top of page

A Street Cat Named Bob สนทนาภาษาหนัง

(โครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ)


ภาพจาก IMDB

"Everyone gets a second chance! But not everyone manages to take them! Luckily for me I had a very important companion to help with my second chance

ทุกคนล้วนได้รับโอกาสครั้งที่สอง! แต่ใช่ว่าทุกคนที่ได้ใช้โอกาสนั้น! โชคดีที่ผมมีเพื่อนคนสำคัญคอยช่วยสำหรับโอกาสครั้งที่สองของผม"

เจมส์ โบเวน ใน A Street Cat Named Bob


บันทึกสนทนาสกัดบทเรียนจากภาพยนตร์ เรื่อง A Street Cat Named Bob

วันที่ 13 มีนาคม 2562

ในโครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์ฝึกสมองโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ณ ห้อง 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ผู้ร่วมสนทนา คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย ดำเนินรายการโดย

สัณห์ชัย โชติรสเศรณี


เรื่องย่อ : เรื่องของบ็อบแมวจรสีส้ม ที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเจมส์ โบเวน (ลุค เทรดอะเวย์) นักดนตรีข้างถนนในลอนดอนผู้ไร้บ้านและติดยาที่กำลังฟื้นตัว เริ่มต้นจากการที่เจมส์เป็นผู้ช่วยเหลือและดูแลแมว แล้วได้พบว่าแมวต่างหากที่ดูแลเขาและช่วยให้เขาได้มีชีวิตที่สมบูรณ์


ในการสนทนาหลังชมภาพยนตร์คุณหญิงจำนงศรีนำเสนอไว้ว่า


"แมวมันไม่ง้อใคร หมามันหาคน หมามันพึ่งพา แมวมันไม่ค่อยพึ่งพา ส่วนตัวชอบหมา แต่หลังๆ เรียนรู้ที่จะชอบแมว เพราะว่าที่บ้านเชียงใหม่เป็นบ้านสวน แล้วก็หนู แล้วก็อะไรต่ออะไรมันเยอะมาก

แม่บ้านก็เลยต้องเลี้ยงแมว แล้วก็แมวที่มันมาหาเราเป็นแมวจร มันมากินแล้วก็อยู่ แต่มันไม่อยู่ตลอดหรอก พวกแมวจรนี่ อยู่ 2-3 ปีแล้วก็ไป แต่ที่เราเริ่มรู้จักแมวหลายๆ ตัวว่ามันไม่เหมือนกัน นิสัยของแต่ละตัวมันเป็นคนละเรื่องกัน...


หนังเรื่องนี้มันไม่มีอะไรที่ลึกมากมายที่จะ discuss สำหรับป้าศรี เรื่องนี้ป้าศรีรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ที่ใครๆ ว่าป้าศรีเป็นไฮโซ จริงๆ ป้าศรีเป็นโลโซ คือป้าศรีชอบอยู่แถวแถบที่ในหนัง คือเมื่อสมัยเด็กอยู่อังกฤษ จะมาแถบฝั่งใต้ฝั่งแม่น้ำเทมส์ไม่ได้เลย เพราะสมัยนู้นยังอันตรายมาก เราจะไม่ข้ามไปฝั่งนั้น แต่ในหนังเรื่องนี้ ตอนนี้รัฐบาลอังกฤษเก่งมากเลย แปลงฝั่งใต้ของแม่น้ำเทมส์ ให้เป็น area สำหรับวัฒนธรรม สำหรับคนรุ่นใหม่ ตอนนี้ป้าศรีนี่เป็นแฟน South Bank เลยนะ ชอบเดินมาก...

