top of page

นิยายรักในไซเบอร์สเปซ

คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์




คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ สิ้นปีนี้เธอจะอายุครบ 60 ปี สตรีร่างบอบบาง

แต่กระฉับกระเฉง เจ้าของผลงาน “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” บันทึกที่เพิ่งเปิดฉากจากความพยายามค้นหาที่มาของต้นตระกูล “หวั่งหลี” ตระกูลใหญ่แวดวงธนาคาร ลูกสาวของจ้าสัวจุลินทร์และสงวน

ล่ำซำ ในฐานะประธานกรรมการโรงพยาบาลจักษุรัตนิน ในฐานะประธานมูลนิธิเรือนร่มเย็น ฯลฯ

เกือบทุกคนคุ้นเคยกับเธอ ในนาม คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน วันนี้เธอเปลี่ยนนามสกุลใหม่ เป็น หาญเจนลักษณ์ พบชีวิตใหม่กับนักธุรกิจ นักวิชาการ นักพัฒนาอาวุโส วัย 58 ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์

คนรอบข้างคิดว่านิยายชีวิตเรื่องนี้ อาจจะไม่ต่างกับภาพยนตร์รักโรแมนติก You’ve Got Mail ที่ลงตัวแฮปปี้ เอ็นดิ้ง ให้คนสองคนครองคู่กันอย่างมีความสุข

แต่ก่อนหน้าที่คนสองคน ซึ่งสูงวัยวุฒิและคุณวุฒิ ในสังคมระดับสูง จะตัดสินใจอยู่ร่วมกัน ทั้งสองต้องคิดและเจออะไรบ้าง...


“ดิฉันมีความสุขมากในการที่อยู่คนเดียว มันเป็นอะไรที่ประหลาดมากที่ชีวิตม่ายของตัวเอง เป็นชีวิตที่มีความสุขมาก เพราะฉะนั้นการจะเป็นม่ายไปจนตาย เป็นสิ่งที่ดิฉันไม่รังเกียจเลยที่จะเป็น และไม่เคยคิดฝันเลยที่จะแต่งงานใหม่” เปิดอกเล่าถึงอดีตการครองชีวิตม่าย หลังสิ้น ศ.น.พ.อุทัย รัตนิน สามี

ที่เริ่มต้นชีวิตคู่กันตั้งแต่คุณหญิงจำนงศรี อายุ 21 ด้วยความที่เริ่มเห็นชีวิตเป็นสัจธรรม มองเห็นความ

เป็นอนิจจัง การใช้ชีวิตม่ายรับผิดชอบเพียงชีวิตตัวเองคนเดียว เป็นสิ่งที่เธอไม่ทุกข์ร้อน ซ้ำยังสุขสบาย

ถึงแม้จะคิดเช่นนั้น แต่คุณหญิงจำนงศรีกลับมีโอกาสดีที่ได้พบ ดร.ชิงชัย รู้จักและรักกัน เพราะอี-เมล์

(E-mail) เป็นสื่อสำคัญ

"เพื่อนที่บางกอกโพสต์โทรมา เพราะได้ข่าวว่าจะแต่งงาน ก็หัวเราะกับเขาว่า เป็นเพราะอีเมล์ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ เขาตื่นเต้นสนุกใหญ่ว่าทันสมัยสมกับยุคไซเบอร์สเปซ ขอเอาไปเขียน ” เข้ากับยุคอินเตอร์เน็ต...รักกัน เหมือนใน YOU’VE GOT MAIL เปี๊ยบ

ใครที่ได้ไปดูหนังเรื่องนี้ มี ทอม แฮงก์ กับ เม็ก ไรอัน เป็นพระ-นาง คงรู้เรื่องรักเรื่องชังของ 2 หนุ่มสาว

คู่นี้...


“อย่างว่าคนเราสื่อสารกันมี 2 ระดับ เห็นได้ชัดในหนัง YOU’VE GOT MAILระบบหนึ่งคือพูดกันเห็นหน้าท่าทางเห็นปฏิกิริยาตอบโต้ที่ไม่ได้กลั่นกรอง ทำให้เกลียดขี้หน้ากันได้ง่ายๆ ถ้าไม่ระวัง”


“อีกระดับเป็นเขียน สมัยนี้อีเมล์ ผิดกันตรงที่จดหมายต้องรอส่งรอรับเป็นวันๆ อีเมล์นี่ส่งถึงกัน

