top of page

เบิกหล้าฟ้าใหม่...

รายการใหม่ของบทกวีผสมดนตรี

ปานทิพย์


จากซ้ายไปขวา คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา


เป็นนิมิตหมายแรกที่เพลงบรรเลง เพลงขับร้อง เพลงกวี และเพลงนิทาน ถูกนำมาสอดสร้อยร้อยประสานเข้าด้วยกัน


ด้วยฝีมือของคีตกร คีตกวี นักเขียนและศิลปินนักแสดง ที่มีความผูกพันและหลงใหลในภาษาดนตรี เอาหัวใจมาร่วมบรรสาน บรรเลงเป็นงานชุด เบิกหล้าฟ้าใหม่

ภาษาและดนตรี เป็นศิลปะที่รับรู้และเสพด้วยโสต การนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันต้องอาศัยการทำงานอย่างจริงจังมาแต่เริ่มต้น เพื่อให้เกิดความงดงามทางเสียง ความงามของภาษา ซึ่งต้องอาศัยคนให้เสียงมาขับลำนำและอ่านด้วย

การทำงานร่วมกันของศิลปินต่างอาชีพ ที่เฟ้นเอาความสามารถส่วนตัวของแต่ละคน มาผสมผสานกันนี้ เกิดจากความรักในสุนทรียรสของภาษาดนตรี อย่างเป็นหนึ่งเดียว

“เบิกหล้าฟ้าใหม่” แสดงเป็นปฐมทัศน์ เมื่อวันซ้อมใหญ่รอบสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา

ที่หอประชุม บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ถนนรัชดาภิเษก เพื่อหาทุนให้แก่มูลนิธิดวงประทีป เพื่อมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ใช้ในโครงการสาธารณสุขมูลฐานสำหรับแม่และเด็ก และรณรงค์เรื่องป้องกันโรคเอดส์

“เบิกหล้าฟ้าใหม่” ประกอบด้วยวงไหมไทยออร์เคสตร้า เป็นหัวใจสำคัญของรายการนี้

ตามรูปแบบ วง “ไหมไทย” คือวงจุลดุริยวงค์ (Chamber Orchestra) สำหรับบรรเลงบทเพลงขนาดเล็กหรือฟังง่าย ภายในอาคาร หรือห้องโถงที่ไม่ใหญ่นัก เพราะจำนวนนักดนตรีแต่ละประเภทมีน้อยคน แต่ปัจจุบัน อาศัยเทคโนโลยีระบบขยายเสียง จึงทำให้บรรเลงบนเวทีขนาดใหญ่และได้ยินทั่วถึงกันได้

“ไหมไทย” ในปฐมกาล เป็นเพียงวงเครื่องสายขนาดเล็กมาก มีซอขนาดต่างๆ เพียง 12 คัน บรรเลงร่วมกับพิณฝรั่ง เพื่อให้ได้เสียงกระจุ๋มกระจิ๋ม แต่หลากหลายรส เช่นที่ใช้บรรเลงในเทปไหมไทย 1 ชุด “ชีพจรลงเท้า / เขมรไทรโยค” นอกจากมีครั้งหนึ่งที่นำขิมไทย 2 รางมาบรรเลงร่วม เพลง “ทาบทอง” และได้รับความชื่นชมพอสมควร

เพื่อขยายศัพท์สำเนียง “ไหมไทย” ได้เพิ่มจำนวนเครื่องสาย และเครื่องดนตรีประเภทลมไม้ เช่น ฟลุ้ต โอโบ คลาริแนท และบาสซูน ประเภทแตรทองเหลือง ได้แก่ เฟร้นช์ ฮอร์น ทรัมเปต และทรอมโบน ประเภทเครื่องจังหวะ คือ เครื่องเคาะต่างๆ ทั้งที่ไล่เสียงได้ เช่น กล็อคเค่นชปีล ไซโลโฟน กีต้าร์ ฯลฯ และเป็นเสียงจังหวะแท้ๆ เช่น ฉาบ และกรับพวง เป็นต้น

