงจุดสุดท้ายในทักขิณาวัฏ

การสร้างพื้นผิวนั้น รุ่งโรจน์ใช้เจสโซผสมกับกระดาษทำเป็นรอยแตกบนผิว อันเป็นเทคนิคการสร้างของใหม่ให้ดูเก่า อันเป็นวิธีการช่างบ้านถวายในเชียงใหม่ แล้วจึงจะใช้สีป้ายทับ


น่าเสียดายที่คนรักศิลปะไม่มากคนนัก จะได้เห็นทั้งสองนิทรรศการนี้ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิหาร ได้เลิกแสดงไปแล้ว และป่านนี้ก็คงจะมีสีทาทับจนไม่มีอะไรเหลือให้เห็นเพราะสถานที่แสดงจะต้องนำไปใช้ในการแสดงนิทรรศการอื่นต่อไป เพราะ วิหาร เป็นประเภทนิทรรศการที่เรียกว่า site specific ศัพท์นี้เท่าที่ทราบยังไม่มีใครแปลเป็นภาษาไทย หากจะแปลให้ตรงตัว ถึงแม้จะไม่ลงตัวนัก ก็เห็นจะเป็น 'เฉพาะที่' หรือ 'เฉพาะที่ตั้ง' เป็นงานศิลปะที่เฉพาะเจาะจงสร้างสำหรับ และ ณ ที่แสดงนั้นๆ ไม่สามารถที่จะโยกย้ายไปที่อื่นได้

และในขณะที่ วิหาร เลือนสลายไปหมดแล้ว พุทธานุสติ 50 ก็จะออกนอกประเทศไทยไปเมื่อการแสดงเสร็จสิ้นลงในวันที่ 28 ตุลาคม (2543) เพราะมีคนรักศิลปะจากประเทศสิงคโปร์ที่ชื่นชมงานชุดนี้ ได้ตกลงซื้อทั้งชุดตั้งแต่ก่อนการเปิดนิทรรศการเพื่อนำไปไว้ในประเทศเขา


ทำให้นึกถึงกฎอนิจจัง และอนัตตา!
แล้วก็นึกเลยไปถึงเวลากับพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งควบคู่กับการผ่านผันของทุกชีวิต

ศิลปินหนุ่มทั้งสองคนได้ใช้ เวลากับพื้นที่ เป็นองค์ประกอบที่ขับความหมายในผลงานเขาให้เด่นชัด

…เหมือนหลอดไฟแสงเหลืองในห้องดำทึบใกล้มืดสนิท ใน วิหาร …เหมือนกลุ่มเปลวเทียนที่ระริกไหวอยู่ในความนิ่งสงบของห้องสลัวในวันเปิดการแสดง พุทธานุสติ 50


สำหรับข้าพเจ้าความรู้สึกเกี่ยวกับ 'เวลา' ชัดเจนจนประหลาดใจ เมื่อก้าวเข้าไปในพื้นที่จัดวางนิทรรศการทั้งสอง ซึ่งเป็นการจัดวางที่ใช้พื้น ผนัง และเพดานห้อง เป็นกรอบบรรจุพลังการสื่อของพื้นที่ว่างเปล่า (space)หรืออากาศได้อย่างสัมฤทธิ์ผล


ในห้องแสดงชั้นล่างของ วิหาร เวลาเคลื่อนไหวกระฉอกไปตามจังหวะชีวิตประจำวัน ที่มีการพูดคุย ดื่มกินแสวงหาเป็นเรื่องปกติธรรมดา เมื่อขึ้นบันไดไม้เคลือบสีดำไป ก็สัมผัสเวลาที่ลอยคว้างอยู่ในห้องสีแดงจ้านจากพื้นจรดเพดาน ต่างกับในห้องถัดไปที่เวลาดูเหมือนจะหยุดนิ่ง อึดอัด ในห้องดำทึบที่แสงจากหลอดไฟใสเหลืองเรืองรัศมี มิอาจให้ความสว่างแท้จริงได้ ทำให้ต้องใช้ความเพียรพยายามที่จะเพ่งมอง เพื่อให้เห็นรอยประดินสอพองที่ประดับเป็นภาพอยู่บนผนัง ซึ่งเป็นผนังที่ศิลปินได้ใช้ดำสอดำฝนจนถ้วนทั่วทุกตารางมิลลิเมตร เพื่อให้เกิดความเงาวาวบนสีดำที่ทาไว้


ใน พุทธานุสติ เวลาดูเหมือนจะชลอจนแทบจะหยุดนิ่งในความสงบที่รายล้อมด้วยภาพเศียรพระพุทธรูป เว้นวรรคทิ้งจังหวะด้วยพื้นผิวไร้รูป


อยากจะเรียกว่าทั้งสองงานว่า ‘พุทธศิลปแนวใหม่’

สำหรับนิทรรศการนี้ของรุ่งโรจน์ คงไม่มีใครค้าน แต่งานชุดนี้ของสาครินทร์ อาจจะทำให้หลายคนถามว่าใช่หรือที่ว่าเป็นพุทธศิลป สำหรับข้าพเจ้าไม่มีข้อสงสัย เพราะน้อยคนจะปฏิเสธได้ว่าวิหาร ตั้งคำถามมากมายถึงความเชื่อทั้งหลายที่มีต้นสายมาจากความโลภ

ไม่ว่าจะเป็นโลภในโลกีย์สมบัติบนแดนดินถิ่นมนุษย์ หรือในเรื่องของทิพย์สมบัติบนสรวงสวรรค์

การตั้งคำถามที่จะให้ได้มาซึ่งคำตอบที่อยู่บนพื้นฐานของสติ สมาธิ และปัญญา เป็นแนวปฏิบัติในพระพุทธศาสนามิใช่หรือ

ทั้ง วิหาร และ พุทธานุสติ 50 เป็นผลงานที่ทำให้เกิดการแสวงหา 'วิหาร' อันสงบงามที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในใจ เพียงแต่ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้หรือลืมไปว่ามีวิหารนี้อยู่ เพราะมันมีป่ารกชัฏปกคลุมจนรู้สึกว่าลึกลับเกินกว่าที่จะอยากแสวงหา หรือไม่ก็รออีกสักหน่อย ให้ว่างอีกหน่อยจะค่อยเข้าไป

เป็นผลงานที่ช่วยทำให้อยากถางทางสู่ปัญญา อันเป็นที่มาของสันติสุขที่สง่างาม และความสุขเย็นทั้งภายในปัจเจกใจ และในสังคมโลก

นี่มิใช่หรือที่เป็นบทบาทของพุทธศิลปะ ซึ่งมีมาทุกยุคทุกสมัยที่มนุษย์ค้นพบว่ามี ‘วิหาร’ นี้อยู่ในใจ


 

จาก: บทความพิเศษ "ศรัทธา พื้นที่ เวลา" ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2543

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page