top of page

The Iron Lady สนทนาภาษาหนัง

(โครงการ ภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ)


ภาพจากIMDB


"Watch your thoughts, for they become words. Watch your words, for they become actions. Watch your actions, for they become habits. Watch your habits, for they become your character. And watch your character, for it becomes your destiny. What we think, we become. My father always said that. And I think I am fine."

"ระวังความคิด เพราะมันจะกลายเป็นวาจา ระวังวาจาเพราะมันจะกลายเป็นการกระทำ ระวังการกระทำเพราะมันจะกลายเป็นนิสัย ระวังนิสัย เพราะมันจะกลายเป็นสันดาน ระวังสันดานเพราะมันจะกำหนดชะตาชีวิต สิ่งที่เราคิดจะกำหนดสิ่งที่เราเป็น พ่อของฉันพูดแบบนี้บ่อยๆ และฉันคิดว่าฉันไปได้ดี"

มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ใน The Iron Lady


บันทึกสนทนาสกัดบทเรียนจากภาพยนตร์ เรื่อง The Iron Lady

วันที่ 12 กันยายน 2561

ในโครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ โดยหอภาพยนตร์ ร่วมกับ ศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ บริษัทชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

ณ ห้อง 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ผู้ร่วมสนทนา คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ และ นายแพทย์ชาวิท ตันวีระชัยสกุล ดำเนินรายการโดย สัณห์ชัย โชติรสเศรณี


เรื่องย่อ : ภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวประวัติของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "หญิงเหล็ก" หนังเล่าถึงช่วงบั้นปลายของชีวิต ที่เธอหวนคิดถึงชีวิตและอาชีพการงานของเธอ ในขณะที่เธอเตรียมจะทิ้งสมบัติของเดนิส แทตเชอร์สามี

ผู้ล่วงลับ แทตเชอร์ก้าวข้ามทั้งขอบเขตเรื่องเพศที่เป็นผู้หญิงและทะลุเพดานชนชั้นในฐานะลูกสาวเจ้าของร้านขายของชำ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่เป็นที่นิยมสูงสุด ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานถึง 11 ปี เธอดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวตามความเชื่อมั่นของตนเอง ที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้อังกฤษ นำไปสู่ความขัดแย้งมากมาย จนกระทั่งความนิยมลดลงและส่งผลให้เธอต้องลาออกจากตำแหน่งในที่สุด


ในการสนทนา หลังชมภาพยนตร์ คุณหญิงจำนงศรี ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับภพยนตร์เรื่องนี้ไว้ว่า


"ประการแรกเลยนะคะ ตอนที่หนังออกมาฉาย มันเป็นที่ตำหนิกันเยอะมาก เพราะว่าทำในขณะที่ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ยังมีชีวิตอยู่แล้วก็อยู่ในสภาพอัลไซเมอร์ ซึ่งคิดว่าในแง่ของจริยธรรม มันไม่ถูกต้อง เพราะเขายังมีชีวิตอยู่ ลูกเขา 2 คนไม่ยอมดูหนังเรื่องนี้ มันไม่ถูกมากๆ เลย แล้วตัวเองก็ไม่ได้ดู เพิ่งจะมาดูเมื่อคืนนี้เอง แล้วก็เมื่อเช้านี้มาดูอีกรอบเป็นครั้งที่ 2


ไม่มีใครจะปฏิเสธได้เลยว่า เมอรีล สตรีป (Meryl Streep ผู้แสดงเป็น แทตเชอร์ ) เก่งมาก ได้

ออสการ์ครั้งที่สาม ต้องชมคนแต่งหน้าเพราะว่าเขาทำ Aging ได้ดี ในแง่ของหนังนะ แล้วก็ผู้หญิงเป็น

Director อันที่จริงแล้วตอนที่หนังออกมา ไม่ค่อยจะได้รับคำชมเท่าไหร่ เท่าที่อ่านรีวิวยังไม่เห็นผู้หญิงคนไหนชอบเรื่องนี้ แต่ในแง่ของภาพยนตร์ ในส่วนการแสดงยกให้ รู้สึกจะว่ากันว่าเป็นสูงสุดของ เมอรีล

สตรีปด้วยซ้ำ


มีอีกเรื่องหนึ่งที่เปิดประเด็นคือ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นี่เป็นที่เกลียดชังถึงขนาดนี้เชียวเหรอในความเป็นจริง คิดว่าระหว่างนั้นเขาเป็นที่เกลียดมากของสหภาพแรงงาน เพราะว่าเขาจัดการจริงๆ แล้วมันก็มีการอะไรต่ออะไรอย่างนั้นจริงๆ ...


