top of page

ในวันเวลาแห่งการค้นหาตัวตน

วรัดดา รัตนิน

เรื่อง มณีรัตนา





สาวน้อยหน้าอ่อนใส ผู้มีรสนิยมการแต่งกายอันบ่งบอกถึงความเป็น ไทย ด้วยเสื้อตัวหวานกับผ้าซิ่นลายสวยที่เจ้าตัวสวมใส่ออกมาต้อนรับคณะ "สกุลไทย" ในวันให้สัมภาษณ์


สาวสวยคนนี้เป็นสาวคนเดียวกันกับที่เคยขึ้นไปอ่านบทกวีด้วยท่วงท่า ลีลา และอารมณ์อันเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ได้ชมได้ฟังมาครั้งหนึ่งแล้วในรอบซ้อมใหญ่งาน "เบิกหล้าฟ้าใหม่" และครั้งล่าสุดก็งาน "ดอกไม้บานบนลานกวี" ซึ่ง "สกุลไทย" จัดขึ้นที่ศูนย์สังคีตศิลป์เมื่อไม่นานมานี่เองเธอชื่อ วรัดดา รัตนิน (น้ำผึ้ง) เป็นทายาทสาวสวยของศาสตราจารย์นายแพทย์อุทัยและ คุณหญิงจำนงครี รัตนิน


"ผึ้งจบชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนจิตรลดา ก็ไปเรียนต่อไฮสกูลที่อเมริกา เสร็จแล้วเลือกเรียนทางด้านวิชาฟิสิกส์ค่ะเพราะชอบฟิสิกส์มาก แล้วก็ค้นพบตัวเองว่าไม่เหมาะกับวิชาพิสิกส์ก็เลย (หัวเราะ) เปลี่ยนมาเรียนทางคณิตศาสตร์ จนจบปริญญาตรี ซึ่งย้ายไปจบที่อังกฤษ พอเรียนจบก็เลยกลับเมืองไทยเพิ่งมาเมื่อสักสองเดือนนี่เองค่ะ"


ช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนอกเป็นอย่างไรบ้างคะ


"ไปตั้งแต่อายุ 16 ไปอยู่ทั้งอเมริกาและอังกฤษรวมแล้ว 8 ปี ตอนไปใหม่ๆ นั้น เหงามากค่ะ ไม่ชินกับการอยู่คนเดียว ตอนอยู่เมืองไทยเคยอยู่ในครอบครัวใหญ่ๆ ที่ใกล้ชิดกัน ก็อบอุ่นมาก เมื่อต้องไปอยู่

ต่างบ้านต่างเมือง ไม่ได้รู้จักใครเลย ก็รู้สึกว้าเหว่เหงามากเลยค่ะ ช่วงนั้นร้องไห้ทุกวัน มีบางครั้งเป็นมากขนาดตี 3 ตี 4 ก็โทรศัพท์มาร้องไห้กับคุณแม่ จนคุณแม่ต้องเขียนจดหมายไปปลอบ เป็นโคลงภาษาอังกฤษ 'WOMAN TO HER DAUGHTER ' เป็นโคลงที่คุณแม่แต่งขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายถึงผึ้งเมื่อตอนอายุ 16 ตอนนั้นยังขี้แย (หัวเราะ) จำได้ว่าจดหมายฉบับนั้นกว่าจะอ่านจบก็ใช้เวลาหลายวัน เพราะอ่านไปนิดก็ร้องไห้แล้ว อ่านไปก็ร้องไห้ไป จนมันด่างเป็นดวงๆ เลยค่ะ"


เธอพูดถึงบทกวีของ "คุณแม่" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า คุณหญิงจำนงศรีผู้เป็นมารดานั้นเป็นกวีมีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวซาญด้านการเขียนบทกวีเป็นภาษาอังกฤษพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว


มีความรู้สึกอย่างไรกับบทกวีที่คุณแม่แต่งคะ


"ในชุด On the While Empry Page น่ะ ผึ้งคิดว่าผึ้งเข้าใจนะคะว่าคุณแม่กำลังเขียนอะไร คิดว่ารู้

นะคะว่า บทนั้นมีแรงบันดาลใจจากอะไร บทนี้จากอะไร คุณแม่ส่งไปให้อ่านที่เมืองนอก แต่ไม่รู้สึกว่าบทกวีในเล่มนั้นจะเป็นหนังสือ หรือว่าเป็นโคลง เป็นกลอนอะไร เวลาอ่านมันรู้สึกว่าโคลงทุกบท ที่คุณแม่แต่งเป็นเหมือนจดหมายที่คุณแม่เขียนถึงผึ้ง (หัวเราะ) รู้ว่าไม่ใช่ แต่มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ นั่งอ่านอยู่ที่โน่น รู้สึกเหมือนอ่านจดหมายที่คุณแม่กำลังบอก กำลังเล่า ถึงเรื่องอะไรต่างๆ ให้ฟัง ผึ้งชอบบทกวีส่วนใหญ่ในเล่มนั้น แต่มีบางบทที่ไม่ถึงใจ ยังบอกคุณแม่ว่าน่าจะคัดออกสัก 4 - 5 บท คุณแม่ก็เห็นด้วย"


