top of page

เกิด ปี 2482 (1939)




คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ เกิดช่วงปลายปี พ.ศ.2482 อันเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และครอบครัวคุณหญิงเอง


ปีเกิดของคุณหญิงจำนงศรี หากนับตามคริสตศักราชจะเป็นปี ค.ศ. 1939 ปีสุดท้ายของทศวรรษ 1930 ที่ได้ชื่อว่า 'ทศวรรษแห่งวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจ' ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อตลาดหุ้นวอลสตรีทของอเมริกาล้มใน ปี ค.ศ.1929 ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องไปทั่วโลก เนื่องจากสหรัฐฯให้เงินกู้ยืมและลงทุนในต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ

วิกฤตครั้งนี้เป็น 'ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)' ในประวัติศาสตร์นับแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศควรรษที่ 19 เกิดภาวะว่างงานและความยากจนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในอเมริกาที่ถูกซ้ำเติมด้วยภัยแล้ง(Dust Bowl) และเยอรมันที่ต้องจ่ายค่าปฎิกรณ์สงคราม หลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1


สุดท้ายภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แผ่ขยายสมรภูมิออกไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย


สงครามโลกครั้งที่สอง

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจนำไปสู่การเติบโตของระบบเผด็จการ ประเทศที่อ่อนแอถูกโจมตีจากประเทศที่ต้องการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ท้ายที่สุดนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเปิดฉากขึ้นในปีสุดท้ายของทศวรรษนี้ เมื่อเยอรมันภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์บุกเข้าโจมตีโปแลนด์ ในวันที่

1 กันยายน 1939(พ.ศ.2482) ส่งผลให้ฝรั่งเศสและอังกฤษ รวมถึงประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาฟริกาใต้ และแคนาดา ประกาศสงครามกับเยอรมันในอีก 2 วันต่อมา หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน รัสเซียก็เคลื่อนทัพเข้ายึดครองฟินแลนด์



เยอรมันเดินทัพเข้ายึดกรุงวอร์ซอว์ โปแลนด์

ภาพของ PK Hugo J.ger, September 1939. 200-SFF-52. National Archives Identifier: 559369


ยุโรปเวลานั้นไม่เพียงคุกรุ่นด้วยไฟสงคราม ระบบเผด็จการชาตินิยมก็กำลังเติบโต ทั้งพรรคนาซีของ

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ พรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ของ เบนิโต มุสโสลินี ในอิตาลี รวมถึงชัยชนะของ นายพล

ฟรานซิสโก ฟรังโก ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมฝ่ายขวาในสงครามกลางเมืองสเปน


อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ และเบนิโต มุสโสลินี ในมิวนิค เยอรมัน ในปี 1940

ภาพจาก National Archives Collection of Foreign Records Seized, 1675 - 1958Series:

Eva Braun's Photo Albums,

กลุ่มประเทศนิยมฟาสซิสร่วมมือกันเพื่อขยายอำนาจในนามกลุ่ม 'อักษะ' แม้สเปนจะไม่ได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะความบอบช้ำจากสงครามกลางเมือง แต่ได้ส่งทหารและยุทโธปกรณ์ให้กับเยอรมัน นอกจากนี้ เยอรมัน ญี่ปุ่น และอิตาลี ยังมีข้อตกลงร่วมมือกันต่อต้านการขยายตัวของกลุ่มคอมมิวนิสต์ (ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในปี พ.ศ. 2483)

ส่วนกลุ่มประเทศที่ต่อต้านการขยายอำนาจของเยอรมันและฟาสซิสต์รวมตัวกันในนามฝ่าย 'สัมพันธมิตร' โดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นแกนนำ (จีน สหรัฐอเมริกาและรัสเซียเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในภายหลัง ในเวลานั้นฝ่ายคอมมิวนิสต์ทั้งจีนและโซเวียตร่วมมือกับฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านการขยายตัวของระบบฟาสซิสต์)

ด้านภาคพื้นเอเชีย ญี่ปุ่นเริ่มต้นขยายอำนาจตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้า (พ.ศ.2480) โดยเปิดฉากทำสงครามเต็มรูปแบบกับจีน หลังจีนคณะชาติพยายามต่อต้านการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นเหนือดินแดนจีน ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่การเข้ายึดครองแมนจูเรีย ในปี พ.ศ. 2474 นับจากนั้นจีนและญี่ปุ่นสู้รบแบบจำกัดวงต่อเนื่องตลอดมา


สงครามครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มสงครามโลกในฝั่งเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นสามารถยึดครองเมืองใหญ่ๆ ของจีน คือ เซี่ยงไฮ้ และนานกิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลจีนคณะชาติ สงครามนานกิง เป็นสงครามที่ได้รับการบันทึกไว้ถึงความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นต่อพลเรือนจีน ส่วนรัฐบาลจีนคณะชาติย้ายฐานที่มั่นไปยัง

จุงกิง มณฑลเสฉวน และสามารถป้องกันการขยายอิทธิพลลงใต้ของญี่ปุ่นไว้ได้ เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือเขตชนบทของจีน ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนคอมมิวนิสต์

ความก้าวหน้าในสหรัฐ


ในขณะที่ยุโรปและเอเชียเข้าสู่สงคราม สหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ห่างไกลจากสมรภูมิและอยู่ใต้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประกาศตนเป็นกลาง


วิกฤตการเงินในอเมริกา ถูกซ้ำเติมด้วยภัยแล้งที่กินวงกว้างจากเท็กซัสถึงเนบราราสกา ลมพายุกวาดหน้าดินนับล้านเอเคอร์ ทิ้งให้ที่ราบกว้างใหญ่เหลือเพียงฝุ่นดิน เรียกกันว่าปรากฎการณ์ “Dust Bowl” ที่ทั้งคร่าชีวิตผู้คน สัตว์ และทำลายผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมหาศาล คนชนบทพากันอพยพไปหางานทำในเมืองใหญ่ แต่ต้องเผชิญกับภาวะการจ้างงานลดลง คนหลายสิบล้านว่างงาน อีกทั้งค่าแรงก็ถูกกดต่ำลง ภาวะฝืนเคืองทางการเงิน ส่งผลให้ผู้หญิงเริ่มออกทำงานนอกบ้าน เพื่อหารายได้เสริม แต่ส่วนใหญ่ได้งานระดับล่าง เช่น เสมียน พนักงานทำความสะอาด ทั้งยังมีการกีดกันผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ไม่ให้ออกหางานแข่งขันกับแรงงานชายโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม แม้ประกาศตนเป็นกลาง แต่สหรัฐฯ ก็เริ่มต้นโครงการแมนฮัตตัน(Manhattan Project) ซึ่งที่มาของการคิดค้นและสร้างระเบิดปรมาณู รวมทั้งเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการบิน และการสื่อสาร


