top of page

สานฝันตั้ง “มูลนิธิ” กับครูจันทร์แรม



นามของ “ครูจันทร์แรม” ค่อนข้างเป็นที่ทราบกันดี ถึงการเป็นผู้หญิงที่มีเลือดนักสู้และอุดมการณ์

อันแข็งกร้าวที่มุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหา ในเรื่องของความพิกลพิการที่บังเกิดขึ้นกับสังคมกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่มทางภาคเหนือ และกำลังลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยแก้ไม่ตกอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะปัญหาของเด็กผู้หญิงในภาคเหนือ ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาแล้ว เมื่อโตขึ้นก็มัก

จะถูกชักชวน ล่อลวงหรือถูกซื้อ-ขายไปเป็นโสเภณีจนกระทั่งเป็นข่าวใหญ่คึกโครมขึ้นหลายต่อหลายครั้ง... แต่ปัญหาก็มิได้หยุดยั้งกลับเติบโตขึ้นอย่างน่ากลัว


ในความพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเด็กน้อยๆ ที่น่าสงสารของครูจันทร์แรม เริ่มขึ้นจากอาคารไม้ไผ่หลัง

เล็กๆ บนเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา กับกระดานดำเพียง 1 แผ่น และโต๊ะยาวเตี้ยๆ ให้เด็กนั่งเรียน

บนพื้น 20 ตัว พร้อมกับเสาธงไม้ไผ่สูง 4 เมตร จัดตั้งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่ด้อยโอกาสภายในหมู่บ้านถ้ำผาจม ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2526 เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันอาคารเล็กๆ หลังนี้ได้กลายเป็นโรงเรียนที่มีอาคารมั่นคงถาวร เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ชื่อโครงการว่า “แหล่งความรู้ครูจันทร์แรม”


ช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาสำหรับการต่อสู้ของครูจันทร์แรม ท่ามกลางสภาพสังคมที่ขาดโอกาสต่างๆ ในการจะเอื้ออำนวยให้มนุษย์เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพนั้น หาได้ทำให้ปัญหาของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงชาวเหนือซึ่งถูกพ่อแม่ขายไปเป็นโสเภณีลดน้อยลงไม่ จากการคลุกคลีและได้ใกล้ชิดกับปัญหานี้มาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเมื่อมีโอกาสครูจันทร์แรมจึงได้ริเริ่มโครงการ “บ้านสานฝันเยาวสตรี” ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กที่กำลังจะประสบปัญหาหรือถูกขายให้เป็นสินค้า โดยการนำเด็กเหล่านี้มาฝึกอาชีพ


จากการบอกเล่าของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ผู้อุปการะโครงการ เกี่ยวกับจำนวนเด็กที่เข้ามารับความช่วยเหลือจากโครงการในปัจจุบัน ท่านบอกว่า “จำนวนเด็กขยายตัวรวดเร็วมาก มีเพิ่มขึ้นทุกวัน ถ้าจำไม่ผิดช่วงแรกๆ ที่ดิฉันเข้าไปรับเป็นแม่อุปถัมภ์มีเด็กประมาณ 4-5 คนเท่านั้น ส่วนตอนนี้เฉพาะแหล่งความรู้

ครูจันทร์แรม เข้าใจว่า มีประมาณ 130 คนแล้ว”


คุณหญิงจำนงศรี เป็นบุคคลอีกท่านหนึ่งซึ่งได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับครูจันทร์แรม นับตั้งแต่รับเป็น “แม่อุปถัมภ์” ให้กับเด็กในโครงการแหล่งความรู้ครูจันทร์แรมโดยการส่งเงินช่วยเหลือเด็กเป็นรายเดือน ซึ่งทำให้คุณหญิงมีโอกาสได้พบปะและพูดคุยกับครูจันทร์แรมหลายๆ ครั้ง จึงเกิดความชื่นชมในความเป็นมนุษย์ที่พยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อเด็กๆ ด้วยตัวเองมาโดยตลอดของครูจันทร์แรม จากนั้นคุณหญิงจึงเริ่มเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือครูจันทร์แรมมากขึ้น ทั้งในแง่การให้คำปรึกษา ช่วยหาผู้อุปการะ รวมทั้งเรื่องราวที่เป็นส่วนตัว


“ในช่วงแรกที่รู้จักกับจันทร์แรมสภาพจิตใจเขาดูว้าวุ่นเหลือเกิน... ก็แน่นอนเด็กอายุเพียงเท่านี้ (24ปี) ต้องมาแบกรับปัญหามากมายอย่างนี้ ดิฉันเลยพาเขาเข้าไปอบรมปฏิบัติธรรมกับ อ. รัญจวน อินทรกำแหง ที่เสถียรธรรมสถานซึ่งเขาก็ไป 10 วัน เขาก็กลับออกมาด้วยความเข้าใจอารมณ์ของตัวเองและธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น”


สิ่งหนึ่งในความเป็นมนุษย์ของครูจันทร์แรม คือ ธรรมชาติที่เรียกร้องและต้องการสิ่งที่เป็นของตนเอง โดยเฉพาะการมีครอบครัว ทำให้ภาวะจิตใจของครูจันทร์แรมช่วงหนึ่งเกิดมีปัญหาขัดแย้งขึ้นในตัวเองระหว่างความรู้สึกเอื้ออาทรที่มีต่อเด็กๆ รอบข้างเสมือนการเป็นแม่กับธรรมชาติความเป็นผู้หญิง

