จากงานเสวนาเรื่อง “ทรรศนะใหม่ต่อการเจ็บป่วย
ความทุกข์ และการตายในสังคมไทย”
ช่วง Identity & Suffering
ผู้อภิปราย – การเจ็บป่วยและความทุกข์
ในฐานะคุณค่าและความหมายของชีวิต
- คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ และ
ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์
วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2559
จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา
ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี
Photo by Khunying Chamnongsri Hanchanlash
ช่วยเปิดมุมมองเกี่ยวกับคุณค่า และความหมายของชีวิตให้มากขึ้น
ในการนำเสนอของนักศึกษาเมื่อกี้นี้มันก็ตอบโจทย์แล้วนะคะ ว่าความเจ็บป่วยกับความทุกข์ทรมานมันมีคุณค่ากับความหมายในชีวิตอย่างไร นักศึกษาที่อายุเพียงแค่นี้หันมาสนใจและทำวิจัยเรื่องนี้ เพราะว่า เห็นความเจ็บป่วย และความทุกข์ทรมาน
ป้ามาในเวทีที่ไม่คุ้นอยู่นิดหนึ่งนะคะ คือป้าทำเรื่องคุณภาพความแก่ ไม่ได้ทำเรื่องเด็ก แต่เห็นได้ชัดสิ่งที่หนูนำเสนอชัดมากเลยว่า ไม่มีมนุษย์ ไม่ว่าที่ไหน ใคร อายุเท่าไหร่ วัยไหน ที่มันไม่เกี่ยวโยงกันทั้งหมด เราเกิดมาก็อยู่กับความสัมพันธ์ ต้องมีคนอุ้ม ทุกข์เพราะหิว ทุกข์เพราะหนาว ก็ได้จุนเจือด้วยความสัมพันธ์ จนกระทั่งสุดท้ายเลยที่จะจาก
เราก็กำลังพูดอยู่ถึงระบบ ถึงการดูแล ถึงความสัมพันธ์อีกนั่นแหละ เพราะงั้นความสัมพันธ์มันก็คือสังคม เวลาเราพูดถึงคุณภาพความตาย เราพูดถึงอะไรบ้าง กายภาพ เราพูดถึงสังคมก็หมายถึงความสัมพันธ์รอบข้างนั่นแหละ จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก การตีความต่างๆ เหนือกว่านั้นไปอีกก็คือที่เรียกกันว่าจิตวิญญาณ มันเรื่องของการยอมรับ การเข้าถึงความสงบ ที่ก็สืบเนื่องจากการยอมรับนั่นแหละ
ด้านกายภาพเราต้องอาศัยแพทย์ คนดูแล อาศัยญาติ อาศัยอะไรก็ตาม แล้วถัดมาอีกเรื่องคือ เรื่องสังคมหรือความสัมพันธ์ อันนี้มันขึ้นอยู่กับตัวเอง กับผู้ที่อยู่รอบข้าง ไปอีกจุดหนึ่งจุดของจิตใจ อารมณ์ อันนี้มันก็โยงกลับมาถึงทั้งกายภาพ และเรื่องของสังคมความสัมพันธ์ พอไปถึงในเรื่องที่ไม่รู้จะใช้ภาษาไทยว่ายังไงใช้คำว่า จิตวิญญาณ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าใช่ แต่เป็นอะไรที่เหนือกว่าแค่อารมณ์แล้ว นั่นคือเกิดจากการเรียนรู้ภายในตัวเอง ซึ่งจริงๆ มาถึงจุดนั้นได้บางทีก็ต้องอาศัยสังคมที่แวดล้อมเหมือนกัน ในเรื่องของ ถ้าเราพูดถึงธรรมะ หรือศาสนาต่างๆ ก็อาศัยการศึกษา การเข้าใจ การเรียนรู้ การปฏิบัติข้างในที่มาจากการ support จากสังคมนั่นแหละ แต่เป็นสังคมในอีกระดับหนึ่ง ในระดับจิตวิญญาณ