ในหนึ่งนาที ถ้าทั้งสองฝ่ายนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในเวลาเดียวกันก็โต้ตอบกันได้เลย การเขียนนี่จะเขียนเมื่อมีความรู้สึกอยากเขียน คนอ่านก็จะอ่านเมื่อมีอารมณ์อยากอ่าน ถ้าจริงใจ ก็จะสื่อความคิดได้ชัดเจน จะละเอียดลุ่มลึกกว่าพูด บางอย่างพูดลำบากแต่เขียนได้ อันนี้เห็นได้ชัดเจนในหนัง YOU’VE GOT MAIL"

สิ่งที่คุณหญิงจำนงศรีหมายถึงนั่นคือ การสื่อผ่านความคิด โดยมีการกลั่นกรองก่อนถ่ายทอด ถ้าให้ยกตัวอย่าง เธอบอกว่าอย่างตัวเราเองเขียนหนังสือ เราก็ให้สัมภาษณ์อยู่เสมอว่า การเขียนหนังสือเป็น

การเดินทาง เป็นการเข้าใจตัวเอง มันมีภาษาที่เราไม่ใช้ปกติในภาษาพูด และมันมีเวลาหาคำให้มันตรงกับความคิดถึง จึงตรงกว่า สะอาดกว่า


“อาจารย์ชิงชัย เวลาเขียน อี-เมล์สื่อความคิดได้ดีมาก”


"ประกอบกับ ‘เงื่อนไขของเวลา’ คนพบกันชั่วโมงหนึ่ง มันผ่านไปแป๊บเดียว อย่างการสัมภาษณ์นี้เราใช้เวลา เราได้อะไรไปแค่ไหน แต่ถ้าคุณถามคำถามดิฉันมาก่อน ดิฉันจะเขียนตอบคุณ แล้วเรามาเจอกัน คุณจะสามารถต่อไปได้เลยลงลึกรายละเอียดหรือข้อสงสัยไปได้อีกกว้างไกล"

นี่เป็นผลให้คุณหญิงจำนงศรี และ ดร.ชิงชัย รักในแบบตัวตนและเห็นถ่องแท้ในความคิดของกันและกัน

พอถึงเวลาก็แต่งงานด้วยการรักและรู้จักกันจริง คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่สื่อสารโดยใช้ภาษาเขียน แต่จะมากน้อยแค่ไหนมันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล


“แต่ก็เหมือนดาบสองคม ถ้าคุณเขียนเพื่อหลอกอีกฝ่ายหนึ่งก็เจ๊งเลย ในมุมกลับคุณก็หลอกคนอื่นได้ “ถ้าเขียนแบบโกหก ถือว่าเลวมาก ชัดเจนเลยว่าคุณตั้งใจหลายขั้นที่พูดมุสา ด้วยผ่านการกลั่นกรองเจตนาหลายครั้ง การพูดคุยเจตนาไม่ลึกเหมือนการเขียน”

ยากไหมสำหรับการตัดสินใจอีกครั้งที่จะแต่งงานใช้ชีวิตคู่ของเธอ


“ยากมาก ดิฉันคิดว่าสำหรับ ดร.ชิงชัยเขาจะไม่มีความขัดแย้งมากมาย ผู้ชายได้เปรียบคือ

มีเรื่องน้อยกว่า ของเรานี้จะเรื่องมาก เรื่องเยอะ ต้องคิดถึงลูก คิดหลายอย่าง แต่จริงๆ เรื่องลูกหลาน

มันยังเรื่องเล็ก”

เพราะลูกชายลูกสาว 4 คน ทั้ง น.พ.สรรพัฒน์, คุณวรัดดา, คุณอโนมา และคุณจิตรจารี ไม่มีใครขัดข้อง

สักคน



แต่กลับมีคำถามจากคนภายนอกถามมากกว่า ดร.ชิงชัยเป็นผู้ชายที่แปลก ลูกก็ไม่มี ตำแหน่งการงานสูง แน่นอนว่าจะต้องมีผู้หญิงให้เลือกมากมาย แล้วทำไมถึงเลือกผู้หญิงที่แก่กว่าตัวเองถึง 2 ปี

ถ้าเรามองว่าผู้หญิงเสียเปรียบในเรื่องนี้ก็มีคนมองอย่างนั้น แต่มีหลายอย่างน่าสนใจที่สะท้อนกลับมา คือ...