การเร่งรัดพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามของประเทศมหาอำนาจ ส่งผลให้ทศวรรษ 1930 ไม่เพียงเป็นทศวรรษของวิฤตเศรษฐกิจและการเมือง แต่ยัง ได้ชื่อว่า “ทศวรรษแห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” อีกด้วย โดยเฉพาะในอเมริกา ที่มีนักวิทยาศาสตร์และปัญญาชนในสาขาต่างๆ รวมทั้ง อัลเบิร์ต ไอสไตน์ อพยพหนีภัยสงครามและลัทธิฟาสซิสต์เข้ามาเป็นกำลังสำคัญส่งให้ให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวัฒนธรรม

ในทศวรรษนี้มีสิ่งประดิษฐ์แลผลืตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ เครื่องบินเจ็ต เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า เครื่องถ่ายเอกสารแบบสี ไปจนถึง ชอคโกแลตชิพและสก็อตเทป


ทางด้านการแพทย์เริ่มทดลองใช้ยาเพนนิชิลินในคน หลังจากค้นพบยาชนิดนี้ในปี พ.ศ.2468 นับเป็นยาต้านจุลชีพชนิดแรกใช้รักษาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในเวลานั้น คือ วัณโรคและโกโนเรีย

ทางด้านการบิน เริ่มมีสายการบินพาณิชย์ข้ามทวีป และเนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม เทคโนโลยีด้านการสื่อสารจึงมีความสำคัญและได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวิทยุ ส่วนภาพยนตร์มีการพัฒนาทั้งด้านกล้องถ่ายภาพ ระบบเสียง และสี


เริ่มต้นความรุ่งโรจน์ของฮอลลีวูด

อุตสาหกรรมบันเทิงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อความต้องการผ่อนคลายในชีวิตประจำวันของผู้คนที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเศรษฐกิจ วิทยุที่ทั้งราคาประหยัดและนำความบันเทิงมาถึงบ้าน กลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงสุดในทศวรรษนี้ ต่อเนื่องไปถึงทศวรรษหน้า รายการที่เป็นที่นิยมคือ ข่าว ละครวิทยุ เพลง รายการตลก และกีฬา

แม้ต้องจำกัดการใช้จ่าย แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงไปดูหนังทุกสุดสัปดาห์ ภาพยนตร์ที่นิยมในช่วงนี้ คือ ภาพยนตร์เพลง ตลก โรแมนติก และภาพยนตร์สยองขวัญ ตัวละคร อมนุษย์ ผี ปีศาจ ที่ยังคงเขย่าขวัญ

ผู้ชมในปัจจุบัน เริ่มต้นขึ้นในยุคนี้ ทั้ง แดร็กคูลา แฟรงแกนสไตน์ แวมไพร์ รวมถึง มนุษย์หมาป่า และ ซอมบี้ นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์แนวแก็งสเตอร์ ที่แสดงถึงการดิ้นรนต่อสู้ของตัวเอกที่เป็นคนระดับล่าง

ต่างจากยุคแรกของการสร้างภาพยนตร์ที่มีเป้าหมายเพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น สภาพสังคมในทศวรรษนี้ ส่งผลให้เกิดแนวภาพยนตร์ที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากเพื่อความบันเทิงยังมีเป้าเหมายเพื่อส่งเสริมกำลังใจ ยกระดับจิตใจ ดำรงไว้ซึ่งความหวังและความเชื่อมั่นในอนาคต ตอบสนองต่อความต้องการของ

ผู้ชมซึ่งทั้งต้องการหนีจากความยากลำบากในชีวิตจริง และแสวงหาความหมายของชีวิต

ภัยสงครามและการขยายอำนาจของกลุ่มฟาสซิสต์ หลังการก้าวขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ในปี 1933 ทำให้ปัญญาชนจากยุโรปหลั่งไหลไปอเมริกา รวมถึง นักเขียน ศิลปิน และบุคคลในวงการภาพยนตร์ที่เป็นเจ้าของผลงานภาพยนตร์คลาสสิคมากมายหลายเรื่อง อาทิ ฟริตซ์ แลง (Metropolis,M) บิลลี

ไวล์เดอร์ (Some Like It Hot, Sunset Boulevard) ไมเคิล เคอร์ติซ (Casablanca)

ทศวรรษนี้นับเป็นยุคทองของฮอลลีวูด หนังคลาสสิคมากกว่า 50 เรื่อง สร้างในช่วงเวลานี้ และ 2 เรื่องที่ได้การยกย่องสูงสุด คือ Gone with the Wind และ The Wizard of Oz สร้างขึ้นในปีสุดท้ายของทศวรรษ ซึ่งถือเป็นปีทองแห่งยุคทอง

Gone with the wind เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ ในวันที่ 15 ธันวาคม 1939 ที่เมืองแอตแลนด์ตา รัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นฉากตามท้องเรื่องโดยมีประกาศให้เป็นวันหยุดของเมือง แสดงให้เห็นอิทธิพลของหนังเรื่องนี้ ที่สร้างจากนวนิยายขายดี ของ มาร์การเร็ต มิตเชล (Margaret Mitchell) ไม่เพียงเป็นเรื่องของนักเขียนหญิง ตัวเอกของเรื่อง สการ์เล็ตต์ โอฮารา ก็เป็นผู้หญิง ในขณะที่นวนิยายส่วนใหญ่มีตัวเอกเป็นผู้ชาย และนับตั้งแต่หนังสือออกสู่ท้องตลาด สการ์เล็ตสาวชาวใต้ผู้แหวกกรอบขนบประเพณี ก็ครองใจผู้หญิงทั่วอเมริกา


Gone with the wind สกาเร็ต โอฮารา(วิเวียน ลีห์) หน้าบ้านในแอตแลนด์ต้า ภาพจาก IMDB

แม้หนังจะว่าด้วยเรื่องราวความรักในช่วงสงครามการเมือง แต่ประเด็นหลักที่ควบคู่กันคือจิตวิญญาณชาวใต้ที่ผูกพันกับผืนดิน และความมุ่งมั่นที่จะพลิกบ้านเกิดที่เสียหายจากสงครามให้งดงามเหมือนเดิม เป็นสารที่ส่งถึงผู้ชมในเวลานั้น สร้างความเชื่อมั่นว่า ทุกคน “สามารถเอาชนะสถานการณ์ปัจจุบันได้”

