top of page

“ดุจนาวากลางมหาสมุทร”

สัจธรรมแห่งชีวิตในวิถีของเวลา

เรื่อง พิชามญช์

ภาพ สุทธิพันธ์




...คงไม่ผิดความจริงเท่าใดนัก หากจะกล่าวว่าชีวิตมนุษย์คือการเดินทางอันแสนยาวไกล และในระหว่างการเดินทางนั้นย่อมเต็มไปด้วยสุข-ทุกข์ หมุนเวียนเปลี่ยนแปรเป็นสัจธรรม


ชีวิตแต่ละชีวิตดำเนินไป มีไม่น้อยที่ล้มหายตายจากไปในวิถีของเวลา แต่จะมีชีวิตสักกี่ชีวิตที่กลายเป็นบทบันทึกให้คนรุ่นต่อๆมาได้เรียนรู้ถึงการเดินทางอันแสนไกล จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง...


ดังเรื่องราวของอดีตเรื่องหนึ่งได้ถูกบันทึกไว้เป็นตัวอักษร ในหนังสือแห่งปีชื่อ ดุจนาวากลางมหาสมุทรเรื่องราวการต่อสู้ฟันฝ่าของชาวจีนโพ้นทะเลในตระกูล 'หวั่งหลี' จากปลายปากกาคม ของ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์)


“การค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นการเดินทางเข้าไปในโลกที่ไม่เคยนึกถึง เต็มไปด้วยสีสันและรายละเอียดมากมาย ที่ทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงธรรมชาติและความไม่แน่นอนของชีวิต ไม่ว่าจะดูจากภายนอกว่าประสบความสำเร็จและมีวงศาคณาญาติมากสักเพียงใด ชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยการต่อสู้ ความสูญเสีย การเปลี่ยนแปลง ดิฉันได้เรียนรู้มาจากการสัมผัสเรื่องต่างๆ ที่ค้นพบ...”


เรื่องราวในอดีตที่เต็มไปด้วยสีสัน ในชื่อ ดุจนาวากลางมหาสมุทร อาจสะดุดใจใครหลายคนว่าเหตุใดหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลจึงต้องเป็น ดุจนาวากลางมหาสมุทร


“ตอนที่ลงมือเขียน ดิฉันไม่รู้เลยว่า หนังสือจะชื่ออะไร แต่ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นหลังจากเขียนไปได้ไกลมากแล้ว ไกลจนจวนจะจบเสียด้วยซ้ำ ถึงได้นึกถึงชื่อนี้ขึ้นมา”


...ความพยายามลำดับเหตุการณ์ต่างๆที่ได้ค้นพบเกี่ยวกับบรรพบุรุษ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกแจ่มชัดว่า ชีวิตดำเนินไปในวิถีของเวลา แต่ละนาทีเหมือนเกลียวคลื่นที่เกิดขึ้นแล้วหายไป ไม่เหลือให้จับต้องได้อีก ความรู้สึกนี้ชวนให้นึกเลยไปเปรียบชีวิตกับเรือสำเภา ซึ่งบรรพบุรุษหวั่งหลีเคยใช้เดินสมุทร ไต้ก๋งหรือกัปตันเรือเป็นผู้นำเรือสำเภาไปในเส้นทางที่ตนเลือก แต่เมื่อพายุฟ้ากระหน่ำ ชะตากรรมของเรือก็มิได้ขึ้นอยู่กับฝีมือไต้ก๋งแต่อย่างเดียว บางครั้งไต้ก๋งเองก็คงรู้สึกถึงความอ้างว้างเดียวดาย ในขณะที่เรือลอยลำอยู่กลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่...


ความตอนหนึ่งในคำนำจากผู้เขียน ได้อธิบายถึงที่มาของ ดุจนาวากลางมหาสมุทร ให้เราได้เห็นถึงแนวคิดอันแหลมคม รวมถึงความตั้งใจของผู้เขียน มาเป็น ดุจนาวากลางมหาสมุทร ฉบับรวมเล่มสมบูรณ์ แต่ก่อนจะมาเป็นดังที่เห็นนี้ คุณหญิงจำนงศรีเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำหนังสือว่าเริ่มต้นด้วยความท้อใจ...


