top of page

หัวหินในความเปลี่ยนแปลง (1)

(1959-1979/พ.ศ.2502-2522)


คุณหญิงจำนงศรี พ.ศ. 2502


...

When I was eighteen

the sea spoke to me

of dreams and of mysteries

of changes and of love,

….

we were friends

in those pensive days

the lyrical sea and I

(ส่วนหนึ่งของ บทกวี Hua Hin โดย Chamnongsri Rutnin)


คุณหญิงจำนงศรีเล่าว่า เมื่อจากบ้านไปไกล สิ่งหนึ่งที่คิดถึงมากคือหาดหัวหิน หัวหินเป็นสถานที่ ที่ตั้งแต่เล็กเลย เราจะไปหัวหินกัน เพราะว่าครอบครัวของคุณยาย มีบ้านชื่อว่า บ้านเนาว์สุข อยู่ที่หาดหัวหิน สมัยนั้นหัวหินยังไม่มีนักท่องเที่ยว การเดินทางไปหัวหินแต่ละที ใช้การนั่งรถไฟ หรือถ้าจะขับรถไป ก็จะใช้เวลาเป็นวัน ส่วนใหญ่เลยจะนั่งรถไฟไป แล้วที่เราจำกันได้ดีที่สุดก็คือ เวลาที่รถไฟหยุดแต่ละสถานี ก็จะมีคนเอาไก่ย่างอะไรต่ออะไรมาขาย สนุกมาก


"แล้วเวลาไปทีหนึ่งก็ไปเป็นเดือน เพราะว่าใช้เวลาในการเดินทาง และเดินทางยาก คล้าย ๆ อพยพบ้านไปเลย ในสมัยนั้นโรงเรียนปิดทีหนึ่ง 2-3 เดือน พวกเด็กๆ ก็ไปอยู่ที่นั่นหมดเลย เพราะฉะนั้น หัวหินก็เลยจะมีอิทธิพลกับชีวิตมาก” เป็นที่มาของบทกวี Hua-Hin ในหนังสือเล่มแรกของคุณหญิง On The White Empty Page


"ตอนเป็นสาวแล้วกลับมาจากอังกฤษ อยู่อังกฤษ 7 ปี แล้วไม่ได้กลับมาเมืองไทยเลย สิ่งที่คิดถึงมาก ก็คือ หาดหัวหิน ตอนที่กลับมาปลายปี 1958 ได้กลับไปหัวหินแล้วมันรู้สึกยังไงเราก็เขียน"



คุณหญิงจำนงศรีและท่านผู้หญิงอรสา ล่ำซำ



ต้นทศวรรษที่ 1960 ‘หัวหิน’ สถานที่ ‘ตากอากาศ’ หนึ่งเดียวของสยามนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รุ่งเรืองถึง จุดสูงสุด ดังปรากฏในเรื่อง ‘ปริศนา’ นวนิยายดังของยุค ที่ว่า เมื่อถึงในฤดูร้อน “ใครๆ ก็ไปหัวหิน” สถานีรถไฟหัวหิน ตลาดฉัตรไชย และโรงแรมรถไฟ คราคร่ำด้วย หนุ่มสาวจากกรุงเทพ ในเครื่องแต่งกายทันสมัย เคล้าเสียงเพลงร็อคแอนโรลของ เอลวิส เพรสลีย์


ในเวลาเดียวกัน รถบรรทุกทหารอเมริกันจากโคราชพากันไปชายหาดที่ใกล้กว่านั้น ‘พัทยา’ และไม่ช้านาน

พัทยาเปลี่ยนจากหมู่บ้านประมงเล็กๆ กลายเป็นแหล่งบันเทิงริมทะเล ขึ้นครองตำแหน่งสถานที่ ‘ท่องเที่ยว’ ยอดนิยมทั้งสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลให้ปลายทศวรรษที่ 1970 หัวหินเข้าสู่ยุคโรยรา โรงแรมรถไฟที่หรูหราเงียบเหงาลง เช่นเดียวกับสถานีรถไฟหัวหิน บ้านพักตากอากาศถูกปล่อยทิ้งร้าง

โลกนับแต่ทศวรรษ 1960 เคลื่อนไปในอัตราเร่งของร็อคแอนโรล ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลา

2 ทศวรรษ นับแค่ปี 1960-1979 มากมายมหาศาลยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นในระยะเวลาสองร้อยปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นยุคสมัยของความขัดแย้งตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ประเทศ ไปถึงระดับโลก


สองทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สิ่ง ‘จำเป็น’ ในศตวรรษที่ 21 อย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อินเตอร์เน็ต ตู้เอทีเอ็ม ระบบ GPS ในรถยนต์ รวมถึง วิดีโอเกม ล้วนมีที่มาจากสิ่งที่ได้รับการคิดค้นขึ้นในยุคนี้


สังคมไทยภายใต้รัฐบาลทหาร ก้าวสู่ยุค ‘พัฒนา’ และ‘ความทันสมัย’ โดยมี ‘ประเทศพัฒนา’ อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นต้นแบบ เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ ความก้าวหน้า ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ การสาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ทุกสิ่งเปลี่ยนไป รวมทั้งโลกทัศน์ของคนในสังคม ที่หมุนไปตามคำขวัญของรัฐบาลที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” นับเป็นครั้งแรกที่ ‘เงิน’กลายเป็นค่านิยมสำคัญในสังคมไทย


ในเดือนกันยายน 1958 (พ.ศ. 2501) หนึ่งปีหลังจากการปฏิวัติของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คุณหญิงจำนงศรีเดินทางกลับประเทศไทย พร้อมพี่ชายคนใหญ่ (ไพโรจน์ ล่ำซำ) คุณหญิงได้บันทึก ถึงความรู้สึกหลังจากเมืองไทยไปร่วม 6 ปีเศษ ว่า


การเดินทางไม่สาหัสสากรรจ์เหมือนขาไป เพราะเครื่องบินเปลี่ยนเป็นเครื่องประเภทไอพ่นแล้ว ตอนนั้นกลับมาเห็นกรุงเทพฯ ไม่เหมือนกลับบ้านเลยสักนิด เหมือนมาที่ไหนที่ไม่เคยอยู่ ทุกอย่างดูเปลี่ยนแปลงไป ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางดูแปลกไปหมด คลองที่เคยมีอยู่ทั่วทุกแห่งหายไปกลายเป็นถนน กลับไปนอนบ้านสำเหร่ ถึงแม้ยังมีเสียงกบเขียดหริ่งเรไร แต่ทุกอย่างดูเหมือนย่อส่วนลง คลองสำเหร่ที่ครั้งหนี่งดูใสและกว้างใหญ่ กลับดูแคบและตื้นเขิน...”


คนรักทะเล


นอกจาก ‘บ้านสำเหร่’ และ ‘บ้านหวั่งหลี’ ในกรุงเทพ ‘บ้านเนาว์สุข’ ที่หัวหิน เป็นอีกสถานที่หนึ่ง อันมีความสำคัญต่อการเติบโตของเด็กหญิงจำนงศรีที่ตามคุณยายมาหัวหิน ตั้งแต่ยังไว้ผมจุก และในความเหงาครั้งเยาว์วัย ได้มีทะเลเป็นเพื่อนใจมายาวนานนับแต่นั้น คุณหญิงเขียนถึงหัวหิน ไว้ในบทนำหนังสือ เข็นครกตัวเบา ว่า



“เมื่อสมัยข้าพเจ้ายังเด็ก หัวหินยังเป็นอำเภอเล็กๆ เงียบๆ มีหมู่บ้านชาวประมงชายทะเลใกล้ๆ ตลาด พระราชวังไกลกังวลตั้งห่างออกไปทางทิศเหนือ มีบ้านไม้ทรงปั้นหยาที่ทาสีเขียวอ่อนๆ บ้าง สีเทาบ้าง สีเนื้อตัดขอบน้ำตาลบ้าง ตั้งเรียงรายอยู่ห่างกันพอประมาณ เป็นแนวขนานไปกับหาดทรายที่ลาดยาว ขาวสะอาด ที่ปลอดเปลี่ยวแทบตลอดวันและคืน


“ตั้งแต่จำความได้ ทุกหน้าร้อนโรงเรียนปิด คุณยายของข้าพเจ้าจะยกทัพหลานยายหลานย่า ไปอยู่หัวหินตลอดช่วงหยุดเทอมยาวถึง 2 เดือน การเดินทางโดยรถไฟใช้เวลานานถึง 7-8 ชั่วโมง กว่าจะถึง

อำเภอเล็กๆ (ในสมัยนั้น) ที่ชื่อหัวหิน ซึ่งมีแต่เสียงลม คลื่น และจักจั่น เรไรร้องระงม ปราศจากเสียง เครื่องยนต์ใด ๆ


“ช่างโกลาหลทุลักทุเลเหมือนอพยพ ทันทีที่ขึ้นรถไฟที่สถานีบางกอกน้อย กรุงเทพฯก็ระเหยหาย จากใจ ที่นั่นชีวิตเด็กน้อยจะจำกัดขอบเขตอยู่ในบริเวณรั้วบ้าน ทะเล และหาดทราย สันทนาการที่จำได้

คือ เป่าแมงช้าง เล่นซ่อนหา ตั้งวงเล่น ‘อีตัก’ ด้วยเม็ดน้อยหน่า หรือหอยทับทิม และใครตื่นเช้า ก็อาจจะได้ตามแม่ครัวไปตลาดด้วย ‘รถตะกร้า” ซึ่งมีเก้าอี้ตะกว้าหวายติดอยู่ช้างๆ ให้ผู้โดยสารนั่ง นอกเส้นทาง โชยของกลิ่นเหงื่อลุงสารถี ผู้มีเรื่องคุยให้ฟังตลอดทาง


