top of page

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน กับ คนที่รู้ใจ ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์

เรื่อง "วนิดา"

ภาพ อิทธิศักดิ์ บุญปราศภัย




ไม่เคยมีคำว่า “สายเกินไป ” สำหรับการเริ่มต้นชีวิตรักครั้งใหม่ของคนคู่หนึ่ง ซึ่งต่างอยู่ในสถานภาพ “ม่าย” เพราะสูญเสียคู่ชีวิตไปแล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี


คุณธงชัย (ธงชัย ล่ำซำ น้องชายคุณหญิงจำนงศรี) ทำให้เรารู้จักกันเพราะรู้ว่าผมเป็นประธานอนุกรรมการแผนงาน มูลนิธิวิเทศพัฒนา ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเอ็นจีโอ ท่านเลยเล่าให้ฟังว่าคุณหญิงเองก็ตั้งมูลนิธิเรือนร่มเย็น ซึ่งเป็นมูลนิธิที่คอยให้ความช่วยเหลือเด็กผู้หญิงอายุสิบสองถึงสิบหกปีขึ้นมาเหมือนกัน และจะช่วยอะไรได้บ้างไหม ”

ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) พูดถึงจุดเริ่มของการได้รู้จักกัน


“ผมเลยโทรศัพท์ไปถึงคุณหญิงหลังจากพบกันสองสามครั้ง ก็ขึ้นไปเยี่ยมมูลนิธิเรือนร่มเย็นที่เชียงรายระหว่างอยู่ที่นั่น เรามีเรื่องถกกันหลายเรื่อง ผมประทับใจในตัวคุณหญิงมาตั้งแต่ตอนนั้น


“ที่ประทับใจมากก็เพราะไม่เคยเจอผู้หญิงที่เก่งรอบตัวอย่างนี้ ถึงแม้ผมจะเจอผู้คนมามาก เพราะทำงานต่างประเทศนาน ต้องเดินทางบ่อยทำให้ได้พบผู้หญิงเก่งๆ หลายคน แต่คุณหญิงเป็นผู้หญิงแบบที่ทำให้ผมอยากคุยด้วย อยู่ใกล้ๆ แล้วสบายใจ เรามีอารมณ์ขันคล้ายกัน คุยกัน เถียงกัน หัวเราะกันได้ทุกเรื่อง”


“เรื่องที่เถียงกันนี่ ส่วนใหญ่อาจารย์เป็นคนปิดประเด็น เพราะมีพื้นฐานเป็นนักกฎหมายค่ะ ก็เลยชอบหยิบยกเรื่องต่างๆ มากมายมาถก จะเล่นหรือจริงก็ไม่รู้ ” คุณหญิงเจ้าของนิยามผู้หญิงเก่ง เล่าพลางหัวเราะชอบใจ


“ก็มีทั้งสองอย่าง แต่เรียกได้ว่าเป็นการถกเถียงที่สร้างสรรค์มาก เพราะมันกระตุ้นให้เกิดความคิดที่กว้างและลึกกว่าเดิม ใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็ได้หัวเราะบ่อย ๆ ด้วย” ดร.ชิงชัยช่วยเสริมก่อนจะต่อว่า


“หลังจากที่ได้เดินทางเรื่องงานด้วยกันหลายครั้ง เราก็เริ่มคุยกันทางอีเมล์ เพราะผมใช้งานอีเมล์มาตลอด เริ่มจากส่งข้อความที่น่าสนใจไปให้เข้าอ่าน แล้วถึงได้เริ่มคุยกันมากขึ้น สำนวนภาษาเขียนคุณหญิงดีกว่าผมมาก ทำให้ผมได้ดู ได้คิด ได้เขียน แล้วเดี๋ยวนี้ก็เขียนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ (หัวเราะ) ไม่แน่ สักวันผมอาจเขียนเก่งกว่าคุณหญิงก็ได้นะ


“พอเช้าขึ้นถึงที่ทำงานแต่เช้า ผมเปิดอ่านอีเมล์คุณหญิงเป็นอย่างแรกเลย จะได้สดชื่น (หัวเราะ) เสร็จแล้วก็เขียนตอบ ทุกวันนี้ถึงจะเจอกันทุกวันก็ยังต้องส่งอีเมล์ บางวันถ้ามีเรื่องต้องโต้ตอบกัน ก็หลายฉบับหน่อย