ในเทปไหมไทย 2 ชุด “ทุ่งแสงทอง” ได้มีการทดลองบรรเลงร่วมกับระนาดเอกไม้นวม เพลง “ลาวกระแต” และขิม เพลง “ทยอยญวน” และในอนาคตอาจจะได้ฟังไหมไทยบรรเลงร่วมกับระนาด ปี่ ฆ้องวง ฯลฯ เป็นเพลงชุดใหญ่ให้สนั่นสำเนียงและสนุกสนานเป็นอุดมก็ได้

สำหรับปัจจุบัน “ไหมไทย” ได้รับการปรับแต่งให้สามารถบรรเลงได้หลากประเภท ตั้งแต่เพลงไทยอมตะ เพลงไทยสากล เพลงประกอบบทกวี จนถึงเพลงป๊อบมีนักร้องนำ และ หรือกลุ่มนักร้องประสานเสียง

แถวนั่งจากซ้ายไปขวา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ วรัดดาและคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน จรัล มโนเพชร

แถวยืนจากซ้ายไปขวา นิวัติ กองเพียร ดนู ฮันตระกูล จิตราภา หิมะทองคำ อรชุมา ยุทธวงศ์ นพพล โกมารชุน

นรินทร ณ บางช้าง มานิด อัชวงศ์ และ เทพศิริ สุขโสภา



ในรายการ “เบิกหล้าฟ้าใหม่” นี้ วงดนตรีไทยได้ช่วยสร้างอารมณ์สุนทรแก่ผู้ฟัง ประกอบด้วยกวีมีชื่อเสียง นักร้อง และผู้อ่านบทกวีที่ชำนาญการ เช่น

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับรางวัลซีไรท์ เขียนบทกวีมาแต่สมัยเป็นนักศึกษา มีผลงานตีพิมพ์เป็นเล่มมากมาย เป็นกวีที่ใช้ภาษาอย่างรุ่มรวย งดงามทั้งในแง่ของความหมายและเสียง น้ำหนักและอารมร์ของภาษาเป็นกวีที่ไพเราะยิ่ง เนาวรัตน์มาอ่านบทกวีของตัวเองที่ชื่อ อย่าทำน้ำไหว

นพพล โกมารชุน นพพลเป็นดาราชายที่มีชื่อเสียง สำหรับผู้ชมหนังไทยมาก่อน ที่จะมาเป็นพระเอก

ละครทีวี และเปลี่ยนตัวเองจากดาราแสดงนำ มาเป็นผู้กำกับการแสดงละครทีวี ประเดิมด้วยเรื่อง ลายหงส์ นอกจากงานด้านการแสดงแล้ว นพพลยังเป็นพิธีกร เป็นผู้ดำเนินรายการที่มาร่วมรายการ เบิกหล้าฟ้าใหม่ นี้ เพราะมีความสามารถพิเศษ ที่ยังไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน คือการอ่านบทกวี นพพล มีน้ำเสียงที่ลุ่มลึกกังวาน มีน้ำหนักของเสียงที่สามารถให้อารมณ์ได้ดีเยี่ยม

นอกจากการอ่านบทกวีแล้ว นพพล ยังเป็นผู้ดำเนินรายการนี้ด้วย

นรินทร ณ บางช้าง เธอเป็นศิลปินนักร้องที่มีระดับเสียงพิเศษ หลังจากออกเทปเพลงชุดแรก ชื่อเสียงก็

เป็นที่รู้จักดี ยิ่งเมื่อรับงานแสดงเป็น อะดอนซ่า ในละครเรื่อง ดอนคีโฮเต้ ของ คณะละครสองแปด ด้วยแล้ว ชื่อเสียงเธอกำจายเป็นที่ประทับใจคนทั่วไป ด้วยลีลาและน้ำเสียงอันพิเศษ เธอมาร่วมงานนี้ด้วยความสามารถทั้งทางร้องและอ่านบทกวี

