top of page

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์)

ช่วยเด็กชาวเหนือพ้นมือเอเย่นต์ เส้นทางชีวิตที่ไม่ได้เลือก !!


โดย ราชดำริ




สัมผัสมุมชีวิตอีกด้านหนึ่งของ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์) เจ้าของหนังสือดัง “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” ช่วยเหลือเด็กสาวชาวเหนือพ้นเงื้อมมือ “เอเย่นต์” เปิดใจเป็นเส้นทางที่ไม่ได้เลือก แต่ทำเพราะชีวิตถูกกำหนด ยามนี้เศรษฐกิจย่ำแย่ วอนคนมากโอกาสยื่นมือช่วยเหลือแม้บาท สองบาท ก็ยินดีรับ

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์) นักคิด นักเขียน ชื่อดังระดับแนวหน้าของเมืองไทย เจ้าของผลงานล่าสุด “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” บอกเล่าชีวิตที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กสาวชาวเหนือจากการถูกล่อลวง

มูลนิธิเรือนร่มเย็น แม้ไม่ได้เป็นความตั้งใจแต่แรกว่าจะเข้ามารับผิดชอบอย่างเต็มตัว เริ่มต้นจากการเข้ามาช่วยเหลือ แต่เพราะเส้นทางชีวิตที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ในที่สุดก็กลายเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มใจ

บางครั้งเหนื่อย ท้อแท้ แต่ก็หยุดไม่ได้ เพราะยังมีเด็กๆ อีกมากมาย ที่ยังคงเฝ้าคอยความช่วยเหลือ

การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ปัจจุบันประสบปัญหาขาดเงินทุน จึงได้ก่อตั้ง ร่มเรือน จำกัด รับทำงานเพื่อหารายได้สนับสนุนมูลนิธิ


ตั้งแต่แรกเริ่มคุณหญิงเข้ามาทำโครงการเรือนร่มเย็นได้อย่างไร


“อยากจะบอกเลยว่า ที่เข้ามาทำงานนี้ได้ก็ด้วยความบังเอิญโดยแท้ จริงๆ แล้ว ทีแรกดิฉันเข้ามาช่วยคนอื่นเขา แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น ทำให้ดิฉันกลายมาเป็นผู้ดูแลไปในที่สุด (หัวเราะ)”


ตอนแรกที่ตัดสินใจเข้ามาช่วยงานทางด้านนี้ คุณหญิงตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กหญิงชาวเหนือมาก่อนหรือเปล่า


“การที่ดิฉันเข้ามาทำงานนี้ ดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นผู้เสียสละหรืออะไรทั้งสิ้น เพียงแต่รู้สึกว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในชีวิต อาจเป็นเพราะว่าตอนนี้อายุดิฉันมากขึ้น เลยไม่รู้สึกว่ามนุษย์เราคนไหนเป็นผู้วิเศษ แต่คิดว่ามนุษย์แต่ละคนเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตตามเส้นทาง ตามสิ่งแวดล้อมกำหนด คนเราเมื่อเส้นทางชีวิตกำหนดให้ทำอย่างนี้ ก็ถูกยกย่องว่ามีคุณงามความดี แต่ดิฉันไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น ดิฉันรู้สึกว่าดิฉันอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ และโอกาสที่จะทำได้อันนี้ มันเหมือนเป็นเส้นทางที่ดิฉันต้องเดินเท่านั้นเอง”


ทราบว่าปัจจุบันนี้มูลนิธิที่ทำงานเพื่อสังคม ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรทั้งต่างประเทศและในประเทศน้อยลงมาก ทางมูลนิธิเรือนร่มเย็นประสบปัญหานี้บ้างหรือไม่


