top of page

…สื่อวิญญานผ่านมือสู่เส้นไหม…

โดย คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน




“…สื่อวิญญาณผ่านมือสู่เส้นไหม ถักเส้นใยแต่ละเส้นเป็นเนื้อผ้า ตีนที่ใช้กระตุกกี่คือชีวา มือที่คว้ากระสวยวาดคือชีวิต…” [1]


เมื่อสัก 1 ปีกว่าๆ มานี้ ที่ถนนสุขุมวิท ซอย 33 เคยมีห้องแสดงงานศิลป ชื่อ โนเนมแกเลอรี่ (No Name Gallery) ที่ว่า “เคย” ก็เพราะเดี๋ยวนี้ปิดไปแล้ว


เมื่อเดินผ่านชื่อที่ไม่เหมือนใครของเจ้าห้องแสดงนิรนาม ก็ดึงผู้เขียนให้ผลักประตูก้าวเข้าไปชมงานศิลปที่แสดงอยู่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นนิทรรศการผ้าทอ ฝีมือศิลปินที่ชื่อไม่คุ้นหู ถ้าไม่ใช่เพราะชอบชื่ออันไร้ตัวตนของห้องแสดง ก็คงไม่คิดที่จะแวะชมงาน


แต่เมื่อก้าวเข้าไปแล้ว ก็ต้องตกตะลึง… คูหาแคบๆ แบบตึกแถวนั้น สว่างไสวไปด้วยสีสันชีวิตชีวา มีผีเสื้อ แมลง และดอกไม้ รวมทั้งสีแสงเลื่อมพรายของผิวทะเล มารวมกันอยู่บนผนังรอบห้อง บนผ้าไหมไทยที่บางเบาจนเกือบจะโปร่งแสง ถึงแม้ผู้เขียนจะนิยมนุ่งผ้าแบบไทยมานานปี แต่ก็นึกไม่ถึงว่าผ้าไหมมัดหมี่ จะมีวิญญาณที่อิสระแวววาวได้เพียงนั้น


ผ้าไหมที่เห็นอยู่ใน โนเนมแกเลอรี่ ในวันนั้น ทำให้แวบคิดถึงนิทานที่ตัวเองแต่งไว้ให้ สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องเจ้าแมงมุมช่างทอชื่อ เจ้าแสดแปดขา ผู้เขียนกำลังอยู่ในช่วงการหาศิลปินมาเขียนภาพประกอบ ใจนึกขึ้นมาเดี๋ยวนั้นว่า ทำไมจะต้องใช้ภาพวาด ภาพระบาย อีกเล่า… ผ้าไหมทอมือที่เห็นอยู่นี้เป็นผ้าที่ “พูดได้” มีอารมณ์ความเคลื่อนไหวอยู่ในเนื้อ นอกจากนั้นแล้ว เจ้าแสดแปดขา ก็เป็นเรื่องของการทอ เป็นการบังเอิญที่ช่างประจวบเหมาะราวกับจับวาง

ผู้เขียนสอบถามเจ้าหน้าที่ห้องแสดง ได้ความว่าศิลปินทอผ้าผู้นี้มีนามว่า สมรรถ คุ้มสุวรรณ สร้างสรรค์งานผ้าอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดโคราช เรียนภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ก็กลับไปช่วยมารดาทอผ้ามัดหมี่ที่โคราช


ศิลปินผ้าทอผู้นี้เคยมีการแสดงผลงานทั้งในและต่างประเทศ ผ้ามัดหมี่ทอมือของเขาเป็นที่ชื่นชอบของคนรักผ้าชาวญี่ปุ่น มากกว่าจะเป็นที่รู้จักของคนไทย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก สำหรับผู้เขียน จำได้ว่าสมัยหนึ่ง ผ้าฝ้ายทอมือลายน้ำไหลของ ป้าแสงดา บันสิทธิ์ แห่งบ้านไร่ไผ่งาม ศิลปินแห่งชาติที่ล่วงลับไปแล้ว ก็เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น ก่อนที่จะได้รับความนิยมชมชอบในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