ในทำนองเดียวกัน The Wizard of Oz ซึ่งสร้างจากวรรณกรรมเด็กคลาสสิก ของ L. Frank Baum เล่าถึงการออกเดินทางของ โดโรธี และผองเพื่อน เพื่อค้นหาดินแดนที่ดีกว่าเดิมตรงปลายสายรุ้ง ส่งให้ Over The Rainbow เป็นเพลงแห่งปี และหนังจบลงด้วยประโยคของพ่อมดแห่งออซที่ว่า ผู้คนไม่ได้ต้องการพ่อมดหรือมนต์วิเศษ ทั้งหมดที่พวกเขาต้องก็คือ “มองกลับไปภายในของตัวเอง” โดโรธีกลับบ้านในเคนซัสพร้อมข้อสรุปว่า “ไม่มีที่ไหนเหมือนกับบ้าน”



The Wizard of Oz ภาพจาก IMDB

ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเป็นภาพยนตร์สี สร้างด้วยเทคโนโลยีใหม่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Technicolor และชื่อบริษัทกลายเป็นชื่อเรียกเทคนิคใหม่ว่า ระบบเทคนิคคัลเลอร์ The Wizard of Oz ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าเรื่องสีในภาพยนตร์อย่างเต็มที่ ตั้งแต่การเปลี่ยนสีรองเท้าของโดโรธี จากในหนังสือที่เป็นสีเงินมาเป็นสีแดง เพื่อโชว์ความสดของสี ที่สำคัญหนังแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ ช่วงเวลาที่โดโรธีอยู่ในบ้านไร่อันแห้งแล้งเต็มไปด้วยฝุ่น ในแคนซัส รัฐโอกลาโอม่า จะเป็นภาพขาวดำ และเปลี่ยนเป็นสีสันตระการตาเมื่อเข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์ของออซ ทำให้สีเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง และ นับจากนั้น 'สี' กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่าเรื่องของภาพยนตร์


ศิลปะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

เมื่อ แฟรงคลิน รูสเวลต์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ใน ปี 1932 เริ่มต้นนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำพร้อมกับสนับสนุนให้เกิดความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ผ่านโครงการพิเศษ เช่น Federal art program ที่รัฐบาลกลางให้การสนับสนุนผู้ทำงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมในหลากหลายด้าน ทั้ง ศิลปิน นักเขียน นักดนตรี นักการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้ได้ใช้ความสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ทำให้ชาวอเมริกันเชื่อมั่นในประเทศและอนาคตของตัวเองอีกครั้ง

ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐที่ให้ทั้งทุนและพื้นที่ส่งเสริมศิลปะที่สาธารณชนมีส่วนร่วม เกิดพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ เวทีละคร ตลอดจนงานศิลปะบนท้องถนน เช่น ภาพเขียนตามสถานที่ราชการ จำนวนมาก ประกอบเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นวิทยุ ที่ทำให้ศิลปะและวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่กระจายสู่วงกว้างอย่างรวดเร็ว


นับเป็นครั้งแรกที่ศิลปะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากสาธารณชนและเกิดค่านิยมใหม่ๆ ที่ว่าศิลปะไม่ได้มีไว้สำหรับคนร่ำรวยเท่านั้น และศิลปินเองก็หลุดจากระบบธุรกิจ เช่น การค้างานศิลปะ การชมดนตรีและละครในโรงละคร เข้าสู่การอุปถัมภ์ของ 'ผู้ชม' ที่เป็นมวลชน วิทยุนำแนวเพลงใหม่ๆ ดนตรี ละครวิทยุ ฯลฯ ไปให้ผู้ฟังถึงในบ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แทนการเข้ารับชมการแสดงในโรงมหรสพ

ในทศวรรษนี้ กลุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งส่วนหนึ่งหนีภัยแล้งและความแร้นแค้นในชนบททางใต้ ขึ้นไปแสวงหาโอกาสในเมืองทางตอนเหนือ นำแนวดนตรีใหม่ๆ อาทิ แจ๊ซ บูล กอสเพลเข้าสู่วงการเพลง ผ่านการเล่นสดให้รายการวิทยุ รวมถึงการออกทัวร์ทั่วประเทศ ตามไนคลับและโรงเต้นรำซึ่งในเวลานั้นเป็นสถานที่หลักของการเข้าสังคมในเมือง ส่งผลให้ดนตรีแนวใหม่เป็นที่นิยมโดยทั่วไป



Swing Time ภาพยนตร์ปี 1936 /ภาพจาก IMDB


วงดนตรีแจ๊ซยุคต้นที่มีชื่อ เสียงเช่น ดุค เอลลิงตัน เฟลตเชอร์ เฮนเดอร์สัน ตามด้วยวงออร์เคสตรา Count Basie และ Benny Goodman ที่พาเข้าสู่ยุคสวิงแจ๊ซ เพลงยอดนิยมแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วผ่านวิทยุและตู้เพลง(JukeBox)


นอกจากนี้ เพลงเป็นองค์ประกอบหลักของภาพยนตร์ในเวลานั้น นักดนตรีที่มีชื่อเสียงจำนวนมากทำเพลงให้กับภาพยนตร์ เช่น George Gershwin , Cole Porter, Irving Berlin และ Richard Rodger

ทศวรรษ 1930 ไม่เพียงเป็นยุคของความหลากหลายด้านรูปแบบทางศิลปะ เนื้อหาของศิลปะก็พัฒนาแบบก้าวกระโดด สภาพแวดล้อมแบบสุดขั้วเนื่องจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นแถวของคนที่รองาน รออาหาร แคมป์อพยพ ฯลฯ ทำให้ผู้ผลิตงานศิลปะในแขนงต่างๆ ต้องหันมาทบทวนถึงวิธีที่จะนำเสนอประสบการณ์ทางสังคมในช่วงเวลายากลำบากนี้ นำไปสู่การทดลองสร้างสรรค์งานศิลปะแบบใหม่ในทุกแขนง


การอพยพในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของอเมริกา

นอกจากนี้ สงคราม การเกิดลัทธิการเมืองใหม่ๆ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความไม่สงบของสังคม ทำให้งานศิลปะมีความใกล้ชิดกับการเมือง และผูกพันกับพื้นฐานของสังคมอันเป็นที่มาของงานศิลปะมากยิ่งขึ้น และเป็นที่มาของหลักคิดที่ว่า ผู้ผลิตงานศิลปะที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางสุนทรียศาสตร์ เกิดศิลปะแบบ 'social realism' ที่แสดงให้เห็นชีวิตทั่วไปของคนธรรมดาสามัญ



ภาพ Migrant Mother โดย Dorothea Lange

ผลงานศิลปะที่เป็นตัวแทนของยุคนั้นชิ้นหนึ่งคือ ผลงาน Migrant Mother ของช่างภาพหญิง Dorothea Lange ซึ่งทำงานถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ในยุคแห่งความยากลำบาก ภายใต้โครงการสนับสนุนศิลปินของรัฐ ภาพของ Lange ไม่เพียงสะท้อนความยากลำบากของชีวิตในเวลานั้น แต่เป็นดังที่ลูกๆ ของหญิง

