top of page

แฟชั่น ฉันสุข ทุกข์ไม่เป็น

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์




หลังๆนี้ 'เทรนด์คิดบวก' กำลังมาแรงใครๆก็พูดถึง positive thinking จนข้าพเจ้ารู้สึกคล้ายกับว่าไปไหนๆ ก็มีคนเอาอาหารจานเลิศรสประเภทเดียวกันมาวางให้กินมื้อแล้วมื้อเล่า

 

ในเรื่องการคิดนั้นบวกต้องดีกว่าลบอยู่แล้ว ทว่าปัญหาที่ข้าพเจ้าเห็นในเทรนด์นี้ก็คือ 'คิดบวก' กำลังกลายเป็นค่านิยมเสมือนอาภรณ์ที่จะต้องแสดงออกให้ใครๆเห็นเสมือนการใช้ของแบรนด์เนมส์ที่ต้องมีโลโก้ติดเพื่อความเก๋ประดับอัตตา

 

ที่สำคัญคือเจ้า 'เทรนด์คิดบวก' ไม่ได้มาแค่ตัวมันแต่ลากโยงความเชื่อเรื่อง 'ความสุข' ตามมาด้วยเหมือนเรือพ่วง ทำนองว่าคิดบวกแต่ละครั้งความสุขก็จะเรืองรองขึ้นมาอาบใจอย่างอัตโนมัติซึ่งก็จริงอยู่ เพราะการค้นคว้าด้าน neuroscience พบว่าความรู้สึกนึกคิดมีผลในการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสมองทีละน้อยๆ (neuro-plasticity) คิดอย่างไรรู้สึกอย่างไรก็จะคิดอย่างนั้นรู้สึกอย่างนั้นง่ายขึ้นโดยธรรมชาติ

 

แต่เจ้าเทรนด์คิดบวกที่โยงความสุขเข้ามาเป็นผลพวงแบบดุ้นๆ นั้น ทำให้น่าห่วงคนที่กำลังเศร้าหรือกำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์ว่าเขาจะสงสัยและโทษตัวเองว่าตนคิดบวกไม่เป็นหรือไฉน ทำให้เกิดเครียดขึ้นอีกซ้อนขึ้นในอารมณ์

 

อันที่จริงแล้วคนที่มีธรรมชาติการคิดบวกคือคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ฝรั่งเรียกว่ามี emotional intelligence คนเหล่านี้จะเศร้าเป็น คือเมื่อเศร้าก็ยอมรับว่ากำลังเศร้า ทุกข์ก็ยอมรับว่ากำลังทุกข์ และสามารถที่จะถอยใจออกมามอง ทั้งเหตุภายนอก(เรื่องที่มากระทบ) และเหตุภายใน(ความน้อยใจความกลัวฯลฯ) แล้วตั้งสติคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าเขารู้ตัวว่าอยู่ในภาวะอารมณ์ที่เลวลึกเกินกว่าที่จะจัดการกับมันเองได้ ก็พร้อมที่จะขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

 

การเจริญสติวิปัสสนาในพระพุทธศาสนาที่กำลังเฟื่องฟูในโลกตะวันตก ในนามของ Mindfulness นั้นเป็นการฝึกใจให้ถอยออกมาดูอาการของอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เหมือนดูหนังดูละครและทำความรู้ในใจว่านี่คือ 'ความเศร้า' นี่คือ 'ความริษยา' นี่คือ 'ความอยาก' จะออกเสียงเรียกชื่อของอารมณ์นั้นๆ ออกมาให้ตัวเองได้ยินก็ยิ่งดี การทำเช่นนี้เป็นที่ยอมรับโดยจิตแพทย์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ใช้ได้ดี ในการช่วยไม่ให้จมหายเข้าไปในเกลียวดูดของความรู้สึก เพราะเป็น 'ผู้ดู ผู้รู้' ไม่ใช่ 'ผู้เป็น'

 

 Dr. David Spiegel แห่ง Center for Integrative Medicine ที่ Stanford University School of Medicine เคยเขียนไว้ว่า "ความสุขไม่ได้อยู่ที่การไม่มีทุกข์และมันก็ไม่ได้อยู่ที่การเชิดหน้าเม้มปากสู้(ความทุกข์) หรือท่องมนต์จิตวิทยาแบบป๊อปๆ ว่า 'เชิดหน้ายิ้มเสมอไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น'... การแสดงสุขปลอมๆนั้นไม่ดีเลย การกดความเศร้านั้นทำให้อารมณ์อื่นๆ ที่ดีๆ ถูกกดไปด้วย ฉะนั้นคนที่กดอารมณ์เอาไว้นักมักจะมีความกังวลและซึมเศร้าเพิ่มขึ้น"

 

ข้าพเจ้าเองมองว่าทุกข์กับสุขเป็นของคู่ที่เป็นธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ เหมือนแสงกับเงาที่สลับปรับเปลี่ยนกัน ยามแดดส่องลอดใบไม้ในสายลมถึงตรงนี้ ก็นึกย้อนไปถึงคืนส่งปีเก่ารับปีใหม่ของข้าพเจ้าที่หลวงพระบางเมื่อหลายปีมาแล้ว เขียนเล่าไว้ในแฟนเพจเฟสบุ๊คของข้าพเจ้า.....