จุดหัวใจของเรื่องคือ คนที่ไม่มีใครเอาเลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่มันเอา ไม่รู้ว่ามีใครสังเกตไหมจะมีฉากหนึ่งที่บ็อบหายไป มีฉากที่มองไปนอกหน้าต่างแล้วมีคนขายยาเสพติด ซึ่งตอนที่บ็อบอยู่ด้วยเขาเห็นคนขายยาก็จะเฉยๆ แต่ตอนที่บ็อบหาย การมองคนขายยาเสพติดเปลี่ยนไป เขาอยากจะกลับไป อยากจะไปซื้อ ที่พูดว่ามีเพื่อน เพื่อนที่ให้ความหวัง ก็คือพอเขาเดินออกไปจะไปซื้อยาเสพติด และกำลังจะซื้อ เขาเปลี่ยนเลย “ฉันมาตามหาแมวสีส้ม” คล้าย ๆ เป็นตัวย้ำ อันนี้น่าสนใจมากเลย"


ในกรณีการช่วยให้หยุดยา "..แมวนี่เป็นอีกอย่าง การมีเพื่อนเพื่อเป็นกำลังใจที่จะให้หยุดยา คือบางทีถ้าเป็นคน มันจะพูด แล้วจะพูดซ้ำซาก แล้วเหมือนต่อว่า ว่าอย่างนั้นสิ อย่างนี้สิ แต่ว่าแมวมันไม่พูดไง มันอยู่เฉย ๆ แต่มันอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา มันคอยมองอยู่ แล้วตัวมันนิ่งไง บางทีเราก็รำคาญคนที่มาบอกเราว่าอย่างงี้สิ อย่างนั้นสิ อะไรแบบนี้ อย่างคนแก่อย่างนี้ มันก็ลืม มันก็อะไร ลูกมาบอกว่า “แม่ลืมอีกแล้ว” อะไรอย่างนี้ มันไม่ได้ทำให้เราหายลืม เราก็ยังลืมต่อ


James เองเขาก็พยายามสร้างโอกาสให้คนอื่นนะ คือเขาเอารายได้หลังจากเขามีชื่อเสียงไปช่วยคนเร่ร่อน กับสัตว์เร่ร่อน ซึ่งก็คือตัวเขากับบ็อบนั่นเอง มันก็ดีนะคะ ถ้าเราเคยลำบากทางไหนมาเราก็ช่วยทางนั้น เพราะได้รู้รสของการเร่ร่อนแล้ว ซึ่งคนเร่ร่อนในต่างประเทศบางทีน่าสงสารกว่าคนในประเทศเราอีก เพราะว่าบ้านเรามันไม่หนาว ที่นั่นโอ้โหพอหน้าหนาวมันสงสารจริงๆ


อีกอย่างเรื่องBusking (เล่นดนตรีหรือการแสดงเปิดหมวกรับบริจาคตามศรัทธา) เล่นดนตรีแล้วเอาหมวกวาง คือตัวเองจะเป็นคนให้ Busker นะคะ เพราะว่าทำให้ใต้ดินของอังกฤษก้องไปด้วยเสียงเพลง ทำให้มีชีวิต แล้วมันมีผลกับเรา เพราะว่าเวลาเราเดินจะรีบไปไหน อย่างน้อยมีเสียงดนตรี ก็อยากจะขอบคุณเขา Busking นี่ดีนะคะ ทำให้ถนนมันมีชีวิตชีวา มีอะไรต่ออะไร ทำไมเมืองไทยไม่มีนะ ที่นั่น Busking ตามจุดต่างๆ ต้องขอทะเบียนนะคะ

อีกข้อหนึ่งที่สังเกตในเรื่องของเจมส์ จริงๆ แล้วเราจะบอกว่าไม่มีอะไรเลยก็ไม่ได้ เพราะเพลงที่เขาแต่งเป็นเพลงปรัชญามากๆ เลยนะ อย่างเพลงแรกๆ ว่าเราเหมือนเป็นดาวเคราะห์ที่โคจรมาเจอกัน แล้วก็มาแล้วก็ผ่าน อะไรเกิด ก็จะต้องมีดับ มันเป็นพระพุทธศาสนา ไม่รู้ใครสังเกตเพลงหรือเปล่า เพราะงั้นเขาก็มีฐานอะไรบางอย่าง มันมีทุนเดิมเหมือนกันนะ"


ยังมีพูดคุยในอีกหลากหลายประเด็นน่าสนใจสามารถชมฉบับเต็มได้ที่

และสามารถชมการสนทนาเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆในโครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุเรื่องอื่นๆได้จากช่อง Youtube ของหอภาพยนตร์แห่งชาติ


 

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page