“จากจุดเริ่มต้น คือทำหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของ คุณสุวิทย์ หวั่งหลี ซึ่งเดิมทีดิฉันคิดจะทำหนังสือเล่าเรื่องธุรกิจของหวั่งหลีโดยผ่านภาพโบราณ ซึ่งคิดว่าน่าจะมี

ภาพเก่าๆ เก็บไว้มาก แต่จริงๆ แล้วไม่มี เมื่อดิฉันพบว่าทำหนังสือภาพไม่ได้ ก็จะต้องทำอะไรสักอย่าง ดิฉันก็เลยเอาเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดคือ ประวัติตระกูล ซึ่งมีเวลาในการทำเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น ขั้นแรก

ในการทำหนังสือเล่มนี้คือ ปรับทุกข์ โอดครวญกับญาติพี่น้อง (หัวเราะ) ว่าแล้วจะเขียนอะไรดี คงจะเป็นหนังสือเล่มที่บางมาก นี่คือขั้นตอนแรกไม่ใช่ขั้นตอนที่น่าภูมิใจอะไรเลย เพราะเริ่มต้นด้วยความท้อใจ”


จากจุดเริ่มต้นแห่งความท้อใจ บวกกับพื้นฐานเดิมของคุณหญิงเอง ที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างคนไทยที่มี

ความรับรู้เรื่องจีนน้อยมาก ทำให้ขั้นตอนการทำหนังสือเกี่ยวกับประวัติครอบครัวเล่มนี้กลับยิ่งยากขึ้น

ไปอีก


“เริ่มแรกดิฉันเองก็ไม่ได้นึกอยากจะเขียนประวัติของครอบครัวเลย ไม่ว่าครอบครัวทางแม่หรือทางพ่อ เพราะไม่นึกว่าจะมีอะไรน่าสนใจ คนเราเติบโตขึ้นมาในครอบครัว เหมือนนกในฟ้า ปลาในน้ำ ก็ชินกับสิ่งแวดล้อมไม่คิดว่าจะน่าสนใจอะไร ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่า ดิฉันเป็นทั้งคนในและคนนอกของ

ตระกูลหวั่งหลี เป็นคนนอกเพราะว่าแม่ดิฉันเป็นหวั่งหลี ผู้หญิงในครอบครัวจีน เวลาแต่งงานคือแต่งออก แต่ดิฉันก็เป็นคนใน ในแง่ของสายเลือด อีกอย่างหนึ่งคือ แม่ดิฉันเสียตั้งแต่ดิฉันยังเล็กมาก คุณยายก็จะใกล้ชิดกับดิฉัน ทำให้เรารู้สึกความเป็นคนในอยู่ตรงนี้


..ดิฉันถูกเลี้ยงมาแบบคนไทย และรักความเป็นไทย ก็เลยไม่เคยคิดที่จะสืบเสาะเรื่องราวในตระกูลของตัวเอง ซึ่งเป็นเชื้อสายจีนทั้งทางข้างพ่อและข้างแม่ ไม่คิดว่าจะน่าสนใจ”


ทว่า นี่คือความคิดเดิมก่อนหน้าที่จะได้ลงมือค้นคว้าศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง จนกระทั่งเมื่อคุณหญิง

ได้ค้นพบด้วยตนเองว่า แท้จริงแล้วเรื่องราวของบรรพบุรุษนั้นมีสีสัน เชื่อมโยงกับมิติทางประวัติศาสตร์

ทั้งไทยและจีน ยิ่งไปกว่านั้นการได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ยังมีคุณค่ามาหาศาลในแง่ของความรู้สึกและ

การเรียนรู้


“ดิฉันบอกญาติพี่น้องไว้เลยว่า ดิฉันเป็นคนที่ไม่ชอบเขียนเรื่องที่น่าเบื่อ ประเภทมุ่งชื่นชมสรรเสริญนี่ไม่เอาเด็ดขาด มีงานเขียนประเภทนั้นมากเกินพอแล้ว ทีนี้ทุกคนก็พยายามจะช่วย พยายามนะคิดถึง

เรื่องอะไรๆ ที่เคยได้ยินมาที่เป็นสีสัน ในที่สุดก็เริ่มมีมาเรื่องสองเรื่องที่น่าสืบลงไป ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น

ที่บอกเราว่า ถ้ามีสักสองเรื่องนี้ ก็น่าจะมีอีกมากถ้าตั้งใจจะค้นหา ประจวบกับเวลานั้น จะมีการเดินทางไปอำเภอเท่งไฮ้ ซึ่งเป็นอำเภอชนบทของจีนทางมณฑลกวางตุ้ง เพราะจะมีพิธีเปิดตึกโรงเรียนมัธยมที่

คนไทยที่บรรพบุรุษมาจากอำเภอนั้น ช่วยกันสมทบทุนสร้าง เป็นอำเภอบ้านเกิดของบิดาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หมู่บ้านของต้นตระกูลหวั่งหลีก็อยู่ในอำเภอนั้น พี่ๆ ถามว่าจะไปไหม ไปแน่สิ..