คราวนี้กลับมาพูดถึงประสบการณ์ของตัวเอง ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ตอนนี้อายุ 77 แล้ว ในขณะที่เสนองานอยู่ อันที่จริงก่อนด้วยซ้ำไปตอนที่ดูวิดีโอ นึกขึ้นมาถึงว่าเราเกิดความเข้าใจอะไรอีกอย่างหนึ่งแล้ว จากวันนี้ คือโยงไปถึงความทรงจำของความเจ็บปวดมากๆ สมัยหนึ่ง เมื่ออายุสัก 10 ขวบได้ ตอนนั้นเราอยู่กับความเจ็บปวดนั้นอย่างไร มันมีความรู้สึกลึกๆ อยู่ตลอดเวลา ในความเป็นเด็กว่า เดี๋ยวมันก็ต้องจบ เราไม่ได้นึกถึงคนโน้นหรือคนนี้ หรือฉันมีสิทธิ์ที่จะได้รับอะไร มันไม่มีตรงนั้นเลย มันไม่มี expectation ไม่มีความคาดหวังอะไรเลย มันอยู่กับความเจ็บปวดนั้นว่า ประเดี๋ยวมันก็ต้องจบ จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง รู้ว่านี่เจ็บปวดและมันจะต้องจบ แต่เราไม่ได้มีความคาดหมายว่า แล้วมันจะจบเมื่อไหร่ เมื่อไหร่มันจะเสร็จ เขาจะช่วยฉันทำอะไรได้บ้าง มันไม่มีตรงนั้นเลย
จากประสบการณ์อันนั้นคิดว่า มันเป็นไปได้ไหมที่ว่า suffering ของเด็ก มันอาจจะไม่ซับซ้อนเท่าของผู้ใหญ่อย่างที่หนูพูดเมื่อกี้ จนกระทั่งแม่บอกว่ามะเร็ง มะเร็งคืออะไร อะไรคือความตาย อันนั้นมันชักยุ่งละ แต่ถ้าเป็นความเจ็บ แค่ความเจ็บ แต่มันมีปัญญาของมันเอง ป้าไม่ทราบว่าเด็กทุกคนมีอันนี้ไหม แต่ค่อนข้างจะเชื่อว่าเขามี เพราะเขาไม่สับสนเรื่องของข้างหน้า ข้างหลัง เรื่องอะไรต่ออะไร ที่มันมาปนมันก็จะมีความใสของจิต ที่รู้ว่านี่คือเจ็บ และเจ็บขณะนี้ แล้วธรรมชาติของทุกสิ่งอย่างที่เขาสัมผัสมาในชีวิต เขาอาจจะไม่ได้เอามาคิดในเชิงปัญญา แต่มันมีปัญญาโดยธรรมชาติของจิตมนุษย์เอง ที่รู้ว่า ไม่มีอะไรที่จะไม่จบ มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
ตั้งแต่เด็กมา เด็กทุกคนรู้ว่า หิว กิน แล้วก็อิ่ม อิ่มแล้วก็หิวใหม่ อันนี้สันนิษฐานเท่านั้นนะคะ ไม่บังอาจบอกว่าทราบ เพราะฉะนั้น ถ้าบางทีเรากลับมาถึงความธรรมชาติของแค่สัมผัส รู้สึก โดยไม่ต้องนึกและคิดมากนักนั้นนะ sufferingมันอาจจะไม่ซับซ้อน และความไม่ซับซ้อนมันไม่หนักด้วยความอยาก ด้วยความกลัว ด้วยความฉันมีความสำคัญ ที่คนจะต้องมาทำอะไรต่ออะไรให้ฉัน อันนั้นเป็นอะไรที่ sufferนะคะที่ทุกข์นะ ฉันมีความสำคัญ ฉันทำให้โลกมาถึงขณะนี้แล้ว ฉันเป็นคนดีอย่างนี้แล้ว ทำไมฉันต้องมาทุกข์อย่างนี้ อันนี้ป้าว่ามันเป็นส่วนของทุกข์ที่เด็กคงจะไม่มี
ขอบคุณมากสำหรับการเสนอครั้งนี้ แม้กระทั่ง 77 ขวบแล้วยังเรียนรู้เลย
ในสังคมไทยมีปัจจัยอะไรที่ทำให้การตายดีเกิดขึ้นยากกว่าในสังคมอื่น ๆ
ตะกี้ฟังคำถามนึกว่า จะถามว่ามีอะไรในสังคมไทยที่ทำให้เกิดง่าย แต่อันนี้มาพูดถึงเกิดยาก
มันมีสิ่งที่ดีในสังคมไทย แต่ทำให้การตายดีเกิดยาก เห็นอยู่ตลอดเวลาในการทำงาน ป้าศรีทำงานในลักษณะที่ไม่เป็นทางการอะไรเลย ไม่เป็นนักวิชาการ ไม่เป็นอะไรสักอย่าง ทำจากใจอย่างเดียวในฐานะนักเขียน มันก็มีแต่ใจ ความรู้อะไรก็ไม่ได้มีมากมาย แต่จากการสังเกตในการทำงาน เพราะว่าเราจะมี Public Facebook ทำให้คนโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาเยอะ โดยเฉพาะคนที่แม่กำลังจะตาย ญาติกำลังจะตายอะไรอย่างนี้ จะโทรมาถึงป้า ป้าจะพบว่าสิ่งที่มันยากที่ทำให้สังคมไทยมันยาก มันมีอยู่อันหนึ่งคือสิ่งที่ดีของเราเองนั่นคือ ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นเหลือเกิน ปล่อยไม่ได้ ถ้าเขาไปฉันตายแน่ ถ้าแม่ไม่อยู่หนูอยู่ไม่ได้ มันกลับกลายเป็นทำให้แม่นี่ตายยาก หรือใครก็ตามที่ตัวเองรักมากๆ ตายยาก