“มีอยู่ครั้ง ผมต้องใช้เวลาคิดเป็นชั่วโมง เพราะโจทย์ที่คุณหญิงตั้งมายากมาก (หัวเราะ) เลยใช้เวลานานหน่อยกว่าจะตอบให้คุณหญิงพอใจ แต่ก็ทำให้เรารู้เรื่องกันมาก




“เราทั้งสองคนเป็นคนแก่ไฮเทค สนใจเรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งยังทำอะไรรวดเร็วคล้ายๆ กัน

ถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่โต้ตอบกันด้วยจดหมายส่งไปรษณีย์ เพราะมันใช้เวลาเดินทางนาน พบกันทุกวัน จดหมายก็มาถึงไม่ทันใช่ไหม”


“การใช้อีเมล์นี่โต้ตอบถึงกันทันที โดยใช้ภาษาได้ดังใจ เพราะมีเวลาไตร่ตรอง เลือกคำถามที่ต้องการ เย็นลงพบกัน ก็คุยต่อเรื่องได้เลย ทีนี้คุยกันแบบหน้าตาท่าทาง ซึ่งดีไปอีกแบบ เหมือนเราได้คบกันในสองระดับ” คุณหญิงบอก


“คือทั้งในระดับทั่วไปและในระดับความคิดที่พูดได้ไม่เหมือนเขียนซึ่งผมว่าดีมาก”


“ดีมากอีกด้าน คือ ทำให้เราต่างคนต่างรู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะเวลาเราพยายามที่จะเขียนให้อีกฝ่ายเข้าใจความหมายของเรา เราต้องคิดค้นว่าจะเขียนอย่างไร ให้ความหมายชัดเจน เสร็จแล้ว

จะพบว่า เออนะที่คิดค้นนี่ทำให้เข้าใจความคิด ความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น ความคิดก็ชัดขึ้น แตกแขนงกว้างและลึกขึ้นไปอีก”


“นอกจากนี้เรายังเป็นม่ายเหมือนกัน แต่พอได้มาพบ รู้สึกถูกชะตากับคุณหญิงมาก จนบอกตัวเองว่าต้องไม่พลาดโอกาส น่าเสียดายที่มาเจอกันช้าไปหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่เจอเลย” ประโยคนี้ทำให้

คุณหญิงซึ่งนั่งฟังอยู่อดหัวเราะไม่ได้


“แต่ก็ไม่เชิงว่าคิดจะขอแต่งงานทันที เพราะเราอายุมากแล้ว ไม่เหมือนเด็กๆ มันเหมือนขนมที่ค่อยๆ เททีละชั้นจนกลายเป็นขนมชั้น จะถามว่าเป็นขนมชั้นเมื่อไร คงตอบไม่ได้ ”


“ไหนว่าไม่เก่งภาษาไทยไง” คุณหญิงท้วงพร้อมหัวเราะ เพราะ ดร.ชิงชัย ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนานถึง 27 ปี จนเชี่ยวชาญภาษาอื่นมากกว่าภาษาไทย


“ดิฉันเคยมั่นใจมากว่าจะอยู่คนเดียวไปตลอด (หัวเราะ) แต่อาจารย์ก็มั่นใจมากว่าเราควรจะใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยกัน แล้วก็ค่อยๆ ทำให้ดิฉันเชื่อว่าจะอยู่ด้วยกันได้ดี เราเห็นร่วมกันว่าชีวิตเราเหลือไม่มากนัก ถ้าต่างคนต่างอยากให้อีกคนมีความสุข คงปรับตัวเข้าหากันไม่ยากจนเกินไป


“ตั้งแต่คบกันมากขึ้น อาจารย์ก็หันมาสนใจศึกษาพุทธศาสนาในด้านการปฏิบัติเหมือนดิฉัน เมื่อเสาร์อาทิตย์ก่อนก็ไปค้างวัดป่านานาชาติที่อุบลราชธานี ไปถกปัญหาธรรมะกับพระชาวอังกฤษ แล้วก็ฝึกสมาธิ


“เราต่างกันตรงที่อาจารย์ชินกับมุมมองแบบแม็คโคร เพราะพื้นฐานทางกฎหมายมหาชน ดิฉันติดจะมีมุมมองแบบไมโคร”


“คือผมมองเห็นป่าทั้งป่า คุณหญิงมองต้นไม้แต่ละต้น” ดร.ชิงชัย อธิบาย


“เดี๋ยวนี้เราก็ค่อย ๆ ปรับมุมมองให้ใกล้กันขึ้น จะเป็นมุมมองเดียวกันเลยก็คงไม่ดีนัก เพราะแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ แค่ปรับใกล้กันขึ้นก็พอ จะได้ช่วยกันมองทั้งป่าทั้งต้นไม้”