แทตเชอร์ นี่ถ้าเราพูดตรงๆ ถ้าเวลานี้ถ้าเราดูทรัมป์ มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่มีความใกล้เคียงกัน แต่ แทตเชอร์ ไม่ได้เป็นอย่างทรัมป์ นะ เพราะว่าเธอสมองดีมากเป็นผู้จัดการชั้นเยี่ยม เป็นนักการเมืองชั้นเยี่ยม สิ่งที่เหมือนกันมากก็คือ UK First ส่วนของ ทรัมป์ ก็ American First ... เพราะฉะนั้นแล้วช่วง ฟอล์กแลนด์ (Falkland) ที่คนตายเยอะเพื่อเกาะเล็ก ๆ ที่ไม่มีความหมายเลย แต่ แทตเชอร์ แสดงความเป็น Iron Lady อย่างยิ่งเลยในเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ามองในเรื่องของมนุษยธรรมแล้ว ตัวเองไม่เห็นด้วยเลย เพราะว่าคนตายเยอะ และตายโดยไม่มีความจำเป็น แต่อันนี้ถ้ามองในแง่ของ Britain First มันมองได้ลึก แล้วก็ผู้หญิงคนนี้ หลายๆ คนมองเธอว่าเป็นตัวที่ยืนหยัดในเรื่องของ Britain ...


...ในสายตาตัวเองมองว่า ความเป็นผู้หญิงของผู้กำกับมีผลกับงานชิ้นนี้ ...เขาอาจจะมาสนใจในเรื่องที่เห็นได้ชัดคือปัญหาของการเสียอำนาจที่ตนเองเคยมี แล้วจิตมันยึดอยู่กับอำนาจเหล่านั้น อันนี้อันหนึ่ง อันที่สองที่เห็นได้ชัดคือ ความโดดเดี่ยวของผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้นในหนังจะเห็นหลายตอนเลยที่เธออยู่คนเดียว แล้วเธอไล่คนอื่นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เข้า Westminster ตอนที่ได้เป็นนายกครั้งแรก ลูกวิ่งตามรถเ ธอขับรถแล้วก็ไป มันมาผูกกับตอนปลายที่เธอพยายามติดต่อมาร์คลูกชายที่อยู่ South Africa แต่เขาเสีไปแล้ว อันนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด่นชัด....


อีกอันที่ค่อนข้างจะชัดมากในหนังคือ ความกลัว กลัวสติที่จะเสีย กลัวเป็นคนบ้า อันนี้เป็นความกลัวมาก แทตเชอร์ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์ตอนอายุ 75 แล้วเธอตายตอนอายุ 88 สำหรับป้ามันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวยิ่งกว่าใกล้ เพราะตัวเองอายุ 79 แก่กว่า แทตเชอร์ ตอนที่ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์ 4 ปี แม้คุณหมอจะบอกว่าตราบใดที่เรายังใช้สมอง เรายังติดต่อกัน ยังพูดอะไรแบบนี้ไม่ต้องกลัว หรือกลัวน้อย ...ตอบตรง ๆ เลย ป้ากลัว ถึงแม้คุณหมอจะชวนพูดกี่หนก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เป็นนะ...

...ประการที่สองคือที่รู้สึกมากก็คือ ความทรงจำที่มันมาหลอมเป็นภาพของสามี ถึงแม้ว่าตัวเองจะรู้ว่าเป็นการคิดไปเอง แต่มันก็บ่งบอกถึงการยึดอะไรเอาไว้เพื่อตัวเองจะได้ไม่โดดเดี่ยว ประการที่สามที่เห็นได้ชัดคือ คนแก่คนไทยที่ไหนก็เป็น เมื่อในที่สุดลูกก็โต แล้วเขาก็จะเป็นตัวของเขาเอง แล้วก็จะมีครอบครัวของเขา แล้วเขาก็จะไม่ใช่ของเราแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นภาวะของผู้สูงอายุที่มันเห็นในที่นี้ ไม่ว่าจะในอังกฤษ หรือที่ไหนก็ตาม แม้กระทั่งประเทศไทยของเราเองก็ตาม ตัวเองก็มีลูก 4 คน หลานก็อายุ 25 แล้วอะไรแล้ว เราจะเห็นว่าเขามีภาระหน้าที่ของครอบครัวเขาเอง แล้วก็ความสนใจของชีวิตเขามันก็โดยธรรมชาติ มันก็จะเป็นความสนใจครอบครัวของเขาเป็นส่วนใหญ่...