“พบค่ะ ขณะนี้ก็มีความยากลำบากต่างๆ ที่จะทำงาน คือหนึ่งเงินไม่เคยพอ ไม่เคยพอเลย บอกตรงๆ ดิฉันก็ต้องคอยเอาเงินส่วนตัวเข้าไปอยู่เรื่อยๆ ค่าลิขสิทธิ์หนังสือ ดิฉันก็ให้มูลนิธิ ช่วยมูลนิธิหมด ต้องคอยดิ้นรนหาอยู่เรื่อยๆ ยอมรับว่าหลายๆ ครั้งก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว แต่ว่าก็หยุดไม่ได้ ถ้าหยุดก็คงไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นถ้ายังทำได้โดยไม่ทุกข์จนเกินไป ก็คิดว่าส่วนที่สบายใจ ที่มันมาถ่วงตราชั่งนี่ มันก็ยังดีกว่าที่จะเลิกไป ”


ต้องยอมรับว่างานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นงานที่เหนื่อยมาก


“ใช่ค่ะเหนื่อย บางครั้งท้อแท้ แต่ชีวิตเรายังมีอยู่ ถ้าตายไปก็คงหยุดไป เราก็ไม่เสียดายที่จะหยุดเมื่อถึงเวลา แต่ก็หวังว่าจะมีคนมารับช่วงต่อ เพราะมันก็เริ่มมาถึงขั้นนี้แล้ว มีคนให้ที่ดินซึ่งคนที่ให้เป็นนักธุรกิจ นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ดิฉันเลิกไม่ลง เป็นที่ดิน 10 ไร่ ที่เชียงราย 13 กิโลจากสามเหลี่ยมทองคำกลางทุ่งนาห่างไกลตัวเมือง ให้เพราะว่าเขาเชื่อในสิ่งนี้ เขาขอร้องว่าไม่ให้บอกใคร ว่าเขาเป็นใคร อันนี้ดิฉันชอบ แล้วก็แม้กระทั่งตอนที่ซื้อที่ก็ไม่ผ่านชื่อเขา คือซื้อให้กับมูลนิธิเลย เขาตั้งใจเหลือเกินที่จะไม่แสดงตัว อันนี้ดิฉันคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก แล้วเขาก็สร้างอาคารให้เท่าที่จำเป็น ออกแบบเองตามที่เขาอยากให้เป็น สรุปว่าเขาให้ที่ดินและอาคาร แต่เราต้องดำเนินการเองทั้งหมด เขามีความสุขของเขาโดยที่ไม่ต้องเอาหน้ากับสาธารณชน”


เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าโดยปกติคุณหญิงจะชอบทำงานในลักษณะปิดตัว จะเห็นได้จากการทำงานของมูลนิธิเรือนร่มเย็น คุณหญิงจะออกชื่อตนเองน้อยมาก


“โดยส่วนตัวดิฉันไม่ค่อยอยากออกมาแสดงตัว แต่คราวนี้มาถึงจุดนี้ ที่จำเป็นแล้ว เพราะว่าเราอยากขอความช่วยเหลือจากสาธารณชน สิ่งที่เราทำมันจะอยู่ยาวนานไปไม่ได้ ถ้ามีเพียงไม่กี่คน โดยไม่มีคนภายนอกเข้ามาร่วม ตัวดิฉันเองอายุมากแล้ว อาจจะต้องรามือลงด้วยเหตุผลของหลายๆ อย่าง ก็อยากให้มูลนิธิเป็นที่รับทราบของคนทั่วไปแล้ว ดิฉันก็พยายามที่จะวางรากฐานเอาไว้ให้แล้ว ตอนนี้ก็ยังต่อสู้ไปเรื่อยๆ แต่เราไม่ทราบนี่ว่าเมื่อไหร่เราจะหายไป หรืออะไรจะเกิดขึ้นกับเรา”