ถ้าถามนะว่าอันนี้นะพบ แต่จริงๆ แล้วสังคมไทยเรามีสิ่งที่ดีมากๆ เหมือนกันที่จะมาตอบโจทย์อันนี้ได้ อันนี้ก็ใช้อยู่ แล้วก็พบอยู่ อันที่จริงคนที่ปรึกษาป้าศรีส่วนใหญ่จนในที่สุดก็พาคนไข้กลับบ้าน แล้วก็จะปรึกษามาในระหว่างที่อยู่บ้านด้วย มันก็น่าสนใจเพราะว่าเรามีทุนเดิมของเรา คือ ในพระพุทธศาสนา มีเรื่องของอัตตาที่ยึดและทำให้เกิดทุกข์ เราจะให้เขาสังเกตสิ่งนี้ในตัวเขา
แล้วก็อีกสิ่งหนึ่งก็คือเรื่องของกตัญญู เรื่องของกตัญญูมันถูกบิดไป ทำให้คนตายยากขึ้นและทรมานขึ้น ก็ตรงที่ความผูกพันอันเหนียวแน่นอันนี้ 1)เราจะเห็นความกตัญญูในรูปแบบของ ฉันปล่อยเขาไปไม่ได้ เพราะฉันขาดเขาไม่ได้ มันรักกันเหลือเกินอยู่กันมาทั้งชีวิตอันนี้อันหนึ่ง มันก็จะทำให้ผูกและยื้อสารพัด แล้วตัวคนยื้อเองก็ทุกข์ ตัวคนถูกยื้อก็ทุกข์ ป้าไม่รู้ว่ามันเกิดอยู่กับเด็กแค่ไหน แต่ป้ารู้ว่ามันเกิดกับคนแก่แค่ไหน 2) ความกตัญญูที่บอกว่าอันที่จริงอันนี้มันกตัญญูจริงหรือเปล่า ท่านเป็นบุพพการี เราเป็นลูกจะบาปไหม ถ้าไม่ทำทุกอย่างจนหยดสุดท้ายเลยให้ท่าน อันนี้เราตั้งคำถามกลับเขาได้เลยนะคะ แล้วมันจะหลุดว่า นี่มันกตัญญู หรือเห็นแก่ตัว ใครกลัวบาป แล้วคุณไม่กลัวเหรอว่าแม่คุณ พ่อคุณที่ทรมานอย่างมากมาย เขาจะไปดี หรือไปไม่ดี กตัญญูมันอยู่ตรงไหนกันแน่ อันนี้เราก็เอาของดีของเรา ทุนเดิมที่ดีของเรา มาตั้งคำถาม
อีกส่วนหนึ่งของเราที่เป็นสังคมไทย มีอันที่ 3) ที่ความกตัญญูออกมาในรูปแบบของสังคม สังคมตีความหมายของกตัญญูอย่างไร สังคมมองอะไรคือความกตัญญู คุณไม่ทำอย่างถึงที่สุดที่จะทำให้แม่คุณมีชีวิตอยู่หรือ เพราะฉะนั้นแล้วถ้าหนูไม่ยื้อจนถึงที่สุดสังคมจะมองว่าหนูไม่กตัญญู
อันนี้อาจารย์คงจะทำให้เป็นระบบมากกว่านักเขียนที่ค่อนข้างจะอ่อนด้านทฤษฎี อันนี้เป็นสิ่งที่ทั้งบวกและทั้งลบของสังคมไทย ที่ถ้าเราเอามาใช้ให้ถูก มันจะเกิดการเรียนรู้ และมันจะเปลี่ยนบุคคลคนนั้นไปได้เยอะเลย เขาจะเริ่มตั้งคำถามตัวเองว่า สิ่งที่ฉันเคยรับ เคยเรียน เคยเชื่อมาจากสังคม มาจากสิ่งที่พูดๆ กันมา สอนๆ กันมา จริงๆ แล้วถ้าฉันไม่เข้าใจ เข้าไปมองข้างในจริงๆ ว่าการเสียสละที่แท้จริงคือการวางอัตตา ต้องวางฉันลงเสียก่อน ฉันในรูปแบบว่า ฉันเสียไม่ได้ ฉันจะบาปหรือเปล่า นั่นคือความกลัวของตัวตนของตัวเอง หรือฉันผิดขนบกตัญญูของสังคมรึเปล่า
พอเขาตั้งคำถามเหล่านี้ได้โดยสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ที่เขาต้องดูแลทุกวัน ทุกวินาที โอ้โหมันเป็นการเรียนรู้อย่างมหาศาลเลยค่ะ สำหรับบุคคลคนนี้ และเวลาปัจเจกเปลี่ยน คนรอบข้างเปลี่ยนตาม และสังคมเปลี่ยนตาม
ติดตามเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ :
Comments