จะต้องสืบเสาะข้อมูลให้ได้มากที่สุด ดิฉันก็ไปกับ ทวีนุช จ่างตระกูล น้องสาว แล้วก็ อภิชาต กับ อัจฉรี หวั่งหลี หลานชาย หลานสะใภ้ ซึ่งไม่มีใครพูดภาษาจีนได้เลยสักคนเดียว แต่ได้หลงจู๊เต็งซึ่งเป็นคน

เก่าแก่ของทางหวั่งหลีช่วยไปเป็นล่ามให้ ตอนแรกหนักใจว่าไปงมเข็มในมหาสมุทรนะ แต่ปรากฏว่า

เข็มเยอะแยะไปหมดเลย...”


สิ่งที่คุณหญิงได้รับจากการเดินทางไปเมืองจีนในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ได้รับรู้เรื่องราวของบรรพบุรุษเพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการเขียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการได้เข้าไปสัมผัสญาติพี่น้องในเมืองจีน ทำให้เกิดความเชื่อมโยงในอารมณ์ความรู้สึก เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ ดุจนาวากลางมหาสมุทร ผสมกลมกลืนด้วยข้อมูลความรู้และอรรถรสทางความรู้สึกอย่างลงตัว


“ไปเมืองจีน ดิฉันนุ่งแต่ผ้าซิ่น เพราะชิน แล้วก็สะดวก เข้าห้องน้ำง่าย คือ ไปอย่างคนไทยเลย

แต่พอเราไปถึง ไปเจอะคนทั้งหมู่บ้านซึ่งเป็นญาติกัน นับดิฉันเป็นญาติด้วย ก็เกิดความรู้สึกอบอุ่นที่สุด

ทั้งที่เรานุ่งผ้าไทยพูดภาษาไทย พูดภาษาจีนไม่ได้สักคำ และไม่มีความรู้พื้นฐานใดๆ เกี่ยวกับเรื่องจีนเลย เพราะเขาถือว่าเราเชื้อสายตระกูลแซ่ตั้ง แห่งโจ่ยโคย โจ่ยโคยคือตัวหมู่บ้าน เราก็เลยหลุดเข้าไปเป็นคนใน ไม่เพียงแต่สายเลือด แต่ยังรวมถึงอารมณ์ ความรู้สึกร่วมในการช่วยกันค้นหาอดีต เผอิญมีญาติ 2 คน ที่โจ่ยโคย เขาเป็นคนทำเชื้อสายตระกูลถอยหลังไปไกลมาก เขาก็ช่วยดิฉัน พบอย่างก็จะไปสะดุดอะไรๆ อีกหลายอย่าง เราก็ซักต่อตรงที่สะดุดใจ ก็ขยายไปเรื่อยๆ


อย่างเช่นเรื่อง ก๋งผู้หัวหาย เราก็สงสัยว่า ทำไมมีบันทึกไว้ในสายตระกูลว่า ‘ก๋งผู้หัวหาย’ เราก็ไปพบว่าเขาเป็นกุนซือกบฏ ที่ต่อต้านการปกครองที่กดขี่ของข้าราชการในสมัยพระเจ้าเสียนฟง ที่เป็นพระสวามีพระนางซูสี ถูกตัดหัว ญาติไปรับตัวก็หาหัวไม่เจอ และชีวิตเขาน่าสนใจ คือทำไมเป็นชาวนาอยู่ดีๆ จึงลุกขึ้นกบฏ และถูกตัดหัว มีโองการจักรพรรดิให้ล้างโคตร ทำไมถึงมีบทบาทขนาดนั้น เพราะเขาฉลาด

เขาเป็นที่ปรึกษาของกบฏชาวนา มันทีที่มาที่ไปอย่างนี้ แล้วเรื่องล้างโคตร ชวดของเราซึ่งตอนนั้นยังเป็นเด็กเล็กๆ รอดมายังไง ก็พบว่ามีคนช่วย คนตระกูลไหนช่วย ช่วยอย่างไร...มันน่าสนใจไปหมด ตอนต้นเคยคิดว่าคงไม่สนุก ค้นเข้าไปสิคะ มันมีข้อมูลใหม่ๆ หลุดออกมาโดยที่มีหลักฐานประกอบด้วย”


