top of page

อ่านหนังสือเล่มใน

โดย สาลินี hsalinee@hotmail.com



ในการฝึกฝนให้เข้าถึงธรรมะ บทแรกจะเน้นที่การตัดเสียซึ่งความรับรู้ รับเห็น ทั้งหลาย ที่จะพาให้จิตกระเจิง อันรวมถึงการอ่านการเขียนซึ่งเป็นทางพาให้ความคิดความอ่านและจิตตีฟุ้งตลบ ยากที่จะ

รวบรวมใจและจิตให้เพ่งอยู่ที่การอ่านหนังสือใน อ่านตัวตนและจิตใจของเราเอง ซึ่งต้องอาศัยเรียน

ภาษาใหม่ที่ไม่มีรูปตัวอักษรบรรยาย เป็นการอ่านที่ไม่ใช่ ‘การเสพ’ ทางปัญญา ไม่ชวนให้อารมณ์โลดโผนโจนทะยานไปความตื่นเต้น หรือหม่นหมองสะเทือนใจ ไปกับภาพสะท้อนที่มีชีวิตชีวาในหนังสือ



ใคร่ครวญธรรมจากธรรมชาติรอบตัวนั้น เราถนัด

จากขอนไม้ผุข้างกุฏิเก่า

จากวาวน้ำใสสายธาร

จากฝูงแมว ฝูงหมา

แต่ปฏิบัติให้จิตว่างจากการคิดนั้น เราแย่หน่อย

ใคร่ครวญธรรม



หนังสือหรือถ้อยคำเป็นทั้งอุปสรรคและอุบายในตัวเอง ที่จะน้อมนำให้ผู้คนที่มักเคยชินกับการวาง

ความรับรู้ไว้ข้างนอก ให้เข้ามาอ่านหนังสือเล่มใน ความเคยชินในการ ‘เสพ’ถ้อยคำด้วยความคิด ความรู้สึก และเพริดไปกับผัสสะที่ได้รับ เน้นความชอบธรรมในการมีอยู่ของหนังสือ และจริตที่หุ้มห่อมันอยู่ สิ่งที่เราเรียกว่าสุนทรียรส ซึ่งให้ภาวะของความอิ่มเอิบกำซาบ ไม่ว่าจะที่หัวใจหรือที่ขดสมอง


ผิวทะเลดูสงบเรียบแต่คลื่นใต้น้ำคอยรั้งให้ถอย

ความเสียดายยังเร้นลึก

เสียดายสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทั้งหมดเป็นมายา

รู้ แต่ก็รู้เพียงแค่คิด


บางขณะจิตเท่านั้นที่วาบรู้ในใจ

นานครั้ง แวบไวเหมือนฟ้าแลบ

ให้รู้ว่าสมองคิดกับจิตสัมผัสนั้นต่างกันไกล

เป็นการรู้คนละประเภท

ฟ้าร้องยังถึง






จริตนี้เป็นทั้งประตูที่เปิดและปิดของ

คนเรา แต่ก็อาจเป็นเรืออุบายที่สวยงามที่สุดที่จะให้เจ้าตัวจริตนั้น โดยสารไปปล่อยมันขึ้นฝั่งสักที่ แล้วพาใจเราเองโดยสารต่อไปให้ถึงที่ที่ ‘ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง’ ที่ที่มีหนังสือเล่มในที่

ปั่นป่วนยิ่งกว่าพล็อตชิงรักหักสวาท อิจฉา ริษยา เรื่องไหนไหน


เต็มไปด้วยการเผชิญหน้าที่น่าสะพรึงกลัวกว่าลอร์ดโวเดอร์มอร์ต การสืบค้นที่ลึกลับซับซ้อนยิ่งกว่ารหัสลับดาวินชี่

และเศร้าลึกยิ่งกว่าตอนเจ้าชายโอริสสาตาย




เมื่อวานบ่าย นิ่งรู้ลมหายใจ ความเศร้าก่อตัวในความสงบ

พอง ขยายใหญ่

นับว่าเป็นครั้งแรกที่ความเศร้าเข้าแทรกในขณะที่นิ่งอยู่กับลมหายใจ

นึกเสียดายที่มันไม่ทรงอยู่ให้ดูจนรู้ถึงใจ

นึกไว้ว่าวันนี้จะดูมันให้รู้ กลับไม่มีมาอีก

ก็เหมือนทุกอย่าง มาแล้วก็ไป

เหมือนเวลา เหมือนลมพัดเอาอย่างใจไม่ได้...


เวลา


คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ได้บันทึกกระบวนการเข้าถึงการอ่านหนังสือในของท่านไว้

ขณะที่ท่านได้ไป ‘เว้นวรรคชีวิต’ ของท่านที่สวนโมกขพลาราม ในช่วงระหว่างปี 2533-2534

ซึ่งเป็นช่วงบั้นปลายอายุขัยของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ


บันทึกในชื่อว่า ‘ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง’ ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นต่างกรรม ต่างวาระ ต่างรูปแบบ

ในครั้งนี้ได้จัดพิมพ์ขึ้นในวาระ 100 ปีชาตกาลของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ‘ฝนตกยังต้อง

ฟ้าร้องยังถึง’ เล่มนี้ถึงพร้อมไปด้วยจริตที่น่าเสพของศิลปะอันสวยงามของถ้อยคำ จังหวะจะโคนของ

น้ำเสียง และสัมผัสที่สุนทรีของภาพประกอบและการจัดวาง เหมือนได้เข้าไปเยี่ยมเยือนโบสถ์วิหาร

ที่มีความสวยงามและอ่อนน้อมตามคติธรรมชาติ


โบสถ์ที่พระประธานและช่อฟ้าใบระกาล้วนพูดกับเราด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล แต่เตือนสติเราได้หนักแน่น

ไม่ได้เป็นจริตแบบ How to ความเท่าเทียมกันในความเป็นคน ที่มีจุดอ่อน มีข้อบกพร่อง มีความเกียจคร้าน ดื้อด้าน หวั่นไหว ระหว่างผู้บันทึกกับผู้อ่าน คือช่องทางเชื่อโยงที่ทำให้แง่คิดงามๆ ในหนังสือเล่มนี้

น่าฟังที่สุด


ปราบเจ้าตัวเหงายากกว่าเอาชนะเจ้าตัวเบื่อ

เพราะความสงสารตัวเองเข้ามาเป็นใหญ่

เข้ามาพองคับอยู่ในความโหว่ข้างใน

ความโหว่ที่ปิดไว้ไม่ให้ตัวเองเห็น

เจ้าตัวเหงา


ทุกคนมีที่ที่ ‘ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง’ อยู่ในตัวเรา ที่ที่ยังหวั่นไหว หวาดไหว สั่นไหว และเคลื่อนไหว

ไปกับความเป็นไปภายนอก และความฟุ้งภายใน น้ำเย็นๆ นิ่งๆ ลึกๆ จากบันทึกเล่มนี้อาจจะช่วยเข้าไปแตะต้องตรงที่ที่หวั่นไหว ให้เราได้มองตามันได้ตรงๆ และอ่านมันได้ชัดๆ


 

จาก: คอลัมน์ Must Read นิตยสาร Image


ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page