top of page

เพลงนิทาน เพลงกวี และไหมไทย

โดย : วิรัตน์ โตอารีย์มิตร


ภาพโดย Julia Schwab


แล้ววงดนตรีไหมไทยที่ ดนู ฮันตระกูล เป็นผู้นำก็สร้างชุดใหม่ออกมา ชื่อ หยดฝนบนใบบัว งานของไหมไทยชิ้นนี้ แปลกไปกว่าหลายๆ ชุดที่ผ่านมา ดนูนำเอาดนตรีร่วมสมัยมาผสมผสานเข้ากับนิทานและบทกวี

คงต้องย้อนกลับไปตอนที่คอนเสิร์ตในรูปแบบของดนตรีกับบทกวีเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2530 คราวนั้นใช้ชื่อคอนเสิร์ตศศิลิยะชุดลมหายใจกวี โดยได้นำบทกวีของ ‘อุชเชนี’ อังคาร กัลยาณพงษ์ และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาเรียบเรียงให้เข้ากับดนตรี ให้เข้ากับบทกวีมากกว่า เพราะบทกวีนั้นยืนเป็นหลักและมีสีสันในตัวเอง ดนตรีมาเพิ่มสีสันและอารมณ์ให้กับบทกวี ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะแปลกใหม่ในบ้านเรา



ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เอาแค่มีคนกล้าคิดกล้าทำ ก็นับว่าเป็นการก้าวไปข้างหน้าของศิลปะแขนงนี้อีกหนึ่งก้าวแล้ว

ทิ้งช่วงเวลาไปเกือบสองปี พอถึงปี 2532 เราก็ได้พบงานในลักษณะซึ่งทำออกมาเป็นแผ่นเสียงและเทปหยดฝนบนใบบัว รวบรวมงานของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ไว้อย่างละครึ่ง โดยหน้าแรกนั้นเป็นของคุณหญิงจำนงศรี ส่วนหน้าที่สองเป็นของเนาวรัตน์

ชื่อ หยดฝนบนใบบัว เป็นนิทานในภาคภาษาอังกฤษของคุณหญิงจำนงศรี ซึ่งเทพศิริ สุขโสภา ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย และเทพศิริก็ยังเข้ามามีบทบาทในการอ่านนิทานสลับกับเจ้าของเรื่องด้วย

ในหน้าแรกมีอยู่ 3 บท คือ หยดฝนบนใบบัว มายา และชั่วโมงหม่น บทหยดฝนบนใบบัว นั้นค่อนข้างจะยาวเนื้อหาของนิทานเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้างอยากให้ฟังกันเอาเอง แต่กลุ่มเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย เครื่องเป่าลม และเครื่องเคาะจังหวะที่เข้ามามีบทบาทนั้น ทำออกมาได้ยิ่งใหญ่และงดงามทีเดียว ถึงช่วงอ่านดนตรีก็ลดหน้าที่ของตัวเองไป ผลัดกันเกื้อหนุนและช่วยเหลือเป็นอย่างดี

บทต่อมา มายา มีการอ่านเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษสลับกันโดยดนตรีจะคลออยู่เกือบตลอดทั้งบท ช่วงจบของบทนี้จะเว้นระยะเวลาไว้นิดเดียว แล้วก็ขึ้นบทชั่วโมงหม่นเลย ดนตรีในบทหลังแสดงอะไรๆ ออกมาได้อย่างกว้างขวาง

ในหน้าที่สองมีอยู่ 4 บทคือ มาซิอุปสรรค อย่าทำน้ำไหว ภูหนาว และแดดส่อง สามบทแรกนั้นเคยเล่นในคอนเสิร์ต ลมหายใจกวี แล้ว ส่วนอีกบทเพิ่มเข้ามาใหม่

มาซิอุปสรรค ดูจะฉีกไปจาก 3 บทที่เหลือ คือเป็นการขับร้องประสานเสียงของนักร้องโรงเรียนศศิลิยะ ความเคลื่อนไหวของดนตรีในบทนี้มีอยู่มาก ดนตรีตรงกับอารมณ์ของเนื้อหา ถ้าอ่านกวีบทนี้เฉยๆ โดยไม่มีดนตรีมาประกอบก็คงได้รสชาติแบบหนึ่ง แต่พอมีดนตรีมาช่วย เราก็สามารถรับรู้ได้ว่าเนื้อหาของกวีเป็นอย่างนี้ แล้วดนตรีควรจะเป็นอย่างไร

อีกสามบทที่เหลือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีผู้ประพันธ์อ่านเอง วิธีการอย่างที่ไหมไทยชุดนี้ทำ คือการให้คนเขียนมีส่วนร่วมในการอ่าน นับว่าเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก เพราะการเก็บเกี่ยวความรู้สึก คนเขียนน่าจะเก็บเกี่ยวได้ดีกว่าคนอื่น (ในกรณีที่จัดให้คนอื่นซึ่งสมมติว่ามีความเชี่ยวชาญในการอ่านบทกวีเป็นผู้อ่าน)

ผมบังเอิญได้เทปชุดนี้มาฟังก่อนวางจำหน่าย ไม่แน่ใจว่าขณะที่เรื่องนี้ตีพิมพ์ เทปจะออกเผยแพร่หรือยัง แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานชุดนี้เป็นดนตรีในอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนับสนุน และเราควรจะดีใจกันที่มีผู้เริ่มต้น

อาจจะมีความรู้สึกไม่คุ้นเคยกับงานในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ้าง แต่ก็น่าจะลองฟังกัน เพราะคนฟังนั้นได้กำไรอยู่แล้ว ดนตรีชุดไหนที่ฟังแล้วกำไรหรือขาดทุน แบ่งแยกไม่ยากหรอกสมัยนี้

 

จาก : นิตยสารสตรีสารรายสัปดาห์ ปีที่ 42 ฉบับที่ 27 วันที่ 24 ก.ย. 2532


ดู 62 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page