top of page

สามอารมณ์กวี

ไหมฟาง


ภาพ: Ngo Minh Tuan



งานกวี ไม่ใช่งาน “เขียนคำคล้องจอง” เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าสัมผัสนอก สัมผัสใน คือ การที่เขาสัมผัสโลกและชีวิต ด้วยความสามารถที่จะสื่ออารมณ์ ปะทุความรู้สึก ทั้งตัวเขาและผู้อื่น ด้วยเหตุนี้เอง แม้มีคนเขียนกลอนทุกวัน แต่เราช่างมีงานกวีน้อยเหลือเกิน


เพราะอาจจะยังขาดสัมผัสที่คม, ลึก ตลอดจนการเสนอด้วยความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา


และสำหรับหนังสือกวีสามเล่มที่อยู่เบื้องหน้าของ ไหมฟาง ด้วย สันถวไมตรีต่อกัน ฉันทาคติ หรือกิเลส

ใดๆ เรา ไหมฟาง ยินดีจะรู้สึกสัมผัสปิติ ทั้งไม่อาลัยต่อความ 'เปล่าดาย' กับเวลาจะผันผ่านงานเหล่านี้ ของสามผู้ซึ่งกรองงานคนละเล่ม คนละเวลา หามาพิมพ์ในสมัยที่ไล่เรียงไม่ห่างกันนัก



ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง


คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน คนที่มีกิจกรรมทางศิลปะ ด้วยรักเสมอมา ไม่ว่างานเขียนบทภาพยนตร์ งานอ่านกวี เขียนกวี หากงานชิ้นนี้ เธอมาแปลก!


เพราะไปเขียนกวีธรรมะ ณ สวนโมกขพลาราม ดูจากวันที่ในงานเขียนของเธอ เริ่มจาก 12 พฤษภาคม 2534 เป็นบทแรกและไปถึงบทสุดท้าย 28 มิถุนายน 2534 นับถึงวันที่ “ไหมฟาง” เอ่ยไว้ ก็ชนปีพอดี และงานของคุณหญิงจำนงศรี ยังได้รับความกรุณาจาก อาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง เขียนคำนำให้อีกด้วย ยิ่งนับว่าน่าสนใจ


น่าสนใจต่อการปฏิบัติธรรมและความพยายามเข้าถึงธรรม


คุณหญิงใช้คำอย่างอิสระ และเขียนอย่างอิสระไม่ต้องพะวงกับสัมผัสของฉันทลักษณ์ ปล่อยให้มันซื่อตรงกับ “ผัสสะ” ทางใจ กับสิ่งที่กระทบอายตนะอื่น เรื่องราวคือ ความรู้สึกนึกที่แวบขึ้นมาเหมือนประกายฟ้า แวบเดียว แต่ยังจดจารึก มีฉากสวนโมกข์ผุดพรายอยู่ในหลายบท


บทกวี 40 บทของเธอ น่าสนใจของคนที่มี “อารมณ์ศิลปิน” แต่ไปฝึกปฏิบัติธรรม ธรรมชาติของจิตใครๆ

มีอาการไม่ต่างกันในลีลากวัดไกว ไหวแกว่ง ไม่หยุดนิ่ง ทว่าคนในซีกโลกศิลปะนั้น ดูจะมีอุปสรรคยิ่งกว่า เพราะเมื่อเผชิญแล้วยัง 'เกาะมุม' สื่อให้ปรากฏด้วย แต่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นการเผื่อแผ่ธรรมะแก่คนอื่น ในระดับที่จะพึงรู้พึงคิดได้ และประโยชน์ตนก็อาจเป็นการบอกระยะทางที่ยังวกวนอยู่


บางทีดูน่าขบขัน – ให้อารมณ์ขัน เมื่อเธอสะท้อนการท่องพุทธพจน์แล้วเขียนเผยความรู้สึกว่า “ท่องอยู่ทั้งกลางคืน กลางวัน ไล่ความคิดสารพันที่พากันวนเข้ามา” บางบทให้ภาพพจน์ที่ดีทีเดียว เช่น บท อนิจจังที่ปลายไม้กวาด”

“กวาดลานปูนข้างบ้านวันละสามสี่รอบ ใบไม้ร่วง ปลิวเข้ามา

แม้ตรงที่มีหลังคาคลุม ร่วงไม่หยุด

กวาดเตียนไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็ปลิวเข้ามาระเกะระกะอีก ไม่หมดไม่สิ้น

เจ้าต้นช่างผลิใบโตมารับแดด อาบฝน เล่นลม แล้วก็ร่วง ให้กวาดลงดิน”


อ่านแล้วได้แต่แอบวิจารณ์ในใจ การรู้หนังสือช่วยให้เรียนปริยัติธรรมง่าย แต่ถ้าไม่ระวัง “ความรู้ก็เป็น

กรอบ” ทว่า เป็นกวีที่เขียนหนังสือยิ่งยากต่อการปฏิบัติธรรมมากกว่า เพราะเราสร้างกรอบสวยๆ น่าพึงพอใจอีกด้วย!