ด้วยความที่เป็นคนใจร้อน ผู้เขียนได้รีบขอเลขโทรศัพท์ติดต่อ ยกหูโทรศัพท์กดเลขไปถึงคุณสมรรถที่โคราช อารัมภบทสั้นๆ แล้วจึงชี้แจงว่า ผ้าทอคุณสมรรถทำให้นึกถึงนิทานที่ตัวเองเพิ่งจะเขียนเสร็จ คุณสมรรถเข้ามาฟังนิทานเรื่องนี้ดูจะดีไหม เผื่อจะนึกอยากทอผ้าเป็นภาพประกอบนิทาน


เท่าที่ฟังเสียงในโทรศัพท์วันนั้น ดูท่าคุณสมรรถคงจะงงๆ กับการถูกชักชวนมาทำอะไรที่ค่อนข้างจะแปลก คนที่ชวนก็ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันมาก่อน ถึงอย่างนั้นก็ยังบึ่งรถมาพบผู้เขียนที่โรงพยาบาลจักษุรัตนินแต่โดยดี และเมื่อฟังนิทานตลอดจนความคิดเรื่องทอผ้ามัดหมี่ประกอบนิทาน ก็เกิดความสนุกสนานกระตือรือร้นที่จะลองมือดู


เท่าที่ฟังดูบ่อเกิดของความกระตือรือร้นมี 2 ประการ ประการแรกคือความรู้สึกว่า พระเอกของเรื่อง ซึ่งเป็นเจ้าแมงมุมน้อยที่รักการทอเป็นชีวิตจิตใจนั้น มีธาตุแท้ของตัวคุณสมรรถเองอยู่อย่างน่ามหัศจรรย์ ประการที่สอง คือความท้าทายของงานทอผ้าเป็นภาพประกอบหนังสือนิทาน ซึ่งคุณสมรรถไม่เคยนึกฝันมาก่อนเลยในชีวิต


เป็นอันว่าคุณสมรรถตกลงที่จะทำงานดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนได้ไปรู้จักโรงทอผ้ามัดหมี่ของ สุมนไหมไทยที่ใกล้สามแยกปักธงไชย สุมนคือชื่อมารดาคุณสมรรถ เป็นผู้ที่คุณสมรรถถือว่าเป็นบุพการีในด้านศิลปะการทอผ้า ไม่น้อยไปกว่าการให้กำเนิดชีวิต


“แม่ปลูกม่อนเลี้ยงไหมตั้งใจนัก เรี่ยวแรงรักแม่ใช้เพื่อไฝ่ฝัน อีกสาวไหมด้วยมือซื่อสัตย์นั้น ทั้งทอมันละเมียดละไมใช้เวลา…” [2]


คุณสมรรถกับมารดาผูกพันธ์กันด้วยสายใยอันเหนียวแน่น คำกว่าครอบครัวสำหรับแม่ลูกคู่นี้ เข้มและลึกไปกว่าความเป็นสายเลือดเดียวกัน การคิดสี สร้างลาย มัดไหม การย้อม การทอเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันของครอบครัวคุ้มสุวรรณ


แม่เป็นต้นแบบให้ลูกเรียนรู้ สืบสาน พัฒนาต่อด้วยการคิดค้นสร้างสรรตามแบบของคนรุ่นใหม่ จนงานไหมมัดหมี่กลายมาเป็นศิลปกรรมร่วมสมัยที่น่าสนใจ และคำว่าครอบครัวในที่นี้ก็มีความหมายกว้างครอบคลุมไปถึงช่างมัด ช่างย้อม ช่างทอ ที่เป็นสมาชิกของโรงทอด้วย คุณสมรรถ และคุณนิสาชล ผู้เป็นภรรยา และลูกเล็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ที่โรงทอ พร้อมกับดูแลทุกข์สุขของทุกคนอย่างอบอุ่นใกล้ชิด


เรียกว่า ความรักระหว่างแม่ลูกคู่นี้ หยั่งรากลึกและมั่นคงในความกตัญญูต่อภูมิปัญญาชาวบ้าน

แบบไทย ๆ ที่น่าสนใจคือ การที่คุณสมรรถ ได้ร่วมมือกับมารดาก่อตั้ง กลุ่มหมากสุก ขึ้น กลุ่มหมากสุก ประกอบด้วยกลุ่มคนแก่คนเฒ่าที่ใช้ชีวิตกับงานหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ จนความเชี่ยวชาญกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวบุคคล ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้คนทั่วไปหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้ ซึ่งเปรียบเสมือนผลหมาก ที่เปลี่ยนจากเขียวสดเป็นแสดปลั่งด้วยความสุกงอม รอเวลาที่จะร่วงหล่นสูญสลายไปตามกาลเวลา


นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังเป็นการเคารพต่อภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่ซึมซาบอยู่ในตัวผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านั้น การตั้งกลุ่มนี้เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ที่จะช่วยกระตุ้นให้เขาได้กลับมาจับงานที่ละทิ้งไป เนื่องจากขาดการยอมรับสนับสนุนในวงกว้างจากสังคมยุคปัจจุบัน


วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งคือ เพื่อเปิดโอกาสให้คนหนุ่มคนสาวได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นกับผู้แก่ผู้เฒ่า กลุ่มหมากสุกที่คุณสมรรถกับมารดาร่วมกันก่อตั้งขึ้นมานี้ เคยได้รับทุนสนับสนุนจาก The Japan Foundation (Asia Center) ในปี พ.ศ. 2539


ชื่อ หมากสุก นี้ ในส่วนหนึ่งคงสืบเนื่องมาจากที่ตั้งของสุมนไหมไทย ซึ่งตั้งอยู่ระแวกสามแยกปักธงชัย ก่อนที่จะถึงเมืองโคราช ชุมชนนี้เป็นชุมชนหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากป่าหมากโบราณ ที่เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช ขณะนี้ ถนนเลี่ยงเมืองและทางแยกต่างระดับ กำลังจะตัดผ่านป่าหมากเก่าแก่นี้ ซึ่งจะทำให้ป่าหมากสูญสิ้น และชุมชนในบริเวณนั้นแตกสลาย จึงมีการประท้วงคัดค้านกันมาเป็นเวลาหลายปี


คุณสุมล แม่คุณสมรรถนั้น มิใช่เป็นแต่นักทอผ้ามัดหมี่มือฉมัง หากเป็นนักฟ้อนพื้นบ้านที่เก่งฉกาจอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2538 ผู้เขี่ยนได้มีโอกาสเห็นคุณสุมลฟ้อนบายสี ซึ่งเป็นการฟ้อนเชิงพิธีกรรมในการรักษาโรคตามความเชื่อท้องถิ่นจากโบราณกาล เป็นการฟ้อนที่เต็มไปด้วยสมาธิและพลังชีวิต ชาวบ้านที่มาร่วมกันในวันนั้นดูมีความกลมเกลียวใกล้ชิดกันเหมือนญาติ


“…สักวันหนึ่งถึงไม่มีชีวิตแม่ ลูกที่แท้ก็คงทอสืบต่อได้ แม่ก็ทอลูกก็ทอต่อเส้นใย ผ้าชีวิตผืนใหม่จะต้องงาม”





อีก 1 ปีต่อมา ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2539 คุณสุมลซึ่งอายุได้ 73 ปี ก็ฟ้อนบายสี ในวันประกอบพิธีกรรมที่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันว่า 'วันเปิด' อีกอย่างที่เคย เมื่อฟ้อนเสร็จ ก็ลงมานั่งพัก แล้วหัวใจก็หยุดเต้นลงอย่างกระทันหัน สำหรับศิลปินพื้นบ้านอย่างเธอ ศิลปะกับชีวิตเป็นสิ่งที่ควบคู่กันจนถึงวาระสุดท้าย


ความตายของคุณสุมล ประกอบกับปัญหาที่ชุมชนตรงนั้น อาจจะต้องพลัดพรากจากกระจายอีกไม่ช้าไม่นาน ถ้ามีการตัดถนนเลี่ยงเมืองและทางแยกต่างระดับผ่าน มีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงกับกลุ่มหมากสุก ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยมาพบปะกันที่สุมนไหมไทย ก็เริ่มจะไม่มาพบปะกันเพื่อกิจกรรมต่างๆอย่างสม่ำเสมอเหมือนที่เคย การฟ้อนบายสีก็พลอยห่างหายไปด้วย คุณสมรรถเองก็ดูจะเสียพลังในการทำงานผ้าไปไม่น้อย เพราะไหนจะสูญเสียมารดา ไหนจะต่อสู้เรียกร้องให้เบี่ยงแนวถนนให้พ้นป่าหมากและชุมชนสามแยกปักธงไชย มิใยคุณนิสาชล ภรรยาคู่ใจจะเคียงข้างให้ทั้งกำลังใจและความเห็นใจ