...ดูหนังเรื่องนี้แล้วมันก็เป็นการเตือนสติเราเหมือนกัน ว่ามันเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ในช่วงที่เรา active มาก ๆ เราก็เป็นศูนย์กลางของอะไรหลาย ๆ และเราก็เอาครอบครัวเราและตัวเราเป็นศูนย์กลาง แต่มันถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องเข้าใจลูกหลานว่า โดยธรรมชาติศูนย์กลางก็ต้องเป็นครอบครัวของเขา คนที่เขาแต่งงานกัน คนที่เขาจะดูแลกันเมื่อยามแก่ของเขา และการดูแลลูก อันนี้มันเป็นธรรมชาติ


...แล้ว แทตเชอร์ เองถ้าในหนังเรื่องนี้นะ ในความเป็นจริงเป็นยังไงไม่ทราบ เป็นอัลไซเมอร์จะมาถึง

จุดนี้ได้หรือ ในส่วนของสามี ซึ่งถ้าเห็นตรงตลอดแล้วก็ “Shall we dance?” อันนี้คือการเต้นรำสเตปเข้ากันมาตั้งแต่สาวจนแก่ ไม่ว่าจะเวลาที่ถูกเป็นนายกที่ไม่ได้รับความนิยมที่สุด หรือในขณะที่รับชัยชนะสูงสุด คนที่อยู่ข้าง ๆ คือ เดนิส แทตเชอร์ (Denis Thatcher) เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่เป็นอัลไซเมอร์มาถึงระดับนั้นจะมีความสามารถใหม่ที่จะบอกว่า โอเค พอละ การยึดติดของฉันมันไม่ใช่แล้ว มันคือการไม่อยู่กับความเป็นจริง ดังนั้นคำถามข้อแรกคือ อัลไซเมอร์ระดับเขาจะมีความสามารถที่จะทำได้ไหม...


อันที่สองคือ มันเป็นการทำหนัง แต่น่าสนใจตอนล้างถ้วยชา วันที่ เดนิช ขอแทตเชอร์แต่งงาน

เธอบอกว่า เธอไม่มีวันจะรักที่จะล้างแก้วชา เธอบอกว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงประเภทนั้น ไม่ใช่แม่บ้าน ไม่ใช่เป็นอะไรแบบนั้น เพราะงั้นมันติดอยู่กับสิ่งที่เราเรียกว่า ambition คือความสามารถฉันสูง และฉันจะไม่ยุ่งกับงานพวกนี้ แต่ในฉากสุดท้ายเธอบอกว่า เธอล้างถ้วยชาเอง แล้วก็ดูหน้าในขณะที่ล้างถ้วยชา มันเป็นหน้าที่เบิกบาน...


เรื่องที่สามที่น่าสนใจสำหรับป้า คือในยุคที่ป้าเป็นสาวหรือกลางคนก็ตาม เราทำผมสวยมาก คือสมัยนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว แต่สมัยนั้นเป็น ต้องไปร้านทำผมทุกอาทิตย์ ต้องเซ็ตผมแบบแทตเชอร์ เพราะฉะนั้น ตอนที่ลูกสาวถามว่าวันนี้อยากให้ช่างทำผมมาทำผมให้ไหม การไม่เรียกช่างทำผม มันเหมือนการตัดปล่อยความทะเยอทะยานต่างๆ การยึดติดต่างๆ มาสู่ธรรมชาติของความเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง หรือเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง มันเหมือนฉากสุดท้ายเลยตอนแทตเชอร์ เดินไปที่กระไดและมองลงไป แล้วเธอก็เดินเข้ามาเหมือนกับ Say Good Bye กับทุกๆ อย่างที่ออกไปจากชีวิต....

