top of page

จำนงศรี รัตนิน คุณหญิงผู้ใฝ่ธรรม




คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ประธานกรรมการการบริหารโรงพยาบาลจักษุรัตนิน ก่อนจะมาเป็นภรรยา

นพ. อุทัย รัตนิน เธอคือ ทายาทหญิงของตระกูล “ล่ำซำ”

ตั้งแต่วัยเด็ก เธอสัมผัสพุทธศาสนาเพียงแค่พิธีกรรมหาได้มีความศรัทธาแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับชีวิตพบแต่ความสุข ท่ามกลางความพอเพียง ไม่ว่าจะเป็น เงินตรา ความรู้ ชื่อเสียง พี่น้อง ญาติมิตร

แม้กระนั้น ยังมีความต้องการอยู่ ต้องการให้ทุกอย่างเป็น อย่างที่มันไม่เป็น

สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นความร้อนใจของทุกคนอยู่แล้ว แต่คุณหญิงพยายามที่จะหาทางดับความร้อนให้ได้

เฝ้าถามตัวเองว่า “ตายแล้วจะจบไหม” ใครจะช่วยเราได้ ไม่มีใครช่วยเราได้ อยู่ที่ตัวเราเอง เงิน หรือใครก็ช่วยเราไม่ได้ ต้องแก้ทุกข์ที่ใจ

เมื่ออายุเข้าสู่วัยสาวใหญ่ ผ่านโลกมา 36 ขวบปี จึงบังเกิดความสนใจใคร่ศึกษาพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ควรพิสูจน์ด้วยตัวเอง จึงไปเรียนพระอภิธรรมอยู่ระยะหนึ่ง แล้วไปฝึกปฏิบัติธรรมสาย "อาจารย์แนบ

มหานีรานนท์”

ช่วงแรกในการลิ้มรสทางธรรม คุณหญิงได้ฝึกอยู่คนเดียว ไม่พบไม่พูดกับใครเลย เพื่อรับรู้ธรรมชาติของกายกับใจของตัวเองให้มากที่สุด

การปฏิบัติธรรมในขณะนั้น ทำด้วยความอยากรู้อยากเข้าใจ มากกว่าศรัทธาจึงทำให้ความสนใจทางโลก มาฉุดพาคุณหญิงออกไปจากโลกแห่งธรรม ทั้งๆ ที่ก้าวเท้าเข้ามาแล้ว

14 ปีที่ขาดหายไปจากการปฏิบัติธรรม ชีวิตได้พานพบความทุกข์มากเข้าไปอีก และเห็นว่า สิ่งที่มีอยู่ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ไม่สามารถแก้ทุกข์ได้ เพราะทุกข์อยู่ที่ใจ จึงหันหน้าเข้าหาการปฏิบัติธรรมใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง

คุณหญิงมุ่งหน้าสู่สวนโมกขพลาราม โดยมีอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง เป็นผู้ฝึกสอนและดูแลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด

ในช่วงแรกจะไปปฏิบัติครั้งละไม่กี่วัน ต่อมาได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง การหายตัวไปทำธุรกิจทางใจอย่างไม่มีกำหนดกลับ จึงไม่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดสำหรับคนใกล้ชิด บางครั้งนานถึง 3 เดือน จะกลับเข้ามากรุงเทพฯ ต่อเมื่อมีเรื่องสำคัญเท่านั้น

การเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ในสายตาคุณหญิง จะต้องไม่คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นที่ไม่ได้ปฏิบัติ แต่จะรู้สึกว่าตัวเองดีกว่าเมื่อเทียบกับสมัยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติต่างหาก

หากว่ามีความคิดว่า ตัวเองดี วิเศษกว่าคนอื่น เหนือคนอื่น ก็แสดงว่าการปฏิบัติไม่ได้ผลเท่าไหร่ เพราะทำให้ยึดติดกับความสำคัญของตัวเองขึ้นไปอีก


“การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์จริงคือ การทำให้เรารู้ทันกิเลสของตัวเอง เห็นธรรมชาติความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ปรากฏในใจของเราเอง”

การปฏิบัติธรรมของคุณหญิง เพื่อให้ใจค่อยๆ เป็นอิสระจากการยึดติด จึงมักจะเดินสายปฏิบัติธรรม

ตามวัดป่า และสำนักต่าง ๆ แม้กระทั้งวัดป่าในอังกฤษ เพราะเห็นว่า “การยึดติดกับสำนักก็เป็นอันตรายเหมือนกัน”

การพาตัวเองเข้าไปอยู่คนเดียวในป่า เป็นการให้โอกาสตัวเองได้อยู่กับธรรมชาติ ทำให้เกิดผลดีต่อตัวเอง


“เป็นการเตือนตัวเองว่านี่ไง การอยู่อย่างไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ เมื่อกลับมาอยู่ในเมืองแล้ว มันก็ช่วยดึงเราให้มีสติ ให้เราอยู่ในความพอใจ ไว้บ้างเหมือนกัน”

สำหรับคุณหญิงแล้ว การหลบไปปฏิบัติธรรมเป็นระยะๆ เปรียบเหมือนไปฝึกเทคนิคว่ายน้ำในสระ แล้วกลับมาโต้คลื่นในทะเล เพื่อวัดความแข็งแรงของตัวเอง หากขาดการฝึก (ใจ) แล้วต้องมาเจอพายุทะเลบ้า ก็ตายได้เหมือนกัน

ในฐานะที่คุณหญิงเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จทางโลกคนหนึ่ง จึงอยากให้นักธุรกิจตั้งคำถามกับตัวเองว่า


“จริง ๆ แล้วเรามีความสุขหรือไม่ มีชีวิตอยู่กับการวางแผนสำหรับพรุ่งนี้และวันต่อๆ ไป เรามีชีวิตวันต่อวันจริงหรือไม่ หรือมีชีวิตอยู่กับการคิดวางแผนในอนาคตเท่านั้น หรือเราตกอยู่ในความคิดอดีตหรือเปล่า คนนี้เคยทำกับเราอย่างนี้ ต้องทำคืนอย่างนั้น ถามจริงๆ คืนนี้หลับอย่างสบายหรือไม่”




 

จาก: คอลัมน์ Cover Story หนังสือพิมพ์ Weekend ปีที่ 2 ฉบับที่ 1179/100 วันเสาร์ – อาทิตย์ ที่ 20 – 21 ส.ค. 2537

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page