“ทะเลที่เคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน เปลี่ยนสีไปตามอารมณ์แสง เปลี่ยนจังหวะไปตามอารมณ์ลม อารมณ์ฟ้า คล้ายจิตมนุษย์ แต่ลึกลงไปถึงกันบึ้งสมุทร ใจข้าพเจ้ารู้ว่า นิ่งใสสยบ เย็น เหมือนจิตมนุษย์

อีกนั่นแหละ


“ทะเลที่เคลื่อนคู่ไปกับเวลา ได้กลายมาเป็นทั้งภาพและเพื่อนชีวิตของข้าพเจ้า เริ่มรู้สึกอย่างนี้ตั้งแต่ เมื่อใดไม่ทราบได้


“ช่วงแรก ก่อนวัย 12 ปี ที่ข้าพเจ้าจากบ้านเกิดเมืองนอนไปเกือบ 7 ปีนั้น ทะเลเป็นเพื่อนเล่น กลางคืนกล่อมให้หลับ เช้ามืดปลูกให้ตื่นมาสบตากัน ส่งเสียงคลื่นชวนมาเล่นกันให้สนุก สดใส มากระโดดโต้คลื่น มาก่อกองทราย มาไล่ปูลม ทะเลเป็นเพื่อนเล่นที่ไม่เรียกร้องอะไร ไม่หนีเราไปไหน พร้อมเสมอที่จะเป็นเพื่อนที่สนิทใจของเด็กกำพร้าแม่ ที่ช่างฝันและเหงาลึก แม้ท่ามกลางหมู่เด็กด้วยกัน


“ช่วงสาวน้อยที่กลับมาจากแดนไกล ทะเลเป็นเสมือนเพื่อนใจ ที่พร้อมฟังความลับหลากหลาย ที่แกว่งไกวอยู่ในอก พร้อมที่จะเข้าใจความรัก ความผิดหวัง ความสมหวังสารพัน เป็นเพื่อนที่ชวนกันเสาะ

ลึกถึงสัจธรรมแห่งความไม่คงที่ของรูปธรรมนามธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าเคยเขียนถึงทะเลไว้ว่า “Its saltness matched the saltness of my tears… Its waves kept rhythm to the ever-changing tunes

of my eighteen years’ heart.. we were friends in those days, the lyrical sea and I ….”


สาวน้อยวัย18 จำนงศรี กลับมาเมืองไทยในปี พ.ศ. 2501 โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ทศวรรษ ที่ 1960


ยุค 60 ถึง 70


ว่ากันว่า ถ้าเปรียบทศวรรษ 1950 เป็นภาพขาวดำ ทศวรรษ1960 ก็คงเป็นภาพสีเทคนิคคัลเลอร์ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่บนโลกไปถึงดวงจันทร์ และเป็นช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ในขณะเดียวกันความขัดแย้งก็ก่อตัวขึ้นในในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษที่ 1970 เรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคสมัยของการต่อต้าน’ ส่งผลให้ทศวรรษที่ 70 เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญของประวัติศาสตร์โลก


หมุดหมายสำคัญของยุค 60 คือการที่มนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ ทศวรรษนี้การแข่งขันระหว่างสองค่ายการเมืองขยายเวทีไกลไปถึงอวกาศ เมื่อสภาพโซเวียตฯ ส่งยูริ กาการิน ขึ้นสู่อวกาศ วันที่ 12 เมษายน 1961 (พ.ศ. 2504) ประธานาธิบดีเคนเนดีประกาศเป้าหมายส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ภายในสิ้นทศวรรษ 1960 และในปีสุดท้ายของทศวรรษ หลังยานอพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรอง เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 (พ.ศ. 2512) เขาประกาศความสำเร็จไว้ว่า “นี่คือก้าวเล็กๆ ของคนคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”


แต่แล้วความภาคภูมิใจในทศวรรษที่ 1960 ก็สิ้นสุดลง พร้อมกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและความ

ล้มเหลวของภาระกิจ อพอลโล13 ประกอบกับสหรัฐฯ สิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากไปกับสงครามเวียดนาม ส่งผลให้ต้องลดงบประมาณในโครงการอวกาศ ยุติโครงการสำรวจดวงจันทร์ หันไปให้ความสำคัญกับสถานีอวกาศแทน เป็นที่มาของโครงการสถานีอวกาศ ‘สกายแล็บ’


อย่างไรก็ตามในยุค 70 มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมากมายบนพื้นโลก อาทิ สตีเฟน ฮอว์กิง พัฒนาทฤษฎีหลุมดำ ขณะที่เทคโนโลยีตัดต่อทางพันธุกรรมเริ่มขึ้นในปี 1973 ต่อมาในปี 1978 หลุยส์ บราวน์ ทารกคนแรกที่ปฏิสนธินอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้วถือกำเนิด และในเดือนธันวาคม 1979 องค์การอนามัยโลกรับรองการหมดไปของไข้ทรพิษ


ทางด้านการบิน ในทศวรรษ 1960 การบินพัฒนาจากเครื่องใบพัดเป็นเครื่องบินไอพ่น และในปี 1970

โบอิ้ง 747 จัมโบเจ็ต เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก ต่อด้วยความเร็วเหนือเสียงของ ‘คองคอร์ด’ ในปี 1976 นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ อีกมาก เช่น เตาไมโครเวฟ โซนีวอล์กแมน ระบบส่งข้อความเสียง โทรศัพท์เคลื่อนที่ รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ


ส่วนเทคโนโลยีสมองกลพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในปี 1975 เมื่อ บิล เกตส์ และ พอล อัลเลน พัฒนาโปรแกรม Microsoft ปีถัดมา สตีฟ จ็อบ และ สตีฟ วอซเนียก ก่อตั้ง บริษัทแอปเปิล ผลิตคอมพิวเตอร์ Apple I และ Apple II แม้ว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังมีการใช้ ในวงจำกัด และอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นความฝันที่ห่างไกล แต่เทคโนโลยีที่ได้รับการคิดค้นขึ้นในยุคนี้ อาทิ ไมโครโพรเซสเซอร์ แผ่นดิสต์ เป็นต้นธารของการเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิตอล


สงครามอินโดจีน


สงครามเวียดนาม เริ่มต้นจากความมุ่งมั่นของสหรัฐที่จะรักษาอิทธิพลของค่ายเสรีนิยมในอินโดจีน สกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ โดยในปี 1965 (พ.ศ. 2508) ประธานาธิบดี ลินดอน จอห์นสัน เริ่มส่งทหารสหรัฐเข้าสู่สมรภูมิเวียดนาม เพื่อสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยในเวียดนามใต้ ต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีน


ปฏิบัติการรบที่หุบเขาเอียดัง ประเทศเวียดนาม พฤศจิกายน 1965

ภาพโดย United States Army - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1742068


สงครามไม่ได้ยุติโดยง่ายแต่กลับทวีความรุนแรงขึ้น และก่อให้เกิดหายนะในสหรัฐฯเอง เด็กหนุ่มจำนวนมากถูกเกณฑ์ไปรบ สูญเสียชีวิต ไม่ก็ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายและมีผลกระทบทางด้านจิตใจ สุดท้ายสมรภูมิเวียดนามส่งผลต่อสังคมโดยรวม และการที่สหรัฐทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปกับสงคราม ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเริ่มถดถอย ส่งผลให้การสนับสนุนจากสาธารณชนลดลง นับแต่ ปี 1968


เมื่อ ริชาร์ด นิกสัน เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 1969 เพื่อแสดงความเข้มแข็งทางการเมืองของสหรัฐ เขายังคงส่งทหารเข้าร่วมรบ ในเวลานั้นมีทหารอเมริกันในเวียดนามกว่าห้าแสนคน อีกทั้งในปีถัดมานิกสันตัดสินใจส่งทหารเข้าร่วมสงครามกลางเมืองเขมร ที่เป็นการต่อสู้ระหว่าง พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) กับฝ่ายสาธารณรัฐเขมรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ

เด็กชาวเวียดนาม รวมทั้ง คิมฟุก เด็กหญิงอายุ 9 ขวบ วิ่งหนีเพลิงไหม้จากระเบิดนาปาล์ม


ชาวอเมริกันหลายแสนคน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวพากันออกมาประท้วงเรียกร้องสันติภาพ เห็นว่าสหรัฐฯไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเวียดนาม รวมถึงประเทศอินโดจีนอื่นๆ การประท้วงขยายวงกว้างขึ้น เมื่อมีการเปิดเผยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเวียดนาม อาทิ การทิ้งระเบิดแบบปูพรม ในช่วงปี 1965-1968 การใช้อาวุธทำลายล้างสูงอย่าง ระเบิดนาปาล์ม ที่ทำให้เกิดไฟลุกไหม้เป็นบริเวณกว้าง หรือ ‘ฝนเหลือง’ ที่เป็นการโปรยสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดรุนแรง ทำลายผืนป่าในเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นที่หลบซ่อนของทหารเวียดกง สารเคมีชนิดนี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์ ทำให้เกิดผื่นคัน ทำลายเนื้อเยื่อตับและไต ทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็ง สารเคมีจากฝนเหลืองยังคงส่งผลกระทบอยู่กระทั่งถึงปัจจุบัน


ข้อมูลเหล่านี้ ส่งผลต่อทัศนคติของชาวอเมริกันต่อสงครามเวียดนาม ว่าการแทรกแซงของสหรัฐฯ ไร้ความชอบธรรมและศีลธรรม ในขณะที่การต่อสู้ของชาวเวียดนามรวมถึงประเทศอื่นในอินโดจีน เป็นไปปกป้องดินแดนของตนเอง


อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีนิกสันยังคงเพิกเฉย และได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งในปี 1972 ด้วยแรงสนับสนุนอย่างถล่มทลายจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัด เขาเปิดสัมพันธ์ทางการฑูตกับจีนและริเริ่มการทำสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธกับสหภาพโซเวียต


