top of page

สุขภาพและชีวิต

สัมภาษณ์พิเศษ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


จากงานประชุมวิชาการ

ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย

ในโอกาส 9 ปี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

10-12 มิถุนายน 2558

ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ อิมแพค เมืองทองธานี


Photo by Khunying Chamnongsri Hanchanlash



ทำไมถึงเขียนหนังสือแสดงเจตนาในวาระท้ายของชีวิตนี้ขึ้นมา


เพราะต้องการให้ช่วงท้ายชีวิตของเราเป็นไปอย่างสงบ และมีความวิตกกังวลน้อยที่สุด และอีกเรื่องหนึ่งคือ เวลาเขียนเราให้ลูกเป็นพยานทุกคน เหมือนกับว่าเราไม่ฝากภาระไว้กับลูกเมื่อถึงเวลานั้น ให้ความรับผิดชอบอยู่ที่เราเอง


ในแง่ของความกตัญญู คุณหญิงมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร


ป้าศรีพูดอยู่เสมอว่าบางทีคำว่ากตัญญู มันมาแทนอะไรเกี่ยวกับความต้องการส่วนตัวของลูกหรือญาติ เช่น ทนไม่ได้ที่จะให้แม่จากไป คำว่า 'ทนไม่ได้' ใครทนไม่ได้ ลูกทนไม่ได้ จะบอกว่ามันคือความกตัญญูหรือไม่ จริงๆ แล้วมันเห็นกับตัวฉันมากกว่าความกตัญญูต่อแม่ หรือฉันจะบาปไหม กลัวใครบาป กลัวตัวเองบาปใช่ไหม ไม่ได้มองที่ตัวแม่ และสุดท้ายก็คือกลัวว่าคนอื่นจะว่ายังไง ที่เราปล่อยแม่ไปแบบนั้น


ป้าอยากให้ลูกหลานได้มองเข้าไปในใจตัวเอง เมื่อแม่ถึงช่วงสุดท้ายแล้ว แล้วแม่แสดงเจตนาแบบนี้ เขาจะได้เห็นว่าแม่ต้องการแบบนี้ สิ่งที่เขาเกรงอยู่ 3 ข้อนั้นจะได้ไม่ต้องคิด ขอบคุณนะจ๊ะ ถ้าลูกทำแบบนี้แม่จะขอบคุณมากเลย นี่คือความกตัญญู


อยากให้คุณหญิงฝากข้อคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ความสุขที่แท้จริงของชีวิตว่าเป็นอย่างไร


ป้ามองว่ากระบวนการของการมีชีวิตมันมีจุดเกิด ดำเนินไป แล้วก็มีจุดจบ ป้าเห็นว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ใช่เรียนรู้ที่จะเอา แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่าง 'เป็นสุข' ได้กับตัวเองสำคัญที่สุด คนรอบข้าง สังคม โลก และแน่นอนชีวิตมนุษย์ ปัญหามันมาเป็นคลื่นๆ เรามองมันยังไง เราเรียนรู้จากมันยังไง เรารับมือกับมันยังไง การรับมือคือการยอมรับและการทำดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ


พอมาถึงความตายมันก็เรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องของการเรียนรู้และยอมรับ หรือรับมือกับมัน ที่ดีที่สุดคือการยอมรับกับมันนั่นแหละ ในฐานะชาวพุทธคือ 'จิตสุดท้าย' เป็นจิตที่สำคัญที่สุด เพราะมันจะมีเหตุ

ที่จะมีผลตามกันมา ป้าคิดว่า มันไม่ใช่ทำตอนตาย แต่ต้องทำทุกวันไปจนถึงจุดนั้น เมื่อถึงจุดนั้นการยอมรับด้วยจิตที่เป็นธรรมชาติ คงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด


 

ติดตามเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ :

 

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page