หลังจากกลับจากเมืองจีน คุณหญิงจึงได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ทั้งข้อมูลจากคำบอกเล่า จากเอกสาร

ต่างๆ รวมทั้งหนังสือทางประวัติศาสตร์ ทั้งในภาษาจีน ไทย และอังกฤษ เพื่อให้เรื่องราวที่เขียนขึ้นมีความ

น่าเชื่อถือ ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่เป็นหนังสือประวัติตระกูลเท่านั้น แต่ยังเป็นหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ ที่บันทึกเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลในสมัยรัตนโกสินทร์ และสะท้อนภาพสังคมไทยในยุคหนึ่ง


“ดิฉันเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ แต่ดิฉันไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ดิฉันจึงมองประวัติศาสตร์ในมุมของคนที่ช่างสงสัยและสนุกกับเรื่องของผู้คน โดยธรรมชาติของหนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ แต่ดิฉันไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเขียนประวัติศาสตร์ แต่ดิฉันกำลังเล่าเรื่องจากมุมของดิฉัน เรื่องที่ค้นพบ และสนใจเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตจริงของคนเรามันมีรสชาติและให้ข้อคิดได้มากมายขนาดนี้หรือ เดิมคิดด้วยซ้ำว่าจะเล่าแบบคนนอกแท้ แต่พอค้นคว้าเข้าไปแล้วจึงพบว่ามันมีความลึกอยู่มากมายด้วย ดิฉันจึงเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างไม่มีการตีกรอบว่า นี่คือหนังสือประวัติศาสตร์ ”


แม้คุณหญิงจะยืนยันว่า ไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้อย่างนักประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการใช้

หลักฐานเอกสารมากมายมาอ้างอิงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อความน่าเชื่อถือของเรื่องราวทั้งหมดและ

เพื่อมิให้ผู้อ่านสับสนว่า นี่คือเรื่องจริงหรือจินตนาการของผู้เขียนกันแน่


“ตอนที่หนังสือออกมาแรกๆ พี่ชายดิฉัน (คุณโพธิพงษ์ ล่ำซำ) บอกว่าแหม...อ่านแล้วสนุกเหลือเกิน

อ่านคืนเดียวจบเลย แต่ถามจริงๆ เถอะ เรื่องจริงๆ มันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือออกมาจากจินตนาการ

ของนักเขียน (หัวเราะ) ซึ่งดิฉันก็ขำ และตอบไปว่าก็ดูการอ้างอิงท้ายบท บรรณานุกรม แล้วก็ยังรายชื่อ

ผู้ที่เราอ้างอิงทั้งทางปากคำ และหนังสือ โชคดีที่ดิฉันกลัวว่าคนจะคิดอย่างนี้ ก็เลยระวังมากที่จะบันทึก

ที่มาของข้อมูลไว้เยอะแยะไปหมด...”





กว่าจะเป็น “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” เล่มนี้จึงน่าจะต้องมีความยุ่งยากพอสมควร ทั้งในขั้นตอน

การรวบรวมข้อมูลจากปากคำ การค้นคว้าเอกสาร และลงมือเขียน แต่ผู้เขียนบอกว่าความยากและท้าทายของการทำหนังสือเล่มนี้ เป็นความเหนื่อยยากที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานระคนกับความท้าทาย...


“ยากน่ะยาก แต่สนุกเหลือเกิน ที่ดิฉันชอบมากที่ได้มีโอกาสเล่าถึงคุณยายดิฉัน คุณยายชื่อแจ่ม

เป็นคนแก่ที่สวยมาก นุ่งโจงกระเบนไว้ผมทรงกระทุ่มกินหมาก แต่ดูทันสมัยไม่โบราณเลย ทานเสียงค่อยดูเรียบร้อยเป็นผู้ดี มีคารมแบบที่เรียกกันว่ามีดโกนอาบน้ำผึ้งนั่นแหละ ใครโดนเข้าก็กว่าจะรู้ตัวก็เลือดสาดแล้ว ท่านเป็นผู้ที่มีอิทธิพลกับดิฉันมาก เพราะท่านเป็นคนที่มีจินตนาการมากในเรื่องของการเล่านิทาน การแต่งกลอนสด และรักวรรณกรรม เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงมีความสุขมากเหลือเกินที่มีโอกาสได้เขียนถึงคุณยายในหนังสือเล่มนี้