มกราคม ปี 1973 สหรัฐถอนทหารออกจากเวียดนามตามข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน 1975 เวียดนามเหนือเข้ายึดไซ่ง่อนเมืองหลวงของเวียดนามใต้ ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม และในปีเดียวกันสงครามกลางเมืองในเขมรสิ้นสุดลง สุดท้ายสงครามกลางเมืองลาวที่เป็นสมรภูมิลับของสองค่ายการเมืองก็ยุติลงตามไปด้วย โดยทุกสมรภูมิค่ายคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายมีชัย


กลุ่มประเทศอินโดจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ เกิดกระแสอพยพครั้งใหญ่ของ ชาวเวียดนามใต้ ลาว และ เขมร เข้ามายังประเทศไทย เพื่ออพยพต่อไปยังประเทศที่สาม ส่วนประธานาธิบดี

นิกสันลาออกเนื่องจากความอื้อฉาวของ คดีวอร์เตอร์เกต ในปี 1974 ที่เป็นการใช้วิธีการสกปรกเพื่อเอาชนะเลือกตั้ง คดีนี้ทำลายศรัทธาของชาวอเมริกันที่เชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ


เบบี้บูมเติบโต


ทศวรรษที่ 1960 เหล่าเบบี้บูมที่ได้รับการเลี้ยงดูตามตำราของ ดร.เบนจามิน สป็อก เติบโตขึ้น พวกเขาโตมาแบบเป็นศูนย์กลางของครอบครัว ได้รับการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของตนเอง มีเสรีภาพ และมีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งยังเป็นผลผลิตของโทรทัศน์ที่แสดงให้เห็นความสวยงามมั่นคงของสถาบันทางสังคม และเปี่ยมด้วยความหวัง


เมื่อ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปีแรกของทศวรรษ 1960 ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดและเกิดในศตวรรษที่ 20 เขากลายเป็นแรงบันดาลใจของคนหนุ่มสาว ที่ตอบรับวาทะของเขาที่ว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติให้อะไรแก่ท่าน แต่ถามตัวท่านเองว่าได้ทำอะไรให้แก่ประเทศชาติ”


คนรุ่นใหม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งภายในและนอกประเทศ อาทิ การรณรงค์เรียกร้อง สิทธิพลเมืองของคนผิวสี การเป็นอาสาสมัครในหน่วยสันติภาพ (Peace corps) เพื่อช่วยพัฒนาประเทศต่างๆ


แต่แล้วความหวังทั้งหมดถูกสั่นคลอน จากเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดีท่ามกลางฝูงชน

ที่เมืองแดลลัส รัฐเท็กซัส ในวันที่ 22 พศจิกายน ปี 1963 อเมริกาก้าวสู่ทศวรรษที่ได้ชื่อว่า ‘สมัยของความรุนแรง(Age of Violence)’ บุคคลสำคัญจำนวนมากถูกลอบสังหาร อาทิ มัลคอล์ม เอ็กซ์ ผู้นำการต่อสู้

เพื่อสิทธิพลเมือง โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี วุฒิสมาชิกและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี รวมทั้ง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขาเป็นผู้รับรางวัลที่อายุน้อยที่สุด และบริจาคเงินรางวัลทั้งหมดให้กับกิจกรรมด้านสิทธิพลเมือง



เช เกบารา ภาพโดย Alberto Korda - Museo Che Guevara, Havana Cuba,


นอกสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางอุดมการของโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้มีการสังหารและลอบสังหารในที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้ง เช เกบารา นักปฏิวัติมาร์กซิสต์ชาวอาร์เจนตินา-คิวบา ผู้นำการปฏิวัติคิวบา ที่ถูกซีไอเอและกองทัพโบลิเวียประหารชีวิตในวันที่ 9 ตุลาคม 1967 เชได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของฝ่ายซ้าย ภาพใบหน้าของเขาที่ถ่ายโดย อัลแบร์โต กอร์ดา ช่างภาพชาวคิวบา กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมต้านในศตวรรษที่ 20


การลอบสังหารและความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ รวมถึงสงครามเวียดนาม ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่าง 'อุดมคติ' ที่เหล่าเบบี้บูมได้รับการปลูกฝังจากสถาบันต่างๆ ทั้งครอบครัว โรงเรียน และสื่อ กับปรากฎการณ์จริงที่เผยให้เห็นด้านที่ซ่อนเร้นหรือถูกมองข้ามในยุคพลาสติก


แรงระเบิดของความขัดแย้ง


ความเป็นจริงของสังคมที่เหล่าเบบี้บูมพบว่า ชีวิตชนชั้นกลางอันมั่นคงสดวกสบายที่พ่อแม่สร้างไว้ ไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม การเลือกปฏิบัติเนื่องจากเชื้อชาติ เพศ รสนิยมทางเพศ หรือสถานะ ทางเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมเหล่านั้น และก่อกำเนิด ‘วัฒนธรรมต้าน’


ภาพโดย S.Sgt. Albert R. Simpson


กลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ปลดปล่อยตนเองจากค่านิยม กฎเกณฑ์ แบบแผน ที่เน้นแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุ จนละเลยตัวตนหรืออัตลักษณ์ของมนุษย์ในสังคมที่มีความหลากหลาย ก้าวออกมาประท้วงสังคมผ่านบทเพลง การแต่งกายและการใช้ชีวิต ที่ได้รับการนิยามว่า ‘บุปผาชน’ ผู้ใช้ดอกไม้ในการเปลี่ยนแปลงสังคม และ ‘ฮิปปี้’ ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพเหนือกฎเกณฑ์ใดๆ ของสังคม หลายกรณีไปไกลสุดโต่งถึงการใช้ยาเสพติด และเสรีภาพทางเพศที่ผู้ใหญ่ไม่ยอมรับ ส่วนพวกเขาเองก็ถือคติว่า “อย่าไว้ใจใครที่อายุเกิน 30”


การใช้ยากัญชาและ LSD เป็นโอสถหลอนจิต ให้เห็นสีสันและโลกที่ไม่มีอยู่จริง ตามแบบ "turn on, tune in, drop out" วลีที่โด่งดังของ ทิโมธี แลรี นักจิตวิทยาผู้สนับสนุนการใช้ยาหลอนประสาท กูรูวัฒนธรรมต้าน ที่กลายมาเป็นคำขวัญของเหล่าฮิปปี้ต่อต้านสังคม ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้ก่อตั้ง สวนทูนอิน และเคยใช้ชีวิตในอเมริกายุค 70 แปลความวลีนี้ไว้ ในหนังสือ หลงกลิ่นกัญชา ว่า “เทอร์น ออน หมายถึงการผลักดันตัวตนเข้าในสภาพมึนเมาเพื่อค้นหาทรรศนะกว้างไกลของชีวิต ทูน อิน การสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยความเมตตากรุณา ดร๊อพ เอาท์ การละทิ้งโลก”


บุปผาชนและดนตรี


ปรากฎการณ์ใหญ่สุดปิดทศวรรษแห่งการต่อต้าน คือ เทศกาลดนตรีวูดสต็อก ในเดือน สิงหาคม 1969 ผู้คนกว่าครึ่งล้านเข้าร่วมในเหตุการณ์ 3 วันแห่งสันติภาพและดนตรี แม้จะมีเซ็กส์ ยาเสพติด และสายฝน

แต่ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นเข้าร่วมมากมาย เช่น จิมิ เฮนดริกซ์, โจแอน เบซ, เดอะฮู ฯลฯ



เทศกาล Woodstock ปี 1969


โลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ปรากฎชัดในศิลปะและดนตรี เนื้อหาเพลงการแสดงถึงความปรารถนา และค่านิยมใหม่ๆ ผ่านดนตรีหลากหลายแนว อาทิ กวีของ บ็อบ ดีแลน นักแต่งเพลงที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เจ้าของเพลง Like a Rolling Stone รวมถึงวงดนตรีที่โด่งดังที่สุดทั้งสองฝากฝั่งมหาสมุทร เดอะบีทเทิ้ล ของสี่หนุ่มชาวอังกฤษ ที่ออกเพลงแรก Love Me Do ในปี 1962 ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1970 จึงไม่มีข่าวใดใหญ่ไปกว่า การประกาศยุบวงของ เดอะบีทเทิ้ล ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวงดนตรี ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์โลก


แนวดนตรีใหม่ๆ เช่น โปรเกรสซีฟร็อค ฟังก์ โซล ถ่ายทอดความเดือดดาลต่อยุคสมัย ด้วยเสียงที่ดังและ ทรงพลัง ดาวเด่นในยุคนี้ อาทิ Rolling Stones, Bruce Springsteen, Pink Floyd, Queen และ David Bowie


ส่วน เอลวิส เพรสลีย์ยังคงโด่งดังในยุค 60 ด้วย It's Now or Never และ Are You Lonesome Tonight? และยังมีเพลงเต้นรำที่นำไปสู่ความคลั่งไคล้ในดิสโก้ของยุค 80 ของ Abba, the Bee Gees และ Donna Summer ปิดท้ายทศวรรษที่ 1970 ด้วยเปิดตัวของ ไมเคิล เจ็คสัน ที่จะขึ้นเป็นราชาเพลงป็อปในทศวรรษต่อมา



ในโลกของแฟชั่นเมื่อเข้าสู่ยุค 60 ผ้าใยสังเคราะห์ชนิดใหม่ทำให้ราคาเสื้อผ้าย่อมเยาลง และมินิสเกิร์ตแฟชั่นใหม่จากลอนดอนเข้ามาแทนที่กระโปรงนิวลุค ส่วนยุค 70 กระแส ฮิปปี้ เข้ามามีอิทธิพลนำไปสู่กางเกงขากระดิ่ง แม็กซี่เดรสพลิ้วๆ กางเกงยีนส์ขาด และผ้ามัดย้อม ขณะที่วงพังก์อย่าง Sex Pistols, the Ramones, the Stooges เป็นที่มาของแฟชั่น ‘พังก์’ อีกรูปแบบของวัฒนธรรมต้าน