อรชุมา ยุทธวงศ์ คนรู้จักเธอจากรายการเด็กที่โด่งดังทางโทรทัศน์ในนามครูแอ๋ว ทั้งหลังฉากและหน้าฉาก เธอมีความสามารถเฉพาะตัวหลายอย่าง ละครเวที หรือรายการสำหรับเด็ก เล่านิทาน อ่านกวี และยังสอนหนังสือที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะด้านการละคร ในรายการเบิกหล้าฟ้าใหม่ เธอมาอ่านบทกวีด้วยเสียงที่ไพเราะกังวานใส พร้อมลีลาอันบรรเจิดยิ่ง

จรัล มโนเพ็ชร คนนี้คือ คีตกวีแห่งล้านนา ผู้สามารถทั้งการเขียนบทเพลงพื้นบ้าน และเล่นดนตรีพื้นเมืองได้อย่างดียิ่ง บทเพลงของเขาถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อย่างมีปรัชญาง่ายๆ แฝงเร้นทุกถ้อยความ มีชีวิตอย่างเรียบง่ายดุจชาวบ้านพื้นเมืองเดิม เป็นคีตกวีที่ผสานวัฒนธรรมเก่ากับใหม่ให้ต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย ดังบทเพลงที่ชื่อ “ซื้อฝัน” ของเขา


ซื้อวันที่มีฝนกลางและตะวันพรำ

กับมีเมฆบางพร่างพรายฟ้าฉ่ำให้ฉัน

แล้วจะออกไปหารุ้งกินน้ำมาให้เธอ

ที่มีเจ็ดสีสวยงามโค้งตามฟ้าไกลโพ้นตา

ซื้อธารลมพัดผ่านทุ่งธารพฤกษไพรขอบสิงขร

ที่โชยพลิ้วอ่อนผ่อนคลายร้อนในอกฉัน

แล้วจะออกไปหาซื้อน้ำค้างมาให้เธอ

จากปลายดอกบัวกลีบบาง แรกบานเช้าวันนี้เอง

ฉันมีแต่ความรัก มีแต่ความฝันพอจะแบ่งปันคนทุกคน

ถ้าเธอจะมีรัก เธอจะมีฝัน เธอจะปันให้ใครหรือเปล่า

ซื้อคืนฟ้าพราวแสดงดาวแสนงามจับดวงตา

ถักทอให้เป็นเช่นรองเท้ามาให้ฉัน

แล้วจะใส่ไปหาโลกในนิทราของเธอ

แต่งเติมความฝันแสนดีให้มีสองเรานิรันดร์

เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินที่เคยเขียนภาพสีน้ำมันและวาดเส้นได้สดมีพลัง แล้วเลิกรามาเขียนหนังสือแทนการวาดภาพ ตัวหนังสือหรือภาษาของเขาจึงเป็นภาพเขียน มีสีสันอันบรรเจิดงดงาม มีพลังเร่งเร้า เขาเขียนหนังสือได้ดีเท่ากับเขียนรูป เขาใช้สีเก่งเท่ากับใช้ภาษา เขาวาดเส้นได้งามมีชีวิต พอๆ กับความ

ลื่นไหลแห่งภาษาเขียนของเขา เขาเป็นนักเล่านิทานตัวเก่งของเด็กๆ


ภูนั้นชื่อบรรทัด นวนิยายเรื่องยาวของเขา ที่ตั้งต้นเขียนมาหกปีแล้ว ยังไม่ลงมือจริง เป็นเพียงภาพร่างไว้เท่านั้น เขาลงมาจากเชียงใหม่เพื่อเล่านิทานที่เขาแปลจากภาษาอังกฤษที่คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เขียน ฟังแล้วจะรู้ว่าเขาใช้ภาษาได้อย่างฟังดนตรีทีเดียว

ดนู ฮันตระกูล หลายคนรู้จักเขาในนามอาจารย์ดนู ครูสอนดนตรีที่โรงเรียนศศิลิยะ ก่อนหน้านี้เขาคือ

พวกภาคีวัดอรุณ ที่เอาดนตรีมากระแทกหูคนได้อย่างหนักแน่น ด้วยมาดของนักดนตรีรุ่นใหม่ที่กำลัง