อีกอันหนึ่งที่รู้สึกว่าน่าสนใจคือ เรื่อง การคิดกับความรู้สึก แทตเชอร์จะดูถูกคนที่ใช้ความรู้สึก เธอจะให้คะแนนกับคนที่ใช้ความคิด เพราะฉะนั้นแล้วเธอก็จะบ่นถึงพวกนี้ใช้แต่ความรู้สึกไม่ได้ใช้ความคิด แต่จริงๆ แล้วต้องมองว่า หนังทั้งเรื่องตัวละครเอกจะวนเวียนกับความรู้สึกที่เกิดจากการคิด หรือการคิดที่เกิดจากความรู้สึก จริง ๆ แล้วเธออาจจะโดยไม่รู้ตัวว่า เธอไปแยกมันออกจากกัน แต่จริง ๆ แล้วมันเชื่อมโยงกันอย่างยิ่ง แล้วตัวที่มีพลังมากกว่าจริง ๆ แล้วคือ ความรู้สึก นะ...


จริง ๆ ...ความคิดที่ปราศจากความรู้สึกมันจะไม่ค่อยกลายเป็นความทรงจำที่ผุดขึ้นมา มันต้องความคิดที่โยงกับความรู้สึก หรือความรู้สึกล้วน ๆ มันถึงจะฝังลึกแล้วมันถึงมีผลกับเราจริง ๆ เพราะงั้นอันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะว่าในที่สุดทั้งเรื่องมันไม่ใช่ในเรื่องของความคิดสักเท่าไหร่ ในยามแก่ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกและความทรงจำมากกว่า มันก็น่าสนใจเพราะว่าผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าคุณมีสมาธิ และฝึกมันพอ คุณเริ่มเห็นความโยงใยระหว่างความคิด ความรู้สึก และความทรงจำที่มันเป็นพวงกันมา เพราะงั้นมันฟันออกจากกันไม่ได้ มันเป็นกระบวนการของมันเองที่เกิดขึ้นแล้วก็หายไป แล้วก็เปลี่ยนไปตลอดเวลา อันนี้น่าสนใจนะคะ


...ดิฉันมีลูกสาวอยู่คนหนึ่งที่เขาสมัยใหม่มาก เขาขี่บิ๊กไบค์ เวลาไปไหนเขาขี่บิ๊กไบค์ เขาอายุ 50 กว่าขี่บิ๊กไบค์จากกรุงเทพฯขึ้นเชียงใหม่เป็นเรื่องเล็ก แล้วก็ขึ้นไปเป็นแกงค์ผู้ชายแล้วเขาผู้หญิงคนเดียว วันหนึ่งดิฉันซื้อตั๋วให้เขาไปปฏิบัติธรรมที่ฟินแลนด์ แล้วแม่ซื้อตั๋วนี้แล้วมันเอาเงินคืนไม่ได้ Sorry เขาไปด้วยความจำใจ เขาอยู่ 3 วัน บังเอิญพระองค์นี้เป็นนักคิดและก็เป็นอเมริกันแล้วก็ค่อนข้างจะดุมาก เขาไปอยู่ 3 วันแล้วเขากลับมา เราก็ถามว่าไงลูก เบื่อมากไหม อันนี้เป็นครั้งแรกที่เขาไป เขาบอกว่า “โหแม่ สนุก มันเลย” เราก็ถามว่าสนุกยังไงละลูก เราก็ตกใจนะ เราคิดว่ากลับมาเขาต้องมาด่าเราแหลกลาน สนุกยังไงลูก บังเอิญเขาไปเจอธรรมชาติที่สมาธิมันมาง่าย วันแรกมันนิ่งมาก ภายในวันแรกเลยเขาเห็นละคร ความคิด ความรู้สึก ความทรงจำมันเล่นละครให้น้องดู โอ้โหน้องไม่เคยรู้เลยว่ามันมีละครที่เล่นอยู่ในนี้ ความรู้สึกเขาเห็นมันแสดงนี่แหละค่ะ คือการปฏิบัติธรรม


เพราะงั้นแล้ว ในส่วนของ แทตเชอร์ ในเรื่องนี้ค่อนข้างจะคิดว่า เขาก็เห็นธรรมชาติของการเกี่ยวโยงกันของความทรงจำ ความรู้สึก เอาภาษาไทยง่าย ๆ คือ รู้สึกนึกคิด Though Memory Feeling ที่มาด้วยกันน่าสนใจมากเลย"


ชมบันทึกการสนทนาฉบับเต็มได้ที่


 

ดู 70 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page