ขณะที่เขียนก็นึกถึงท่านเสมอ ท่านรักดิฉันมาก แต่อาจจะโกรธที่ดิฉันมาเขียนเรื่องครอบครัวให้สาธารณชนอ่าน เพราะท่านถือความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ ดิฉันจึงหวังมากว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์หลายด้านกับคนอ่าน เพื่อให้คุ้มกับการที่ดิฉันกำลังทำ ในสิ่งที่ท่านคงไม่พอใจ ถ้าท่านยังมีชิวิตอยู่

"...ดิฉันคิดว่าการเขียนหนังสือ คือการเดินทางได้เคยพูดเสมอว่า การเขียนงานกวีนิพนธ์เป็น

การเดินทางของการค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง แต่การเขียน ​'ดุจนาวากลางมหาสมุทร' เป็นการเดินทางออกค้นหาสิ่งที่อยู่ภายนอก แต่กลับพบว่าตัวเองเดินทางทั้งออกข้างนอก

และเข้าข้างในพร้อมๆ กัน มีตรอก ซอยเชื่อมเส้นทางทั้งสองให้ถึงกันอยู่ตลอดเวลา การย้อนศึกษา

เรื่องของบรรพบุรุษทำให้รู้สึกว่าพื้นฐานของตัวเองเข้มแข็งขึ้น ทำให้คิดว่าคนเราควรเข้าใจตัวเองและ

รากที่มาของตัวเอง เพื่อที่จะรับสิ่งภายนอกได้อย่างมีสติและมั่นคง ไม่หลงตามสิ่งภายนอกได้ง่ายๆ”


ดุจนาวากลางมหาสมุทร จึงเป็นความอิ่มเต็มทั้งในแง่สาระความรู้และอรรถรสของเรื่องราว ขณะเดียวกันยังแฝงไว้ซึ่งสัจธรรมแห่งชีวิตในวิถีของเวลา ผ่าน 'ชีวิต' ของผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นฝ่าคลื่นลมอยู่กลางมหาสมุทรกว้างใหญ่...


..คงไม่ผิดความจริงเท่าใดนัก หากจะกล่าวว่าชีวิตมนุษย์คือการเดินทางอันแสนยาวไกล และในระหว่างการเดินทางนั้นย่อมเต็มไปด้วยสุข-ทุกข์ หมุนเวียนเปลี่ยนแปรเป็นสัจธรรม


“...ทุกตัวอักษรใน ‘ดุจนาวากลางมหาสมุทร’ ได้บันทึกความจริงข้อนี้ครบถ้วน...”


 

สุวดี จงสถิตย์วัฒนา

กรรมการผู้จัดการบริษัทนานมี บุ๊คส์ จำกัด


“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับการสร้างตัวของชาวจีนโพ้นทะเล ประวัติศาสตร์ของคนจีนโพ้นทะเลเป็นสิ่งที่น่าศึกษา เพราะอะไร ก็เพื่อที่จะให้คนไทยเชื้อสายจีนซึ่งเป็นลูกหลานของเขา ไม่ลืมราก

ของตัวเอง ไม่ลืมความทุกข์ยากของบรรพบุรุษ หรือได้เข้าใจว่ากว่าจะเป็นวันนี้ของเขา มันมีความเป็นมาอย่างไร สิ่งนี้จะทำให้เรามีวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์จะมาจากไหน ถ้าเราไม่ศึกษาความเป็นมาเป็นไปของอดีตและปัจจุบัน เพื่อให้เห็นอนาคต


ดิฉันจึงไม่อยากให้มองว่า การอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นการอ่านหนังสือของตระกูลหวั่งหลี แต่น่าจะคิดว่าหวั่งหลีเป็นหนึ่งในตระกูลของคนจีนที่สร้างตัวและประสบความสำเร็จในเมืองไทย เป็นตำนานของ

ชาวจีนโพ้นทะเลที่น่าศึกษา น่าอ่าน และที่สำคัญ ผู้เขียนเขียนได้น่าอ่าน ภาษาสวย เป็นสำนวนของ

นักวรรณกรรมจริงๆ”


 

จาก : คอลัมน์ ข่าวนักเขียน-ข่าวหนังสือ นิตยสารสกุลไทย ปีที่ 45 ฉบับที่ 2317 มีนาคม 2542

ดู 22 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page