สนใจที่จะเขียนบทกวีแบบคุณแม่บ้างไหมคะ


"คงทำไม่ได้หรอกค่ะ (หัวเราะ) เห็นงานของคุณแม่ ผึ้งก็ภูมิใจมาก และก็รู้สึกว่าคุณแม่เก่ง ที่สร้างงานแบบนี้ขึ้นมาได้ คิดว่ายากที่ผึ้งจะทำได้อย่างคุณแม่นะคะ ถึงเราจะชอบอะไรคล้ายๆ กัน บางทีนะคะ ผึ้งได้พบ ได้เห็นอะไรมา ก็อยากจะมาระบายเป็นบทกลอน เป็นตัวหนังสือ แต่พอลองเขียนลงในกระดาษปุ๊บความรู้สึกภายในของเรา มันก็จะเริ่มเปลี่ยนสี แปลงรูป ไปทันทีเลยค่ะ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร... เลยกลัวปากกา รอให้หายกลัวอีกหน่อย อาจจะนึกอยากลองอีกก็ได้" เธอพูดพลางหัวเราะ


ตอนที่ขึ้นอ่านนิทานกวีของคุณแม่ มีความรู้สึกอย่างไรคะ


"อันนี้ต้องขอบอกว่างงมากเลยค่ะ (หัวเราะ) ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อนเลยค่ะ ผึ้งกลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ 10 กุมภาฯ พอลงจากเครื่องปุ๊บ พี่ชายมารับแล้วก็บอกว่าจะพาไปที่เมืองไทยประกันชีวิต จะต้องไปซ้อมอ่านนิทานกวีกับวงไหมไทย เพราะคุณแม่เสียงหาย หลอดลมอักเสบ วันแรกที่ไปซ้อมนั้น รู้ตัวนะว่าไม่มีใครเชื่อเลยว่าจะทำได้ (เพราะมีเวลาแค่ 2 วัน) ทุกคนสุภาพ แต่สายตาไม่เชื่อถือ เขาบอกกับคุณแม่กันว่า ถ้าผึ้งทำไม่ได้เข้าขั้นละก็ คุณแม่จะต้องขึ้นเวทีเอง ทั้งๆ ที่เสียงแหบ คืองานนี้เป็นงานที่อยู่ในระดับที่เรียกว่า professional ผึ้งก็กลัวเหมือนกันนะคะ แต่ใจหนึ่งก็อยากทำ เพราะมันเป็นงานที่ท้าทาย ผึ้งชอบทำอะไรที่จะต้องต่อรองกับตัวเอง ดูซิว่าจะทำได้หรือเปล่า มันทำให้ตัวเราเองมีแรงผลักมากขึ้น ก็พยายามจนสุดความสามารถนั่นแหละค่ะ แล้วก็ผ่านไปด้วยดี (หัวเราะ) เรียนรู้อะไรยอะแยะ ได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจจากผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคุณแม่และคุณเทพศิริ สุขโสภา"


พูดถึงคุณพ่อคุณแม่


"คุณพ่อเป็นหมอและมีคลินิกอยู่ที่บ้าน ผึ้งเห็นมาแต่เล็กแล้วว่าคุณพ่อทำงานหนักมาก ทำทั้งกลางวันกลางคืน เวลาพักผ่อนไม่ค่อยจะมี ตอนเด็กๆ เคยตามเข้าไปดูคุณพ่อผ่าตัดตา รู้สึกศรัทธามากเลยค่ะ

คุณพ่อทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนค่ำ บางทีถึงตี 2 ตี 3 เราแค่ยืนดูคุณพ่อผ่าตัดประสาทตาแค่รายเดียว ก็จะแย่อยู่แล้ว (หัวเราะ) ส่วนคุณแม่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับเรา พาไปไหนมาไหน และเป็นที่ปรึกษา เดี๋ยวนี้เป็นเพื่อนกันด้วยค่ะ เป็นที่ปรึกษาของกันและกันค่ะ" (หัวเราะ)


อยู่ต่างประเทศกับอยู่เมืองไทย ชอบอย่างไหนคะ


"มันพูดลำบากนะคะ เพราะแตกต่างกันมาก แตกต่างโดยสิ้นเชิงทีดียว แต่ผึ้งก็ชอบทั้งสองที่นั่นแหละค่ะ อยู่เมืองนอกเราต้องตัดสินใจและรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ เอง ใช้ชีวิตก็แบบสบายธรรมดาๆ ไม่ต้องแคร์ใคร ได้เป็นตัวของตัวเอง แต่อยู่ที่นี่เราจะทำอะไร ก็ต้องระวังตัว ต้องคิดก่อนทำ แต่ชีวิตที่นี่อบอุ่น

พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่พี่น้อง ก็ดีไปอีกแบบหนึ่ง"


ใกล้ชิดกับพี่น้องมากหรือคะ


"ใกล้ชิดกันมากค่ะ เห็นกันง่ายๆ เลย แค่เสื้อผ้านี่ เราก็ยืมกันใช้ จนชักจะไม่รู้ว่าของใครเป็นของใคร บ้านนี้ไม่มีลิขสิทธิ์เรื่องเสื้อผ้า เฉพาะอย่างยิ่งผึ้งเพิ่งกลับมา แล้วยังไม่มีเสื้อผ้าที่เหมาะสมเท่าไร ทุกๆ เช้าก็จะเดินเปิดตู้เสื้อผ้าของทุกคน ไล่ตั้งแต่คุณแม่ลงมา บางวันก็ไม่เว้นแม้เต่พี่ชายทั้งสองคน ตู้คุณแม่รู้สึก

จะโดนหนักที่สุด จนเวลาเพื่อนๆ คุณแม่พบผึ้งมักจะหัวเราะ เพราะจำเสื้อคุณแม่ได้ เวลาใครมีปัญหาพวกเราก็จะนั่งฟังกันเป็นกลุ่ม แล้วทำเป็นวิพากษ์วิจารณ์กัน จนปัญหากลายเป็นเรื่องขำขัน

"ตอนเด็กๆ ทุกๆ คืนวันเสาร์ทั้งครอบครัวจะบุกเข้าไปนอนในห้องคุณพ่อคุณแม่ จะปูผ้าห่มนอนกันเป็นแถวก่อนนอนคุณพ่อก็จะเล่านิทานที่คุณพ่อแต่งเอง เรื่อง "วุ้นกินคน" เป็นเรื่องเกี่ยวกับวุ้นจากต่างดาวบุกโลก พอเล่าจบคุณพ่อก็จะกลายเป็นวุ้นกินคนออกตามล่าพวกเรา โอ๊ย...ตอนเด็กๆ จำได้ว่าน่ากลัวเชียวค่ะ สนุกก็สนุก เราทำกันอย่างนี้เป็นกิจวัตรเกือบทุกอาทิตย์"



มีความคิดเห็นอย่างไรคะ กับการที่เรารับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา


"การไปอยู่ต่างประเทศทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเองมากขึ้น ยิ่งที่ว่าส่วนไหนของเราเป็นผลจากความเป็นคนไทย ส่วนไหนเป็นลักษณะเฉพาะตัว ทำให้ผึ้งสนใจในวัฒนธรรมและประเหณีไทยมากขึ้น คิดว่าเราน่าจะรู้จักพื้นเพของเราให้ดีเสียก่อน ที่จะรับวัฒนธรรมต่างชาติและวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้ เหมือนกับการระบายสี เราจะต้องรู้เสียก่อนว่าวัสดุพื้นของเราสีอะไร และเนื้ออย่างไร ถึงจะเลือกสีให้เกิดผลที่เราต้องการ อันที่จริงประเทศที่เรารับอิทธิพลยุคใหม่มาน่ะ ผู้สร้างเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าผลจากสิ่ง

ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างคือการทดลอง ผลมันยังไม่สมบูณ์ ถ้าเรารับเข้ามาโดยไม่รู้พื้นฐาน

ที่แท้จริงของเขาและพื้นฐานของเรา มันเลยยิ่งแปร่งขึ้นไปอีก ใช่ไหมคะ"


แล้วผู้ชายไทยกับผู้ชายต่างชาติล่ะคะ


"ไม่ค่อยมีโอกาสได้รู้จักผู้ชายไทยเท่าไรเลยค่ะ ผึ้งไปจากเมืองไทยไปตั้งแต่มัธยมต้นยังเด็กๆ อยู่ ที่คบกันตอนนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อนๆ เรื่องที่คุยๆ กัน ก็เรื่องสนุกเรื่องผิวเผิน เพราะเมื่อก่อนนี้เด็กหญิงกับเด็กชายจะไม่คบกันสนิทมากเหมือนสมัยนี้ ผู้หญิงก็อยู่กลุ่มผู้หญิง ผู้ชายก็อยู่กลุ่มผู้ชาย พอไปเรียนต่อ

ไฮสกูลก็ไม่มีคนไทยเลย ขาดช่วงการได้เรียนรู้เกี่ยวกับผู้ชายไทย (หัวเราะ) ผึ้งเปรียบเทียบไม่ได้ค่ะ"


ผู้ชายในอุดมคติล่ะคะ


"ชอบอย่างคำงาย ใน 'ตลิ่งสูงซุงหนัก'ค่ะ" (หัวเราะ)


(...อ่านต่อหน้า 50)

หมายเหตุ: เนื้อหาไม่ครบ

 

จาก: นิตยสารสกุลไทย ....



ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page