“ใช่ครับ คนละแนวก็รวมกันได้ เดี๋ยวนี้เวลาผมมีแขกต่างประเทศมา ผมมักจะพาคุณหญิงไปด้วย เท่าที่ผ่านมา ชาวต่างประเทศเขาจะชอบมาก เพราะคุณหญิงคุยสนุก แต่ก็ต้องดูเหมือนกัน แขกต่างประเทศบางคนผมก็จะไม่พาคุณหญิงไป”


“อย่างไปทานข้าวกับชาวอเมกันเมื่อวาน หัวเราะกันตลอด แขกบอกว่าสนุกมาก ขอบใจใหญ่ "


“ลูกๆ ก็สบายใจ (คุณหญิงมีบุตรธิดา 4 คน ดร.ชิงชัยไม่มี) เพราะเขาแต่งงานกันหมดแล้ว เขาจะได้ไม่ต้องห่วงว่าแม่อยู่คนเดียว สมัยก่อนเขารู้ว่าชอบดูหนังโรง เขาก็ชวนไปกับเขา กับสามีภรรยาเขา บางทีเราก็เกรงใจเหมือนกัน เขาทำงานกันหนักๆ กันทั้งนั้น เสาร์อาทิตย์เขาก็ควรเที่ยวกันตามลำพังบ้าง เดี๋ยวนี้เขาสบายใจที่แม่มีเพื่อนที่ชอบหนังโรง ชอบคอนเสิร์ต ชอบลองชิมอาหารเหมือนกัน อันที่จริงตั้งแต่เป็นม่ายมา 5 ปี ดิฉันไม่ขี้เหงาเลย อยู่คนเดียวก็มีความสุขดี มีเรื่องทำหลายอย่าง บางทีก็ปลีกตัวไปอยู่วัดทีละหลายวัน


“เดี๋ยวนี้ลูกสาวทั้งสามคนก็มีเรื่องให้ต้องร่วมงานกับอาจารย์คนละเรื่องสองเรื่อง มีลูกชายที่เป็นจักษุแพทย์เท่านั้นที่สายงานไปกันคนละทาง แต่ก็ได้ตรวจตาให้อาจารย์เรียบร้อยแล้ว (หัวเราะ)


“เพื่อน ๆ ทราบข่าว บางคนก็เป็นห่วง ถามว่าคิดดีแล้วหรือ แต่หลังจากพบอาจารย์ก็หมดปัญหา เพราะเขาเห็นว่าอาจารย์อารมณ์ดี ทานง่าย อยู่ง่ายไปหมด”

สำหรับข่าวดีจะมีขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม อันใกล้นี้


“เราแค่ทำบุญใส่บาตรแบบไทยๆ ธรรมดานี่แหละ แล้วก็ไปตามป่าตามเขาเงียบๆ สักไม่กี่วัน

ขอไม่บอกว่าจะไปไหน ” (หัวเราะ)


“จัดเอิกเกริกไม่จำเป็นกระมังครับ ลงหนังสือแพรวยิ่งกว่าจัดงานเสียอีก” ดร.ชิงชัยกล่าวติดตลก


“การมาพบกันเมื่ออายุมากแล้วก็ดีนะ มันทำให้เรารู้ว่าชีวิตเราเหลือไม่กี่ปี คือชีวิตที่ร่างกาย

ยังแข็งแรงทำอะไรต่ออะไรตามที่ต้องการได้อย่างนี้น่ะ ทุกวันก็เลยมีความหมายมาก


“และการที่จะทำให้วันเวลามีคุณค่ามากก็คงไม่ใช่เรื่องของการรับ แต่เป็นเรื่องของการให้แก่กันและกัน เมื่อมีการให้แก่กัน ทั้งสองฝ่ายก็เป็นผู้ได้รับโดยอัตโนมัติ จากนั้นเราก็คงสามารถทั้งให้และรับจากคนอื่นๆ ได้ดีขึ้น


“ชีวิตก็มีเท่านี้ไม่ใช่หรือ”


 

จาก : คอลัมน์ เก็บจากข่าว นิตยสารแพรว ปีที่ 19 ฉบับที่ 435 วันที่ 10 ตุลาคม 2540

ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page