top of page

กาพย์เห่เรือ ภาคภาษาอังกฤษ



“เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง นกบินเฉียงไปทั้งหมู่

ตัวเดียวมาพลัดคู่ เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย”


“SIGHS OH, SIGHS OF YEARING

FLYING BIRDS SLANT THE SKY

ONE FILES ALONE WITHOUT A MATE

AS ALONE AND LONELY AS I”


บทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (หรือที่สามัญชนเรียกว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง”) ข้างต้นนี้ ณ วันนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสนองพระราชดำริแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะทรงพระราชทานเผยแพร่วรรณกรรมไทยว่าด้วยเรื่องธรรมชาติแก่พระราชอาคันตุกะชาวต่างประเทศโดยคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน


กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งนั้น เป็นบทเห่เรือที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ว่า เป็นบทกาพย์เห่เรืองที่มีความไพเราะ มีลักษณะเฉพาะไม่ซ้ำแบบใคร และมีอิทธิพลแก่กวีรุ่นหลังเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงเป็นบุคคลแรกที่ทำให้กาพย์เจริญถึงขีดสุด บทประพันธ์ของพระองค์เพียบพร้อมไปด้วยเรื่องของธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 4 ตอน ประกอบด้วย บทชมกระบวนเรือ บทชมปลา บทชมไม้ และบทชมนก ซึ่งเป็นตำนานของบทกวีโบราณที่มักพรรณนาถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวในขณะทรงเรือประพาส นัยว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปินของกษัตริย์ไทยและกวีหลายท่าน เมื่อทรงเรือประพาสมักให้เกิดอารมณ์และพลังสุนทรีย์ในการประพันธ์บทกวีถ่ายทอดอารมณ์ทุกครั้งคราไป


บทประพันธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งนั้นมุ่งเน้นด้านความไพเราะ สัมผัสเป็นเยี่ยม มีทั้งสัมผัสนอกสัมผัสใน ทั้งสัมผัสสระและอักษร ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งท้าทายอย่างสูงสำหรับผู้แปล ในอันที่จะคงคุณค่าทางวรรณกรรมนั้นไว้ซึ่งคุณหญิงจำนงศรีได้ปรารภว่า


“ความยากลำบากคงอยู่ที่การพยายามเลือกใช้เสียง ให้ได้ความรู้สึกใกล้เคียงกับเสียงเดิมมากที่สุด ให้รู้สึกได้ว่าเป็นบทกวีของไทย ภาษาไทยนั้นเล่นคำเยอะมาก ทั้งคำพ้อง คำซ้ำ สัมผัสนอก สัมผัสใน ต้องพยายามหาคำที่ตรงความหมายเดิมด้วย อย่างเช่น บทชมปลาบทหนึ่งที่ว่า 'น้ำเงิน คือเงินยวง 'คำว่า 'น้ำเงิน ' โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่าคือ 'BLUE ' แต่สำหรับบทกวีนั้น มันไม่ใช่ เพราะถ้าใช้คำนั้น ความหมายจะผิดไปทันที ต้องใช้คำว่า 'SILVER DEW ' จึงได้ความหมายที่ถูกต้อง ต้องศึกษาอย่างละเอียดในการใช้คำต่างๆ อย่างบางคำต้องไปถามชาวบ้านว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร เช่นคำว่า 'แห ' ในบทชมปลาบทหนึ่งว่า 'กระแหแหห่างชาย ' ถามดูจึงรู้ว่า 'แห ' นั้นหมายถึงอาการว่ายหนีคนอย่างหนึ่งของปลากระแห จึงแปลออกมาได้ว่า 'AFFRIGHTED STARTLE FISH FLEE FROM MEN ' ตรงนี้ต้องขอขอบคุณชาวบ้านไว้ ณ ที่นี้ เพราะถือว่าเป็นผู้ไขความกระจ่างให้”"


การแปลกาพย์เห่เรือของคุณหญิงเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเวลา 2 สัปดาห์ โดยท่านใช้สถานที่สงบยิ่งในการแปล “ดิฉันไปนั่งแปลที่วัด เพราะว่าสงบดี วัดแรกที่วัดเขาสันติ และอีกวัดหนึ่งคือวัดดอนธรรมเจดีย์ ได้ถือโอกาสปฏิบัติธรรมไปด้วย”



(หนังสือ VERSES FOR THE ROYAL BARGE PROCESSION BY PRINCE DHAMMADHIBET, Translation by Khunying Chamnongsri Rutnin,)




บทกาพย์เห่เรือภาคภาษาอังกฤษที่เสร็จสมบูรณ์แล้วนั้น ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือในนาม “VERSE FOR THE ROYAL BARGE PROCESSIONS” อันประกอบไปด้วยบทกาพย์เห่เรือดั้งเดิมของเจ้าฟ้ากุ้ง และบทแปล เป็นภาษาอังกฤษของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของกระบวนเรือ พันธุ์ปลา พันธุ์นก และพันธุ์ไม้ ว่าด้วยชื่อเรียกทางกวีชื่อเรียกสามัญภาษาไทย ชื่อทางวิทยาศาสตร์ และแหล่งที่อยู่อาศัย พร้อมภาพวาดประกอบ


เป็นที่น่าภาคภูมิใจของเราประชาชนชาวไทย ที่ได้มีวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมภาคภาษาอังกฤษเล่มแรก เผยแพร่คุณค่าสู่สายตาชาวต่างชาติแล้ว ณ วันนี้

 

จาก : หนังสือพิมพ์ ? ฉบับวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2537




ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page