1.เข้าวัด เขียนหนังสือให้ข้อคิดในเชิงธรรมะ แล้วทำไมตัดสินใจแต่งงานใหม่ เป็นอันหนึ่งที่

น่าสนใจจากมุมมองข้างนอก

2.ไม่กลัวถูกหลอกเหรอ

3.แก่จนป่านนี้แล้วทำไมถึงอยากมีสามี


“สิ่งเหล่านี้เรารู้ว่ามันมีอยู่ รู้ว่าหลายครั้งถูกมองแปลกๆ แต่หลายครั้งก็อยากชื่นชมยินดีด้วย ดิฉันว่าน่าสนใจนะ น่าศึกษาในมุมจิตวิทยาสังคมและธรรมะ ถ้าดิฉันไม่เคยไปปฏิบัติธรรม อาจจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีน้ำหนักมากเลยก็ได้ อย่างนี้รู้สึกแค่น่าสนใจ”


"เพราะทั้ง 3 ข้อ มันคิดได้หมด ตัวเราเองมีคำตอบให้กับคำถามทั้งหลายได้ อาจารย์ชิงชัยก็มีความมั่นคงและปล่อยวางมาก ในเรื่องการคิดของคนอื่นที่อาจไม่เข้าใจ


“เพราะคำถามทั้งหลายไม่ใช่ว่าดิฉันไม่คิด ดิฉันคิดว่ามันหนักสำหรับผู้หญิงไทย การอายคนอื่น

การกังวลกับสายตา การศึกษาปฏิบัติธรรมช่วยให้ลดน้ำหนักความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ สายตาคนและ

คำชม หรือคำว่าร้ายมันคืออะไร มันมีส่วนที่จะช่วยให้ชีวิตอย่างมีสติหรือเปล่า ถ้ามันไม่มีประโยชน์อะไรน้ำหนักมันก็เบามาก แต่มันจะมีความหมายกับเรา ก็จะใช้มันให้เป็นประโยชน์กับชีวิตเราได้ ”

"สำคัญที่สุดคือ ปฏิกิริยาของเราว่ามีมากหรือน้อย ถ้าฝึกทักษะการมองจิตตัวเอง เราจะผ่านสิ่ง

เหล่านี้ไปได้อย่างสบาย


“ดิฉันถึงบอกว่าการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ การฝึกสติ สมาธิ การมองตน

เพื่อการปล่อยวางแต่ละขั้น ย่อมช่วยในตัวเรา แทนที่เราจะมองคนอื่น ก็มองตัวเองมากกว่า แต่เรื่อง

การแต่งงานดิฉันยอมรับเลยว่า ชีวิตดิฉันดีขึ้น การงานก็ดีขึ้น ”


เพราะดร.ชิงชัยมีประสบการณ์การวิจัยเพื่อการพัฒนากว่า 20 ปี อยู่กับแหล่งเงินทุน งานที่คุณหญิง

จำนงศรี ทำก็เป็นงานพัฒนา ดร.ชิงชัยจึงมีมุมมองของผู้ผ่านงานพัฒนามามาก เวลาที่ไม่เข้าใจอะไร ดร.ชิงชัยจะเป็นคนสอน ช่วยให้งานตัวเองดีขึ้นมาก


โดยเฉพาะในฐานะแม่งานมูลนิธิเรือนร่มเย็น ที่มีจุดประสงค์ช่วยเหลือเด็กสาวในภาคเหนือ เด็กรุ่นที่เพิ่งจบการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมศึกษา เลือกช่วยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกชักนำให้ไปค้าประเวณี หรือ

ค้ายาเสพติด


ถือเป็นอีกงานพัฒนาที่ลงมือทำ เพราะคุณหญิงบอกว่า ถ้าเด็กเหล่านี้มาอยู่กับเรา ให้การอบรมจนจบมัธยมปีที่ 3 ดูแลพัฒนาการทางอารมณ์ ให้เขาเติบโตอย่างมั่นคงทางจิตใจและทำในสิ่งที่ถูกที่ควร

นับเป็นการสร้างคน สร้างครอบครัว และสังคมที่แข็งแกร่ง ซึ่งต้องเริ่มจาก ‘เด็ก’

"สำหรับหนังสือเด็กของเด็กของดิฉันเช่น ฉันคือปูลม เมล็ดกล้าในดินร้าว และก็อื่นๆ นั่นไม่ได้เขียนโดยตั้งใจเพื่อให้เด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะดิฉันจะเริ่มเขียนเพื่อตัวเอง เพื่อได้สื่อสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา ก็เลยได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราใช้ความเป็นมนุษย์ในตัวของเราเองอย่างจริงใจที่สุด จะพบว่ามีส่วนของเด็กและมีส่วนของผู้ใหญ่ผสมกันอยู่อย่างแยกไม่ออก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดึงอันไหนออกมาในช่วงไหน


"ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ พอแต่งงานกับอาจารย์ชิงชัย ก็ได้รู้อีกหลายอย่างเกี่ยวกับคนที่ทำเพื่อเด็กและรักเด็กจริงๆ เพราะอาจารย์ชิงชัยเข้ากับเด็กได้ดีเหลือเกิน เขาจะเล่นกับเด็กเหมือนเป็นเด็กๆ หลานยายของดิฉันจะติดเขามากกว่าดิฉันมากเลย แล้วเขาก็มีความสุขที่ได้วุ่นวายกับเด็ก จะเล่นและใช้เวลากับเด็กเต็มที่


"มองอีกด้านถ้าให้อาจารย์ชิงชัยแต่งนิทานเด็กเขาทำไม่ได้ เขาสร้างเกม สร้างกิจกรรมเด็กไม่เป็น แต่เด็กจะติดเขาจะรักเขามากกว่าดิฉันเยอะ เพราะฉะนั้นก็น่าสนใจว่าอะไร มันคืออะไร "

เรียกว่า ดร.ชิงชัยก็มีส่วนเติมเต็มในงานให้คุณหญิง


“อันที่จริงสิ่งที่ดิฉันอยากจะพูดเกี่ยวกับเด็ก เรื่องอาหาร คือดิฉันกลัวว่าเด็กเนี่ยด้วยความง่าย

ไงคะ พ่อแม่รวมทั้งหลานดิฉันด้วยนะคะ ให้กินอาหารพวกฟาสต์ฟู้ด ไอ้ที่เป็นการปรุงซับซ้อน เขาก็จะ

ลิ้นไม่ถึง แล้วเขาก็จะเริ่มหันหลังให้กับอาหารไทย ซึ่งดิฉันกลับคิดว่าอาหารไทยเป็นศิลปะชั้นเยี่ยมยอด

เคยคิดอยากทำหนังสือกับข้าวสำหรับเด็ก”

คุณหญิงบอกว่า เวลานี้ห่วงเด็กรุ่นใหม่อะไรก็ฟาสต์ฟู้ด ง่ายๆ เร็วๆ แล้วก็ทันสมัย


"เดี๋ยวนี้เราจะเห็นว่าของดีต้องกลายเป็นอาหารฝรั่ง ทั้งที่เขาควรประทับใจอาหารของเราด้วยใช่ไหม

เห็นว่ามีหลายองค์กร กำลังรณรงค์ว่าให้กลับมากินอาหารไทย แต่เกรงว่าสู้แรงกระแสโฆษณาของ

ฟาสต์ฟู้ดไม่ได้"

ขณะมีความสุขกับชีวิต อีกด้านในงานที่เธอรักก็ขับเคลื่อนต่อไป คืองานเขียนหนังสือ


“กำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่ออกมาชื่อ เจ้าแสดแปดขา ซึ่งก็ไม่ได้เขียนสำหรับให้เด็กอ่าน และคงเป็นหนังสือที่อ่านยากเกินไปสำหรับเด็กเล็ก ดิฉันคิดว่าถ้าเผื่อพ่อแม่เอาเนื้อความไปเล่าให้เด็กฟังจะดีกว่า ได้อรรถรสความเป็นครอบครัว เล่มนี้มีภาพประกอบเป็นผ้าทอ ฝีมือคุณสมรรค คุ้มสุวรรณ

ด้วยความที่นุ่งผ้าและเลือกลายผ้าทอประกอบเองนั้น "เพราะชอบความคิดที่ใส่ลงไปในฝีมือ เพราะเห็นงานทอผ้าเป็นทัศนศิลป์สร้างสรรค์ด้วยจินตนาการ ตัวเองอยากให้คนทั่วไปมองผ้าไม่ใช่เป็นของใช้หรือของนุ่ง แต่มันสามารถจะเล่านิทานได้ด้วย เป็นเรื่องของเจ้าแสดแปดขา เป็นแมงมุมที่มีปัญหาในการ

ปรับตัว มันเป็นตัวที่เข้าใจสิ่งแวดล้อมดี มันเป็นตัวที่มีปัญหากับทางสังคมนิดหน่อย ทางสังคมของมัน

นะคะ น่าจะออกได้ในเดือนมิถุนายนนี้ ”

วันนี้ในชีวิตจริงของผู้หญิงชื่อ คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ ยังมีเรื่องราวมากมาย หลากหลายสีสันเหมือนตัวหนังสือ บางบรรทัดในนิยายชีวิตอมตะสักเล่ม ที่รอผู้คนเปิดอ่านและเรียนรู้ว่าอีกด้านที่รื่นรมย์ของชีวิต – เราจะพบได้ที่ไหน

 

จาก: อาทิตย์สุขสรรค์ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2542

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page