ทีนี้ก็อีกเล่มนึง



ขลุ่ยหญ้า


กวีรจนาที่ร่ายรินจาก พิบูลศักดิ์ ละครพล


ชายหนุ่มคนนี้ มีผลงานวรรณกรรมหลายหลายรูปแบบที่รวมอยู่ด้วย ฝันถึงความดีงามหลายชิ้นได้รางวัล แต่เชื่อว่าเขาคงไม่ได้เขียนเพื่อรางวัล เว้นแต่ถือมันเป็นอดิเรกลาภผลพลอยได้

กาพย์กลอนของหนุ่มเวียงเหนือคนนี้มีความไพเราะทั้งคำและเนื้อหา เขาผสานความรู้สึกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติโดยไม่ยาก และเขาไม่ต่างอะไรกับคนร่วมสมัยของเขาอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่พอใจกับสังคมด้านที่อสัตย์อาธรรม์ หากในประการหลังเขาไม่ได้เขียนอย่างแข็งกร้าวดุดัน คนกลางๆ ทั่วไปคงรับได้ง่ายต่อลีลารำพึงรำพันของเขา เช่น

เห็นทีจะย่ำแย่แม่โพสพ

เชิญแม่หลบลี้ก่อนเสาเข็มหล่น

โครงการร้อยพันล้านเร่งดาลดล

ดินขนถมที่นาสร้างป่าปูน”

พิบูลย์ศักดิ์เขียนคำอุทิศของหนังสือเล่มนี้สั้นๆ ว่า “แด่อุชเชนี” กวีเอกในยุคสมัยของเราคนหนึ่ง หากคำทั้งหมดในขลุ่ยหญ้าก็คู่ควรต่อคำอุทิศเดียวกันนี้


เมล็ดข้าวคืนรวง


เล่มสุดท้าย บอกบนโฉมปกอย่างถ่อมตนรองลงไปจากชื่อเล่ม เมล็ดข้าวคืนรวง ว่า “เพียงคล้ายบทกวี ของประเสริฐ จันดำ”

แต่ถ่อมอย่างไร คนก็รู้ว่า ประเสริฐมีงานและวันเวลาในโลกกวีที่แน่นอน และเป็นได้ดีกว่าจะไป 'สมัคร ส.ส.' ซึ่งหวังว่า สมัยเลือกตั้งนี้เพื่อนคงไม่เสียเวลาเช่นนั้นอีก

ประเสริฐ จันดำ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท้องทุ่ง, ชาวบ้าน และโดยเฉพาะการให้กลิ่นอายอีสาน เมล็ดข้าวคืนรวง จะคืนในรูปไหน กลิ่นไอให้ระเหยหยดเป็นน้ำแห่งยอดข้าว ดูจะถนัดแก่ประเสริฐ จันดำ มาแล้วทั้งสิ้น งานเล่มนี้จึงเป็นความประทับใจไม่ใช่ของประเสริฐคนเดียว หากเขาเป็นผู้สะท้อน “ในฐานะลูกชาวนาพลัดถิ่น ผมเหมือนกับเมล็ดข้าวพลัดรวง ไปหล่นตกอยู่ตามที่ต่าง ๆ ไม่ลีบ ไม่ผุเน่า แต่อาจจะถูกมอดแมลงเจาะแทะบ้าง ยังมีสภาพเป็นข้าวเปลือกไม่ขาวงามอยู่ในจานสีสวย”


สามอารมณ์กวีจากผลงานงามๆ สามคน ไหมฟางเขียนถึงด้วยความรักและนับถือ โดยเฉพาะ ฝนตกยังต้องฯ นั้น ยิ่งน่าอ่านด้วยระลึกทางเลือกใน 60 ปี สวนโมกข์ ขณะสองเล่มเป็นงานสะท้อนสังคม อีกหลายรูปลักษณ์ตามความถนัดของผู้ที่มีพรรษากวีด้วยกันทั้งคู่


 

จาก: มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 620 ประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2535


ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page