ในภาพ ให้สัมภาษณ์ในอีก 40 ปีต่อมาว่า ภาพแม่ของพวกเขา คือตัวแทนความแข็งแกร่งของผู้หญิงในห้วงเวลาของความทุกข์ยาก

ทางด้านวรรณกรรมภายใต้บรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อความคิดสร้างสรรค์ มีผลงานที่โดดเด่นเกิดขึ้นมากมายในทศวรรษนี้ อาทิ Tortilla Flat(โลกียชน) และ The Grapes of Wrath(ผลพวงแห่งความคับแค้น) ของ นักเขียนรางวัลโนเบล John Steinbeck, As I lay Dying(กว่าจะสิ้นลมหายใจ) ของ William Faulkner, The Hobbit ของ J.R.R Tolkien รวมถึง Gone with the Wind (วิมานลอย) ของ Margaret Mithchell และ The Good Earth(ทรัพย์ในดิน) เรื่องราวเกี่ยวกับชาวนาจีน ผลงานของนักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลโนเบล Pearl S. Buck

บทกวี Old Possum’s Book of Practical Cats ของกวีเอก T.S.Eliot ที่ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นละครเพลงที่มีชื่อเสียง Cats นวนิยายต่อต้านสงคราม Johny Got his Gun (จอห์นนีไปรบ) ของ Dalton Trumbo นอกจากนี้ยังมีHow to Win Friends and Infuence People วิธีชนะมิตรและจูงใจคน หนังสือขายดีที่ยังคงขายมาถึงทุกวันนี้ ของ Dale Canegie

เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1930 นิวยอร์คและฮอลลีวูด เข้ามาแทนที่ ปารีสและเวียนนา ในฐานะศูนย์กลางวัฒนธรรมตะวันตก ในขณะที่วอชิงตัน ดี.ซี. ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเมืองแทนที่ลอนดอนและเบอร์ลิน วิทยุและภาพยนตร์ รวมถึงสินค้าอื่นๆ เป็นสื่อสำคัญที่ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมประชานิยม(Pop Culture) จากอเมริกาไปทั่วโลก


อเมริกาไม่เพียงก้าวพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยังก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจสูงสุดหลังสงครามโลกครั้งสอง รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยในเวลาต่อมา

ยุค 'สร้างชาติ'


ในช่วงทศวรรษเดียวกัน แรงกระเพื่อมจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่( The Great Depression) ส่งผลให้ประเทศไทยหรือสยามในเวลานั้น ประสบภาวะฝืดเคืองทางการเงิน การลดค่าเงินดอลล่าร์และเงินปอนด์เป็นเหตุให้ ธุรกิจส่งออกจำนวนมากล้มละลาย สุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในปี พ.ศ.2475

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 'คณะราษฎร' ซึ่งเป็นผู้ก่อการปฏิวัติและทำหน้าที่บริหารประเทศต่อมา เริ่มดำเนินนโยบาย 'สร้างชาติ' ตั้งแต่รัฐบาลพระยาพหลพลหยุหเสนา(พ.ศ. 2476-2481) และมาปรากฎชัดในสมัย รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม( พ.ศ.2481-2487) หนังสือ ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร ของ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง วิเคราะห์ว่า ผู้นำชาตินิยมในคณะราษฎร มองญี่ปุ่นในฐานะผู้นำในเอเชีย และต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวหน้าตามแบบญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเคยประเทศเกษตรกรรมเหมือนไทยมาก่อน และสามารถพัฒนาประเทศได้ทัดเทียมประเทศอุตสาหกรรมในตะวันตก โดยยังรักษาตัวตนเอาไว้ได้


จากซ้าย พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายปรีดี พนมยงค์ ในระหว่างร่วมรัฐบาลพระยาพหลฯ

ภาพจากหนังสือ สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ, 2556

ใน https://www.silpa-mag.com/history/article_70395

นโยบายสร้างชาติ โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ ในสมัยจอมพล ป. ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการทหาร

ด้านเศรษฐกิจใข้นโยบาย 'กอุพากรรม' คือ กสิกรรมสส่งเสริมให้ปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพ อุ คือ

ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร ส่วน พากรรม คือพาณิชยกรรมนำสินค้าออกไปขาย ส่งผลให้เกิดรัฐวิสาหกิจและธุรกิจการค้าใหม่ๆ ขึ้นมากมาย

ด้านการทหาร ขยายความร่วมมือด้านการทหารและพัฒนาศักยภาพของกองทัพ เช่น การนำเข้าเทคโนโลยีการต่อเรือดำน้ำ การเดินเรือพาณิชย์นาวี การต่อเครื่องบินเป็นต้น



หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ลงข่าวการเปลี่ยนชื่อประเทศ

ภาพ หนังสือพิมพ์จากหอสมุดแห่งชาติ


ส่วนด้านวัฒนธรรม รัฐประกาศใช้ 'รัฐนิยม' โดยเริ่มต้นฉบับแรกใน พ.ศ. 2482 มีสาระสำคัญคือ การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก 'สยาม' เป็น 'ไทย' ตามชื่อเรียกขานประชาชนว่า 'คนไทย' พร้อมทั้งปรับปรุงเนื้อหาของเพลงชาติให้สอดคล้องกัน เป็นฉบับที่ใช้มาถึงทุกวันนี้



แนวคิดญี่ปุ่นนิยมของผู้นำส่งผลให้ญี่ปุ่นเข้ามาบทบาททางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งด้านการค้า อุตสาหกรรม รวมถึงการเงิน โดยผ่านธนาคารญี่ปุ่น คือ ธนาคารโยโกฮามา และ ธนาคารมิตซุย ในขณะที่อังกฤษลดบทบาทลง เนื่องจากกำลังประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และการเรียกร้องเอกราชของประเทศอาณานิคม



ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้น คณะราษฎรแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ ฝ่ายทหารชาตินิยม นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่นิยมฝ่ายอักษะ กับฝ่ายพลเรือนภายใต้การนำของ นายปรีดี พนมยงค์ ที่สนับสนุนฝ่ายพันธมิตร


ศิลปวัฒนธรรมชาตินิยม

ฝ่ายทหารชาตินิยมซึ่งมีอำนาจอยู่ในรัฐบาล ใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมอุดมการชาตินิยม อาทิ ภาพยนตร์ บทละคร เพลง วรรณกรรม และประวัติศาสตร์


ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ราว 3 ปี จอมพล ป.พิบูลสงครามซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ดำริให้สร้างภาพยนตร์ เพื่อเชิดชูทหารและความรักชาติ ในชื่อเรื่อง เลือดทหารไทย โดยมอบหมายให้ บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เป็นผู้ผลิตภายใต้การสนับสนุนจาก 3 เหล่าทัพ ภาพยนตร์ออกฉายใน ปี พ.ศ. 2478 เรียกกันในสมัยนั้นว่า 'หนังระดับซูปเปอร์' ด้วยทุนสร้างจำนวนมหาศาลและฉากมโหฬารตระการตามีฉากรบทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมถึงฉากงานเลี้ยงราตรีสโมสร โดยมี

เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเข้าสู่สงครามกับชาติศัตรูของสยาม ซึ่งสุดท้ายสยามได้รับชัยชนะอย่างงดงาม

ทั้งนี้ผู้นำสายทหารในเวลานั้นเชื่อว่าสงครามต้องเกิดขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง และสยามก็เข้าสู่สงครามจริงๆ ในท้ายที่สุด เริ่มจากการสนับสนุนให้นักศึกษา ประชาชน เดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ในเวลานั้นสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิง ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมที่มหรสพชนิดนี้เริ่มเข้าแทนที่ความบันเทิงแบบเดิม เช่น ละคร ลิเก ฯลฯ โดยในระยะแรก มีชาวต่างชาติเป็นผู้นำภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาฉายตั้งแต่ปี พ.ศ.2440 ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์จากอเมริกา และญี่ปุ่น


ความบันเทิงในยุค 2482 มีทั้งในส่วนส่งเสริมรัฐนิยมและความบันเทิงจากตะวันตก ทั้งภาพยนตร์และหนังสือ

ในภาพมีโฆษณา เรื่อง แปลโดย จูเลียต (ชนิต สายประดิษฐ์)


ภาพยนตร์ต่างประเทศได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคหลังปี พ.ศ. 2470 ที่ภาพยนตร์เสียงเข้ามาแทนที่หนังเงียบ และผู้มีส่วนสำคัญคือ นักพากย์ผู้มีชื่อเสียงแห่งยุค ทิดเขียว(สิน สีบุญเรือง) บุตรชายของเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์

ทิดเขียวได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เชื่อมโลกภาพยนตร์เข้ากับชาวไทย ให้ก้าวข้ามกำแพงภาษาด้วยการพากย์ที่ไม่เพียงทำได้หลายโทนเสียง พากย์ภาพยนตร์ทั้งเรื่องเพียงคนเดียว แต่ยังเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์ ความนิยมในตัวนักพากย์ ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดหนังไทยแบบพากย์เสียงในเวลาต่อมา เรียกได้ว่าทิดเขียวเป็นผู้บุกเบิกอาชีพนักพากย์ที่ต่อเนื่องมาอีกหลายทศวรรษ นักพากย์ที่มีชื่อเสียงหลายคนเป็นศิษย์ของทิดเขียว หนึ่งในนั้นคือ พร้อมสิน สีบุญเรือง ผู้เป็นบุตรชาย

ส่วนประวัติศาสตร์หน้าแรกของภาพยนตร์ไทย โดยคนไทย คือเรื่อง โชคสองชั้น ออกฉายในปี พ.ศ.2470 เป็นผลงานของ พี่น้องตระกูลวสุวัต นำโดย มานิตย์ วสุวัต(หลวงกลการเจนจิต) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง ก่อนหน้านี้พี่น้องวสุวัตช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สร้างในสังกัดบริษัทยูนิเวอร์แซล ที่เข้ามาถ่ายทำเรื่อง นางสาวสุวรรณ ภาพยนตร์ไทยที่สร้างโดยชาวต่างชาติ ในปี พ.ศ. 2465 เพื่อเรียนรู้วิธีการถ่ายทำภาพยนตร์

โชคสองชั้นเป็นหนังขาวดำและไม่มีเสียง ต่อมาได้พี่น้องวสุวัติ ได้พัฒนาหนังเสียงขึ้นในนามบริษัท เสียงศรีกรุง และสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์มาตรฐานสากล ที่ทุ่งบางกะปิ แล้วเสร็จ ปี 2478 ได้ฉายาว่า 'ฮอลลีวูดเมืองไทย' (อยู่บริเวณ ถนนอโศกในปัจจุบัน) เสียงศรีกรุงผลิตภาพยนตร์ข่าวและสารคดีมากถึง 40-50 เรื่อง และภาพยนตร์อีกประมาณปีละ 3-4 เรื่องในจำนวนนี้มี 'หนังระดับซูเปอร์' 2 เรื่องคือ เลือดทหารไทย(ดังกล่าวข้างต้น) และ เพลงหวานใจ สร้างดาราคู่ขวัญ คือ จำรัส สุวคนธ์และมานี สุมนนัฎ เช่นเดียวกับที่ฮอลลีวูดมี เฟรด แอสแตร์ และจินเจอร์ โรเจอร์ นับเป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่ายุคทองของหนังไทยช่วงตั้งต้น ก่อนที่จะซบเซาลงเนื่องด้วยผลกระทบจากสงคราม

น่าเสียดายที่ภาพยนตร์ในยุคหายไปเกือบหมดสิ้น เหลือเพียงเศษฟิล์ม เรื่องเลือดชาวนา ที่ออกฉาย ในปี พ.ศ.2479

นอกจากเสียงศรีกรุง ผู้สร้างภาพยนตร์เวลานั้นยังมี บริษัทไทยฟิล์ม นำโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล สร้างโรงถ่ายที่ทุ่งมหาเมฆ และมีผลงานที่โดดเด่น คือเพลงประกอบภาพยนตร์ที่กลายเป็นเพลงไทยคลาสสิค เช่น บัวขาว ลมหวน เป็นต้น กล่าวได้ว่า ภาพยนตร์ไทยเดินตามรอยภาพยนตร์ฮอลลีวูดในเวลานั้น(ทศวรรษ 1930) ที่นิยมภาพยนตร์เพลง


วรรณกรรมยุคใหม่

ในทำนองเดียวกับภาพยนตร์ แวดวงวรรณกรรมไทยก็ที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก ส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของรูปแบบและเนื้อหาอย่างสำคัญ เรียกได้ว่าเป็นยุคใหม่ของวรรณกรรมไทย

ในส่วนของรูปแบบ วรรณกรรมประเภทร้อยแก้วเข้ามาแทนที่ร้อยกรอง ขณะที่ทางด้านเนื้อหาพัฒนาไปตามอุดมการและค่านิยมใหม่ๆ ที่มีต้นกำเนิดจากโลกตะวันตก เช่น ประชาธิปไตย ความเสมอภาค รวมไปถึงสิทธิสตรี ฯลฯ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการส่งเสริมการศึกษา ที่เริ่มขึ้นในสมัย ร.5 ทำให้สามัญชนได้รับการศึกษาเพิ่มมากขึ้นและในระดับที่สูงขึ้น จำนวนหนึ่งได้ไปศึกษาในต่างประเทศ รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในโลกตะวันตกเข้ามาถึงเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ วิทยุ แผ่นเสียง ฯลฯ ส่งผลให้โลกทัศน์ของคนไทยที่มีการศึกษาเปลี่ยนไป