คุณหญิงหมายความว่าทางมูลนิธิเรือนร่มเย็นมีการทำธุรกิจด้วยตนเอง


“คือดิฉันมาคิดว่า ดิฉันทำงานมาถึงจุดที่เรื่องทุนเป็นเรื่องที่ใหญ่มากๆ แล้วดิฉันคิดว่ามันจะเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ การที่เราจะเอาทุนเทเข้าไปแล้วเหมือนหลุมที่ไม่มีที่สิ้นสุด ดิฉันอยากให้เป็นอะไรที่ยั่งยืน ขณะนี้ก็ยอมรับว่าการขอเงินคนมันยากขึ้นทุกที ทุนต่างชาติสำหรับเมืองไทยก็ค่อยๆ โดนตัดไปหลายองค์กรแล้ว เรดบันนาซึ่งเมื่อก่อนนี้ให้ทุนองค์กรพัฒนาของไทยเยอะ เมื่อสักเดือนที่แล้วเขาก็เขียนจดหมายมาบอกดิฉันว่าประเทศไทยถูกตัดเงินช่วยเหลืออย่างรุนแรง รู้สึกว่าเขาไปเน้นหนักทางแอฟริกา เขาก็ต้องทบทวนใหม่หมดเลยในเรื่องของการให้เงินองค์กรพัฒนาในเมืองไทย


“เพราะฉะนั้น ถ้าเราพยายามที่จะหาทางอยู่ให้รอด แน่นอนก็ต้องได้จากเงินบริจาคจากคนทั่วไป แม้จะเป็นเงินเพียง 1 บาทดิฉันก็จะขอบคุณ มันเป็นอะไรที่จะบอกว่างานเราจะต่อเนื่อง ทีนี้สิ่งที่ดิฉันทำอีกอย่างหนึ่งคือ ดิฉันตั้งบริษัทขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่งชื่อ บริษัทร่มเรือน ดิฉันเอาเงินของตัวเองลงทุนไป พร้อมกับนักธุรกิจคนนี้ เขาก็ให้ดิฉันมาร่วมทุนด้วย ดิฉันลงไป 1 ล้านบาท เขาให้มาอีก 2 แสนเป็นเงินลงทุนสำหรับบริษัทนี้”


จุดมุ่งหมายของการก่อตั้งบริษัทร่มเรือน ก็เพื่อให้มีเงินมาหล่อเลี้ยงมูลนิธิให้สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง


“ค่ะ หวังว่าจะทำกำไรเข้ามาสนับสนุนมูลนิธิได้บ้างในอนาคต ขณะนี้บริษัทก็จ้างผู้ประสานงานที่อยู่กรุงเทพฯ ที่ทำงานให้กับมูลนิธิเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เวลานี้ดิฉันทำอะไรก็ได้ที่ให้มันได้สตางค์นอกจากนี้ดิฉันก็ไปดูพวกเครื่องเงิน เครื่องประดับอะไรพวกนี้ อันไหนที่ดิฉันชอบ ดิฉันก็เลือกสรรมขายส่ง เราก็พยายามไปขายเมืองนอกบ้าง ฝรั่งบ้าง หรือแม้กระทั่งมาวางขายตามร้านในนี้ ซึ่งกำไรมันก็ไม่มาก เพราะเรา ต้องเสีย VATให้รัฐ 10 เปอร์เซ็นต์ที่เราได้ของมูลค่าขายทั้งหมด นอกเหนือไปกว่าภาษี เงินได้ตลอดสิ้นปี แต่เราก็ทำถูกต้องหมดทุกประการ แล้วอีกส่วนหนึ่งดิฉันก็ออกแบบเอง ซึ่งงานที่ดิฉันออกแบบเอง กลับกลายเป็นว่าขายดีกว่า คือฝรั่งเขาจะชอบมาก ตอนนี้ดิฉันก็ขายแบบแทบจะไม่ได้วางตลาดเลย เขาก็จะขอซื้อตรง แต่มันไม่เยอะไงคะ คือเขาจะซื้อไปทีละชิ้นสองชิ้น”