ล้ำหน้ายุคสมัย หลังจากนั้น เขาก็เขียนเพลงอีกมากมาย จนมาถึงงานชุดไหมไทย ในปัจจุบัน เขาเป็น

คีตกร ที่แต่งเพลงของเขาเอง เรียบเรียงเสียงประสานเพลงพื้นบ้านเดิมด้วยลีลาใหม่ สร้างทำนองให้กับกวีนิพนธ์หลายบท เพื่อการอ่าน การฟัง ที่ได้รสนุ่มลึก คราวนี้เขาเป็นวาทยกร


คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ผลงานหนังสือรวมบทกวี เพลงกวี เพลงนิทาน ออกวางจำหน่ายจนเป็นที่เลื่องลือถึงการเขียนภาษาอังกฤษ ว่าน่าอ่านน่าฟังหลายบทจากหนังสือเล่มนั้น ถูกนำมาแปลเป็นไทยเพื่ออ่านและสร้างทำนองขึ้น เพื่อเพิ่มความงามทางเสียงจนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว เธอเคยเป็นนักเขียนบทละครที่ได้รับรางวัลจากมูลนิธิ จอห์น เอ.อีกิ้น และเคยแปลงานกวีนิพนธ์ของกวีไทยหลายคนเป็นภาษาอังกฤษ



ผู้ที่ไปชม "เบิกหล้าฟ้าใหม่" มาแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีอารมณ์กวีและมีดนตรีในหัวใจ กล่าวเป็น

เสียงเดียวกันว่า นี่เป็นความใหม่อีกก้าวหนึ่งของการบรรสานเสียงเพลงดนตรี และกวีเข้าด้วยกันดัง

น้ำประสานทองที่สร้างความประทับใจไม่รู้เลือนลืม ไม่ว่าจะด้วยเพลง "มอบเรือ" ที่ ดนู ฮันตระกูล

เรียบเรียงเสียงประสานใหม่จากทำนองเดิม และเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร เช่น รางวัลแด่คนช่างฝัน

ลำนำแห่งขุนเขา ปั่นฝ้าย ล้วนตรึงผู้ชมให้อยู่กับที่นิ่งสงัด


ยิ่งได้เห็นลีลาของ นพพล โกมารชุน กับอรชุมา ยุทธวงศ์ ในการอ่าน "ชั่วโมงหม่น" บทกวีของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน และประกอบทำนองดนตรี โดย ดนู ฮันตระกูล ด้วยแล้ว ทำให้อยากจะเห็นรายการอย่างนี้

แพร่สะพัดออกทางทีวีแทนละครน้ำเน่าทั้งหลายนั้นนัก


และรายการสำคัญอีกรายการหนึ่ง ซึ่งจะลืมเสียมิได้ก็คือ นิทานกวี"หยดฝนบนใบบัว" ซึ่ง คุณหญิงจำนงศรี รัดนิน อ่านบทของตนเอง (คืนแรกให้ วรัดดา รัตนิน บุตรสาว อ่านด้วยลีลาที่น่ารักมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่า

มารดาเลย) เทพศิริ สุขโสภา ผู้แปลนิทานบทนี้ออกมาร่ายกวีชิ้นนี้ร่วมด้วย โดยมีดนู ฮันตระกูล เรียบเรียงเสียงประสานคนตรี ฟังแล้วมองเห็นภาพหยดฝนอันใสยิ่งกว่าเก้วบนใบบัวสีเขียวหม่น และได้ยินสรรพสำเนียงแม้แต่ลมพัดแผ่วหวิว และแมลงขยับปีกกรีดเสียง...อยากจะอุทานหรือกล่าวคำอะไรออกมาก็ได้

ให้สาสมกับความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้สัมผัสเข้ากับรายการดีๆ อย่างนี้ ประทับใจมาก และอยากจะให้มีรายการเช่นนี้ออกมาอีกบ่อยๆ ในสังคมไทยซึ่งมีแต่แฟชั่น คอนเสิร์ต และอะไรต่ออะไร จนเบื่อแล้ว

 

จาก: คอลัมน์ศิลปบันเทิง นิตยสารสกุลไทย ,2532

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด
bottom of page