นักออกแบบแฟชั่นเริ่มทำการตลาดเสื้อผ้าแนว Mass-Marketing ให้กับผู้ซื้อที่มีฐานะปานกลาง นำไปสู่ยุคของ Gucci, Pierre Cardin, Yves Saint Laurent ฯลฯ และในปี 1974 ไดแอน ฟอน เฟอร์สเตนเบิร์ก เจ้าของแบรนด์ DVF เปิดตัวชุดคลุมท้องอันโด่งดังของเธอ ซึ่งสะท้อนถึงความปรารถนาของผู้หญิงทำงานยุคใหม่ที่ต้องการทั้งความสบายและสไตล์


ป็อป อาร์ต


ป็อป อาร์ต ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของศิลปะในช่วงเวลานี้ มีที่มาจากวัฒนธรรมอเมริกัน ที่เน้นบริโภคนิยม เต็มไปด้วยภาพโฆษณา ส่งผลให้ศิลปะเชิงพาณิชย์ถูกนำไปใช้เพื่อขายทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องล้างจาน กระป๋องซุป รถยนต์ ไปจนถึงภาพยนตร์และดารา


มาริลีน มอนโร ของ แอนดี้ วอร์ฮอล


ศิลปินป็อปอาร์ต สะท้อนกลับภาวะสังคมด้วยการนำเทคนิคศิลปะเชิงพาณิชย์ อาทิ กราฟฟิคดีไซน์ มา

สร้างรูปแบบศิลปะใหม่ๆ เช่น ผลงานของ แอนดี้ วอร์ฮอล ที่วาดภาพกระป๋องซุปของแคมป์เบล และ ใบหน้าของคนดัง เช่น มาริลีน มอนโร ในขณะที่ รอย ลิกเทนสไตน์ มีชื่อเสียงจากภาพเขียนขนาดใหญ่แสดงฉากจากการ์ตูน ภาพวาดเหล่านี้เน้นจุดสีเล็กๆ ให้ดูเหมือนการพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์


ภาพหญิงจมน้ำของ ลิชเทนสไตน์

ภาพจาก Roy Lichtenstein - http://www.lichtensteinfoundation.org/0117.htm, Fair use,


ผลงานของศิลปินป็อปอาร์ต รวมทั้ง วอร์ฮอล และ ลิชเทนสไตน์ เปิดให้ผู้ชมพิจารณาเส้นแบ่ง(ที่อาจจะมีหรือไม่มี) ระหว่าง 'ศิลปะ' กับ 'สื่อพาณิชยศิลป์' และวอร์ฮอลยังริเริ่มการทำงานศิลปะโดยการผลิตแบบอุตสาหกรรมใน ‘โรงงาน’ ที่ใช้พนักงานหลายคนช่วยกันทำงานศิลปะ


ภาพยนตร์ในกระแสเปลี่ยนแปลงสังคม


วันที่ 22 ธันวาคม 1967 The Graduate หนังสะท้อนช่องว่างระหว่างวัยของคนรุ่นใหม่ที่มีค่านิยมต่างจากยุคสมัยของพ่อแม่ ออกฉายรอบปฐมทัศน์ และกลายเป็น 1 ใน 10 หนังทำเงินสูงสุดในยุค 60


วัฒนธรรมต้านมีผลกระทบอย่างมากต่อวงการภาพยนตร์ ผู้สร้างภาพยนตร์เริ่มทำลายข้อห้ามทางสังคม เช่น เรื่องเพศและความรุนแรง แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก อาทิ Easy Rider (1969) ของ เดนนิส ฮอปเปอร์ มุ่งเน้นไปที่การแสวงหาเสรีภาพและโลกทัศน์ที่ขัดแย้งกัน



Easy Rider ภาพจาก IMDB



5 สิงหาคม 1962 มาริลีน มอนโร ดาวเด่นของยุค 1950 เสียชีวิตลง ในขณะที่ยุคสมัยของดาราและระบบ สตูดิโอ คลายอิทธิพลลง


เมื่อเข้าสู่ยุค 70 ถือเป็นยุคทองภาพยนตร์แนวสะท้อนสังคม เป็นช่วงเวลาที่ระบบสตูดิโอในฮอลลีวูด

พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง เปิดให้ผู้กำกับแนวสร้างสรรค์ได้ผลิตผลงานที่โดดเด่น อาทิ มาร์ติน สกอร์เซซี (Mean Streets,1973) สแตนลีย์ คูบริก (2001: A Space Odyssey,1968) ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (The Godfather,1972) รวมถึงหนังว่าด้วยคดีวอเตอร์เกต All the President’s Men,1976 ของ อลัน เจ พาคูลา


ในขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์ ให้กำเนิดภาพยนตร์ ที่น่าตื่นตาตื่นใจของผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ อาทิ จอว์ส (1975) ของ สตีเวน สปิลเบิร์ก และ Star Wars (1977) ของจอร์จ ลูคัส ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นที่มาของคำว่า blockbuster อันหมายถึงหนังฟอร์มยักษ์ทำเงินถล่มทลาย


กระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองขยายมาถึงฮอลลีวูด ในปี 1964 ซิดนีย์ ปอยเตียร์ เป็นนักแสดงผิวดำคนแรก ที่ได้รับรางวัลออสการ์ ในสาขา นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ไม่นับว่าภาพยนตร์ในเวลานั้นยากจะมี ดารานำเป็นคนผิวสี) จากภาพยนตร์เรื่อง Lilies of the Field


งานเขียนเปลี่ยนโลก


ปี 1960 อีโนวิด ยาคุมกำเนิดชนิดแรกออกสู่ตลาด และกลายเป็นหนึ่งในยาขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา สะท้อนให้เห็นความปรารถนาที่จะกำหนดอนาคตตนเองของผู้หญิง หนังสือ The Feminine Mystique (1963) โดย เบตตี้ ฟรีเดน ขายได้ถึง 3 ล้านเล่ม ใน 3 ปีแรก จุดประกายการเคลื่อนไหวของ

ผู้หญิง นำไปสู่การก่อตั้งองค์กรเพื่อสตรีแห่งชาติ (National Organization for Women–Now)



ภาพจาก http://www.abebooks.co.uk,


ก่อนหน้านั้น หนังสือเรื่อง Silent Spring ของราเชล คาร์สัน พิมพ์ออกจำหน่าย ในปี 1962 ไม่เพียงเป็นหนังสือขายดี แต่ยังเป็นหนังสือเล่มแรกที่เตือนผู้คนให้เห็นถึงพิษภัยของสารเคมี ที่ส่งผลกระทบต่อ

สิ่งแวดล้อม และสุดท้ายทำลายอารยธรรมของมนุษย์เอง ส่งผลให้เกิดกระแสตื่นตัวด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม


ต่อมาเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ในปี 1973 และ ปี 1979 นำไปสู่การพัฒนารถประหยัดน้ำมัน รถยนต์ขนาดเล็กจากญี่ปุ่นเข้ามาแทนที่รถอเมริกันคันโต


ทั้งหมดยังส่งผลต่อความเชื่อเรื่องการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเป็นไปโดยตระหนักถึงข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นราคาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ


อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดให้ ทศวรรษที่ 1960 เป็น ‘ทศวรรษแห่งการพัฒนา’ ดังนั้นสำหรับกลุ่มประเทศ ‘ด้อยพัฒนา/กำลังพัฒนา’ หรือประเทศโลกที่สาม รวมถึงประเทศไทย สองทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาของการเร่งสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม


ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม


“พอศอสองพันห้าร้อยสี่ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม

ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี

ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา

ทางการเขาสั่งมาว่า ทางการเขาสั่งมาว่า

ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร

ฝ่ายตาสีหัวคลอน ถามว่าสุกรนั้นคืออะไร

ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด

สุกรนั่นไซร้ คือ หมาน่อยธรรมดา หมาน่อย หมาน่อย ธรรมดา”


ต้นทศวรรษ ที่ 1960 ทั่วทุกหัวระแหงจากเมืองถึงชนบททั่วไทยไม่มีใครไม่รู้จัก ‘ผู้ใหญ่ลี’ เพลงสะท้อนบรรยากาศยุคสมัยการพัฒนาของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คำร้องและทำนองโดย พิพัฒน์ บริบูรณ์ มี ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ภรรยาของคุณพิพัฒน์เป็นผู้ขับร้อง


เพลงนี้เริ่มเผยแพร่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2504 พร้อมกับการ ประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก (พ.ศ. 2504-2509) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศ ภายใต้คำแนะนำของธนาคารโลก และการสนับสนุนของสหรัฐฯ บนพื้นฐานความเชื่อว่า ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจะเป็นเกราะป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์


เมืองไทยใต้รัฐบาลทหาร


ทันทีที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า และวางหลักการ ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ เน้นเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกำหนดมาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ทั้งทางด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ สามารถตัดสินใจเด็ดขาดเกี่ยวกับความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประเทศ


จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


นอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ยังดำรงตำแน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวในการจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มคอมมิวนิสต์ มุ่งเน้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำไปสู่การปราบปรามแบบเด็ดขาด รวมทั้งการประหารชีวิตนายครอง จันดาวงษ์และนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ในเดือนพฤษภาคม 2504


ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ เปิดรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในหลากหลาย

รูปแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ทั้งในชนบทและเขตเมือง โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน ไฟฟ้า ประปา ตามคำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” เพื่อเร่งเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและพัฒนาอุตสาหรรม รวมถึงการเริ่มต้นส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด


เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นทายาททางการเมือง ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา โดยยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเมืองแบบใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา


ทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ มุ่งพัฒนาจากประเทศเกษตรกรรม เป็นประเทศอุตสาหกรรม ทำให้นับจากปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งทอ


แตกต่างจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เน้นการลงทุนโดยรัฐ นโยบายรัฐยุคนี้เน้นการลงทุนของเอกชน โดยรัฐทำหน้าที่จัดหาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงมาตรการทางการเงินและกฎหมาย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน


นโยบายนี้ทำให้รัฐวิสาหกิจลดจำนวนและบทบาทลง ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐทุนนิยมโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ดีภายใต้รัฐบาลทหาร กลุ่มทหารที่มีบทบาทในรัฐบาล ยังคงมีอิทธิพลและผลประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจเอกชนเช่นที่ผ่านมา


เมื่อประกอบกับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ สร้างหลักประกันด้านเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และปลอดภัยจาก การคุมคามของคอมมิวนิสต์ นำไปสู่ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาการเติบโตของธุรกิจเอกชน


นอกจากด้านเศรษฐกิจ ยังมีการพัฒนาด้านสังคมและคุณภาพชีวิต โดยนับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่สอง มีการเพิ่มคำว่า ‘สังคม’ เข้ามา เพื่อเน้นความสำคัญของการพัฒนาสังคม ควบคู่กับเศรษฐกิจ มีการพัฒนาด้านการศึกษา การขยายบริการสาธารณสุขออกสู่ชนบท เป็นต้น


ปฏิวัติเขียว


ในส่วนของภาคเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดโลก เชื่อมโยงภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม มีการส่งเสริมการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วงเวลานี้เป็นยุคปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ที่เริ่มต้นขึ้นที่สหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 1960 มีเป้าหมายสำคัญ คือ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะธัญพืชอันเป็นแหล่งอาหารสำคัญ ให้ทันกับการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก โดยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร อาทิ การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ การชลประทาน การใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนและแรงงานสัตว์ การใช้สารเคมีในการผลิต เป็นต้น


การปฏิวัติเขียวเข้าสู่ประเทศไทยผ่านความช่วยเหลือทางด้านวิชาการเกษตร เพื่อส่งเสริมการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยรัฐสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การชลประทาน และถนนเพื่อขนส่งสินค้า เจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรของรัฐ ทำหน้าที่ในการแนะนำเมล็ดพันธุ์ใหม่ ที่เรียกกันว่า “พันธุ์เกษตร” แนะนำวิธีการปลูก การใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ตอบสนองต่อการขยายตัวของตลาดสินค้าเกษตรกรรม


นอกจากในส่วนของพันธุ์พืชใหม่ ยังมีการนำเข้าพันธุ์สัตว์ที่ได้รับการพัฒนาให้ผลผลิตมากขึ้น อาทิ หมูพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ โตเร็ว ให้เนื้อมากขึ้น ไก่พันธุ์ที่ให้ไข่และเนื้อมากขึ้น เป็นต้น


ผลที่ตามมาก็คือพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง ทั้งจากการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรและการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่น ถนน เขื่อน อ่างเก็บบน้ำ ฯลฯ การสร้างถนนมิตรภาพสู่ภาคอีสานเพื่อความมั่นคง เปลี่ยนดงพญาไฟที่กั้นระหว่างภาคกลางและภาคอีสานกลายเป็นดงพญาเย็น ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ราคาพืชผลสูงขึ้น และชาวนาบุกเบิกที่ดินทำการเกษตร มากขึ้นตามลำดับ


อย่างไรก็ตาม นับจากปลายทศวรรษที่ 1970 ผลกระทบจากการปฏิวัติเขียวได้รับการพูดถึงมากขึ้น อาทิ เมล็ดพันธุ์ใหม่ไม่ทนทานต่อโรค การผลิตต้องพึ่งพิงยากำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ทั้งความเสื่อมโทรมของดิน สารเคมีตกค้างในน้ำและสัตว์น้ำ ขณะที่พันธุ์พืชและสัตว์พื้นเมืองที่พบว่า แม้ให้ผลผลิตน้อยกว่าแต่มีความทนต่อโรคมากกว่า ลดจำนวนลงหรือสูญหายไป


ในส่วนของชาวนา การผลิตที่พึ่งพิงเทคโนโลยี ปุ๋ย ยา นำไปสู่ภาวะหนี้สิน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ในขณะที่ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าเกษตรได้ นำไปสู่วงวนหนี้สิน และการสูญเสียที่ดินทำกิน ผลักดันให้ต้องเข้ามาขายแรงงานในเมือง เกิดการอพยพจากชนบทสู่เมือง ที่แบบถาวรและชั่วคราวเมื่อว่างจากฤดูกาลทำนา


ประการสำคัญ ราคาข้าวยังสัมพันธ์กับนโยบายตรึงค่าแรงขั้นต่ำเพื่อส่งเสริมการลงทุน ทำให้ต้องตรึงราคาข้าวตามมา เพื่อให้ค่าแรงของกรรมกรเพียงพอต่อการครองชีพ


การพัฒนาในรูปแบบนี้ ยังสร้างการเติบโตแบบรวมศูนย์ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพ ที่เป็นทั้งศูนย์รวมการศึกษา แหล่งงาน และความทันสมัย ดึงดูดผู้คนจากชนบทด้วยแรงขับเคลื่อน ของทุนนิยมและบริโภคนิยม ส่งผลต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพ รวมถึงการเกิดขึ้นของคนจนเมือง และแหล่งเสื่อมโทรมในทศวรรษต่อๆ มา


นอกจากนี้ การควบคุมค่าแรงและราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ นำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาชาวไร่ และกรรมกร ในทศวรรษที่ 1970


ถมคลอง ตัดถนน และเลิกรถราง


ในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้น กรุงเทพเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างรวดเร็ว จากราชธานีริมน้ำเจ้าพระยาและมีคลองเล็ก คลองน้อยเป็นเส้นทางคมนาคม ขยายเป็นนครหลวงที่คับคั่งด้วยผู้คนและกิจกรรมทางธุรกิจ มีการตัดถนนขึ้นใหม่และขยายถนนที่มีอยู่เดิม รองรับการขยายตัวของการค้าและบริการ พร้อมกับการถมคลองที่เป็นเส้นทางคมนาคมเดิม อาทิ ในปี พ.ศ. 2504 ถมคลองหัวลำโพง เพื่อขยายถนนพระรามที่ 4 ถมคลองสีลมเพื่อขยายถนนสีลมเป็นถนน 6 เลน ทางด้านประตูน้ำซึ่งเป็นย่านการค้าใหม่ มีการตัดถนนต่อเนื่องจากถนนเพชรบุรีเดิม ต่อเป็นถนนเพชรบุรีตัดใหม่



ถนนสีลม ปี พ.ศ. 2518


ถนนสีลมในเวลานั้นเป็นถนนเส้นใหญ่ที่สวยงามและเชื่อมย่านเก่า คือถนนเจริญกรุง ที่เริ่มคับแคบแออัด กับย่านใหม่ คือถนนราชดำริและประตูน้ำ กลุ่มธุรกิจด้านการเงินการธนาคารย้ายมาตั้งสำนักงานใหญ่บนถนนใหม่เส้นนี้ ทำให้สีลมได้รับฉายาเป็น ‘วอลสตรีท’ เมืองไทย ส่วนธุรกิจเกิดใหม่อย่างการท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งเคยตั้งอยู่ริมแม่น้ำแถวถนนเจริญกรุง เริ่มมาตั้งที่ถนนสีลมมากขึ้นเช่นกัน


จำนวนรถเพิ่มแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะรถส่วนตัว กล่าวคือสมัยรัชกาลที่ 5 รถยนต์ส่วนตัวมี 401 คัน ช่วงหลังสงคราม พ.ศ. 2490 เพิ่มเป็น 3,259 คัน เมื่อถึงยุคปฏิวัติ พ.ศ. 2501 รถส่วนตัวจดทะเบียนมีมากถึง 26,9133 คัน การจราจรคับคั่งมากขึ้น รถรางที่เคยเป็นขนส่งสาธารณะสำคัญ กลายเป็นสิ่งกีดขวางการจราจร จอมพลสฤษดิ์ มีนโยบายให้ยกเลิกรถราง โดยเริ่มทยอยเลิกในปี พ.ศ. 2503 จนกระทั่งหมดสิ้น ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2511 ส่วนในการขนส่งสาธารณะ มีรถจากบริษัทขนส่งและรถของ ร.ส.พ. เป็นผู้ให้บริการแทน


ธนาคารเติบโตมั่นคง

ในการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐส่งเสริมการระดมทุนผ่านธนาคาร และต่อมามีการออก พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ปี พ.ศ. 2505 ห้ามการก่อตั้งธนาคารใหม่ และไม่ให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจธนาคารของไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคง


ธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นกิจการของตระกูลล่ำซำ ย้ายสำนักงานใหญ่จากถนนเสือป่ามาที่ถนนสีลม และในปี พ.ศ. 2504 ผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 3 ได้เพิ่มทุนธนาคารกสิกรไทย จาก 5 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2488 เป็น 14 ล้านบาท


ในเวลานั้น ผู้บริหารคือ คุณเกษม ล่ำซำ ที่เข้ามารับหน้าที่แทนพี่ชาย คุณโชติ ล่ำซำ พี่ใหญ่ของรุ่นที่ 3

ผู้ก่อตั้งธนาคารกสิกรที่เสียชีวิตใน ปี พ.ศ. 2497 เนื่องจากพี่ชายคนกลาง คือ คุณจุลินทร์ ล่ำซำ บิดาของคุณหญิง รับผิดชอบธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด


คุณเกษม ล่ำซำ มีบทบาทสำคัญในการวางระบบธนาคารกสิกรไทย ในรูปแบบของธนาคารอังกฤษ และใช้บริหารแบบสากลแทนบริหารแบบครอบครัวหรือระบบกงสี เขาเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมธนาคารไทย ทั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯ ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี รวมทั้งมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ในการร่างพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ 2505 อันถือว่าเป็น การวางรากฐานให้กับระบบธนาคารยุคใหม่ของไทย


ในช่วงเวลาเดียวกัน คุณเกษมเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก คุณหญิงจำนงศรี บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า “เหตุการณ์ที่ญาติพี่น้องเราไม่มีวันลืมคือ อุบัติเหตุทางอากาศ ที่ทำให้คุณอาเกษมกับน้อย (วัชรีวรรณ ล่ำซำ) ลูกสาวคนโต วัย 14 ปี ต้องเสียชีวิตในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เวลา 00.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อเครื่องบินสายการบินอลิตาเลีย (Alitalia) ที่กำลังพาผู้โดยสารไปกรุงโรม อิตาลี บินชนภูเขา

นิมคีรี ขณะร่อนลงเพื่อเติมน้ำมันที่สนามบินบอมเบย์”


เมื่อคุณเกษม เสียชีวิต คุณบัญชา ล่ำซำ บุตรชายตนโตของ คุณโชติ เข้าบริหารธนาคารกสิกรไทย ด้วย คุณจุลินทร์ อาคนใหญ่ยืนยันว่า ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด ต้องเป็นของ บัญชา ล่ำซำ เท่านั้น ความไว้วางใจของผู้นำตระกูลล่ำซำ ที่มีต่อคุณบัญชาสืบเนื่องมาจากผลงานการบริหารกิจการเมืองไทยประกันชีวิต และการกอบกู้วิกฤติของบริษัท ล่ำซำประกันภัย จำกัด


ในบทความเรื่อง ตระกูลล่ำซำ จอมยุทธ์ผู้เกรียงไกรในยุทธจักรธนาคารพาณิชย์ ของ ธนวัฒน์ ทรัพไพบูลย์ สรุปผลงานของคุณบัญชา ไว้ว่า “ธนาคารกสิกรไทยที่เคยล้มลุกคลุกคลานมาตลอดระยะเวลา 15 ปีแรก ในยุคของผู้เป็นบิดาและของคุณอา ก็สามารถพัฒนาอย่างมาก ในยุคของบัญชา ล่ำซำ ซึ่งเป็นผู้นำตระกูลล่ำซำ รุ่นที่ 4 โดยเฉพาะเมื่อเขาดำเนินแผนพัฒนาธนาคารกสิกรไทย ในช่วง 5 ปีแรก ที่ได้กำหนดไว้ว่า จะเจริญเติบโตให้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยิ่งใหญ่อันดับต้นๆ... เมื่อถึงปี 2519 ธนาคารกสิกรไทยมีจำนวน สาขามากเป็นอันดับสองของธนาคารในประเทศไทย และก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2510 ธนาคารกสิกรไทย เปิดสาขาที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตามด้วยแฮมเบิร์กและนิวยอร์ก”


ไทยในสงครามเวียดนามและอินโดจีน


ไม่อาจปฏิเสธว่า ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงสองทศวรรษหลังปี พ.ศ. 2500 ส่วนสำคัญมีที่มาจากสงครามเวียดนาม


หลังการปฏิวัติ พ.ศ.2500 มาตรการรัฐบาลที่เข้มงวดต่อฝ่ายซ้าย สร้างความพึงพอใจอย่างมากต่อสหรัฐฯ นำไปสู่การให้การสนับสนุนรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์อย่างเต็มที่ และบทบาทของสหรัฐฯ ในไทยยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในลาว (พ.ศ. 2505) สหรัฐฯ พยายามไม่ให้ลาวกลายเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ จึงเร่งส่งอาวุธสนับสนุนฝ่ายขวา คือ เจ้าสุวรรณภูมา และตั้งกองทัพเรือที่ 7 ขึ้นในอ่าวไทย พร้อมทั้งนำฝูงบินทิ้งระเบิดเข้าประจำการที่ภาคอีสาน และนำทหาร 10,000 นายเข้าประจำการในประเทศไทย ประกาศว่าจะให้ความสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มที่ หากถูกโจมตีโดยคอมมิวนิสต์


ต่อมาในยุคสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้อนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ ใช้พื้นที่ในประเทศไทย เป็นฐานปฏิบัติการทางอากาศ ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในเวียดนามและอินโดจีน โดยในปี พ.ศ. 2507 มีเครื่องบินประจําการ 75 ลํา และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครั้นถึงปี 2512 มีจํานวนเครื่องบินกองทัพสหรัฐฯ ในไทยถึง 600 ลํา นำไปสู่คำเปรียบเปรยว่าไทยเป็น “เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม” ของสหรัฐฯ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ไทยได้หารือลับๆ กับสหรัฐฯ ส่งกําลังทหารไปรบในเวียดนาม


ทั้งนี้ไทยในเวลานั้น มีความกังวลต่อการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ โดยเห็นว่า เป็นภัยต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม และศาสนา ในขณะเดียวกันเม็ดเงินของสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการเติบโตอย่างมหาศาลในระบบเศรษฐกิจไทย มีธุรกิจและบริการของเอกชนมากมายที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาสหรัฐ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและบันเทิง


รัฐบาลไทยจัดตั้งองค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ขึ้นในปี 2502 โดยมีเป้าหมายส่งเสริม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ให้ประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนของทหารอเมริกัน โดยเฉพาะ การพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นศูนย์รวมการท่องเที่ยวและบันเทิง ให้เป็นสถานที่พักผ่อนของทหารอเมริกัน มีธุรกิจต่อเนื่องเกิดขึ้นมากมาย ทั้งร้านอาหาร โรงแรม บาร์ ร้านค้า และในเวลาเดียวกันผู้อยู่ในอาชีพขาย บริการก็เพิ่มขึ้นจาก 20,000 คน ในปี พ.ศ. 2501 เป็น 300,000 คน ในปี พ.ศ. 2513


พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)


พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก่อตั้งขึ้นอย่างลับๆ ที่กรุงเทพฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2485) โดยอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เคลื่อนไหวอยู่ในกลุ่มกรรมกรจีน ก่อนถูกกวาดล้างในสมัยจอมพลสฤษดิ์ (พ.ศ. 2500-2501) สำนักงานพรรคถูกทำลาย สมาชิกพรรค กระจายออกสู่ชนบท


ต่อมา ในปี 2504 เดือนพฤษภาคม รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์สั่งประหารชีวิต นายครอง จันดาวงษ์ และ

นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ กลางที่สาธาณะที่บ้านเกิดในจังหวัดสกลนคร ส่งผลให้ พคท.เปลี่ยนยุทธศาสตร์ ในการต่อสู้เป็นการปฏิวัติจากชนบท (ป่าล้อมเมือง) และตั้งศูนย์กลางขึ้นใหม่ในเขตเทือกเขาภูพาน

จ. สกลนคร ในเวลานั้น จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทย เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมสร้างฐานในภาคอีสานให้กับพรรค



จิตร ภูมิศักดิ์


เมื่อสหรัฐเริ่มใช้ไทยเป็นฐานทัพปฏิบัติการสงครามอินโดจีน พคท.ก็ได้รับการสนับสนุนจากจีน และพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ทั้งในด้านอาวุธ อาหารและยา ขบวนการพคท. เข้มแข็งขึ้น ดำเนินการปลุกระดมคนในชนบทให้เข้าเป็นแนวร่วม


ในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 เกิดการปะทะกันครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและ พคท. เรียกกันว่า 'วันเสียงปืนแตก' ต่อมาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินระหว่างชาวบ้านที่บุกเบิกพื้นที่ทำกินใหม่กับรัฐ การใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ การทุจริตคอร์รัปชั่น ส่งผลให้ชาวไร่ชาวนา รวมถึงชนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งเข้าร่วมกับ พคท.


สถานการณ์เลวร้ายลง เมื่อรัฐบาลเร่งปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการรุนแรง เมื่อถึงปี พ.ศ. 2512 รัฐบาลยอมรับว่า การจัดตั้งของ พคท. ครอบคลุม ถึง 35 จังหวัด จาก 71 จังหวัด ทั่วประเทศ นับไปสู่การแสวงหายุทธวิธีใหม่ๆ ในการรับมือของรัฐบาล


วรรณกรรมใต้เงาทหาร


ในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ที่มุ่งขจัดศัตรูทางการเมืองโดยการปราบปรามอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้นักเขียน หัวก้าวหน้าต้องยุติบทบาทลง อาทิ หลังออกจากคุกในปี พ.ศ. 2500 ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

ลี้ภัยไปต่างประเทศและไม่ได้กลับมาอีกเลยจนสิ้นชีวิต อิศรา อมันตกุล ถูกจับโดยปราศจากข้อกล่าวหา พร้อมนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อีกจำนวนมาก เสนีย์ เสาวพงศ์ หันไปทำงานราชการ ลาว คำหอม เปลี่ยนอาชีพ ส่วนนักเขียนบางคนเปลี่ยนแนวการเขียน


ในทางตรงกันข้ามเรื่องแต่งเพื่อความบันเทิงเฟื่องฟู ทั้งเรื่องผี บู๊ล้างผลาญ และนวนิยายรัก ที่เปลี่ยนพระเอกจากขุนนางเป็นนักเรียนนอก อย่างไรก็ตามมีนักเขียนใหม่ๆ จำนวนหนึ่งที่เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองและสังคม


ด้านร้อยกรอง วรรณกรรมร้อยกรองในแนวสะท้อนสังคมและอุดมการใหม่ๆ ที่รุ่งเรืองในช่วง พ.ศ.2495-2500 เช่น งานของนายผี เปลื้อง วรรณศรี อุชเชนี ทวีปวร ฯลฯ หยุดชะงักไป มีการจัดพิมพ์หนังสือเล่ม

ละบาทของชมรมวรรณศิลป์ในมหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่ให้นักกลอน รุ่นใหม่ๆ เช่น อนุสารวรรณศิลป์ ของจุฬาฯ มี ผลงานของ ประยอม ซองทอง จินตนา ปิ่นเฉลียว มะเนาะ ยูเด็น ฯลฯ วรรณศิลป์ของธรรมศาสตร์มี นิภา บางยี่ขัน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ดวงใจ รวิปรีชา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้อยกรองส่วนใหญ่มีลักษณะแสดงอารมณ์และแนวรักชวนฝัน

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2505 สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับปฐมฤกษ์ ตีพิมพ์บทกวี ‘วักทะเล’ ของ อังคาร

กัลยาณพงศ์ เป็นผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ฉันทลักษณ์และเนื้อหา ที่เป็นสัญลักษณ์ซ่อน ‘จิตสำนึกขบถ’ส่งผลให้เกิดงานที่ไม่ต้องเคร่งครัดรูปแบบนักมาถึงปัจจุบัน และมีนักกลอนรุ่นหลังได้รับอิทธิพลจากอังคารทั้งรูปแบบและเนื้อหา เช่น สุจิตต์ วงษ์เทศ วิโรจน์ ศรีสุโร เป็นต้น


ร้อยสำนักประชันฝีมือ


ความคิดวิพากษ์สังคมขยายมากขึ้นในขบวนการนักศึกษาและปัญญาชน หลัง พ.ศ.2505 เมื่อบรรยากาศทางการเมืองคลี่คลายลง เป็นช่วงเวลาที่ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เปิดฉากการวิพากษ์สังคมอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของอิทธิพลของอเมริกัน และผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจ วารสารเล่มนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มนักศึกษาและเยาวชน ต่อมาได้ออกสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ส่งผลให้เกิดนักเขียน นักวิจารณ์รุ่นใหม่จำนวนมาก อาทิ โกมล คีมทอง รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เทพศิริ สุขโสภา ฯลฯ


กลุ่มนักศึกษาในสถาบันต่างๆ ก็ร่วมกันจัดทำหนังสือ เพื่อนำเสนอความคิดใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เจ็ดสถาบัน (เริ่มปี 2506) มีนักเขียนทั้งจากในและนอกสถาบันและจากชมรมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น สำเริง คำพะอุ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อนุช อาภาภิรมย์ วิทยากร เชียงกูล สุชาติ สวัสดิศรี เป็นต้น


กลุ่มมหาวิทยาลัยศิลปากร ออกหนังสือ ช่อฟ้า นำโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ขรรค์ชัย บุนปาน เน้นด้านวรรณกรรมและโบราณคดี ต่อเนื่องไปสู่กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย ใน ปี พ.ศ.2512 ของกลุ่มนักเขียน อาทิ

สุวรรณี สุคนธา ณรงค์ จันทร์เรือง มนัส สัตยรักษ์ ฯลฯ และ ชาวกรุง ที่นำโดยประมูล อุณหธูป กับ ค่าย เฟื่องนคร ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นอกจากนี้ยังมี ธุลีตะวัน 2510 ของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว คลื่นลูกใหม่

ของ เสถียร จันทิมาธร


กระแสความเคลื่อนไหวนี้ส่งผลให้เกิดวรรณกรรมใหม่ๆ ทั้งรูปแบบและเนื้อหา เช่น กระแสสำนึก Stream Conciousness) สัญญลักษณ์กึ่งเหนือจริง(Semi Surrealism) นอกจากงานด้านวรรณกรรม ยังมีบทความและสารคดี ส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมของการสะท้อนสังคม วิจารณ์การเมือง เจาะลึกสภาพที่ตกต่ำของสังคม รวมถึงอิทธิพลของทุนนิยมต่างชาติ


ทางด้าน องค์การ ส.ป.อ.ที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ เริ่มให้รางวัลนวนิยายดีเด่น ส่งผลให้เกิดความคึกคักในวงการนวนิยายมีเนื้อหาใหม่ๆ เกิดขึ้น นวนิยายที่ได้รางวัลคือ เรือมนุษย์ (พ.ศ.2511) ของ กฤษณา

อโศกสิน จดหมายจากเมืองไทย(พ.ศ. 2512) ของโบตั๋น เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. 2513) ของ สุวรรณี สุคนธา และตะวันตกดิน (พ.ศ. 2515) ของกฤษณา อโศกสิน อันเป็นปีสุดท้ายของรางวัลนี้


14 และ 6 ตุลาฯ


การพัฒนาสังคมด้านการศึกษา ส่งผลให้ให้จำนวนมหาวิทยาลัยเพิ่มจาก 5 แห่งในปี พ.ศ. 2504 เป็น 17 แห่ง ในปี พ.ศ. 2515 จำนวนนิสิตนักศึกษาเพิ่มจากราว 15,000 คนเป็นราว 100,000 คน ประการสำคัญการศึกษาในระดับสูงกระจายออกไป คนชั้นกลางระดับล่างในเมืองเล็กๆ รวมถึงในชนบท สามารถเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย


หลังการปฏิวัติยึดอำนาจของกลุ่มนายทหารที่ยาวนานกว่าทศวรรษ เมื่อถึง พ.ศ. 2511 รัฐบาลจอมพลถนอม ประกาศใช้รัฐธรรมนูญและเปิดให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากแรงกดดันของภาคสังคม ทั้งกลุ่มธุรกิจเอกชน ที่เข้มแข็งขึ้น ต้องการโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย แทนการพึ่งพิงกลุ่มอำนาจทหาร เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่ต้องการเสรีภาพทางการเมือง รวมถึงกระแสสังคมที่เบื่อหน่ายกับปัญหาคอร์รัปชั่น การควบคุมทางการเมือง และการใช้อำนาจเกินขอบเขต รวมถึงการปราบปรามอย่างรุนแรงในพื้นที่ป่าของทหาร


อย่างไรก็ตามคณะทหารได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นและเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง จอมพลถนอม กลับเป็นนายกอีกครั้ง จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ด้วยเกรงรัฐสภาไม่ผ่านงบประมาณทหาร จอมพลถนอม และ จอมพลประพาส จารุเสถียร ทำรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญและ

ยุบสภา



เหตุการณ์ 14 พ.ศ.2516

ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2017/01/Oct.jpg


ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 นักศึกษา 13 คน ถูกจับด้วยข้อหาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การประท้วงเพื่อต่อต้านการจับกุมและสนับสนุนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องยาวนานกว่าสัปดาห์ โดยได้รับการสนับสนุนจากคนเมืองอย่างกว้างขวาง จำนวนผู้ประท้วงเพิ่มขึ้นตามเวลา จนถึงราว 400,000 คน และเพิ่มข้อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จนถึงในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ตำรวจปราบจราจล ปะทะกับผู้ประท้วง มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน


รัฐบาลทหารประกาศลาออก แต่เตรียมควบคุมสถานการณ์การณ์โดยใช้กำลังทหาร อย่างไรก็ตาม พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งเป็นทหารต่างขั้วกับกลุ่มถนอม-ประภาส ปฏิเสธไม่ยอมให้ใช้กองทัพกวาดล้างผู้เดินขบวน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และทายาทททางการเมือง พันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งเป็นลูกชายของจอมพลถนอม และเป็นลูกเขยของจอมพลประภาส เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี


จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร


หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยแบ่งบาน มีการเผยแพร่และศึกษาแนวคิดหลากหลาย ในการเปลี่ยนแปลงสังคม งานเขียนแนวก้าวหน้าในยุคก่อนได้รับการนำมาตีพิมพ์ใหม่ อาทิผลงานของ

ศรีบูรพา และที่เป็นที่นิยมมากสุดในเวลานั้นคือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ที่สกลนคร เขาได้รับการยกย่องอย่างสูงจากหนุ่มสาวยุคนั้น ในฐานะวีรบุรุษผู้ยอมตายเพื่ออุดมการ


นอกจากนี้ยังมีการแปลผลงานของนักเขียนต่างชาติที่เป็นฝ่ายก้าวหน้า ขณะที่วงวรรณกรรมของไทยเกิดงานเขียนและเพลงสะท้อนสังคม ที่เรียกกันว่า ‘เพื่อชีวิต’


ขบวนการนักศึกษาขยายตัวอย่างกว้างขวาง และสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรชาวนาชาวไร่ ให้การศึกษาและสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มแรงงาน ในเวลานั้นขบวนการนักศึกษา หันเหไปสู่แนวทางฝ่ายซ้ายมากขึ้น


เมื่อถึง ปี พ.ศ. 2518 กลุ่มประเทศอินโดจีน ทั้งเวียดนาม ลาวและเขมร ทะยอยพ่ายแพ้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ หลายฝ่ายมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างขบวนการนักศึกษา ชาวนาชาวไร่ กรรมกร พคท. และรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน


กลุ่มอนุรักษ์นิยมและฝ่ายทหารเห็นว่า พคท.กำลังขยายฐานและเข้าสู่เมือง ทหารบางกลุ่มมองว่า กองทัพต้องเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งเพื่อความมั่นคงของชาติ ในขณะที่นักศึกษาเรียกร้องให้สหรัฐถอดฐานทัพออกไป


การณณงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ทวีความรุนแรงขึ้น เกิดขบวนการขวาพิฆาตซ้าย และในการหาเสียง

เลือกตั้งครั้งใหม่ ต้นปี พ.ศ. 2519 พรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และมีผู้

เสียชีวิต จากเหตุการณ์รุนแรงกลายครั้ง รวมกว่า 30 คน รวมทั้ง ดร. บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยม


สภาวะทางการเมืองมีการเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่ายมากขึ้น ต่อมาใน เดือนกันยายน นิสิตนักศึกษาร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องให้ จอมพลถนอม ซึ่งเดินทางกลับมาเพื่ออุปสมบทออกนอกประเทศ นำไปสู่การปราบปรามและกวาดล้างขบวนการนักศึกษา ด้วยความรุนแรง ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้สูญหาย ในเย็นวันเดียวกัน ทหารนำโดย พลเรือเอกสงัด

ชลออยู่ ทำการปฏิวัติยึดอำนาจ และ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี


เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มาภาพ: เว็บไซต์บันทึก6ตุลา ถ่ายภาพของปฐมพร ศรีมันตะ


ผู้คนกว่าสามพันคนถูกจับ มีการประกาศรายชื่อและเผาหนังสือต้องห้าม หนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกปิด รัฐบาลห้ามการชุมนุมทางการเมืองและกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ต่อมามีผู้ถูกจับกุมอีกแปดพันคน

ในข้อหาคุกคามสังคม สถานการณ์นี้ส่งผลให้นักศึกษาและปัญญาชนราว 2-3 พันคน เข้าป่าไปร่วมกับ พคท.