เท่าที่ฟังดูแล้วดูเหมือนว่าธุรกิจนี้จะทำเงินได้ไม่มากนัก


“ค่ะ ยังขาดทุนตอนนี้ดิฉันก็เลยประสานกับ สิรี จุติกุล ลูกสาว ดร.สายสุรีย์ โดยเอาเงินจากลิขสิทธิ์หนังสือส่วนหนึ่งมาทำสัญญากับเขาให้ลุยพัฒนาธุรกิจอันนี้ให้มันงอกเงย อีกอย่างที่บริษัทร่มเรือนทำคือรับจ้างจัดสัมมนา โดยมีสิรีเป็นหัวหน้า จัดได้เก่งมาก อย่างคราวที่แล้วเคยจัดให้พวกแคนาดาที่เข้ามาประชุม ก็ได้กำไรมาพอสมควร เราจะจัดเตรียมทุกอย่างให้หมด ใครที่จะจัดงานสัมมนา ก็ว่าจ้างได้ เพราะเรียกได้ว่าเป็นการทำบุญไปในตัว นอกจากนี้ยังรับเย็บกระเป๋าด้วย พวกกระเป๋าเอกสาร กระเป๋าผ้ามาจ้างเราทำได้ เพราะงานเหล่านี้เราให้แม่บ้านในชุมชนรอบโครงการ ซึ่งบางครั้งก็รวมถึงแม่ของเด็กในโครงการด้วย เป็นการสร้างรายได้ให้กับพวกเขา โดยเขาเข้ามาเย็บด้วยจักรของเรา โดยมีครูของเราควบคุม”


แสดงว่านอกจากทางมูลนิธิจะทำงานเพื่อเด็กๆ แล้ว ยังได้เข้าไปช่วยเหลือในส่วนของครอบครัวอีกด้วย


“มูลนิธิเราไม่ได้ช่วยแต่เด็กๆ เราช่วยแม่บ้านที่อยู่ในท้องถิ่นที่ยากจนมากด้วย เพราะ เขาคือแม่ของเด็กพวกนี้ และก็เคยเป็นเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมาก่อน และตอนนี้เขาก็เป็นแม่ เขาก็ไม่ต้องการให้ลูกเขาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอีก เพราะฉะนั้นเราจะช่วยหาอาชีพ เช่น ช่วยสอนเขาทำกับข้าว เย็บปักถักร้อย เราจะหางานมาให้เขาด้วย เช่น งานเย็บกระเป๋า โดยเราจะจัดหาวัสดุทุกอย่างให้ "


ที่เรียกว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหมายถึงเด็กที่อยู่ในวัยไหน


“เด็กอายุ 12-15 จะเป็นวัยที่เสี่ยงมาก ใครที่มีลูกสาว จะรู้เลยว่า เด็กช่วงอายุ 12-15 ปีจะเป็นช่วงที่เราต้องดูแลเอาใจใส่เขาให้มากที่สุด แต่กับเด็กเหล่านี้ เป็นเด็กที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เสี่ยงมาก ฉะนั้นมูลนิธิเรามีบทบาทตรงนี้ เพราะเราเอาเด็กมาอยู่และกิน รับการอบรมเลี้ยงดูในมูลนิธิ ส่งให้เรียนจนถึง ม.3 และฝึกอาชีพให้ด้วย เช่น การเกษตร เย็บปักถักร้อย เป็นต้น ซึ่งเราต้องใช้ครูเป็นจำนวนมาก เพื่อพยายามให้เขามีพื้นฐานติดตัวไป และอีกอย่างหนึ่งคือ เราพยายามฝึกให้เขามีสติ เข้าใจตัวเอง และคิดให้ทันคนทันสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน”