 

 

         "วันส่งปีเก่าลุงกับป้าได้รับเชิญไปพิธีบายสีผูกข้อมือและอาหารค่ำแต่ที่ชัดเจนในความจำคืนนั้นกลับเป็นชายต่างชาติ (ฝรั่ง) วัย 58 ที่เราเห็นนั่งเหงาคนเดียวอยู่ที่โต๊ะอาหารเราก็เลยชวนเขามานั่งด้วยและได้ฟังเรื่องราวความโหดของชะตาชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง

 

         เขาเป็นโรคร้ายที่น้อยคนจะเป็น เห็นได้ว่าร่างกายไม่ปกติ สมองก็เสียไปบ้าง ตกงานเพราะโรค เมียที่เขารักมากจากไปอยู่กับชายที่มั่งมีกว่าได้ 5 เดือน ยังทำใจไม่ได้เลย เขาไม่มีเงินเก็บนัก แต่ก็ต้องส่งเสียลูกที่โตกันแล้วทั้ง 3 คนสองคนเป็นออทิสติก อีกคนหนึ่งเป็นโรคเดียวกับเขา

 

         เดินทางของเขาครั้งนี้เป็น 'escape' เพื่อหนีความจริงของชีวิตมาชั่วช่วง เขาบอกเราว่าคืนนี้ที่มีการพิธีบายสีมีคนมาผูกข้อมือเรียกขวัญ มีคนแปลกหน้าอุตส่าห์ชวนเขามาร่วมโต๊ะ มาฟังเรื่องราวของเขาเป็นสิ่งที่พิเศษที่สุด

 

         ป้าศรีหยอดปรัชญาทางพุทธศาสนาเข้าไปในการพูดคุย เขาก็สนใจเพราะได้เคยได้ยินเรื่องวัดป่านานาชาติ (Buddhist Forest Monastery) และบอกว่าพอถึงบ้านจะค้นพุทธธรรมอ่าน และจะหาทางไป Buddhist Forest Monastery ที่เขาได้ยินมาว่ามีอยู่ในประเทศของเขา

 

         ส่งปีเก่าด้วยการฟังเรื่องแสนเศร้าเสร็จ ก็เดินมาวัดใหม่ซึ่งอยู่ข้างโรงแรมที่พัก เดินเวียนรอบโบสถ์แล้วไปนั่งสมาธิสวดมนต์ข้ามคืน...

 

         น่าจะจบแค่นั้นแล้วแต่ยังไม่จบ... สายนี้ยายแก่จอมยุ่งก็ชวนสามีที่แสนว่าง่ายของตนเดินกลับไปหาฝรั่งโชคร้ายคนนั้นอีก เขากำลังจะออกจากโรงแรมซึ่งแพงเกินกระเป๋า (เป็นของขวัญปีใหม่ให้ตัวเอง) ไปหา guesthouse แบบ backpacker

 

         ในเมื่อเขาตัดสินใจจะอยู่เมืองหลวงเก่าลาวอันแสนสงบเมืองนี้อีก 7 วัน เพราะความนิ่งความงามเงียบความอ่อนโยนของศิลปะและผู้คนซึ่งเขาพบว่ากำลังเยียวยาเขาทั้งกายใจ. ป้าศรีเลยให้เพื่อนลาวที่เป็นผู้จัดการบริษัทอินเตอร์ลาวแนะนำที่พักราคาถูกให้ และก็ให้เว็บไซต์ amaravati.org และ  abhayagiri.org. ของวัดป่าอมราวดีและวัดป่าอภัยคีรีไป เพื่อค้นหาธรรมะภาษาอังกฤษฟังและอ่านระหว่างอยู่เมืองโบราณอันสงบเย็นนี้

 

         ปรากฏว่าเขาสนใจเหมือนคนหลงในทะเลทราย แลเห็นสิ่งที่อาจจะเป็นแหล่งน้ำ แนะนำให้เขาอ่านและศึกษาการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาพร้อมไปตามวัดที่มีมากมายในเมืองเล็กๆ นี้ ก่อน 6 โมงเย็นสักนิดเพื่อนั่งสมาธิระหว่างพระท่านสวดมนต์เย็นทุกๆวัน

 

         ป้าศรีเชื่อว่าชีวิตเขาจะดีขึ้นบ้างอย่างน้อยที่สุดก็ชีวิตภายใน อันที่จริงเขาก็มีบารมีทางนี้อยู่ไม่น้อยเพราะเขานึกได้ว่าญาติเขาเคยไปอยู่วัดป่านานาชาติที่อุบล ฟังดูเหมือนกับอยู่ในฐานะอนาคาริกหรือปะขาวซึ่งถือศีลแปด เขาบอกว่าพอกลับถึงบ้านถึงเมืองเขาจะติดต่อญาติคนนี้

.............

 

         อาฮ่า... เรียบร้อยแล้วผู้จัดการบริษัทอินเตอร์ลาว ช่วยหาห้องให้ชายฝรั่งของเราเรียบร้อย ได้ห้องที่นี่แค่ 50 เมตรจากวัดเชียงทองที่โด่งดังของหลวงพระบาง ในราคาคืนละ US$ 25

 

         งานนี้เสร็จสิ้นด้วยดีถ้าเขาจะเข้าไปสมาธิในโบสถ์อันเก่าแก่งดงามนี้ก็จะทำได้อย่างสบาย"

 

นึกย้อนไปถ้าคืนวันนั้นข้าพเจ้ามีรู้สึกความเศร้าเหงาเปล่าเปลี่ยวที่แผ่เหมือนเป็นรัศมีจากชายคนนั้น ก็คงไม่คิดบังอาจเข้าไปชวนเขามาร่วมโต๊ะกับเรา เป็นจุดเริ่มต้นการส่งปีเก่าที่ทุกข์กับสุขความเศร้าและมิตรภาพลบกับบวกสอดประสานกันอย่างดงาม

 

จริงไหมคะ

 

 

 

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page