“อันที่จริงหากดิฉันพูดตรงนี้ไป คงไม่ผิดถึงแม้จะเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว เพราะมันก็น่าสนใจที่จะให้คนทั่วไปรับทราบว่าคนอย่างจันทร์แรมเนี่ย! ไม่ใช่นักบุญที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ความเป็นมนุษย์ของเขามันทำให้เขาเข้าใจความซับซ้อนในตัวของตัวเอง เขาก็คงรักเด็กได้มากไม่เท่ากับที่เป็นอยู่ขณะนี้”


นอกเหนือจากเรื่องราวอันเป็นส่วนตัวที่จะมาปรึกษาหารือแล้ว บ่อยครั้งที่ครูจันทร์แรมเดินทางมากรุงเทพฯ ยังได้หยิบยกเรื่องโครงการต่างๆ มาปรึกษากับคุณหญิงจำนงศรีอีกด้วย สำหรับเรื่องราวโครงการให้ช่วยเหลือเด็กของครูจันทร์แรม คุณหญิงเล่าว่า


“จันทร์แรมเขาเริ่มทำงานด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น 10 กว่าปีมาแล้ว และมันเป็นการทำงานที่ต้องต่อสู้ด้วยตัวเองมาโดยตลอด และเขาเป็นตัวของตัวเองมาก ทำมาเป็นธรรมชาติ เมื่อมาถึงตรงนี้เขาก็เคยพูดว่าอยากให้โครงการของเขาเป็นมูลนิธิ แต่ดิฉันก็บอกเขาว่าการตั้งมูลนิธิ มันมีความจำเป็นที่ต้องมีผู้บริหารเป็นงานธุรการมากพอสมควร ไม่ใช่ว่าก่อตั้งได้ง่ายๆ สำหรับจันทร์แรม เพราะเขาเคยทำงานด้วยตนเองมาตลอด...”


สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้ครูจันทร์แรมเริ่มคิดก่อตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมา สืบเนื่องจากมีความมุ่งหวังอยากให้โครงการต่างๆ ของตนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่เป็นเพียงการแบมือขอเงินบริจาคแต่อย่างเดียว ประกอบกับการรับเงินบริจาคในปัจจุบันเริ่มมีปัญหา เพราะไม่สามารถออกใบเสร็จให้กับผู้บริจาคเพื่อ

นำไปหักภาษีได้ จึงเห็นสมควรที่จะตั้งเป็น “มูลนิธิครูจันทร์แรม” ขึ้น


แต่ด้วยองค์ประกอบหลายๆ ส่วนที่ไม่เอื้ออำนวย ในท้ายที่สุดครูจันทร์แรมและคุณหญิงจำนงศรีจึงได้พยายามเข้าไปติดต่อกับมูลนิธิหนึ่ง เพื่อขอเข้าเป็นหนึ่งโครงการของมูลนิธินั้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจของมูลนิธิดังกล่าว


“ความช่วยเหลือที่จันทร์แรมได้ขณะนี้ เป็นเพียงความช่วยเหลือที่สามารถใช้บริหารได้วันต่อวันเท่านั้น การตั้งเป็นมูลนิธิถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อไม่สามารถทำได้ การเข้าไปร่วมกับมูลนิธิอื่นเท่ากับเป็นการเรียนงานบริหารไปในตัวสำหรับจันทร์แรม... ส่วนตัวดิฉัน คิดว่าตัวเองคงไม่พร้อมที่จะออกไปอยู่ในระดับแนวหน้า หรือเป็นประธานมูลนิธิอย่างที่จันทร์แรมบอกได้แน่ เพราะขณะนี้ดิฉันพอใจกับจุดที่

ตัวเองเป็นอยู่มากกว่า...”


ในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ว่าครูจันทร์แรมจะไม่ได้ก่อตั้งมูลนิธิของตัวเองขึ้น แต่เราเชื่อว่าอีกไม่นานมูลนิธิ

ครูจันทร์แรมต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยความตั้งใจจริงของครูจันทร์แรมเอง แต่สำหรับช่วงเวลานี้

คุณหญิงจำนงศรี ในฐานะผู้อุปการะโครงการ ได้ฝากแง่คิดให้กับคนในสังคมโลกธุรกิจใบนี้ไว้ว่า

“ในโลกธุรกิจปัจจุบัน ดิฉันคิดว่าสมควรจะเข้ามาเป็นส่วนช่วย ให้หน่วยงานการกุศลเหล่านี้สามารถช่วยตัวเองได้ โดยการช่วยในเรื่องโครงสร้างทางธุรกิจ ให้ประสบการณ์ ให้ความช่วยเหลือในช่วงที่เขายังทำไม่ได้จริง อย่าทำให้เขาเป็นคนที่ต้องบากหน้าขออยู่เรื่อย ให้เขาสามารถเงยหน้าอ้าปากช่วยตัวเองได้คือสิ่งสำคัญ และเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรนั้น ๆ เขาก็กลายเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ใช่เด็กที่ชินกับการขอ นับเป็นการพัฒนาบุคคลด้วย จากการช่วยเหลือ”


เงินเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้


 

จาก: คอลัมน์ คุณภาพไทย หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ การเมือง ปีที่ 13 ฉบับที่ 51 ประจำวันที่ 20-22 มกราคม 2537




ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page