ปัจจุบันนี้เด็กที่อยู่ในมูลนิธิเรือนร่มเย็นมีประมาณกี่คน


“แต่ละช่วงตกประมาณ 25 คน มีอยู่กับเราคนละประมาณ 2-3 ปี เราไม่ถือว่าเราช่วยเด็กคนหนึ่งคือการช่วยเด็กคนเดียว แต่การช่วยเด็กคนหนึ่งคือการช่วยหน่วยหนึ่งของสังคม ที่หน่วยนั้นเนี่ยไม่ได้มีเพียงตัวของเด็กเท่านั้น เขามีพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ ต่อไปเขาจะเป็นเมีย เป็นแม่คนอื่นๆ อีกดังนั้นเขาคือคนที่จะไปขยายสิ่งที่เขาได้มาจากเรา เพราะฉะนั้นอย่าคิดเป็นจำนวนเด็ก มันเหมือนกับเรากำลังพัฒนาสังคมโดยผ่านเด็กและครอบครัว เขาจะได้รับทราบ รับฟังสิ่งที่เขาไม่เคยทราบ ทำให้การคิดเขากว้างขึ้น เราทำได้แค่นี้


“แต่ดิฉันก็อยากฝากไว้นะคะว่า ดิฉันจะทำไม่ได้ ถ้าต่อไปนี้ไม่มีความช่วยเหลือของส่วนรวมเข้ามา และจำนวนเด็กของดิฉันขณะนี้มันไม่แน่นอน เพราะเราจะระวังเสมอว่า เราต้องมีที่ว่างพอที่รับรายที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วจำนวนที่เราอยากรักษาเอาไว้คือ 25-30 คนในช่วงหนึ่งมากน้อยตามแต่กำลังทุนของเราจะอำนวย แต่อย่าลืมว่าเรารับผิดชอบเรื่องของแม่บ้านและพ่อแม่ด้วย”


ปัจจุบันนี้ในความคิดเห็นของคุณหญิงคิดว่าปัญหาการตกเขียวลดน้อยลงบ้างหรือยัง


“มันเปลี่ยนรูปแบบ ไอ้ที่เอเย่นต์จะไปเลือกชี้ตามโรงเรียนมันไม่มีอีกแล้ว แต่มันกลับกลายเป็นปัญหาการเอาเด็กข้ามชาติเข้ามาแทน ซึ่งทารุณมาก พวกจีน พม่า สิบสองปันนา ส่วนเด็กไทยของเราเองก็ยังมีปัญหามาก เพราะความยากจนและค่านิยมทางวัตถุ ยังเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ”


สองมือที่หยิบยื่นชีวิตใหม่ให้กับเด็กสาวชาวเหนือเหล่านี้ ทำด้วยความจริงใจและหาได้ต้องการผลตอบแทนอันใดไม่ เพียงแค่ได้เห็นเด็กๆ รอยยิ้มของเด็กๆ คงความบริสุทธิ์สดใส ก็ยังความสุขใจให้ได้มากเพียงพอแล้ว


 

มูลนิธิเรือนร่มเย็น


มูลนิธิเรือนร่มเย็น จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2537 เพื่อช่วยเหลือเด็กหญิงอายุ 12-16 ปี ในภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกขายเข้าสู่ธุรกิจบริการทางเพศ มูลนิธิช่วยเหลือให้ที่พักพิง การศึกษา การฝึกหัดอาชีพ และการฝึกทักษะชีวิต เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเอง พร้อมทั้งเข้าใจตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สนใจบริจาค โปรดติดต่อ 259-0770 หรือมูลนิธิเรือนร่มเย็น สำนักงานกรุงเทพฯ 80 ซอยอโศก แขวงวัฒนา เขตคลองเตย กทม. 10330

บริษัทร่มเรือนจำกัด ติดต่อ 01-8443931, 01-8165727 รับทำปฏิทิน และของชำร่วยที่เป็นสิ่งพิมพ์ โดยมีคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์) เป็นผู้คิดคอนเซ็ปต์และเขียนคำให้ รับเย็บถุงผ้า รวมทั้งผ้ากันเปื้อนและอื่นๆ ด้วยฝีมือแม่บ้านที่ยากจนในเชียงราย

 

จาก: นิตยสารชีวิตต้องสู้รายสัปดาห์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 328 วันที่ 6-12 มีนาคม 2542

ดู 97 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page