top of page

ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง

ภาพ เจษฎา ชาติมนตรี

สไตลิสท์ วนัสนันท์ ธีรวิฑูร



จากบันทึกส่วนตัวของ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์ ที่เขียนไว้เมื่อคราวไปปฏิบัติธรรมที่

สวนโมกขพลาราม แม้วันเวลาจะผ่านไปสิบห้าปี แต่หากกลับมาอีกครั้งก็ยังทรงคุณค่าอยู่เสมอ


“เป็นบันทึกที่ไม่ได้ตั้งใจจะบันทึก ไม่ควรคิดควรเขียนอะไรด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้นทุกข์มาก ตั้งใจ

จะไปฝึกอยู่กับปัจจุบันของกายและใจ โดยไม่สื่อสาร ไม่พูด ซึ่งยากมาก รู้ชัดเลยว่าธรรมชาติมนุษย์เรา

มีความอยากที่จะพูดคุยสื่อสาร พอเข้าเดือนที่สอง ไม่ได้คุยกับคน ก็ขอคุยกับหน้ากระดาษเถอะ พอถึงเดือนที่สาม ความอยากเขียนก็หายไปเอง จึงหยุดบันทึก


คุณตรัสวิน (สำนักพิมพ์ตัวไหม) รู้ว่ามีบันทึกเล่มนี้ จึงขอไปคัดบางตอนมาพิมพ์ครั้งแรกในปี 2535 ที่มาพิมพ์ใหม่เพราะปีนี้ ครบรอบ 100 ปีชาตกาลของท่านอาจารย์พุทธทาส และเพราะแฟนๆ หนังสือเรื่อง ‘วิชาตัวเบา’ ถามหากันมาก ขณะนี้พิมพ์เป็นครั้งที่ 5 แล้ว





“ชื่อหนังสือ ‘ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง ’ หมายความว่ายังไม่ถึงขั้นที่ละตัวตนได้หมด อะไรมา

กระทบก็ยังกระเทือน ทั้งเล่มเป็นบทสดๆ สั้นๆ ฉากเล็กๆ น้อยๆ ทั้งที่เห็นรอบตัว ทั้งอารมณ์ความรู้สึก

ที่สะกิดให้ ‘อ๋อ’ขึ้นในใจ


“อย่างเช่นบท ‘กิ้งกือ’ วันหนึ่งดิฉันเดินอยู่ชายป่า เห็นมดเป็นฝูงรุมกินกิ้งกือ เราเขี่ยกิ้งกือให้กระเด็นออกไปหลายครั้ง แต่มันก็เดินงงกลับมาทางมดทุกที ทำไมล่ะ ก็เพราะมันเลื้อยอยู่บนพื้นระดับเดียวกับมด ก็เลยไม่เห็นว่ามดอยู่ทิศไหน ส่วนเรามองจากสูงลงมาจึงเห็นน่ะสิ


“เช่นเดียวกับคน เวลาทุกข์หนักก็เมาหมัดบอดทิศได้เหมือนกัน การฝืน การดิ้นรนหนี หรือแก้ทุกข์ด้วยใจที่จมอยู่ในทุกข์ ก็คือวิ่งเข้าหาทุกข์นั้น เพราะไม่เห็นว่ามันคืออะไร อยู่ตรงไหน ต้องรู้จักถอยใจ

ออกมา ทำให้มันนิ่ง แล้วมองความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเหมือนมองลมฟ้าพายุจากใต้ชายคา ให้เห็นธรรมชาติของใจ ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปร ความกลัว โกรธ รัก อยาก ไม่อยาก เห็นธรรมชาติ

ใจ ก็เห็นธรรมชาติของทุกข์ เห็นทิศทางช่วยจัดการกับปัญหาอื่นไม่ให้ตามมาอีกเป็นหาง


“การเว้นวรรคชีวิตไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวริมป่า ทำให้เห็นรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่เคยสังเกต

มาก่อน ทำให้ภาพรวมชัดขึ้น ทุกชีวิตหนีทุกข์ แสวงสุขเหมือนกันหมด และทำให้เห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างชีวิตกับความตายนั้นบางนัก พอเห็นภาพรวมนั้น ความสำคัญของตัวฉัน ชีวิตฉัน ก็ลดถอย ความทุกข์จากปัญหาชีวิตก็ลดถอย ทำให้ใจใสขึ้น การคิดแก้ปัญหาก็มีขั้นมีตอนขึ้น ตามลำดับ


“หวังว่าคนจะอ่านแต่ละบทด้วยใจสงบ และมองเข้าไปในใจ ในประสบการณ์ของตัวเองอย่าง

เบาสบาย และเห็นภาพรวม เหมือนกับที่คนเขียนมองเจ้ากิ้งกือกับมด ลงมาจากมุมสูงที่ชายป่าวันนั้น

ละค่ะ”

 

จาก: คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ นิตยสารแพรว ปีที่ 27 ฉบับที่ 639 /10 เมษายน 2549





ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง เขียนโดย คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน/112 หน้ากระดาษปอนด์/ราคา 45 บาท/สำนักพิมพ์ตัวไหม (สำนักงานกรุงเทพฯ 35/2 ดาวคะนองจอมทอง บางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150 สำนักงานเชียงใหม่ อาคารสุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ ถนนศรีดอนไชย เชียงใหม่ 50000)


เพราะเป็นผู้สนใจทั้งการปฏิบัติศิลปะและปฏิบัติธรรม จากความสนใจสองสิ่งนั้นเมื่อบวกเข้าด้วยกัน จึง

ก่อเกิดบทประพันธ์แห่งการพินิจโลกและชีวิตที่น่าสนใจเล่มนี้


คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ในช่วงเวลาหนึ่งในสวนโมกข์เฝ้าสังเกตชีวิต จิตใจตนเองที่สัมพันธ์กับสรรพสิ่งรายรอบ แล้วถ่ายทอดปฏิกิริยาบางขณะนั้นออกมา ในรูปของบันทึกสั้นๆ ร่วม 40 เรื่อง


ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง คงหมายถึงเราๆ ท่านๆ ที่ยังเปียกปอนอยู่ด้วยบุญและบาป โดยมีที่มาจากวรรคหนึ่งของเพลงกล่อมเด็กทางภากใต้ที่ว่า ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง ซึ่งหมายถึงผู้พ้นบุญและบาปแล้วเท่านั้นจึงจะพบสภาพเช่นนั้นได้


คุณรัญจวน อินทรกำแหง เขียนคำนำไว้ตอนหนึ่งว่า "คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ได้บันทึกความรู้สึกนึกคิดที่ผุดโผล่ขึ้นมาในช่วงเวลาของการฝึกปฏิบัติธรรมที่สวนโมกขพลาราม เป็นบันทึกของนักปฏิบัติธรรมที่เคยเป็นนักคิด นักเขียนนักจัดกิจกรรม ซึ่งย่อมคุ้นเคยแก่การมีจิตที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นจิตที่คอยเฝ้ามอง...สังเกต...

มาโดย ไม่ปล่อยให้ผ่านไป และด้วยการเทอารมณ์ลงไปในสิ่งนั้นอย่างเต็มที่"


 

ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page