“ …และสอนเจ้าลูกชายให้ทรนง รักแม่ก็ขอจงทำงานหนัก ด้วยละเอียดอ่อนในเยื่อใยรัก พลีชีวิตเพื่อถักและทอไท…” [3]


ในช่วงวันที่ 21 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา มูลนิธิไชย้งพัฒนา ได้จัดการแสดงนิทรรศการ สายใยบนผืนผ้า ด้วยการรวบรวมงานส่วนหนึ่งของคุณสมรรถ ที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย จากการนำออกของนักสะสมผ้าชาวญี่ปุ่น มาแสดงที่ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์


ในการแสดงครั้งนี้ ผ้าชุดที่คุณสมรรถทอประกอบนิทาน เจ้าแสดแปดขา เป็นชุดที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของปริมาณ มีถึง 17 ชิ้นด้วยกัน ปัจจุบันเป็นของ สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ซึ่งกำลังเตรียมการจัดพิมพ์เป็นเล่มนิทาน ด้วยการสนับสนุนของธนาคารทหารไทย นอกจากนั้นก็เป็นงานบางชิ้นจากชุดที่ผู้เขียนได้เห็นที่โนเนมแกเลอรี่ งานที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่งคือ ชุดที่คุณสมรรถได้แรงบันดาลใจ จากภาพเขียนฝาผนังยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในถ้ำจันทรผา นครราชสีมา และก็ยังมีงานผ้าที่คุณสมรรถออกแบบร่วมกับคุณสุมน


ผู้เขียนได้ยินผู้ที่เข้าชมงานหลายท่านบ่นว่าผ้าที่แสดงอยู่นั้น สวยเหลือเกิน แต่ไม่สามารถซื้อได้สักผืน เพราะล้วนเป็นผ้าที่มีเจ้าของแล้ว สำหรับผืนที่ไม่มีเจ้าของ คุณสมรรถก็ไม่ยอมขาย เพราะเป็นตัวอย่างผ้าชุดต่างๆที่ทอในช่วงเวลาผ่านเลยไปแล้ว และไม่สามารถจะกลับมาทอด้วยความรู้สึกและชีวิตจิตใจอย่างในครั้งแรกได้


ต้องยอมรับว่าผ้าผืนเอกๆของคุณสมรรถแต่ละผืน เข้ากับวรรคของไพวรินทร์ ขาวงามที่เขียนไว้ใน กวีนิพนธ์ที่ชื่อว่า ไหมแท้ที่แม่ทอ ว่า “…ผ้าทั้งผืนมีชีวิตจิตวิญญาณ ถักประสานสอดสร้างอย่างแยบยล…”[4]


คนที่รู้จักผ้าทอของคุณสมรรถ ต่างเอาใจช่วยให้คุณสมรรถมีแรงใจ ที่จะทอผ้าอันงดงามและเต็มเปี่ยมด้วยชีวิตจิตวิญญาณต่อไป ถึงคนไทยในปัจจุบันสมัยจะละเลยที่จะให้ความสนใจในผ้าทอมือของไทย ไปบ้าง ก็ขออย่าท้อถอย ขอให้ใช้ความละเอียดอ่อน ประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจที่ได้สะสมมา ในชีวิตการทำงาน สานสายใยบนผืนผ้าต่อไป เพื่อที่ส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่ในแผ่นดินนี้

จะได้คงอยู่ เติบโต และมีวิวัฒนาการ ที่ก้าวหน้าควบคู่ไปกับกาลเวลาและยุคสมัย


 

เชิงอรรถ [1] ตัดตอนจาก “ไหมแท้ที่แม่ทอ” ไม้ก้านกล้วย ของไพวรินทร์ ขาวงาม [2] ตัดตอนจาก “ไหมแท้ที่แม่ทอ” ไม้ก้านกล้วย ของไพวรินทร์ ขาวงาม [3] ตัดตอนจาก “ไหมแท้ที่แม่ทอ” ไม้ก้านกล้วย ของไพวรินทร์ ขาวงาม [4] ตัดตอนจาก “ไหมแท้ที่แม่ทอ” ไม้ก้านกล้วย ของไพวรินทร์ ขาวงาม

 

จาก: คอลัมน์วัฒนธรรม ใน วารสารสกาว ฉบับเดือน มกราคม 2540


ดู 19 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page