วรรณกรรมในช่วงทศวรรษ 1930 (พ.ศ.2473-2482) เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเสนอความจริงของชีวิตและสังคม ให้ความสำคัญกับความสมจริง และเล่าถึงคนธรรมดาสามัญ แทนเรื่องราวของคนชั้นสูงแบบในวรรณคดี อาทิ งานเขียนของศรีบูรพาเรื่อง ลูกผู้ชาย ที่เสนอว่า ความเป็นลูกผู้ชายไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิดหรือ ยศศักดิ์ แต่อยู่ที่ความมานะบากบั่นในการร้างตนเองและมีคุณธรรม ส่วนเรื่อง สงครามชีวิต แม้ได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง รักของผู้ยากไร้ (Poor People) ของ นักเขียนรัสเซีย ดอสโตเยฟสกี้ (Dostoyevsky) แต่มีจุดมุ่งหมายที่จะสะท้อนความเลื่อมล้ำในสังคมไทย และกล่าวถึงความเสมอภาคของคน ที่ยังไม่เคยได้รับนำเสนอในวรรณกรรมไทยมาก่อน

แนวคิดและค่านิยมใหม่ๆ ปรากฎให้เห็นชัดเจนในผลงานของผู้สร้างวรรณกรรมในยุคนั้น ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่และได้รับการศึกษาสูง เช่น เเรื่อง ศัตรูของเจ้าหล่อน ของดอกไม้สด พูดถึงความรัก ในทรรศนะใหม่ และต่อต้านประเพณีการคลุมถุงชน ส่วน ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เขียน ละครแห่งชีวิต โดยมองว่า ชีวิตเป็นมายาโลดแล่นไปตามโชคชะตา เปรียบได้กับละคร กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างความรักกับการแต่งงาน และต่อต้านสังคมแบบมากภรรยา

ด้านร้อยกรอง ไม่เพียงลดความสำคัญลง ต่างจากในอดีตที่ผลงานการประพันธ์จะอยู่ในรูปร้อยกรองแทบทั้งหมด ผลงานร้อยกรองในยุคนี้เริ่มให้ความสำคัญกับแนวคิดไม่ยิ่งหย่อนกว่าฉันทลักษณ์และความไพเราะของภาษา ส่วนใหญ่จะเป็นบทร้อยกรองขนาดสั้น เช่น สามัคคีเภทคำฉันท์ ของชิต บุรทัต ผลงานของเจ้าพระยาธรรม ศักดิ์ มนตรี (ครูเทพ)ที่มุ่งแสดงความเห็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา เช่นเรื่อง ภัยเงียบ ที่พูดถึงการควบคุมเศรษฐกิจของชาวจีนในเมืองไทย เป็นต้น

กลุ่มผู้ผลิตวรรณกรรม ไม่ได้แยกเป็น นักเขียน นักประพันธ์ กวี หรือนักหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้อาจจะด้วยในเวลานั้น หนังสือพิมพ์เป็นสื่อหลักที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความคิดเห็น ทั้งในรูปบทความและนวนิยายที่ส่วนใหญ่จะเขียนลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ก่อนพิมพ์รวมเล่ม


ในเวลานั้นนักเขียนและกลุ่มปัญญาชนส่วนใหญ่รวมกลุ่มกันเพื่อพบปะ และสร้างสรรค์งานวรรณกรรม รวมถึงทำหนังสือพิมพ์ เพื่อแสดงทรรศนะและข้อคิดเห็นต่างๆ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น หนังสือพิมพ์ ไทยเขษม รวมกลุ่มนักเขียนที่เป็นนักการศึกษาและมีความรู้ทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างดี อาทิ พระยาอนุมานราชธน-ยง เสฐียรโกเศศ(เสฐียรโกเศศ), พระสารประเสริฐ-ตรี นาคะประทีป(นาคะประทีป), สง่า กาญจนาคพันธุ์(ขุนวิจิตรมาตรา), ม.ล. บุปผา นิมมานเหมินทร์ (ดอกไม้สด)

ในเวลาเดียวกัน กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) ก็ชักชวนกลุ่มเพื่อนักเขียนหนุ่มหัวก้าวหน้า มารวมตัวกัน ในนาม กลุ่มสุภาพบุรุษ ซึ่งเดิมมีผู้ก่อตั้ง 10 คน อาทิ มาลัย ชูพินิจ (แม่อนงค์) อบ ไชยวสุ

(ฮิวเมอริสต์) โชติ แพร่พันธ์ (ยาขอบ) เป็นต้น ต่อมา มีผู้สมทบอีก 8 คน อาทิ ฉุน ประภาวิวัฒน์(นวนาค) พัฒน์ เนตรรังษี(พ.เนตรรังษี) ชิต บุรฑัต(แมวคราว) ถือว่าเป็นกลุ่มปัญญาชนสำคัญ ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กลุ่มสุภาพบุรุษร่วมกันออกหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” รายปักษ์ ในปี 2472 โดยกุหลาบทำหน้าที่บรรณาธิการ แม้ได้ชื่อเป็นหนังสือพิมพ์ แต่เนื้อหาประกอบด้วยบทความ เรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย ตอบปัญหา ฯลฯ ซึ่งจัดเป็น Literary Magazine มากกว่าเป็นลักษณะ ข่าวสาร เศรษฐกิจ การเมือง หรือ Current Newspaper แต่ที่ใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ อาจเป็นเพราะในตอนนั้นยังไม่มีคำว่า 'นิตยสาร'

สุภาพบุรุษฉบับแรกพิมพ์จำนวน 2,000 เล่ม ขายหมดทันที และมีผู้สมัครเป็นสมาชิกประจำถึง 500 คน ในขณะที่ประชากรไทยมีประมาณ 18 ล้านคน ว่ากันว่าในยุครุ่งเรื่องมีนักเขียนในกลุ่มถึง 40 คน