อย่างไรก็ในเวลาต่อมา กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนมีความขัดแย้งทางอุดมการกับ พคท. ที่มุ่งหน้าดำเนินรอย ตามพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งกลุ่มปัญญาชนเห็นว่าไม่สอดคล้องกับสังคมไทย


ในปี พ.ศ. 2523 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ปรับนโยบายต่อต้าน คอมมิวนิสต์ โดยใช้แนวทางการเมืองแทนการทหาร เข้าไปพัฒนาชนบทและนิรโทษกรรมผู้เคยเข้าร่วมกับ พคท. ภายใต้คำสั่ง 66/23 ปัญญาชนในป่าทยอยกลับสู่เมือง ทั้งด้วยปัญหาความขัดแย้งกับผู้นำพรรค ปัญหาสุขภาพ และปัญหาสืบเนื่องจากการยุติความช่วยเหลือของจีน เนื่องจากรัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลจีนขอให้ยุติการสนับสนุน พคท. ทั้งด้านอาหาร ยา อาวุธและอื่นๆ


พคท.สูญเสียแนวร่วมจำนวนมาก และสมาชิกพรรคค่อยๆ ลดจำนวนลง ประเทศไทยเคลื่อนผ่านเข้าสู่ยุค ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’


โรงแรมเอราวัณและยุคต้นของการท่องเที่ยว


ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2501 คุณหญิงจำนงศรีเดินทางกลับประเทศไทย พร้อมพี่ชายตนโต (ไพโรจน์ ล่ำซำ) คุณหญิงบันทึกเรื่องราว ของโรงแรมเอราวัณ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ในยุคสงครามเวียดนามและการมาถึงของทหารอเมริกัน ไว้ดังนี้


โรงแรมเอราวัณ ปี พ.ศ.2503


“แทบจะเป็นวันรุ่งขึ้นหลังกลับถึงเมืองไทย คุณพ่อและคุณน้าอดิสัย ก็พาเราท้ัง 2 คน ไปโรงแรมหรูทันสมัยสุดๆ ชื่อ ‘เอราวัณ’ ซึ่งเปิดใหม่ได้ไม่ถึง 2 ปี ในปี 2499 บนถนนราชดำริ สี่แยกราชประสงค์ โรงแรมนี้เกิดจากความคิดริเริ่มของพลโทประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เสนอแนะให้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สร้างโรงแรมขึ้นเพื่อรองรับชาวต่างชาติ ที่เป็นนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตก ซึ่งเพิ่งเริ่มสนใจในเดินทางมาประเทศไทย ส่วนใหญ่จากการเล่าขานของนักข่าว นักการทูต และทหาร อเมริกันที่มาสัมผัสประเทศไทย ในยุคสงครามเวียดนาม


“คณะรัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบให้จัดต้ัง “บริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด” โดยจดทะเบียนบริษัท เม่ือวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2496 และดำเนินการก่อสร้างโรงแรมสูง 4 ชั้น ให้ชื่อว่า “โรงแรมเอราวัณ” โดยมีผู้ถือหุ้นย่อยเป็นบริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด และบริษัทการบินไทย จำกัด สืบเนื่องจากการที่คุณพ่อเป็นเพื่อนสนิท พลโท ประยูร ภมรมนตรี มาเป็นเวลานาน ทั้งยังเป็นนักธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่ามีฝีมือ จึงได้รับมอบหมายให้ร่วมมือกับพันเอก เฉลิมชัย จารุวัสตร์ (ยศในเวลาน้ัน) ร่วมกันทำการบุกเบิกโรงแรมสุดหรู (สำหรับสมัยน้ัน)


“แล้วคุณพ่อก็รับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก ของโรงแรมแห่งนี้ โดยมี พันเอก เฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นประธานกรรมการ และ Mr. Keller ชาวสวิสเป็น ผู้จัดการ ข้าพเจ้าจำชื่อต้นของฝรั่งคนนี้

ไม่ได้ จำได้แต่นามสกุล หลังจากโรงแรมเอราวัณเปิดได้ไม่กี่ปี ทางรัฐบาลก็ก่อตั้ง องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ท. (ต่อมาเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.) ขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2502


“โรงแรมเอราวัณนับเป็นโรงแรมทันสมัยแห่งที่สาม ก่อนหน้านั้น คือโรงแรมรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบันคือโรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์) และ แห่งที่สองคือโรงแรมสุริยานนท์ (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรม

มาเจสติก ปัจจุบันปิดไปแล้ว) ซึ่งเปิดใน พ.ศ. 2485 ที่สองฝั่งอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน


“แน่นอนว่า โรงแรมเอราวัณซึ่งใหม่และทันสมัยกว่า กลายเป็นศูนย์กลางการพบปะของสังคมชั้นสูงในยุคนั้น อาหารที่โด่งดังว่าอร่อยมากๆ คือ Swiss Onion Soup ซุปหอมใหญ่สไตล์สวิส คงจะเป็นเพราะ Mr. และ Mrs.Keller เป็น hotelier จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสมัยนั้นโด่งดังมากในด้านวิชาการโรงแรม


"คุณพ่อภาคภูมิใจในความสำเร็จของโรงแรมเอราวัณมาก วันแรกท่านให้เราไปนั่งทานน้ำชาคุยกับ Mr. และ Mrs. Keller ในเอราวัณทีรูม (Erawan Tea Room) ซี่งเป็นห้องระดับถนนที่มีหน้าต่างกระจกเปิด มองเห็นถนนเพลินจิต อีกฝั่งก็มีประตูเปิดออกไปถึงบริเวณศาลท้าวมหาพรหม เอราวัณทีรูมแห่งนี้กลายเป็นที่นัดพบยอดนิยมของนักธุรกิจ นักข่าวที่จะมานั่งพูดคุย แลกเปลี่ยน หรือให้สัมภาษณ์ เราได้เห็นการรำบวงสรวงท้าวมหาพรหม การถวายพวงมาลัยเจ็ดสีเจ็ดศอก และยังให้นักท่องเที่ยวฝรั่งได้ถวายพวงมาลัยด้วยตัวเอง สร้างความตื่นตาตื่นใจ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งที่ทำให้การดื่มชากาแฟชั้นดี แกล้มไปกับขนมฝรั่งแบบเบเกอรี (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขนมเค้กชิ้นเล็กๆ แบบ Petit Four) กลายเป็นที่นิยมชมชอบของคนไทยที่ ‘ทันสมัย’"



ศาลท้าวมหาพรหม

ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายไพโรจน์ ล่ำซำ


คุณหญิงยังเขียนถึงที่มาของศาลท้าวมหาพรหมไว้ว่า “ศาลท้าวมหาพรหมนี้นัยว่า ตั้งขึ้นเพราะการก่อสร้างโรงแรมเต็มไปด้วยอุปสรรค คณะผู้บริหารจึงเชิญพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ ซี่งในยุคนั้นโด่งดังมากเรื่องญาณวิสัย มาช่วยแนะนำวิธีแก้ปัญหา พลเรือตรีหลวงสวุิชานแพทย์แนะนำให้สร้างศาลท้าวมหาพรหมขึ้นบริเวณหัวมุม พื้นที่ที่ใกล้ที่สุดกับสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีต้นโพธิ์ต้นใหญ่ขี้นอยู่ คณะผู้บริหารจึงสั่งให้ตัดต้นโพธิ แล้วตั้งศาลท่าวมหาพรหมบนตำแหน่งนั้น และจอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ศาสตระรุจิ) รองนายกรัฐมนตรีในสมัยน้ัน ได้เชิญอาจารย์ทองแถม ศาสตระรุจิ อาจารย์ใหญ่วิชาการพราหมณ์ศาสตร์ มาทำพิธีอีกคร้ังหนึ่ง”


โรงแรมเอราวัณประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในช่วง ทศวรรษ 1960 ก่อนเสื่อมถอยลงในทศวรรษต่อมา เมื่อมีคู่แข่งจากโรงแรมเอกชนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาครัฐมีความพยายามที่จะฟื้นฟูโรงแรมแห่งนี้ขึ้นใหม่ และในปี พ.ศ. 2528 ได้ดำเนินการปรับปรุงโดยร่วมทุนกับภาคเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ.2531 โรงแรมเดิม ถูกรื้อถอนไป เพื่อสร้างโรงแรมใหม่ ในชื่อ แกรนด์ ไฮเแอท เอราวัณ

 

(มีเนื้อหาต่อใน หัวหินในความเปลี่ยนแปลง (2) )

ดู 31 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page