บทความ คณะสุภาพบุรุษกับวรรณกรรมราษฎร โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในหนังสือ ปรีดีศึกษา และปาฐกถาศิลปกับสังคม วิเคราะห์ว่า “การเกิดขึ้นของคณะสุภาพบุรุษ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย และเป็นพัฒนาการของงานเขียนเรื่องร้อยแก้วแนวใหม่ และสถาปนาสถานะของ “นักเขียน” ในฐานะอาชีพอิสระที่มีพันธะความรับผิดชอบต่อราษฎรมากกว่าต่อเจ้านายหรือรัฐ ทั้งยังอาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ช่วยบุกเบิกการสร้างสรรค์วรรณกรรมสมัยใหม่ที่ตัดขาดจากวรรณกรรมในอดีต นำเสนอแนวความเชื่อสมัยใหม่ของกระฎุมพีหรือคนชั้นกลางผู้มีฐานะ ที่มีความเชื่อและโลกทัศน์แตกต่างจากทัศนคติในการประพันธ์ของคนชั้นสูงในยุคนั้น


"นอกจากนั้น คณะสุภาพบุรุษ ยังสร้างให้การเขียนหนังสือจากการ “เขียนเล่น” เป็น “งาน” อย่างหนึ่ง และเป็นนิตยสารเล่มแรกที่มีนโยบายการจ่ายค่าเรื่องให้แก่ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ จึงอาจกล่าวได้ว่า กุหลาย สายประดิษฐ์ และ “คณะสุภาพบุรุษ” คือต้นกำเนิดของระบบนักเขียนอาชีพในประเทศไทย”


แม้หนังสือสุภาพบุรุษรายปักษ์จะขายได้ดี แต่ต้องปิดตัวลงหลังดำเนินงานได้เพียงปีเศษ เนื่องจากปัญหาการบริหารงาน และ “ศรีบูรพา” ต้องการกลับไปทำงานข่าวด้วยเห็นว่ามีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า


จากนั้น กุหลาบและคณะสุภาพบุรุษได้ทำหนังสือพิมพ์หลากหลายฉบับ ประสบปัญหามากมายสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างปัญญาชนกับรัฐบาลในเวลานั้น อาทิ การลาออกจากหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ หลังหลวงวิจิตรวาทการ เข้ามาถือหุ้น และเปลี่ยนนโยบายไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล


กุหลาบ สายประดิษฐ์ เดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมที่ญี่ปุ่น เมื่อกลับมา ใน ปี พ.ศ.2480 เขาเขียนหนังสืออยู่กับบ้าน รวมถึงเรื่อง ข้างหลังภาพ ซึ่งมีฉากในญี่ปุ่น ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในประชาชาติรายวัน ต่อมากุหลาบจะรวมกลุ่มสุภาพบุรุษขึ้นใหม่ เพื่อทำหนังสือพิมพ์ โดยครั้งนี้ตั้งใจทำในรูปแบบหนังสือพิมพ์รายวัน ชื่อ สุภาพบุรุษรายวัน ในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นปีเกิดของคุณหญิงจำนงศรี


ธิดาสองตระกูลคหบดี


ท่ามกลางไฟสงครามที่ใกล้เข้ามา ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง หากแต่เต็มไปด้วยสีสันทางวัฒนธรรม คุณหญิงจำนงศรี ถือกำเนิดมาพร้อมกับโชคในชีวิต ได้เกิดในตระกูลที่มีความมั่นคงถึง 2 ตระกูลคือ หวั่งหลี และล่ำซำ



บิดาและมารดาของคุณหญิง คุณจุลินทร์ และ คุณสงวน(หวั่งหลี) ล่ำซำ



คุณจุลินทร์ ล่ำซำ บิดาของคุณหญิง เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายอึ้งยุกหลงและนางทองอยู่ ล่ำซำ เกิดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2447 ณ บ้านหวั่งหลี ธนบุรี เรียนชั้นต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ก่อนจะไปเรียนต่อที่ฮ่องกงเป็นเวลา 4 ปี จากนั้นไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษาด้านการพาณิชย์และเศรษฐศาสตร์


คุณปู่และคุณย่าของคุณหญิง นายอึ้งยุกหลงและทองอยู่ ล่ำซำ


เมื่อกลับมาเมืองไทย คุณจุลินทร์เริ่มต้นธุรกิจด้วยการช่วยกิจการของบิดาและพี่ชาย(โชติ ล่ำซำ) โดยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการบริษัทป่าไม้ล่ำซำ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือ พร้อมทั้งรับตำแหน่งผู้จัดการโรงเลื่อยไม้กวงกิมหลง ซึ่งเป็นธุรกิจแปรรูปไม้เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ

กิจการภายใต้การนำของคุณจุลินทร์ขยายกว้างออกไป จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2479 ผลกระทบจากนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลในเวลานั้น ที่ต้องการกดดันให้บริษัทอังกฤษที่ได้รับสัมปทานป่าไม้ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลไทยในอดีตคืนสัมปทานกลับเป็นของรัฐ ส่งผลกระทบถึงบริษัทป่าไม้ล่ำซำ ซึ่งเป็นบริษัทของเอกชนทำให้ต้องยุติกิจการการทำไม้และโรงเลื่อย เป็นเหตุให้นายอึ้งยุกหลงต้องยกบ้านสิญญาณ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่อยู่ร่วมกันของครอบครัวล่ำซำ ให้กับธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เพื่อใช้หนี้แทนบริษัทและย้ายไปอยู่บ้านหลังเล็กกว่าเดิมมากบนถนนคอนแวนต์ ส่วนบิดามารดาของคุณหญิงย้ายไปอยู่ที่บ้าน

ตระกูลหวั่งหลี บนถนนสาธร


บ้านสิญญาณ


คุณหญิงเล่าถึงช่วงเวลาพลิกผันและฟื้นคืนในตอนนี้ไว้ในหนังสือ น้ำใสสะอาดที่นิ่งอยู่ในขัน อนุสรณ์ชีวิต นายไพโรจน์ ล่ำซำ ว่า “...ธุรกิจที่ทำให้ครอบครัวคืนสถานะขึ้นมาได้ในเวลาต่อมา คือ Loxley Rice Company Limited ซึ่งคุณปู่อึ้งยุกหลงทำสัญญาก่อตั้งร่วมกับ นักธุรกิจชาวอังกฤษชื่อ แอนดรูว์ บีตตี (Andrew Beattie) ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2479 (ตรงกับวันครบรอบวันเกิด 32 ปีของคุณพ่อ) ภายในปีเดียวกับที่ได้สูญเสียบ้านสิญญาณไป บริษัทนี้ได้จดทะเบียนเป็นทางการในนามบริษัทล๊อกสเลย์ ไรซ์ กัมปะนี (กรุงเทพฯ) จำกัด ใน วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2480 เพื่อการค้าข้าว ต่อมาทางฝ่ายไทยได้ซื้อหุ้นหมด

ของกลุ่มบีตตี อันเป็นจุดเริ่มต้นที่มาของบริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)”

นอกจากเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและบริหาร Loxley Rice Company Limited คุณจุลินทร์ยังเปิดบริษัทอ่าวสยามเดินเรือ ประกอบกิจการผู้แทนบริษัทเดินเรือในการรับส่งสินค้า

ก่อนหน้าคุณหญิงเกิดไม่นานนัก มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของตระกูลล่ำซำ เหตุจากโจรบุกเข้าปล้นบ้านบนถนนคอนแวนต์ และยิงนายอึ้งยุกหลง ล่ำซำ เสียชีวิต ในวันที่ 10 ตุลาคม 2482


หนังสือพิมพ์ในเวลานั้นลงข่าวการเสียชีวิตของนายอึ้งยุกหลง

คุณหญิงเล่าไว้ว่า “คุณปู่อึ้งยุกหลงถูกโจรบุกเข้าปล้นบ้านบนถนนคอนแวนต์และโดนยิงตายต่อหน้าคุณอาเล็ก ล่ำซำ โจรที่ว่านี้จะเป็นโจรธรรมดาที่เข้ามาปล้นเอาทรัพย์สิน(ตามปากคำของคุณอาเล็ก) หรือจะเป็นพวกอั้งยี่ไม่มีใครทราบแน่ชัด” หนังสือพิมพ์ประชาติ ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2482 รายงานว่า โจรผู้นี้ได้ยิงต่อสู้กับตำรวจและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

แม้เหตุการณ์นี้จะนำมาซึ่งความเศร้าสลดของครอบครัว แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบในทางธุรกิจ ด้วยในเวลานั้นลูกๆ ของนายอึ้งยุกหลง ล้วนประกอบกิจการเป็นหลักฐานอยู่แล้ว

ในปีที่คุณหญิงเกิด บิดาขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น กิจการหลักของบริษัทคือนำเข้าและส่งออกสินค้า ทั้งเป็นแกนนำสำคัญในการส่งเสริมนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของคนไทยในด้านการค้าขาย


คุณสงวน ล่ำซำ มารดาของคุณหญิง


ทางด้านมารดา คุณสงวน หวั่งหลี เป็นบุตรสาวคนเดียวของ นายตันลิบบ๊วยผู้นำกลุ่มทุนหวั่งหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของกลุ่มผู้ค้าข้าว ผู้เป็นเจ้าของสัดส่วนร้อยละ 50 ของการผลิตข้าวจากโรงสีทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งห้างฮ่วงหลีจั่น รับแลกเปลี่ยนและส่งเงินตราต่างประเทศ อันเป็นรากฐานของธนาคารหวั่งหลีในเวลาต่อมา และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง หอการค้าไทย-จีน โดยนายตันลิบบ๊วยรับตำแหน่งเป็นนายกสมาคมรวม 2 สมัย


คุณหญิงเล่าถึงคุณแม่ไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ยินมาตั้งแต่จำความได้ว่า คุณแม่เป็นผู้หญิง 1 ใน 2 คน ที่สวยที่สุดในสังคมพระนคร จนบัดนี้ข้าพเจ้าก็ยังสงสัยว่าใครหนอที่เป็นคนสวยสุดอีกคนหนึ่ง นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนและมีฝีมือการทำอาหารเป็นที่ขึ้นชื่อ”

บิดาของคุณหญิงได้เขียนเล่าถึงภรรยาผู้เป็นที่รักยิ่งว่า “เขาเป็นธิดาคนเดียวของนายตันลิบบ๊วยและนางแจ่ม หวั่งหลี นายตันลิบบ๊วยมีบุตรชายรวม 7 คน ซึ่งตำราทำนายของจีนเรียกว่า “ซิดแชโก๊อวย” แปลว่า ดาว 7 ดวงล้อมจันทร์เดี่ยว ฉะนั้นเขาจึงอยู่ในฐานะที่เป็นมิ่งขวัญของวงศ์ตระกูล...สงวนได้เข้าสู่พิธีวิวาห์กับฉัน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2475 หลังจากที่ฉันกลับจากการศึกษาในต่างประเทศแล้ว”


คุณจุลินทร์และคุณสงวน ล่ำซำ ที่เซี่ยงไฮ้

คุณพ่อและคุณแม่ของคุณหญิงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน โดยคุณย่าของคุณหญิง คือคุณทองอยู่ (สกุลเดิม หวั่งหลี) เป็นน้องสาวของ นายตันลิบบ๊วย คุณตาของคุณหญิง คุณหญิงเขียนเล่าถึง เรื่องราวของคุณพ่อ คุณแม่ไว้ว่า “คุณยายแจ่ม(แจ่ม หวั่งหลี) เล่าให้ฟังว่า การแต่งงานของลูกพี่ลูกน้องคู่นี้ มิได้เป็นการจัดโดยผู้ใหญ่ เพราะคุณยายไม่ได้อยากให้ลูกสาวแต่งงาน เนื่องจากปัญหาสุขภาพ แม่ข้าพเจ้ามีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงมาตั้งแต่เล็ก ต้องลาออกจากโรงเรียนก่อนสิ้นวัยเรียน ที่แต่งงานกันก็เพราะพ่อของข้าพเจ้าตกหลุมรักญาติผู้น้อง และให้คุณย่า(ทองอยู่ ล่ำซำ) เพียรมาขอแล้วขออีกถึง 2-3 หน..เมื่อสงวนลูกสาว

คนเดียวของคุณยายแต่งงาน..คุณยายก็จัดให้ลูกเขยเข้ามาอยู่ในบ้านและให้การปรนนิบัติดูแลตามแบบฉบับของคุณยาย”


บิดาของคุณหญิงเล่าถึงชีวิตการครองคู่ไว้ว่า “ชีวิตของเราทั้งสองเป็นที่ราบรื่น เปี่ยมด้วยความสุขและเห็นอกเห็นใจกันเป็นอย่างยิ่ง”


คุณหญิงจำนงศรี นั่งบนตักบิดา คุณจุลินทร์ ล่ำซำ ขนาบข้างด้วยพี่ชาย

ด้านซ้ายคุณไพโรจน์ ล่ำซำและด้านขวาคุณโพธิ์พงษ์ ล่ำซำ

ภายใต้ความสมบูรณ์และสุขสงบของครอบครัว ในสภาวะแวดล้อมของความผันผวนทางการเมือง สงคราม และฉากใหม่ๆ ทางวัฒนธรรมเช่นนี้ คุณหญิงจำนงศรี หรือ จำนงศรี ล่ำซำ ในเวลานั้น ถือกำเนิดในวันที่ 30 ธันวาคม 1939 (พ.ศ.2482) เป็นน้องสาวคนแรกของพี่ชาย 2 คน คือ ไพโรจน์ และ โพธิ์พงษ์ ล่ำซำ อายุ 6 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ

 


ดู 43 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page